fbpx

ไทยเตรียมพร้อมเก็บภาษีขายหุ้น ในปี 2565 หลังยกเว้นนานกว่า 30 ปี

หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว มีกระแสข่าวถึงกรณีกระทรวงการคลัง ได้เตรียมความพร้อมในการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) หรือ FTT ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2565 หลังจากที่ได้รับการยกเว้นมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 2534 โดยร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และกรมสรรพากร เพื่อร่วมศึกษาพิจารณาการเรียกเก็บภาษีในครั้งนี้ จนมีกระแสวิจารณ์จากนักวิชาการทั้งข้อดีและข้อเสียในการจัดเก็บภาษีขายหุ้น แล้วจะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไทยมากน้อยแค่ไหน และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนได้อย่างไร 

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) กันก่อนว่ามีในการเรียกเก็บภาษีสำหรับนักลงทุนในลักษณะแบบไหน นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาสำหรับการจัดเก็บภาษีหุ้นในต่างประเทศที่นักลงทุนไทยนิยมลงทุนในต่างประเทศว่าจะมีลักษณะที่แตกต่างในเรื่องกฎเกณฑ์ภาษีได้อย่างไร

ภาษีขายหุ้น” ทำหน้าที่อะไร และทำไมถึงได้รับการยกเว้นกว่า 30 ปี

กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้เตรียมแผนในการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) ซึ่งทางกระทรวงการคลังกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในการเรียกเก็บภาษี และต้องดูหลายปัจจัยประกอบ รวมทั้งความเหมาะสมในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สำหรับในการเตรียมความพร้อมที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 และพร้อมยืนยันว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวนั้น นักลงทุนรายย่อยที่มีอยู่ 85% จะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน แต่ทว่าทำไมถึงไม่ได้เริ่มจัดเก็บภาษีดังกล่าว หลังจากรับการยกเว้นมานานกว่า 30 ปี เนื่องจากมีการออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 “ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์” 

กรมสรรพากรกำลังอยู่ในระหว่างศึกษารูปแบบเงื่อนไขการจัดเก็บภาษีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยมี 2 รูปแบบ ได้แก่

ภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) เป็นการเรียกเก็บภาษีที่อยู่ในลักษณะ “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” ซึ่งในทางกฎหมายได้การกำหนดไว้ว่าการขายหุ้นในตลาด 1 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย หลังจากได้รับการยกเว้นตั้งแต่ปี 2534

ภาษีกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gain Tax) สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีการเรียกเก็บภาษีในส่วนนี้ แต่ถ้าเป็นการขายหรือโอนหลักทรัพย์นอกตลาด ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีจะต้องเสียภาษีโดยถูกหัก ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีก้าวหน้า และต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณตอนสิ้นปีด้วย ส่วน Capital Gain จากการลงทุนในกองทุนรวม ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

สำหรับการศึกษาในการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งโดยมี 3 แนวทาง ดังนี้ 

1. การขายหุ้นในตลาดฯ 1 ล้านบาทต่อเดือน 

2. การขายหุ้นในตลาดฯ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน 

3. การขายหุ้นในตลาดตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป

แนวทางในการพิจารณาจัดเก็บภาษีหุ้นส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไทยและนักลงทุนอย่างไร

ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกมาเคลื่อนไหว ถึงกรณีในการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งจะเริ่มในปี 2565 หลังจากได้รับการยกเว้นมานานกว่า 30 ปี

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีในเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายของภาครัฐที่มองว่าเห็นความจำเป็นที่ต้องมีการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว เพราะได้ถูกยกเว้นการเรียกเก็บมาหลายปีแล้ว และรัฐบาลเองก็มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บภาษีเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับทราบและให้ข้อมูลกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อประเมินสถานการณ์วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และอยากให้ทางภาครัฐได้เสนอพิจารณา 2 เรื่อง คือ 

1. จะทำให้อย่างไรที่การเก็บภาษีนั้นกระทบนักลงทุนอย่างเหมาะสม เช่น ถ้าเก็บตามปริมาณการซื้อขาย ก็จะสามารถควบคุม และไม่กระทบกับนักลงทุนมากนัก 

2. อัตราการเก็บภาษีที่ใช้ต้องเป็นอัตราภาษีที่เหมาะสม และไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยแตกต่างกับตลาดทุนอื่นที่เป็นคู่แข่งของเรา รวมไปถึงตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ที่เราใช้เป็นมาตรฐาน

ในมุมมองของตลาดหลักทรัพย์ฯถึงเรื่องการจัดเก็บภาษีจะทำให้ต้นทุนของนักลงทุนสูงขึ้น ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากนักลงทุนในบางประเภท เช่น กลุ่มนักลงทุนเทรดดิ้ง ทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศที่ซื้อขายเร็วด้วยการหวังกำไรระยะสั้น และอาจจะส่งกระทบต่อมูลค่าการซื้อขายของตลาดไปด้วยเช่นกัน จากปัจจุบันที่ตลาดมีมูลค่าการซื้อขายที่ราว 9 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งยังคงสูงเป็นอับดับ 1 ในภูมิภาคเอเซียน ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐช่วยพิจารณาคิดอัตราการจัดเก็บภาษีในการควบคุมปริมาณการซื้อขายตามความเหมาะสม เพื่อลดกระทบที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุน และสามารถแข่งขันกับตลาดหุ้นประเทศอื่นๆในภูมิภาคได้

รูปแบบในการจัดเก็บภาษีหุ้นในต่างประเทศ

สำหรับในต่างประเทศมีการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ในหลายประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เวียดนาม จีน เป็นต้น ซึ่งในแต่ละประเทศจัดเก็บในอัตราคิดภาษีที่แตกต่างกัน ในกรณีที่นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศซึ่งมีข้อกฎระเบียบในการจัดเก็บภาษีในต่างประเทศอย่างไร  

สหรัฐอเมริกา

การลงทุนในตลาดสหรัฐอเมริกา ได้รับสนับสนุนให้นักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในสหรัฐฯ โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้

เงินปันผล (Dividends) : ถูกหักภาษีเงินปันผล ณ ที่จ่าย 30% (ยกเว้นถ้าอยากได้ภาษีคืนจะต้องทำเอกสารภาษีผ่านโบรกเกอร์ในประเทศก่อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและค่าบริการ จะทำให้ลดหย่อนภาษีลงเหลือ 15%)

กำไรจากการขายหุ้น (Capital gain) : ไม่มีการเรียกเก็บภาษีสำหรับนักลงทุนในไทยและนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสหรัฐอเมริกา

หุ้นปันผล (Stock dividend) : ไม่มีการเรียกเก็บภาษี

ฝรั่งเศส

การลงทุนในตลาดฝรั่งเศส ซึ่งมีเงื่อนไขในการได้รับสิทธิเก็บภาษีขายหุ้นสำหรับนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้

เงินปันผล (Dividends) : ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 30% (ถ้าไปลงทุนในนามบริษัทแล้วไม่ได้ทำสนธิสัญญา จะทำให้จะเสียภาษีสูงถึง 55%)

กำไรจากการขายหุ้น (Capital gain) : ไม่มีการเก็บภาษีส่วนต่างกำไรจากการซื้อขาย

หุ้นปันผล (Stock dividend) : ไม่มีสิทธิได้รับหุ้นปันผล

จีน

การลงทุนในตลาดจีน โดยส่วนใหญ่นักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีน โดยการซื้อผ่านตลาดฮ่องกง (H-Share) โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้ 

เงินปันผล (Dividends) : ไม่มีการเรียกเก็บภาษี

กำไรจากการขายหุ้น (Capital gain) : ไม่มีการเรียกเก็บภาษี 

หุ้นปันผล (Stock dividend) : ไม่มีการเรียกเก็บภาษี

เวียดนาม

การลงทุนในตลาดเวียดนาม จะมีลักษณะคล้ายกับประเทศจีน โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้

เงินปันผล (Dividends) : ไม่มีการเรียกเก็บภาษี

กำไรจากการขายหุ้น (Capital gain) : ไม่มีการเรียกเก็บภาษี 

หุ้นปันผล (Stock dividend) : ไม่มีการเรียกเก็บภาษี

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน จัดอยู่ในสถานะ Stamp Duty (ภาษีอากรแสตมป์) เช่นเดียวกับประเทศฮ่องกง, สิงคโปร์, มาเลเซีย แล้วในบางประเทศได้ประกาศในการจัดเก็บภาษีอย่างล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ 2564) ฮ่องกงได้ประกาศขึ้นภาษีซื้อขายหุ้นจากระดับ 0.10% เป็น 0.13% ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 28 ปี (ปี 2536)

โดยสรุป ทางกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร ได้เตรียมแผนการจัดเก็บภาษีขายหุ้นที่กำลังจะเริ่มในปี 2565 อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการพิจารณาการเรียกเก็บภาษีในหลายรูปแบบ พร้อมคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจในไทย ข้อกฎเกณฑ์ และความพร้อมของนักลงทุน เพื่อจะได้มีเวลาในการปรับตัวและช่วงเวลาตามความเหมาะสมในสถานการณ์ รวมทั้งการเปรียบเทียบการจัดเก็บภาษีในต่างประเทศสำหรับนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งมีการออกกฎระเบียบที่แตกต่างกัน ในบางประเทศต้องเรียกเก็บภาษีและมีเงื่อนไขในแต่ละประเภท แต่ในบางประเทศไม่มีการเรียกเก็บภาษี คงต้องจับตากันต่อไปว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นในไทยเมื่อไร แล้วได้รับประโยชน์จากนักลงทุนและตลาดทุนในการส่งเสริมเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร 

Sources:

https://www.itax.in.th/media/ภาษีขายหุ้น-financial-transaction-tax-คืออะไร/

https://www.thairath.co.th/business/investment/stockexchange/2267282

https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=P&id=dUxLaVRKMDllTVk9

https://www.thansettakij.com/money_market/507159

https://www.prachachat.net/finance/news-823858

https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc240.pdf

https://www.ryt9.com/s/iq20/3202850

https://wealthmeup.com/21-11-27-tax/

https://cepr.net/report/financial-transactions-taxes-around-the-world/

https://www.bnymellon.com/content/dam/bnymellon/documents/pdf/emea/global-view-of-financial-transaction-taxes.pdf.coredownload.pdf

https://bingobook.co/investing/taxes-international/

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า