fbpx

“เมียจำเป็น” การผลิตซ้ำแนวคิดชายเป็นใหญ่ในละครไทย

เป็นกระแสที่ถูกพูดถึงจนขึ้นเทรนอันดับต้น ๆ ในโลกออนไลน์ กับประเด็นการข่มขืนในละครไทย เรื่อง “เมียจำเป็น” โดยเกือบ 90% ของข้อความที่กล่าวถึงละครเรื่องนี้ ต่างพูดไปในแง่ลบของการนำเสนอหรือที่เรียกว่าการผลิตซ้ำ ภาพของการข่มขืนที่ยังไม่พ้นไปจากพื้นที่ละครไทย วันนี้ส่องสื่อจะพาย้อนไปทบทวนงานวิจัย บทความ และแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืนในละครไทย

บทความเรื่อง “นัยการข่มขืนในละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ไทย : วิพากษ์ผลการศึกษาด้วยวิธีวิทยาแบบโครงสร้าง”  โดย  รศ.ดร.วรรณนะ หนูหมื่น ได้วิเคราะห์เรื่องราวการข่มขืนในละครไทยผ่านหนังสือ 2 เล่ม และบทความ 2 ชิ้นด้วยกัน ที่น่าสนใจอย่างมากคือการรวบรวมรายชื่อละครไทยที่มีฉากข่มขืนมีรายชื่อดังนี้ “ดาวพระศุกร์”  “มณีร้าว”  “ไฟรักอสูร”  “คู่กรรม”  “กาในฝูงหงส์”  “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ”  “พริกหวานน้ำตาลเผ็ด”  “คลื่นซัดใจ” “ซอสามสาย” “เชลย” “ดอกแก้ว” และ “ไฟลวง”

แม้ว่าการข่มขืนในละครไทยจะมีมาอย่างช้านาน แต่รูปแบบของการข่มขืนในแต่ละเรื่องนั้นก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป โดยผลการศึกษาของรัชดา แดงจำรูญ บ่งชี้ว่าในปี  พ.ศ.2539 เรื่อง “ดาวพระศุกร์” กับ “คู่กรรม” ได้แสดงนัยของการข่มขืนว่าเป็นลำดับของเรื่องที่นำความสุขมาสู่ชีวิตพระนางให้ได้เข้าใจกัน แต่สำหรับเรื่อง “เหยื่อ” และ “กว่าจะรู้เดียงสา” โดยขั้นตอนของการข่มขืนตัวเอกหญิงทั้งสองเรื่องนี้ มีบทบาทเพื่อสั่งสอนสตรีที่ปฏิบัติตนออกนอกลู่นอกทาง จะเห็นได้ว่าผู้หญิงในละครหรือภาพยนตร์ ต่างถูกกำหนดและบีบบังคับให้เป็นผู้หญิงในอุดมคติของปิตาธิปไตย ที่ผู้หญิงเหล่านั้นต้องยอมรักกับผู้ชายที่ข่มขืนตนเอง หรือถ้าผู้หญิงเหล่านั้นผิดไปจากบรรทัดฐานของสังคม ต้องถูกดึงกลับเข้ามาด้วยการข่มขืนเพื่อเป็นบทเรียนของการกระทำผิดไปจากค่านิยมในสังคมไทย

แฟ้มภาพจากละคร “เมียจำเป็น”

หากจะพูดเรื่อง “เมียจำเป็น” แล้วการข่มขืนในเรื่องมีความคล้ายคลึงกับเรื่อง “โทน”  ซึ่งนางเอกถูกคนร้ายข่มขืน แต่พระเอกก็ยอมรับและเข้าใจภูมิหลังดังกล่าวของตัวเอกหญิง กาญจนา แก้วเทพ ถือว่าโครงเรื่องภาพยนตร์นี้  “ผู้สร้างต้องการจะเปิดฉากท้ารบกับแนวคิดเรื่อง  ‘พรหมจารี’” หากแต่เรื่องเมียจำเป็น พระเอกกลับรับไม่ได้ที่นางเอกถูกตัวร้ายของเรื่องข่มขืนมา แม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม ในบทความ Voice TV เรื่อง วัฒนธรรมการข่มขืน เหยื่อเป็นผู้ผิด? ได้กล่าวถึงแนวคิดสตรีนิยมไว้ว่า

“ข้ออ้างเชิงวัฒนธรรมหรือค่านิยมทางเพศ ที่เอามาสร้างความชอบธรรมให้กับการข่มขืนนี้ เป็นสิ่งที่กลุ่มสตรีนิยมมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมการข่มขืน” ตัวอย่างของวัฒนธรรมการข่มขืนก็คือ การโยนความผิดให้กับเหยื่อ หรือทำให้อับอาย, การมองว่า คำพูดล่วงเกิน หรือการถูกเนื้อต้องตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเรื่องเล็กน้อย, การทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นวัตถุทางเพศ, หรือแม้แต่กระทั่ง การปฏิเสธความจริงว่ามีการข่มขืนเกิดขึ้นในสังคม”

 ในงานศึกษาของ รศ.ดร.วรรณนะ หนูหมื่น ยังได้แยกประเด็นการข่มขืนมีนัยของความเป็นจริงตามที่สังคมสร้างขึ้น 4 ประการคือ 1) การข่มขืนคือรางวัล 2) การข่มขืนคือการลงโทษ 3) การข่มขืนแสดงภาพสังคมที่มีปัญหา 4) การข่มขืนเกี่ยวพันกับชนชั้นล่าง ในเรื่องเมียจำเป็นนี้ มีความเกี่ยวโยงกับประเด็นเรื่อง “การข่มขืนคือการลงโทษ” ผลจากความจริงที่สังคมสร้างให้ผู้ชมละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ไทย ตีความว่าการข่มขืนเป็นการทำโทษผู้หญิงที่ประพฤตินอกลู่นอกทาง มีนัยสำคัญเป็น “การยัดเยียดความรู้สึกผิด” ให้กับผู้หญิง คือการย้ำนัยแห่งการลงโทษสตรีที่สูญเสียพรหมจารี แต่ทั้งนี้เมียจำเป็นแตกต่างไปละครไทยเรื่องอื่น ๆ ตรงที่เรื่องนี้ไม่มุ่งหวังการทำร้ายโดยตรงไปที่ตัวผู้หญิง หากแต่เป้าหมายมุ่งไปที่พระเอก และนำนางเอกมาเป็นเพียงวัตถุทางเพศในการระบายความแค้น หรือการลงโทษเท่านั้นเอง

สิ่งสำคัญที่ถูกพูดถึงผ่านละครเรื่องนี้อีกประเด็น คือการถูกเลือกปฏิบัติจากคนรักหรือพระเอกของเรื่อง ที่ยอมรับไม่ได้กับตัวนางเอกที่ถูกข่มขืน ทั้งยังไม่รักษาบาดแผลทางใจที่ส่งผลกระทบระยะยาวต่อการใช้ชีวิต สิ่งนี้ถือเป็นความรุนแรงภายใต้แนวคิดของ Johan Galtung ที่มองความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ เป็นแนวคิดสามเหลี่ยมแห่งความรุนแรง 1 ความรุนแรงทางตรง (Direct Violence) คือการข่มขืนกระทำชำเราที่เนื้อตัวร่างกายและจิตใจของนางเอก 2 ความรุนแรงทางโครงสร้าง (Structural Violence) คืออำนาจภายในของตัวละครที่ผู้ชายถูกทำให้มีอำนาจเหนือจากผู้หญิง ทั้งยังชี้ให้เห็นภาวะปิตาธิปไตยที่ผู้ชายมีสิทธิในเรือนร่างของผู้หญิง และ 3. ความรุนแรงทางวัฒนธรรม (Cultural Violence) การสร้างค่านิยมพรหมจารีที่ส่งผลให้พระเอกรับไม่ได้ในตัวละครนางเอกที่ถูกข่มขืนมา ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงการแก้แค้นระหว่างผู้ชาย ที่มุมเป้าไปที่คนรักหรือแฟน เพราะมองว่าผู้หญิงเป็นสิ่งของหรือวัตถุที่ครอบครองโดยผู้ชาย

สตรีนิยมแนวก้าวหน้า (Radical Feminism) เชื่อว่ารากแก้วของปัญหาอยู่ที่การประกอบสร้างขึ้นภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) เนื่องจากระบบชายเป็นใหญ่ได้เข้ามาครอบงำสังคมในทุกๆ ด้าน ความรุนแรงที่ผู้ชายกระทำต่อผู้หญิง (Violence against women) ภายใต้ระบบสังคมแบบถืออำนาจชายเป็นใหญ่ นับตั้งแต่การทุบตี การข่มขืน การพูดจาลวนลาม จนกระทั่งการถ่ายภาพเปลือยของผู้หญิง ล้วนแล้วแต่มีรากฐานมาจากสิ่งเดียวกันทั้งสิ้น คือ ความชิงชังที่ผู้ชายมีต่อผู้หญิง (Men’s hatred against women) (กาญจนา แก้วเทพ,2540)

การกดขี่สตรี ไม่สามารถขจัดให้หมดสิ้นไปได้ เพียงแค่การปฏิรูปเปลี่ยนแปลง สถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ต้องทำการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนต่อระบบเพศสภาพ (Gender system) สตรีนิยมสำนักนี้มองว่าระบบชายเป็นใหญ่เป็นการกดขี่ครอบงำของผู้ชายความวิถีของเพศวิถี ที่ประดิษฐ์สร้างความเป็นหญิงขึ้นมาเพื่อรับใช้ผู้ชาย (Tong,1995)

สุดท้ายละครที่มีเนื้อหาของการข่มขืนจะยังมีอยู่ในประเทศไทยต่อไปอีกมั้ย? หรือเพียงเพื่อยกแนวคิดว่า “ละครสะท้อนสังคม” แล้วเมื่อไหร่ละครไทยจะ “ละครจะนำสังคม” เสียที

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า