fbpx

คุณค่าของคนทำสื่อไม่ได้อยู่ที่การให้ความเห็น แต่คือการให้ข้อมูล – ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ตาสว่าง ไม่ใช่เป็นเพียงปรากฎการณ์ทางสังคม แต่ยังเป็นรายการข่าวยามบ่ายของ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกรข่าวประจำ Voice TV ที่เขานำข่าวและเหตุการณ์ในสังคมมาวิเคราะห์เจาะลึกจนผู้ชมตาสว่างกันถ้วนหน้า และยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมโทรเข้ามาคุยกับเขาได้โดยตรง เพื่อแสดงความเห็นด้วยและเห็นต่าง หรือแม้กระทั่งระบายความอัดอั้น ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของเขาที่ต้องการเป็นกระบอกเสียงให้คนตัวเล็ก นอกจากนี้เขายังเป็นเจ้าของรายการ Overview  รายการที่เขานำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา และมีเนื้อหาที่เข้มข้น จนมีผู้ติดตามรายการเป็นจำนวนมาก และขึ้นแท่นเป็นรายการเรทติ้งสูงสุดของ Voice TV

แต่ขณะเดียวกันเขาคือคนข่าวของ Voice TV ที่โดนคดีความอยู่บ่อยครั้ง และมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในสถานี โดยวันที่ 10 มิถุนายน 2565 เขาได้หมายเรียกในคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการวิจารณ์ปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรายการ Wake Up Thailand ซึ่งนี่เป็นคดีที่ 7 ของเขา 

เราเดินทางไปหาเขาถึง Voice TV เพื่อพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับคดีในครั้งนี้ วันนี้เขามาเจอเราในชุดเสื้อเชิ้ตสีชมพูสดใส เขาชวนเรานั่งคุยในบรรยากาศสบายๆ

แม้เขาจะเพิ่งได้คดีใหม่ติดตัวมา แต่ความเครียดบนสีหน้ากลับไม่ปรากฎให้เห็น

เป็นเพราะความมากประสบการณ์ หรือความชินชากันนะ ที่ทำให้เขาแสดงออกได้แบบนี้ เราสงสัย

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

โดนคดีในครั้งนี้รู้สึกยังไงบ้าง

พอโดนมา 7 คดีมันก็จะเฉยๆ แล้ว แต่มันก็น่าเบื่อที่เราอยู่ในประเทศที่มันไม่เมคเซนส์  อย่างเรื่องที่ผมพูดมันก็ไม่ได้มีอะไร ผมก็แค่พูดว่าเขา (ปองพล อดิเรกสาร) ย้ายพรรคบ่อย ก็พูดว่าเสียดายแก คือรุ่นแกที่เป็นทายาทตระกูลซอยราชครู (กลุ่มราชครู – กลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลควบคู่ไปกับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์นับตั้งแต่ปี 2490) ก็จะมีอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และคุณกร ทัพพะรังสี ซึ่งเขาก็ยุติบทบาทไปแล้ว แต่แกยังไม่ยุติบทบาท และก็มามีบทบาทในการหนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเขาก็จะวิจารณ์เอา ผมว่ามันก็เป็นการพูดในเชิงนับถือ เพราะเราก็รู้สึกว่าแกก็อายุมากแล้ว น่าจะถูกคนมองด้วยความนับถือ มันไม่ได้เป็นการพูดโจมตีแก 

อย่างอาจารย์ไกรศักดิ์ แม้ช่วงหนึ่งแกจะดูเหมือนพวกพันธมิตร แต่ก็ยังนับถือเพราะว่าแกสนใจปัญหาของคนยากจน หรือคุณกร ทัพพะรังสี ทุกวันนี้คนที่เจอแกก็ยังชื่นชมแกอยู่ แต่พอคุณปองพลมาเป็นแบบนี้ มันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ผมก็บอกว่าเสียดายอะไรแบบนี้ แกก็บอกว่ามาหาเรื่องดูถูกแก ซึ่งในความตั้งใจเรามันก็ไม่ใช่ และโดยธรรมชาติของผมก็ไม่ใช่สายที่จะไปดูถูกใครอยู่แล้ว มันก็ปัดให้มีการฟ้องกัน ผมก็พึ่งมาเห็นว่า ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เตชะ ทับทอง ไปยุกับแกในเฟซบุ๊กให้ฟ้องผม ผมก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มัน Nonsense เหมือนกับเหม็นขี้หน้ากัน คนนี้เป็นพวกนั้น คนนั้นเป็นพวกนี้ มันน่าเบื่อแต่ถ้าถามเรื่องคดี ผมเฉยๆ มันไม่ได้มีความกลัวอะไร เราก็ไม่ได้ทำอะไรผิดด้วยไงครับ

ตอนโดนคดีครั้งแรก ปี 2560 รู้สึกยังไง แปลกใจไหมที่โดน

ไม่แปลกใจ แค่รู้สึกว่าไม่ได้พูดอะไรแต่ทำไมโดน เพราะคนอื่นพูด (หัวเราะ) คือเรื่องนี้ถ้าพูดถึงสามจังหวัดชายแดนมันโดนแน่ เพราะเซนส์มันคือบอกว่าการแบ่งแยกดินแดนมันเป็นเรื่องที่พูดได้ปกติ ยังไงทหารก็คงไม่พอใจ 

เอาเข้าจริงในบรรดาคดีที่ผมโดนแล้วเซ็งที่สุดคือคดี กสทช. ที่โดน พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ (กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ฟ้อง อันนั้นคือผมพูดเพื่อปกป้อง Voice TV เพราะหลังจากยึดอำนาจ Voice TV ก็โดนแกล้งเยอะ ผมก็โดนเรียกไปรายงานตัวบ่อย เวลาชี้แจงคดี ผมก็เป็นคนของวอยซ์ที่ไปมากที่สุด เรารู้ว่าทั้งหมดนี้คือการกลั่นแกล้ง ห้ามพิธีกรจัดรายการ จับผิดนู่นจับผิดนี่ สัมภาษณ์อานนท์ นำภา ก็โดนลงโทษ หรืออย่างผมพูดเรื่องคนไทยที่เป็นแรงงานประมงไปติดเกาะอยู่ที่อินโดนีเซีย ก็โดนเรียกไปลงโทษ พูดเรื่องจำนำข้าวสมัยคุณยิ่งลักษณ์ก็โดนลงโทษ พอโดนกลั่นแกล้งมากๆ ผมก็รู้สึกว่าผมต้องปกป้อง

ได้คุยกับเพื่อนร่วมงานที่ Voice TV บ้างไหมหลังจากโดนคดี

ไม่ได้คุยกันเลยครับ ผมโดนเยอะที่สุดแล้ว และโดนก่อนคนอื่นๆ ก็เลยไม่ได้คุยกัน เพราะในตอนที่ผมโดนคดีก็ยังไม่มีใครโดน ทาง Voice TV เขาก็มีการหาทนายมาช่วย มีการจัดทีมมาช่วยเราอยู่

หลังจากโดนคดี คนรอบตัวรู้สึกอย่างไรบ้าง

แม่ผมก็ตกใจตอนที่หมายไปติดที่บ้าน เพราะมันน่าจะมีเรื่องแน่นอน มีตำรวจมาด้วย แต่พอโดนบ่อยๆ เขาก็จะเฉยๆ แล้ว

จากอาชีพอาจารย์และนักวิชาการ มาสู่การเป็นสื่อได้อย่างไร

ประมาณช่วงปี 2553 ที่เริ่มมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ตอนนั้นไม่มีนักวิชาการคนไหนที่พูดถึงเรื่องการที่คนเสื้อแดงเขาก็มีสิทธิในการชุมนุม และยิ่งมีการสลายชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่วันที่ 10 เมษา การพูดถึงเรื่องกลุ่มคนเสื้อแดงมันก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะภาพของคนเสื้อแดงก็ถูกมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย เป็นชายชุดดำ ผมก็ออกมาพูดมากขึ้นเรื่อยๆ ในนามของกลุ่มสันติประชาธรรม ซึ่งจะมีนักวิชาการหลายคนอยู่ในกลุ่มด้วย เช่น อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พี่เล็กพวงทอง ภวัครพันธุ์ ก็พยายามพูดให้สังคมเห็นความเป็นธรรม หลังจากนั้นมันก็พัลวันกันไปเรื่อยๆ ผมก็อาจเป็นคนที่สื่อคุ้นเคยอยู่แล้ว เพราะผมก็เขียนนู่นเขียนนี่ให้กับหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ หรือ กรุงเทพธุรกิจ ตั้งแต่สมัยผมเรียนปริญญาตรีแล้ว พอเห็นผมออกมาแสดงความเห็นในที่สาธารณะ สื่อก็เลยชวนผมไปที่นู่นที่นี่มากขึ้นเรื่อยๆ มันก็เลยตามเลยมา 

ในอีกแง่หนึ่งผมก็เคยทำงานสื่อด้วย ผมเคยทำงานที่ อาซาฮี ชิมบุน (The Asahi Shinbun: หนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นฉบับหนึ่ง-บรรณาธิการ) และ AFX Asia ซึ่งตอนนั้น ปี 2540 เอเอฟพีตั้งอีกแบรนด์หนึ่งขึ้นมาเพื่อมาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ มันก็มีความโน้มเอียงที่เราจะมีความคุ้นเคยกับคนในวงการสื่อ และเขาจะชวนเรามาทำงานด้วยอยู่แล้ว

การที่เป็นนักวิชาการมาก่อน ทำให้เราเป็นสื่อที่แตกต่างจากคนอื่นอย่างไร

แบคกราวน์ผมคือเรียนปรัชญาและทฤษฎีการเมือง ผมถูกฝึกมาและก็กลายเป็นธรรมชาติของผมด้วยว่า ถ้าผมจะพูดถึงเรื่องอะไร เราจะต้องอ่านเรื่องนั้นให้เต็มที่ก่อนเท่าที่มีข้อมูล ผมถูกฝึกให้ต้องอ่าน Text ที่เป็น Original Text เช่น ผมเรียนเรื่องมาคิอาเวลลี หรือ เพลโต ผมจะไม่ใช่คนแบบที่อ่านว่าใครเขียนถึงเพลโตว่าอะไร ถ้าผมทำเรื่องมาร์กซ์ ผมก็ไม่ได้อ่านว่าใครเขียนถึงมาร์กซ์ว่าอะไร เพราะนั่นคือคนอื่นเขียนถึงเขา และก็พยายามอ่านเอกสารที่มันอยู่ในบริบทเดียวกันว่า คนอื่นที่อยู่ในสภาพเดียวกันกับเขา พูดถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่าอะไร ผมจะให้ความสำคัญกับเรื่องที่เป็น Original Source เพราะงั้นพอผมทำสื่อ ผมก็ติดลักษณะแบบนี้มา 

ถ้าสังเกตในรายการผมเนี่ย ผมจะให้ความสำคัญกับเสียงที่แต่ละคนพูดมาก เพราะว่าทุกคนที่ผมใช้เสียงเขาในรายการผมฟังเองหมด ฟังเพื่อให้เข้าใจความหมายทั้งหมดอย่างครบถ้วน  เวลาเราพูดถึงใคร เราต้องฟังสิ่งที่เขาพูดให้ครบ ผมว่านี่คือจุดที่มันแตกต่างจากคนอื่น แล้วการตัดสินโดยที่ไม่ได้ฟังมุมมองที่แตกต่างในเรื่องเดียวกัน ผมไม่ทำ 

อย่างเช่นเรื่องที่อาจารย์ชัชชาติ (สิทธิพันธุ์) บอกว่ามีคนเสพกัญชาตาย ตอนแรกก็เป็นประเด็นกัน แต่พอฟังกระทรวงสาธารณสุขเขาบอกว่ามันยังไม่มีการชันสูตรเรื่องนี้ อ้าว แสดงว่าที่ชัชชาติพูดก็มีปัญหาแล้วสิ เป็นการพูดโดยยังไม่มีการชันสูตร แต่ถ้าเราฟังด้วยอารมณ์การเมือง คือชัชชาติพูด เราชอบชัชชาติ กระทรวงสาธารณสุขพูดนี่มันอนุทินนี่หว่า กูไม่ฟัง แต่ประเด็นที่มันเป็น Fact based ของเรื่องนี้คือ มันไม่มีการชันสูตร เพราะงั้นการที่พูดว่าใครตายเพราะอะไรนั้นพูดไม่ได้ ผมก็จะทำงานแบบนี้

การเป็นอาจารย์มาก่อน ทำให้แม้เราจะมาทำสื่ออย่างเต็มตัวเป็นเวลานานแล้ว แต่คนก็ยังเรียกเราว่า “อาจารย์” อยู่เสมอ คิดว่าสิ่งนี้มันเป็น Priviledge (อภิสิทธิ์) ไหม

เป็นครับ และผมก็ไม่ค่อยชอบด้วย คือการเรียกเป็นอาจารย์เนี่ย ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน มันพูดยากมาก มันจะมีทั้งแบบเรียกแล้วมองแบบยกย่อง กับอีกแบบหนึ่งคือกูต้องการแสดงออกว่ากูไม่ยกย่องมึง หรืออยากจะทำว่ามึงกระจอก ก็เลยไม่เรียกอาจารย์ มันไม่สามารถหาการบาลานซ์ได้ มันเป็นเรื่องของคนอื่นมากกว่าเรื่องของเรา ตัวผมเฉยๆ อยู่แล้ว ผมไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ แต่ว่าที่เป็นประเด็นก็คือวิธีมองของคนแต่ละคนเวลาใช้คำนี้กับเรามากกว่า 

จริงๆ การเป็นอาจารย์มันไม่ควรจะมี Priviledge อาจารย์ก็คืออาจารย์ เอาจริงๆ ถ้าอยู่นอกมหาวิทยาลัย ไม่ควรจะมีใครถูกเรียกว่าอาจารย์ด้วยซ้ำ แต่ในสังคมไทยเนี่ย คนก็จะใช้คำว่าอาจารย์เป็นการยกย่อง เพราะงั้นถ้ากูไม่ยกย่องมึง กูก็จะไม่เรียก เพื่อเป็นการท้าทายมึง มันเป็นปัญหาของคนอื่นในเรื่องการใช้คำ

โดยตัวผมเอง คิดว่าไม่ควรใช้ และค่านิยมที่คิดว่าอาจารย์เป็นคนพิเศษกว่าคนอื่นมันควรจะเลิกได้แล้ว อาจารย์ก็คืออาชีพ แต่ในภาษาไทยและความเป็นสังคมแบบที่มีชนชั้นแบบนี้ มันทำให้คนติดกับการถูกย่องด้วยเรื่องนี้ ผมคิดว่ามันงี่เง่า แม้กระทั่งการเรียกใครว่าดอกเตอร์ ประสาท เลอะเทอะ ไม่เมคเซนส์

ทำไม Voice TV จึงมีบุคลากรที่เป็นอาจารย์นักวิชาการอยู่เยอะ

ผมไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร แต่อย่างในรายการที่ผมทำผมก็จะพยายามให้พื้นที่กับคนที่เป็นสื่อภาคสนามมากขึ้น ถ้าดูรายการที่ผมทำเองคนเดียว อย่างรายการตาสว่าง ผมก็จะให้พื้นที่กับนักข่าวภาคสนามของ Voice TV ผมคิดว่าคนทำงานข่าวภาคสนามคือแกนหลักขององค์กรสื่อ ไม่ใช่คนแสดงความเห็น สื่อไม่สามารถทำงานได้ถ้าไม่มีนักข่าวภาคสนาม ในแง่การทำข่าว หัวใจของมันคือข้อมูลไม่ใช่ความเห็น แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า Voice TV ให้ความสำคัญกับนักวิชาการมากเพราะอะไร อาจเป็นเพราะในยุคหนึ่งคนเชื่อว่านักวิชาการคือคนที่มีความรู้ทุกเรื่องซึ่งมันก็ไม่ใช่ อย่างเช่น คุณเรียนเศรษฐศาสตร์มาคุณจะมาคอมเมนต์เรื่องการกระจายอำนาจมันก็ไม่เมคเซนส์แล้ว หรือสมมมติคุณเรียนเรื่องวรรณคดีมา คุณจะมาคอมเม้นเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นมันก็ไม่สมเหตุสมผล หนึ่งเพราะมันไม่ใช่เรื่องที่คุณเรียน สองนอกจากไม่ใช่เรื่องที่คุณเรียนแล้วมันก็ยังไม่ใช่เรื่องที่คุณทำด้วย คือไม่เรียนแล้วพูดก็อาจไม่ใช่ปัญหาถ้าเราทำ แต่ถ้าไม่ได้เรียน และไม่ได้ทำ แล้วพูด อันนี้เป็นปัญหาแล้ว เพราะว่าข้อมูลของคุณคืออะไร แล้วคุณพูดโดยไม่มีข้อมูล ทั้งหมดมันเป็นความเห็นเชิงถกเถียงอย่างเดียว ซึ่งในแง่สื่อมันทำแบบนั้นไม่ได้

แต่รายการข่าวที่เน้นการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็น ก็เป็นจุดขายของ Voice TV ไม่ใช่เหรอ

รายการของผม ซึ่งก็คือรายการ Overview จะเห็นว่าในแต่ละวัน แค่เฉพาะในยูทูปแต่ละวันผมจะมี 4 คลิป คนดูก็น่าจะประมาณ 6-7 แสน ผมไม่ได้เน้นการให้ความเห็น ผมเน้นการให้ข้อมูล ส่วนข้อมูลมันจะไปทำให้คนมีความเห็นยังไงบ้างมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่สังคมต้องการคือการให้ข้อมูลไม่ใช่ความเห็น ความเห็นเป็นสิ่งที่ทุกคนมีได้ แต่การเข้าถึงข้อมูลทุกคนมีไม่เท่ากัน เพราะงั้นคุณค่าของคนทำสื่อจึงไม่ได้อยู่ที่การให้ความเห็น แต่คือการให้ข้อมูล

สิ่งที่ Voice TV โดนตีตรามาตลอด คือการเป็น “สื่อเลือกข้าง” มองเรื่องนี้ว่ายังไง

คำว่า “สื่อเลือกข้าง” ในบ้านเราคือเวลาพูดถึงคำนี้ มันมักจะมาพร้อมกับการเป็นกระบอกเสียง แต่สื่อมีข้างได้ ว่าเราชอบอะไร อย่างเช่นผมชอบประชาธิปไตย ผมไม่ชอบเผด็จการ ผมไม่ชอบรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ผมไม่รู้ว่าแบบนี้คือเรียกว่าสื่อเลือกข้างรึเปล่า 

แต่ในแง่การทำงานมันต้องมีการบาลานซ์มุมมอง หน้าที่ของคนทำสื่อไม่ใช่การประกาศว่าตัวเองคิดอะไร เพราะถ้าแบบนั้นคุณก็เขียนไปบทความ แต่หน้าที่ของสื่อคือการให้ข้อเท็จจริงกับคนดู ไม่ใช่บอกโลกว่าเราคิดอะไร เราไม่ใช่เทวดา โลกไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเราคิดอะไร คนดูไม่ได้มีหน้าที่จะต้องมาเสียเวลาสามสิบนาทีเพื่อฟังว่าเราคิดอะไร ถ้าเราเชื่อว่าคนเท่ากัน เรายิ่งไม่ควรจะใช้สื่อเป็นกระบอกเสียงในการบอกความเชื่อของเรา สมมติเราเชื่อเรื่องความหลากหลายทางเพศ เชื่อเรื่องประชาธิปไตย คนดูเขาก็เชื่อเหมือนกันกับเรา เพราะงั้นเรามีสิทธิ์อะไรไปแสดงว่าเราเหนือคนอื่นแบบนั้น 

เพราะงั้นเรื่องสื่อเลือกข้างเนี่ย สำหรับผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่จะบอกว่าใครจะบอกว่าสื่อเลือกข้างเป็นเรื่องธรรมดา ผมคิดว่าคนเรามีข้างได้ แต่สื่อต้อง Neutral และทำงานอย่างตรงไปตรงมา บาลานซ์มุมมองทุกฝ่าย

ทั้งๆ ที่เราทำรายการข่าวที่นำเสนอข้อมูลมากกว่าแสดงความเห็น แต่ทำไมยังมีคอมเมนต์ที่บอกว่าเราเลือกข้างอยู่ เช่น “ศิโรตม์เป็นติ่งพรรคส้ม”

เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าปฏิกริยาของคนฝั่งก้าวไกลมีมากกว่าเพื่อไทย ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร บางคนก็บอกว่าคนดูฝั่งก้าวไกลใช้โซเชียลมีเดียเยอะกว่าคนดูฝั่งเพื่อไทย ซึ่งตรงนี้มันก็ไม่มีอะไรพิสูจน์ แต่มันคงมีอะไรบางอย่างที่ก้าวไกลเขามีเสน่ห์กับคนรุ่นใหม่มากกว่าเพื่อไทย ซึ่งผมก็ตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร มันอาจเป็นเพราะประเด็น มันอาจเป็นเพราะคนรุ่นเดียวกัน แต่ผมคิดว่าเพราะว่า สส.ของก้าวไกล มาจากคนธรรมดา ขณะที่พรรคอื่นในสภามาจากลูกหลานนักการเมือง ตระกูลเก่าแก่ นักการเมืองท้องถิ่น ก้าวไกลทั้งหมดเป็น สส.ใหม่ สิ่งที่เขาพูดมันสะท้อนความรู้สึกของคนธรรมดาเหมือนเรา 

นักข่าวหลายคนเริ่มต้นจากการเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนาม ก่อนจะเติบโตไปเป็นคนจัดรายการในสตูดิโอ และเมื่ออยู่ในจุดนั้นแล้ว ก็มักจะไม่ลงมาภาคสนามอีกเท่าไร แต่เรายังคงลงไปรายงานข่าวภาคสนามอยู่เสมอ อันนี้เป็นคำสั่ง หรือเราไปเอง

ผมไปเองครับ ผมรู้สึกว่าเราพูดถึงการชุมนุมโดยไม่พูดถึงคนที่ไปชุมนุมไม่ได้ ตอนนั้นมันเป็นช่วงที่เริ่มมีการชุมนุม คนก็จะมารายงานข่าวการชุมนุม แต่ว่าก็ยังน้อยอยู่ และก็ยังเป็นการรายงานข่าวการชุมนุมจากการอ่านหรือลอกข่าวของคนอื่นที่ไปทำข่าวในที่ชุมนุม เพราะฉะนั้นผู้ชุมนุมจึงถูกตัดออกจากสังคม และการรับรู้ของสื่อต่อผู้ชุมนุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำสื่อที่เป็นพิธีกร มาจากการอ่านสิ่งที่คนอื่นเขียนถึงผู้ชุมนุม ซึ่งในแง่การทำงานมันก็ไม่แฟร์ คุณไม่สามารถทำข่าวใครจากการที่ฟังคนอื่นเล่าว่าเขาคิดยังไง ในชีวิตจริงการทำแบบนี้มันก็ไม่ถูกอยู่แล้วที่เราจะรู้จักใครคนหนึ่งจากการฟังว่าคนอื่นพูดถึงเขาอย่างไร 

เพราะงั้นผมก็เลยลงไปเอง และผมคิดว่าเมื่อเรารายงานข่าวการชุมนุม เราต้องให้คนที่อยู่ในที่ชุมนุมได้พูด และนอกจากการที่ให้พวกเขาได้พูดแล้ว เราจะต้องไปในจุดที่สำคัญที่สุดเพราะที่ชุมนุมมันใหญ่ สังเกตให้ดีว่ารายการผมครึ่งชั่วโมง แต่พอทำข่าวผู้ชุมนุม ผมก็ทำจนการชุมนุมเลิก มันคือการเอารายการเราเป็นเครื่องมือให้ผู้ชุมนุมได้สื่อสาร ไม่งั้นเขาก็ไม่มีใครให้เขาได้สื่อสารโดยตรง มันคือการดึงสปอร์ตไลท์ไปที่ผู้ชุมนุม 

ใน Voice TV เอง ผู้ประกาศหรือทีมงานแต่ละคนก็มีจุดยืน มีมุมมองที่แตกต่างกัน เราทำงานกับความเห็นที่แตกต่างเหล่านี้อย่างไร

ผมไม่อยาก Romanticize นะครับว่าจะมีที่ไหนในโลกที่ความเห็นที่แตกต่างอยู่กันได้ด้วยดี มันไม่มีหรอกครับ ในความเป็นจริง ความเห็นที่แตกต่างขึ้นอยู่กับพูดถึงคนที่เห็นแตกต่างว่าอย่างไร ถ้าพูดถึงคนที่เห็นแตกต่างในแบบที่เป็นปัญหา เช่น มีการตัดสินว่าเขาเป็นแบบนั้นแบบนี่ ทั้งที่เขาไม่ได้เป็น มันก็ทำให้เกิดปัญหาโดยปริยาย ความเห็นที่แตกต่างไม่ใช่ปัญหา แต่การพูดถึงคนที่เห็นแตกต่างอาจเป็นปัญหา 

มีหมุดหมายในอาชีพการทำข่าวอย่างไร

(นิ่งคิด) ผมไม่มีหมุดหมายในอาชีพ แต่ผมมี Commitment ว่าผมเข้าข้างคนที่เสียเปรียบ ผมมีแพสชันเวลาเห็นคนที่เขาถูกเอารัดเอาเปรียบ สังเกตว่าเวลามีข่าวการชุมนุม คนจะมากจะน้อยแค่ไหน ผมก็พยายามให้พื้นที่ แม้กระทั่งเวลาใครโดนคดี 112 ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่สังคมสนใจหรือไม่สนใจ 112 ผมก็จะให้พื้นที่ตลอดเวลา จะให้ได้มากหรือให้ได้น้อยก็จะให้ 

หมุดหมายในอาชีพผมจึงไม่มี ผมไม่ใช่คนอยากได้ตังค์ และไม่ได้อยากดังอยู่แล้วด้วย แต่ว่าถ้าถามผมว่ามีแพสชั่นว่าอยากจะทำอะไร ผมก็อยากให้งานที่ผมทำเป็นกระบอกเสียงของคนที่เขาลำบาก และอยากให้สังคมเข้าใจว่าคนจำนวนมากเขาไม่ได้อะไรในสิ่งที่เขาควรจะได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เขารักเพศเดียวกัน กรรมกร ชาวนา ไรเดอร์ แต่ละกลุ่มก็มีปัญหาของเขา และบางทีคนในสังคมไม่เข้าใจ และคนทำสื่อเองทุกคนก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องแบบนี้ ผมอาจโชคดีที่ผมเป็นคนสนใจเรื่องสังคมตั้งแต่เป็นนักศึกษา และการใช้ชีวิตผมก็ได้เจอคนเยอะกว่าคนอื่น ผมไปเมืองนอกตั้งแต่ยังไม่ได้เรียนปริญญาโท ผมมีโอกาสได้เจอความหลากหลายของคนเยอะ เราก็จะเห็นว่าคนแต่ละกลุ่มก็มีปัญหาของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน คนมุสลิมในสามจังหวัดเขาก็มีปัญหาของเขาชุดหนึ่ง คนค้าบริการทางเพศเขาก็มีปัญหาของเขาอีกชุดหนึ่ง

การทำงานสื่อใน “ระบอบประยุทธ์” เป็นอย่างไรบ้าง

ระบอบประยุทธ์ 1 ก็เป็นระบอบที่ต้องระวังว่าจะถูกทหารจับรึเปล่า ระบอบประยุทธ์ 2 ก็ต้องระวังว่าจะโดนยัดคดีรึเปล่า เพราะฉะนั้นจากการถูกคุกคามโดยตรงมันก็กลายเป็นการถูกคุกคามทางกฎหมาย ซึ่งการถูกคุกคามทางกฎหมายมันก็ยังดีกว่าการถูกคุกคามโดยตรงอยู่ดี เพราะอย่างน้อยก็ไม่ระแวงว่าจะถูกเรียกไปคุยกับ กสทช. แล้วหาเรื่องยัดความผิด แล้วการหาเรื่องยัดความผิดมันก็เป็นปัญหา 

แต่ความเจ็บปวดที่สุดสำหรับผมคือเวลาที่เราถูกยัดความผิด แล้วถูกซ้ำเติมจากเพื่อนในวงการเดียวกัน เช่น ผมบอกว่าผมโดน กสทช.เรียกอีกแล้ว มันก็จะมีคนในวงการซ้ำเติมว่าเพราะมึงพูดแย่ไง มึงเลยโดน มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวด เพราะว่าสิ่งที่เราโดนเราไม่ได้พูดเรื่องเราเอง เราไม่ได้โจมตีคน แต่เมื่อเราโดนไปเรื่อยๆ คนที่ทำงานกับเราหรือคนที่ทำงานที่อื่น หรือไม่ได้ทำงานเหมือนกันกับเรา เหม็นหน้าเราบอกว่าเราพูดจาแย่กว่าคนอื่น โจมตีเขามากเกินไป มันก็มีเอาเรื่องแบบนี้มาโจมตีเรา เรื่องแบบนี้มันก็รบกวนจิตใจ การโดนคุกคามจากรัฐอาจไม่ใช่ปัญหาเท่าโดนคุกคามจากคนในวิชาชีพเดียวกัน

เวลาที่ Voice TV โดนสั่งปิด ท้อบ้างไหม

ผมไม่รู้ว่าคนอื่นรู้สึกยังไง แต่สำหรับผมมันเป็นความรู้สึกของการถูกรังแก มันคือการถูกยัดคดี อย่างผมพูดเรื่องคนไทยไปติดเกาะ คนไทยติดเกาะเราก็ต้องบอกให้สังคมรู้ แต่กลับถูกเรียกไปลงโทษ แล้วเวลาลงโทษเขาก็จะนับว่านี่ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ก็นับไปเรื่อยๆ ผมว่าที่มันทำให้เกิดความรู้สึกคับแค้นก็คือว่าทั้งหมดที่โดน เขาใช้วิธีเซ็ทคดีขึ้นมา แล้วก็นับคดีที่เซ็ทแต่ละเรื่องรวมกันจนครบ แล้วก็อ้างว่าคุณโดนมายี่สิบครั้งแล้ว คุณเข้าข่ายแล้ว พอข่าวออกไป คนก็เข้าใจว่า นี่ไง มึงโดนมายี่สิบครั้งแล้ว แต่คนไม่รู้ว่าดีเทลแต่ละอันมันคืออะไร

จากปี 2553 ที่ได้มาร่วมงานกับ Voice TV จนถึงวันนี้ คิดว่า Voice TV เปลี่ยนไปแค่ไหน

ทิศทางการทำงานมันก็เป็น Online based มากขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นทิศทางที่ถูกต้อง แต่ว่าพอเป็นออนไลน์มากขึ้น ความหลากหลายของข่าวมันก็น้อยลงกว่าทีวี หลายข่าวที่สังคมมองว่าเป็นข่าวอาชญากรรมแต่จริงๆ มันสามารถพูดเป็นมุมอื่นได้ มันก็จะไม่มีการรายงานมากนัก เพราะกำลังคนมีไม่พอ หรือว่ามันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติของข่าวออนไลน์เองอาจไม่ได้สนใจ เช่นในสมัยที่วอยซ์ยังทำทีวีอยู่ ผมจำได้ว่ามันมีเรื่องหนึ่งที่ผมพูดแล้วคนดูเยอะมาก มันเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่ง น้องเขาเป็นทอม แล้วเขาถูกฆ่า แล้วตอนนั้นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแกก็ไปทำคดีเรื่องนี้ แล้วแกก็มีมุมมองว่าคนที่เป็นทอมถูกผู้ชายฆ่าเป็นเรื่องธรรมดา อะไรสักอย่าง ผมจำชัดๆ ไม่ได้นะ แต่ผมก็เอาเรื่องนี้มาพูดในรายการ คนก็ดูเยอะ เพราะเวลาผมเล่ามันจะไม่ใช่แค่ข่าวอาชญากรรม แต่นำเสนอผ่านมุมมองของการที่คนรักเพศเดียวกันถูกฆ่า 

แล้วอีกเรื่องที่คนดูเป็นล้าน คือหมอนิ่ม แกเป็นหมอผู้หญิงที่เหมือนจะถูกสามีตัวเองซ้อม แล้วสามีของแกที่เป็นนักกีฬาทีมชาติถูกคนยิงตาย ผมก็พูดในแง่ที่ว่าในต่างประเทศมันมีดีเบตนะว่าถ้าผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ผู้หญิงมีสิทธิ์ตอบโต้ผู้ชายได้ ต่อให้การตอบโต้จะทำให้ผู้ชายเสียชีวิต ศาลก็จะมาพิจารณาด้วยว่าก่อนที่จะเสียชีวิต ผู้หญิงโดนอะไรมาบ้าง มันก็เป็นการพูดถึงเรื่องความรุนแรงทางเพศผ่านการพูดเรื่องหมอนิ่ม พอวอยซ์มาเป็นออนไลน์มากขึ้น ข่าวแบบนี้ก็จะไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก เพราะสื่อออนไลน์ โดยใช้เฉพาะสื่อออนไลน์ที่ฐานคนดูคือคนเมืองก็จะรู้สึกว่ามันเป็นข่าวอาชญากรรม มันก็เป็นสิ่งที่ผมเสียดาย ผมคิดว่ามันจะเป็นข่าวอาชญากรรม หรือข่าวอะไรก็ตาม มันอยู่ที่วิธีการเล่าของเรา ว่าเราจะใส่เรื่องแบบไหนเข้าไป 

คิดว่าจะทำข่าวไปถึงเมื่อไร

ก็คิดว่าน่าจะทำไปเรื่อยๆ งานพวกนี้ ที่สุดแล้วทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือตัวเรา และการผนวกตัวเราเข้ากับแพลตฟอร์ม ในแง่ตัวเราผมว่าโดยพื้นฐานไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหน ผมก็จะสนใจเรื่องของประเทศตัวเอง หรือเรื่องของคนที่เขาลำบากอยู่แล้ว มันคือตัวเรา เรื่องนี้มันเปลี่ยนไปไม่ได้ ตอนไปฮาวายคนไทยคนอื่นเขาก็อยู่กับคนไทยด้วยกัน ผมก็ไปอยู่กับคนอินโดนีเซีย คนมุสลิม ตอนไปนิวยอร์ก ผมก็ไปอยู่กับ UN คลุกคลีกับคนไนจีเรีย คนโมซัมบิก ขณะที่คนอื่นๆ เขาจะชอบคลุกคลีกับคนฝรั่งเศสหรืออังกฤษ แบบเท่ๆ งี้ เพราะงั้นธรรชาติเราเป็นแบบนี้อยู่แล้ว ก็คงจะทำข่าวไปเรื่อยๆ ถ้ามันมีแพลตฟอร์มให้เราทำตาม ผมก็ทำต่อไป

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า