จบกันไปเรียบร้อยแล้วกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ที่กลับมารันวงการสื่อสิ่งพิมพ์ให้คึกคักกันอีกครั้งได้อย่างเต็มตา และยังคงเป็นงานที่สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมคอนเทนต์บนหน้ากระดาษยังคงขายได้อยู่เสมอ และมันจะยังคงเป็นเช่นนั้นตลอดไป ตราบใดที่เนื้อหาคอนเทนต์บนสื่ออื่น ๆ ยังให้คุณค่าที่แตกต่างจากสื่อแบบเดิม
แต่กระนั้นอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ทั้งสำนักพิมพ์ นักเขียน หรือวิธีคิดคนทำงานก็ไม่ได้เก่าตามรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบกระดาษอย่างใด หากแต่เป็นวงการสิ่งพิมพ์ที่ยังทันสมัยอยู่เสมอด้วยการนำเสนอผ่านภาพลักษณ์ หน้าตา แก่นของหนังสือหรือรูปแบบภาษาในการใช้เล่าเรื่องที่วิวัฒน์ไปตามยุคสมัย
เมื่อมองไปยังงานหนังสือแล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งสะท้อนแนวคิดนี้ได้อย่างชัดเจนคือการออกแบบ ‘หน้าตา’ ของพื้นที่ขายสินค้าหรือ ‘บูธ’ ของแต่ละสำนักพิมพ์ ที่เป็นอีกหนึ่งภาพลักษณ์ซึ่งสวมใส่อยู่บนร่างกายอันเป็นตัวตนของแต่ละสำนักพิมพ์ที่มีอยู่เป็นทุนเดิม และเพิ่มเติมเครื่องประดับ แต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่เพื่อดึงดูดสายตานักอ่านให้เข้ามาแลกเงินกับความรู้บนกระดาษทั้งหลายในร้านกลับบ้านไป
วันนี้ The Modernist เลยขอหยิบบูธของแต่ละสำนักพิมพ์ที่สร้างสรรค์และออกแบบภาพลักษณ์ผ่าน key visual ได้อย่างน่าสนใจในงาน ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28’ มาเล่าถึงไอเดีย และที่มาของงานออกแบบ หรือธีมที่นำเสนอในงานหนังสือครั้งนี้กัน
01
Salmon Books (L22) – The Sal City

ปีนี้ ‘Salmon Books’ มาในแนวน่ารัก ๆ อย่างธีม ‘The Sal City’ เมืองแห่งหนังสือหลากรสชาติที่จะมาเติมเต็มการอ่านของนักอ่านให้สนุกขึ้น ผ่านเจ้าเมืองสุดน่ารักอย่าง ‘คุณกริซแซลลี’ คุณหมีเสื้อสีส้มใส่หมวกแก๊ปที่รอต้อนรับพลเมืองแซลซิตี้ทุกคน
ธีมนี้น่าสนใจตรงที่ว่ามันสามารถนำเสนอหมวดหมู่ผ่านธีมที่คลุมอยู่ได้แบบพอดี ด้วยความที่บูธมาในรูปแบบของเมืองแห่งหนังสือ โซนหนังสือใหม่จะถูกจัดอยู่ในหมวด ‘ดาวน์ทาวน์’ ส่วนโซนหนังสือเก่าจะถูกจัดอยู่ในหมวด ‘โอลด์ทาวน์’ แยกย่อยลงไปอีกก็จะมีโซนหนังสือประเภทบันทึกประสบการณ์ของหลากหลายผู้คนที่เรียกว่าโซน ‘สวนแซลธารณะ’ โซนสตูดิโอหนังสือแปลไทย ‘#ให้เสียงภาษาไทยโดยแซลมอนบุ๊กส์’ โซนหนังสือเรื่องเล่าเคล้าอาหาร ‘แซลมาร์เก็ต’ และโซนสินค้ากระจุกกระจิกประเภท merchandise อย่าง ‘12 SAL street’
ทั้งหมดนี้ถูกจัดให้อยู่ในธีมกราฟิกแบบ Bubble Style คุมธีมอยู่ในโซนสีฟ้า-น้ำเงิน-ส้ม-เขียว ที่ทำให้ภาพของเมือง The Sal City เต็มไปด้วยความน่ารักนุ่มฟู และสีสันโดดเด่นแต่สบายตา น่าเดินทางมาเยี่ยมและอิ่มเอมกับบรรยากาศภายในเมือง


อีกทั้งโซนที่สำนักพิมพ์ได้ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ก็ใหญ่พอให้เราได้เดินสำรวจหนังสือและสินค้าที่ระลึกมากมายที่อยู่ภายใน เสมือนเราเดินเข้าไปในเมือง The Sal City จริง ๆ
อีกจุดสำคัญของสำนักพิมพ์นี้คือการมีรายการพอดแคสต์ ‘Salmonsay’ ที่จะมาต่อยอดเรื่องราวจากหนังสือให้กลายเป็นคอนเทนต์เล่าเรื่องในรูปแบบเสียง แต่หลัง ๆ ก็ยุ่งจนกลายเป็นรายการแนะนำหนังสือใหม่รายสะดวกตามห้วงเวลาเดียวกันกับงานหนังสือแทน ก็เลยมีรายการแนะนำหนังสือใหม่ทั้งหมดที่ออกในงานหนังสือครั้งที่ผ่านมานี้ให้ได้ฟังกันด้วย
สามารถไปฟัง บก.บห. กาย และ กอง บ.ก. สำนักพิมพ์แซลมอนป้ายยาหนังสือใหม่ทั้ง 16 เล่มได้ที่ด้านล่างนี้เลย
02
Biblio (K08) – Biblio Book Bus

ทางฝั่งสำนักพิมพ์ที่มีความเป็นวัยรุ่นใกล้เคียงกันอย่าง ‘Biblio’ ก็นำเสนอตัวตนของตัวเองออกมาได้อย่างน่ารักลงตัวเหมือนกัน กับธีม ‘Biblio Book Bus’ ที่หยิบเอาบรรยากาศความ Nostalgia มาเป็นกลิ่น จากการนำเอาไอเดียหลักของ ‘book bus’ หรือรถหนังสือมาขยายความให้น่าสนใจกับอุตสาหกรรมหนังสือไทยยุคนี้
กล่าวอย่างง่าย ๆ ‘book bus’ คือรถเร่หนังสือ รูปแบบเดียวกันกับรถเร่ฉายหนังและขายยาที่อยู่ในเรื่อง ‘มนต์รักนักพากย์’ นั่นแหละ ไอเดียของมันคือการขนหนังสือไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่อาจจะด้อยโอกาส หรือชุมชนห่างไกลยากต่อการเข้าถึงทรัพยากรความรู้และความบันเทิงทั้งหลาย เพื่อนำหนังสือไปให้อ่านกันฟรี ๆ ในรูปแบบห้องสมุดเคลื่อนที่ หรือซื้อกลับบ้านไปในรูปแบบร้านหนังสือเคลื่อนที่
รถเร่แบบนี้มีอยู่ทั่วโลก ในหลากหลายลักษณะของรถ ทั้งเกวียน รถตู้ รถบัส รถจี๊ป เพื่อให้เอื้อต่อการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางกายภาพ และตามแต่จำนวนความเยอะของหนังสือที่นำไปด้วย ซึ่งไม่ว่าหนังสือจะมีมากน้อยเพียงใด เมื่อมันไปจอดพักตามพื้นที่ต่าง ๆ มันคือการนำพาขุมทรัพย์ความรู้ไปเปิดท้ายให้ผู้คนมากอบโกยมันได้อย่างฟรี ๆ ผ่านเนื้อหาและหมวดหมู่อันหลากหลาย



และนั่นเองคือเหตุผลที่ทำให้เกิด ‘Biblio Book Bus’ รถหนังสือของสำนักพิมพ์บิบลิโอคันใหม่ล่าสุดของวงการรถหนังสือขึ้นในงานหนังสือครั้งนี้ ผ่านรถตู้ขนาดกะทัดรัดสีพีช ที่มี ‘Bibie (บิบี้)’ มาสคอตประจำสำนักพิมพ์ที่เป็นแมวดำตัวอ้วนกลม เป็นพลขับนำพาหนังสือมากมายมาจอดในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ พร้อมทั้งสินค้ากระจุกกระจิกอีกมากมายที่ต่อยอดมาจากธีมรถหนังสือ ซึ่งล้วนแล้วแต่น่ารักน่าสะสม และเป็นอีกหนึ่งบูธสุดน่ารักในงานหนังสือครั้งนี้อีกด้วย
หากใครได้แวะเวียนไปที่บูธของ ‘Biblio’ ก็จะเห็นถึงการตกแต่งด้วยรูปรถบัสทั้งคัน ที่เสมือนกับว่ารถหนังสือคันนี้ของสำนักพิมพ์ได้มาจอดบริการนักอ่านในงาน ก่อนที่จะเดินทางออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ บรรยากาศภายในบูธแสนอบอุ่น และกรุ่นกลิ่นวันวาน พร้อมทั้งความทันสมัยจากสไตล์กราฟิก และสีพีช-เขียว-เหลือง-ฟ้า ที่ช่วยพาความน่ารักสู่สายตานักอ่านที่มาแวะเวียนที่บูธได้เป็นอย่างดี
03
P.S. Publishing (K15) – Dreams Without Limits, Love Without …

อีกหนึ่งบูธสุดอาร์ตประจำงานหนังสือครั้งนี้อย่างบูธของสำนักพิมพ์ ‘P.S. Publishing’ มาในธีม ‘Dreams Without Limits, Love Without …’ ที่อ้างอิงธีมหลักมาจากธีมของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 อีกทอดหนึ่ง โดยธีมงานหลักครั้งนี้คือ ‘Book Dreams’ ที่ว่าด้วยการเปิดหน้าต่างบานใหม่ ให้ทุกคนเดินทางสู่โลกในฝันของนักอ่าน ด้วยจำนวนหนังสือกว่า 1 ล้านเล่มภายในงานที่รอให้นักอ่านค้นพบ
ทางสำนักพิมพ์ ‘P.S. Publishing’ เห็นว่าธีมเกี่ยวกับความฝันน่าสนใจดี และคิดว่ามีความเกี่ยวข้องกันกับหมวดหมู่หนังสือส่วนใหญ่ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของสำนักพิมพ์นี้ด้วย ธีมหลักของทางสำนักพิมพ์จึงเล่นกับเรื่อง ‘ความฝัน’ ผ่าน Motto ว่า ‘Dreams Without Limits, Love Without …’ ซึ่ง … ก็คือช่องว่างที่รอให้ทั้งผู้เขียนมาเติมคำเพื่อให้เชื่อมโยงกับงานเขียนของตัวเอง และให้นักอ่านมาเติมเต็มประโยคด้วยคำอะไรก็ได้ ตามแต่ใครจะนิยาม


และจากธีมที่ว่าด้วยความฝัน ทำให้ mood & tone โดยรวมจึงเป็นกราฟิกแนว ‘โฮโลแกรม’ ที่มีหลากหลายเฉดสี เปรียบได้เหมือนกับความสัมพันธ์ที่ไม่ได้จำกัดแค่สีใดสีหนึ่งนั่นเอง เฉดของความโฮโลแกรมในธีมนี้เลือกใช้ สีฟ้า-น้ำเงิน-ม่วงอ่อน มาเบลนด์ร่วมกัน ผสมกับเอฟเฟ็กต์แบบกรันจ์นิดหน่อย ที่เพิ่มความฟุ้งกระจายเสมือนความฝันที่มองเห็นแต่หยิบจับไม่ได้
ส่วนเรือธงของธีมนี้คือหน้าตาของบูธที่โดดเด่นท้าทายสายตานักอ่านทั่วงานให้หันมาสนใจ กับแผ่นพลาสติกขนาดใหญ่เรียงซ้อนกัน และ mood สีของบูธที่รวมกันแล้วดูชวนฝัน และนำพาสายนักอ่านให้แวะมาหยิบจับหนังสือ และสินค้าภายในร้านได้ทุกราย (เราก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกัน)
04
มติชน (J47) – มติชน(ด)ราม่า

อีกหนึ่งบูธสุดมันส์และน่าจดจำในงานหนังสือครั้งนี้อย่าง ‘สำนักพิมพ์มติชน’ ที่เลือกธีมภาพยนตร์ยุค 60-70 ในชื่อ ‘มติชน(ด)รามา’ ได้อย่างมีเอกลักษณ์ และใส่สุดทุกทางจนเราต้องซูฮก อีกทั้งยังมาในช่วงเวลาเหมาะเจาะที่สังคมไทยกำลังประโคมกลิ่นอาย Nostalgia อย่างเป็นบ้าเป็นหลัง
ชื่อธีม ‘มติชน(ด)รามา’ เรียกได้ทั้ง ‘มติชนรามา’ ที่หมายถึงโรงภาพยนตร์ของมติชน และ ‘มติชนดรามา’ ที่หมายถึงเรื่องราวแบบดรามา ๆ ละคร ๆ ที่นำเสนอโดยมติชน ซึ่งมาจากไอเดียที่อยากให้นักอ่านทุกคนหมุนเข็มนาฬิกาย้อนเวลา กรอเทปกลับ และจินตนาการถึงวันวานที่โรงหนัง Stand Alone ยังรุ่งเรืองและภาพยนตร์หลากหลายเรื่องกลายมาเป็นความทรงจำของใครหลายคน ผ่านบรรยากาศสุดคลาสสิกในบูธที่จะทำให้นักอ่านรู้สึกเหมือนกำลังสัมผัสเรื่องเล่าในโรงหนังย้อนยุคขณะที่พลิกดูหนังสือแต่ละเล่ม
งานนี้ทางสำนักพิมพ์มติชนได้เชิญ ‘ตะวัน วัตุยา’ ศิลปินร่วมสมัยที่ได้ร่วมงานกับมติชนหลายต่อหลายครั้ง ก่อนที่จะได้รับโอกาสครั้งสำคัญในการออกแบบ Key Visual ในธีมโรงภาพยนตร์ยุค 60-70 แบบเต็ม ๆ ในครั้งนี้



กลิ่นอายงานอาร์ตยุคนั้นโอบล้อมบรรยากาศในบูธ และหน้าตาของเพจสำนักพิมพ์มติชนไว้ได้อยู่หมัด ทั้งการออกแบบภาพประกอบที่รวมเอาจุดเด่นของภาพยนตร์ยุคนั้นกว่า 20-30 เรื่องมารวมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าในบูทสำนักพิมพ์นี้มีเรื่องราวจากผู้คนหลากหลายไม่ต่างจากตัวละครในภาพยนตร์คลาสสิกเหล่านี้ ทั้งพระเอก ผู้ร้าย ตัวโกง มือปืน อันธพาล มาเฟีย ตลก ดาวยั่ว
อีกทั้งสีสันที่เลือกใช้ในภาพประกอบ และงานกราฟิกทั้งหมดก็สะท้อนรูปแบบการทำใบปิดภาพยนตร์สมัยนั้น รูปแบบการใช้ตัวอักษรเหลี่ยม ๆ และลดทอนหัวขมวด จัดชิดซ้ายบ้างขวาบ้างก็ทำให้เราได้เห็นวิธีการเลือกใช้ไทป์เฟสแบบนี้บนใบปิดในยุคนั้น รวมถึงรูปแบบภาษาที่ใช้ในการโปรโมตในครั้งนี้ก็สะท้อนค่านิยมของรูปแบบการใช้ภาษาสมัยก่อนได้อีกเช่นกัน



และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือของแถมจากบูธ หากซื้อสินค้าได้ครบยอดที่กำหนดไว้ก็จะได้ของแถมพรีเมียมน่าสะสมมากมาย ที่ใช้งานอาร์ตยุคภาพยนตร์คลาสสิกผสมกับเหตุการณ์ในยุคปัจจุบัน ทั้งคำว่า “ดีลรัก” “ข้ามขั้ว” “หวานเจี๊ยบ” “เพ้อเจ้อ” “อยู่เป็น” “อย่าหิวแสง” “กรี๊ดสิครับกรี๊ด” ที่ถูกออกแบบเหมือนโลโก้ภาพยนตร์ในใบปิด และถูกนำไปนำเป็นลายเสื้อ ลายกระเป๋า Tote bag แก้วมัก และหมวกแก็ป ก็ยั่วล้อสังคมได้อย่างสวยงามจนไม่ว่าใครเห็นแล้วก็อยากครอบครอง
นับได้ว่าเป็นการเลือกธีมได้อย่างน่าสนใจ ผสมผสานยุคสมัยอันรุ่งเรืองของความบันเทิง ทั้งในโลกละครยุคเก่า และโลกความจริง (แต่ละครกว่า) ยุคใหม่ได้อย่างแสบจี๊ดเลยทีเดียว
ต้องนับถือความสร้างสรรค์ของแต่ละสำนักพิมพ์ที่ขนไอเดียมาแสดงกันจนล้นฮอลล์ และก็ได้แต่หวังว่าแม้จะไม่ต้องครีเอทีฟในด้านภาพกันจนหัวแตก อุตสาหกรรมหนังสือในไทยก็ยังคงจะขับเคลื่อนอยู่ได้ด้วยนักอ่านรุ่นถัด ๆ ไป ที่ยังคงอ่านคอนเทนต์ในรูปแบบเนื้อกระดาษจริง ๆ ไม่เป็นเพียงหน้าจอแบบนี้ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : Salmon Books / Biblio 1 / P.S. Publishing / Matichon Book – สำนักพิมพ์มติชน / matichon 1