fbpx

ทำความรู้จักพรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “สมาคมคณะราษฎร”

อย่างที่หลายคนทราบกันว่าในปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาใหม่และอยู่มานานจำนวนมากในประเทศไทย และในหลายๆ ครั้งพรรคการเมืองก็ถือเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงให้กับคนไทยจำนวนมาก (ที่เลือกพวกเขามาอีกที) ในการดำเนินการบริหารบ้านเมืองหรือคัดค้านเมื่อรัฐบาลเกิดบริหารงานผิดพลาด ซึ่งพรรคการเมืองก็คือสำนักงานที่จะคัดเลือกคนที่มีความเหมาะสมและไม่ผิดเงื่อนไขตามกฎหมายให้มาเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะ จึงจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในที่สุด เรียกง่ายๆ ว่าผู้แทนประชาชนนั่นเอง

แต่ทราบหรือไม่ว่าย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2475 หรือเมื่อ 89 ปีที่แล้ว “คณะราษฎร” ผู้ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ก่อตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทยก็ว่าได้ โดยในขณะนั้นยังไม่ได้มีพระราชบัญญัติในการรับรองพรรคการเมืองแต่อย่างใด การจดจัดตั้งจึงเกิดจากคณะบุคคลเพียงเท่านั้น

โดยในการจัดตั้งสมาคมการเมือง หรือพรรคการเมืองภายใต้ชื่อ “สมาคมคณะราษฎร” นั้น ได้พระยานิติศาสตร์ไพศาลเป็นนายกสมาคม และได้มีการประกาศรับสมาชิกทั่วประเทศ จนมีรายงานว่ามีสมาชิกของสมาคมคณะราษฎรรวมกันมากกว่า 10,000 คน ซึ่งหลังจากนั้นในยุครัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ก็ได้มีการสั่งห้ามก่อตั้งสมาคมการเมือง หรือพรรคการเมือง ทำให้ต้องล้มสมาคมคณะราษฎร และเปลี่ยนชื่อเป็นสโมสรราษฎร์สราญรมย์ในที่สุด

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และบรรยากาศในประเทศไทยเริ่มมีประชาธิปไตยมากขึ้น จึงได้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ทำให้มีพรรคการเมืองเริ่มก่อตั้งขึ้นมา โดยพรรคการเมืองแรกที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีพระราชบัญญัติรับรองพรรคการเมือง นั่นก็คือ “พรรคก้าวหน้า” มีหัวหน้าพรรค คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

หลังจากการก่อร่างสร้างประชาธิปไตยเริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ พ.ศ.2498 หลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เดินทางเยือนต่างประเทศเป็นเวลากว่า 70 วัน ก็ได้กลับมาประกาศว่าจะฟื้นฟูประชาธิปไตย นั่นส่งผลทำให้บรรยากาศทางการเมืองดูตื่นตัวทันที จึงทำให้ถือกำเนิดเป็น “พระราชบัญญัติพรรคการเมือง” ซึ่งได้รับการรับรองในสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียง 101 ต่อ 1 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 กันยายน 2498

จอมพล ป. พิบูลสงครามให้เหตุผลในการผลักดันพระราชบัญญัติพรรคการเมือง คือ “ระบอบประชาธิปไตยก็ดำเนินมากว่า 20 ปี ควรแก่เวลาที่จะได้มีการก่อตั้งพรรคการเมืองให้สมบูรณ์ เพื่อบรรดาผู้สนใจในการก่อตั้งพรรคมีความมั่นใจ ไม่หวาดระแวงภัยต่าง ๆ อีกต่อไป” โดยหลังจากที่พระราชบัญญัติพรรคการเมืองประกาศใช้ พรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งใจจะให้เป็นบันได้ทำให้ตนเองได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปก็เป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่จดทะเบียนจัดตั้ง โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2498 หลังจากนั้นจึงเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งในวันถัดมา ซึ่งเป็นการควบรวมของพรรคก้าวหน้าด้วยเช่นกัน

หลังจากที่พรรคของจอมพล ป. ได้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น ก็ทำให้พรรคของเขาถูกครหาว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้การเลือกตั้งสกปรก จนสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมาก และเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย ตั้งแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้รัฐบาลภายใต้แกนนำของจอมพล ป.จัดตั้งได้สำเร็จ การลาออกจากพรรคเสรีมนังคศิลาของบรรดา สส. จำนวนมาก

จนกระทั่งการรัฐประหารโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ก็ทำให้เกิดการยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2498 และเป็นผลให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่จดทะเบียนภายใต้พระราชบัญญัตินั้นเป็นอันสิ้นสุดลงทันที แน่นอนว่าพรรคเสรีมนังคศิลาก็สิ้นสุดไปด้วยระยะเวลาเพียง 3 ปี 21 วัน ถือเป็นพรรคการเมืองแรกที่ถูกยุบในที่สุด

ปัจจุบันการดำเนินการและดูแลการจดจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นหนึ่งในของเขตอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณราจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ถือได้ว่าเป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กำกับดูแล และบริหารจัดการให้มีการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเที่ยงธรรม ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 นั้นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจำนวน 311,333,900 บาท โดยมี 2 แผนงานที่ดำเนินการในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้แก่ แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง (จำนวนงบประมาณ 241,381,900 บาท) และแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (จำนวนงบประมาณ 69,952,000 บาท)

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า