fbpx

โค้ดดี้และเสือร้องไห้ ในวันที่ใกล้จะได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว

หลายคนคงชอบทานอาหารอย่าง “เสือร้องไห้” ใช่ไหมครับ? ผมก็ชอบครับ เพราะมันอร่อย แต่อย่าเพิ่งนึกว่าบทความนี้จะพาทุกคนมาทานอาหารอร่อยๆ แต่วันนี้เราพามาทำความรู้จักกับ “เสือร้องไห้” ที่ในที่นี้หมายถึง YouTube Channel ที่มี 4 ชายหนุ่มคอยสร้างความสุขให้กับคนดู แต่ละคนนั้นไม่ธรรมดาทั้งนั้น ทั้ง “โค้ดดี้ – เอ็ดดี้ – คัทโต๊ะ – แนตตี้” แต่เบื้องหลังอันที่จริงแล้วของเสือร้องไห้ไม่ได้มีแค่ 4 คนนี้เท่านั้น วันนี้เราจะมาล้วงความลับเหล่านี้ออกมาให้อ่านกันครับ

นอกจาก “เสือร้องไห้” แล้ว “พี่เอ็ด 7 วิ” “ล้างตู้เย็น” หรือแม้กระทั่ง “เกษียณสำราญ” รายการบน YouTube ที่ใครหลายๆ คนชอบดูและติดใจเหล่านี้ ก็ไม่ได้สร้างมาแบบฟลุกๆ แล้วดังเหมือนรายอื่นๆ ทั่วไป แต่ว่าที่นี่นั้นเกิดจากความคิดสร้างสรรค์จากบริษัทที่ชื่อว่า “Good Deal Entertainment” บริษัทที่เน้นผลิต Online Content เป็นหลัก รวมไปถึงผลิตซีรีส์ออนไลน์และรายการโทรทัศน์ด้วยเช่นเดียวกัน

Good Deal Entertainment เกิดจาก “โค้ดดี้ – อรรถพล โพธิ์หาญรัตนกุล” ร่วมกับเพื่อนอีก 3 คน นั่นก็คือ “เอ็ดดี้ – คัทโต๊ะ – แนตตี้” อยากทำคลิปสนุกๆ ขึ้นมา และจุดเริ่มต้นนั่นก็คือคลิปกังนัมสไตล์นั่นเอง หลังจากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนารายการต่างๆ ให้มีคุณภาพมากขึ้นและหลากหลายขึ้น ในช่วงแรก “เสือร้องไห้” ยังได้ผลิตรายการเกมโชว์ค้นหาเพศที่ 3 อย่าง “สแกนเกย์” ซึ่งมีพิธีกรคือ “ดีเจเอกกี้” และเชิญคนดังมาร่วมจับผิด นับเป็นเกมโชว์แรกๆ ที่ออกอากาศทาง YouTube แล้วประสบความสำเร็จอีกด้วย จนได้มาออกอากาศในอมรินทร์ทีวีในช่วงแรก ๆ ของการออกอากาศทีวีดิจิทัลในชื่อ “ได้เวลาสแกน” อีกด้วย

ปัจจุบัน Good Deal Entertainment มีช่อง YouTube ในความดูแลทั้งหมด 4 ช่อง โดยแต่ละช่องถูกออกแบบให้นำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างกันในแต่ละช่อง โดยมีช่องหลักๆ ก็คือ “GoodDayOfficial” ที่มีรายการในเครือต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น ล้างตู้เย็น เป็นรายการทำอาหารและรีวิวอาหาร , นอนบ้านเพื่อน รายการพาไปนอนบ้านเพื่อนและพูดคุยกับแขกรับเชิญดังๆ และรายการอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนั้นยังมีช่อง “เสือร้องไห้” ที่เป็นช่องออริจินัลของบริษัท โดยปัจจุบันได้ผลิตรายการในเครือทั้งใน Facebook และ YouTube มาทั้งหมด 4 รายการ ได้แก่ เสือร้องไห้ , kodey รายการที่โค้ดดี้จะพาไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในสำนักงานของเขา , พี่เอ็ด 7 วิ รายการของเอ็ดดี้พี่จะมีทั้งขายของแบบ Creative และติดตามไลฟ์สไตล์ของเขาได้ และ แนตตี้ เสือร้องไห้ เป็นคอนเทนต์ของสายเกมส์

ภาพ : เสือร้องไห้

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ช่อง นั่นก็คือ “เกษียณสำราญ” รายการที่พาคุณแม่คนดังมาร่วมทำกิจกรรมร่วมกันในวัยเกษียณกับคุณลูกแบบสนุกๆ และช่องน้องใหม่ล่าสุด “Bad Official” ที่มีรายการอย่าง “ตกลงไปไหนนะ” ที่เป็นการรวมตัวของ LGBT 5 คนมาทำกิจกรรมสนุกๆ และ “หน่องแม็ก” ที่ได้แม็กซ์ พิธีกรที่แจ้งเกิดจากล้างตู้เย็นพาไปทำกิจกรรมสนุกๆ อีกด้วย

ถ้าดูจากเว็บไซต์ของบริษัทจะเห็นได้ว่าปัจจุบันได้ให้น้ำหนักกับ ONLINE CONTENT มากถึงร้อยละ 55 ตามมาด้วย PRODUCTION HOUSE ที่มี “HOUSE OF MOM STUDIO” เป็นตัวหลักผลิตผลงานต่างๆ ทั้งโฆษณา MV โดยเฉพาะล่าสุดที่ผลิต MV ‘Jabaja – BNK48’ อีกร้อยละ 25 และ WEB CONTENT / TV SHOW & TV SERIES อีกอย่างละร้อยละ 10 เพราะเนี่องด้วยยอดคนติดตามทาง YouTube ของแต่ละช่องมีมูลค่าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะใน GoodDayOfficial ที่มียอดผู้ติดตามช่องมากถึง 2 ล้านบัญชี และเสือร้องไห้ที่ได้ 1 ล้านบัญชี จึงทำให้สามารถกระจายคอนเทนต์ได้มากกว่า ยังไม่นับรวม Facebook ที่มีแตกแยกสาขาไปอีกด้วย

เมื่อ Good Deal ย้ายรังไป SLM และงบการเงินล่าสุดของ Good Deal ก่อนย้าย

Good Deal Entertainment จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มี พิเชษฐ์ เพิ่มทรัพย์หิรัญ , สมโภช สิงหอุดมชัย และ จิรุตถ์ ตันติวรอังกูร เป็นคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49:2:49 ตามลำดับ ซึ่งในปีที่ส่งงบการเงินปีล่าสุดได้แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่าเป็นธุรกิจ “กิจกรรมด้านความบันเทิง” ซึ่งในงบประมาณตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาก็ค่อยๆ มีกำไรมากขึ้น ตามยอดจำนวนคนดูที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยกลุ่มเดิมที่เคยก่อตั้งบริษัท Good Deal Entertainment นั้นได้ปรับโครงสร้างการบริหารงาน และนำคอนเทนต์ของ Good Deal เดิมนั้นไปขึ้นตรงกับบริษัท เอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมี เนย–รัสรินทร์ โภคินจารุรัศมิ์ และ โค้ดดี้-อรรถพล โพธิ์หาญรัตนกุล เป็นกรรมการบริษัท ได้รับการจัดตั้งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 พร้อมกับในวันนั้น SLM ได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในสื่อออนไลน์กับ Good Deal Entertainment โดย SLM ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการและควบคุมดูแลสื่อออนไลน์ของบริษัทดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว เป็นระยะเวลา 33 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 โดยมีค่าบริการจำนวนเงิน 84,000 บาทต่อเดือน ภายใต้เงื่อนไขของสัญญานี้ บริษัทต้องชำระค่าบริการล่วงหน้าทั้งจำนวนรวมเป็นเงิน 2.8 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้จ่ายชำระแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

นอกจากนั้นในหนังสือที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท ตรายางบริษัท รวมไปถึงเพิ่มวัตถุประสงค์การก่อตั้งบริษัทไว้ว่าจะประกอบกิจการจัดคอนเสิร์ต และจัดหานักร้อง นักแสดง (ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจจัดหางาน) , ประกอบกิจการรับจ้างแพร่ภาพระบบเครือข่ายโทรทัศน์ภายในประเทศ และอินเตอร์เน็ต และผลิตสื่อโฆษณา รวมไปถึงการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ต (Internet) การประกอบการค้าบนอินเตอร์เน็ต หรือ อี-คอมเมิร์ช (E-commerce) และธุรกรรมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ทุกประเภทอีกด้วย

ทั้งนี้ งบการเงินของปี 2562 ของ Good Deal Entertainment ก่อนที่จะย้ายรังไป SLM นั้น เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยพบว่ามีรายได้รวมทุกช่องทางอยู่ที่ 166,755,757.62 บาท และมีกำไรอยู่ที่ 12,104,410.64 บาท และในงบการเงินประจำปี 2563 Good Deal Entertainment มีรายได้รวม 76,636,014 บาท และขาดทุนอยู่ที่ 4,505,190 บาท ในปัจจุบัน Good Deal Entertainment มีมูลค่าทางธุรกิจอยู่ที่ 49,534,926 บาท หรือร้อยละ 990.70 ของทุน ซึ่งทุนจดทะเบียนบริษัทมีเพียง 5,000,000 บาทเท่านั้น

ในขณะที่รายงานล่าสุดจากระบบ Creden Credit เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ระบุไว้ว่า โค้ดดี้-อรรถพล โพธิ์หาญรัตนกุล ถือหุ้นอยู่ใน 3 บริษัท ได้แก่ คาชิ้ง จำกัด ถือร้อยละ 98 , แอปริคอท จำกัด ถือร้อยละ 30 และ กู๊ดเฟลล่า อินเตอร์ฟู้ด จำกัด ถือร้อยละ 10 ในขณะที่ เนย–รัสรินทร์ โภคินจารุรัศมิ์ ถือหุ้นอยู่ใน 3 บริษัท ได้แก่ คาชิ้ง จำกัด ถือร้อยละ 1 , ริชเชส อีลิท จำกัด ถือร้อยละ 49 และ โภคินวิศุทธ์ จำกัด ถือร้อยละ 45

สำหรับ SLM นั้นในขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขึ้นสถานะว่าเป็นหุ้นที่เข้าสู่ช่วงที่กำลังดำเนินให้สามารถกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งทาง SLM ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน 1 กันยายน 2566 หรือนับจากวันประกาศเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยปัจจุบันยังไม่สามารถกลับเข้ามาทำการซื้อขายได้ตามปกตินั่นเอง โดยรายได้ในงบการเงินประจำปี 2564 ระบุรายได้ของ SLM ว่ามาจากการให้บริการ 177,552,574 บาท และรายได้อื่นๆ อีก 3,319,671 บาท ทำให้รายได้รวมอยู่ที่ 180,872,245 บาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,971,067 บาท นอกเหนือจากนี้ยังจ่ายค่าตอบแทนการแสดงให้กับ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท คาชิ้ง จำกัด จำนวน 13,590,000 บาท และ บริษัท อารมณ์พาไป จำกัด จำนวน 6,502,000 บาท รวมทั้งสิ้น 20,092,000 บาท รวมถึงจ่ายค่าบริการแก่ บริษัท แทนอารมณ์ จำกัด จำนวน 1,350,000 บาทอีกด้วย

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ Good Deal Entertainment ทำกำไรได้ดีเกือบทุกปี มีหลายปัจจัยที่สำคัญก็คือ ทำองค์กรให้มีความสุขที่สุด ดั่งที่ได้เห็นบ่อยๆ จากในคลิปที่ลง ต่อมาก็คือการมีคอนเทนต์ที่ดีจะส่งผลให้มีคนดู ในทีนี้ก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าที่จะแหวกกรอบ และสุดท้ายก็คือการควบคุมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จากการนำคอนเทนต์มาปรับเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง ทั้งหมดนี้ย่อมส่งผลทำให้บริษัทได้กำไรอย่างงดงามแน่นอน


บทความนี้เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 บนเว็บไซต์ส่องสื่อ
และมีการเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อให้บทความทันสมัยขึ้นในวันที่ 20 มีนาคม 2565 บนเว็บไซต์ Modernist

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า