fbpx

บ้านนี้มีความหลากหลาย คู่มือในการทำความเข้าใจความหลากหลายทางเพศสำหรับทุกคน

แม้มีหลากเมล็ดพันธุ์หว่านโปรยไปทุกย่อมของสังคม อย่างไรเสียก็ยังมีหลายคน ที่ไม่เข้าใจในสภาวะและเพศวิถีของมนุษย์ ทั้งยังมองมันด้วยสายตาที่ผิดแปลก ซึ่งก็ไม่ผิดที่เขาจะมองเช่นนั้น แต่ยุคสมัยนั้นก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะดีหรือเลว อย่างน้อยคุณต้องเข้าใจ ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ว่าคือเรื่องธรรมดาและเป็นมนุษย์ เพื่อไม่ให้คุณตกหล่มความคร่ำครึจนไม่สามารถตามใครได้ทัน

บ้านนี้มีความหลากหลาย หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางเพศ ที่วางรูปแบบของตัวเองไว้เป็น ‘คู่มือสำหรับผู้ปกครอง’ ในการดูแลลูกหลานที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งหากมองเร็วๆ สำหรับผู้เขียนก็คงตะหงิดใจนิดหนึ่ง ว่าต้องมีคู่มือในการทำความเข้าใจเรื่องสามัญเช่นนี้เลยหรือ?

แต่หากลดอคติลงครู่หนึ่งและมองอย่างใจกว้าง ในชีวิตของคนๆ หนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาทั้งร่างกายและความคิดจนมันแข็งกร้าว การจะเปลี่ยนความคิดความเชื่ออย่างฉับพลัน คงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความหลากหลายทางเพศ ที่ครั้นผู้เขียนยังเด็ก มันยังเป็นเรื่องวิปริตในสังคม(ไทย)อยู่เลย

ความหลากหลายบนเนื้อตัวมนุษย์ไม่ได้ถูกพร่ำสอนเหมือนความรักชาติ การมี ‘คู่มือ’ สักเล่มในการสอน บอกเล่า ให้ความเข้าใจ ก็นับเป็นนิมิตหมายอันดีกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมผู้สูงอายุ ที่ท่านเหล่านั้นต่างกันแข็งกระด้างทางความคิดกันพอสมควร 

แม้จะรู้สึกตัวกันช้าไปหน่อย … แต่ก็นับว่าน่ายินดี

มาว่ากันเรื่องของรายละเอียดเล็กๆในหนังสือกันก่อน

หากมองกันในเรื่องของฟังก์ชัน คู่มือหนึ่งเล่มที่ทำมาสำหรับผู้ใหญ่จะต้องมีอะไร? อาจต้องมีเนื้อหาที่ลึก กระชับ ตรงประเด็น ซึ่งอันนั้นก็สุดแล้วแต่รสนิยม แต่มีสิ่งหนึ่งที่ถ้าขาดไป จะอ่านไม่ได้เลย คือ ตัวหนังสือที่ขนาดพอดี! (ผู้ใหญ่หรือวัยชรากันนะ) แต่ไม่ว่าจะวัยไหน ปัญหาสายตาก็อยู่คู่มนุษยชาติเสมอมา

แต่ บ้านนี้มีความหลากหลาย จากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนถือว่ามีแนวทางชัดเจนว่าเป็นคู่มือสำหรับผู้ใหญ่ เพียงแค่สองหน้ากระดาษ ก็บอกได้เลยว่าคู่มือเล่มนี้ทำมาเพื่อใคร เพราะตัวหนังสือมันใหญ่จริงๆ  ซึ่งก็คงไม่มีเหตุผลอะไรไปมากกว่าให้คู่มือมันเป็นมิตรกับสายตาผู้อ่านให้มากที่สุด อย่าว่าแต่ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุเลย วัยรุ่นๆ อย่างผู้เขียนก็อ่านง่ายเช่นกัน

แบบทดสอบสำหรับทุกคน

ส่วนที่น่าสนใจถัดมาคือ พาร์ทแบบทดสอบ (How-to) ที่ปรากฎในหนังสือเล่มนี้ โดยในเล่มนี้จะมีแบบทดสอบอยู่ 2 ชิ้น คือ ‘ยูนิคอร์นเพศสภาพ’ และ ‘แบบทดสอบการยอมรับ’ ซึ่งผู้เขียนจะขอหยิบมาอธิบายเพียงยูนิคอร์นตัวนั้นแล้วกัน

ทำไมต้องยูนิคอร์น? กว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ธงสีรุ้งเป็นตัวแทนของชุมชน LGBTQ+ เสมอ เพราะมันได้โอบล้อมที่สีผิวทุกเชื้อชาติไว้บนผ้าผืนยาวนั้น เช่นเดียวกันกับ ‘ยูนิคอร์น’ ม้ามีเขาพร้อมสีสันหลากหลายบนตัว ที่ไม่ต่างกับความหลากหลายบนเนื้อตัวและวิถีของมนุษย์ ยูนิคอร์นเลยกลายเป็นอีกหนึ่งตัวแทนถึงอัฒลักษณ์ ความคิด และเพศที่มีมากกว่ากรอบของสังคม

ซึ่งในยูนิคอร์นเพศสภาพตัวนี้ ก็จะอธิบายมิติทางเพศไว้ 5 อย่างกว้างๆ คือ อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity), การแสดงออกทางเพศ (Gender Expression), เพศที่ถูกกำหนดให้ตอนเกิด (Sex Assigned at Birth), การเกิดแรงดึงดูดทางเพศกับ? (Sexually Attracted To?) และเกิดอารมณ์ดึงดูดกับ? (Emotionally Attracted To?)

โดยในแต่ละมิติจะมีช่องว่างให้ระบายสีลงไป ว่าผู้อ่านมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด มีการแสดงออกทางเพศแบบไหน เกิดแรงดึงดูดทางเพศกับเพศใด เป็นต้น 

และในท้ายที่สุดของบททดสอบ ผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงความลื่นไหลทางเพศ (Gender Fluid) ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะว่าในความเป็นมนุษย์จริงๆ แล้ว หญิงหรือชายไม่จำเป็นต้องคู่กันเสมอไป การกำหนดเพศวิถี (Gender Orientation) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสภาพหรือกฎหมาย และ ‘เพศ’ เป็นสิ่งที่ลื่นไหลและผลิบานได้ไม่รู้จบ

ปากคำจากเนื้อตัวและหัวใจ

ทุกความหลากหลายที่เกิดขึ้นล้วนบริสุทธิ์และเป็นจริง แต่ในโลกที่เพศมีเพียงสอง และมีกฎหมายที่คอยกำหนดบทบาทของมัน นอกจากจะสร้างสังคมที่ไม่น่าไว้วางใจ มันยังทำให้ความบริสุทธิ์นั้นแปดเปื้อนไปด้วยพลังด้านลบ

อีกบทหนึ่งของคู่มือที่ควรค่าแก่การอ่านอย่างยิ่งคือ ‘ปากคำจากเนื้อตัวและหัวใจ ของชีวิตที่ลื่นไหลและผลิบาน’ ที่จะพาคุณไปฟังเรื่องราวจากทางบ้าน จากบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม ความรู้สึกที่ผู้ที่มีความหลากหลายต้องประสบ ซึ่งทุกเรื่องราวนั้นทรงพลังอย่างมาก และผู้เขียนก็เชื่ออย่างสุดหัวใจ ว่ามันมีพลังมากพอ ที่จะสร้างความเข้าใจให้กับความหลากหลายตรงนี้ได้อย่างแน่นอน

ว่าด้วยเรื่องบ้านของความหลากหลาย

ในส่วนเนื้อหาของคู่มือ หลักๆ แล้วคือการให้ความสำคัญกับความเป็น ‘บ้าน’ และสภาวะต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย ความเป็นห่วง หรือความไม่รู้จะพูดอะไรของพ่อแม่ หากมองกันกลมๆ ทุกสภาวะที่กล่าวมาก็เป็นความรู้สึกที่พ่อแม่มักจะมีให้ลูกๆ หลานๆ กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่น่าแปลกตรงที่ว่าเมื่อบ้านไหนมีลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ สภาวะเหล่านั้นเริ่มถูกครหา เลวร้ายลงเสียจนกลายเป็นคำด่าทอและทุบตีด้วยกำลัง ความปลอดภัยเลือนหายไปจากตัวเด็ก และไม่มีพื้นที่ๆ น่าพักพิงสำหรับเขาอีกต่อไป

วัยเด็กของผู้เขียนไม่ต้องพบเจอกับความเลวร้ายที่ว่า แต่ก็มีโอกาสได้เห็นครอบครัวที่มีสภาวะเช่นนั้น บาดแผลไม่ได้จบลงเพียงแค่ทายา มันเจ็บลึกลงไปถึงจิตใจ และไม่สามารถนับได้เลยว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะบรรเทา

อย่างเรื่อง ‘ความไม่รู้จะพูดอะไรกับลูก’ เมื่อรับรู้หรือรู้สึกว่าลูกของตัวเองมีความหลากหลายทางเพศ บางบ้านเลือกที่จะเงียบ แต่บ้านไหนเคร่งเรื่องเพศหน่อย ก็จะเริ่มมีคำถามต่อลูกหลานแล้ว ‘เป็นตุ้ดเหรอทาครีมซะเยอะเชียว’ ‘อย่าให้รู้นะว่าเป็นตุ้ด’ ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลักลูกหลานออกจากความสัมพันธ์ ซ้ำร้ายมันอาจสร้างความกลัวกับเขาไม่รู้อีกเท่าไหร่ ซึ่งในคู่มือก็มีคำถามจากทางบ้านในเรื่องนี้เหมือนกัน

ซึ่งคำตอบมันก็สุดแสนจะเรียบง่าย นั่นก็คือ ‘ถามเขาเลย’ ว่าเขาสบายใจที่จะให้เรียกว่าอย่างไร ซึ่งสำหรับผู้เขียน ทุกความคับข้องใจของพ่อแม่ กระทั่งคนทั่วๆ ไปที่มีต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สามารถแก้ไขได้ด้วย ‘การสนทนา’ ละอคติและหันหน้าคุยกันอย่างมนุษย์ รับฟังอย่างจริงใจและมองมันด้วยสายตาที่ธรรมดาที่สุด

คู่มือเล่มนี้ จึงมุ่งหวังให้ท่านผู้อ่านนิยามความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ เสียใหม่ เปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับความเป็นมนุษย์ และเข้าใจว่ามนุษย์นั้นล้วนหลากหลาย เพศมีอยู่จริง แต่ไม่สามารถกำหนดกรอบและความเป็นไปของมนุษย์ได้ 

เมื่อเพศผลิดอกระดับภาษาจึงต้องเปลี่ยนไป

เมื่อสักครู่ได้กล่าวถึงการ ‘สนทนา’ และบทสนทนาในเรื่องเพศวิถีจะสำเร็จและไร้มลทิน (Toxic) ควรต้องมาพร้อมกับ ‘สำนึกทางเพศ’ สำนึกว่าไม่ได้เพียงชายจริงหญิงแท้ (Straight) ที่ดำรงอยู่ในโลก หลายครั้งผู้เขียนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะแทนคู่สนทนาว่าอย่างไร หรือเราจะเรียกเขาว่าเพศอะไรดี

ระดับภาษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ การพูดคุย อธิบาย หรือให้คำนิยามไม่ได้หยุดนิ่งตามเพศสภาพ บางครั้งมันสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท สถานการณ์ หรือความพึงพอใจของบุคคลนั้นๆ ฉะนั้นการ ‘ถามตรงๆ’ หรือถามจากคนที่เขารู้และมีประสบการณ์ ก็จะช่วยให้เราสร้างบทสนทนาเต็มไปด้วยการเคารพกันได้เป็นอย่างดี

และในฉากจบของบทสนทนา ไม่ได้มีเพียงการเคารพกันในฐานะคู่สนทนาเท่านั้น มันยังเป็นการเคารพกันในฐานะคนธรรมดาที่มีเลือดเนื้อ ไม่มีฐานันดรที่สูงกว่า ไม่มีกรอบของความเชื่อ ไม่มีกระเทยหรือหญิงชาย มีเพียงมนุษย์และมนุษย์

ท้ายนี้แม้ผู้มีอำนาจเหล่านั้นยังมืดมัวบอดไปด้วยอคติ แม้สังคมยังเข้าใจกันแบบปากว่าตาขยิบ แต่ผู้เขียนเชื่ออย่างสุดหัวใจเลยว่าพวกเขาไม่สามารถหยุดยั้งความคิดที่กำลังงอกงาม ความเชื่อที่ล่องลอยไปอย่างไม่รู้จบ
และสักวันไม่เขาหายไป ก็คงกัดลิ้นและดีดดิ้นจนสิ้นไปเอง
ะ้

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า