fbpx

คุยกับ “ตี้ พะเยา” ในวันที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ภาพความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองในประเทศเรานั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนก่อให้เกิดคำถามมากมายในสังคม บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากลหรือไม่อยู่ในขอบเขตข้อกฎหมาย ในขณะที่ภาคประชาชนเองก็เกิดข้อถกเถียงในแนวทางการเคลื่อนไหวแบบ “สันติวิธี” 

วันนี้ The Modernist ได้มีโอกาสพูดคุยกับตี้-วรรณวลี ธรรมสัตยา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองวัย 21 ปี ผู้อยู่แนวหน้าในการชุมนุมภาคประชาชนบ่อยครั้งในระยะเวลาที่ผ่านมาของการเคลื่อนไหวภาคประชาชน แม้ว่าภายนอกเธอจะดูเป็นหญิงสาวผอมบาง ร่างเล็ก แต่จิตใจของเธอนั้นเข้มแข็งและยิ่งใหญ่เกินกว่าผู้มีอำนาจในประเทศนี้เสียอีก วรรณวลีเคยโดนดำเนินคดีในมาตรา 112 และถูกจำคุกเป็นระยะเวลากว่า 11 วัน แต่กระนั้น เธอก็ไม่เคยย่อท้อต่อเส้นทางการต่อสู้ทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะเธอเชื่อมั่นว่ามนุษย์ล้วนเกิดมาเท่าเทียมกัน เท่าเทียมที่จะสามารถใช้ชีวิต ใช้บทกฎหมาย และได้รับการปฏิบัติต่อกันและกันอย่างเสมอภาค

จุดเริ่มต้นที่หันมาสนใจประเด็นสังคม การเมือง 

ย้อนกลับไปช่วงมัธยมปลาย เราเป็นเด็กกรุงเทพฯ ที่ย้ายไปเรียนต่างจังหวัด ซึ่งเราก็ไปอยู่แถบชนบทเลย ไม่ได้อยู่ในตัวเมือง แล้วเรามีเพื่อนคนนึงที่เค้าไม่มีแม้แต่เงินไปโรงเรียน วันๆ นึงเค้ากินข้าวได้แค่มื้อเดียวอ่ะ ถ้าเค้าเลือกจะกินมื้อเช้า มื้อเที่ยงกับเย็นเค้าต้องอด ตอนนั้นเราก็สงสัยว่าทำไมเค้าไม่มีเงินแม้กระทั่งมาซื้อข้าวกิน ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ 

เราก็เลยเริ่มคิดและศึกษาว่าปัญหาเหล่านี้มันเกิดจากอะไร แล้วเราก็พบว่า บ้านเพื่อนเราอยู่บนเขา ถนนก็เป็นทางลูกรัง การที่ครอบครัวเค้าจะออกมาทำงานในเมืองหรืองานที่สามารถได้ค่าแรงขั้นต่ำ เค้าจะต้องเดินทางวันละ 30-40 กิโล ซึ่งกว่าจะเดินทางไปสู่ความเจริญได้เนี่ย มันไกลนะ เค้าก็เลยเลือกที่จะทำไร่ ทำนาอยู่แถวบ้าน ซึ่งค่าตอบแทนงานเหล่านี้ยังไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ เท่ากับวิถีชีวิตเค้ามันยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก 

เราก็เลยเริ่มสนใจว่าต้องทำยังไงเพื่อนเราถึงจะมีเงินมาหาเลี้ยงตัวเองได้ หรือทำยังไงให้ครอบครัวเค้ามีเงินมากกว่านี้ สุดท้ายแล้วเราก็พบว่า ต้นตอของปัญหานี้มันอยู่ที่การจัดสรรทรัพยากร ระบบพื้นฐานและสิทธิขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐไม่สามารถจัดสรรให้เราทุกคนได้อย่างเท่าเทียม ความเจริญมันเลยไปกระจุกอยู่แค่ในเมือง 

จากอดีตที่เคยอยากเป็นทหาร 3 จังหวัดชายแดนใต้

ตอน ม.6 เราอยากเป็นทหารองครักษ์มากๆ แล้วตอนนั้นเรากำลังจะไปสอบทหารพราน พอดีเรามีเพื่อนที่สอบทหารแล้วได้ลงไปอยู่ 3 จังหวัดชายแดน เค้ามาเล่าให้ฟังว่า สงคราม 3 จังหวัดมันไม่ได้มีสงครามจริงๆ แต่ว่ามันคือการสร้างสถานการณ์เพื่อที่จะเบิกงบลงไป บางคนมีชื่ออยู่นู่นแต่ตัวอยู่อีกที่นึงเพื่อที่จะเอาเบี้ยเลี้ยง ซึ่งมันไม่ใช่ เราอ่ะพร้อมที่จะจับปืน พร้อมสู้ แต่สุดท้ายมันเป็นแค่การสร้างสถานการณ์ เราก็ผิดหวังที่มารู้ว่าจริงๆ มันมีปัญหาหลายอย่างที่ถูกซ่อนอยู่ใต้พรม

สันติวิธีในความคิดของเราเป็นยังไง จำเป็นไหมที่จะต้องเดินตามแนวทางสันติวิธี

คำคำนี้มันไม่มีคำจำกัดความ แต่คุณต้องหาคำจำกัดความด้วยตัวของคุณเอง แต่สันติวิธีในความคิดของเราคือการไม่ทำให้อีกฝ่ายถึงแก่ชีวิต แต่ว่าเราอาจจะต้องมีการตอบโต้เพื่อป้องกันตนเอง เราต้องขอพูดก่อนว่า ในการชุมนุมปี 63 พวกเราไม่มีอะไรกันเลยนะ เรามีแค่ “ร่ม” รัฐเริ่มจากการฉีดน้ำแรงดันสูงใส่พวกเรา ซึ่งร่มมันก็ป้องกันอะไรไม่ได้มาก ที่ผ่านมาพวกเราไม่เคยตอบโต้เจ้าหน้าที่เลย เราสันติกันมาชนิดที่แทบจะนั่งสมาธิกันแล้ว 

ในม็อบทะลุฟ้าก็มีผู้ชุมนุมที่นอนอยู่เฉยๆ แต่เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาจับกุมไปอยู่ดี ในการชุมนุมปีนี้เราก็ต้องมีการตอบโต้กลับไปบ้าง เราต้องป้องกันตัวเองเพราะอาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้มันรุนแรงขึ้น เขามีทั้งรถน้ำ กระสุนยาง แก๊ซน้ำตา แล้วฝั่งเรามีอะไร เรามีพลุ ที่ยิงไปเขาก็มีโล่ เขามีเสื้อเกราะ ถ้าใครอยู่หน้างานจริงๆ จะเห็นเลยว่าน้อง ๆ เค้าตั้งใจยิงใส่โล่กัน แล้วลูกปิงปองเนี่ย น้องๆ เค้าก็ปาไปตรงกึ่งกลางระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมเพื่อเป็นการสกัดไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามา เราไม่เคยเล็งไปที่จุดสำคัญของพวกเค้าเลยนะ พวกเราไม่ได้ต้องการให้มีใครบาดเจ็บล้มตาย เราตอบโต้เพื่อป้องกันตัวเองเท่านั้น แต่ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงเล็งแต่จุดสำคัญของเรา เช่น หัวหรือใบหน้า เรากล้าพูดเพราะมันมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำเล่าซ้ำแล้ว มีผู้ชุมนุมหัวแตก ตาบอดกันไปตั้งเท่าไหร่ จะเอากันถึงตายเลยหรอ?

“ต่อให้เราไม่ใช้ความรุนแรงก่อน ยังไงเค้าก็ใช้ความรุนแรงกับเราอยู่ดี” 

          จริงๆ พวกอาวุธที่กองทัพแอบลักลอบเอามาขาย เช่นพวกปืนหรือระเบิดเนี่ย มันหาซื้อไม่อยากเลยนะ แต่ทำไมพวกพี่ๆ น้องๆ ที่อยู่แนวหน้าเค้าถึงไม่ใช้กัน ก็เพราะเราไม่ได้ต้องการให้มีใครเสียชีวิต ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทั้งกระทืบเรา ทั้งยิงเรา แต่เราก็ยังไม่คิดจะทำกับเค้าถึงขนาดนั้น เพราะเรายังมองว่าเค้าเป็นคนและเรายังมีความมนุษย์อยู่ ถ้าคุณทำอะไรตามสัญชาติญาณหรือทำตามคำสั่งอย่างเดียว คุณก็ไม่ต่างอะไรจากสัตว์

คนเราเมื่อเดินได้แล้ว จะไม่กลับไปคลานอีก

เคยมีคนมาพูดกับเราว่า “อุดมการณ์มันก็แค่ความฝันลมๆ แล้งๆ ประชาชนตื่นรู้แล้วยังไงต่อ มันไม่มีทางหรอกที่จะจัดม็อบขึ้นมาได้” อาจเพราะมันเคยมีกรณีการชุมนุมในอดีตที่ต้องสูญเสียถึงขั้นชีวิต ประชาชนคงไม่กล้าออกมากันแล้ว แต่คุณลองมาดูวันนี้สิ่ ม็อบก็ยังอยู่ แล้วกระจายกันไปทั่วประเทศเลยด้วยซ้ำ 

เราสู้โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบอยู่ตลอด ทั้งลงถนน ทางโซเชียลมีเดีย เราให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนแบบที่ไม่ใช่ Fake News เพราะต้องพูดกันตรงๆ ว่าสื่อหลักทุกวันนี้ก็ไม่ได้เป็นกลางและไม่ได้เผยแพร่ข่าวอย่างตรงไปตรงมา ในม็อบเนี่ย มีแต่สื่อแนวร่วมทั้งนั้นนะที่ถ่ายภาพหรือวีดีโอสถานการณ์จริง เพราะฉะนั้นประชาชนเค้าจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าควรเลือกเชื่อข่าวจากฝั่งไหน

มองทิศทางการต่อสู้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างไรบ้าง

สิ่งแรกคือเราต้องทำให้ทุกคนคิดว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่รัฐฯ พยายามยัดเยียดคำนี้ให้เรามาโดยตลอด คือเราต้องทำให้คนคิดว่าการเมืองและเศรษฐกิจมันคือเรื่องของเราทุกคน ต้องตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง เราไม่ค่อยโอเคกับการที่ใครคนใดคนนึงออกมาเสียสละเพื่อคนหมู่มาก แต่เราอยากจะให้ทุกคนออกมาเพื่อสิทธิของตัวเองมากกว่า เพราะเมื่อใดที่คนตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากเท่าไหร่ ทุกคนก็จะยิ่งออกมามากเท่านั้น 

เรื่องที่สองคือเราอยากให้ความรู้ทางด้านกฎหมายกับประชาชนเพื่อเอาไว้ป้องกันตัวเอง เช่น เวลาที่เจ้าหน้าที่มาจับกุมเรา เราสามารถทำอะไรได้บ้าง ตำรวจจะมาค้นที่พักอาศัยเรา เค้าต้องมีหมายอะไรบ้าง โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ตรงของเราเอง อย่างน้อยเพื่อเป็นการติดอาวุธให้ประชาชนสามารถต่อกรกับเจ้าหน้าที่ได้ เพื่อไม่ให้เค้าใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมมากดขี่เรา

เรื่องที่สามคือการปฏิรูปกองทัพและตำรวจ เรารู้นะว่ามันมีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่เค้าอยู่ฝั่งเรา เค้าไม่ได้อยากทำร้ายเราหรอก แต่ถ้าเค้าไม่ทำก็อาจจะถูกนายกดขี่ข่มเหง อาจถูกไล่ออกจากงาน ถูกลดขั้น ครอบครัวลำบากอีก เราก็อยากจะชี้แนะว่า คุณไม่ออกมาวันนี้ไม่เป็นไร เราเข้าใจว่าคุณต้องพึ่งพาระบบห่วยๆ พวกนี้อยู่ แต่เราจะพยายามทำให้คุณมีปากมีเสียงมากขึ้น เราจะเรียกร้องสิ่งแย่ๆ ที่พวกคุณเจอให้สาธารณะได้รับรู้เอง เพราะเราเข้าใจว่าที่พวกคุณทนอยู่เพราะมันคือหน้าที่ แต่ถ้าหากวันใดวันนึงมีคำสั่งให้พวกคุณใช้กระสุนจริง มีการทำให้บาดเจ็บล้มตายเกิดขึ้น วันนั้นมันไม่เกี่ยวกับหน้าที่แล้วนะ มันคือจิตใต้สำนึกและมนุษยธรรมของพวกคุณ กระบอกปืนที่คุณหันมาสู่ประชาชน นายคุณไม่ได้ถือมันนะ มีแต่ชั้นผู้น้อยทั้งนั้นที่ออกมาสู้แทนพวกผู้มีอำนาจ ถ้าพวกคุณหันมาอยู่ข้างประชาชนแล้วหันกระบอกปืนไปทางผู้มีอำนาจ วันนั้นประชาชนจึงจะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งพวกคุณก็คือประชาชน

ความหวังและความฝันที่อยากเห็นประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ

สิ่งที่เราคาดหวังจริงๆ มันควรจะเป็นเรื่องที่มีในประเทศนานแล้วนะ เราควรจะมีระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆเสียที มันไม่ควรจะมีใครสักกลุ่มที่แอบใช้กฎหมายแยกออกไปจากรัฐธรรมนูญแล้วอ้างว่ามันอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย 

อีกอย่างนึงคือเราอยากเห็นคุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น การเข้าถึงสวิสดิการจากภาครัฐต้องทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ใช่จัดสรรเงินให้คนบางกลุ่ม เพราะว่ามันก็คือเงินภาษีของประชาชนทุกคนที่ไปกระจุกอยู่แค่จุดเดียว แต่คุณภาพชีวิตประชาชนกลับย่ำแย่ขึ้นทุกวันๆ มันคือเรื่องของสามัญสำนึกล้วนๆ รัฐบาลต้องระลึกไว้เสมอนะว่าตัวเองมีหน้าที่ขาดทุนให้ประชาชน ไม่ใช่แสวงหาผลกำไรจากประชาชน

มีอะไรอยากจะฝากทิ้งท้ายไหม

อยากจะฝากสื่อต่างๆ ที่คอยเป็นกระบอกเสียงให้กับมวลชนเสมอมา ทุกวันนี้ที่พวกเรามาไกลได้ขนาดนี้ส่วนสำคัญเลยก็คือสื่อแนวร่วมที่คอยเสนอข่าวและข้อเท็จจริงให้ประชาชน ต้องขอบคุณที่พวกคุณกล้าออกมายืนเคียงข้างเรา กล้าที่จะเสนอความจริงและไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ เพราะรัฐก็สามารถเล่นคุณได้เหมือนกัน ในการชุมนุมแม้คุณจะมีปลอกแขนสื่อ บางครั้งเขาก็ไม่สนใจนะ เราจึงเข้าใจว่าหลายๆ ครั้งพวกคุณต้องเจอกับความเสี่ยง ก็ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า