fbpx

Steven Spielberg พ่อมดฮอลลีวูด ที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

สำหรับคอหนัง เราต่างเคยได้เห็นชื่อผู้กำกับฝีมือดีในโลกภาพยนตร์มานับไม่ถ้วน แน่นอนว่าแต่ละคน มียุคสมัยหรือยุคทองของตัวเองที่แตกต่างกันไป และในเวลาที่ผันผ่านไปก็จะมีผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ฝีมือดีเข้ามาทดแทน

ภาพยนตร์ในแต่ละยุคสมัย มีการเดินทางและพัฒนาไปตามเทรนด์หรือรสนิยมคนดูตลอดเวลา เราต่างได้เห็นผู้กำกับลายครามที่ค่อย ๆ หายไปตามกาลเวลาเพราะวิธีการเล่าเรื่องและรสนิยมของผู้กำกับคนนั้นได้ล้าสมัยไปแล้ว ดังที่เราได้เห็นผู้กำกับอย่าง ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า, โอลิเวอร์ สโตน หรือ ร็อบ ไรเนอร์ ที่ดูจะไม่อาจปรับตัวเข้ากับยุคสมัยของภาพยนตร์ที่ผันเปลี่ยนไป และฝากไว้เพียงงานในตำนานให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ หากแต่ยังมีผู้กำกับรุ่นเก๋าอีกพวกหนึ่งที่ยังคงปรับตัว เรียนรู้ และคงสถานะผู้กำกับเอลิสต์ได้อย่างมั่นคง ได้แก่ คลินต์ อีสต์วูด, มาร์ติน สกอร์เซซี และ สตีเวน สปีลเบิร์ก

นับเป็นเวลาถึง 46 ปีเข้าไปแล้ว นับตั้งแต่สร้างปรากฏการณ์สะเทือนโลกด้วยหนังฉลามบุกอันลือลั่น สปีลเบิร์กในวัย 75 ปี ยังคงสถานะผู้กำกับเบอร์ใหญ่ที่ยังคงปรับตัวตามยุคสมัย ไม่หยุดเรียนรู้ และร่ายมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวผ่านแผ่นฟิล์มอย่างเต็มภาคภูมิ

พ่อมดฮอลลีวูด ฉายานี้มีที่มาอย่างไรกัน และสปีลเบิร์กกลายเป็นผู้กำกับเจ้าของสมญานามนี้ได้อย่างไร ก็คงต้องย้อนกลับไปดูที่จุดเริ่มต้น

เด็กชายผู้โดดเดี่ยวที่มีเพื่อนเป็นกล้องวิดีโอ และหลงใหลดวงดาวบนฟ้า

สตีเวน อัลลัน สปีลเบิร์ก เกิดวันที่ 18 ธันวาคม 1946 เขาคือเด็กชายที่เกิดในครอบครัวยิวนิกายออร์โธด็อกซ์ ซึ่งถือว่าเป็นยิวที่เคร่งครัดพอสมควร จากเหตุนั้นเองทำให้เด็กชายสตีเวนกลายเป็นเด็กมีปมจากความโดดเดี่ยว ด้วยความที่งานของผู้เป็นพ่อทำให้เขาต้องย้ายบ้านบ่อยครั้ง และด้วยสถานะความเป็นชาวยิวเคร่งครัด ทำให้สปีลเบิร์กถูกกลั่นแกล้งและรังแกถึงขั้นเลือดตกยางออกจากเด็กแถวบ้านอยู่หลายครั้ง

วัยเด็กของสปีลเบิร์กจึงไม่น่าอภิรมย์นักเมื่อย้อนกลับไปนึกถึง แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นเหตุการณ์ประทับใจที่เป็นหนึ่งจุดเปลี่ยนของเด็กชายให้ความหลงใหลกับบางสิ่ง ในคืนหนึ่ง พ่อของสตีเวนได้ปลุกเขาขึ้นมากลางดึก พาขึ้นรถและขับออกไปไหนก็ไม่รู้ สตีเวนได้แต่ตื่นกลัวเพราะพ่อไม่บอกอะไรเลย แต่ทันทีที่ถึงที่หมาย เขาเห็นผู้คนมากมายนอนลงกับพื้นและมองบนฟ้า เขานั่งมองบนฟ้ากับพ่อ และเขาก็เห็นดาวตกเป็นครั้งแรกในชีวิต และมันกลายเป็นความหลงใหลส่วนตัวถึง ‘บางสิ่ง’ที่อยู่บนฟ้านั่น

‘มันช่างปลอบประโลมใจได้ดีเหลือเกิน นับจากช่วงเวลานั้น ผมไม่เคยมองไปที่ท้องฟ้าและคิดว่ามันเป็นสถานที่ที่เลวร้ายอะไรเลย’

ความโดดเดี่ยวและไม่มีเพื่อน ทำให้เด็กชายสตีเวนต้องหาอะไรทำ จะไปมุ่งเรื่องเรียนก็ไม่เก่ง หรือเอาดีด้านกีฬาก็ไม่ถนัด เขาจึงเลือกใช้เวลาว่างไปกับการถ่ายทอดจินตนาการผ่านกล้อง 8 มม. ของพ่อ เริ่มแรกก็นำมาถ่ายชุดรถไฟของเล่นในวัย 12 ขวบ และต่อมาก็ใช้กล้องไปถ่ายหนังสั้น เพื่อแลกกับตราลูกเสือที่โรงเรียน

พออายุได้เพียง 16 ปี สตีเวนก็เริ่มเล่นใหญ่ขึ้นด้วยการตัดสินใจถ่ายหนังไซไฟ – ระทึกขวัญ ความยาว 140 นาที ที่ชื่อว่า Firelight (1964) ด้วยทุนสร้างจากพ่อราว ๆ 500 เหรียญ และสามารถคืนทุนได้เสียด้วย เมื่อเขาได้นำเข้าไปฉายในโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นแห่งหนึ่ง

ในเมื่อชีวิตของสปีลเบิร์กมันชัดเจนในความชอบและหลงใหลในภาพยนตร์ถึงเพียงนี้ เขาจึงวางแผนชีวิตในการศึกษาต่อที่ California State University, Long Beach และสปีลเบิร์กก็ทำแสบโดยเขาตัดสินใจมุ่งไปทำงานจริงเลย โดยจัดแจ้งลงวิชาเรียนแค่สองวันต่อสัปดาห์ ส่วนเวลาที่เหลือก็ไปฝึกงานที่สตูดิโอ Universal แบบไม่รับค่าจ้าง เพื่อหวังการเรียนรู้แบบครูพักลักจำ สร้างคอนเนคชั่น และเผื่อว่าจะมีโอกาสที่สามารถสร้างความประทับใจต่อผู้บริหารของสตูดิโอให้มองเห็นเขาได้

จนกระทั่งสปีลเบิร์กได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Amblin (1968) หนังสั้นความยาว 26 นาที ที่คราวนี้ความโดดเด่นของหนัง มันไปเตะตาผู้บริหารสตูดิโอคนหนึ่งเข้าอย่างจัง ซิดนีย์ ไชน์เบิร์ก รองประธานสตูดิโอ จึงกลายเป็นคนแรกที่เห็นพรสวรรค์ของสปีลเบิร์ก และจับสปีลเบิร์กเซ็นสัญญาเป็นผู้กำกับของสตูดิโอ ทำให้สปีลเบิร์กกลายเป็นผู้กำกับที่อายุน้อยที่สุดที่ได้เซ็นสัญญาระยะยาว (7 ปี) กับสตูดิโอขนาดใหญ่

ภาพโดย Sanook.com

ด้วยความที่อายุยังน้อย ในช่วงแรกสปีลเบิร์กจึงยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากทีมงานเท่าไหร่ ด้วยคำครหาที่ทีมงานคิดว่าสปีลเบิร์กคือเด็กเส้นของไชน์เบิร์กที่ไม่ได้เก่งจริง แต่ในเวลาต่อมา ภาพยนตร์เรื่องแรกที่สปีลเบิร์กประกาศศักดาคือหนังทีวีระทึกขวัญอย่าง Duel (1971) ที่ได้คำชมไปมากโข แถมยังเข้าชิงลูกโลกทองคำสาขาหนังทีวียอดเยี่ยมอีกด้วย จนเป็นใบเบิกทางให้เขาได้กำกับหนังใหญ่ฉายโรงเรื่องแรก ก็คือ The Sugarland Express (1974) ที่ได้คำชมไปพอสมควร

นำมาซึ่งหนังพลิกชีวิตและเปลี่ยนโฉมหน้าของฮอลลีวูดไปโดยสิ้นเชิง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า ‘หนังบล็อกบัสเตอร์’ และเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวของผู้กำกับที่ชื่อสตีเวน สปีลเบิร์ก ที่ชื่อนี้จะกลายเป็นชื่อที่โด่งดังไปทั่วโลกเพียงชั่วข้ามคืน

หนังเรื่องนั้นชื่อว่า Jaws (1975)

หนังฉลามพลิกชีวิตสู่ผู้กำกับเอลิสต์

เอาเข้าจริงแผนการสร้างหนังอย่าง Jaws ไม่ได้เป็นแผนแรกของสปีลเบิร์กในตอนนั้น หากแต่ดูเป็นงานคั่นเวลาเท่านั้น เพราะหนังที่เขาอยากสร้างจริง ๆ คือหนังมนุษย์ต่างดาวเรื่องหนึ่ง แต่ติดปัญหาตรงที่ขั้นตอนการเขียนบทยังไม่ลงตัว (ที่ในภายหลังแฟนหนังสปีลเบิร์กรู้กันดีว่ามันคือหนังอย่าง Close Encounters of the Third Kind (1977)) สปีลเบิร์กจึงตัดสินใจหยิบนิยายขายดีเรื่องหนึ่งที่วางอยู่ในออฟฟิศของสตูดิโอที่เขาหยิบมาอ่านเล่น มาดัดแปลงให้เป็นหนัง นิยายเรื่องนั้นคือ Jaws ของ ปีเตอร์ เบนซ์ลีย์

แม้จะเป็นนิยายขายดี แต่นี่ไม่ใช่นิยายที่มีเรื่องราวที่เหมาะกับการสร้างหนังนัก ด้วยเรื่องราวที่ไม่ได้มีแกนหลัก แต่เน้นฉากฉลามไล่กินคนเป็นหลักเสียมากกว่า สปีลเบิร์กจึงต้องใช้มนต์ในการสร้างเรื่องราวเพิ่มเติม และเลือกหยิบเฉพาะไอเดียอย่างฉลามกินคน มาวางเป็นแกนหลักของหนังแทน แล้วใส่เรื่องราวตัวละครอื่น ๆ เสริมเข้าไป

เรื่องเล่าคลาสสิกตลอดกาลของวงการฮอลลีวูด คือปัญหาด้านการถ่ายทำอันเป็นตำนาน ซึ่งเรื่องเล่าของการถ่ายทำภาพยนตร์ฉลามบุกเรื่องนี้ ก็เป็นหนึ่งในตำนานของการถ่ายทำที่เต็มไปด้วยปัญหาร้อยแปดพันเก้า

ไล่ตั้งแต่สปีลเบิร์กเลือกที่จะถ่ายทำหนังในสถานที่จริงทั้งหมด ซึ่งก็คือทะเลจริงทั้งเรื่อง แทนที่จะเลือกถ่ายทำในแทงค์น้ำยักษ์ในสตูดิโอเพื่อการควบคุมองค์ประกอบแวดล้อมได้ง่ายกว่า ดังนั้นเราจึงเห็นภาพทีมงานกว่า 200 ชีวิต อยู่ที่เกาะ Martha’s Vineyard อันเป็นโลเคชั่นหลักของหนัง ก็ปรากฏปัญหามากมาย ตั้งแต่เรือใบของนักท่องเที่ยวในฤดูร้อนที่เข้าเฟรมภาพขณะถ่ายทำ ปัญหาเรื่องคลื่นน้ำธรรมชาติที่เดี๋ยวแรงเดี๋ยวเบาจนพัดพาเรือของทีมงานและจุดที่บล็อกกิ้งไว้ผิดเพี้ยนไป

และที่สำคัญคือปัญหาของหุ่นฉลามที่ต้องนำมาเข้าฉาก ที่ก็ระเบิดเป็นชิ้น ๆ และจมลงก้นทะเลต่อหน้าต่อตาทีมงานตั้งแต่วันแรกที่นำมาใช้งาน! เรื่องราวชวนปวดหัวของหนังเรื่องนี้ได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญของฮอลลีวูดหลังจากนี้ไปโดยปริยาย ว่าหากจะถ่ายหนังที่มีโลเคชั่นหลักเป็นน้ำหรือทะเล อย่าได้คิดถ่ายทำในสถานที่จริงเป็นอันขาด!

อาจเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เมื่อสปีลเบิร์กตัดสินใจแก้ปัญหาเรื่องฉลามด้วยการใช้วิธีการเล่าเรื่อง การตัดต่อและมุมกล้องแทน กล่าวคือ แทนที่เราจะได้เห็นฉลามทั้งตัว สปีลเบิร์กใช้กลวิธีใช้มุมกล้องแทนสายตาฉลามที่พุ่งเข้าหาตัวละครแทน โดยเผยให้เห็นแค่ครีบ หรือบางส่วนของฉลามเท่านั้น และใช้จังหวะการตัดต่ออันยอดเยี่ยมในการสร้างความตื่นกลัว และดนตรีประกอบของ จอห์น วิลเลียม ที่ทุกวันนี้ดังขึ้นมา ภาพของฉลามยังตราตรึงในหัว

เพราะหากดูดี ๆ ทั้งที่เป็นหนังฉลาม แต่เราได้เห็นฉลามแบบเต็ม ๆ ตาน้อยมาก ๆ กว่าจะได้เห็นนั่นคือเข้าช่วงท้ายเรื่องเข้าไปแล้ว หากแต่ฉากก่อนหน้านี้สปีลเบิร์กได้ใช้กลวิธีทางภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่ทำให้คนดูกลัวจับใจไปเรียบร้อย ทั้งที่ไม่เห็นมันด้วยตา แต่จินตนาการในหัวคนดูนั้นถูกสปีลเบิร์กร่ายมนต์สะกดนำพาต่อมความกลัวไปถึงไหนต่อไหนแล้วก็ไม่รู้

ภาพโดย Mental Floss

ไม่รู้เหมือนกันว่าหากการถ่ายทำไม่ได้มีปัญหา สปีลเบิร์กจะใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้หรือไม่ แต่อย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือสปีลเบิร์กได้แก้ปัญหาด้วยการงัดกลวิธีการด้านภาพยนตร์แบบฉบับของตัวเองออกมา และผลลัพธ์มันออกมายอดเยี่ยมกว่าที่คิดไปมาก

ความสำเร็จของหนังนับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่พลิกโฉมฮอลลีวูด หนังเรื่องนี้เกิดกระแสให้ผู้ชมไม่กล้าลงทะเลไปพักใหญ่เพราะกลัวฉลามจับใจ นอกจากนั้นการที่ตัวหนังทำรายได้ถล่มทลายระดับ 260 ล้านเหรียญในอเมริกา (ซึ่งก็คือหนังที่ทำรายได้ในประเทศสูงที่สุดแล้วในเวลานั้น) ได้กำเนิดศัพท์อย่างหนังบล็อกบัสเตอร์ ที่กล่าวได้ว่าเป็นหนัง High Concept หนังฟอร์มใหญ่ เป็นต้น และเปลี่ยนให้ช่วงซัมเมอร์กลายเป็นช่วงของหนังฟอร์มใหญ่ไปโดยปริยาย ทั้งที่ก่อนการมาของ Jaws ช่วงเวลาซัมเมอร์ต่างเป็นช่วงเวลาที่รู้กันดีว่าเป็นช่วงของหนังเกรดบีที่ค่ายหนังไม่ค่อยมั่นใจในคุณภาพของมันสักเท่าไหร่นัก 

นอกจากนั้นคำว่ากลวิธีการฉายแบบปูพรม คือฉายพร้อมกันทั่วประเทศ 4000 โรง ก็เริ่มจากภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวนำ เพราะก่อนหน้านี้ การเข้าฉายของหนังฟอร์มใหญ่จะไม่ได้เป็นการฉายพร้อมกันหมด แต่จะเข้าโรงใหญ่ของแต่ละเมืองก่อน แล้วค่อย ๆ กระจายไปตามโรงหนังขนาดกลาง ๆ แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปจากความสำเร็จของหนังฉลามอย่าง Jaws

และแน่นอนว่าชื่อของ สตีเวน สปีลเบิร์ก กลายเป็นชื่อที่บรรดาคอหนังทั่วโลกจำได้ขึ้นใจนับตั้งแต่นั้น

การทดลองและความกล้าที่จะก้าวผ่านความเป็นเด็ก

หลังจากความสำเร็จของ Jaws สปีลเบิร์กกลายเป็นผู้กำกับที่ไม่ว่าอยากทำอะไรแค่ขอให้บอก เขาเนื้อหอมในระดับที่สามารถทำตามใจตัวเองได้ จากการที่ผลงานต่อมาก็คือการหวนกลับไปทำหนังดราม่า ไซไฟ ที่อยากทำมานานอย่าง Close Encounters of the Third Kind ที่หน้าหนังดูจะขายยาก แต่ด้วยอิทธิพลจากชื่อของสปีลเบิร์กและหน้าหนังที่น่าตื่นตา ก็ยังพาให้หนังดราม่า ไซไฟ เรื่องนี้ทำรายได้ประเทศไปถึง 116 ล้านเหรียญ และสปีลเบิร์กก็ยังคงทดลองอยากทำอะไรที่ยังไม่เคยทำต่อไป ด้วยการไปกำกับหนังสงครามเปี่ยมอารมณ์ขันอย่าง 1941 (1979) แต่คราวนี้เสียงตอบรับไม่ค่อยดีนักทั้งรายได้และเสียงวิจารณ์

นำมาซึ่งงานอีกงานที่ถือเป็นตำนานอีกชิ้นของตัวละครไอคอนของโลกภาพยนตร์อย่าง อินเดียน่า โจนส์ (อินดี้) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากที่ว่าสปีลเบิร์กไปพักผ่อนกับเพื่อนซี้อย่าง จอร์จ ลูคัส (ที่ในเวลานั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงกับ Star Wars (1977) ไปแล้ว) โดยสปีลเบิร์กเล่าให้ลูคัสฟังว่าเขาอยากกำกับหนัง เจมส์ บอนด์ สักเรื่อง แต่ลูคัสกลับเสนอตัวละครหนึ่งที่คิดไว้ในหัวพร้อมบอกให้สปีลเบิร์กสร้างเจมส์ บอนด์แบบของตัวเองดีกว่า

ตัวละครนักโบราณคดีสวมหมวก มีแส่เป็นอาวุธ ภาพในหัวลูคัสถูกถ่ายทอดสู่สปีลเบิร์ก หลังจากได้ยินไอเดียคร่าว ๆ สปีลเบิร์กก็เกิดความสนใจทันที และมันนำมาซึ่งหนังผจญภัยในตำนานอย่าง Raiders of the Lost Ark (1981) หนังเรื่องแรกของตัวละครอินดี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนมีภาคต่อตามมาอีกถึง 3 เรื่อง ได้แก่ Indiana Jones and the Temple of Doom (1984), Indiana Jones and the Last Crusade (1989) และ Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull (2008)

ต่อเนื่องกับการขึ้นสู่จุดสูงสุดอีกครั้งกับงานมนุษย์ต่างดาวที่คนทั่วโลกหลงรักกับงานอย่าง E.T. the Extra-Terrestrial (1982) ที่จัดเป็นหนังที่มีความเป็น ‘ส่วนตัว’ อีกเรื่องของสปีลเบิร์กที่เขานำความหลงใหลในเรื่องมนุษย์ต่างดาวในวัยเด็ก มาผสมกับปมการเล่าเรื่องของเด็กที่ต้องเผชิญกับปัญหาครอบครัวและได้พบมิตรภาพกับมนุษย์ต่างดาว อันเป็นความเหงาและเดียวดายแบบที่สปีลเบิร์กเองรู้สึกในตอนที่เขาเป็นเด็ก ซึ่งความยอดเยี่ยมและความน่าประทับใจของหนัง ก็ทำให้หนังทำรายได้ถล่มทลายกว่า 435 ล้านเหรียญในประเทศ อีกทั้งยังเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยมอีกด้วย

‘สำหรับผม E.T. เป็นทั้งเรื่องราวสำคัญเกี่ยวกับชีวิตวัยเยาว์ของผม
ขณะเดียวกันมันก็เป็นจุดจบความเป็นเด็กของผมด้วย
ความสำเร็จของหนังมอบความกล้าให้กับผม
ในการเริ่มไปจับประเด็นที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น’

ซึ่งก็ไม่ผิดไปจากนั้น เพราะผลงานหลังจากนั้นสปีลเบิร์กได้หันไปจับงานที่เป็นดราม่าของผู้ใหญ่มากขึ้นจริง ๆ ตั้งแต่หนังดราม่าที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของหญิงสาวผิวดำในรัฐทางใต้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ถูกกดขี่ทั้งจิตใจและร่างกายใน The Color Purple (1985) ไปจนถึงการเล่าเรื่องความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่สองผ่านสายตาของเด็กชายคนหนึ่งที่ต้องเผชิญเหตุการณ์อันโหดร้ายที่ความไร้เดียงสาได้ถูกพรากไปในหนังอย่าง Empire of the Sun (1987)

ภาพโดย Showbiz Cheat Sheet

จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงยุค 90 ที่สปีลเบิร์กเริ่มหวนกลับมาทำหนังครอบครัวอย่าง Hook (1991) ที่หยิบเรื่องราวของ ปีเตอร์ แพน มาตีความใหม่ จนมาถึงสองโปรเจกต์สำคัญที่ส่งให้สปีลเบิร์กกลายเป็นสุดยอดผู้กำกับของโลกอย่างเต็มตัว และฉายาพ่อมดฮอลลีวูด ก็มาจากความสำเร็จของสองโปรเจกต์นี้ ที่เข้าฉายในปีเดียวกันนั่นเอง

เรื่องแรกของหนังบล็อกบัสเตอร์ที่ปลุกแฟชั่นสัตว์โลกล้านปีให้กลับมานิยมอีกครั้งอย่าง Jurassic Park (1993) เรื่องที่สองคือหนังดราม่าสุดมืดหม่นที่เล่าเรื่องชีวิตชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สองอย่าง Schindler’s List (1993)

พ่อมดฮอลลีวูด

มันจะมีสักกี่ครั้งกันที่ภายในปีเดียว ผู้กำกับคนหนึ่งจะปล่อยหนังออกมาสองเรื่อง ซึ่งทั้งสองเรื่องนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งในแง่ของภาพลักษณ์หนังและกลุ่มเป้าหมายของมัน เรื่องแรกคือหนังตลาดจ๋าที่อุดมไปด้วยความบันเทิงเต็มรูปแบบ ผ่าน Special Effects สุดตื่นตาตื่นใจ เรื่องหลังคือหนังสีขาวดำดราม่าหนัก ๆ เกี่ยวกับชีวิตอันน่าเวทนาของชาวยิวในค่ายกักกันนาซี ความยาว 195 นาที ที่มีเป้าหมายคือมุ่งตรงส่งเข้าประกวดตามเวทีรางวัลต่าง ๆ อย่างชัดเจน

ซึ่งทั้งสองเรื่องต่างไปถึงจุดหมายปลายทางในเส้นทางของตัวเองอย่างสง่างาม

หนังสัตว์โลกล้านปีอย่าง Jurassic Park กลายเป็นอีกหนึ่งหนังบล็อกบัสเตอร์ในตำนานที่กระแสความฮิตของมันกระจายไปทั่วโลก สร้างให้กระแสไดโนเสาร์ฮิตระเบิด กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของ Pop Culture ของยุค 90 อย่างปฏิเสธไม่ได้ และรายได้ระดับ 357 ล้านเหรียญในประเทศ รวมตลาดต่างประเทศ 912 ล้านเหรียญ สามารถพิสูจน์ถึงความโด่งดังของมันได้ดี

ในเรื่องของตัวหนัง นอกจากคุณภาพที่สปีลเบิร์กนั้นเหมือนกับร่ายมนต์สะกดคนดูด้วยวิธีการอันเฉพาะตัว ที่คล้ายกับเราดูหนัง Jaws แต่เปลี่ยนฉลามเป็นไดโนเสาร์แทน เปลี่ยนฉากหลังจากทะเลให้เป็นธีมปาร์คสัตว์โลกล้านปีที่ไร้ระบบความปลอดภัย หลายครั้งหลายหน สปีลเบิร์กใช้การเล่าเรื่องที่เหมือนง่ายและเบสิก เช่นช็อตภาพแก้วน้ำที่น้ำภายในแก้วสั่นสะเทือนเป็นจังหวะ เพราะบางสิ่งกำลังเข้ามาใกล้ หรือฉากหลบไดโนเสาร์พันธุ์นักล่าอย่าง แร็พเตอร์ ในห้องครัว ทั้งสองฉากนี้ไม่ได้ใช้เทคนิคอะไรเป็นพิเศษ หากแต่เป็นการเลือกกลวิธีการเล่าเรื่อง การกำกับจังหวะอันเด็ดขาดและชาญฉลาด ที่ทำให้คนดูอกสั่นขวัญแขวนพร้อมกับได้รับความบันเทิงสุดขีดกับภารกิจเอาชีวิตรอดคราวนี้ คำว่าร่ายมนต์ในทีนี้ จึงไม่ใช่งานเทคนิคพิเศษตื่นตาตื่นใจเท่านั้น แต่มันคือการงัดวิธีการเล่าเรื่องที่กลับสู่ความเรียบง่ายที่สุด ทว่าได้ผลทางความรู้สึกมากกว่า

นอกจากนั้นงานด้าน Special Effects ของหนังเรื่องนี้ ก็เปรียบเหมือนจุดเริ่มต้นการปฏิวัติงานด้านเทคนิคพิเศษของฮอลลีวูดที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน เพราะช่วงเวลาเกือบ 30 ปีที่แล้ว การสร้างไดโนเสาร์ที่สมจริงให้ปรากฏบนจอได้อย่างยิ่งใหญ่ขนาดนั้น มันคือห้วงเวลาที่คนดูต้องอ้าปากค้างในคราวแรกที่เห็น

สำหรับ Schindler’s List นี่คือหนังที่เป็นส่วนตัวอีกเรื่องของสปีลเบิร์ก ด้วยสายเลือดยิวที่มีอยู่เต็มตัว ทำให้ในคราแรกเขาไม่มั่นใจว่าเขาสามารถกำกับหนังเรื่องนี้ออกมาได้ดี เพราะเขาไม่อาจก้าวข้ามความเจ็บปวดและโหดร้ายของสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนร่วมชาติ (หรืออีกแง่คือเหล่าบรรพบุรุษ) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองได้

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สปีลเบิร์กกลับมองเห็นว่า นี่เป็นโอกาสสำคัญที่สามารถถ่ายทอดประวัติศาสตร์นี้ลงแผ่นฟิล์ม เขาจึงลงแรงอย่างเต็มที่ในแง่ของวิธีการนำเสนอ ตั้งแต่การเลือกใช้ภาพขาว-ดำตลอดทั้งเรื่อง มีการเล่าเรื่องคล้ายสารคดีในช่วงแรกของหนังเพื่อให้เหมือนกับ ‘หนังข่าว’ ในอดีต รวมถึงแอบใส่ฉากที่ดูเหลือเชื่อที่มีความบีบคั้นทางอารมณ์แบบแอบซ่อน ทว่าสะเทือนใจอย่างสูง (คนที่เคยดูคงไม่มีใครลืมฉากเด็กผู้หญิงในชุดแดง) ที่สำคัญคือไม่ประนีประนอมในการถ่ายทอดภาพความโหดร้ายที่คนยิวถูกกระทำ เสมือนว่าคุณค่าชีวิตของชาวยิวในช่วงเวลานั้นมีค่าน้อยยิ่งกว่าผักปลา และสามารถถูกพิพากษาชีวิตให้จบลงข้างทางเพียงเพราะเป็นคนยิวได้เลย

ซึ่งผลลัพธ์คราวนี้ของ Schindler’s List นอกจากมันทำรายได้ในระดับที่โอเคแล้วสำหรับหน้าหนังดราม่าหนัก ๆ แบบนี้ ตัวหนังยังเดินทางไปถึงเวทีออสการ์ โดยมันสามารถคว้ารางวัลใหญ่ได้สำเร็จทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม อันเป็นออสการ์ตัวแรกของสปีลเบิร์กไปโดยปริยาย

ภาพโดย Deseret News

จากความสำเร็จของหนังทั้งสองเรื่องนี้ ที่เข้าฉายปีเดียวกัน เรื่องหนึ่งเป็นหนังบันเทิงที่เป็นแชมป์ทำเงินสูงสุดประจำปี อีกเรื่องคือหนังดราม่าที่คว้าออสการ์รางวัลใหญ่มาได้ครบ

ทั้งสองเรื่องมีผู้กำกับคนเดียวกันคือสตีเวน สปีลเบิร์ก และฉายาพ่อมดฮอลลีวูดก็บังเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้เอง

ก้าวต่อไปกับความท้าทายในห้วงปลายอาชีพ

หลังก้าวสู่จุดสูงสุด สปีลเบิร์กดูสนุกกับการทำหนังหลากหลายแนวที่แตกต่างกันไป เขาอยู่ในสถานะลอยตัวที่สามารถทำตามใจตัวเองได้ แต่เราก็ได้เห็นงานที่ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นตามกาลเวลา ไล่ตั้งแต่การหวนกลับไปทำหนังที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองอีกครั้ง ที่คราวนี้เปลี่ยนมุมมองมาที่ฝั่งทหารอเมริกันใน Saving Private Ryan (1998) ที่ถูกยกย่องให้เป็นหนังสงครามที่ดีที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง โดยมีฉากในตำนานคือฉากเปิดเรื่องที่เป็นฉากยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดีของทหารฝั่งสัมพันธมิตรในวัน D-Day อันลือลั่น ที่สปีลเบิร์กสามารถถ่ายทอดความสมจริงของบรรยากาศในสนามรบได้อย่างน่ากลัวจนขนลุกขนพอง หนังเรื่องนี้ทำให้สปีลเบิร์กได้ออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมตัวที่สองมาครอง

รวมถึงหนังที่แม้หน้าหนังจะดูเป็นหนังตลาดก็ตาม หากแต่เนื้อหาของหนังได้แฝงแนวคิดและการสะท้อนประเด็นบางอย่างเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานอย่าง A.I. Artificial Intelligence (2001) หนังไซไฟดราม่าของหุ่นยนต์เด็กที่อยากเป็นมนุษย์ Minority Report (2002) หนังไซไฟอาชญากรรม ที่แฝงแนวคิดของผลกระทบในแง่ลบของเทคโนโลยี และงานฟีลกู้ดเรียบง่ายที่พูดถึงความสัมพันธ์มนุษย์ใน The Terminal (2004)

แต่สปีลเบิร์กยังไม่หยุดเรียนรู้ เพราะเรายังได้เห็นงานที่เขาสนุกกับการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นงานหนังที่ใช้เทคโนโลยี Motion Capture ผสมแอนิเมชั่นเรื่อง The Adventure of Tintin (2011) งานย้อนกลับสู่หนังแนวแฟนตาซีสำหรับเด็กอย่าง The BFG (2016) และหนังไซไฟ ผจญภัยขวัญใจชาวเนิร์ด Pop Culture ยุค 80-90 อย่าง Ready Player One (2018)

การที่สปีลเบิร์กปรับตัว เรียนรู้เทรนด์หนัง และกระตือรือร้นในการสร้างความท้าทายกับโปรเจกต์ใหม่ตลอดเวลา ทำให้ตัวเขายังไม่ตกยุค และสามารถอยู่ร่วมสมัยพร้อมกับผู้กำกับฝีมือดีรุ่นใหม่ได้อย่างเต็มภาคภูมิ กลายเป็นผู้กำกับที่ทำได้ทั้งหนังเพื่อความบันเทิงฟอร์มใหญ่ และหนังหวังรางวัล

อย่างล่าสุดที่เราเพิ่งได้มีโอกาสดูหนังอย่าง West Side Story (2021) ที่เป็นการหยิบบทละครเวทีชื่อดังในช่วง 1957 มาสร้างใหม่ ซึ่งต้องบันทึกไว้ว่ามันได้เคยถูกหยิบมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันมาแล้วในปี 1961 ซึ่งก็โด่งดังและประสบความสำเร็จระดับคว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาแล้ว นอกจากการต้องแบกรับความกดดันในฐานะที่หนังเวอร์ชั่นก่อนเคยจารึกตำนานเอาไว้ West Side Story ก็นับเป็นหนังแนวมิวสิคัลเรื่องแรกที่สปีลเบิร์กกำกับอีกด้วย

มันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าในวัย 75 ปี จิตใจและความคิดสร้างสรรค์ภาพยนตร์ของสปีลเบิร์กยังไม่ลดลงเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่างานที่ทันยุคทันสมัย หรืองานที่พร้อมหวนกลับสู่รากเหง้าของภาพยนตร์แบบดั้งเดิมก็ตาม


อ้างอิง

บทความ ‘Steven Spielberg’s A kind of Biography มองตัวตนผ่านหนัง สตีเว่น สปีลเบิร์ก’ โดย สุภางค์ ศรีเสริมเกียรติ
บทความวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง Jaws, E.T. the Extra-Terrestrial, Jurassic Park และ Schindler’s List โดย ประวิทย์ แต่งอักษร
www.imdb.com
www.boxofficemojo.com

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า