fbpx

สงกรานต์แปลว่าการย้ายราศี และมันตรงกับวันที่ 14-16 เมษายนแล้วนะ

เมื่อพูดถึงวันสงกรานต์ หลายคนจะนึกถึงวันปีใหม่ของไทย วันที่ในปฏิทินตรงกับ 13-15 เมษายน เป็นเทศกาลที่คนไทยจะกลับไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ พบปะครอบครัวและญาติ บางคนก็สาดน้ำคลายร้อนเพื่อความสนุกสนาน บางคนก็ถือโอกาสวันหยุดยาวไปท่องเที่ยวพักผ่อนจากการทำงาน

แต่ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องแล้ว เทศกาลสงกรานต์ทุกวันนี้ตรงกับ 14-16 เมษายนแล้วนะ

เชื่อว่าหลายคนน่าจะงงและเถียงกับผู้เขียนแน่ๆ เพราะจากที่ท่องจำกันจากหนังสือเรียน วันสงกรานต์มันคือ 13 เมษายนไม่ใช่เหรอ แล้วที่บอกว่าเป็น 14 เมษายนนี่เอาข้อมูลมาจากไหน

ถ้าเอาแบบง่ายที่สุด ก็เอาจากประกาศวันเวลามหาสงกรานต์ในแต่ละะปีนี่แหละ โดยในพ.ศ.2565 ตรงกับ 14 เมษายน เวลา 9.52.12 น. เช่นเดียวกับเวลาเถลิงศกก็ตรงกับ 16 เมษายน เวลา 13.49.48 น.

(ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนน่าจะสนใจเรื่องนางสงกรานต์จะประทับสัตว์อะไร, มาในรูปแบบไหน หรือพยากรณ์ฟ้าฝนในปีนี้  มากกว่าเรื่องเวลาเข้าสู่มหาสงกรานต์แน่นอน)

เพื่อที่จะอธิบายว่า ทำไมวันสงกรานต์ที่ถูกต้องในปัจจุบันถึงเป็น 14 เมษายน ก็ต้องย้อนไปที่รากศัพท์ของคำว่า “สงกรานต์” กันก่อน

สงกรานต์แปลว่าการย้ายราศี และเกิดขึ้นทุกเดือน

“สงกรานต์” เป็นคำจากภาษาสันสกฤต संक्रान्ति (สํกฺรานฺติ) แปลว่า “การย้ายราศี”

คนที่ศึกษาดาราศาสตร์ จะรู้เลยว่าราศีคือกลุ่มดาวพื้นหลังที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ผ่านตลอด 1 ปี โดยคนโบราณแบ่งออกมาเป็น 12 ราศี ตาม 12 กลุ่มดาว นั่นหมายความว่า “วันสงกรานต์ จริงๆ เกิดขึ้นทุกเดือน” หากระบุวันที่ในแต่ละเดือนจะเป็นดังนี้

♈️ ราศีเมษ 14 เมษายน

♉️ ราศีพฤษภ 15 พฤษภาคม

♊️ ราศีเมถุน 15 มิถุนายน

♋️ ราศีกรกฎ 17 กรกฎาคม

♌️ ราศีสิงห์ 17 สิงหาคม

♍️ ราศีกันย์ 17 กันยายน

♎️ ราศีตุลย์ 18 ตุลาคม

♏️ ราศีพิจิก 17 พฤศจิกายน

♐️ ราศีธนู 16 ธันวาคม

♑️ ราศีมกร 15 มกราคม

♒️ ราศีกุมภ์ 13 กุมภาพันธ์

♓️ ราศีมีน 14 มีนาคม

ถ้าคนที่เป็นสายมู ชอบดูดวงหน่อย จะคุ้นกับวันที่เหล่านี้มาก เพราะมันคือวันที่ใช้บอกว่า คุณเกิดในราศีอะไรนั่นเอง (เฉพาะราศีระบบไทย-อินเดียที่เป็น Sidereal zodiac ถ้าเป็นระบบตะวันตกจะใช้แบบ Tropical zodiac ที่จะเป็นอีกวันแทน)

*วันที่ดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อน 1-2 วัน ขึ้นกับตำราที่ใช้คำนวณวันเปลี่ยนราศี/ วันสงกรานต์

เนื่องจากราศีเมษมีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่อากาศอบอุ่นและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือ ทำให้หลายอารยธรรมยึดช่วงเวลานี้เป็นการเริ่มต้นฤดูเพาะปลูก อีกนัยหนึ่งคือเริ่มนับรอบปีใหม่ และจะสังเกตได้ว่าเวลานนับราศีจะเริ่มที่ราษีเมษเป็นราศีแรก ไม่ใช่ราศีมกรของเดือนมกราคม

ดังนั้นวันสงกรานต์ของราศีเมษ จึงมีชื่อพิเศษคือ “มหาสงกรานต์” เพราะไม่ใช่แค่เปลี่ยนเดือน แต่เปลี่ยนปีศักราชไปด้วย ดังจะเห็นได้ว่าปีจุลศักราชที่เคยปรากฏในพงศาวดารไทย จะเปลี่ยนปีในวันเถลิงศก ซึ่งปัจจุบันตรงกับ 16 เมษายน

เพราะใช้ปฏิทินต่างกัน ทำให้วันสงกรานต์มาช้าลงทุกปี

แม้ว่าวันสงกรานต์ จะเป็นการครบรอบปีสุริยคติ เหมือนปฏิทินเกรโกเรียนที่เราใช้กันในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างเล็กน้อยจากจุดอ้างอิงที่ใช้ต่างกันคือ

ปฏิทินเกรโกเรียนที่สากลทั่วโลกใช้กัน อิงจากตำแหน่งดวงอาทิตย์บนโลก ที่มีผลโดยตรงต่อฤดูกาลต่างๆ (Tropical year) โดย 1 ปีมีระยะเวลา 365.242 วัน

ขณะที่วันสงกรานต์ในปฏิทินไทย อิงจากตำแหน่งดวงอาทิตย์เมื่อเทียบกับกลุ่มดาวจักรราศี (Sidereal year) โดย 1 ปีมีระยะเวลา 365.256 วัน

หรือจะกล่าวให้ชัดเจนคือ 1 ปีของปฏิทินไทย จะนานกว่า 1 ปีของปฏิทินเกรโกเรียนราว 20 นาที แม้ว่าจะเป็นเวลาเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าสะสมไปนานๆ เข้ามันก็จะต่างกันมากขึ้น จากเดิมที่วันมหาสงกรานต์ตรงกับ 13 เมษายนเมื่อต้นศตวรรษ แต่ปัจจุบันได้เลื่อนมาตรงกับ 14 เมษายนแล้ว

พิสูจน์ได้จากประกาศเวลามหาสงกรานต์ในแต่ละปีก็ได้ โดยมีดังนี้

พ.ศ.2562 (2019): 14 เมษายน เวลา 15.14.24 น.

พ.ศ.2563 (2020): 13 เมษายน เวลา 21.27.00 น.

พ.ศ.2564 (2021): 14 เมษายน เวลา 3.39.36 น.

พ.ศ.2565 (2022): 14 เมษายน เวลา 9.52.12 น.

พ.ศ.2566 (2023): 14 เมษายน เวลา 16.04.48 น.

พ.ศ.2567 (2024): 13 เมษายน เวลา 22.17.24 น.

พ.ศ.2568 (2025): 14 เมษายน เวลา 4.30.00 น.

จะเห็นว่าปีที่วันมหาสงกรานต์ตรงกับ 13 เมษายน จะตรงกับปีอธิกสุรทิน หรือปีที่มี 29 กุมภาพันธ์ที่จะเกิดทุก 4 ปีเท่านั้น และพ.ศ.2575 (2032) จะเป็นปีสุดท้ายที่วันมหาสงกรานต์อยู่ในวันที่ 13 เมษายน และอ้างอิงวันใหม่ที่เวลา 0.00 น. (เที่ยงคืน) บางตำราอาจยึดเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นวันใหม่แทน

หากย้อนกลับไปยังอดีต สมัยรัชกาลที่ 4-5 วันมหาสงกรานต์ตกในวันที่ 11, 12 เมษายนด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้ววันสงกรานต์จะค่อยๆ มาช้าลงทุกปี เฉลี่ยทุก 70 ปีจะเคลื่อนไป 1 วันเต็ม

นี่จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า หากวันสงกรานต์ยังคงอ้างอิงจากตำแหน่งดวงอาทิตย์ทางดาราศาสตร์ การกำหนดเทศกาลก็ควรปรับให้ถูกต้องตามไปด้วย หรือก็คือควรจะเป็น 14-16 เมษายนได้แล้ว

บางคนอาจจะบอกว่า “เอาน่า มันก็แค่เทศกาลนึงเอง เราไม่ได้เปลี่ยนปีที่วันสงกรานต์แล้วนิ จะไปเคร่งเรื่องตำแหน่งดาวทำไม คลาดเคลื่อนไปวันสองวันก็ไม่เห็นเป็นไรเลย” แบบนี้เหรอ?

ผู้เขียนก็ฝากให้ทุกคนคิดกันนะครับว่า วันสงกรานต์ ควรจะยึดที่ 13 เมษายนถาวรไปเลย หรือปรับวันที่ตามตำแหน่งดาวที่แท้จริง ถ้าในปัจจุบันคือ 14 เมษายน และในอนาคตศตวรรษข้างหน้าก็คือ 15, 16, 17 เมษายน ไปเรื่อยๆ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า