fbpx

ปิดปากคุณได้ ก็จะปิดปาก โลกออนไลน์ไม่รับฝากความเห็นอีกต่อไป

เมื่อสังคมออนไลน์ทำทุกอย่างให้กลายเป็นกระแสได้ สายธารแห่งคอมเมนต์และแฮชแทคประเดประดังแบบปังๆแบบสับๆ การรับมือการบรรดาคอมเมนต์หรือดราม่าที่มักจะมาพร้อมกับ “ทัวร์ลง” นั้น บ้างก็ว่าเป็นเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็น แต่บางครั้งในแต่ละประเด็นมันก็เหน็ดเหนื่อยจะอธิบายเหลือขนาด พูดอะไรแตะอะไรก็กลายเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนไปเสียหมด

ดังนั้นหากเราจะเรียนรู้ธรรมชาติของโลกออนไลน์ และพูดอะไรให้พอจะไปกับอะไรได้บ้าง ก็อาจจะต้องมีรายละเอียดที่ต้องคิด ต้องดูทิศทางกันไม่น้อยเลยนะ

และนี่คือสิ่งที่ “ร่วมด้วยช่วยแกง” จะพามาร่วมค้นหากัน

โลกดิจิทัลที่ไม่มีเวลา

แต่เดิม ผู้คนต่างมีเวลาออกอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรกเป็น ช่วงเวลาทำงานหรือเวลาที่ใช้ไปกับสาธารณะ ช่วงที่สองเป็นช่วงเวลาพักผ่อน หรือ เป็นเวลาส่วนตัว แต่เมื่อมีการมาถึงดิจิตอล เส้นแบ่งระหว่างเวลาทำงาน กับเวลาพักผ่อน เวลาสาธารณะกับเวลาส่วนตัวก็พร่าเลือนลง เพราะพอขึ้นชื่อว่าออนไลน์ ทุกอย่างก็ต้องสแตนบาย 24 ชั่วโมงไปโดบปริยาย 

ยิ่งไปกว่านั้น ความรวดเร็วว่องไวของประเด็นที่มาแล้วไปอย่างฉับไว ทำให้การตอบสนองของผู้คนในโลกออนไลน์นั้นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างปุปปัป ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันเลยทั้งบริบทและสถานการณ์ แมวมาต่อการเมือง ช้างต่อกับไมโครเวฟ ตัวคัดกรองข้อมูลที่อาจจะมีจำกัดลงด้วยระยะเวลาการกรอง จะยิ่งทำให้ต้องรับข้อมูลมากขึ้นในเวลาที่จำกัดลง

เมื่อสองตัวแปรของออนไลน์ 24 ชั่วโมงและความฉับไวมารวมกัน นั่นยิ่งทำให้ความซับซ้อนของประเด็นต่างๆถูกลดความสำคัญลง เหลือเพียงแค่การถูกมองเห็นเท่านั้น

สาธารณะ Vs. ความเป็นส่วนตัว

เป็นประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดกันบ่อยครั้งหลังจากเทคโนโลยีและความเป็นโซเชี่ยลเข้ามามีบทบาท คือกำแพงของความเป็นส่วนตัวที่จะถูกลดลงไป และดูเหมือนทุกอย่างจะสามารถกลายเป็นประเด็นสาธารณะได้ทันที แม้ว่ามันอาจจะสมควรเป็นเรื่องส่วนตัวมากแค่ไหนก็ตาม 

เพราะเมื่อพูดถึงโซเชี่ยลมีเดีย สิ่งที่ถูกใช้งานมากที่สุดคือเพื่อการติดต่อสื่อสาร และลำดับที่รองลงมาคือการผลิตคอนเทนต์ แต่หลายๆครั้งการติดต่อสื่อสารกัน มันดันถูกทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ ดังนั้นเรื่องบางเรื่องที่ควรรู้กันเพียงไม่กี่คน ก็ถูกนำออกมาเสนอและตีแผ่ให้เห็นและรับทราบโดยทั่วกัน

ความโปร่งใสและถูกตรวจสอบกันไปมา จึงมีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือมากขึ้น ในทางหนึ่งมันสามารถเป็นตัวช่วยในการตรวจสอบในวัฒนธรรมที่มีการปกปิดข้อมูลข่าวสารสูง แต่ในทางหนึ่งไม่ใช่ทุกคนที่อยู่ในสถานะสมควรตรวจสอบเสมอไป เพราะบางคนต้องการรักษาพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองไว้ เนื่องจากไม่รู้สึกว่ามันเป็นความจำเป็นต่อคนหมู่มากขนาดนั้น

คนตัวใหญ่ คนตัวเล็กในระบบอัลกอริทึ่ม

แม้ว่าจะเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ และทุกคนกำลังถูกตรวจสอบกันไปมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนมีอำนาจเหมือนกันหมดเสียทีเดียว เส้นแบ่งระหว่างโลกจริงกับโลกออนไลน์ที่เจือจางลง ทำให้เราผสมผสานบุคคลที่มีอำนาจในโลกจริงและโลกออนไลน์เข้าด้วยกัน 

ในโลกออนไลน์ เราสามารถพบเจอบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอำนาจจากโลกจริงได้ ทั้งบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ที่มีผลต่อโครงสร้างทางสังคมในโลกจริง มีอำนาจต่อเสียงส่วนใหญ่ในโลกจริง รวมไปถึงบุคคลที่มีอำนาจในโลกออนไลน์ ที่มีอำนาจในแบบตรวจสอบตัวตนได้ และตรวจสอบตัวตนไม่ได้ไปด้วย ดังนั้นพื้นที่ทางอำนาจของโลกออนไลน์ จึงมีความเป็นไปได้มากว่ามันอาจจะสวนทางกับโลกแห่งความจริง

ยิ่งในระบบอัลกอริทึ่มของเจ้าต่างๆ ที่จัดสรรและเลือกความสนใจของผู้ใช้ให้พุ่งตรงไปยังส่วนที่เป็นปัจเจกมากขึ้น หรืออาจจะพ่วงงานขายที่เหมาะกับผู้พบเห็นได้มากกว่า ดังนั้นในทางหนึ่ง ผู้คนในโลกออนไลน์ไม่สามารถเลือกได้เองว่าจะถูกใครเป็นอินฟลูเอนเซอร์ให้ตัวเอง ครึ่งนึงถูกจัดสรรให้เลือกเห็นโดยอัลกอริทึ่มด้วยเหมือนกัน

Meditative asian program engineer thinking of ways to combat hacking attacks. Thoughtful blockchain developer reflecting at low levels of security and how to improve mainframe defence system.

มาตรฐานศีลธรรมอาจจะไม่คงที่

เมื่อวานเราอาจจะรับไม่ได้ในการกดขี่จากผู้มีอำนาจจากโลกแห่งความจริง แต่พอมาวันนี้เราอาจจะรับได้จากการกดขี่ที่ไม่ต่างกันจากอนฟลูเอนเซอร์ที่เราถูกเลือกให้ติดตาม บางคำพูดที่เรารับไม่ได้ในโลกจริง ก็อาจจะกลับมารับได้ในโลกออนไลน์ก็เป็นได้ และในทางกลับกัน ในโลกแห่งความจริงเราอาจจะไม่มีอำนาจมากพอที่จะเอาไปขัดง้างกับการแสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ แต่ในโลกออนไลน์ เราสามารถมีส่วนร่วมกับแฮชแทกบางอย่างได้ และร่วมตัดสินอะไรบางอย่างได้ในทันที

อัลกอริทึ่มที่ไปไวมาไวและทลายบบริบทต่างๆ ยิ่งพ่วงรวมกับการไม่มีเวลา ไม่มีต้นสายปลายเหตุ เราจึงไม่สามารถเคาะมาตรฐานอะไรได้อย่างคงที่แม้แต่ในแว่นของศีลธรรม ดังเช่นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจนเป็นประเด็นถึงผู้ให้บริการออนไลน์อย่าง Facebook ที่ปล่อยให้เกิดโพสต์บางอย่างที่ผิดกฎผู้ให้บริการได้ แต่กลับไล่แบนผู้ใช้ที่แสดงความเห็นในบริบทตลกขบขันไม่จริงจังเสียอย่างนั้น

อัลกอริทึ่มในลักษณะเดียวกันนี้ ยังกระจัดกระจายไปยังผู้ให้บริการอื่นๆ เช่นใน TikTok และ Instagram ที่จำกัดความยาวของคลิปและไม่มีการคัดกรองแหล่งที่มา การเสพย์เพียงคลิปสั้นที่ต้องการการเข้าความสนุกเลยและตัดบริบทหรือการเกริ่นนำออกไป ยิ่งทำให้การโฟกัสไปยังประเด็นต่างๆ หรือการเห็นรายละเอียดต่างๆได้ลดลง

ช้าไปก้าวเดียว ก็ไม่มีใครอยากจะพูดอีก

การที่ไม่รู้ว่าเวลาในโลกออนไลน์ ไม่รู้บริบท ไม่รู้ความซับซ้อน แถมถูกเลือกให้เสพย์ทุกอย่างผ่านอัลกอริทึ่ม การแสดงความเห็นต่อเรื่องใดใดก็ตาม ก็จะเป็นการถูกเลือกพูดจากหนึ่งเสี่ยงเสมอ พ่วงการหักลบกับค่านิยมและหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมที่เหวี่ยงไปมาอีกด้วย ซ้ำยังถูกจำกัดไม่ให้ยาวไปจนคนอ่านไม่ไหวอีกต่างหาก นั่นจึงหมายความว่าเราจะพูดอะไรก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดเสมอ

เมื่อเกิดประเด็น A ในเวลา 10.00 น. เพจ ก. ออกข่าว แสดงความเห็นลงโซเชี่ยล แต่ในเวลา 14.00 น. มีรายละเอียดอื่นอัพเดท ทำให้บริบทของข่าวเปลี่ยนไปอีกทาง แต่เพจ ก. ตั้งใจจะอัพเดทเรื่องดังกล่าวในช่วงเย็น แต่เมื่อถึงเวลา 16.00 น. ความคิดเห็นที่มองว่าข้อมูลของเพจ ก. ไม่ครบถ้วน ก็ถล่มทลายโจมตีไปเสียแล้ว และเมื่อเพจ ก. แสดงความเห็นอีกครั้ง ก็ไม่มีผลตอบสนองอีก เพราะถูกตัดสินไปแล้วว่าให้ข้อมูลผิดพลาด

นอกจากนั้น เมื่อข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือมีเรื่องพลิกผัน อัลกอริทึ่มจะปัดตกรายละเอียดไปโดยทันที คนที่โดนเลือกให้กลายเป็นเป้าหมายของประเด็น ก็จะถูกกระแสธารแห่งโซเชี่ยลมีเดียกดให้ถูกใช้ปั่นกระแสต่อไป ในกรณีที่เป็นเรื่องที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าเป็นเรื่องที่แย่ มันก็เหมือนลากให้ผู้นำเสนอความเห็น ถูกกดลงไปจากกระแสอีกที

เครื่องมือแห่งเสรีภาพ และเป็นเครื่องมือของวัฒนธรรมปิดปาก

ในโลกแห่งเสรีภาพ เราสามารถพูดอะไรก็ได้ แต่ก็ต้องรับได้หากมีการโต้กลับของกระแส ซึ่งในโลกออนไลน์ ความถูกผิดไม่มีเส้นบรรทัดฐานตามอัลกอริทึ่มที่กล่าวมา ในทางหนึ่ง มันสามารถเป็นพื้นที่แห่งการถกเถียงที่แตกต่างหลากหลาย หรือแม้แต่ฝึกให้เกิดการคิดวิพากย์อย่างเป็นระบบผ่านชุดข้อมูลที่หลั่งใหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ในอีกทางหนึ่งมันจะส่งผลต่อระบบอำนาจที่อยู่ภายนอกสังคมออนไลน์ด้วยเช่นกัน

ในสังคมที่มีการปิดปากผู้เห็นต่าง มีระบบกฎหมายที่เขียนไว้สนับสนุนผู้ที่เข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า กดให้ผู้ที่แสดงความเห็นต่างต้องกลายเป็นคนชายขอบ และรับผลทางกฎหมายและการฟ้องร้องที่ไม่เป็นธรรม กระแสธารแห่งโซเชี่ยลที่ขาดความคงที่ของมาตรฐาน จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมปิดปาก (Silent Culture) ในสองทาง ทางหนึ่งคือพูดไปก็มีแต่จะทัวร์ลง งั้นเงียบเสียงลงดีกว่า ในอีกทางคือพูดแล้วก็จะมีการฟ้องร้องที่ไร้สาระตามมา เพื่อสร้างความยากลำบากในการแสดงความเห็นนั่นเอง

เมื่อเกิดวัฒนธรรมปิดปากทั้งทางตรงในเชิงโครงสร้าง และทางอ้อมผ่านโลกออนไลน์ที่ไม่มีมาตรฐานคงที่ พื้นที่ที่เคยถูกเข้าใจว่าเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพทางการแสดงความเห็นอันล้นพ้นนั้น อาจจะไม่เป็นจริงอย่างที่เคยเข้าใจ ทุกอย่างอาจจะถูกกรอบด้วยมาตรฐานของอัลกอริทึ่มที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้ให้เสพย์คอนเทนต์ไวขึ้น แต่ทว่าเข้าใจบริบทได้น้อยลง

การเอาชีวิตทั้งหมดลงไปในกระแสธารแห่งโลกออนไลน์นั้น ในปัจจุบันนี้อาจจะไม่ใช่การกระทำที่จะเอาโดยง่าย และทุกอย่างอาจจะไม่ได้หมุนรอบผู้ใช้งานขนาดนั้น ฉะนั้นการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ จึงอาจจะต้องใช้พลังของวิจารณญาณมากกว่าเดิมอีกเท่าตัว

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า