fbpx

“นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ต้องสานฝันและความหวังของผู้คน” การเมืองใหม่ในมุม ‘ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์’

      วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถือเป็นวันที่สร้างความทรงจำหลากหลาย…

      โดยเฉพาะหลังการปิดหีบเลือกตั้ง ประชาชนทั้งประเทศต่างเฝ้าดูการนับคะแนนแบบใกล้ชิด สำนักข่าวทุกเจ้าเริ่มรายงานและถ่ายทอดสดความเคลื่อนไหวทั่วประเทศ แน่นอนว่าเหล่าผู้สมัครสมาชิกสภาราษฎรทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อของทุกพรรค ก็เป็นกลุ่มที่ลุ้นไม่ติดเก้าอี้เช่นกัน เพราะนี่คือช่วงเวลาตัดสินว่าประชาชนแต่ละพื้นที่จะเลือกใคร ผู้ที่อาสาเข้าไปทำงานการเมืองคนไหนจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และใครที่จะต้องสอบตกในการเลือกตั้งครั้งนี้ 

      ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาว่าพรรคก้าวไกลมีคะแนนเสียงรวมแล้วกว่า 14 ล้านเสียง กรุงเทพมหานครกลายเป็นสีส้มไปทั้งหมด เว้นอยู่เพียงเขตเดียวคือเขตที่ 20 ลาดกระบัง ที่ถูกฉาบด้วยสีแดง แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. แบบเขต พรรคเพื่อไทย ได้รับความไว้วางใจจากคนในพื้นที่ให้ทำงาน ส.ส. ต่อเป็นสมัยที่ 3

      ท่ามกลางการเมืองที่ร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากประชาชนหลายฝั่ง เพราะประชาธิปไตยคือความหลากหลาย ย่อมมีการแสดงความคิดเห็นนับล้านนับพัน ทว่าบางความคิดเห็นก็อาจก่อให้เกิดความรู้สึกติดค้างในใจอยู่ไม่น้อย

      การตั้งคำถามที่ว่ามีมากมาย เช่นว่าทำไมพรรคเพื่อไทยถึงกลายเป็นพรรคอันดับ 2 หรือเสียงวิจารณ์ที่มองว่าเพราะเพื่อไทยไม่ยอมสู้ จึงได้พ่ายแพ้ ไปจนถึงการตั้งคำถามต่อการเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ ว่าอาจมีความผิดปกติจำนวนมาก มีการโกง มีการใส่ร้ายป้ายสี ไปจนถึงมุมมองเรื่องแฟนด้อมในวงการการเมือง ซึ่งตัวของธีรรัตน์ก็ได้รับคำวิจารณ์ทั้งทางบวกและทางลบจากหลายฝั่งมากพอสมควร

      เมื่อมีโอกาสได้พบกัน เราจึงอดไม่ได้ที่จะกล่าวแสดงความยินดีเป็นอย่างแรก ตามด้วยถามไถ่ถึงการเดินบนเส้นทางทางการเมืองที่นานกว่าสิบปี เมื่อมีคนบอกว่าเธอไม่ต่อสู้ จึงต้องถามเจ้าตัวว่าในมุมมองของตัวเอง เธอไม่สู้จริงหรือ ไปจนถึงการเปิดอกเรื่องการถูกเรียกว่าเป็น ‘บ้านใหญ่’ ที่สังคมให้ความหมายคำนี้ในเชิงลบ เหมือนการเปรียบเทียบที่เห็นได้บ่อยตามโซเชียลมีเดียว่าเพราะเป็นบ้านใหญ่ มีทุนหนา สืบทอดตำแหน่งกันมานาน จึงทำให้นักการเมืองคนเดิมๆ ชนะการเลือกตั้งอยู่เสมอ 

      แต่คำถามที่ต้องถามต่อ ธีรรัตน์เป็นอย่างที่ว่าจริงหรือไม่ เธอมองตัวเองแบบไหน มองอย่างไรต่อผู้ที่แปะป้ายคำดังกล่าวให้กับเธอ มองอย่างไรกับกลุ่มคนที่เข้ามาติดตามการทำงานที่เรียกกันว่า ‘แฟนคลับ’ หรือ ‘แฟนด้อม’ รวมถึงพูดคุยเกี่ยวกับความหวัง ความฝัน และเป้าหมายที่อยากทำหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ 

      เพราะประชาชนไม่สามารถรอได้อีกแล้ว เธอจึงแสดงความรู้สึกอย่างตรวไปตรงมาว่านักการเมืองทุกคนที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ต่างต้องก้าวเดินให้มั่นคง ไม่หวั่นไหว เพราะประชาชนหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเร็ววัน และนักการเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตอบรับเสียงของผู้คน

เราไม่สู้จริงหรือ? ว่าด้วยเส้นทางการเมืองจากปี 54 ถึงปี 66 

      ประเด็นแรกที่เริ่มพูดคุยกันคือประสบการณ์การทำงานการเมืองตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน เพราะตอนนี้มีหลายเสียงที่มองว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ ทั้งที่หากมองอย่างยุติธรรม เพื่อไทยคือพรรคการเมืองที่ถูกเผด็จการทหารปล้นอำนาจ หลายคนถูกจับกุมคุมขัง หลายคนถูกยึดทรัพย์ ยึดงาน บางคนถูกพรากออกจากแผ่นดินเกิด 

      เพราะในอดีต เพื่อไทยก็เป็นเหยื่อความรุนแรงจากเผด็จการทหารโดยตรง และเป็นผู้เสียหายที่สูญเสียจนเสียศูนย์พอสมควร 

      ธีรรัตน์เริ่มเข้าสู่สนามการเมืองเป็นครั้งแรกกับการเลือกตั้งปี 2554 ในฐานะผู้สมัคร ส.ส. แบบเขต ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร คราวนั้นพรรคเพื่อไทยสามารถคว้าชัยชนะไปท่วมท้น ส่งให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย และเธอจึงได้เริ่มทำงานการเมืองจริงจังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

      “ในสมัยนั้นเรามีความคุ้นเคยกับพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ว่าอย่างไรต้องเอาตัวเองไปให้ประชาชนเห็น เพราะเราเชื่อมั่นว่าถ้าเขาได้สัมผัสถึงความตั้งใจของผู้สมัคร เขาจะลองให้ความไว้วางใจเรา ให้เราได้ใช้ความมุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่” 

      หากบางคนพอจำได้ พรรคเพื่อไทยในช่วงเวลานั้นผ่านเหตุการณ์ยากลำบากหลายอย่าง ทั้งความวุ่นวายทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนหลากหลาย การเล่นแง่ของนักการเมืองฝ่ายค้าน เมื่อสถานการณ์ไม่สงบลงง่ายๆ สุดท้ายในปี 2557 เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจโดยกลุ่มคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งธีรรัตน์เองก็ถูกผู้มีอำนาจข่มขู่ คุกคาม เสมือนบอกกลายๆ ว่ายังถูกจับตามองใกล้ชิด

      “มาในรูปของการติดตามตัวนักการเมืองไปในสถานที่ต่างๆ กรณีของพี่อิ่มก็มีคนมาพบที่บ้าน ไม่ได้มาแบบข่มขู่อะไรมากมาย เหมือนมานั่งแสดงตัวให้รู้ว่ากำลังจับตาดูอยู่ บางครั้งโทรศัพท์เรียกให้ไปดื่มกาแฟด้วยกัน พี่ก็ไม่ไป ไม่ว่างก็ไม่ไป บางครั้งเราโพสต์ข้อความเพราะต้องการสะท้อนเสียงและความเป็นอยู่ของประชาชน โพสต์ว่าประชาชนต้องการการดูแลอย่างไรบ้าง ก็มีการสั่งให้ลบโพสต์ พี่ยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่ลบ เพราะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน และพี่ยึดมั่นในสิทธิที่ตัวเองควรทำได้ 

      “แม้ช่วงเวลาที่ถูกยึดอำนาจ เรายังคงอยู่กับพี่น้องประชาชน ลงพื้นที่สม่ำเสมอ ไม่ได้เกรงกลัวต่ออำนาจที่มาข่มขู่ไม่ให้เราได้พบปะประชาชน ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ ไม่แปรพักตร์ ไม่เปลี่ยนไปไหน จนมาในปี 2562 กับการเลือกตั้งครั้งที่ 2 เรียกว่าเป็นช่วงหลังการปฏิวัติที่ทุกคนต่างรอคอยการเลือกตั้ง ทุกคนรู้สึกว่ามีหวัง อยากได้ผู้แทนที่มาจากระบอบประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ครั้งนั้นก็ประสบความสำเร็จด้วยดี”

      การเลือกตั้งปี 2566 นับว่ามีความแตกต่างจากการเลือกตั้งสองครั้งก่อนที่เคยผ่านมา ด้วยปัจจัยหลายด้านทั้งผลจากการรัฐประหารจนการเลือกตั้งปี 2562 ที่สร้างความโกรธแค้นให้กับประชาชนจำนวนมาก ทั้งการพบบัตรเขย่ง ส.ส. กินกล้วย ส.ส. กลายร่างเป็นงูเห่า พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดกลับต้องกลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน และที่พูดถึงไม่ได้คือกระแสของพรรคที่ถูกเรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งกับเพื่อไทยอย่าง ‘พรรคก้าวไกล’ เป็นสมการสำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งปี 2566 

      ผลการเลือกตั้งแบบเขตออกมาว่า ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ จากพรรคเพื่อไทย ชนะคู่แข่งแบบเฉือนกันเพียง 4 คะแนนเท่านั้น ซึ่งก่อนที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จะยืนยันว่าผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ชนะ เกิดการเรียกร้องของกองเชียร์นักการเมืองหลายฝั่ง ทั้งการขอตรวจสอบบัตรเสีย ขอให้นับคะแนนใหม่ และมีการนับซ้ำรวมแล้ว 4 รอบ ก่อนผลออกมาเหมือนเดิมว่าธีรรัตน์จะได้ทำงานในฐานะ ส.ส. สมัยที่สาม ด้วยคะแนน 34,749 คะแนน คิดเป็น 38.50% 

      “พอถึงปี 2566 พี่อิ่มคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมากๆ อยากเห็นอำนาจที่ไม่ชอบธรรมทั้งหมดหมดไปจากสังคม พวกเขาเลยทุ่มเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ และได้สะท้อนออกมาจากผลการเลือกตั้ง เป็นช่วงที่ลุ้นระทึกอยู่เหมือนกัน ถ้ามีอะไรผิดไปนิดหนึ่งคือเปลี่ยนได้เลย สุดท้ายเลยรอคะแนนทางการจาก กตต. ประจำเขต พอประกาศขึ้นมาว่าเราชนะก็ดีใจ มีน้องๆ มาร่วมดีใจด้วย

      “อย่างพื้นที่ของพี่อิ่มเอง พี่มั่นใจว่าทำดีที่สุดในช่วงที่เราได้มีโอกาส แต่อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าคนอาจอยากเปลี่ยนตัวผู้นำไปเลย ทั้งในส่วนของอำนาจเดิมคือเผด็จการ กับคนที่พวกเขาคาดว่าจะได้มาทำหน้าที่ใหม่คือคุณพิธา (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30) ที่เป็นเหตุผลในการที่คนคิดว่าอยากที่จะพลิกและเปลี่ยน

      “อีกมุมหนึ่ง คิดไว้เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไรถ้ามีอะไรผิดจากที่เราคาดการณ์ ก็คงต้องทำงานต่อไป เพราะคนที่เลือกเรามากว่าสามหมื่นคะแนนก็มีคุณค่าและมีความหมาย เสียงเหล่านี้ฝากความหวังไว้ที่เราเหมือนกัน ต้องไม่ทิ้งพวกเขา ต้องช่วยกันผลักดันในสิ่งที่เขายังไม่ได้รับการดูแล รวมถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้สำเร็จ อย่างน้อยเราเป็นอดีต ส.ส. เราน่าจะเสียงดังกว่าคนอื่นเขา

      “ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ความผิดของน้องๆ ในการที่เขาเพิ่งได้เข้ามารับรู้เส้นทางทางการเมือง หรือการต่อสู้ทางการเมืองของนักการเมืองรุ่นเก่าๆ เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องยืนหยัดต่อไป อย่าเสียกำลังใจ อย่าคิดว่าสิ่งที่ตัวเองสู้มาไม่มีความหมาย ทุกอย่างมันมีความหมายถึงได้เกิดเป็นวันนี้ได้ เราแค่อาจจะต้องให้เขาเข้ามาซึมซับให้ขึ้น ให้เขาได้เห็นถึงวิถีการต่อสู้และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาให้มากขึ้นเท่านั้นเอง”

ชัยชนะครั้งที่สาม, หน้าที่ของ ส.ส., และคำครหาเรื่อง ‘บ้านใหญ่’

      นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2566 จบลง ธีรรัตน์มักถูกสื่อหลายสำนักเรียกว่าเป็นผู้หญิงที่สามารถคว้าชนะแบบฉิวเฉียด และเป็น ส.ส. เพื่อไทยเพียงคนเดียวในเมืองหลวงที่ประชาชนเลือกให้ทำงานต่อ ดังนิยามสั้นๆ ที่ว่า ‘แดงหนึ่งเดียวในดงส้ม’ 

      เธอตอบประเด็นนี้ทันทีว่าไม่ได้คิดว่าใครจะชนะใคร เพศไหนจะชนะใคร ไม่ได้มองประเด็นความเป็นหญิง-ชาย แต่ในแง่การเป็นเพียง ‘คนเดียว’ ของเพื่อไทย ธีรรัตน์คิดว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว และจะนำเรื่องของเพื่อนผู้สมัคร ส.ส. เขตอื่นๆ ประมวลออกมาว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาใดบ้าง แล้วจะช่วยแก้ไขเท่าที่จะทำได้ เพราะการทำงานของเธอไม่ใช่แค่การดูแลพื้นที่ลาดกระบังเท่านั้น 

      ส่วนเรื่องการแข่งขันในพื้นที่ลาดกระบัง หลายครั้งเวลาเข้าไปในโซเชียลมีเดียจะเห็นการโต้ตอบกันระหว่างกองเชียร์นักการเมือง หลายครั้งผู้สมัครเองก็กระโจนมาร่วมเล่นด้วยเหมือนกัน จนทำให้ประชาชนบางส่วนเรียกเธอว่า ‘บ้านใหญ่’ มองว่านักการเมืองรายนี้เป็นกลุ่มอำนาจเดิมที่สืบทอดอำนาจจนกลายเป็น ‘นามสกุลใหญ่’ ประจำท้องถิ่น ไปจนถึงเสียงที่บอกว่าเธอโกงการเลือกตั้ง 

      “พี่อิ่มเพิ่งได้เห็นจากคลิปของพรรคการเมืองผู้สมัครหนึ่งเหมือนกัน ก็ได้แต่ถอนหายใจ อยากให้นักการเมืองใหม่ทำงานอย่างสร้างสรรค์ หาเสียงแบบใหม่จริงๆ ไม่ใช่หาเสียงเพราะมาโจมตีคู่แข่งในสิ่งที่แม่งไม่ใช่ปัญหา บ้านใหญ่ก็ดี ก็ช่วยได้ ทำให้ทุกคนได้รับการดูแลได้มากขึ้น จากเดิมที่หน่วยงานรัฐทำได้ไม่ทันใจ ไม่เพียงพอ และถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ควรได้ทำงานเพื่อประชาชนไหม ถ้าพร้อมทำงาน ก็ควรได้รับการสนับสนุนไหม ไม่ใช่ถูกตัดสิทธิ์หรือถูกไม่เลือกเพราะเป็นบ้านใหญ่เท่านั้น 

      “พี่ก็บ้านไม่ได้ใหญ่ แต่ทำงานกับประชาชนมานาน เลยได้รู้ได้เห็นถึงปัญหาของพวกเขา และอยากแก้ไขปัญหา ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกส่วนหนึ่งคือการขึ้นอยู่กับความพร้อม ถ้าไม่พร้อมเราว่าคงไม่มีใครว่าอะไรหรอก เพราะประชาชนไม่ได้หวังว่า ส.ส. ต้องมานั่งควัก นั่งหามาให้ขนาดนั้น ถ้าคุณพร้อม คุณก็ทำได้มากกว่าเท่านั้นเอง ถ้าคุณไม่พร้อม คุณทำหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด แค่นั้นเขาก็พอใจแล้ว 

      “คุยเรื่องนี้กับเพื่อนเป็น ส.ส. เราปลอบตัวเองว่าอย่าท้อ งานอะไรที่เราทำไม่พอ ก็ต้องทำให้หนักขึ้น เพื่อนสวนพี่กลับมาว่า ‘แล้วคู่แข่งมึงทำอะไร คนยังไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้าเลย’ เราพูดกันเล่นๆ ได้ แต่ว่าในสิ่งที่ทำมาวันนี้เห็นผลแล้วว่า 4 คะแนน ก็ยังชนะ” 

      นอกจากนี้ ธีรรัตน์ได้ประเมินปัญหาที่พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ในเขตลาดกระบังกำลังเผชิญอยู่ โดยรวบรวมจากประสบการณ์การทำงานเข้ากับเสียงเรียกร้องในปัญหาต่างๆ ที่ได้ยินมา กลายเป็นว่าปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ ‘คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่’ ที่จะต้องดีขึ้นและเท่าเทียมกับพื้นที่อื่น ซึ่งเธอเชื่อว่าปัญหานี้จะทุเลาลงจากการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ที่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ 

      ส่วนปัญหาต่อมาคือ ‘ปากท้อง’ ที่มีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด ผู้คนที่เธอพบเจอส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง มีความแตกต่างจากกลุ่มชนชั้นกลางที่ธีรรัตน์เรียกว่า ‘บ้านมีรั้ว’ หรือ ‘อยู่ในคอนโด’ เพราะมีผู้คนอีกมากที่ไม่มีบ้าน อาศัยอยู่ตามสถานที่ที่ไม่สามารถเรียกว่าบ้านได้เต็มปาก หรืออยู่ในชุมชนแออัดที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงกลุ่มแรงงานที่รับค่าแรงในอัตราต่ำมาก สวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทุกวัน  

      “หน้าที่หลักของ ส.ส. คือการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ ออกกฎหมาย แก้ไขกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นแบบเขตหรือบัญชีรายชื่อก็ต้องช่วยกันทำงาน ไม่ว่าเรื่องนั้นๆ จะเกี่ยวกับเราหรือไม่เกี่ยวกับเรา พี่อิ่มอยากพยายามทำทุกอย่างให้เต็มที่ เพราะมันคือหน้าที่ของ ส.ส. ที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับปัญหาที่หลากหลายที่ประชาชนสะท้อนออกมา เราต้องเข้าถึงให้ได้ทุกเรื่อง

      “ทุกคนมีความต้องการแตกต่างกันไป เราไม่สามารถทิ้งใครได้ และเอาปัญหาที่คนทุกกลุ่มกำลังเผชิญอยู่มาเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงาน”

กระทรวงที่อยากทำ กับเป้าหมายที่วางไว้หลังจากนี้ 

      พักจากเรื่องเครียดๆ กับประเด็นจริงจัง มายังเรื่องที่เบาลงบ้าง เราได้ชวนคุยเกี่ยวกับโผปลอมอันหนึ่งที่เคยเป็นข่าวดังและถูกแชร์ไปทั่วโซเชียลมีเดีย โผที่ว่าคือลิสต์รายชื่อคณะรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ซึ่งมีชื่อ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ อยู่ในตำแหน่ง ‘รัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี’ ที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่าโผนั้นมีที่มาจากไหน ใครเป็นคนทำ และในเมื่อมีชื่อของเธออยู่ด้วย จึงต้องถามว่าคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

      ธีรรัตน์หัวเราะกับคำถามนี้ เธอกล่าวว่าไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวกับโผที่ออกมาเลย ไม่ว่าคนทำจะทำด้วยความหวังดีหรือหวังอย่างอื่น แต่ต้องขอบคุณ เพราะถึงเป็นของปลอมก็รู้สึกดีที่คนทำโผมองเห็นว่าตนเหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าว

      “ก็ต้องขอบคุณที่เขาให้โอกาสเราอยู่ในตำแหน่งสำคัญ ของปลอมก็ชอบอยู่ และต้องชี้แจงว่าเราไม่ได้รับทราบในประเด็นนี้ด้วยเลย แต่ถามว่าถ้าประชาชนฝากความหวังไว้กับเรา เราอยากทำเรื่องอะไร พี่อิ่มก็อยากทำหลายเรื่อง 

      “ในชีวิตที่ได้เจอคนลำบาก คนที่ยังไม่ได้รับการดูแล กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) น่าที่จะเป็นกระทรวงที่ทำงานได้เต็มที่เพราะรู้ปัญหาอยู่แล้ว เราอยากเอาปัญหามาวางไว้บนโต๊ะ เพื่อดูว่าตรงไหนขาดตกไปจากของเดิมที่ทำกันอยู่ ตรงไหนที่คนยังไม่ได้เข้าถึงสิทธิการดูแลตามที่ประชาชนคนหนึ่งควรได้รับ 

      “พม. ยังมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยหลายกระทรวง เช่น สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่ลงไปดูคนในชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ต้องดูว่าหน่วยงานเหล่านี้มั่นคงพอหรือยัง ต้องเอากลับมาอยู่ที่ พม. หรือไม่ ถ้าสาธารณสุขงานเยอะจนไม่สามารถดูแลได้ดีพอ ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างต่างๆ เรามองว่าหลายเรื่องทำงานด้วยกันได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นแบบนั้น แต่ถ้าทุกคนคาดหวังแล้วประสบความสำเร็จได้ ก็อยากทำความคาดหวังของคนให้เป็นจริง”

      ประเด็นสังคมคือประเด็นสำคัญสำหรับนักการเมืองหญิงผู้นี้ เธออยากผลักดันและสร้างความมั่นใจว่ารัฐเต็มที่กับประชาชน จะไม่มีวันทิ้งประชาชน โดยเฉพาะสวัสดิการต่างๆ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนที่เข้าไม่ถึงโอกาส ทำให้กลุ่มเปราะบางได้รับโอกาสมากขึ้น เพราะทุกวันนี้มีประชากรตกหล่นจำนวนมาก มีคนจนจริงที่ไม่ได้รับการดูแล 

      นอกจากประเด็นสังคมที่อยากทำ อีกหนึ่งสิ่งที่เธอยืนยันว่าจำเป็นมากๆ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

      “ที่เราพูดไว้ตลอดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพราะวันนี้เราโดนล็อกไว้ด้วยรัฐธรรมนูญที่มาจากการสืบทอดอำนาจ รวมถึงข้อเรียกร้องของประชาชนที่ไปในทางเดียวกันคือการเป็นทหารโดยสมัครใจ ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เพราะแต่ละปีหมายถึงการสูญเสียโอกาสของเยาวชนเหมือนกัน เมื่อมีโอกาสแล้วควรเร่งทำทันที หลายเรื่องต้องทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน รัฐบาลจะต้องทำผลงานให้เห็นได้ทันที

      “ในครั้งนี้ ด้วยความที่เรารวมจิตรวมใจกันเพื่อให้ฝั่งประชาธิปไตยชนะแบบปล้นไม่ได้ ช่วยกันชนะจนมีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาล สิ่งต่อมาคือการตอบให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายของเราขับเคลื่อนได้จริงๆ ใครที่เคยสัญญาอะไรกับประชาชนเอาไว้ ก็ต้องทำตามที่สัญญาไว้ให้เป็นจริง 

      “เราต้องเดินหน้ากันต่อ เพราะหลังการปฏิวัติรัฐประหาร บ้านเมืองเละทุกครั้ง แต่เราก็ผ่านมาได้ ครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยมารวมกันแล้วสานฝันของประชาชน เราต้องทำความหวังของพี่น้องประชาชนให้สำเร็จ ตอนนี้ขอให้ทุกคนได้ร่วมมือกัน”

      ธีรรัตน์กล่าวทั้งหมดด้วยความหวัง

ว่าด้วยเรื่อง ‘แฟนด้อม’ ในโลกการเมือง

      อีกหนึ่งเรื่องที่ถ้าเจอธีรรัตน์แล้วจะไม่ถามไม่ได้เลยคือเรื่อง ‘แฟนด้อม’

      เรื่องราวความอบอุ่นในความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับกลุ่มคนที่มาติดตาม เป็นสิ่งที่ตัวเราเองได้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งการแวะเวียนไปทำข่าวที่พรรคเพื่อไทย เราจะเห็นกลุ่มคนมารอเจอนักการเมืองที่พวกเขาชื่นชอบ บางครั้งในการลงพื้นที่หรือการพบกันในวันต่างๆ ก็จะเห็นภาพคนหนุ่มสาวจำนวนมากมารอพบเจอ เช่นในการสัมภาษณ์วันนี้ กลุ่มแฟนคลับก็มาร่วมฟังการสัมภาษณ์แบบเงียบๆ แบบไม่ได้รบกวนการทำงานแต่อย่างใด 

      จากการได้สัมผัสด้วยตัวเองแม้จะไม่มากนัก จึงอนุมานได้ว่า พวกเขาเพียงแค่อยากพบเจอกับคนที่ตัวเองรู้สึกปลื้มก็เท่านั้น เราจึงถามธีรรัตน์ว่าทำไมเธอถึงได้กลายเป็นนักการเมืองที่มีกลุ่มแฟนคลับคอยติดตามและสร้างคอมมูนิตีขึ้นมาได้ขนาดนี้ 

      “พี่ยังไม่มีโอกาสได้นั่งคุยกับน้องๆ อย่างจริงจังว่าทำไมถึงเข้ามาติดตาม หรือเห็นผ่านๆ แล้วชอบ ถ้าให้ประเมินคงคิดว่าพี่เองก็ให้ใจกับเขา เวลาเขามีปัญหา อยากมาถามไถ่พูดคุย พี่ก็รับฟังเขาด้วยดี เพราะเสียงของเขามีคุณค่า มีความหมาย ไม่ได้รู้สึกว่าพอเป็นคนจากพื้นที่อื่นก็ไม่สนใจ พี่รู้สึกว่าเขาคือคนคนหนึ่งที่เราต้องให้การดูแลด้วย

      “ถ้าถามว่ามีข้อเสียมีไหม พี่ว่าไม่มีข้อเสีย ถ้าถามว่าข้อดีคืออะไร เวลาที่เราอยากฟังเสียงของเขา เราก็ได้ฟัง อยากรู้อะไรก็ถามน้องๆ ได้เลยว่าคิดเห็นอย่างไร เขาก็จะแสดงความคิดเห็นเต็มที่ เพราะว่าน้องๆ ที่เข้ามาติดตามพี่อิ่มมาจากหลายพื้นที่ มีหลากหลายปัญหาทั้งเรื่องทำงาน เรื่องเรียน ครอบครัว ชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งเหล่านี้คือข้อมูลดีๆ ที่เราจะได้รับ”

      ธีรรัตน์ได้ยกตัวอย่างช่วงการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เธอเล่าว่าตัวเองลงพื้นที่หาเสียงพบปะประชาชนตามปกติ ไม่ได้มีกลุ่มแฟนคลับมาติดตามลงพื้นที่ด้วย แต่ด้วยความที่อ่อนโซเชียลมีเดียเอามากๆ จึงไม่ค่อยได้โพสต์ความเคลื่อนไหวในแพลตฟอร์มต่างๆ เท่าไหร่นัก กลายเป็นว่าเหล่าแฟนคลับก็ช่วยกันสร้างบัญชีขึ้นมาใหม่เพื่อช่วยกระจายข่าวการเคลื่อนไหว หลายครั้งเอาคลิปสั้นที่ธีรรัตน์อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มาลง โดยหวังแค่ว่าอยากให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่าธีรรัตน์ก็เป็นนักการเมืองที่ทำงานหนักเสมอ 

      เธอบอกกับเราว่า ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปรวดเร็ว โซเชียลมีเดียกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ตนไม่สามารถมองข้ามได้เลย และฟังคำแนะนำของน้องๆ ด้วยการเปิดบัญชี TikTok ของตัวเองด้วยเหมือนกัน

      “น้องๆ ช่วยพี่อิ่มเยอะมาก เหมือนน้องๆ พยายามจะบอกทุกคนว่าคนที่คุณไม่เห็น ไม่ใช่ว่าเขาไม่ทำงาน เขาก็ทำงานอยู่ตรงนี้เหมือนกัน คิดว่าผลจากการที่น้องๆ ช่วยประชาสัมพันธ์ ทำให้หลายคนที่อยู่ในบ้านมีรั้ว อยู่ในคอนโด ที่ไม่เคยเห็นเรามาก่อน ก็เริ่มเห็นการทำงานของเรามากขึ้น เห็นว่า ส.ส. คนนี้ก็อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ทำงานเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ พยายามขับเคลื่อนให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้าด้วยเหมือนกัน และอาจพอจะทำให้เขาตัดสินใจลงคะแนนให้เราได้บ้าง เรื่องนี้พี่อิ่มต้องขอบคุณน้องๆ ด้วยเหมือนกัน  

      เป็นเรื่องดีอยู่แล้วที่จะมีคนมานิยมชมชอบ ทว่าปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่ามีเสียงวิจารณ์ผ่านหูผ่านตาอยู่บ่อยครั้ง มีการตั้งคำถามเรื่องการชื่นชอบนักการเมืองจนเหมือนกับการชื่นชอบศิลปินดารา หลายครั้งกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ติดตามนักการเมืองอย่างใกล้ชิดถูกมองว่ามีวัฒนธรรมคล้ายกับ ‘แฟนคลับ’ หรือ ‘แฟนด้อม’ ในแวดวงไอดอล 

      ไม่เพียงเท่านี้ บางเสียงที่แสดงความกังวลกับเรื่องนี้ไม่ได้มองแค่ในกรณีของธีรรัตน์เท่านั้น แต่มองยังภาพรวมว่าวัฒนธรรมการติดตามการเมืองของวัยรุ่นไทยเริ่มเปลี่ยนไปมากขึ้น จนอาจส่งผลเสียในแง่ที่ว่า พอชื่นชอบมากๆ เวลาที่นักการเมืองทำอะไรไม่ดี นักการเมืองทำผิดพลาด แฟนคลับจะไม่กล้าตำหนิติเตียน ทั้งที่นักการเมืองคือคนที่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำงานได้เสมอ เพราะนักการเมืองมีรายได้จากภาษีของประชาชน 

      หลังฟังฟีดแบคนี้จบ ธีรรัตน์รีบค้านขึ้นทันที เพราะในมุมมองส่วนตัว เธอไม่คิดว่าน้องๆ ที่มาติดตามจะทำแบบนั้นกับเธอ

      “หมายถึงว่าการที่มาติดตามเรา ทำให้เขายอมปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อไม่ให้เห็นข้อเสียของเราใช่ไหม ตรงนี้พี่ว่าไม่น่าจะเป็นแบบนั้น ถึงแม้น้องๆ จะพยายามนำเสนอหรือกระจายข่าวการทำงานและเรื่องที่ดีของเรา แต่จริงๆ แล้วจุดนี้ขึ้นอยู่กับตัวของนักการเมืองที่จะต้องทำให้ดีที่สุดด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าวันใดที่คุณทำผิดพลาด พวกเขาก็พร้อมนำเสนอในสิ่งเหล่านั้นให้ทุกคนเห็น

      “พี่มองว่าไม่ได้เป็นความผิดของคนที่เขาเข้ามาชื่นชอบเรา มันคือสิทธิที่เขาทำได้ เขามีสิทธิเลือกว่าอยากทำอะไร แต่เราจะต้องย้ำเตือนตัวเองเสมอว่าเราคือนักการเมือง ต้องรู้ว่าเราเป็นบุคคลสาธารณะที่ถูกจับตามองจากคนหลายกลุ่ม เพราะฉะนั้นเวลาจะทำอะไรต้องมีสติไว้ จากวันนี้ที่ได้รับความไว้วางใจแล้ว เราแค่อย่าหลุดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น และต้องคิดถึงประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่ประชาชนแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น 

      “ในวันนี้เขาอาจจะรัก แต่วันหนึ่งถ้าคุณทำผิดหรือทำในสิ่งที่คุณไม่ควร เขาก็มีสิทธิด่าคุณได้เหมือนกัน”

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า