fbpx

คอนเทนต์เรื่องเพศในวันที่ประชาชนรู้ว่าอะไรถูกผิด แต่รัฐคิดแทนด้วยการจัดเรตติ้ง

รัฐพอใจให้คนแต่ละวัยรับรู้เรื่องเพศมากน้อยต่างกันเท่าไร และต้องการให้คนในชาติรับรู้เรื่องเพศในทิศทางใดนั้น ตอบได้ยาก

แต่เราพอจะทราบคำตอบกลาย ๆ แต่แจ่มแจ้งจากแนวทางที่ออกโดยองค์กรอิสระของรัฐ ที่มีหน้าที่กำกับสื่อวิทยุโทรทัศน์และเนื้อหาอย่าง ” สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) “

แนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการ สำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 นั้น กำหนดว่า พฤติกรรมและความรุนแรง เรื่องทางเพศ และภาษา เป็น 3 ประเด็นที่ใช้จัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาและรายการที่ควรจำกัด

ซึ่งคล้ายกับการจัดเรตภาพยนต์ (Film Rating) ที่พวกเราคุ้นหูนั่นเอง

เรื่องทางเพศที่ กสทช. พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสมประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อย ได้แก่ สรีระและการแต่งกาย การแสดงสัมพันธภาพทางเพศที่สร้างกามารมณ์ การแสดงออกที่สื่อความหมายทางเพศที่ไม่เหมาะสม และสุดท้าย ค่านิยมทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับสังคมและวัฒนธรรมไทย ซึ่งทั้งหมดค่อย ๆ เปิดเผยเนื้อหาทางเพศมากขึ้นตามประเภทรายการสำหรับผู้รับชมแต่ละช่วงวัย ซึ่งมี 6 ระดับ ได้แก่

  1. รายการสำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 3 – 5 ปี (ป)
  2. รายการสำหรับเด็ก อายุ 6 – 12 ปี (ด)
  3. รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย (ท)
  4. รายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุ 13 ปี ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปี ควรได้รับคำแนะนำ (น ๑๓)
  5. รายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปี ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรได้รับคำแนะนำ (น ๑๘)
  6. รายการเฉพาะไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน (ฉ)

ปี พ.ศ. 2556 รัฐโดย กสทช. ได้ระดมความคิดร่วมกับสื่อ นักวิชาการ และองค์กรวิชาชีพ จนเห็นชอบร่วมกันและแน่นอนว่าผ่านความพึงพอใจของรัฐแล้ว ว่าอนุญาตให้ปรากฏเนื้อหาทางเพศในรายการสำหรับคนต่างวัยได้ในระดับที่ต่างกัน โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

  1. สรีระและการแต่งกาย

รายการประเภท ป และ ด ตัวละคร ตัวการ์ตูน พิธีกรและผู้ร่วมรายการต้องแต่งกายมิดชิดตามกาลเทศะและประเพณี หรือตามกติกาสากล ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนต้องแต่งกายสมวัย เว้นว่าเป็นเรื่องในจินตนาการ (แฟนตาซี) หรือมีบริบทหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับรายการประเภท ท และ น๑๓ นั้น ต้องไม่มีการแต่งกายที่มีเจตนายั่วเพศ แต่อาจปรากฏได้บ้างตามบริบทของเรื่อง แต่ต้องไม่นำเสนอบ่อยครั้ง ส่วนรายการประเภท น๑๘ นั้นแต่งกายโป๊ได้บ้างตามบริบทของเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

และสุดท้ายรายการประเภท ฉ สามารถปรากฏสรีระและการแต่งกายที่โป๊ ไม่มิดชิดได้ แต่ต้องไม่ขัดกับกฎระเบียบและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ

  • การแสดงออกที่สร้างกามารมณ์หรือสื่อความหมายทางเพศไม่เหมาะสม

รายการประเภท ป และ ด ต้องไม่ปรากฏการชวนสร้างกามารมณ์เลย แต่สำหรับรายการประเภท ท และ น๑๓ นั้น ปรากฏการแสดงออกที่ว่ามาได้ตามบริบท โดยไม่ชี้นำไม่แสดงขั้นตอนของการกระทำที่ชัดเจน ไม่ปรากฏบ่อยครั้ง และในกรณีที่แสดงความรักต้องเหมาะสมตามประเพณี

ส่วน รายการประเภท น๑๘ นั้น ปรากฏพฤติกรรมสร้างกามารมณ์และไม่เหมาะสมได้แต่ต้องไม่ส่อไปในทางลามกอนาจาร และสุดท้ายรายการประเภท ฉ ต้องไม่แสดงขั้นตอนการผิดประเพณี ผิดกฎหมาย หรือผิดธรรมชาติที่ชัดเจน และต้องไม่ขัดกับกฎ ระเบียบ และกฎหมาย เช่นเดียวกับประเด็นย่อยก่อนหน้า

  • ค่านิยมเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมกับสังคม และวัฒนธรรมไทย

รายการประเภท ป และ ด ต้องไม่ปรากฏค่านิยมไม่เหมาะสม สำหรับรายการ ท และ น๑๓ นั้นต้องไม่ปรากฏเช่นกัน เว้นแต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเพราะ เป็นบริบทของเรื่องหรือเป็นแฟนตาซี หรือเพื่อสะท้อนและให้การเรียนรู้สภาพปัญหาสังคม โดยต้องไม่ชักนำชักจูง

ส่วน รายการประเภท น๑๘ นั้นปรากฏค่านิยมที่ไม่เหมาะสมได้ตามบริบทของเรื่องและต้องไม่ส่อไปในทางลามกอนาจาร แต่สำหรับรายการประเภท ฉ นั้น ปรากฏได้โดยไม่แสดงขั้นตอนการกระทำอย่างชัดเจน และต้องไม่ขัดต่อ กฎ ระเบียบ และกฎหมาย

และนี่คือ ความแตกต่างของเนื้อหาทางเพศที่ปรากฏในรายการสำหรับคนแต่ละช่วงวัย ซึ่งเรียบเรียงได้จาก แนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ฯ ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดเนื้อหาฉบับเต็มจากเว็บไซต์ของ กสทช. เพื่ออ่านต่อได้อย่างจุใจ

ทีนี้คุณผู้อ่านอาจสังเกตและสรุปได้เหมือนกันแล้วว่า ระดับการปรากฏเนื้อหาทางเพศของรายการประเภท ท และ น๑๓ นั้นเหมือนกันทุกประเด็น อาจสะท้อนได้ว่า รัฐเชื่อว่าเด็กวัยนี้มีวิจารณญาณทางการแสดงออกด้านเพศและมีค่านิยมที่สอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมแล้ว แต่ไม่แหลมคมนัก จึงต้องมีผู้ปกครองกำกับชี้แนะ

ส่วนเด็ก 6 ขวบนั้นยังมีวิจารณญาณต่อการแสดงออกทางเพศ การสื่อความหมายทางเพศ และอาจมีค่านิยม ที่ยังไม่มั่นคงกับสังคม และเรียนรู้วัฒธรรมไทยนัก ทั้งนี้ รัฐให้เหตุผลว่าต้องปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการรับชมสื่อที่ไม่เหมาะสมกับวัย

ซึ่งเราอาจปะติดปะต่อและคาดเดากันได้ว่ารัฐนั้น คิดว่า การเปิดเผยสรีระ การแต่งกาย การแสดงออกทางเพศ และการมีค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย จะไปเบียดบังการพัฒนาศักยภาพและเติบโตเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพด้านต่าง ๆ ส่งผลให้เนื้อหาทางเพศเป็นสิ่งที่ต้องจำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้รับชมที่มีอายุน้อย

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าว ยังได้พิจารณาเนื้อหาทางเพศจากภาพ เสียง เนื้อหา น้ำหนักของเนื้อเรื่อง และมุมกล้อง ประกอบกัน ผู้รับชมจึงมักเห็นตัวละครชู้นั่งรถไปด้วยกันบ้าง จูงมือเข้าห้องกันบ้าง ผ้าห่มตัวแอลบ้าง แทนการแสดงออกถึงการลูบไล้ หรือนอกใจบนเตียง

นอกจากนี้ เรื่องทางเพศ เช่น การทำแท้ง และการมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย ยังได้รับการระบุว่าเป็นการแก้ปัญหาที่มอมเมา หรือขัดต่อหลักเหตุผลที่เป็นจริงและศีลธรรมอันดีของสังคม ด้วย

ถึงตอนนี้ เราอาจคิดว่ารัฐมองการเข้าถึงเนื้อหาทางเพศ ว่าเป็นสนิมกร่อนกินทรัพยากรมนุษย์ภายในชาติ เท่านั้น แต่มิใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว

เพราะรัฐได้ส่งเสริมเนื้อหาทางเพศให้ประชาชนเรียนรู้ ยอมรับ เข้าใจ และชื่นชมในความหลากหลายในมิติต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องเพศ ลดการเหยียดเพศ พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ด้วย

สุดท้าย ในฐานะผู้รับสื่อที่รัฐร่วมพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหาด้านเพศนั้น เราก็คงต้องรอชมรายการที่มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงขัดต่อพัฒนาการของเยาวชน ในผังตอนกลางดึกกันต่อไป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า