fbpx

ชินนี่-พิมพ์ลภัส อีกหนึ่งดาราจากไกลบ้าน กับอาชีพนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในเดนมาร์ก

เชื่อว่าหลายคนที่อ่านบทความนี้คงเคยดูรายการ “ไกลบ้าน” กันมาบ้าง นี่คือรายการท่องเที่ยวในรูปแบบ VLOG จากช่อง FAROSE ทาง YouTube ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะมีรูปแบบรายการที่เป็นกันเอง เล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ได้ทั้งสาระ ความรู้ และความสนุกสนาน

และนี่คือครั้งแรกที่ทำให้ The Modernist รู้จักกับ ชินนี่-พิมพ์ลภัส แขกรับเชิญจากรายการไกลบ้าน EP66 “เดนมาร์กเค้ามี 112 แต่เป็น” ที่มาเล่าประสบการณ์ด้านต่างๆ ในฐานะคนที่ใช้ชีวิตในเดนมาร์กมาแล้วกว่า 11 ปี ปัจจุบันชินนี่เป็นนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องระบาดวิทยาเชิง Genomics (การวิเคราะห์ข้อมูล DNA ของเชื้อโรค แบคทีเรีย หรือเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะ) อยู่ที่มหาวิทยาลัยในเดนมาร์ก

กระแสการย้ายประเทศกำลังมาแรงในช่วง 2-3 ปีมานี้ ใครๆ ก็ล้วนอยากจะไปแสวงหาลู่ทางในการใช้ชีวิตที่ต่างประเทศไม่ว่าจะไปศึกษาต่อหรือทำงานก็ตาม แต่ก็คงมีบางคนที่ยังตั้งคำถามว่าทำไมคนเราต้องอยากย้ายไปต่างประเทศด้วย 

The Modernist จึงชวนคุณชินนี่มาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวที่จะมาตอบทุกข้อสงสัยว่าทำไมคนหนึ่งคนถึงเลือกที่จะไปลงหลักปักฐานที่ต่างประเทศ

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

จุดเริ่มต้นของความชอบในชีววิทยา 

ตอนขึ้นมัธยมปลายมันมีแยกสายวิทย์-สายศิลป์ แล้วมันมีวิชาทางวิทยาศาสตร์ที่เราชอบอยู่วิชาหนึ่งชื่อชีววิทยา หรือ Biology ทั้งชอบและทำคะแนนได้ เราเลยเลือกเรียนด้านนี้มาโดยตลอด และตอนม.5 มันมีห้องเรียนที่เป็น Specialist (ชำนาญพิเศษ) ในวิชาต่างๆ แล้วเราไปอยู่สายวิทย์ที่เป็น Computer Specialized (แผนการเรียนวิทย์-คอมพิวเตอร์) ก็เลยมีพื้นฐานการเขียนโปรแกรมนิดๆ หน่อยๆ จนกระทั่งไปเรียนมหาวิทยาลัย ตอนปี 4 ชินนี่เรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาเทคนิคชีวภาพ ก็ทำแล็บอย่างเดียว แต่มาค้นพบทีหลังว่าต่อให้เราชอบวิชาชีววิทยาอย่างไร เราไม่ได้ชอบทำแล็บ เหมือนที่เราไม่ชอบทำกับข้าวด้วยการชั่งตวง เพราะฉะนั้นในการทำแล็บ ชั่งตวงต้อง 100% แล้วเราชอบทำผิดพลาดในแล็บ แต่ตอนปี 4 เทอมสุดท้ายในมหาฯลัย เราค้นพบว่ามันมีหลักสูตรหนึ่งเพิ่งเปิดใหม่ในประเทศไทย ตอนนั้นย้อนไป 10 กว่าปี คือหลักสูตรที่ผสมชีววิทยากับ Information Technology หรือสารสนเทศ เรียกว่า ชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตอนเรียนป.โทพี่น่าจะจบหลักสูตรนี้คนแรกๆ ในประเทศไทย เรามาเจอสิ่งที่ไม่ต้องทำแล็บแล้ว ไปทำในคอมพิวเตอร์ แต่ก็ยังทำผิดพลาดในคอมพิวเตอร์อยู่ดีนะ แต่การผิดพลาดในคอมพิวเตอร์ ร้อยรอบพันรอบก็ผิดพลาดไปสิมันไม่ได้ใช้อะไรนอกจากเวลา แล้วก็เลยมาทางชีวสารสนเทศมาตั้งแต่ป.โทจนถึงป.เอกในปัจจุบัน 

จุดไหนที่ทำให้เราสนใจมาก

ก็น่าจะตั้งแต่ปริญญาตรี ไปเรียนเทคโนโลยีชีวภาพมันยิ่งลงลึกทางด้าน Bio ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราสนใจมันสามารถมองเห็นอาชีพในอนาคตได้ ตอนเป็นเด็กมัธยมเราอาจจะยังไม่เห็นอาชีพ เห็นแค่ “ผีชีวะ” (หัวเราะ) แต่เราไม่เห็นอาชีพ ตอนเป็นเด็กเราอยากเป็นหลายอย่าง เช่น ครู แอร์โฮสเตส นักอ่านข่าว นักแสดง อย่างนั้นเราเห็นอาชีพ แต่นักวิทยาศาสตร์เราไม่เห็น แต่ตอนเข้าไปเรียนมหาฯลัยเราเห็นว่าเส้นทางอาชีพของนักวิทยาศาสตร์มันเป็นแบบนี้ เราเลยรู้สึกว่าที่เราชอบมันสามารถเป็นอาชีพได้ แล้วเราก็อยากทำต่อเรื่อยๆ อีกอย่างหนึ่งคือความฝันที่อยากเป็นครู เพราะฉะนั้นถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในมหาวิทยาลัยเราก็จะได้เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และครูด้วย ตอนเด็กจำได้ว่าอยากเป็นครูขนาดที่ตอนป.3 ที่บ้านจะมีกระดานไวท์บอร์ดเล็กๆ เราก็ขึ้นกระดานกับนักเรียนที่ไม่มีตัวตน ก็เลยคิดว่า อ๋อ เราอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในมหาฯลัย เราอยากเป็นครูด้วยไม่อย่างนั้นก็ไปเป็นนักวิจัยในบริษัทแล้ว ซึ่งมีเงินเดือนที่น่าดึงดูดมากกว่าอยู่ในมหาฯลัยทั้งเยอะ

อะไรทำคิดว่าจะต้องไปเรียนที่ต่างประเทศ

สำหรับคนที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ทุกคนจะรู้ดีหมดว่าเมื่อจะไปเรียนปริญญาเอก ที่เมืองนอกจะดีกว่า อย่าหาว่าดิฉันดูถูกมหาวิทยาลัยที่ไทยนะคะ อันดับแรกถ้าไปเรียนเมืองนอกคุณจะได้ภาษาอังกฤษกลับมาอยู่แล้วยกเว้นไปประเทศที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ เช่น ญี่ปุ่น คุณก็ต้องได้ทั้งญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษกลับไปด้วย ต่อให้คุณจะเลวร้ายอย่างไรนอกจากความรู้ที่ได้จากการเรียนแล้วคุณจะได้ภาษากลับมา และการเรียนจบต่างประเทศมันมีภาษีในการทำงานที่เมืองไทย นั่นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ดี แต่อีกอันที่ดีกว่าคือมหาฯลัยในต่างประเทศอยู่ในแถวหน้าด้านเทคโนโลยีกว่าที่ไทย แล้วบางครั้งสิ่งที่คุณอยากเรียนในประเทศไทยยังไม่มี ตอนนั้นพี่อยากเรียนชีวสารสนเทศ มันไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยมีเกลื่อนกลาดเหมือนตอนนี้ เพราะฉะนั้นการเรียนต่างประเทศมันคือการไปหาอนาคตกลับมา สิ่งเหล่านี้มันไม่มีในเมืองไทยเลยต้องหาจากต่างประเทศ อีกอย่างหนึ่งก็คือเราได้ทุนในต่างประเทศด้วย นี่เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราไปเรียนต่างประเทศได้ ถ้าเรียนในไทยแล้วคุณได้ทุนก็อาจจะได้เงินเดือนในระดับหนึ่ง อย่างคนที่จบป.โทแล้วได้ แต่ได้น้อยกว่าด้วย จริงๆ แล้วจบป.โทแล้วไปทำงานบริษัทได้เงินเยอะกว่าจบป.โทแล้วไปต่อป.เอกที่มหาฯลัยในไทยเยอะมาก นี่เป็นอีกข้อที่ทำให้คนไม่เรียนป.เอกในไทยถ้าเขาหาที่ทางในต่างประเทศได้ เพราะต่อให้คุณได้ทุน เทียบกับเงินที่คุณได้มันก็ไม่คุ้มอยู่แล้วที่จะเรียนในประเทศไทย คิดดูคุณจบป.โทตอนอายุ 24-25 บางคนมีลูกมีครอบครัว จะมาได้เงินเดือนหมื่นสองหมื่นมันไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งในต่างประเทศ อย่างเดนมาร์ก เรียนป.เอกคุณได้เงินเดือน 90,000 บาทมั้ง  มันคนละเรื่องกันเลยนะ ยังไม่นับเงินที่ใช้ในการวิจัย สารเคมี อุปกรณ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งคุณจะไปสัมมนาต่างประเทศ มันมีให้อยู่ในนั้น แบบนี้มันยากมากเลยนะที่จะได้ทั้งหมดที่พูดมาจากการเรียนในประเทศไทย

สมัครเรียนป.เอกอย่างไร

การเรียนป.เอกในต่างประเทศคือการทำงาน เป็น Junior Researcher เพราะฉะนั้นคุณสมัครมา ทุกที่ที่มีตำแหน่งปริญญาเอกเขาจะประกาศในมหาฯลัยอยู่แล้ว ในมหาฯลัยที่เดนมาร์กที่กำลังทำอยู่ไม่ได้ใช้คะแนน TOEIC/TOEFL ด้วยซ้ำ เขาประกาศในอินเทอร์เน็ตว่ามีตำแหน่งนี้นะ แต่ต้องเล่าก่อนว่าชินนี่รู้จักกับ Professor ที่เดนมาร์กคนหนึ่งที่เขามาเปิดเวิร์คช็อปตอนเราเรียนป.ตรีในไทย แล้วตอนที่เราอยากเรียนป.เอกเราก็อีเมลไปถามเขาว่ามันพอจะมีลู่ทางไหม เขาก็แนะนำว่าตำแหน่งนี้ว่าง ลองสมัครสิ เราก็สมัครไป แล้วในการสมัครนั้นไม่ใช้คะแนนภาษาอังกฤษเลย สิ่งที่เขาจะดูว่าคุณรู้สื่อสารได้ดีไหมก็คือใบ Cover Letter (จดหมายสมัครงาน) และเรซูเม และสิ่งที่สำคัญมากสำหรับสายวิทยาศาสตร์ ถ้าคุณอยากเรียนปริญญาเอกและอยากจะมั่นใจว่าได้แน่ๆ Paper Publication (งานวิจัยที่เคยถูกตีพิมพ์) ตอนป.ตรีหรือโทจะทำให้คุณโดดเด่นออกมา เพราะการเรียนป.เอก สิ่งหนึ่งที่ต้องผลิตออกมาแน่นอนคือการตีพิมพ์ ถ้ามีหลักฐานว่าเคยมีการตีพิมพ์แล้วก็แสดงว่าคนๆ นี้สามารถตีพิมพ์ผลงานได้ ก็จะมีสิทธิ์ในการเรียนมากกว่า และแน่นอนเขาต้องสัมภาษณ์เรา ประสบการณ์ทั้งหมดที่ใส่ใน CV เขาจะดูประสบการณ์เรา ถ้าตรงสายเขาก็จะเรียกเราไปสัมภาษณ์ แล้วตอนสัมภาษณ์นี่แหละจะเป็นตัวชี้ว่าพูดรู้เรื่องไหม คะแนน TOEIC/TOEFL ต่อให้ดีแค่ไหน ถ้าตัวเป็นๆ พูดไม่รู้เรื่องก็ไม่เอานะ 

ความยากง่ายในการเรียนป.เอกที่เดนมาร์ก

ความยากในการเรียนป.เอกในภาพรวมมันยากตรงที่เรามีเวลาแค่ 3 ปี (5 ปี ในบางที่) ในการทำงานวิจัยซึ่งเป็นโจทย์ใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ที่เราเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ทำ ในเวลาแค่นั้นกับการที่ยังเป็น Junior Researcher เราก็ลำบากเยอะนะ เหมือนเราต้องคลำทาง แล้วเราจะคลำทางไปได้ง่ายหรือยาก คนหนึ่งที่ช่วยได้คือ Supervisor (อาจารย์ที่ปรึกษา) ของเรา ถ้าเราเจอ Supervisor ที่รู้ว่างานวิจัยนี้มันมีจุดประสงค์อะไร ถ้าโปรเจคต์นี้มีคำนิยามที่ชัดเจนเราจะไม่ทำวิจัยเลื่อนลอย เรามีเวลาแค่ 3 ปีจะลองนั่นลองนี่ไม่ได้เยอะหรอก เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญอย่างแรกคือการคลำทางของเรากับโจทย์วิจัยที่ชัดเจนซึ่งจะมาจากอาจารย์ที่ปรึกษา ตรงนี้เป็นความยากโดยร่วมกันของคนเรียนป.เอกอยู่แล้ว 

ส่วนการที่มาเรียนที่นี่ ความยากอันดับแรกคือวัฒนธรรมของแต่ละที่ เรามาอยู่เดนมาร์ก ต่อให้คนจะพูดภาษาอังกฤษเก่งแต่ภาษาของเขาคือ Danish (ภาษาเดนมาร์ก) เพราะฉะนั้นสิ่งที่เจอคือเขาไม่ได้พูดภาษาอังกฤษตลอดเวลา แต่ก็ยังโชคดีที่ต่อให้เขาพูดภาษาเขา แต่เมื่อพูดกับเราเขาจะใช้ภาษาอังกฤษ เราก็เลยไม่เจอปัญหาเรื่องภาษามากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ภาษาอังกฤษของเราก็ไม่ได้ดี นี่คืออุปสรรคแรกของชินนี่นอกจากเรื่องวิชาการ คือ ภาษาอังกฤษ

ภาษาอังกฤษของดิฉันที่เพิ่งจบปริญญาโทหลักสูตรอินเตอร์ฯ ไม่ได้ดีพอที่จะใช้ในป.เอกได้หรอก แล้วดิฉันรู้นะ ตอนมาถึงที่นี่เห็นคนเดนมาร์กที่มาเรียนพร้อมกัน สามารถเข้าประชุมและเข้าใจสิ่งที่ทุกคนพูดและสามารถตั้งคำถามอย่างรวดเร็ว เรารู้สึกเลยว่าเราฟังรู้เรื่องและคิดคำถามช้ามาก ไม่นับที่เราต้องพรีเซนต์ขั้นตอนงานเรื่อยๆ คุณเคยต้องพรีเซนต์งานเป็นภาษาอังกฤษแล้วต้องมาทำบทไหม ช่วงแรกๆ ดิฉันเป็นคนทำบท แต่ไม่เกิน 2-3 เดือนแรกก็สรตะได้ว่า “เฮ้ย จะมานั่งทำบทแบบนี้แกไม่รอด” เพราะตอนจบป.เอกต้องพรีเซนต์เป็นชั่วโมงนะ จะท่องจำเป็นบทละครแบบนี้ไม่ได้นะ เพราะฉะนั้นเลิก โยนบททิ้ง แล้วใช้ความเข้าใจในการนำเสนอเอา

อย่างแรกคือชินนี่เปลี่ยนทุกอย่างที่อยู่รอบตัวจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ชินนี่ไม่ดูละครไทย เปลี่ยนเป็นซีรีส์เช่นเรื่อง Desperate Housewives อันนั้นติดมาก แล้วเราก็พูดกับคนต่างชาติ ไม่ได้รังเกียจคนไทยนะแต่เดนมาร์กไม่มีคนไทยเท่าไหร่อยู่แล้ว การเจอแต่เพื่อนฝรั่งแค่ปีครึ่งทำให้การพูด/ฟังภาษาอังกฤษของเราดีขึ้น แล้วก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อันนี้คือการพูด

อันดับสอง ต้องเขียน Publication (สิ่งพิมพ์) เราก็มีปัญหาเหมือนกัน และเชื่อว่ามันเป็นปัญหาของทุกคนที่เรียนที่เมืองไทย เรามีคลังคำศัพท์ในหัวน้อย เวลาเขียนจะใช้คำเดิมๆ แล้วจะเป็นน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรงเพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่ไม่มี Full Stop แล้วคุณจะพูดไปเรื่อย คุณจะทำแบบนั้นไม่ได้ในภาษาอังกฤษ ยังไม่นับที่คลังคำศัพท์ที่ไม่ค่อยมี ชินนี่พัฒนาการเขียนด้วยการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ นอกจากงานวิจัยแล้วก็อ่านหนังสือทั่วไปด้วย แต่ต่อให้ภาษาอังกฤษดีขึ้นจากทั้งหมดนี้ ชินนี่ก็เจออุปสรรคต่อมาที่ติดตัวมาจากเมืองไทย และชินนี่ก็เชื่อว่าทุกคนมี ซึ่งมันเป็นอุปสรรคในการเรียนป.เอกอย่างมากคือ การตั้งคำถาม 

เราไม่เคยถูกสอนให้ตั้งคำถามตั้งแต่อนุบาลหนึ่งจนจบป.ตรี ยันจนตายถ้าเรียนที่เมืองไทย แล้วการเรียนป.เอกมันคือการตั้งคำถามแล้วมา Discussion กัน การ Discussion คือไม่ใช่มาเถียงกันแต่เป็นการตั้งคำถามและตอบคำถามไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นนี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่ยากมาก การคิดคำถามว่ายากแล้ว อีกขึ้นคือคิดคำถามที่มัน Constructive (สร้างสรรค์) ที่มันสามารถต่อยอดไปเรื่อยๆ ได้ นี่คือสิ่งที่เดนมาร์กสอนเด็กนักเรียนของเขาตั้งแต่ตัวเล็ก จึงทำให้เขาไม่ต้องท่องจำมาก ไม่ต้องมานั่งเรียนร้อยแปดพันอย่างแล้วไปสอบเอ็นทรานส์ขนาดนั้น ถ้าเขาตั้งคำถามเป็น อนาคตไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไรเขาก็จะสามารถแก้โจทย์ได้ แต่ถ้าไม่มีทักษะการตั้งคำถามคุณก็ต้องอ่านเหมือนท่องบท แล้วเมื่อโลกมันเปลี่ยนไปบทที่คุณท่องมันก็จะหมดยุค ดิฉันเคยอ่านบทความของคนที่เขียนหนังสือ Sapiens (ผู้เขียน: Yuval Noah Harari) ซึ่งสิ่งที่เขาบอกน่าจะตอกกลับการเรียนการสอนที่เมืองไทยได้ดีเลย นั่นก็คือ “Questions you cannot answer are usually far better for you than answers you cannot question.” นี่สรุปเลยว่าที่เรียนจากการศึกษาไทยทั้งหมด ชินนี่อาจจะอยู่กับคำตอบที่ชินนี่ตั้งคำถามไม่ได้มาโดยตลอด แล้วชินนี่ต้องมา Deconstruct (แยกโครงสร้าง) ออกจากหัวไปให้หมดจนอยู่รอด ทำงาน เรียนจบมาถึงทุกวันนี้ 

ตอนเป็น Junior Researcher กับเป็นอาจารย์เต็มตัวมันต่างกันไหม

ความรับผิดชอบมันต่างกัน คนที่เรียนป.เอก บางครั้งเขาบอกว่ามันเป็นสิ่งที่มความสุขที่ในแง่ของวิชาการ เพราะคุณได้ขลุกอยู่กับสิ่งๆ เดียวตลอดเวลา แต่เมื่อมาเป็นอาจารย์ คุณจะไม่มีเวลาไปขลุกกับการวิจัยเหมือนตอนป.เอก เพราะคุณต้องดูแลหลายโปรเจคต์แล้วคุณต้องดีลกับเด็กนักเรียน กับเพื่อนร่วมงานหลายๆ คนจากหลายประเทศ มันมีเรื่องงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น แล้วความสนุกก็ต่างกัน ตอนป.เอกก็สนุกกับการทำวิจัย แต่ถามว่าตอนนี้สนุกไหมก็สนุกนะ พอเราเป็น Senior ขึ้นมา งานวิจัยเราไม่ใช่แค่ทำ เราต้องมองไปถึงอนาคตเพราะต้องเริ่มหาทุนวิจัย การหาทุนวิจัยต้องมองไปอนาคต คุณต้องเป็น Trend Setter ตรงนั้นคือเป็นทั้งความท้าทายและความสุขที่ได้เปลี่ยนบางสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้ การทำสิ่งนั้นมันยากเมื่อเราเป็นตัวเล็กตัวน้อย แต่เมื่อตัวใหญ่ขึ้นเราจะมีความสามารถในการเปลี่ยนและขัดเกลางานวิจัยให้มันเป็นไปในทางที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้ในอนาคต 

ปัจจุบันเลือกหัวข้อวิจัยอย่างไร 

พี่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อโรคดื้อยาหรือเชื้อโรคในอาหาร คือตอนนี้หรือในอนาคตเขาจะมีการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อโรคพวกนี้โดยใช้ข้อมูล DNA มากขึ้น เช่นตอนโควิดมีการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อดูว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ในอนาคตอันใกล้บริษัทที่ทำเรื่องอาหารจะต้องเอาข้อมูล DNA ของแบคทีเรียไปศึกษามากขึ้น ตอนที่พี่เลือกโจทย์งานวิจัยเพื่อเขียนทุนที่ได้ล่าสุด พี่คิดว่าถ้าเขาทำการถอดข้อมูลพันธุกรรมในแบคทีเรียใน Food Production (อุตสาหกรรมอาหาร) ของเขาได้ ต่อให้มีข้อมูล DNA เขาก็ไม่รู้ว่าจะวิเคราะห์มันอย่างไร เขาไม่มีความรู้ตรงนั้น หรือต่อให้มีมันก็ยากที่จะประดิษฐ์เครื่องมือหรือโปรแกรมต่างๆ พี่ก็เลยคิดจะทำเครื่องมืออันหนึ่งซึ่งรวบรวมข้อมูล DNA และเรื่อง Machine Learning (เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล) เข้ามา เพื่อจะหาว่าแบคทีเรียที่เจอในผลผลิตอาหารของเขามันมีความอันตรายแค่ไหน แล้วมันดื้อน้ำยาที่เขาใช้ในการกำจัดมันมากน้อยแค่ไหน พี่ก็จะทำให้เขารู้ว่ามันอันตรายแค่ไหน และกำจัดมันอย่างไร แล้วสิ่งเหล่านี้จะทำให้การควบคุมการผลิตอาหารมันเร็วและแม่นยำขึ้น 

งานวิจัยชิ้นไหนที่ทำแล้วชอบที่สุด 

มีอันหนึ่งที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการคาดเดา แต่ถูกคอมเฟิร์มจากโลกจริง นั่นคือการวิเคราะห์ว่าเชื้อตัวหนึ่งที่เคยก่อให้เกิดปัญหาในเดนมาร์ก คือเชื้อที่ชื่อว่า Salmonella (เชื้อซาลโมเนลล่า) ก่อปัญหาในหมู แล้วคุณอาจจะไม่เชื่อว่าเดนมาร์กส่งออกหมูเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าเกิดหมูเจอเชื้อก่อโรคเข้าไปเขาจะเสียหายเยอะ แล้วเคยเกิดปัญหาเชื้อ Salmonella ในหมูช่วง 30 ปีที่แล้ว เป็นปัญหาหนักมากทั้งโลก เราเลยเอาเชื้อตัวนี้มาถอดรหัส DNA แล้วดูว่ามันเริ่มระบาดปีไหนและไปที่ไหน แล้วผลการทดลองเรามันเห็นได้ว่ามันเริ่มระบาดตอนไหน แล้วตอนที่เริ่มระบาดมันเป็นแบคทีเรียที่ดื้อยาขึ้นเรื่อยๆ แล้วมันตรงกับที่เกิดขึ้นจริงๆ ในโลก แล้วในผลการทดลองเราเห็นว่ากราฟพุ่ง แล้วหายไป แล้วค่อยพุ่งอีกรอบหนึ่ง เราก็สงสัยว่ามันหายไปไหน การทดลองเราผิดพลาดหรือเปล่า เราเลยเอาไปให้หัวหน้าดู เขาบอกว่าช่วงที่คอมพิวเตอร์เราวิเคราะห์ว่ากราฟมันดร็อปลงคือปี 1996 แล้วเพิ่มขึ้นในปี 2000 ซึ่ง 1996 เชื้อนี้มันระบาดเยอะมากจนเดนมาร์กไม่รู้จะทำอย่างไรจนต้องฆ่าหมูเยอะมากเพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ แล้วหยุดฆ่าเพื่อดูว่าได้ผลไหม มันถูกต้องตามทำเราคาดการณ์ไว้ว่าเชื้อมันดร็อปและขึ้นมา เราไม่ได้บอกว่าการฆ่าหมูมันดีนะแต่นี่คือสิ่งที่เราคาดการณ์จากคอมพิวเตอร์มันตรงเป๊ะกับสิ่งที่เกิดขึ้น อันนี้ก็ทำให้ใจฟูขึ้นมา

ภูมิใจไหมที่เป็นหนึ่งในคนไทยที่เป็นอาจารย์ในเดนมาร์ก 

เราภูมิใจในฐานะที่เป็นคนๆ หนึ่งอยู่แล้ว ถามว่าภูมิใจว่าเป็นคนไทยไหม ชินนี่ไม่ค่อยคิดถึงคำนี้เท่าไหร่เพราะมองว่าตัวเองเป็น Global Citizen (พลเมืองโลก) มองว่าตัวเองสร้างผลงานของตัวเองที่สามารถเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ก็รู้สึกใจฟูแล้ว รู้สึกดีใจทุกครั้งที่เราทำให้คนไทยคนอื่นเห็นเราจากรายการ ไกลบ้าน ว่าเป็นคนไทยที่ประสบความสำเร็จในการเรียนต่อ เป็นอาจารย์ แล้วมันทำให้เขารู้สึกว่าการเรียนวิทยาศาสตร์มันไม่ได้ตัน มันมีหนทาง อันนี้ต่างหากที่ทำให้รู้สึกดีใจมากกว่าใน ‘ฐานะคนไทย’ อันนั้นเราไม่อะไรมาก แต่ดีใจที่น้องๆ คนไทยเห็นแล้วอยากทำงานด้านนี้หรืออยากมาเรียนในต่างประเทศ อย่าลืมนะว่าเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไทยไปเยอะเพราะขาดแรงกระตุ้น ขาดแรงบันดาลใจ รู้สึกว่าถ้าผลงานของเรากระตุ้นให้เขาอยากเรียนต่อไป แค่นั้นเราก็ดีใจแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่เราดีใจในชุมชนคนไทยก็คือใน 10 ปีที่แล้วที่มาอยู่ คนไทยโดยรวมไม่ค่อยมา(เดนมาร์ก)ในฐานะนักเรียน จะแต่งงานมา เราไม่ได้บอกว่าการแต่งงานมันไม่ดี เราไม่ได้ตัดสินนะ แต่เราจะบอกว่าภาพจำของคนเดนมาร์กคือผู้หญิงหรือผู้หญิงข้ามเพศไทยมาเดนมาร์กเพื่อแต่งงาน หรือไม่ก็มานวด ขายบริการ ซึ่งเราดีใจทุกครั้งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิเสธภาพจำเหล่านั้น เพราะคนที่มาอยู่ต่างประเทศไม่ใช่แค่มาแต่งงาน ต่อให้เขาแต่งงานเขาก็ทำงาน และทำหลากหลายด้วยเพราะมาจากหลากหลายพื้นเพ หลากหลายประสบการณ์ไม่ใช่แบบเดียวที่เราเคยคิดกัน มีครั้งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราได้ทำสิ่งนั้น คือที่เดนมาร์กจะมีห้องแชทเหมือนพันทิป แล้วมีคนแชทว่าผู้หญิงไทยไม่แต่งงานมาก็มาทำความสะอาด แล้วมีฝรั่งคนหนึ่งเอาโปรไฟล์เราที่เคยได้รับรางวัล 1 ใน 20 นักเรียนป.เอกดีเด่นที่นี่ แข่งกันทั้งประเทศ เราเลยมีโปรไฟล์อยู่ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ เขาก็ไปเอาโปรไฟล์แล้วมาบอกว่า นี่ไง ดูคนนี้สิ เป็นคนไทยที่มาเรียนแล้วได้รางวัลด้วย การที่เราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพจำให้เขาเห็นความหลากหลายของคนไทยที่นี่ได้ก็รู้สึกดีใจ

อะไรที่ทำให้เริ่มตั้งคำถามเรื่องการเมืองของไทย

ชินนี่ก็เหมือนกับหลายๆ คนที่เคยเป็น Ignorant (เพิกเฉย) ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะตั้งแต่ปี 2519 ทหารได้ทำให้มหาฯลัยเป็นสถานที่ Ignorant ทั้งหมด Gen X, Y ที่จบการศึกษาจากมหาฯลัยไทยมาก็กลายเป็นสายลมแสงแดด ไม่สนใจการเมืองไทยเพราะคิดว่าเป็นเรื่องสกปรก เราก็เป็นหนึ่งในนั้นจนกระทั่งมาอยู่ต่างประเทศ ในปีแรกๆ อย่างที่บอกว่าเราไม่อยู่ในทีวีไทยแล้ว สิ่งที่เราดูนอกจากซีรีส์ Desperate Housewives และ โมเมพาเพลิน เราก็ไปดูรายการหนึ่งที่มีผู้หญิงสามคนนั่งไขว่ห้าง แต่งตัวสวยมาก แต่หน้าเต็ม แล้วก็มาพูดจาการเมือง หนึ่งในนั้นคือพี่แขก-คำ ผกา นั่นคือรายการ Divas Cafe’ ตอนแรกเราดูแล้วก็ไม่เข้าใจว่าพี่แขกพูดอะไร เขาโกหกหรือเปล่า ทั้งเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราไม่ค่อยรู้เรื่อง ด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัว เราจะพิสูจน์ว่าสิ่งที่พี่แขกพูดมันผิด เลยไปหาหนังสือมาอ่าน เฮ้ย เขาก็พูดถูกนะ แล้วทุกครั้งที่เขาพูดอะไรมาเราก็จะไปค้นจนกระทั่งเราเลิกเป็น Ignorant เพราะรายการ Divas Cafe’ เป็นจุดเริ่มต้นให้ชินนี่เลิก Ignorant แล้วมาสนใจการเมืองไทย และหนังสือหลายๆ เล่ม อย่างหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือ (ผู้เขียน: ณัฐพล ใจจริง) ที่พูดถึงเหตุการณ์ 2475 ไล่ขึ้นมาจนเราเข้าใจ แต่จุดแตกหักที่ทำให้เราเปล่งเสียงออกมาคือเหตุการณ์กปปส.เมื่อ 8 ปีที่แล้วที่ออกมาขับไล่ (อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) แล้วตอนนั้นยิ่งลักษณ์ยุบสภาไปแล้วก็ยังไม่เลิก เรารู้สึกว่ายุบสภาแล้วก็เริ่มใหม่ด้วยการเลือกตั้ง จนถึงกระทั่งไปขัดขวางการเลือกตั้งจนเป็นโมฆะ เริ่มรู้สึกไม่ใช่แล้ว เลย Spoke Out ออกมาทางเฟซบุ๊กแล้วเพื่อนมหาฯลัยหรือมัธยมของเราก็ถูกล้างสมองทำให้เป็น Ignorant มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แล้วเราก็เป็นคนราชบุรีด้วย ทำให้เพื่อนตัดขาดเราไปบ้าง ซึ่งเราก็ไม่ได้แคร์ 

มีอยู่วันหนึ่งโดนคนๆ หนึ่งในเฟซบุ๊กลากไปด่าในเพจกปปส. แล้วเราก็คอมเมนต์สู้กันประมาณ 200 คอมเมนต์ นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการ Speak Out ของเราค่ะ

การเมืองไทยวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน 

พี่คิดว่าเปลี่ยนไปเยอะมาก จาก Ignorant เป็น Enlightenment (รู้แจ้ง) ไปแล้ว ตอน 2519 ที่ทำให้นักศึกษาและคนรุ่นใหม่เป็น Ignorant ทางการเมือง มันคือการ “Salimization” (การทำให้เป็นสลิ่ม) แล้วตอนรัฐประหาร 49 Salimization แข็งแรงสุดเพราะมีการให้ดอกไม้กับผู้ทำรัฐประหาร มันคือปรากฏการณ์ทำให้รัฐประหารเป็นสิ่งที่ดี ความเป็นสลิ่มสูงปรี๊ดคือปี 49 ปี 53 ก็เช่นเดียวที่มาการทำ Big Cleaning Day หลังจากที่เพื่อนร่วมชาติ 100 ศพโดนฆ่า พอปี 57 ที่ทำรัฐประหารเราก็เห็นว่ามีคนเริ่มออกไปประท้วงนะ ต่อให้มันจะไม่ได้มากแต่มันก็มีให้เห็น จนกระทั่ง 2 ปีที่แล้วที่นักศึกษาทะลุกะลาออกมาแล้ว กะลาที่ครอบอยู่มันอาจจะไม่ได้พังแต่ก็บางลงจนมองเห็นแสงกันหมด แล้วการพูดเรื่องการเมืองมันไม่ใช่แค่เผด็จการหรือรัฐประหาร แต่มันพูดถึงใจกลางของปัญหาทั้งหมดในประเทศเรา ลากสิ่งที่ค้ำจุนรัฐไทยออกมาพูดทั้งหมด แล้วมันไม่มี Filter ไม่ต้องกลัวอะไรกันแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่มันมาไกลมากและเห็นชัดว่าคนเลิกเป็นสลิ่มเยอะมาก แล้วทำ ‘ควายแดง’ ที่เป็นความจัญไรของสังคมเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วกลายเป็น ‘สลิ่ม’ ที่เป็นความจัญไรของสังคมตอนนี้ วันหนึ่งที่คุณเห็นนิตยสารที่เอากปปส.ไปขึ้นปก แล้ววันนี้สลิ่มเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากจะเป็น และที่สำคัญที่สุดคือเราเห็นความหวังจากประเทศไทยมาก แม้จะยังมีเพื่อนๆ น้องๆ เราที่อยู่ในคุก ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พิจารณาคดีใดๆ เลย เราเห็นความไม่เป็นธรรม เห็นคนที่แม้จะลี้ภัยไปต่างประเทศแล้วยังโดนอุ้ม เราเห็นสิ่งที่น่าเศร้าตลอดเวลา แต่ชินนี่เห็นแสงในอุโมงค์ว่าในสังคมไทยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Consensus’ หรือฉันทามติ ประทับตราไว้ว่า “เราไม่เอารัฐประหารอีกต่อไปแล้ว” จากที่ให้ดอกไม้รัฐประหารสู่ความคิดที่ว่ารัฐประหารเป็นสิ่งชั่วช้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อ 7 ปีที่แล้วเรามองไม่เห็นเลย แต่ตอนนี้เรามองเห็นแล้ว 

สื่อมีผลสำคัญไหมในการปลุกให้คนได้เรียนรู้มากขึ้น 

สำคัญมากทั้งในเชิงประโยชน์และเป็นโทษ คุณก็ดูสื่อ Voice TV ที่ปลุกวิญญาณประชาธิปไตย แต่ก็มีอีกสื่อที่ปลุกวิญญาณอธิปไตย เขาบอกว่าสื่อเป็นฐานันดรหนึ่งที่จะจูงให้สังคมไปในทิศทางไหน เพราะฉะนั้นถ้าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย สื่อในกระแสหลักก็ต้องเป็นประชาธิปไตย เหมือนสื่อที่เดนมาร์ก ไม่มีใครพูดว่ารัสเซียดีอย่างไร สื่อกระแสหลักที่เดนมาร์กพูดเลยว่านี่เป็นวิกฤตที่รัสเซียไปบุกยูเครน แต่สื่อไทยก็ยังมีที่บอกว่ายูเครนหาเรื่อง หรือในอเมริกา แม้จะเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยแต่ก็มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี คุณก็จะเห็นสื่ออันหนึ่งสนับสนุนสิทธิมนุษยชน แต่อีกอันไม่สนับสนุนสิทธิสตรีหรือ LGBTQ จะเห็นว่ามันมี 2 อย่าง แต่อย่างก็ตาม Baseline (พื้นฐาน) ทั้งหมดคือต้องให้สื่อมี Freedom of Speech (เสรีภาพในการพูด) ต่อให้อเมริกามันเลวร้ายแค่ไหนแต่เขาก็ยังมี Freedom of Speech ให้กับสื่อ แต่ประเทศไทยคือมี Freedom of Speech ให้กับสื่อที่เป็นอประชาธิปไตย เอาข่าวปลอมขึ้นมาพูดก็ไม่เป็นไร แต่สื่อประชาธิปไตยอย่าง Voice TV โดนปิดกี่รอบแล้ว ปัญหาจริงๆ คือ Freedom of Speech ต่างหาก ล่าสุดจัดอันดับความอิสระของสื่อ สื่อประเทศไทยก็แย่ลงไปอีก 

เล่าเรื่อง 112 ที่เดนมาร์กหน่อย 

เดนมาร์กก็เป็น Constitutional Monarchy (ระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ) เหมือนอังกฤษ เหมือนที่ไทยเขียนเอาไว้ว่าอย่างนั้น เขามีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ ซึ่งเป็นราชินีนะ Queen Margrethe II มีมาตรา 115 ถ้าโดนโทษติดคุกหลักเดือน ไม่หลักปี หมิ่นคนทั่วไปติดคุกเท่าไหร่ หมิ่นกษัตริย์ติดคูณสอง และไม่มีโทษขั้นต่ำว่าจะเริ่มต้นเท่าไหร่ และใครฟ้องไม่ได้ ต้องเป็นหน่วยงานทางด้านนี้ที่ทำหน้าที่ฟ้อง ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ปัจจุบันก็ไม่มีการฟ้อง แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่ต้องดูกันว่าเข้าข่ายไหม 

มีการเลี้ยงดินเนอร์ในวังที่พระราชินีอยู่ ในวังนั้นมีบุคคลหลากหลายทั้งคนเดนมาร์กและต่างประเทศ ทุกคนแต่งชุดราตรี มี NGO กลุ่มหนึ่งใส่ชุดราตรีปลอมเข้าไปในงาน กางป้ายประท้วงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในงานดินเนอร์ที่จัดโดยพระราชินี อันดับแรกคือบุกเข้าไปในพระราชวัง เขาทำขนาดนั้นแต่คุณรู้ไหมเขาโดนข้อหาอะไร โดนข้อหาปลอมแปลงทะเบียนรถ เพราะเขาปลอมแปลงทะเบียนรถจริงๆ เพื่อเข้าวัง และไม่โดนข้อหาอื่นเลย ไม่โดนข้อหาหมิ่นใดๆ 

ยังไม่จบ มีนักแสดงตลกคนหนึ่ง แต่งตัวล้อเลียนราชินีตั้งแต่หนุ่มยันแก่ แล้วตอนแก่ วันสุดท้ายที่แสดงล้อเลียนบนเวทีก่อนจะเกษียณ มีผู้หญิงแก่คนหนึ่งเดินไปเซอร์ไพรซ์บนเวที ผู้หญิงแก่คนนั้นคือ Queen Margrethe II หรือประมุขของประเทศ ไปให้ของขวัญคือที่เขี่ยบุหรี่ เพราะนักแสดงตลกคนนั้นล้อเลียนที่ราชินีสูบบุหรี่เยอะ แล้วเขาก็กอดกัน คลิปนั้นเป็นไวรอล ทุกคนดีใจ ราชินียิ้ม นักแสดงตลกยิ้ม เขาไม่โดน 115 เพราะแต่งตัวล้อเลียน 

โอกาสของ LGBTQ ในสังคมเดนมาร์กเท่าเทียมกับกลุ่มเพศอื่นไหม

มาเลยค่ะ นี่คือสวรรค์ของ LGBTQ ค่ะ เดนมาร์กเป็นประเทศแรกๆ ของโลกเลยนะที่ให้แต่งงานได้ และกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันมันพัฒนาจนกระทั่งสามารถแต่งงานในโบสถ์ได้แล้ว ถ้าคุณไม่ใช่คริสต์คุณจะไม่เข้าใจว่าการแต่งงานในโบสถ์มันสำคัญขนาดไหน เพราะมันคือการยอมรับอย่าสุดลิ่มทิ่มประตู แต่มันก็มีพระสงฆ์บางรูปที่ไม่ยอมรับ ไม่เป็นไร กูไปแต่งโบสถ์อื่นได้ รวมกฎหมายในการมีบุตรที่นี่ คุณสามารถลางานไปมีบุตรปีหนึ่งหรือครึ่งปีพร้อมรับเงินได้นะ คนเป็น LGBTQ ไม่ว่าจะท้องเองหรือไปรับมา คุณได้สิทธิ์ในการเลี้ยงบุตรเท่ากับ Cismen/Ciswomen ไปเลย 

เรื่องของการทำงาน วัฒนธรรม ดิฉันไม่รู้สึกถึงการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงานเลย รวมถึงเพื่อนที่เป็นเกย์คนอื่นๆ ในที่ทำงาน อย่างที่ทำงานไทย ถ้าคุณเป็น Gay man คนหนึ่ง ถ้าวันหนึ่งเขารู้ว่าคุณเป็นเกย์จะเปลี่ยนสรรพนามจาก “คุณ A” เป็น “อี A” จะทรีตเขาผิดแปลกไปจากตอนที่ยังไม่รู้ว่าเขาเป็น แต่ที่นี่ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร เขาพูดกับคุณอย่างไรในวันแรก เขาก็จะพูดกับคุณอย่างนั้นตลอดไป สมมติเพื่อนที่เป็นเกย์บอกว่าจะไปเที่ยววันหยุดกับ Boyfriend ก็จะไม่มีใครตกใจ แต่ถามว่าเป็นแบบนี้ทุกคนในเดนมาร์กไหม มันก็ไม่ใช่ แต่โดยทั่วไปโดยเฉพาะในมหาฯลัยเขาจะ Liberal 

และอยากจะบอกว่างาน Pride ที่นี่ยิ่งใหญ่ ใหญ่โตชนิดที่ว่าปิดเมืองเลย แล้ว Pride ที่นี่ไม่ได้มีแต่ LGBTQ มาเดิน หยุดเรียกว่า Gay Pride ไปนานแล้วเพราะ Pride คือทุกคนที่อยู่ชายขอบ เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนจะมาเฉลิมฉลองในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เพราะฉะนั้นที่นี่คือสังคมเป็นมิตรต่อ LGBTQIA+ อีกที่หนึ่งของโลก

สถานการณ์ทางการเมืองในเดนมาร์กตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ทั้งยุโรปตอนนี้เป็นเรื่องของยูเครนและรัสเซีย มันเป็นวิกฤตที่ทำให้ของแพง แต่บังเอิญคนที่นี่เขามีรายได้ แต่ที่ไทยคนไม่มีกินและของแพง เหมือนตบหน้าแล้วกระทืบซ้ำ ที่นี่คนยังมีเงินมีงาน ต่อให้ตกงานเขามีรัฐสวัสดิการเงินเดือน 2 ปีเพื่อหางานใหม่ หรือลาป่วยเป็นซึมเศร้าคนออกไปใช้สิทธิ์ป่วยได้เลย มันมีฟูกรัฐสวัสดิการคอยหล่อเลี้ยงตรงนี้ไว้ การเมืองตรงนี้ก็เป็นเรื่องยูเครนกับรัสเซีย เดนมาร์กเพิ่งลงมติว่าจะเอาเงินตัวเองไปช่วยเหลือรัสเซียไหม สรุปผลโหวตกว่า 60% คนเดนมาร์กอยู่ข้างยูเครน ถามว่ากังวลอะไรในการเมืองเดนมาร์ก มันมีการลุกฮือของการเกลียดกลัวคนต่างชาติ มันมีพรรคกลางๆ ที่ค่อนข้างไปทางเสรีนิยม (แต่ไม่ใช่เสรีนิยม) พรรคพวกนี้ต้องการเสียงของประชาชน เลยไปเอานโยบายที่กีดกันคนต่างชาติมาใช้ ซึ่งตัวเองไม่ใช่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม สิ่งเหล่านี้มันมีผลจากเรื่องผู้ลี้ภัยที่ทำให้คนเดนมาร์กเกลียดกลัวต่างชาติมากขึ้น แล้วมันส่งผลให้คนต่างชาติทุกได้รับ Workpermit หรือ Visa ยากขึ้น และทำให้พรรคขวามีที่ทำมาหากินในสภา แต่ก็ต้องดูต่อไปว่าในอนาคตจะหันไปทางซ้ายหรือขวามากขึ้นค่ะ

สิ่งที่คนไทยต้องรู้ก่อนไปเดนมาร์ก

อย่ามาหน้าหนาว เพราะหนาวมาก ชินนี่มาเรียนป.เอกวันแรกคือเดือนธันวาคม ซึ่งเลือกวันไม่ได้อยู่แล้ว ก็มาธันวาฯ คุณรู้ไหมบินเมืองไทย +36 องศา มาถึงที่ -6 ห้องเก็บเชื้อในที่ทำงานอุ่นกว่าข้างนอก แต่ถ้าคุณอยากมาก็มาช่วงฤดูใบไม้ผลิ หน้าร้อน หรือใบไม้ร่วง พฤษภาคมถึงกันยายน 

ส่วนที่เหลือคืออย่าคิดว่าเดนมาร์กปลอดภัย ต้องระวังกระเป๋าทุกที่ที่ไปเที่ยวอยู่แล้ว แล้วต้องระวังอะไรอีกนะ ไม่มีอะ มันมีแต่สิ่งที่ดี (หัวเราะ)

พูดถึงชีวิตตอนนี้และอนาคตของตัวเองในอีก 5 ปีข้างหน้าหน่อย

อนาคตพูดเลยว่าจะอยู่เดนมาร์กต่อ ยังไม่กลับไทยแน่ๆ คงได้เป็นรองศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ สิ่งที่หวังในการทำงานที่แน่นอนเราอยากเป็นศาสตราจารย์ นั่นคือเป้าหมายในอาชีพ ส่วนการเป็นคนไทยที่อยู่ที่นี่ยังมีความสุขอยู่ ต่อให้เราเป็นคนต่างชาติก็ยังได้รับการปฏิบัติที่เท่ากัน มันไม่เป๊ะหรอก อย่าไปหาความเท่ากันเป๊ะๆ แค่เท่าสักประมาณหนึ่งก็โอเคแล้ว รู้สึกว่าเรามีความเป็นประชากรของที่นี่ ถ้าไปถามคนไทยคนอื่นๆ เขาก็คงรู้สึกเหมือนกันว่าได้เป็นประชากรในประเทศที่มันมีรัฐสวัสดิการแบบนี้ มีครั้งหนึ่งอาจารย์มหาฯลัยที่เราเคยเรียนด้วยถามว่าทำไมเราไม่กลับเมืองไทย ทำไมเราไม่มาช่วยพัฒนาเมืองไทยด้วยกัน เธอออาจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ 100% อาจจะ 10% ก็ได้ ดิฉันไม่ได้ตอบแต่คิดในใจว่าถ้ากลับไปทำงานที่เมืองไทย ดิฉันเป็นนักวิชาการหรืออะไรก็ตาม ถ้าเป็นอย่างที่อาจารย์พูดว่าสามารถเปลี่ยนแปลงเมืองไทยได้ 10% เฮ้ย แต่ดิฉันกำลังใช้พลังงานทำให้วงจรอุบาทว์ 90% มันหมุนไปนะ ดิฉันจำคำแม่มังกรจากเรื่อง Game of Thrones บอกว่า “I’m not gonna run the wheel, I’m gonna break the wheel” กูจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของวงล้อนี้แต่กูจะพังวงล้อนี้ ถ้าฉันกลับเมืองไทยก็จะทำแบบแม่มังกร แต่ก็คงไปอยู่ในคุก เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัว อยู่ที่นี่ต่อไปดีแล้ว

แต่ในแง่ของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่เลยที่ชินนี่ไม่ได้ประโยชน์ให้ประเทศไทย ชินนี่มีส่วนในการช่วยนักวิจัยในประเทศไทย มีส่วนในการสอนหนังสือให้นักวิทยาศาสตร์ไทยหลากหลายครั้ง อันนี้ดิฉันได้ทำประโยชน์ให้ ถ้าอยู่เมืองไทยอาจจะไม่ได้ทำประโยชน์เหล่านั้นเลยก็ได้ แล้วเดี๋ยวเดือนพฤศจิกายนจะไปพูดงานสัมมนาในฐานะ Kino Speaker ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า