fbpx

‘ซิดนีย์ 24 ชั่วโมง’ นโยบายที่ใช้เวลากลางคืนทำเงินให้ประชาชน

หากคุณเดินทางออกนอกบ้านในเวลากลางคืน อาจจะเห็นแสงสีจากหลอดไฟนีออนเต็มท้องถนน โดยเฉพาะถนนสายหลักอย่างย่านเอกมัย-ทองหล่อ ไปจนถึงเยาวราชที่ผู้คนไปต่อแถวซื้ออาหารกันจนถึงเกือบเที่ยงคืน หรือแม้แต่ร้านข้าวต้มก็ยังเปิดให้เราได้สังสรรค์ดูบอลกันยาวไปจนถึงหลังเที่ยงคืนด้วยซ้ำไป

กรุงเทพมหานครยังไม่มีนโยบายเศรษฐกิจกลางคืน แต่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกเริ่มหันมาใช้นโยบาย ‘เมือง 24 ชั่วโมง’ มากขึ้น หลังพบว่ากิจกรรมของประชาชนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในตอนกลางวันเท่านั้น

ซิดนีย์เป็นหนึ่งในเมืองที่เข้าใจว่าเวลากลางคืนสำคัญกับประชาชนของพวกเขามากแค่ไหน

จริง ๆ แล้วนโยบายเมือง 24 ชั่วโมงเป็นนโยบายใหม่ของโลก เพิ่งจะเริ่มต้นประมาณสิบกว่าปีในอัมเตอร์ดัม ความเป็นรูปธรรมของมันเด่นชัดขึ้น เมื่อมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไรแห่งหนึ่งผลักดันนโยบายนี้อย่างจริงจัง จนมิริค มิลานได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีกลางคืน (Night mayor) คนแรกของโลก อัสเตอร์ดัมจึงกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยแสงสีในยามค่ำคืนและกลายเป็นเมืองกลางคืนต้นแบบของโลก รวมถึงเป็นแบบอย่างให้ซิดนีย์ด้วย

Deloitte Access Economics หน่วยงานที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงเวลากลางคืนของซิดนีย์ในปี 2017 อยู่ที่ราว 2.7 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์และทำให้เกิดการจ้างงานราว 234,000 ตำแหน่ง

หน่วยงานท้องถิ่นของนิวเซาต์เวลส์ – รัฐที่มีซิดนีย์เป็นเมืองหลวง – จึงจัดตั้งคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจกลางคืนในปี 2017 เพื่อเป็นหน่วยประสานงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอกชนที่ดำเนินธุรกิจช่วงเวลากลางคืน ให้นโยบายนี้เกิดขึ้นอย่างราบรื่น

กิจกรรมที่ดำเนินการเน้นโฟกัสผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมช่วงกลางคืน เช่น ผับ บาร์ ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงละคร การแสดงดนตรีสด และการจัดงานแฟร์ต่าง ๆ รวมไปถึงกิจกรรมที่จะเข้ามาซัพพอร์ตอย่างขนส่งสาธารณะ ร้านค้าปลีก ร้านให้บริการด้านต่าง ๆ จนถึงยิมออกกำลังกายด้วย เพราะฉะนั้น เราสามารถชมนิทรรศกาลศิลปะตอนกลางคืนได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีรถกลับบ้านไหม หรือไม่ต้องรีบตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปเข้ายิมก่อนไปทำงาน

สิ่งที่เรามองว่าน่าสนใจมากคือการวางกลยุทธ์เป็น 5 ด้าน เพื่อสร้างความหลากหลาย ความมีชีวิตชีวาและความปลอดภัยในช่วงกลางคืน

  1. การวางแผนสร้างพื้นที่ : รัฐนิวเซาต์เวลส์สนับสนุนให้มีการประกองธุรกิจในพื้นที่กลางแจ้งช่วงกลางคืนมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนให้กล้าออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งมากขึ้น
  2. สร้างกิจกรรมในช่วงกลางคืนให้มีความหลากหลาย : หน่วยงานท้องถิ่นจะร่วมมือกันขยายเวลาเปิดกิจการในท้องถิ่น รวมถึงแก้กฎหมายราชการที่มีความหยุมหยิมและล้าสมัย โดยเฉพาะกฎหมายการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการแสดงดนตรีสด
  3. การพัฒนาอุตสาหกรรมและวัฒนธรรม : มีการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ 24 ชั่วโมง จากการรวมตัวแทนอาวุโสจากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านงานบริการ ด้านความบันเทิง ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้านกีฬา ด้านธุรกิจ ตัวแทนภาคประชาชนและรัฐบาล เพื่อร่วมกันหาไอเดียใหม่ ๆ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
  4. เพิ่มการเชื่อมต่อและการเชื่อมโยง : รัฐนิวเซาต์เวลส์จัดตั้งกลุ่มคณะทำงานจากหน่วยงานตำรวจ สาธารณสุข ขนส่งมวลชนและอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาบริการจัดการความปลอดภัยให้กับประชาชนในทุกมิติ
  5. เปลี่ยนแนวทางการสื่อสาร : หน้าที่หนึ่งของหน่วยงานรัฐบาลคือการโปรโมทว่าซิดนีย์คือเมือง 24 ชั่วโมง แล้วใช้กิจกรรมกลางคืนดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถเข้ามาใช้ชีวิตและทำงานที่ซิดนีย์ หน่วยงานรัฐพยายามสร้างแคมเปญสื่อสารเรื่องราวใหม่ให้เมืองผ่านแคมเปญ ‘Feel New’ บอกเล่าเรื่องราวว่าเป็นรัฐที่มีความรู้สึกของความหลากหลาย ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกได้ถึงความแปลกใหม่และได้รับแรงบันดาลใจดี ๆ เสมอ

รัฐนิวเซาต์เวลส์ถือโอกาสใช้เวลาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พัฒนาเศรษฐกิจกลางคืนให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน หลังต้องกักตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน ๆ นับว่าเป็นการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างแท้จริง

ถ้าใครสนใจอยากศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ทางรัฐนิวเซาต์เวลส์ทำ Podcast ชื่อรายการว่า ‘The Neon Grid with Michael Rodrigues’ ดำเนินรายการโดย Michael Rodrigues กรรมาธิการเศรษฐกิจ 24 ชั่วโมงคนแรกของรัฐนิวเซาต์เวลส์ได้สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ เขาทำรูปแบบรายการดีมากทีเดียว ขอแนะนำให้ทุกท่านติดตามฟัง

เราพยายามเปรียบเทียบหลายเมืองใหญ่ที่ทำนโยบายเศรษฐกิจ 24 ชั่วโมง พบว่าอัมสเตอร์ดัมเป็นหนึ่งเมืองที่น่าตื่นเต้น เพราะความพยายามอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกของโลก ลอนดอนที่หันมาทำนโยบายนี้ก็น่าสนใจจากการบูรณาการทุกภาคส่วนของเมืองเข้ามาช่วยกันทำให้เกิดขึ้นจริง ซิดนีย์มีทั้ง 2 สิ่งนั้น แต่สิ่งที่ทำให้ซิดนีย์ดูแตกต่างจากเมืองอื่นคือการสื่อสารเรื่องราวให้จับต้องได้อย่างแท้จริง

ในส่วนของบ้านเรา ตอนนี้นโยบายเศรษฐกิจกลางคืนกลายเป็นนโยบายยอดฮิตที่บรรดาผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หวังใจว่าจะเป็นนโยบายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย ตามหลายหัวเมืองใหญ่ระดับโลก หลายสิบเมืองในโลกได้พิสูจน์แล้วว่าช่วงเวลากลางคืนเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนสามารถมีความสุขได้ และไม่ได้เป็นช่วงเวลาที่น่ากลัวอีกต่อไป


Sources:

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า