fbpx

MOU บันทึกความเข้าใจที่ไร้พันธะ และอาจถูกฉีกทิ้งได้ทุกเมื่อ

ช่วงนี้คนไทยอาจจะได้ยินคำนี้บ่อยหน่อย คือ MOU สืบเนื่องจาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้หารือกับพรรคอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาล และพร้อมทำ MOU โดยกำหนดวันลงนาม MOU ในวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 9 ปี ของการทำรัฐประหารพอดี 

ก็ทำเอาหลายคนสงสัย MOU คืออะไร?  

MOU คือคำย่อของ Memorandum of Understanding  หรือเรียกแบบไทยๆ ว่า “บันทึกความเข้าใจ” เป็นข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันใดใดทั้งสิ้น ระหว่างสองคู่เจรจาขึ้นไป เพื่อวางเจตนารมณ์จะเดินไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่า จะเป็นการทำธุรกิจ การซื้อขาย การฟอร์มทีมเป็นหุ้นส่วนใหม่ หรือการทำกิจกรรมอะไรก็ได้ ที่ต้องมีบุคคลหรือองค์กรสองฝ่ายขึ้นไปมาเจรจาต่อรองกัน  

MOU โดยทั่วไปจะไม่มีข้อผูกพันด้านกฎหมาย และเป็นเอกสารที่มีความเป็นทางการน้อยกว่าสัญญาอื่นๆ ที่มีผลผูกพันให้ต้องทำตาม แต่ในทางธุรกิจแล้ว MOU ก็มีความจริงจังในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อย มันก็เป็นข้อตกลงที่จริงจังกว่าการให้สัญญาปากเปล่า หรือการจับมือเชกแฮนด์กัน และบ่อยครั้งที่ MOU จะถือเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การทำสัญญาทางกฎหมายต่อไป 

เนื้อหาของ MOU จะเป็นการวางบทบาทหน้าที่และความต้องการของคู่เจรจาอย่างคร่าวๆ เป็นเหมือนกระบวนการเริ่มต้นก่อนจะลงไปสู่รายละเอียดในข้อตกลงถัดๆไป  ในเนื้อหาจะประกอบไปด้วยชื่อและข้อมูลของคู่เจรจา เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของข้อตกลง วันเวลาคร่าวๆ ที่ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ และการลงนามของคู่เจรจาทั้งหมด 

ในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศ MOU เป็นเหมือนข้อตกลงทางการเมืองระหว่างสองคู่เจรจาขึ้นไป  มีความเป็นทางการน้อยกว่าสนธิสัญญา และไม่มีข้อกฎหมายบังคับ MOU เป็นที่นิยมทำกันมากในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะใช้เวลาไม่นานในการให้ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน และยังเก็บเนื้อหาเป็นความลับได้ด้วย  

อย่างไรก็ตาม การทำ MOU ก็มีความเสี่ยงว่าจะไม่ประสบผลในเวลาต่อมา หากเนื้อหาและการบังคับใช้ที่ระบุในเอกสารมีความคลุมเครือและสับสน และถ้าคู่เจรจาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดบิดพลิ้ว หรือไม่ทำตาม  จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ก็เป็นอันว่า MOU นั้นล้มเหลว ดังนั้น เนื้อหาที่ระบุใน MOU จึงต้องมีความรัดกุมอย่างที่สุด เพื่อป้องกันคู่เจรจาตีความไปในทางอื่น และใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตาม  

การทำ MOU ที่ผ่านมาบนโลกใบนี้  ไม่ว่าจะเป็นการทำ MOU ระหว่างประเทศ หรือภายในประเทศ  ก็มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลวแตกต่างกันไป เพราะปัจจัยเดียวคือ MOU ถ้าถูกละเมิด ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีกฎหมายหรือข้อผูกพันใดใดเป็นตัวบังคับ  

ครั้งหนึ่งอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ก็เคยออกมาโต้เถียงกับผู้แทนการค้าระดับสูงของเขา เกี่ยวกับคำนิยามของ MOU ซึ่งทรัมป์มองว่า เขาไม่ชอบการทำ MOU เลย เพราะมันไม่มีความหมายอะไร ไม่มีข้อผูกพันให้ต้องทำตาม      

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้แทนการค้าระดับสูงรายนี้ ที่กำลังประชุมกับตัวแทนระดับสูงของจีน เตรียมจะทำ MOU ต้องรีบออกมาปฏิเสธข่าว โดยบอกว่า MOU ก็คือสัญญาประเภทหนึ่ง ใช้ในข้อตกลงการค้าโดยทั่วไป  ผู้คนอาจมองว่า MOU ก็แค่กระดาษใบเดียว แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น มันก็คือสัญญาที่ทำกันระหว่างสองฝ่ายนั่นแหละ  

แต่พอทรัมป์ได้ยินเช่นนั้น ก็มีท่าทีไม่พอใจทันที โดยบอกว่า เขาไม่เห็นด้วย MOU ไม่ใช่สัญญาอย่างที่พวกเราต้องการ แต่เป็นแค่ก้าวแรกของการนำไปสู่สัญญาขั้นสุดท้าย และสัญญาขั้นสุดท้ายนี่แหละที่มีความหมายจริงๆ      

จากนั้น ทั้งคู่ก็ยังโต้เถียงกันไปมาอยู่เป็นระยะ จนท้ายที่สุด ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ต้องยอมเปลี่ยน ไม่ใช้คำว่า MOU อีกต่อไป แต่เรียกเป็น “ข้อตกลงทางการค้า” แทน ซึ่งก็ทำให้ทรัมป์ดีใจมาก และบอกว่า เขาไม่อยากให้เป็นบันทึกความเข้าใจ อยากให้ตรงดิ่งไปสู่ข้อตกลงการค้าเลย ทั้งยังย้ำซ้ำสองว่า MOU หรือบันทึกความเข้าใจ มันไม่มีความหมายอะไร  

ส่วนในการเมืองไทยเองนั้น ก็ต้องจับตากันต่อไปว่า MOU ที่พรรคก้าวไกลทำกับพรรคอื่น เพื่อฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล และให้มีความเข้าใจในเนื้อหาหลักที่ตรงกัน ท้ายสุดแล้ว จะมีพรรคใดพรรคหนึ่งบิดพลิ้วกลางคันหรือไม่ หรือจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการปรับแก้กฎหมายจริงๆ  ถ้าหากได้ขึ้นเป็นรัฐบาลอย่างเป็นทางการ  

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า