fbpx

สรุปประเด็นสำคัญ ปาฐกถาพิเศษจากเลขาธิการสันนิบาตมุสลิมโลก เรื่อง ‘พันธมิตรความหลากหลายด้านอารยธรรม’

ท่ามกลางสังคมที่แวดล้อมไปด้วยความหลากหลาย ทั้งในเชิงวัฒนธรรม ประเพณี ความคิด ความเชื่อ ที่ต่างคนอาจมีความเชื่อที่แตกต่างออกไป การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความหลากหลายทางอารยธรรม จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจแต่ละความคิด ความเชื่อ และอารยธรรมในแต่ละท้องที่

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ จัดการแสดงปาฐกถาพิเศษว่าด้วยความสำคัญของพันธมิตรหลากหลายอารยธรรม (The Importance of Alliance of Civilizations) โดย ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา (Dr. Muhammad bin Abdul Karim Al-Issa) เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก เพื่อรับฟังแนวคิดว่าด้วยการสานเสวนาทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจในความหลากหลายของสังคมโลก และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างอย่างมีเอกภาพ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อความเข้าใจร่วมกันผ่านการสานเสวนาที่จะยังประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติ

วันนี้ Modernist News ขอย้อนกลับมาสรุปให้ฟังอีกครั้ง ทุกประเด็นสำคัญบนเวทีปาฐกถาพิเศษครั้งนี้

‘ความเกื้อกูล’ คือ เจตนารมณ์ของอารยธรรม

เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก กล่าวว่า ทฤษฎีว่าด้วยความหลากหลายทางอารยธรรม มีทั้งเหมือนกัน และแตกต่างกัน แต่ทุกอารยธรรม มีเจตนารมณ์สำคัญ คือ ต้องการที่จะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และทุกอารยธรรม มีความเป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของแต่ละอารยธรรม ซึ่งทุกคนต่างให้การยอมรับ แต่จะทำอย่างไรที่ทุกอารยธรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งหมด โดยเฉพาะด้านความเชื่อ การปฏิบัติร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก กล่าวถึงสาเหตุที่ทำไมต้องเป็นพันธมิตรทางอารยธรรมความหลากหลายไว้ ดังนี้

1. ทุกศาสนา ให้เกียรติและให้ความสำคัญต่ออารยธรรมซึ่งกันและกัน

2. ‘อารยธรรมทางการศึกษา การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ’ คือ สิ่งที่เราสามารถร่วมมือด้วยกันได้ และจะนำไปสู่การเข้าใจในทางพันธมิตรด้านอารยธรรม

3. การมีพันธมิตรด้านความหลากหลายทางอารยธรรม เป็นการบ่งบอกถึงความเป็นพี่น้อง

4. ทุกอารยธรรม เมื่อต้องการสิ่งใด สามารถทำให้สำเร็จด้วยกันได้

5. ‘การใช้ความเห็นต่าง เป็นเครื่องมือสร้างความวุ่นวาย’ คือสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ความเห็นต่างในความหลากหลาย คือสิ่งที่ดีและทำให้สำเร็จร่วมกันได้

นอกจากนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การจะทำให้เกิดพันธมิตรทางอารยธรรมได้ ต้องสอนและสร้างความเข้าใจแก่ลูกหลาน ให้เกิดความตระหนักว่า ความหลากหลายทางอารยธรรม เป็นสิ่งที่ดีงาม และทุกคนต่างภาคภูมิใจในอารยธรรมของตนเอง 

‘ศาสนิกสัมพันธ์’ กับแนวทางการพัฒนาองค์กรศาสนิกให้ทำงานร่วมกันได้ทุกศาสนา

เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก ให้คำแนะนำว่า ทุกศาสนา มีหน้าที่สานสันติภาพแก่คนทั้งหมด แต่ต้องมีการสร้างความเข้าใจ พูดคุย และปฏิบัติร่วมกัน การพูดคุยในทุกศาสนาร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เห็นร่วมกันชัดขึ้นว่า แต่ละศาสนามีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเป็นของแต่ละศาสนาเอง

‘หาทางออกร่วมกัน’ คือ วิธีที่ดีในการจัดการปัญหาความขัดแย้ง

เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก กล่าวว่า ที่ผ่านมา เรามีการประชุมสร้างสันติภาพร่วมกัน แต่ปัญหาสำคัญ คือ ส่วนใหญ่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้มีการแสดงออกให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า จะแก้ปัญหาเหล่านั้นจริงๆ ทางออกคือ การนั่งพูดคุยร่วมกันและใช้ความจริงใจ แก้ไขไปพร้อมๆ กัน จะทำให้เกิดประโยชน์สุขมากกว่า

นอกจากนี้ เลขาธิการฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดสุดโต่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง มาจากความเข้าใจผิดจากการอธิบายเอง เข้าใจเอง ปราศจากการแนะนำ การชี้แนะจากนักวิชาการที่เป็นการยอมรับในโลกมุสลิมโดยเฉพาะ และเป็นสิ่งที่สันนิบาตมุสลิมโลกต้องทำร่วมกับนักวิชาการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ขจัดความเข้าใจที่นำไปสู่ความคิดสุดโต่งและปัญหาในอนาคต

นี่เป็นเพียงบางส่วนจากเวทีปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ และการปาฐกถาครั้งนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสานสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางอารยธรรมร่วมกัน และนำไปสู่การร่วมมือกันด้านอื่นๆ ในอนาคต

ชมการปาฐกถาพิเศษฯ ฉบับเต็ม

Photographer

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า