fbpx

ปฐมบทการเมืองใหม่ ศึกชิงบัลลังก์ประธานสภา ตำแหน่งชี้ชะตาเกมการเมือง

ณ วันนี้ คงไม่มีเรื่องใดน่าจับตาไปกว่าศึกช่วงชิงประธานสภาระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย หากมองตามภูมิทัศน์การเมืองไทย เราก็จะไม่ประหลาดใจนัก แม้ดูเผินๆ ประธานสภามีหน้าที่คอยควบคุมการประชุมให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย หรือกำกับการอภิปรายของ ส.ส. ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสภาเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ตำแหน่งประธานสภามีส่วนสำคัญอย่างมากต่อเกมการเมืองในการชี้ชะตาของรัฐบาลและกำหนดทิศทางการเมืองในห้วงเวลา 4 ปี 

อย่างที่ทราบกันว่า สภาคืออำนาจฝ่ายนิติบัญญัติที่มีหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอกฎหมายต่ออำนาจฝ่ายบริหารซึ่งก็คือรัฐบาล และผู้ที่เป็นตัวแปรสำคัญของกระบวนการนี้ก็คือประธานสภา เพราะนอกจากจะทำหน้าที่เป็นกาวเชื่อมประสานระหว่าง 2 เสาอำนาจนี้ ประธานสภายังมีอำนาจในการบรรจุญัตติเข้าสู่ที่ประชุมสภา หากทางรัฐบาล ส.ส. หรือแม้แต่ประชาชน มีการเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาตามกระบวนการต่างๆ ประธานสภาจะเป็นผู้เลือกว่าจะหยิบเรื่องใดขึ้นมาพิจารณาในวาระการประชุมแต่ละวัน ดังนั้น ต่อให้รัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา มีนโยบายที่เลิศหรูไฮโซเพอร์เฟ็กต์ขนาดไหน แต่ทุกนโยบายย่อมต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งหากประธานสภาไม่เลือกหยิบขึ้นมาพิจารณา ร่างกฎหมายนั้นก็จะถูกดองรอวันพิจารณา ฝ่ายบริหารก็จะออกนโยบายไม่ได้ 

เมื่อเป็นเช่นนั้น ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องมั่นใจว่าประธานสภาคือคนที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน เพราะถือว่าคุมเกมสภาได้ระดับหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องการควบบัลลังก์ของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร  

และหากย้อนไปดูในอดีต นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2535 พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 มักจะได้ตำแหน่งนายกฯ และประธานสภาควบกัน ยกเว้นการเลือกตั้งปี 2562 ที่บิดเบี้ยวที่สุด เพราะนอกจากพรรคอันดับ 1 จะไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ตำแหน่งประธานสภาที่มีความสำคัญอย่างมาก ยังถูกพรรคประชาธิปัตย์ใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการร่วมรัฐบาลจากพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ชวน หลีกภัย ส.ส. จากพรรคอันดับ 4 ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานสภา ซึ่งผลงานของสภาชุดที่แล้วก็ฟ้องอยู่ว่าการที่ประธานสภามาจากพรรคที่ไม่ใช่แกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้นไร้ประสิทธิภาพขนาดไหน เพราะแม้จะมีกฎหมายถูกเสนอเข้าสภามากถึง 478 ฉบับ แต่มีเพียง 78 ฉบับเท่านั้น ที่ผ่านการพิจารณาจากสภา นอกนั้นถูกปัดตกไปด้วยหลายสาเหตุ ทั้งพิจารณาไม่ทันอายุของสภาบ้าง นายกฯ ปัดตกบ้าง และประธานสภาเองเป็นคนปัดตกบ้าง 

ภูมิทัศน์การเมืองดังกล่าวนี้ ประกอบกับบริบทผลคะแนนเลือกตั้งที่เราแทบไม่ค่อยเห็น คือเสียงส่วนใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาล มาจากพรรคใหญ่ 2 พรรค ที่มีคะแนนไล่เลี่ยกันอยู่แค่ 10 คะแนน อำนาจต่อรองของพรรคแกนนำอย่างก้าวไกลจึงอ่อนแอมาก ขณะเดียวกัน พรรคร่วมรัฐบาลอย่างเพื่อไทยสามารถยกเหตุผลต่อรองจากพรรคก้าวไกลได้อย่างเข้มแข็ง (ยังไม่นับเรื่องข่าวลือต่างๆ ที่เราคงทราบกันดี) ดังนั้น เราย่อมไม่แคลงใจต่อสงครามแย่งชิงบัลลังก์สภาระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ ทุกคนล้วนอยากเป็นผู้คุมเกมการเมืองในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าการคุมเกมนั้นจะทำเพื่อประชาชนมากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นสัจธรรมทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น ต่อให้เราเปลี่ยนจากรัฐบาลทหาร เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย หรือ “ต่อให้เปลี่ยนจากการเมืองเก่าเป็นการเมืองใหม่” เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มทุกชนชั้น และเมื่อมีคำว่าผลประโยชน์ ย่อมไม่มีคำว่าสวยงาม แต่ในระบอบการเมืองที่ดี ปลายทางของความสีเทานี้ คือผลประโยชน์สูงสุดที่ต้องเป็นของประชาชนทุกคน  

อย่างไรก็ดี สงครามระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ อาจเป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงฉากทัศน์การเมืองไทยแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากนี้ไป แม้ก่อนหน้านี้เรามักหยิบยกคำว่าฝ่ายประชาธิปไตยมานิยามพรรคการก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย แต่ผู้เขียนขอยืนยันอย่างหลังชนฝาว่า ไม่เห็นด้วยกับคำดังกล่าวตั้งแต่แรก แนวทางของทั้ง 2 พรรคนี้เป็นไปในลักษณะเส้นคู่ขนานที่จะตีห่างกันออกไปเรื่อยๆ แม้จะไปในแนวเดียวกัน แต่ก็ไม่มีวันมาบรรจบกัน  

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องแย่เสียทีเดียว กลับเป็นความสวยงามของระบบประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของพรรคก้าวไกลที่แสดงออกมาผ่านการเลือกตั้งครั้งล่าสุด จนทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาเป็นสูตรนี้ คือประตูบานแรกที่ทำให้เส้นขนานนั้นเริ่มฉีกห่างไปไกลอย่างมีนัยยะสำคัญ จะเห็นได้จากปัญหาระหว่างทั้ง 2 พรรค ที่มีตลอดมาตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล ทั้งตอนเซ็น MOU การชิงบัลลังก์สภา การแบ่งเค้กเก้าอี้รัฐมนตรีในอนาคต รวมถึงการทะเลาะกันระหว่างกองเชียร์ทั้ง 2 ฝ่ายในโลกออนไลน์ขณะนี้ด้วย ฉะนั้นจากนี้ไปอาจไม่มีคำว่าฝ่ายขวาปะทะฝ่ายซ้าย อาจไม่มีคำว่าฝ่ายเผด็จการปะทะฝ่ายประชาธิปไตย ภายหลังจากนี้ไป เราอาจต้องเผชิญสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองขั้วสุดโต่งปะทะขั้วไม่สุดโต่ง”  

ทั้งนี้ ต้องลองย้อนมองในมุมกลับว่า หากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนอันดับ 1 ได้จัดตั้งรัฐบาลพร้อมเก้าอี้นายกฯ แต่พรรคก้าวไกลได้อันดับ 2 แต่คะแนนห่างกันเพียง 10 – 20 เสียง พรรคเพื่อไทยและแฟนคลับ จะยอมยกบัลลังก์สภาให้ก้าวไกลหรือไม่ 

ผู้เขียน : ธนภูมิ กุลไพบูลย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า