fbpx

ตามรอยการซื้อลิขสิทธิ์เกมโชว์ไทย ที่ “ซื้อ” มา มีมากน้อยขนาดไหน?

หลายท่านอาจสังเกตได้ว่ารายการเกมโชว์ใหม่ ๆ ที่ปรากฏบนหน้าจอโทรทัศน์ไทยนั้น แทนที่เราจะคาดหวังได้ว่าเราคงจะได้พบกับรายการเกมโชว์ที่คนไทยคิดเอง ทำเอง สดใหม่เหมือนเมื่อก่อน แต่กลับกลายเป็นเราเปิดมาเจอกับรายการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศเสียส่วนมาก

สำหรับเรา ๆ ผู้ที่รับชมโทรทัศน์ก็ได้แต่คิดไว้ในใจ “เอาวะ มีให้ดูดีกว่าไม่มี” แต่บางคนคงคิดว่า “นี่เรานำเข้ารายการมาตลอดเลยเหรอ” บทความนี้เราจะพาย้อนประวัติศาสตร์การซื้อลิขสิทธิ์รายการเกมโชว์ในบ้านเรา และประเด็นที่เกิดขึ้นรอบรั้วเรื่องราวนี้อีกด้วย

กำเนิดรายการแรก ซื้อลิขสิทธิ์ อย่างจริงจัง

สำหรับรายการแรกที่ทางทีมงานพบหลักฐานว่ามีการซื้อลิขสิทธิ์มาทำ “อย่างจริงจัง” เลยนั่นก็คือรายการ “มาตามนัด” จาก รัชฟิล์มทีวี ที่มาในชื่อของ “มาตามนัด How Much?” ที่ออกอากาศเมื่อปีพุทธศักราช 2536 ที่ซื้อลิขสิทธิ์จากประเทศญี่ปุ่น ที่ดึงการเอาการทายราคาสิ่งของ ที่แปลกและดูน่าสนใจ มาเป็นเกมการแข่งขันในวันแรกของสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่จะแล้วสิ่งของที่เอามาทายราคาแล้วนั้น จะดึงเอาคำถามของรายการ “HOW MUCH” ของญี่ปุ่นมาโดยตรง[1]

“แรงบันดาลใจ” เป็นเหตุสังเกตได้

แต่ก่อนที่บ้านเราจะซื้อ ๆ ลิขสิทธิ์มาให้มันถูกกฎหมายแล้วทำมันเป็นเรื่องปกติในวงการเนี่ย ก็เคยมียุคนึงที่รายการเกมโชว์ก็ขยันใช้คำว่า “แรงบันดาลใจ” กันเป็นว่าเล่น ด้วยสองเหตุผลก็คือ กฎหมายลิขสิทธิ์บ้านเราในสมัยนั้นยังไม่เคร่งครัดพอ ทำให้บ้านเราแทบไม่สนใจอะไรเลยเมื่อโดนค่าลิขสิทธิ์ขึ้นมา เทียบง่าย ๆ ก็คือ “กฎหมายบ้านคุณก็ใช้ในบ้านคุณดิ ผมไม่สน” รวมถึงในบ้านเราแทบไม่มีฐานข้อมูลหรือบุคคลที่จะติดต่อสอบถามเรื่องลิขสิทธิ์เลย

ซึ่งแรงบันดาลใจในรายการเกมโชว์ในยุคที่อาจจะเปรียบเป็นยุคทองของเกมโชว์ไทยมีมากมายหลายรายการ เริ่มจาก มาตามนัด ที่ไปเอาเกมใบ้คำที่คนไทยล้วนจดจำจาก The $25,000 Pyramid, เซียนทีวี ของ BEC TERO Entertainment (ปัจจุบันคือ TERO Enetrtainment) และ เวลาพารวย ของ Evening Star Entertainment ที่ไปดึง Greed มาทั้งดุ้น, เกมปริศนา ของ Shadow Entertainment (SHADOW ENTERTAINMENT ในเครือของ RS) ที่ครบองค์ประกอบแห่งแรงบันดาลใจจาก Wheel of Fortune, หรืออย่าง ขวัญถุงเงินล้าน ของ TV Thunder ที่ไปดึงจาก The Million Pound Drop แบบเต็มสูบ แม้กระทั่งรายการเกมโชว์รายการแรกของเมืองไทยอย่าง ภาพปริศนา ก็ยังได้รับแรงบันดาลใจจาก Photoquiz และยังมีหลายรายการที่เราไม่ได้กล่าวถึงอีกมากมาย[2]

จะบอกว่ารายการในยุคแรกสุด ๆ ของค่ายเจเอสแอลนี่ก็เอาแรงบันดาลใจมาเยอะเหมือนกันนะ แม้กระทั่ง “พลิกล็อก” นี่ก็ไปเอารูปแบบการทายมากกว่า น้อยกว่า มาจากรายการ “Card Sharks” ซึ่งก็แหงละ ถ้าเล่นใช้ไพ่นะ…วงแตกแน่นอน

เมื่อลิขสิทธิ์เริ่มคืบคลานเข้ามา

อย่างหัวข้อที่แล้วที่เรากล่าว “แรงบันดาลใจ” แต่เรื่องนี้เราจะกล่าวถึง “ลิขสิทธิ์” หากสรุปง่าย ๆ เลย ลิขสิทธิ์ คือ สิ่งที่มีเพียงแค่อย่างเดียวที่ผู้จดสามารถทำอะไรกับมันก็ได้ตามกฎหมาย หากมีคนอื่นมากระทำการใดก็ตามที่ผู้จัดไม่อนุมัติ บุคคลนั้นก็จะต้องได้รับการดำเนินการตามกฎหมาย โดยปกติแล้วนั้นคนทั่วไปจะตีความการละเมิดลิขสิทธิ์ว่า “ก๊อป(ปี้)”

หากรายการนั้นโดนลิขสิทธิ์ขึ้นมาแล้ว เรื่องอื้อฉาวก็เกิดขึ้นโดยเร็ว และข่าวจะยิ่งแพร่ไปไวยิ่งกว่าไฟไหม้ป่าเสียอีก แต่ในเมื่อลิขสิทธิ์คือกฎหมายกฎหนึ่ง ฉะนั้นทุกกฎหมายมักมีช่องโหว่เสมอ ไม่ว่าจะกลบอย่างไรก็ตาม อย่างกรณีของรายการเกมเศรษฐี ของ บอร์น ที่ก่อเกียรติออกมาบอกว่า “ไม่ได้ซื้อ กลัวไม่ดัง” และด้วยการแปลงกติกาให้มันแปลกแหวกออกไป ทำให้ “ฟ้องไม่ได้” (ไม่มีอะไรจะไทยไปกว่านี้แล้ว) แน่นอนครับมันดังพลุแตก ผู้คนต่างเอาช่วงเวลานี้ไปจดจ่อกับจอแก้วที่มีรายการนี้ขึ้นมา และอยู่คู่บ้านเรามา 11 เวอร์ชั่น 8 ปีเต็ม

และยังมีอีกรายการที่โดนข้อครหาในเรื่องลิขสิทธิ์ อย่างเช่น เวลาพารวย ที่ Dick Clark Productions ส่งความคิดถึงมาหา (ด้วยการจะฟ้อง) และ ขวัญถุงเงินล้าน ที่ได้รับเสียงปลายสายจาก Endemol Shine Group (ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม Banijay) เช่นเดียวกัน 

การกู้หน้าของวงการโทรทัศน์ไทยกับการซื้อลิขสิทธิ์

หลังจากที่ขวัญถุงเงินล้านเสียวไส้เพราะ “เสียงจากปลายสาย” จาก Endemol Shine Group แล้ว ก็ดูเหมือนว่าบ้านเราจะได้วีรบุรุษที่กู้หน้าของการซื้อลิขสิทธิ์อย่าง Zense Entertainment ที่นำทัพโดยหัวเรือใหญ่อย่าง “บอสเอ – วราวุธ เจนธนากุล” ที่ซื้อ “Step Right Up” มาทำในชื่อ “Step Right Up ใครเก่ง…ใครได้”และ “The Million Pound Drop” มาทำในชื่อ “The Money Drop Thailand” ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือในประเทศไทยอีกครั้งสำหรับตลาดซื้อขายรูปแบบเกมโชว์

ความบ้าระห่ำในการซื้อลิขสิทธิ์

หลักจากนั้น Zense ก็ซื้อลิขสิทธิ์รายการจากต่างประเทศมาทำอีกหลายรายการไม่ว่าจะเป็น ช่วยฉันที Do me a favor, The Love Machine วงล้อ ลุ้นรัก, ตกสิบหยิบล้าน Still Standing Thailand, Couple or Not? คู่ไหน..ใช่เลย, แหวน 5 ท้าแสน – 5 Golden Rings, Guess My Age รู้หน้า ไม่รู้วัย เรียกได้ว่าเป็นผู้นำเทรนด์ซื้อลิขสิทธิ์จากฝั่งยุโรปในยุคนี้

แต่ถ้ามีฝั่งยุโรปแล้วก็ต้องมีฝั่งเอเชีย ซึ่งตำแหน่งนี้ผมคงต้องยกให้กับ Workpoint (อดีต)เจ้าพ่อแห่งรายการเกมโชว์ไทย ที่ซื้อจากเกาหลี 3 รายการแต่ก็ปังทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็น The Mask Singer หน้ากากนักร้อง ที่ Season 1 ปังแบบสุด ๆ ฉุดไม่อยู่ (แล้วซีซั่นถัด ๆ มาก็ปั้นจนพัง), Let me In Thailand ศัลยกรรมพลิกชีวิต และ I Can See Your Voice Thailand นักร้องซ่อนแอบ ที่ช่วงนี้ความสนใจก็ลดลงไปเยอะประมาณหนึ่ง แต่ถ้าหากนับตามความเป็นจริงแล้วในอดีต Workpoint ก็ซื้อจากฝั่งยุโรปมาเยอะจนลายตาก็ว่าได้

อีกบริษัทที่หากไม่พูดถึงก็คงไม่ได้คือ TV Thunder (ที่เราแซวเรื่องขวัญถุงฯ ไป) ที่ซื้อลิขสิทธิ์รายการ Take Me Out ที่ทำมาได้ร่วม 10 ปี และยังมี Spin-Off อย่าง Take Guy Out Thailand (ยังไม่นับคอนเทนต์พิเศษที่ถูกต่อยอดมาจากรายการอย่าง Take Me Out Reality และซีรีส์ “เสน่หาสตอรี่”) และยังมีรายการอื่นๆ อีกอย่าง Family Fighting เกมซ่า ท้ายกบ้าน, Who’s asking Thailand ปุจฉามหาชน, Hidden Singer Thailand เสียงลับ จับไมค์, Big Heads Thailand หัวโตสนั่นเมือง และหนึ่งในรายการตำนานของสหรัฐอเมริกาอย่าง The Price is Right Thailand หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ราคาพารวย”

ยังมีอีกบริษัทที่เรียกได้ว่าเป็นน้องใหม่ในวงการซื้อลิขสิทธิ์อย่าง “มีมิติ” บริษัทของอดีตทีมงานเวิร์คพอยท์ผู้ให้กำเนิดรายการดัง ๆ หลายรายการอย่าง “รุ่งธรรม พุ่มสีนิล” ที่ซื้อ Hollywood Game Night ออกมาทำถึงสองเวอร์ชั่น และสองช่อง, To Tell The Truth รายการเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา, Top Chef รายการประชันทำอาหารของเหล่าเชฟ, The Wall รายการที่พลิกชีวิตจากกำแพง, และ Divided ที่สร้างกระแสสังคมได้ในเทปแรกจากความกดดันของตัวผู้เล่น (แม้จะแผ่วลงในสัปดาห์ถัดมาจากการออกอากาศชนกับรายการ “MasterChef Thailand” จากช่องคู่แข่งก็ตาม) และยังมีอีกหลายบริษัทที่ซื้อลิขสิทธิ์มาทำในไทยอีกมากมายที่เราไม่ได้กล่าวถึง

เมื่อเรานำเข้ามาแล้วก็ต้องมีส่งออกกันบ้าง

จากที่เรากล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าบ้านเราซื้อลิขสิทธิ์รายการจากต่างประเทศมาทำเยอะมาก ๆ แต่ถ้าเราไม่ส่งออกเลยมันก็ดูแปลก ๆ ทางทีมงานเราเลยลิสต์รายชื่อที่เราส่งออกไปบ้าง

ซึ่งได้แก่ เกมโซน (GMMTV) – อินโดนิเซีย, เกมจารชน (Workpoint) – อินโดนิเซีย, แฟนพันธุ์แท้ (Workpoint) – สวีเดน, สหราชอาณาจักร, สายลับจับแกะ (Workpoint) – อิตาลี, ไมค์หมดหนี้ (Workpoint) – มาเลเซีย, อินโดนิเซีย, เวียดนาม และกัมพูชา, ราชรถมาเกย (Workpoint) – สหรัฐอเมริกา, ปริศนาฟ้าแลบ (Workpoint) – สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม, ชิงร้อยชิงล้าน ว้าว ว้าว ว้าว (Workpoint) – อินโดนิเซีย และเวียดนาม, กล่องดำ (Workpoint) – เวียดนาม] The Band (Workpoint) – เปรู และเวียดนาม และ 60 วิ พิชิตแสน (Zense) – อินโดนิเซีย

จะสังเกตเห็นได้ว่าทาง Workpoint ส่งรายการไปขายลิขสิทธิ์ให้ต่างประเทศเยอะมาก ๆ แต่ถ้าหากสำรวจตามโลกออนไลน์แล้ว จะพบว่ารูปแบบของรายการบ้านเราจะถูกใจคนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นพิเศษ ด้วยความที่มีรูปแบบที่เข้าถึงง่ายและรายการส่วนใหญ่นั้นไม่ต้องใช้สมองเยอะมากในการรับชม

แต่เพราะด้วยความที่ไม่ต้องใช้สมองเยอะนี่แหละ กลับทำให้รายการในบ้านเราไม่ค่อยได้รับความสนใจในฝั่งยุโรปและโซนเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเสียสักเท่าไหร่ [3][4]

ทั้งหมดนี้คือเรื่องที่เราพยายามเก็บข้อมูลทุกอย่างให้ครบเกี่ยวกับลิขสิทธิ์กับรายการเกมโชว์ไทย ซึ่งเราก็คงได้แต่ลุ้นว่าผู้ผลิตรายการในบ้านเราจะซื้อรายการไหนมาทำอีก หรือจะมีประเทศไหนสนใจเกมโชว์ไทยแล้วจะซื้อไปทำหรือดองเค็ม ต้องรอลุ้นกันครับ

อ้างอิงเพิ่มเติม

[1] อนงค์นาฏ สุรคุปต์, พัฒนาการของรายการเกมโชว์ “มาตามนัด”
[2] เมธา เสรีธนาวงศ์, การสร้างสรรค์รายการแข่งขันชิงรางวัล : แนวคิดและเทคนิค
[3] เว็บไซต์เวิร์คพอยท์เวิล์ดไวด์, หน้าแรก
[4] เว็บไซต์สยามรัฐ, “เซ้นส์ฯ” ส่งเกมโชว์ไอเดียคนไทย Beat the 60 Seconds โกอินเตอร์อีก 1 รายการ ลงจอ “อินโดนีเซีย”

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า