ก้าวย่างการเมืองไทย ที่ถนนทุกสายมุ่งสู่พรรค “เพื่อไทย” 

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล และส่งพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ เพราะภายหลังการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบแรกไม่สำเร็จ ติดเงื่อนไขกฎหมาย รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ให้อำนาจ สว. โหวตนายกรัฐมนตรี และไม่มีเสียงสนับสนุนการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ต้องมีเสียงถึง 376 เสียง ขณะที่ 8 พรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตยมีคะแนนเสียงในรัฐสภา 312 เสียง 

ภายหลังการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบแรกผ่านไป ได้มีการเสนอชื่อพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ด้วยความบิดเบี้ยวทางการเมือง และการฝืนมติมหาชนของนักการเมืองฝ่ายเผด็จการ และ สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ทำให้การเสนอชื่อพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ต้องมีอันพับเก็บไป เพราะให้เหตุผลว่าไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ และระเบียบข้อบังคับสภา ไม่สามารถยื่นญัตติซ้ำได้ ซ้ำร้ายสภายังโหวตเห็นชอบกับสิ่งนี้ ซึ่งเป็นความบิดเบี้ยวที่เห็นได้ชัด เพราะตามลำดับศักดิ์กฎหมาย กฎหมายรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นกฎหมายสูงสุดไม่มีสิ่งใดขัดได้ ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แม้กระทั่งญัตติของสภา  

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการเผยให้เห็นว่า การเดินจังหวะการเมืองต่างๆ ถูกปูมาเพื่อให้ปิดเกมการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลโดยเร็ว และเป็นการส่งบอลเข้าเท้าให้พรรคอันดับ 2 อย่างพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ลักษณะดังกล่าวจึงเป็นฉากทัศน์การเมืองไทยที่เราควรต้องวิเคราะห์และรู้ล่วงหน้าต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับการเมืองไทย และพรรคเพื่อไทยคือผู้ที่เตรียมจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ถนนทุกสายของการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการดีลจัดตั้งรัฐบาลจาก 8 พรรคร่วม รวมถึงการดีลข้ามขั้วไปฝั่งเผด็จการ ที่มีกระแสข่าวมาตลอดกำลังเริ่มชัดเจนขึ้น ณ ขณะนี้ถนนทุกสายกำลังมุ่งสู่พรรคเพื่อไทยอย่างหอมหวาน โดยที่ไม่สามารถปฏิเสธได้และมีแนวโน้มจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยมีเงื่อนไขคือการต้องเขี่ยพรรคที่มีนโยบายแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 112 ให้พ้นออกไป ทั้ง สว. รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ จึงสามารถเข้าร่วมและหนุนพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลได้ 

นี่จึงเป็นจังหวะสำคัญของการเมืองไทย ณ ขณะนี้ว่าการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยจะมีแนวทางไปในแนวทางไหน จะหักหลังฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเองจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ โดยอ้างเรื่องการเมืองและประเทศต้องไปต่อ จับมือกับขั้วอำนาจเก่าจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยมีแกนนำคือพรรคเพื่อไทยที่ไร้ก้าวไกลต่อไปนั่นเอง 

เส้นทางเพื่อไทยบนถนน 2 ทาง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลในขั้นตอนถัดไปอยู่ในมือของพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีทางเลือกแค่ 2 ทางเท่านั้น ในการจัดตั้งรัฐบาล คือ 1.จัดตั้งรัฐบาลโดย 8 พรรคร่วม MOU พร้อมเทียบเชิญพรรคอื่นๆ เข้าร่วม เพื่อให้มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรให้ถึง 376 เสียง โดยที่ไม่ต้องกังวลการมีเสียง สว. สนับสนุนเพิ่มเติม แต่เงื่อนไขนี้ย่อมติดเงื่อนไขการเทียบเชิญพรรคอื่นๆ เข้าร่วมรัฐบาล เพราะพรรคอื่นๆ ที่จะร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยติดเงื่อนไขการมีอยู่ของพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายแก้กฎหมาย ม.112 แน่นอนว่าวิธีการของพรรคเพื่อไทย ณ ขณะนี้มีแต้มต่อรองเหนือกว่าพรรคก้าวไกล ถึงแม้จะมีจำนวน สส. น้อยกว่า ย่อมต้องบีบให้พรรคก้าวไกลยกเลิกนโยบายแก้ไขกฎหมาย ม.112 โดยที่พรรคก้าวไกลต้องทำให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชนทั่วไป หรืออีกทางเลือกคือการเขี่ยหรือบีบพรรคก้าวไกลทิ้งไป ให้เกิดเงื่อนไขดึงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ  

เส้นทางที่ 2 คือการจัดตั้งรัฐบาลโดยเขี่ยพรรคก้าวไกล ไทยสร้างไทย เป็นธรรม ทิ้งตั้งแต่ต้น ดึงพรรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนากล้า พรรคเล็กอื่นๆ (แน่นอนว่าไม่สามารถกลืนเลือดดึงประชาธิปัตย์และรวมไทยสร้างชาติร่วมรัฐบาลได้) ทางเดินที่ 2 นี้เป็นแนวทางที่ผ่านฉลุยไม่ว่าจะเสียงสนับสนุนจากสสภาผู้แทนราษฎร และพลพรรค สว. นำไปสู่การตั้งรัฐบาลโดยมีนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทย 

สว. มรดกบาปเผด็จการกับความกังวลของเพื่อไทย 

เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นใด กลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้งจำเป็นต้องพึ่งอำนาจ สว. ที่มาจากมรดกบาปของคณะรัฐประหาร เพื่อหนุนตัวเองไปสู่ทำเนียบรัฐบาลอยู่ดี เพราะด้วยความกังวลว่าหากไม่มีเสียงสนับสนุนจาก สว. มาสนับสนุนตนเองในยามที่เขี่ยหรือบีบก้าวไกลออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ถึงแม้จะมีพรรคที่จะมาเข้าร่วมแทนโดยเป็นที่มี สส. จำนวนมากพอสมควร คือพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ อาจยังไม่ถึง 376 เสียง จึงจำเป็นต้องมีเสียงสนับสนุนจาก สว. ทั้งจากสาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และที่ตนสามารถจะหามาเข้าร่วมได้ นี่จึงเป็นข้อกังวลของเพื่อไทยในการสลัดก้าวไก ลพรรคที่ สว. ไม่เอาเพราะติดเงื่อนไขมีนโยบายแก้ไขกฎหมาย ม.112 นั่นเอง และยามใดที่พรรคเพื่อไทยสลัดก้าวไกลออกเพื่อจะได้เสียงสนับสนุนจาก สว. อย่างไร้กังวล ย่อมต้องหาเหตุผลมาตอบประชาชนให้ได้ หากเดินเกมที่มี สว. เป็นสมการทั้งๆ ที่ก่อนเลือกตั้งหลายพรรคการเมืองตั้งคำถามกับการมีอยู่ของ สว. แต่ภายหลังการเลือกตั้งกลับให้ สว. มรดกบาปของเผด็จการมาชี้นำในการจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ละอายต่อประชาชน 

ต้นทุนที่ต้องจ่ายของพรรคเพื่อไทย 

แน่นอนว่ายามใดที่พรรคเพื่อไทยสลัดพรรคก้าวไกลหรือพรรคขั้วประชาธิปไตยออกไปเพื่อให้จบเกมจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ย่อมต้องมีต้นทุนที่ต้องจ่ายออกไป คือความไม่เชื่อใจของประชาชนผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และอาจรวมไปถึงกลุ่มแฟนคลับของตนเองด้วย นอกจากนี้ยังต้องคิดเผื่อยามเลือกตั้งครั้งหน้าว่าจะสามารถรักษาฐานคะแนนเสียงผ่านการเลือกตั้งได้หรือไม่ เพราะตนเองหันไปจับมือกับขั้วเผด็จการเดิมจัดตั้งรัฐบาล ไหนจะเรื่องการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ที่ต้องแบ่งให้ลงตัว เพราะไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลแล้ว เก้าอี้รัฐมนตรีต้องแบ่งใหม่อย่างแน่นอน และอาจต้องเสียกระทรวงหลักๆ บางกระทรวงไปให้กับพรรคขั้วเผด็จการที่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกด้วย 

ต้นทุนอนาคตทางการเมืองอาจจะต้องเสียไป เนื่องจากดำเนินการการเมืองสวนกระแสมติมหาชน เพื่อไทยต้องประเมินและหาวิธีการรักษาฐานเสียงของตนเอง รวมทั้งต้องมองถึงอนาคตข้างหน้าที่จะมีพรรคคู่แข่งอย่างพรรคก้าวไกลและพรรคฝ่ายค้านที่สามารถทำคะแนนจากการตรวจสอบรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทย สถานการณ์เช่นนี้เพื่อไทยจึงต้องประเมินให้ดีๆ ว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่ 

ดังนั้น ทางออกที่ดีในการรักษาต้นทุนของพรรคเพื่อไทย จึงควรรักษาต้นทุนด้วยการรักษาน้ำใจประชาชน รักษาประชาธิปไตย รักษาเพื่อนในรัฐสภาและประชาชน ฝ่าฟันอุปสรรค หักล้างมรดกเผด็จการ ควรที่จะทำตามคำที่เคยให้ไว้ คือการไม่เอากลุ่มอำนาจเก่า รัฐบาลเผด็จการที่รัฐประหารรัฐบาลของตนเองมา ไม่เอาทั้งพรรคของ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคที่ร่วมสังฆกรรมกับเผด็จการ จึงจะได้ใจของประชาชนและไม่เสียคำพูดที่เคยให้ไว้กับประชาชน อยู่ที่ว่าเพื่อไทยจะทำหรือเปล่า ต้องดูต่อไป 

การเมืองระยะยาวที่เพื่อไทยไม่ได้เปรียบ 

หากเพื่อไทยมองว่าจะต้องจับมือกับพรรคเผด็จการขั้วอำนาจเดิม เพื่อจะได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งหนึ่ง รวมถึงได้คะแนนเสียง สว. มาสนับสนุน โดยการผลักพรรคก้าวไกล พรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 จากการเลือกตั้งของประชาชนออกไป ถึงแม้ว่าในเกมระยะสั้นจะสามารถจัดตั้งรัฐบาล ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และปูเส้นทางของตนเองเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ นี่คือเกมระยะสั้นที่เหมือนเพื่อไทยจะได้เปรียบและได้อำนาจฝ่ายบริหารไปครอง แต่มองในเกมระยะยาว เพื่อไทยต้องแลกมาด้วยการเสียมวลชนที่สนับสนุน เสียความศรัทธาต่ออุดมการณ์ฝ่ายประชาธิปไตย ไหนจะถูกต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีจากพรรคร่วมอื่นๆ ทำให้นโยบายที่เคยเสนอต่อประชาชนเป็นไปอย่างเชื่องช้า จะถูกแรงต่อต้านจากมวลชนที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย ทวงคำพูดของพรรคเพื่อไทยว่าจะไม่จับมือกับเผด็จการ ตลอดจนการเลือกตั้งที่เพื่อไทยต้องหานโยบายมัดจำฐานเสียงเดิมให้ได้ และหาทางชนะคู่แข่งอย่างพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่จะได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งถัดไปอย่างแน่นอน เห็นได้จากตั้งแต่เกิดอนาคตใหม่จนถึงก้าวไกล (ถึงแม้จะมีการยุบพรรคผู้เขียนก็ยังเชื่อว่าพรรคที่สืบทอดเจตนารมณ์ของพรรคก้าวไกลย่อมต้องสร้างกระแสขึ้นมาสู้ได้สำเร็จ)  นี่คือฉากทัศน์ทั่วไปที่พรรคเพื่อไทยกำลังจะเผชิญ หากตัดสินจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ซึ่งเกิดเพียงประโยชน์ระยะสั้น ไม่สามารถตอบโจทย์ระยะยาวของถนนการเมืองได้เลย 

ถึงแม้การเมือง ณ ขณะนี้ถนนทุกสายจะมุ่งสู่เพื่อไทย อย่างชื่อหัวข้อบทความ แต่หากพิจารณาลงไปแล้วจะพบว่า ถนนที่มุ่งสู่เพื่อไทยนั้นไม่ได้เรียบเนียนเสมอไป เป็นทั้งหลุม มีทั้งบ่อ ที่ไม่ว่าจะมุ่งเข้าไปหรือมุ่งออกมาย่อมเจ็บตัว อยู่ที่ว่าจะมุ่งไปในทางที่ถูกหรือไม่ เพราะหากไปในทางที่ถูกวิธีการ ย่อมปลอดภัยและสะดวก หรือถ้าทางไม่ดีอาจจะเดินทางไปอย่างเชื่องช้าโดยเท้าก็เป็นได้   

112 ไม่ใช่เงื่อนไขแต่คือข้ออ้างทางการเมือง 

ทิ้งท้ายกันด้วยมองกฎหมาย ม.112 ที่หลายคนมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาล เพราะเป็นกฎหมายที่ละเอียดอ่อน ไม่มีพรรคไหนหรือใครกล้าแตะต้อง นอกจากพรรคก้าวไกล รวมถึงเป็นเงื่อนไขที่ สว. ไม่ให้ผ่าน แต่หากพิจารณาในแง่ของนโยบายแนวทางร่วมรัฐบาลของแต่ละพรรค แน่นอนว่านโยบายย่อมไม่เหมือนกัน บางครั้งอยู่ที่การเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ถึงแม้จะมีนโยบายที่ต่างกันออกไป เห็นได้จากหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนีในสมัยอังเกลา แมร์เคิล นโยบายของพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ก็ไม่ได้ตรงกันและค่อนข้างมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันออกไป ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ 

มองในเรื่องของระบบรัฐสภา หากอ้างว่ากฎหมาย ม.112 มีปัญหาจะให้ผ่านไม่ได้ ต้องเข้าไปในกระบวนการรัฐสภาอยู่ดี เพราะในประเทศระบอบประชาธิปไตยที่แบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ การออกกฎหมายเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องกลั่นกรอง ถ้าการแก้ไขกฎหมายนี้มีปัญหาจริง ก็ควรถูกเสนอให้สภาเป็นผู้พิจารณาเสียก่อน ไม่ใช่เป็นข้ออ้างในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นเงื่อนไขในการผลักพรรคการเมืองที่จะแก้ไขเรื่องนี้ออกไป ทั้งๆ ที่เขาเป็นพรรคที่ได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 จากการเลือกตั้งของประชาชน นี่จึงเป็นการบิดเบี้ยวของประชาธิปไตย ที่ไม่เคารพการเลือกตั้งของประชาชน ไม่เคารพอำนาจ 3 ฝ่ายของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอำนาจนิติบัญญัติ ที่เราควรต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมากกว่ามองว่าเป็นเกมการเมือง เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตยและอำนาจของประชาชนจากคนไม่กี่คนที่หวังแช่แข็งประเทศ ไม่ให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้นั่นเอง ดังนั้นการไม่เอาพรรคที่ต้องการแก้ไขกฎหมาย ม.112 เป็นเพียงข้ออ้างทางการเมือง ถึงแม้พรรคก้าวไกลจะไม่พูดเรื่องนี้ ย่อมมีเงื่อนไขและเหตุผลอื่นอ้างเพื่อเขี่ยพรรคก้าวไกลให้พ้นไปจากระบอบการเมืองล้าหลังของประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัยเลย 

Content Creator