fbpx

ในโลกแห่งความเท่าเทียม Pop Culture และซูเปอร์ฮีโร่ จริงมั้ยที่อะไรๆ ก็ยัดเยียด LGBTQ+

ต้องนับว่าเป็นเดือน Pride ที่ร้อนแรง ทั้งอากาศและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิเพศหลากหลายในไทย เพราะนอกจากจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองเผื่อผลักดันประเด็นทางเพศไปตลอดทั้งเดือนแล้ว ในด้านการเมือง ก็อยู่ในช่วงเดียวกับการโหวตรับหรือไม่รับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในสภาพอดี บรรยากาศรอบๆ ตัวตอนนี้ จึงเต็มไปด้วยประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องสถานะที่แท้จริงของชาวเพศหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคม

ซึ่งก็ไม่เพียงแค่ในสังคมไทยเสียด้วย พอขยายไปสู่กระแสโลก ก็เกิดการผลิตคอนเทนต์ที่โอบรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ เพศ ความเชื่อมากมาย ภาพยนตร์จากฟากฝั่งฮอลีวู้ดเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ และไม่แคร์ว่าจะถูกแบนในประเทศไหนๆ เพียงเพราะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ LGBTQ เสียด้วย กลายเป็นอะไรๆ ก็ดูเหมือนจะต้องโอบรับ ต้องหลากหลายไปเสียหมด

คำถามคือ มันยัดเยียดไปไหม หรือว่าต่อจากนี้ Pop Culture ในโลกสมัยใหม่ จะต้องโอบรับเข้าไว้เป็นพอ

แล้วอะไรคือยัดเยียด อะไรคือสนับสนุน มันเหมือนหรือต่างกันอย่างไรแล้วซิ

การเรียกร้องเป็นค่ากลาง

ในรายละเอียดของแต่ละประเทศ มีการเรียกร้องในด้านความหลากหลายทางเพศที่แตกต่างกันออกไป บางประเทศกฎหมายในระดับความเท่าเทียมยังไม่ผ่าน การรณรงค์เพื่อการแก้กฎหมายจึงเป็นลำดับสำคัญที่มาก่อน แต่ในประเทศที่กฎหมายแก้แล้ว จึงเหลือแค่การลดอคติทางสังคมให้หมดไปเท่านั้น แต่แน่นอนว่าการลดความเกลียดกลัว หรือกดเพศที่สามให้เป็นรองนั้น เป็นแนวคิดอุดมคติ ฉะนั้นก็เลยต้องมีการจัดการรณรงค์ไปเรื่อยๆ ตลอดไป เป็นการวิ่งมาราธอนในเรื่องเพศก็ว่าได้

ดังนั้นในสื่อที่อยู่ในตลาดโลกเสรี ที่ไม่ได้เกี่ยวพันกันในเชิงกฎหมายของประเทศไหนๆ การเลือกค่ากลางด้วยการส่งเสริมคอนเทนต์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งเชื้อชาติและเพศ จึงเป็นเหมือน Soft Power ที่จะผลักดันเรื่องนี้ได้แบบละมุนละม่อมที่สุด ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ยิ่งเป็นการสร้างภาพจำให้กับคนใน Generation ต่อๆ ไป สื่อที่จะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ เด็ก ก็จะยิ่งสร้างการลดอคติลงให้มากที่สุด และส่งเสริมความหลากหลายให้ได้ไกลที่สุด เพื่อส่งผลต่อไปในระยะยาว

แน่นอนว่า การพยายามสร้าง Soft Power ที่สนับสนุนความหลากหลายเป็นค่ากลาง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีในบางประเทศ บางครั้งค่ากลางนี้ ถูกรวมให้เป็นแนวคิดของตะวันตก แนวคิดของเสรีชนในประเทศที่ค่านิยมเชิดชูการเมืองแบบอัตลักษณ์ ซึ่งมันจะไปขัดกับจารีต และค่านิยมเดิมของหลายประเทศที่มองว่า ควรจะรักษาขนบเดิมของประเทศตัวเองไว้ จึงอาจจะมีตัวคัดกรอง Soft Power ตัวนี้ออกไปจากพื้นที่สื่อของตัวเองในหลายระดับ ทั้งการจำกัดพื้นที่ การขอให้ตัดส่วนของเนื้อหาออกไป หรือหนักสุดคือการไม่ให้เผยแพร่เลย

ดังนั้น หากมองในมุมของประเทศที่ยึดค่านิยมเดิมเอาไว้อย่างเข้มข้น ในยุคสมัยนี้ที่มีการเปิดกว้างมากขึ้น และเผยแพร่ไปพร้อมกันทั่วโลกแบบเชื่อมต่อถึงกันได้ว่องไวด้วยเทคโนโลยีด้วยแล้ว ก็ต้องนับว่าเป็นกระแสการยอมรับความหลากหลาย ก็จะกลายเป็นยัดเยียดได้ทันที

Loki – Thor

Woke ในสื่อ ยัดเยียด หรือ โอบรับไม่พอ

หลายครั้งการแทนที่ความหลากหลายทางเพศ หรือเชื้อชาติเข้าไปในพื้นที่เดิมของคอนเทนต์ที่เป็น Soft Power และเคยคราคร่ำไปด้วยค่านิยมเก่า เลยถูกมองว่าเป็นการพยายามยัดเยียดโดยไม่สนบริบทเดิม ดังที่ปรากฎในการแทนที่ตัวละครเก่าๆ ที่เป็นตำนานในหน้าสื่อภาพยนตร์ให้เกิดภาพจำใหม่ ดังเช่นการ เปลี่ยนนางฟ้าใน Pinnocio ให้เป็นชาวผิวสี หรือมีซุปเปอร์ฮีโร่ที่ประกาศตัวเป็นเลสเบี้ยนอย่าง Miss America ก็ตาม แต่คำถามคือ สิ่งเหล่านี้จะนับเป็นการยัดเยียดได้จริงหรือไม่ 

เพราะจริงๆ แล้วพื้นที่ของคอนเทนต์ก่อนหน้านี้ จะพูดว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชายผิวขาว ที่ครอบครองพื้นที่สื่อและทรัพยากรไปทั้งหมด ก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะในสื่อคอนเทนต์หลายๆ อย่าง ก็มีการเพิ่มเติมตัวละครผิวสีหรือเพศที่แตกต่างมาก่อนอยู่แล้ว เพียงแต่ถูกทำให้เข้าใจไปเองว่ามันเป็นพื้นที่ของเพศใดเพศหนึ่งเพียงเท่านั้น เช่นในจักรวาลฮีโร่อย่าง Marvel ที่ฉบับ Comic ก็มีทั้งตัวละครที่หลากหลาย เพศที่หลากหลาย รวมถึงคำแถลงการณ์ของ Stan Lee ที่ให้ไว้เมื่อปี 2019 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ว่าพื้นที่ของ Marvel นั้นเป็นพื้นที่สนับสนุนความหลากหลายมาแต่แรกแล้ว

แต่กระนั้นในบางพื้นที่ ก็อาจจะอยู่ในลักษณะตรงกันข้าม เช่น ใน Disney ที่ก่อนหน้านี้การมีอยู่ของเจ้าหญิงนั้น ยังคงวนเวียนอยู่กับผู้หญิงผิวขาวผมบลอนด์เพียงเท่านั้นในอดีต ก่อนที่จะมีการเพิ่มความหลากหลายเข้ามาในช่วงปลายปี 80 และเพิ่มเติมสีผิวและเชื้อชาติรวมถึงเพศที่หลากหลายมากขึ้นในฉบับคนแสดง ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระความผิดของคนขาว หรือเรียกกันว่า White Washing แต่หากมองในแว่นว่าพื้นที่ของ Disney นั้น มีเด็กและเยาวชนเข้าถึงมากกว่าคอนเทนต์ของสื่ออื่นๆ

ดังนั้นการสร้างภาพจำเพื่อให้เกิดการตอบคำถามใหม่ว่า “แม่คะ หนูเป็นคนดำ หนูจะเป็นนางฟ้าได้ไหม” 

หรือในพื้นที่เรื่องราวที่เป็น Saga อื่นๆ อย่าง Lords of the Rings ที่ว่ากันว่าเป็นพื้นที่ของคนขาวเพียงเท่านั้น เพราะตลอดเรื่อง เราไม่พบตัวละครผิวสีเลย เอลฟ์ผู้สูงศักดิ์จะเป็นผิวสีได้หรือไม่ หรือแม้แต่เป็นไปได้ไหมที่อัศวินเดไดหรือซิธ ของ Star Wars จะเป็นผู้หญิงบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าการนำคอนเทนต์ในตำนานกลับมาต่อขยายเรื่องราวหรือรีเมคใหม่นั้น การพยายามต่อยอดเรื่องราวที่จบสมบูรณ์ไปแล้ว อาจจะกลายเป็นการแถไปอยู่มาก ยิ่งเติมตัวละครความหลากหลายเข้ามาอีก บ้างก็บอกว่า ทุกอย่างจะดูเละเทะไปหรือไม่

จึงทำให้หลายๆ คนที่เป็นแฟนเดนตายของสื่อหรือคอนเทนต์ที่เป็นตำนาน เมื่อรู้สึกว่าการกลับมานั้นควรจะยิ่งใหญ่ เอาใจแฟนๆ แต่กลายเป็นผสมปนเปในสิ่งที่แฟนๆ นั้นไม่เข้าใจ และมองว่าความหลากหลายที่ถูกเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ จะกลายเป็นเรื่องยัดเยียดไปเสียหมด

Lord of The Rings

ปัญหาที่ถูกกลบด้วยการ Value ที่ฉาบฉวย

แม้ในด้านของสื่อ จะสามารถให้คำตอบได้ว่า การที่พยายามใส่ความหลากหลายเข้ามานั้น คือการพยายามสร้างภาพจำใหม่ แต่มันก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงในด้านอุตสาหกรรมการทำงานที่เกี่ยวข้องที่แท้จริงว่ามีการยอมรับความหลากหลายเกิดขึ้นจริงมากน้อยแค่ไหน ในขณะที่โลกออนไลน์ สื่อ Pop Culture พยายามขยายพื้นที่การโอบรับออกไป แต่ปัญหาที่แท้จริง อาจจะกำลังถูกเพิกเฉย

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ การพยายามฉกฉวยเอาภาพจำที่ง่ายที่สุดอย่างการสร้าง Pop Culture ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทนของการโอบรับทางเพศ และสร้างสิ่งที่เป็นมาตรฐานใหม่ของสังคมผ่านสื่อที่เดินด้วยอัลกอริทึ่ม แต่ทว่าเรื่องราวที่เลือกมานำเสนอ กลับวกไปหาเนื้อหาเดิมๆ ที่จบแล้วไม่จบจริง วนเอาสิ่งเดิมๆ กลับมาเล่าใหม่ เพียงแต่เลือกเปลี่ยนหน้าฉากให้โอบรับมากขึ้นเฉยๆ เนื้อหากลับไม่ได้ส่งเสริมอะไรทั้งสิ้น

และเมื่อเนื้อหาไม่แข็งแรงพอที่จะนำเสนอ กระแสต่อต้านที่เกิดขึ้น ก็โทษให้เป็นการโอบรับความหลากหลายที่เหมือนเป็นแพะรับบาปนี้ไป ถ้ารีบไม่โอบรับความหลากหลายเข้ามา เนื้อเรื่องที่เป็นตำนาน คงไม่เละเทะแบบนี้

สิ่งที่เป็นปัญหาลึกๆ จริงๆ คือ เมื่อคอนเทนต์เหล่านั้น ถูกแพร่ไปในระดับโลก พลวัตทางอำนาจของแต่ละสังคมมันไม่เท่ากัน ในบางประเทศที่อาจจะไม่ได้กีดกัน แต่ก็ไม่ได้ยอมรับ เมื่อรับเอา Pop Culure ที่โอบรับความหลากหลายเข้ามา ความชอบธรรมอย่างน้อยสองฐานจึงตีกัน คือความชอบธรรมของการคงอยู่ของคอนเทนต์ดั้งเดิมตามต้นฉบับ กับความชอบธรรมของการสร้างภาพจำใหม่

และเมื่อฐานแฟนในแต่ละท้องที่ถือขั้วอำนาจที่สนับสนุนตัวเองไม่เท่ากัน คอนเทนต์ที่โอบรับความหลากหลาย ก็ได้รับการต้อนรับจากแฟนๆในระดับที่ไม่เท่ากัน ซึ่งในขณะที่ในโซเชี่ยลซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ พยายามถกเถียงกันว่า การที่ฮีโร่เป็นเกย์ เป็นการยัดเยียดเกินไปไหม ในท้องที่เดียวกัน เกย์จริงๆ กลับไม่อาจสมัครเป็นตำรวจ ทหาร หรือได้รับการยอมรับจากที่ทำงานมากพอจะได้เป็นฮีโร่ 

การไม่ต้อนรับในคอนเทนต์ บวกกับการไม่ต้อนรับในพื้นที่โลกจริง ก็จะทำงานแบบคูณสองมากขึ้นไปอีก ในขณะที่คอนเทนต์เหล่านั้น แทบไม่ได้ลงลึกมาพูดถึงปัญหาที่แท้จริง ได้แต่กอบโกย Fan Reputation และก็จมหายไป

America Chavez – Doctor Strange in the Multiverse of Madness

เท่าไหร่ที่การยอมรับถึงจะเพียงพอ

การยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงภาพจำของคอนเทนต์ อาจจะมองเป็นเรื่องเดียวกันหรือแยกกันก็ได้ ในเชิงของการทำคอนเทนต์ ถ้ามีการยอมรับเพิ่มเติม ใส่ความหลากหลายเข้ามาด้วย ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกเรื่องจำเป็นต้องทำเหมือนกันหมด จะมีหรือไม่มี ก็ไม่อาจจะส่งผลถึงขนาดทำให้บางประเทศแก้กฎหมาย หรือลดอคติทางสังคมได้ หากไม่ได้รับพื้นที่ในการฉาย

ฉะนั้นประเด็นจึงอยู่ที่กระบวนการ การได้มาซึ่งความหลากหลาย การสอดแทรกเข้าไปอยู่ในกระบวนการคิด ทัศนคติของบุคคลในอุตสาหกรรม ที่ต้องมีพื้นฐานอยู่บนการยอมรับความหลากหลายมาแต่แรก ไม่เช่นนั้น การทำงานแต่เพียงการ Value ที่ฉาบฉวย มันก็ปรากฎอยู่บนเนื้องานอีกอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม การพูดเพียงแต่ว่า เราไม่เหยียด เรามีตัวละครที่โอบรับความหลากหลายแล้ว ก็ไม่ได้หมายว่าในระดับโครงสร้า ปัญหานี้จะหมดไปจริงๆ ดังนั้นการพูดในประเด็นเรื่องความหลากหลาย อาจจะต้องใช้อะไรที่มากกว่าการเปลี่ยนตัวละคร หรือพื้นที่สื่อให้เป็นความหลากหลาย

ในทางกลับกัน สำหรับพื้นที่เดิม อาจจะต้องดูว่าเราได้เปิดพื้นที่ให้ความหลากหลายอย่างแท้จริงหรือเปล่า หรือคอนเทนต์ในแบบเก่า ยังเต็มไปด้วยทัศนคติที่ไม่เปิดกว้างอยู่หรือไม่ การหยิบเอาคอนเทนต์เก่ามาทำใหม่ หยิบตัวละครชายที่ควรจะตายไปแล้ว ให้กลับมาใหม่ พูดได้ว่าเป็นการเอาใจแฟน ตำนานได้กลับมาแล้ว แต่หากมีการเพิ่มตัวละครเพศ สีผิว ความเชื่อที่หลากหลายเข้ามาบ้าง กลับบอกว่าเป็นการยัดเยียดเฉยเลย

ขอบเขตของการเรียกร้องการลดอคติและการยอมรับทางสังคม มันไม่เคยมีเพดาน เพราะเสรีภาพ คือการที่เราเชื่อว่าเราจะเป็นในสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะเป็นได้

เราจะมองว่าเป็นการยัดเยียดก็ต่อเมื่อ เราไม่ใช่คนที่ถูกกีดกันออกไปนั่นเอง

Northstar & Kyle : X-MEN

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า