Modernist ได้ลงพื้นที่ไปยัง มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Swing) เพื่อพูดคุยถึง การเดินทางของ Swing องค์กรที่เป็นที่พักพิงและให้ความช่วยเหลือแก่ “เพื่อนพนักงานบริการ” ให้มีสิทธิเทียบเท่ากับอาชีพอื่น ๆ และถูกคุ้มครองจากกฏหมาย กับพี่สุรางค์ จันทร์แย้ม (ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ) จากจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งมูลนิธิ ไปจนถึงประเด็นของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อ พนักงานบริการ (Sex worker)
จุดเริ่มต้นของ Swing
พี่สุรางค์ได้บอกเล่ากับพวกเรา ถึงการริเริ่มจัดตั้ง Swing และเส้นทางการเป็นนักกิจกรรม ในการให้ความช่วยเหลือ Sex worker โดยพี่สุรางค์ได้เดินสายนักกิจกรรมตั้งแต่ก่อนหน้าปี 2547 จากการทำงานร่วมกับ พนักงานบริการ (Sex worker) มาก่อน ซึ่งในขณะที่พี่สุรางค์ได้ทำงานด้านการช่วยเหลือ Female sex worker กลับเริ่มมี Male sex worker เข้ามาขอรับความช่วยเหลือและขอเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก จึงกังวลในเรื่องของการผิดกลุ่มเป้าหมายขององค์กร แต่ด้วยจำนวนของ Male sex worker ที่หลั่งไหลเข้ามา จึงฉุกคิดว่าไม่สามารถปล่อยปละละเลยได้
พี่สุรางค์เล่าว่า “ด้วยความที่ Gender ไม่ใช่ผู้หญิง เขาไม่สามารถไปบอกใครหรือพูดกับใครได้ ความคาดหวังสังคมกับ Gender ที่เพศสภาพดูเป็นชาย มันก็ยากพอสมควร ก็เลยคิดว่าเราปล่อยให้ปัญหามันเกิดขึ้นแบบนี้ไม่ได้ เราคงต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว” ปัญหามากมายที่สลับซับซ้อนและต้องการขอความช่วยเหลือ แต่กลับขาดองค์กร หรือโปรเจกต์ของรัฐที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ จึงทำให้พี่สุรางค์เกิดการคิดริเริ่มในการจัดตั้งมูลนิธิ โดยร่วมกับพนักงานบริการชาย และพี่ตี๋ (รองผู้อำนวยการมูลนิธิ) เพื่อให้ความช่วยเหลือ Male Sex Worker และ Transgender Sex Worker เริ่มต้นจากการทำแผนที่ แสดงตำแหน่งสถานบริการ เมื่อทราบถึงจำนวนคนแล้ว จึงนำไปสู่ขั้นตอนการขอทุน มาก่อตั้งเป็นกลุ่มเพื่อนพนักงานบริการหรือ Swing ภายหลังมีการให้ความช่วยเหลือทุกเพศ โดยมุ่งเน้นประเด็น Sex worker
ความยากง่ายในการปรับเปลี่ยนการทำงานจาก Female sex worker สู่ Male sex worker
ช่วงแรกของการคิดริเริ่มจัดตั้งองค์กร คนที่ทำงานให้แก่ กลุ่มชายรักชายมีความคิดเห็นที่ว่า Male sex worker เป็นหนึ่งในกลุ่มของกลุ่มชายรักชาย คนที่ทำงานเคลื่อนไหวให้แก่กลุ่มชายรักชายจึงมีธงในใจว่าคนที่มาทำงานให้ จะต้องเป็นคนกลุ่มเดียวกันเท่านั้น ความยากที่เห็นได้ชัดคือ ในเรื่องของ ‘การยอมรับ’ เนื่องจากพี่สุรางค์เป็นผู้หญิง และต้องเข้ามาเป็นหัวหน้าองค์กรในการผลักดันประเด็นของ Male sex worker
พี่สุรางค์เล่าว่า ก่อนหน้านี้มีการต่อสู้ในเรื่องการยอมรับ อีกทั้งทัศนะของคนในองค์กรด้วยกันเอง เกิดความยากในเรื่องของการต่อสู้ทางด้านความคิด นอกเหนือจากนั้น ยังมีความยากในเรื่องของการทำให้ Swing เป็นที่ยอมรับในพื้นที่ชุมชน หรือ สถานบริการ เนื่องจากเคยมีเหตุการณ์ที่ภาครัฐหรือนักวิจัย เข้าไปเก็บข้อมูล เมื่อได้ประโยชน์แล้วจึงจากไป Swing จึงต้องใช้เวลาพิสูจน์กันพอสมควรว่าเรามีความตั้งใจจริงในการให้ความช่วยเหลือ
สถานการณ์ของพนักงานบริการทางเพศกับกฎหมายที่เกิดขึ้น
กฎหมายที่ปฏิเสธการค้าประเวณีและคนขายบริการมาตั้งแต่ พ.ศ.2503 จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ คือกฎหมายฉบับล่าสุดปี 2539 ที่มีความผิด 4 มาตราที่เอาผิดพนักงานขายบริการ ซึ่งเป็นกฎหมายที่นอกจากไม่ให้การยอมรับเรา ยังมองเป็น ‘อาชญากร’ พี่สุรางค์อยู่ในประเด็นนี้มานาน และค่อนข้างรับรู้ในแง่กฎหมายที่เกิดขึ้น นอกจากสังคมยังไม่ยอมรับการมีอยู่ของการขายบริการ อีกทั้งยังมีการมองในมิติของศาสนา เรื่องของความบาป แต่ละมิติจึงเป็นเหมือนกำแพงกั้นในการทำองค์กร
พี่สุรางค์เล่าว่า เมื่อเจอประเด็นแบบนี้ หากยิ่งชน ยิ่งมีแรงปะทะเยอะ จะยิ่งเพิ่มกำแพงความหนามากยิ่งขึ้น และปัญหาอาจตกไปอยู่ที่ตัวพนักงานขายบริการเอง สิ่งที่พี่สุรางค์ทำคือการเปลี่ยนวิธีการใหม่ ค่อย ๆ ทำความเข้าใจให้สังคมและคนอื่น ๆ เข้าใจในการทำงาน ด้วยความที่มีความผิดทางกฎหมาย สังคมยังไม่ค่อยให้ความยอมรับ จึงมีการตีตราอยู่มากมายและซับซ้อน

การทำงานกับสื่อในการนำเสนอประเด็น Sex worker
“บางสื่อถ้ามันหนักหนาสาหัสที่จะทำให้ภาพเรา Negative เราก็ขอปฏิเสธ
เพราะเราไม่อยากเป็นคนที่จะไปตอกย้ำความ Negative ของพี่น้องเราอีก”
พี่สุรางค์เล่าว่า มีสื่อที่มีความสนใจในประเด็นของพนักงานบริการ (Sex worker) และพร้อมจะเข้าใจในแง่ของความเป็นมนุษย์ แง่เดียวกับที่องค์กรให้ความสำคัญ เพราะทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน ดังนั้นพนักงานบริการ (Sex worker) ควรได้รับความคุ้มครอง และไม่ควรถูกละเลย
แต่ในทางกลับกัน ก็มีสื่อที่เขาไม่ได้มองในแง่นั้น และพยายามนำเสนอให้เป็นเรื่องสีเทา ๆ มีการคาดหน้าคาดตา ใส่หมวก จึงต้องพยายามทำความเข้าใจในเรื่องของการนำเสนอ หรือแม้แต่การใช้ภาษาเอง ขอให้ใช้คำว่า ‘พนักงานบริการ’ เนื่องจากมีบางสื่อที่ใช้คำว่า ‘ผู้ขายบริการทางเพศ’ การใข้คำที่รุนแรง ยิ่งเป็นการร่วมตอกย้ำ หรือสร้างค่านิยมการตีตราเพิ่มขึ้นไปอีก
แม้แต่ยุคนี้เอง สื่อบางที่ดูเหมือนว่าจะเข้าใจ แต่ก็นำประเด็น พนักงานบริการ (Sex Worker) มาทำเป็นมุกตลก ยิ่งตอกย้ำ และเป็นการกระทำที่เพิ่ม Stigma หรือในสถานการณ์โควิดเอง บางสื่อที่พี่สุรางค์ได้ทำการติดต่อไปเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือ สื่อกลับไม่ให้ความสนใจ เพราะยังมีภาพจำที่ว่า อาจเป็นการส่งเสริมให้คนมาขายบริการทางเพศ พี่สุรางค์ได้มีมุมมองเกี่ยวกับสื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากสื่อไม่ใช่เพราะตัวสื่อ แต่เป็นทรรศนะจากคนที่อยู่ในสื่อนั้น ๆ เอง
สิ่งที่ทำได้มากที่สุดในการลดค่านิยมการตีตราที่เกิดขึ้น คือการสื่อสาร พี่สุรางค์ได้มีการขอให้ทางสื่อนำเสนอ เรื่องการแบ่งปันอาหารแก่พนักงานบริการในช่วงโควิด-19 โดยขอให้ใช้คำว่า แบ่งปันอาหาร แทนคำว่า แจก
พี่สุรางค์มองว่า การใช้คำว่าแจกนั้นแสดงว่าเราอยู่เหนือกว่าคนที่รับ จึงใช้เป็นคำว่าแบ่งปันอาหาร เนื่องจากคำว่าแบ่งปัน เปรียบเสมือนการที่เรามองใครสักคนเป็นเพื่อนหรือพี่น้อง หรือหากสื่อต้องการสัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ จะต้องมีการพูดคุยถึงขอบเขต และตรวจสอบคำถาม เพื่อไม่ให้เป็นการถามคำถามที่ล้วงลึกมากเกินไป และควรเป็นคำถามที่สะท้อนกลับไปยังสังคม
ไม่เพียงแต่นำเสนอเพียงความยากลำบากหรือสาหัสสากรรจ์ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด มีสื่อทั้งในและต่างประเทศที่สนใจนำเสนอประเด็น พนักงานบริการ (Sex worker) โดยเฉพาะในต่างประเทศราวเกือบ 30 สื่อที่เข้ามาทำเรื่องราวที่ Swing และถูกนำเสนอไป ภาพที่นำเสนอค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ และเสียงตอบรับของคนที่ได้เข้าไปรับฟัง รับชมสื่อนั้นก็ออกมาดี
วิกฤตโควิด-19 กับสิ่งที่ Swing ได้ลุกขึ้นมาทำ เป็นการช่วยพลิกภาพของพนักงานบริการได้เป็นอย่างมาก ในแง่ของความเป็นมนุษย์ หรือในประเด็นที่รัฐไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ การไม่ได้รับเงินกองทุนที่ควรจะต้องได้ หรือประเด็นของเศรษฐกิจและรายได้จากการท่องเที่ยว ที่ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเข้าประเทศ การนำเสนอประเด็นเหล่านี้จากสื่อ จึงทำให้สังคมเริ่มกลับมาคิดได้เยอะขึ้น
พี่สุรางค์เล่าว่า สิ่งที่เห็นในสถานการณ์โควิด-19 คือเห็นการก้าวข้ามค่านิยมการตีตรา ก่อนจัดตั้งกองทุนโควิด-19 ขึ้นเมื่อวันที่ 13 เมษายน พี่สุรางค์มีความคิดที่ว่า คนอาจมองว่าเป็นการสนับสนุนให้มีการขายบริการทางเพศ เชื่อว่าคงไม่มีใครให้ความสนับสนุนในเรื่องนี้ ผู้คนอาจให้ความสำคัญกับกล่องรับบริจาคที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเด็ก หรือสุนัขพิการเสียมากกว่า
แต่ท้ายที่สุดสถานการณ์เริ่มวิกฤตหนักขึ้น ต้องใช้ทั้งเงินของพี่สุรางค์เอง และเงินจากองค์กร เลยเกิดการจัดตั้ง กองทุนขึ้นมา ปรากฎว่ามีคนพร้อมที่จะสนับสนุน โดยให้เงินช่วยเหลือเข้ามาอย่างหลั่งไหล
“เวลาที่มีคนเดินเข้ามาบริจาคสิ่งของหรือเงิน เราถามว่าทำไมเขาถึงให้เรา เขาก็บอกว่า ในเมื่อคนหิว ก็ไม่ต้องสนใจว่าทำอาชีพอะไรหรือเป็นใคร รู้แต่ว่าคนหิว งั้นเมื่อคนหิวเราต้องช่วย ใครหิวเราต้องช่วย หรือบางคนก็บอกว่าเขาก็คือคนเหมือนกัน มันก้าวข้ามอะไรเหล่านี้ได้ และเห็นความช่วยเหลือเข้ามาเยอะมาก เจอคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยเยอะมาก ๆ คนรุ่นก่อน ๆ ที่ Hard core หน่อยก็ยังไม่เอาเท่าไหร่”
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้เห็นความเข้าใจของคน Generation ใหม่ ได้เห็นการรวมกลุ่ม การช่วยเหลือ ที่ไม่ได้มองว่าเขาทำอาชีพอะไร ในประเด็นของสื่อที่ต้องการนำเสนอเรื่องพนักงานบริการ (Sex worker) พี่สุรางค์ได้เปิดเผยให้ทางทีมงานฟังว่า มีแม้กระทั่งการล่อซื้อจากสื่อเกิดขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อ ซึ่งมันคือการกระทำความรุนแรง นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ยังเกิดการตอกย้ำ และกดขี่พนักงานบริการ และมองข้ามความเป็นมนุษย์ เปรียบเสมือนวิธีประจาน การล่อซื้อเพื่อนำเสนอข่าว ส่งผลให้เกิดความลำบากในการทำงานมากขึ้นไปอีก
“นี่คือสมบัติชิ้นสุดท้ายที่มีคือร่างกาย”
พี่สุรางค์ได้ยกคำพูดของน้องพนักงานบริการคนหนึ่ง ซึ่งเจอเหตุการณ์แบบนี้ เขาใช้สมบัติของเขาออกมาหารายได้ ในขณะที่ไม่มีใครช่วยเหลือ แต่สื่อบางเจ้า กลับทำร้ายเขา และนำมาประจาน โดยไม่มีแม้แต่ความช่วยเหลือใดๆ
ปัญหาที่พบเจอของพนักงานบริการ ในสถานการณ์โควิด-19
พี่สุรางค์ได้เล่าถึงปัญหาที่พนักงานบริการต้องพบเจอ ในสถานการณ์โควิด-19 สิ่งที่เกิดขึ้นคือพนักงานบริการตกงานเหมือนกับหลาย ๆ คนที่พบเจอปัญหา แต่การตกงานของพนักงานบริการนั้นมีนัยยะต่างจากอาชีพอื่น เนื่องจากเป็นงานที่ไม่ได้ถูกยอมรับว่าถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ไม่มีกฎหมายอะไรมาคุ้มครอง ไม่มีแม้แต่ประกันสังคม พนักงานบริการจากที่มีรายได้วันต่อวัน มีการตกงานและขาดรายได้แบบ 100%
การที่สถานบริการถูกปิดตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม เท่ากับว่าคนจำนวนหนึ่งขาดรายได้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคมเป็นต้นไป พนักงานบริการบางคน ไม่เพียงแค่เลี้ยงชีพตนเองเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลคนข้างหลังเช่นเดียวกัน การที่คนได้รับผลกระทบเยอะมากคือจุดที่หนึ่ง จุดที่สองคือ พอเริ่มตกงาน ขาดรายได้ ส่งผลให้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงพอต่อการเช่าที่พักอาศัย สิ่งที่ตามมาคือการเป็น Homeless sex worker สิ่งที่ Swing ต้องให้ความช่วยเหลือกับพี่น้อง คือการจัดหาที่พักอาศัยให้แก่พี่น้องพนักงานบริการ
อีกทั้งเมื่อรัฐบาลสั่งปิดสถานบริการเป็นเวลานาน ทำให้คนตกงานและขาดรายได้ คนจึงต้องย้อนกลับมาทำงาน ในสถานการณ์ที่กังวลเรื่องของการติดเชื้อโควิด-19 เหมือนกับทุก ๆ คน Swing จึงเป็นห่วงถึงความปลอดภัยของพนักงานบริการ นอกจากเป็นห่วงถึงความปลอดภัยในเรื่องของ HIV ยังมีเรื่องของ โควิด-19 เช่นเดียวกัน
สิ่งที่ Swing ทำคือต้องเข้ามาจัดการและมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ที่จะทำให้มีการตรวจเชื้อโควิด-19 ให้กับพี่น้องพนักงานบริการ เนื่องจากการตรวจเชื้อโควิด-19 ค่อนข้างมีราคาสูง ในขณะเดียวกันนั้น Swing ก็ยังให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานบริการในเรื่องของ HIV และยังคงให้ความช่วยเหลือให้แก่ พี่น้องพนักงานบริการที่เป็น Homeless หากพบเจอสถานการณ์เจ็บป่วยทั้งเรื่องเอกสาร รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา และอาหารในแต่ละวัน

กฏหมายปราบปรามการค้าประเวณี ที่มองข้ามความเป็นมนุษย์
“ยามที่ประชาชนทำรายได้ให้กับประเทศได้ คุณปิดตาข้างหนึ่ง ปิดหูข้างหนึ่ง แต่ยามที่ประชาชนเดือดร้อนคุณกลับปิดทั้งสองข้าง และวิธีการช่วยเหลือมันแย่มาก ไม่ให้อะไรเลยเรายังไม่เจ็บช้าเท่าการให้มาแค่นี้ เหมือนกับทำเพียงแค่ให้รู้ว่าฉันทำแล้ว ฉันถ่ายรูปกลับไป นี่คือวิธีการคิดแก้ปัญหาของรัฐไทย”
พี่สุรางค์กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อรัฐบาลไทย โดยอธิบายต่อว่า งานบริการคืองานที่เข้าข่ายแรงงาน ควรอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน และมีเจ้าของสถานบริการเป็นนายจ้าง กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณีนั้นไม่มีความจำเป็น และไม่ควรมีกฎหมายกำหนดเพียงอาชีพใดอาชีพหนึ่ง จากเหตุการณ์แบบนี้เราคิดว่าต้องมาทบทวนกันแบบจริงจังและเปิดใจ ไม่ใช่เรื่องของการเสียผลประโยชน์
สิ่งที่พี่สุรางค์และ Swing ผลักดันไม่ได้เป็นการบอกให้รัฐกำหนดอาชีพนี้ให้ถูกกฎหมาย แต่ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดอาชีพนี้ออกไป และใช้กฎหมายที่ใช้กับมนุษย์ทั่วไป เพราะพนักงานบริการ (Sex Worker) ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง
“การยอมรับว่าอาชีพนี้มีจริง และจัดการให้อยู่ในขอบเขตที่เหมือนอาชีพอื่นๆ” พี่สุรางค์ย้ำถึงสิ่งที่รัฐควรให้ความสำคัญในการอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน สิ่งสำคัญที่พนักงานบริการต้องการคือ สิทธิที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ รวมไปถึงการมีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ และ การเอารัดเอาเปรียบหรือสิ่งไม่ถูกไม่ควรนั้น ควรมีการจัดการได้ตามกฎหมายทั่วไปอย่างเท่าเทียม
การแบ่งปันอาหารแก่พนักงานบริการในสถานการณ์โควิด-19
ในสถานการณ์โควิด-19 Swing ได้ทำการแบ่งปันอาหารแก่พนักงานบริการเป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งหมื่นชุด โดยมีการลงพื้นที่แบ่งปันอาหารในกรุงเทพวันละ 500 ชุด และในพัทยาอีก 500 ชุด ซึ่งในพัทยาสามารถนำไปให้พี่น้องได้เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น เนื่องจากครัวของ Swing ที่เดียวคงไม่สามารถครอบคลุมพี่น้องพนักงานบริการได้ทั้งหมด Swing จึงร่วมมือกับเจ้าของสถานบริการ และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
ในสถานการณ์โควิด-19 เจ้าของสถานบริการต่างๆ พยายามช่วยให้พนักงานบริการมีมีที่พัก โดยมีการลงขันทำอาหารให้ได้มีอาหารทาน อีกทั้ง Swing ได้ทำการคุยกับเจ้าของสถานบริการแถมพัทยา ที่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับทำอาหาร โดย Swing จะซัพพอร์ตวัตถุดิบและอุปกรณ์ ให้ช่วยทำอาหารและแบ่งปัน ให้แก่พนักงานบริการและพี่น้องที่ยากลำบากในบริเวณนั้น นอกเหนือจากพนักงานบริการอีกด้วย มีการแบ่งปันอาหารให้แก่วินมอเตอร์ไซค์ พนักงานออฟฟิศ เพื่อต้องการให้พนักงานบริการ (Sex worker) มีส่วนร่วมกับชุมชน
พี่สุรางค์ทิ้งท้ายไว้ว่า ในโครงการแบ่งปันอาหารแก่พนักงานบริการนั้น ยังไม่รู้ว่า Swing จะสามารถให้ความช่วยเหลือไปได้อีกนานแค่ไหน ด้วยงบประมาณการสนับสนุนที่มีจำกัด แต่จะพยายามยืดเวลา และทำทุกทางเพื่อที่จะช่วยเหลือพี่น้องพนักงานบริการอย่างเต็มที่

บทความโดย กนกวรรณ ภารยาท
สัมภาษณ์และเก็บประเด็นโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง / วรกมล องค์วานิชย์