“ท่องเที่ยวยั่งยืน” เทรนด์ใหม่ คน Gen Y – Z

ปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นผลเสียต่อสภาอากาศและส่งผลกระทบทั่วโลกรวมถึงไทย เช่น จะเป็นฝุ่นควัน ฝุ่นขนาดเล็กอย่างPM2.5  และปัญหาก๊าซเรือนกระจกหรือ Greenhouse gas เป็นต้น

ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถือความสำคัญของสิ่งแวดล้อมากขึ้นและหันมาใส่ใจอย่างจริงจัง รวมไปถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยหลังวิกฤตโควิด-19 ได้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเทรนด์ท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ชุมชน ไปจนถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น หรือที่เรียกกันว่า “ท่องเที่ยวยั่งยืน” ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่ม Gen Y – Z 

โดยจากผลการสำรวจของ Expedia Group ร่วมกับ Wakefield Research เรื่อง Sustainable Travel Study จากการสอบถามความเห็นนักท่องเที่ยวทั่วโลก จำนวน 11,000 คน จาก 11 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในช่วงเดือน ก.พ. – พ.ค. 2565 พบว่า นักท่องเที่ยวกว่า 69% มองหาทริปที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รองลงมาคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนคิดเป็น 66%  สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นชุมชนคิดเป็น 65% และอยากไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักคิดเป็น 52%

สอดคล้องกับผลสำรวจของ Booking.com ซึ่งได้รวบรวมความเห็นและข้อมูลเชิงลึกของนักเดินทาง จำนวน 30,000 คนใน 32 ประเทศ รวมถึงไทย พบว่า คนไทยต้องการตัวเลือกด้านการเดินทางที่มีความยั่งยืน และมีความตระหนักต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นมีเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งจำนวนของผู้ที่ต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนในปีนี้มีเพิ่มขึ้นราว 10% เมื่อเทียบกับผลการสำรวจนักท่องเที่ยวปี 64 และให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะที่ Sustainable Travel Report 2022 ที่ระบุว่า นักเดินทางทั่วโลกกว่า 61% วางแผนการเดินทางที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และอีก 81% ต้องการพักในโรงแรมที่มีการจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืน อีกทั้งนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อการเดินทางและกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือช่วยสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน

ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทศ (ททท.) ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ได้แถลงแผนเพื่อการสื่อสารทิศทางและแนวทางการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวประจำปี  66 โดยมุ่งเดินหน้าสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ เน็ต ซีโร่” พลิกโฉมการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน และสร้างคุณค่าการเดินทางสู่ High Value & Sustainable Tourism สอดรับกับ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างขยะลง 2% ต่อปี เพิ่มจำนวนแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจบริการรับมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล 30% ภายในปี 70 

วิสัยทัศน์ของ  ททท. ในปี 66  นอกจากเน้นส่งเสริมท่องเที่ยวในมิติเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สร้างสินค้าท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม เน้นประสบการณ์มากกว่าขายแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป หรือ “Meaningful Travel” ซึ่งเป็นอีกเทรนด์สำคัญที่นักท่องเที่ยวกำลังได้รับความนิยม รวมถึง “Responsible Tourism” หรือ “การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ” เน้นเสนอขายสินค้าการท่องเที่ยวด้วยแนวคิด Responsible Tourism, BCG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งยังจะทำงานกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ในการสนับสนุนการสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายการผลักดันการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวที่เป็นนิวแชปเตอร์

รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ในฐานะผู้รับผิดชอบการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ บอกว่า ททท. เตรียมเปิดตัวโครงการ “โลคาร์บอน เดสทิเนชั่น 5 ภูมิภาค” เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและเทรนด์การท่องเที่ยวโลกที่เปลี่ยนไป โดยภาคตะวันออกจะนำร่องในพื้นที่เกาะหมาก จังหวัดตราด ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก จากการรักษาความสะอาด สะดวก และปลอดภัย ตามแนวทางการท่องเที่ยวยังยืนที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่ ททท. เพิ่งได้รับมอบพื้นที่จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เพื่อไปทำการตลาดเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้ไปสัมผัสธรรมชาติ ใช้ชีวิตแบบสโลไลฟ์ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมเรียนรู้วิถีชุมชนอย่างเข้าใจ นอกจากนั้นพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย  ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา  แต่เป้าหมายหลักจะเน้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนเมืองรองเป็นหลัก

ขณะที่มุมผู้ประกอบธุรกิจพักค้างแรมโดย นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย เล่าว่า  ผู้ประกอบการโรงแรมได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว ขณะเดียวกันได้มีการจัดคอร์สอบรมให้กับโรงแรมเพื่อให้ตระหนักและปรับเปลี่ยนวัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลดขยะส่วนเกินจากอาหาร โดยเฉพาะในงานมีตติ้งที่จะต้องจัดเป็นบุฟเฟต์ เปลี่ยนก็พยายามทำความเข้าใจกับลูกค้าเพื่อเปลี่ยนจัดในรูปแบบเซ็ตเดี่ยวแทน

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า เทรนด์การท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปและการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติ โดยจะเลือกจัดงานกับโรงแรมที่มีการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ วัสดุในการจัดงานที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก  อย่างไรก็ตามโลเคชั่นเป็นสิ่งแรกที่นักท่องเที่ยวยุโรปจะตัดสินใจเลือกจองโรงแรม ส่วนการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นสิ่งที่รองลงมา แต่หากมีสองสิ่งพร้อมกันก็จะช่วยให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเลือกมากขึ้น นอกจากนั้นใน Booking.com มีระบุบนเว็บไซต์ชัดเจนว่าโรงแรมไหนบ้างที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในประกอบการตัดสินใจเลือกห้องพักก่อนออกเดินทางอย่างรับผิดชอบนั่นเอง

ดังนั้นทุกภาคส่วนถือว่ามีหน้าที่ผลักดันรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพื่อลดผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม สร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน พร้อมการรักษาทรัพยากรให้มีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป

อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้น แต่มีการเริ่มพูดถึงแนวคิดนี้มาเป็นเวลากว่า 5-6 ปีแล้ว แต่ช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ผู้คนหลีกเลี่ยงการเดินทาง และในทางกลับกันแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติได้มีเวลาพักหายใจ ฟื้นสภาพกลับมาสวยงามอีกครั้ง สะท้อนว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญธรรมชาติมากเท่าที่ควร จึงทำให้แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบกลับมาเป็นเทรนด์อีกครั้ง  ซึ่งต้องรอดูว่าหลังจากนี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะสามารถผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากเพียงใด เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ และปัญหาท่ียังค้างฟ้าอย่างปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของไทยโดยเฉพาะคนกรุงในเวลานี้จะลดลงหรือเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ สิ่งนี้จะเป็นอีกตัวชี้วัดว่ารัฐทำได้จริงหรือไม่ ไม่ใช่แค่ตัวเลขตัวคาร์บอนที่ไม่สามารถจับต้องมองเห็นรูปธรรม

Content Creator