fbpx

เช็คหัวใจชาวใต้ ยังเป็นสีฟ้าอยู่ไหม หรือปันใจเป็นสีส้ม

การเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎร 2566 นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่อาจจะพลิกโฉมประเทศไทย หลังจากติดหล่มรัฐประหารมานานถึง 9 ปี และระหว่างทางก็ยังมีเรื่องราวระดับปรากฏการณ์เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นฐานเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังมีบางอย่างที่น่าสนใจ เพราะเมื่อดูจากคะแนนของ ส.ส.แบบแบ่งเขต หัวใจสีฟ้าที่ยึดมั่นอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ก็เริ่มมีสีเข้มขึ้นเป็นสีน้ำเงิน จากการเทคะแนนให้กับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ

แต่ปรากฏการณ์ที่เซอร์ไพรส์ยิ่งกว่า คือคะแนนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น กลับเทให้กับพรรคก้าวไกล และที่เซอร์ไพรส์ที่สุดก็คือ จังหวัดภูเก็ตกลายเป็นสีส้มของพรรคก้าวไกลทั้งเกาะ!

“ในเชิงภาพรวม คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เราชนะ 55 จังหวัด ในภาคใต้ 14 จังหวัด เราชนะ 7 จังหวัด แล้วก็คะแนนรวมในเชิงปาร์ตี้ลิสต์ของภาคใต้ เราก็เป็นที่หนึ่ง ขณะเดียวกัน ส.ส.เขตเราก็เป็นที่สองในหลายจังหวัด หลายเขต” ปกรณ์ อารีกุล ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล นครศรีธรรมราช เขต 1 กล่าวถึงภาพรวมคะแนนเสียงของพรรคก้าวไกลในภาคใต้

เมื่อสีฟ้าแปรเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน และพลิกกลับเป็นขั้วตรงข้ามอย่างสีส้มด้วย เกิดอะไรขึ้นกับโหมเราชาวใต้ และหัวใจของพวกเขานั้นยังเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มาเช็คสีหัวใจชาวด้ามขวาน จากมุมมองของชาวใต้ ที่นี่เลย

“ระบบอุปถัมภ์” ระบบฉุดรั้งเสรีภาพของชาวใต้?

เมื่อเริ่มพิจารณาที่คะแนนของ ส.ส.แบบแบ่งเขต จะพบว่าคะแนนเสียงส่วนใหญ่ตกเป็นของพรรคสีฟ้าอย่างประชาธิปัตย์ และสีน้ำเงินอย่างพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ อดีตนักกิจกรรมชาวใต้ท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้ 3 พรรคนี้ชนะใจประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ มาจากการเป็นสังคมอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ยาง ปาล์ม หรือผลไม้ ที่เกษตรกรในพื้นที่ต้องพึ่งพาลานรับซื้อ ซึ่งผูกขาดโดยกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน 

“เวลาจะขายยาง หรือปาล์ม มันขายได้เฉพาะกับลานรับซื้อที่อยู่ในหมู่บ้าน หรือไกลออกไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งก็จะเป็นกิจการของพวกผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนันของท้องที่นั้นๆ มันก็ต้องพึ่งพากันโดยระบบอยู่แล้ว เพราะว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ตามชนบทก็ไม่สามารถเอาผลผลิตของตัวเองออกไปขายถึงลานได้ พอมันไม่มี มันก็ต้องไปผูกขาด”

คนตัวน้อยก็พึ่งพาผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านวิ่งหากำนัน กำนันก็วิ่งหานายทุนท้องที่ นายทุนท้องที่ก็จะเป็นระดับกำนันเก่าๆ เป็นเจ้าของกิจการใหญ่ๆ ที่ร่วมมือกับนักการเมืองท้องถิ่นอยู่ดี กินกันไปกินกันมา วนอยู่แบบนี้” อดีตนักกิจกรรมชาวใต้กล่าว

ธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของภาคใต้ ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในระบบอุปถัมภ์เช่นกัน ทว่าภายใต้การผูกขาดของนายทุนรายใหญ่ ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร และต้องฝากความหวังไว้กับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก 

“แล้วมันก็จะอยู่ในภาวะจำยอม คือทิ้งก็ไม่ได้นะ ทิ้งแล้วเป็นหนี้ ถ้าอยู่ยังมีโอกาสเอาเงินก้อนเพื่อทยอยใช้หนี้ที่มีอยู่ไปเรื่อยๆ แล้วคนที่ผูกขาดสัมปทานพวกเรือเฟอร์รี ก็คือนายทุนใหญ่ๆ ทั้งนั้น คือไม่มีใครที่จะไปยุ่มย่ามกับมันได้ แถมกิจการหลายอย่างที่อยู่บนเกาะสมุย พะงันเอง ก็ขึ้นตรงอยู่กับนายหัวคนเดียวเลย”

ส.ส.เขตสีฟ้า – น้ำเงิน ปาร์ตี้ลิสต์สีส้ม

เมื่อต้องพึ่งพาอำนาจที่เหนือกว่า “นักการเมืองท้องถิ่น” หรือ “ส.ส.เขต” จึงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของประชาชนในพื้นที่ นับตั้งแต่ “งานราษฎร์” อย่างการร่วมงานพิธีต่างๆ ในชุมชน ไปจนถึง “งานหลวง” อย่างการจัดหาสาธารณูปโภคให้กับชุมชน เรียกว่านักการเมืองคนไหนลงพื้นที่ให้ประชาชนเห็นหน้าบ่อยๆ ก็จะได้คะแนนเสียงไปแบบไม่ต้องลังเล

อดีตนักกิจกรรมชาวใต้มองว่า นอกจากจะตอบโจทย์เรื่องการทำประโยชน์ให้กับประชาชนแล้ว นักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม ยังตอบโจทย์เรื่องตัวตนของชาวใต้ เพราะความคุ้นเคยเหล่านี้ช่วยรักษาฐานความคิดและสังคมแบบเดิมไว้ คล้ายกับเป็น “เซฟโซน” ที่ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นเก่ารู้สึกอุ่นใจ

อย่างไรก็ตาม ปกรณ์ ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.เขตคนหนึ่ง มองว่า สาเหตุที่พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ อาจจะมาจากการซื้อเสียง ทว่าประเด็นนี้มีเพียงกระแสข่าว ไม่ได้มีหลักฐานยืนยัน

“เท่าที่ได้ยินมา เมื่อมีการซื้อเสียง เขาก็จะซื้อเฉพาะ ส.ส. เขต ทำให้เวลาประชาชนเลือก การเลือกบัญชีรายชื่ออาจจะเป็นอิสระมากกว่า แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น ผมไม่ได้มีหลักฐานจะไปกล่าวหาว่าใครชนะเพราะซื้อเสียง อันนี้เป็นแค่กระแสที่ได้ยินมา”

ปกรณ์อธิบายปรากฏการณ์ที่ ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง เป็นคนละฝ่ายกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า น่าจะเกิดจากการที่ประชาชนชาวใต้เลือกบุคคลกับพรรคไม่ตรงกัน เช่นเดียวกับหลายคนในพื้นที่อื่นๆ ทว่าสำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขตนั้น ประชาชนน่าจะพิจารณาจากผู้สมัครที่ไปมาหาสู่กับประชาชน หรือ “เรียกง่ายใช้คล่อง” มากกว่าผู้สมัครที่เน้นการนำเสนอนโยบายหรือทำงานเชิงประเด็น

อย่างไรก็ตาม ปกรณ์กล่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ระบบอุปถัมภ์จากกลุ่มอำนาจเดิมในพื้นที่ไม่ได้มีบทบาทมากนักจนถึงขั้นมีผลกับการแพ้หรือชนะเลือกตั้ง

“รอบนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็เหลือแค่ 16 เขตจากทั้งหมด ที่เหลือก็กระจายไปที่ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ซึ่งผู้สมัครก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นนายทุนเจ้าของธุรกิจที่จะเอื้อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ได้ในพื้นที่ ส่วนเรื่องความคิด วัฒนธรรม ต้องบอกว่า พอบัตรใบที่สองเป็นพรรคก้าวไกลชนะในพื้นที่ มันเหมือนมันย้อนแย้งกัน ถ้าบอกว่าพรรคสีฟ้า พรรคสีน้ำเงินมีธุรกิจที่มันยึดโยงกับระบบอุปถัมภ์ที่แน่นแฟ้น เขาก็ต้องเลือกทั้งสองใบไปในทางเดียวกัน” 

“แต่อันนี้แสดงว่าคนใต้อย่างน้อย 1.5 ล้านคน คนนครอย่างน้อย 2.6 แสนคน รับรู้รับทราบว่านโยบายของก้าวไกลเป็นอย่างไร แล้วก็น่าสนใจแค่ไหน เขาจึงลงคะแนน แต่ในขณะเดียวกัน บัตรอีกใบที่เป็น ส.ส.เขต เมื่อผู้สมัครของก้าวไกลไม่ได้มีเงินหรือมีผลประโยชน์อื่นใดไปให้เขา เขาก็อาจจะตัดสินใจแบบแยกกันสองใบ”

ปรากฏการณ์ “ส้มทั้งแผ่นดิน” ที่ภูเก็ต

หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2559 เกิดเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่ผู้เห็นต่างทางการเมืองในจังหวัดภูเก็ต จากเหตุการณ์นั้น ทำให้คนทั่วไปมองภูเก็ตว่าเป็นจังหวัดที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม ทว่าในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ พรรคก้าวไกลกลับคว้าชัยชนะแบบถล่มทลาย ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์นี้ สามารถมองได้ในหลายแง่มุม หนึ่งในนั้นคือบริบททางเศรษฐกิจและสังคมในภาคใต้ตอนล่าง ที่ขับเคลื่อนด้วยชาวจีนและมุสลิมจากมาเลเซีย ต่างจากสังคมเกษตรในภาคใต้ตอนบน 

พอเป็นกลุ่มคนเชื้อสายจีน ความเจริญมันค่อนข้างไปได้ไกลกว่า ด้วยเรื่องของการค้าขายแล้วก็การเปิดโลก มันเลยทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับการค้าขายเติบโต พอเติบโตปุ๊บ มันก็จะมีเรื่องการศึกษา การแพทย์ อะไรต่างๆ เข้ามา ตัวอย่างเช่น หาดใหญ่ เป็นเมืองที่มีความเจริญทางด้านการแพทย์ การศึกษา ถึงเรื่องการท่องเที่ยวในยุคหลังๆ มันจะตกลง มันก็ไม่ใช่ว่าตีบตันจนตายไป”

ด้านปกรณ์ก็มองว่าประชากรภูเก็ต ณ ปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งก็คือย้ายมาจากที่อื่น พอย้ายมาจากที่อื่น ลักษณะสังคมก็จะมีความเป็นสังคมแบบปัจเจก ใช้คำว่า ‘สังคมผู้ประกอบการหมู่บ้านจัดสรร’ ดังนั้นเขาก็อาจจะตัดสินใจเลือกที่นโยบายได้มากกว่าคนใต้ในจังหวัดอื่นๆ”

และอีกปัจจัยหนึ่งที่อดีตนักกิจกรรมชาวใต้มองว่าน่าสนใจ คือนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของพรรคก้าวไกล ที่ตรงใจคนภูเก็ตไม่น้อย เพราะทุกวันนี้ แม้ภูเก็ตจะเป็นจังหวัดที่เก็บภาษีได้เป็นจำนวนมาก แต่ภาษีนั้นกลับไม่ได้นำมาพัฒนาท้องถิ่นอย่างเต็มที่เท่าที่ควร

“คนภูเก็ตมีจุดคิดร่วมกันจุดหนึ่ง คืออยากได้ผู้ว่าฯ ที่เขาเลือกเอง เพราะว่าภูเก็ตเป็นเมืองที่ทำกำไรให้กับประเทศได้มากเลย แต่ทรัพยากรที่ได้จากภาษีเหล่านั้นไม่ได้ถูกโอนมาให้คนภูเก็ตอย่างที่ควรจะเป็น

“จุดที่ยึดโยงทุกคนไว้คือการอยากให้ภูเก็ตมันเจริญอย่างที่ควรจะเป็น เพราะภูเก็ตเดี๋ยวนี้รถติดมากกว่ากรุงเทพฯ อีกนะ ขนส่งสาธารณะแย่ สภาพผังเมืองแย่ ฝนตกหนักหรือไม่หนักทีหนึ่ง น้ำท่วม ดินถล่ม คือทุกอย่างมันพัง แต่ไม่สามารถจัดการตัวเองได้ ต้องรอความเห็นจากส่วนกลาง ซึ่งคนภูเก็ตน่าจะทนกับตรงนี้มานาน จนประยุทธ์นี่แหละที่ทำให้คนภูเก็ตรู้สึกว่ากูไม่เอาพวกมึงแล้วนะ” อดีตนักกิจกรรมกล่าว

เช็คหัวใจชาวใต้ในอนาคต

ชัยชนะอันน่าประทับในของ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และ ส.ส.แบบแบ่งเขตในภูเก็ต นำไปสู่คำถามที่ว่า พรรคก้าวไกลมีความหวังมากน้อยแค่ไหนในการเลือกตั้งสมัยหน้า ปกรณ์ตอบว่า มีความหวังแน่นอน

“ในภาคใต้หลายเขตที่คะแนนเรามาเป็นอันดับสอง หรือแม้ว่าอันดับสาม แต่ว่าห่างจากที่หนึ่งไม่เกิน 3,000 – 5,000 คะแนน ถือว่าเป็นเขตที่ผู้สมัครเอง ถ้าอยากจะลงต่อ อยากเจอกันอีกครั้งหนึ่ง ก็คงต้องทำงานอย่างเต็มที่ในช่วง 4 ปีหลังจากนี้ เพื่อเอาชนะใจพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของตัวเองให้ได้ ซึ่งผมคิดว่ามีไม่ต่ำกว่า เกือบๆ 30 เขต น่าจะเป็นครึ่งหนึ่งของภาคใต้”

ด้านอดีตนักกิจกรรมมองว่า การที่พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะเอาชนะใจประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะยังคงเป็นกลุ่มที่มีความคิด ความเชื่อแบบเดิม แต่กลุ่มที่อาจจะเจาะยากกว่า คือคนกลุ่มอายุ 35 – 45 ปี เนื่องจากคนกลุ่มนี้เริ่มหันไปมอบคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกล

“การลงมาเจาะตลาดคนที่อายุ 35 – 45 เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับเขา (พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม) พอสมควรเลย เพราะคนที่มีแนวโน้มจะไปในทางโน้น มันไม่ได้เยอะเหมือนเดิมแล้ว มันไม่ได้ง่ายแล้วในครั้งต่อๆ ไป ยิ่งถ้ามีใครทำให้สังคมอุตสาหกรรมการเกษตรหรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบเดิมพังทลายจากการผูกขาด มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่รอบหน้าเราจะเห็นคนเลือกประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่ง” อดีตนักกิจกรรมสรุป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า