fbpx

SeedWebs สตูดิโอออกแบบเว็บไซต์ เบื้องหลังเว็บสื่อออนไลน์ที่ตั้งรกรากในเมืองปาย

หากกล่าวถึงการทำเว็บไซต์แล้ว ในยุคปัจจุบันเหล่าเจ้าของธุรกิจคงหนีไม่พ้นกันอย่างแน่นอน เพราะเว็บไซต์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์โฆษณาสินค้าและบริการ หรือแม้กระทั่งตอนนี้ที่คุณกำลังอ่าน Modernist อยู่ ก็เท่ากับคุณกำลังเปิดหน้าเว็บไซต์อยู่เช่นเดียวกัน นั่นเลยจึงทำให้เว็บไซต์ยังคงเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมผู้คน เปรียบเสมือนเป็นบ้านของตนเองในการต้อนรับคนอื่นๆ เข้ามาในบ้านนั่นเอง

แต่กว่าจะออกมาเป็นหนึ่งเว็บไซต์ รู้หรือไม่ว่าต้องมีขั้นตอนที่มากกว่าการทำขึ้นมาได้เลย และนี่คือสิ่งที่เราจะมาคุยกับ “เม่น-จักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท ซี้ด เว็บส์ จำกัด บริษัทที่มีความเชื่อว่าเว็บที่ดีจะส่งต่อไปยังผู้บริโภคได้ง่ายและดีกว่า และเขาคือคนที่ออกแบบเว็บไซต์ดังๆ มากมาย เช่น The Cloud เป็นต้น อีกด้วย วันนี้ Modernist จะขอพามาเจาะลึกถึงก้าวแรกในการต่อยอดและโอกาสในการพัฒนาเว็บไซต์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกัน


มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

1
จุดเริ่มต้นของนักทำเว็บ


ที่มาที่ไปของ SeedWebs

พื้นฐานพี่มาทางด้านคอมพิวเตอร์ แล้วพี่ไปต่อ Media Production ที่สหรัฐอเมริกาปีนึง พอกลับมาก็เปิดบริษัทในกรุงเทพฯ ในยุคนี้น่าจะเรียกว่า Digital Agency ครับ พอทำไปเรื่อย ๆ เราก็ทำงานโปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้น งบประมาณหลักล้านจนไปหลักสิบล้าน แล้วเราก็รู้สึกว่ามันเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างหนัก และก็แข่งขันสูง บวกกับช่วงนึงที่เศรษฐกิจมันตก มันก็มีลดคน ลดสิ่งต่างๆ ตอนนั้น คนในทีมเยอะสุดมีประมาณ 30 คนได้ พอเราลดคน มันรู้สึกว่ามันกระทบเราเหมือนกัน และก็รู้สึกว่า ตกลงวิถีชีวิตที่ต้องไปปั๊มเงินเยอะๆ มันเวิร์คหรือเปล่า แล้วตอนนั้นส่วนหนึ่งทำงานอาสา คือไปสอนให้อาจารย์ในแม่ฮ่องสอน ตอนนั้นพอดีว่ามีโปรเจกต์ร่วมกับ NECTEC แต่ว่าโปรเจกต์ที่ทำกับ NECTEC มันก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไร ไปลองคุยๆ ดู มันเหมือนงานอดิเรกมากกว่า กลายเป็นว่าเราไปช่วยวางหลักสูตร และก็สอนต่อเนื่องมาเป็น 10 ปี สอนมาเรื่อย ๆ ประจวบเหมาะกับบริษัทในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้มีความสุขเท่าไหร่ แล้วเราก็อยากย้ายออกมาจากกรุงเทพฯ ก็เลยย้ายมาอยู่ปาย

มันก็เริ่มลงตัวในช่วงหลายปีหลัง พี่ก็วางแผนไว้ยาวเหมือนกัน จนแบบทำได้ก็สักประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งพอย้ายออกมาปุ๊บ ตอนนั้นเราเป็นฟรีแลนซ์อย่างเดียว มันก็เอาตัวรอดแหละ เพราะว่าฟรีแแลนซ์มันไม่ได้ลำบากอะไร และบริษัทที่กรุงเทพฯ เหมือนกับว่าเราให้เพื่อนบริหาร แล้วเราช่วยเป็น Consult ให้ ตอนนั้นก็คือทำไปเรื่อย ๆ

ที่นี้จุดเริ่มต้นของ SeedThemes มันก็เลยมาจากการที่เราทำแบบนี้ไปสักพักก็มีผู้ใหญ่ที่เขารู้จักกับ NECTEC ด้วย รู้จักกับเครือข่ายของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วย เขาก็แนะนำมาว่าตอนนี้ วิศวฯ จุฬาฯ สนใจเรื่องของ Startup และก็จัดกองทุนขึ้นมา ลองไป Pitching โปรเจกต์แข่งดูว่ากองทุนนี้กับโปรเจกต์ที่เราอยากทำมัน Match กันมั้ย แล้วเขาจะได้ลงเงินมาให้ คือพี่รู้สึกว่าถ้าพี่เป็นฟรีแลนซ์ไปเรื่อย ๆ มันก็โอเค แต่ว่าจะให้เรา Scale Up รับคนมาทำงาน หรืออื่นๆ มันก็ไม่ได้คิดแบบนั้น พอมีโปรเจกต์นี้ขึ้นมา จากการเป็นฟรีแลนซ์ หรือการมีบริษัทที่ผ่านมา เรารับแต่งานลูกค้าอย่างเดียว แต่ว่าเราไม่ได้มีมุมมองของ Startup ที่สร้างเป็น Product ขึ้นมา เราทำงานแต่โปรเจกต์ เราไม่ได้สร้าง Product แล้วตอนนั้น เราอยากจะสร้าง Digital Product มากเลย ซึ่งเรามองเห็นว่า Digital Product ที่ดี มันคือเหมือนขายไฟล์อะไรบางอย่าง แต่ว่าไฟล์พวกนั้น ถ้าเป็นไฟล์ที่มีลิขสิทธิ์ แล้วคนไทยละเมิดลิขสิทธิ์เยอะ มันไม่รอดกัน ถ้าเราขาย Stock Photo มันไม่รอด แต่มันเป็นช่วงนึงที่กำลังนิยมในช่วงนั้นคือ ธีมเวิร์ดเพรส (WordPress Themes) ตลาดต่างประเทศก็กำลังเกิดมาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราก็มองว่าตลาดไทย มันยังไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย

ตอนนั้นทักษะเราก็รู้สึกว่าเราจะไปขายต่างประเทศก็ได้ แต่ว่าถ้าเกิดบวกกับโปรเจกต์นี้ปุ๊บ เราสร้างตลาดไทยขึ้นมา แล้วเราสอนคน แล้วเราก็อาจจะสอนทั้งเด็ก ทั้งอาจารย์ ให้มาอยู่ในตลาดแบบนี้มั้ย อันนี้คือเป็นเป้าหมายตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเลยว่าเราอยากจะสร้างตลาดที่เป็น Digital Product ซึ่งพอเราคิดอย่างนั้นมันก็จะ Match กับความเป็น Startup คือมันยังไม่มีอยู่ในโลก แต่ถ้ามันประสบความสำเร็จ มันอาจจะคูณ 5 คูณ 20 ได้เลย ก็เลยรู้สึกว่าไอเดียที่เราทำมันลงตัว และทีนี้สิ่งที่กองทุนของวิศวฯ จุฬาฯ เขามองหาอยู่ คือสิ่งที่ทำต้องไม่ใช่แค่ได้เงินอย่างเดียว แต่มันต้องสร้างประโยชน์อะไรบางอย่าง

เราแฮปปี้มากเลยที่เราได้มาอยู่ตรงต่างจังหวัด แล้วเราเหมือนสร้างระบบการศึกษาเล็กๆ ว่าถ้าเกิดคนเข้ามาเรียน อยู่ในคอร์สของเรา และก็มาสร้าง Theme อย่างน้อยเขาอาจจะมีงานอาชีพเสริมได้ ตอนนั้นพี่เลยมองว่ามันไม่ใช่แค่ตลาดที่เน้นขาย Product อย่างเดียว แต่ว่ามันเป็นตลาดที่เน้นสอนให้คนมีความรู้ เขาจะเอามาขายในตลาดเรา หรือจะไปขายที่อื่นก็แล้วแต่ จุดเริ่มต้นมันก็เลยมาจากวันนั้น โปรเจกต์ SeedThemes ในตอนเริ่มต้น เน้นให้คนทำ Theme ให้ได้ แล้วมาขายตลาดเราให้ได้ ในตอนเริ่มต้นนะ แล้วเราทำตัวเป็นตลาด ซึ่งอันนี้ก็จะ Match กับความเป็น Startup ใครเป็นเจ้าของ Marketplace มันดี ในตอนนั้นเรายังเห็นภาพไม่ชัดหรอก แต่เรารู้สึกว่ามาทางนี้มันได้ประโยชน์

ในตอนนั้นเอง ถามว่าถ้าเกิดเราเป็นฟรีแลนซ์อย่างเดียว แล้วไม่เอาเงินลงทุนมา ทำได้มั้ย ได้ เพียงแต่ว่าเราจะลำบากนิดนึงคือ กันเงินและเวลาส่วนนึงไปรับงาน แล้วก็ต้องเอาเวลา เอากำไรจากงานมาลงในโปรเจกต์นี้ ซึ่งพี่ทำมาหลายปี มันยากมากนะ ขนาดว่าเราทำเป็นบริษัท มีรายได้เป็น 10 ล้าน เอาเวลาทีมสัก 20% มั้ย มาทำ R&D (วิจัยและพัฒนา), กันเงินสัก 1-2 ล้านมั้ย กลายเป็นว่าพอเป็นบริษัททำไม่ได้นะ มันยากมากเลย แล้วพอไปอ่านประวัติของฝรั่งจำนวนมาก เขาก็พูดตรงกันหมดเลยว่า มันยากมากที่คุณจะโฟกัสกับ Product แล้วคุณยังรับงานโปรเจกต์อยู่ พี่ว่าหลายๆ ธุรกิจน่าจะเจอปัญหานี้ทั้งนั้น สุดท้ายมันก็เลยไม่รอด พอมันมีไอเดียเรื่องการอุทิศเวลา คือคุณเอาเงินลงทุนไป แล้วล็อกเลย คุณไม่ต้องรับงานเป็น 1-2 ปีแน่นอน เพราะพวกคุณมี Budget แล้วหนิ แล้วก็หาทีม หาอะไรมาให้เรียบร้อย แล้วทำดูว่ามันประสบความสำเร็จมั้ย ไม่ประสบความสำเร็จก็จบ ถ้าประสบความสำเร็จ มันก็จะต่อยอดได้ อันนี้คือมุมมองที่ Startup ในช่วงนั้นเขาอยากทำกัน ไม่งั้นไม่ได้ทำสักที นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ SeedThemes

เราได้เงินลงทุนเริ่มต้นมา ตอนนั้นประมาณ 2 ล้านบาท ถ้าบอกเป็นตัวเลขก็คือ เนื่องจากบริษัทที่ดีที่เป็น Startup ควรจะมีมูลค่าอย่างต่ำ 10-20 ล้าน อันนี้สูตรทั่วไปเลย วิธีกาารคำนวนสูตรของ Startup คือ ถ้าเราสร้างกำไรต่อเนื่องได้ปีละ 1 ล้านบาท มูลค่าของบริษัทควรจะมีสัก 10 ล้าน ถ้าใครฝากเงินกับเรา เขาก็ได้ดอกเบี้ย 10% ต่อปี ซึ่งตอนนั้นพี่ก็คิดว่ากำไรปีละ 2 ล้าน น่าจะทำได้ ตอนนั้นมูลค่าบริษัทเราตีได้สัก 20 ล้าน แล้วเราขายหุ้นสัก 10% เราขายหุ้นไป 2 ล้าน มันก็จะทำให้เงิน 2 ล้านนี้ เราสามารถ Run บริษัทได้โดยเรายังถือหุ้นใหญ่อยู่ แล้วพอเราถือไปเรื่อย ๆ เราต้องการระดับทุนเพิ่ม เราอาจจะแบ่งหุ้นของเราขายไปอีกเรื่อย ๆ อันนี้คือ Model Startup นะ

แต่ที่ Model Startup มันประสบความสำเร็จ จังหวะแรกๆ เขาอาจะขายหุ้นแค่ 10% พอบริษัทเริ่มมียอดขาย เริ่มมีสมาชิก มูลค่าบริษัทอาจจะตีขึ้นมา 2-3 เท่า คนที่ยอมซื้อหุ้นเรารอบแรก เขาอาจจะมาขายรอบที่ 2 รอบที่ 3 เขาก็ได้เงินไป อันนี้มุมมองของเกม Startup นะ แต่เผอิญว่าโปรเจกต์นี้ มันก็ไม่ได้เป็นเกม Startup ชัดๆ ขนาดนั้น ก็มองว่าเขาอยากจะช่วยเราแหละ แล้วอยากจะช่วยให้โปรเจกต์นี้มันประสบความสำเร็จ พี่ก็เลยเอาเงินนี้มา Run ซึ่ง Run 1-2 ปีแรก มันก็เริ่มทำรายได้ได้ แล้วมันก็เริ่มอยู่ได้ เนื่องจากข้อดีของการมองธุรกิจเรา คือเรามองว่าธุรกิจนี้มันขายได้ตั้งแต่แรก มันไม่ใช่ต้องเอา User มาก่อนแล้วหวังว่าจะขายโฆษณาได้วันนึง ซึ่งแบบนั้นมันยากไง ของเราคือ User ก็มาซื้อของตั้งแต่แรกแล้ว แต่เราอาจจะขายราคาถูกหน่อย มันเลยทำให้จุดเริ่มต้นมันเกิดรายได้ขึ้นมา แล้วมันก็เลี้ยงทีมได้

แล้วทำไม SeedThemes ต้องมาทำ WordPress

ในธุรกิจที่เราทำมา ตั้งแต่สมัยทำบริษัทที่กรุงเทพฯ Digital Agency หลายๆ อย่าง เราก็จะใช้เครื่องมือจำนวนมากในการทำเว็บ แล้วเครื่องมือเหล่านั้น เนื่องจากเราโฟกัสไปที่เว็บนั่นแหละ เพราะว่าเว็บ Media มันได้หลายแบบ และโตขึ้นเรื่อย ๆ เครื่องมือที่เราใช้ ตั้งแต่เขียนโค้ดเอง สร้าง CMS เอง ไปลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ สุดท้าย WordPress มันเป็นจุดสมดุลของการใช้งานง่าย คือ User Happy กับมัน และจุดสมดุลของการสร้าง Feature เพิ่ม คืออาจจะลง Plugin หรือเขียนระบบต่อยอดเข้าไป ถ้าเราทำระบบตั้งแต่ 0 เอง ระบบอาจจะแพงมากเป็น 10 ล้าน แต่พอใครอยากจะมาต่อยอดมันปุ๊บ มันต่อยอดไม่ได้ หรืออาจจะต้องมาจ้างเราแพงๆ สมมติถ้าพี่ทำระบบให้ธนาคาร ซึ่งก่อนหน้านั้นก็เคยทำนะ พอมันเพิ่มอะไรนิดนึง กว่าจะสรุปราคาและการทดสอบ กระบวนการนี้มันนานมาก แต่ถ้าเป็น WordPress เพิ่ม Feature อีกนิดนึง เพิ่ม Gallery อีกหน่อยนึง ลง Plugin ปุ๊บ เสร็จเลย พี่เลยมองว่า SME จำนวนมากที่ยังไม่ได้ WordPress ยังไงก็ต้องใช้ เพราะมันเป็นทางออกที่มันเวิร์คดี แล้วตอนนั้น WordPress มันก็เลยโตขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 25-30 % ของเว็บทั้งโลก จนปัจจุบัน ณ วันนี้มีถึง 40% ของเว็บทั้งโลกแล้ว แม้กระทั่งเทคโนโลยี ที่เราอาจจะบอกว่ามันเริ่มเก่าแล้ว แต่มันก็ยัง Mass และก็ยังไม่มีตัวไหนมาเทียบมันได้สักที (หัวเราะ) คือระบบใหญ่ๆ มันอาจจะใช้ทางออกนึงนะ แต่ระบบของ SME พี่บอกได้เลยว่า ยังไง WordPress ก็เก็บหมด เพราะว่ามันตอบโจทย์ SME เขามีช่องทางในการออกออนไลน์ เขามีช่องทางในการเอาไปค้าขายด้วยซ้ำไป


2
คัมภีร์ในการทำงานและบริหารการเงินของ SeedWebs


เวลาทำ Startup มีวิธีบริหารจัดการเงินอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้าที่จะทำฟรีแลนซ์ พี่ทำบริษัท เนื่องจากตอนที่เรา Set บริษัท เจ้านายเก่าเขามีทีมบัญชีที่พยายามจะให้ความรู้เราว่า คุณต้องมีการปิดงบยังไง เงินที่ไปเก็บลูกค้ามา เราวางบิลไปปุ๊บ เราอาจจะได้เงินอีกเดือน สองเดือน สามเดือน พอเราเริ่มเข้าใจพื้นฐานแบบนั้นในการทำธุรกิจ เราก็สามารถที่จะเข้าใจแล้วว่า การทำงานวันนี้ มันไม่ใช่เงินวันนี้ ฟรีแลนซ์หลายคนอาจจะไปติดกับดักตรงนี้ว่าพอทำงานปุ๊บ รีบวางบิล นึกว่าจะได้ตังค์ บางทีมันยังไม่ได้ พอเราเป็นบริษัทใหญ่ขึ้น เราต้องมีการระวังตัวมากขึ้น ว่าเราจะจ่ายเงินเดือนเมื่อไหร่ เราจะรับเงินลูกค้ามาได้เมื่อไหร่ เมื่อไหร่ที่เราต้องตามเงิน เมื่อไหร่ที่เราทำสัญญาอะไรก็ตาม คือสิ่งพวกนี้พี่ว่ามันเป็นทักษะของบริษัทมาก่อน ถ้าเกิดพอทำบริษัทมาปุ๊บ แล้วมาเป็นฟรีแลนซ์ มันก็จะยิ่งง่าย เพราะเรามองว่าตัวเองเป็นบริษัทแบบนึง เป็นหน่วยงานนึงในบริษัท แล้วเราก็วางแผนการเงินว่างานนี้จะรับมั้ย ถ้ารับเราจะเก็บกี่งวด แต่ละงวดเราจะได้เงินเมื่อไหร่ ซึ่งแม้จะเป็นฟรีแลนซ์ เราก็ต้องวาง Cash flow เช่น เดือนนี้เงินจะเข้ามั้ย เดือนต่อไปเงินจะเข้ามั้ย พอทำอย่างนี้ พี่ว่ามันก็ทำให้เราอยู่รอดได้ในแง่ฟรีแลนซ์

เวลาเราเป็นฟรีแลนซ์ หรือเราเปิดบริษัทมา ในช่วงแรกมันจะไม่มีลูกค้า แล้วในเมื่อพี่ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ ด้วย กับด้วยความที่เป็นเว็บไซต์ ลูกค้าอาจจะมองไม่ออกว่ามันควรจะเป็นยังไง แล้วก็ต้องยอมรับว่าพี่ไม่ได้กระโดดมาเป็นฟรีแลนซ์ต่างจังหวัดเลย (หัวเราะ) โดยไม่มีฐานลูกค้าไง อันนี้เราว่าก็ยาก ถ้าเกิดเป็นคนอื่น พี่ว่ามันก็น่าจะเป็นแบบแผนมาตรฐาน เราคงต้องหาลูกค้าจากหน่วยงานใกล้ตัวลูกค้าเก่า แล้วสร้างชื่อเสียงให้ได้ จนเราเริ่มมีลูกค้าในมือสักนิดนึง แล้วก็วิเคราะห์แล้วว่าเรามีต้นทุนเดือนนึงเท่าไหร่

ถ้าเกิดเราเข้าใจว่า Burn Rate ของฟรีแลนซ์ หรือ Burn Rate ของบริษัทเป็นเท่าไหร่ แล้วเราก็ไปดูว่าเราจะได้รายได้เท่าไหร่ ถ้าเมื่อไหรที่มัน Matching กันปุ๊บ แปลว่าเราไปต่อได้ แต่ถ้ามันยังไม่ Matching ก็แปลว่าเหมือนเราเอาเงินเก็บมาถมไปเรื่อย ๆ ซึ่งคนสร้างบริษัทใหม่ มันก็เป็นอย่างนั้นทุกคน ก็คือต้องมีเงินก้อนนึงตั้งต้น แล้วก็ดูว่าฉันจะอยู่ได้กี่เดือน ส่วนใหญ่อาจจะตั้งไว้สัก 6 เดือน หาลูกค้าไม่ได้เลย ไม่มีเงินเลย อาจจะต้องเจ๊งนะ ถ้าเป็นฟรีแลนซ์นะ ตัวเลข 6 เดือน ไม่ใช่ตัวเลขเยอะหรอก เราอยู่ 6 เดือน เราอาจจะใช้เงินนิดเดียว แต่ว่าพอเป็นบริษัทใหญ่ ตัวเลขมันก็ใหญ่ขึ้น แต่เราก็ต้องวางแผนแบบนี้แหละว่า มีเงินล่วงหน้าไว้สัก 6 เดือนก่อนมั้น และระหว่างนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง แล้วถ้าทำไม่ได้ ต้องมีแผนหนึ่ง แผนสอง ด้วย

ความที่เราทำบริษัทใหญ่มาก่อน แล้วไปขดตัวให้เป็นฟรีแลนซ์ ตรงนี้มันเลยง่าย เพราะเหมือนกับในมือพี่ อาจจะมีเงินเก็บอยู่ได้ปีนึงและ ถ้าเราไม่ทำงานเลย อยู่ได้ แต่พอเราเริ่มทำงานอันที่ 1 อันที่ 2 อันที่ 3 แล้วค่อยๆ เก็บเงินมา คราวนี้เราก็จะยิ่งต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ พี่ว่าสุดท้าย มันต้องมีเงินตั้งต้นให้เราอยู่รอดได้ แล้วก็ค่อยหาลูกค้าจากคนใกล้ตัวมั้ย หรือจากลูกค้าที่เคยรับ สมัยที่เราเป็นพนักงานบริษัท หรือสมัยที่เราเคยเรียนแล้วไปรับงานนอก สุดท้ายมันต้องมีก้อนนี้เกิดขึ้นมา แต่ว่าวิธีการต่อยอดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะไปลงโฆษณา แต่สายของการรับงานทำในเมืองไทย พี่ว่าทำงานให้มันดีไปเรื่อย ๆ จนลูกค้าบอกต่อ มันยั่งยืนสุด พี่ก็เลยยึดแนวนั้นไป มันก็ต่อยอดมาได้เรื่อย ๆ ครับ

อุปสรรคจริงๆ ที่เจอในการทำ SeedWebs คืออะไร

เรื่องของ Cash flow มันเป็นคำถามพื้นฐานของการทำธุรกิจว่าบริษัทจะเจ๊งเมื่อไหร่ คำตอบก็คือ เมื่อบริษัทไม่มี Cash flow คือต่อให้เราขายขาดทุนอยู่ ถ้ายังมี Cash flow บริษัทก็ยังไม่เจ๊ง (หัวเราะ) หรือบางคนคิดว่าบริษัทได้กำไร ขายของได้กำไรมาก แต่จังหวะที่เงินเข้ากับเงินออกไม่สัมพันธ์กัน บริษัทก็เจ๊ง เพราะฉะนั้นจุดสำคัญคือบริษัทต้องมี Cash flow ดังนั้นปัญหาที่เราจะเจอแรกๆ แน่ ๆ คือ Cash flow เราหมุนไม่ทันกัน ถ้าเป็นยุคเก่าเขาก็จะไปแลกเช็ค แต่เผอิญว่ายุคใหม่มันมีวิธีเยอะ เราก็อาจจะเอาโปรเจกต์ของเราไปค้ำกับธนาคารก็ได้ ธนาคารเขาก็ออกเงินมาให้ เป็นเงินกู้ มีดอกเบี้ย ถ้าโปรเจกต์มันใหญ่ แล้วลูกค้าเราน่าเชื่อถือ

เพราะฉะนั้นของพี่ตอนนั้นมีลูกค้าหลายขนาด ลูกค้าที่เป็นฟรีแลนซ์ ลูกค้าที่เป็นบริษัท SME บางทีธนาคารไม่เชื่อถือ ถ้าเป็นเป็นลูกค้าองค์กรรัฐหน่อยหรือว่าโปรเจกต์ใหญ่หน่อย อาจจะ Billing สัก 5 แสนขึ้นไป พอเราเอาแค่ Invoice หรือแค่ใบสั่งซื้อไปคุยกับธนาคาร ธนาคารให้เงินออกมาได้ เราอาจจะมีดอกเบี้ยนิดหน่อย เพราะฉะนั้นพี่ว่าอันนี้เป็นต้นทุนที่ไม่เหมือนกันของการทำธุรกิจ คือทุกคนต้องผ่านช่วงหมุน หรือช่วงเคลียร์ปัญหาเรื่อง Cash flow ให้ได้ อันนี้เป็นปัญหาแรกๆ เลย คือใครๆ ก็ต้องเจอ คือมันไม่มีหรอก เฮ้ย ฉันมีเงินเก็บที่อยู่ได้ตลอดกาล (หัวเราะ) แล้วก็ไปเอามาทำละกัน เลยเป็นที่มาที่เขาแซวๆ กันว่า ถ้าคุณรวยหน่อย มันก็จะมีปัญหาตรงนี้น้อยลง ถ้าเกิดเรามาถึงไม่ค่อยมีตังค์ มันก็จะมีปัญหา Cash flow อันดับแรกๆ เลย คือยังไงก็เจอ เพราะว่าเราจะเก็บเงินลูกค้ายาก ซึ่งอันนี้พี่ว่าเป็นปัญหาแรกๆ

ปัญหาแรกๆ เลยกลายเป็นบทเรียนแรกๆ ว่าทำยังไงเราถึงจะไม่มีปัญหา Cash flow ได้ แปลว่าเราต้องเซ็นต์สัญญามั้ย หรือว่าเราต้องเก็บเงินเป็นงวดมั้ย ถ้าเกิดใครทำแรกๆ แล้วบางทีไม่ได้คิดเรื่องมัดจำบ้าง ไม่ได้คิดลายลักษณ์อักษรมาก มันก็จะพลาดตรงนี้ เขาบอกให้ทำ เราก็ทำ ทำไปเดือนนึง ขอเก็บตังค์ แต่โปรเจกต์ยังไม่เริ่ม ยังไม่อนุมัติ พี่ว่าช่วงนี้ เป็นช่วงที่สายรับจ้างผลิตเจอกันหมด เพราะฉะนั้นอันดับแรก เคลียร์เรื่อง Cash flow ชีวิตเราต้องอยู่ให้ได้ก่อน หลังจากนั้นแล้วเราจะทำยังไงให้มันไม่มีปัญหา Cash flow ในอนาคต แปลว่าเรื่องเอกสารก็ต้องจริงจังระดับนึง อาจจะไม่ต้องละเอียดยิบหรอก อย่างน้อยคือเซ็นต์ Condition มา คนทั่วไปเขาก็ไม่ค่อยโกงแล้วแหละ กับเก็บเป็นงวด ที่นี้พอเก็บเป็นงวด แปลว่ามันก็ต้องมีตัวตรวจรับ เช่น เราต้องดีไซน์ให้ผ่านก่อนมั้ย ดีไซน์ผ่าน เซ็นต์ชื่อมาปุ๊บ ขอเก็บงวดแรกเลย ซึ่งหลายๆ คนที่เป็นฟรีแลนซ์ยุคแรกๆ บางทีเราจะไม่ค่อยกล้าเก็บตังค์ลูกค้า เราก็จะรู้สึกเกรงใจ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ เราเท่าเทียมกัน เขาก็จ่ายเงินเรา เราก็ทำงานให้เขา เพราะฉะนั้นมันก็ต้องแฟร์ ๆ บางคนทำไปก่อน แต่ว่าไม่ยอมเก็บเงิน โปรเจกต์มันอาจจะไม่เข้าไปในระบบของลูกค้าก็ได้

ยิ่งบริษัทใหญ่ๆ บางคนเขาแบบ “น้องทำอันนี้มาให้ดู” แต่ว่ามันไม่มีการเซ็นต์ หรือว่าไม่มีการเก็บงวดแรก บางทีมันอาจจะไม่เคยไปผ่านโปรเจกต์ของบริษัทเลย (หัวเราะ) อยู่ ๆ เขาก็ติดต่อ Supplier มาให้ทำ พี่ว่าอันนี้เราก็จะเจอบ่อย เพราะฉะนั้นพอเราเจ็บตัวเยอะๆ เราก็จะเริ่มมีภูมิคุ้มกันแล้วว่า งานนี้มันเข้าระบบหรือยัง งานนี้บริษัทใหญ่อนุมัติหรือยัง ลูกค้าอนุมัติจริงหรือเปล่า มันก็จะเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมากับ Cash flow คือการควบคุมโปรเจกต์ ศัพท์เทคนิคคือ Project Management การบริหารโครงการ ถ้าเราสามารถทำงานบริหารโครงการได้ดี เช่น ส่งมอบ ส่งมอบเสร็จเซ็นต์ตรวจรับ  ตรวจรับเสร็จเซ็นต์เก็บเงิน ทำเช่นนี้ เป็นวงจรไปเรื่อย ๆ สุดท้ายมันก็จะอยู่รอด

พี่ว่าบางทีมันก็ตลกดีนะ ของบางอย่างมันตอบยากว่าถ้าเราเคยอ่านก่อน มันจะรู้หรือเปล่า แต่เราก็พยายามจะถ่ายทอดให้น้อง ๆ รุ่นหลังๆ ว่าคุณควรรู้เรื่องนี้ไว้ อย่างน้อยคุณก็ต้องเจอ และก็ต้องผ่านมันไป ซึ่งพี่ว่าอันนี้มาตรฐาน มันก็เลยทำให้กลับมาตรงจุดที่ว่า สุดท้ายเราต้องมาทำ Cash flow แต่ระดับ SME พี่แนะนำว่าทำ Cash flow รายเดือนไปก่อน ว่าเงินเดือนนี้จะเข้ามั้ย ทุกอาทิตย์ก็กลับมาดูว่า ตกลงเงินมันเข้าอย่างที่เราวางแผนหรือเปล่า มันก็จะมีเวลาให้เราเตรียมตัว ในขณะที่บางคนทำงาน ไม่เคยคิดถึงตรงนี้เลย เขาก็จะทำแต่งานไป แล้วก็ลืมว่า อ่าว เราต้องทวงตังค์แล้วเหรอ ต้องวางบิลแล้วเหรอ สุดท้ายมันเลยกลายเป็นว่าทีมงานกระทบไปด้วย ก็เป็นหน้าที่ของหัวหน้าละกัน (หัวเราะ) ที่ต้องผลักดันตรงนี้

ส่วนของ SeedWebs เอง มีปัญหาอะไรที่เกิดขี้นบ้าง

SeedWebs ขาย Product ดังนั้น มันเลยเป็นเรื่องความเชื่อมั่นใน Product มากกว่า ต้องเรียกว่าคนที่ซื้อ SeedWebs ตอนยุคแรกๆ เลย คือคนที่เชื่อพี่ว่ามันคงทำอะไรสักที่มันดีแหละ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเก่าเรา หรือเชื่อเราก่อนโดยที่เขายังไม่เห็นหลักฐานไงว่ามีคนเอาไปทำแล้วกี่เว็บ มันเป็นสิบเว็บ ร้อยเว็บ แล้วมันเวิร์คจริงหรือเปล่า แล้วมันง่ายจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้น คนซื้อช่วงแรก ๆ มันคือความเชื่อ แต่เราก็ต้องตอบแทนเขาว่าเราให้ราคาถูกมั้ย เราให้ข้อเสนอที่มันพิเศษมั้ย พี่รู้สึกว่าช่วงแรก ๆ ขอแค่ให้คนรู้สึกว่าเขาเชื่อเรา เรามีฐานลูกค้า และมีเงินสักนิดนึง ให้มันหมุนเพื่อมาสร้าง Product ให้ได้ พอเราเริ่มแบบนี้ปุ๊บ หลักการของเราคือ ต้องออก Product ไปเรื่อย ๆ ซึ่งข้อดีที่มากับข้อเสียของธุรกิจ Theme ก็คืออัปเดตบ่อยมาก (หัวเราะ)

เพราะฉะนั้นพี่เลยตั้งเป้าว่าอย่างน้อยทุกเดือน คงต้องได้ออก Product ถ้าไม่ออก มันจะลำบากเลย เพราะว่าเดี๋ยวตัวนี้ก็อัปเดต แล้วเทคโนโลยีเราทันมั้ย แต่ข้อดีที่มากับการอัปเดตก็คือ คงจะโกงน้อย ถ้าเกิดบอกว่าซื้อรูปเหรอ รูปๆ นึง บางทีเขาอาจจะแบบแจก ซื้อฟอนต์เหรอ เขาอาจจะใช้ฟอนต์เถื่อนกัน โดยที่เขาไม่ได้มีความกังวลของการอัปเดต แต่พอ Theme ปุ๊บ จะใช้ Theme เถื่อน แล้วอยู่สัก 2-3 เดือน โดน Hack อาจจะลำบาก เพราะฉะนั้นมันก็จะมีแนวคิดว่าอย่างน้อย Theme หรือ Plugin มันต้องอัปเดต พอเราออก Digital Product แบบนั้น พี่ว่ามันก็จะมีช่องทางในการอยู่รอด แลกกับการที่เราอัปเดตบ่อยๆ ทำงานให้มันต่อเนื่อง แต่ว่าลูกค้าเขาก็แฮปปี้ที่เขาได้ของมีคุณภาพต่อเนื่อง ยินดีที่จะจ่ายของแท้ แทนที่เขาจะไปซื้อของเถื่อน ก็จะเป็นขอแลกเปลี่ยนไป


3
ไม่ต้องไป Web 3.0 แต่ทุกธุรกิจ “ต้อง” มีเว็บไซต์ก่อน


เว็บสำเร็จรูปสำคัญยังไงกับ SME หรือคนไทย

พี่ว่าก่อนที่จะเป็น Product นี้ หมายความว่าธุรกิจควรจะมีเว็บก่อนละกัน คือมันเป็นคำโฆษณามากี่ 10 ปีแล้วนะ ที่อย่างน้อยต้องเป็นโบรชัวร์ออนไลน์ที่พูดแทนเรา พอยุคหลังๆ ปุ๊บ เว็บมันก็กลายเป็นสิ่งที่จะไปติด Google คนค้นปุ๊บเจอ หรือเข้าเว็บแล้วมันสามารถมีข้อมูลสินค้า คนไม่ต้องมาติดต่อเรา เพราะเช็คจากข้อมูลสินค้าก่อน หรือเข้าเว็บใส่ Shopping Card เข้าไปอีกนิดนึง คนเขาก็จะไม่ติดต่อเราแล้ว เขาซื้อของเอง แล้วจ่ายเงินเองเรียบร้อย เพราะฉะนั้น Step ของเว็บมันมีหลากหลาย เป็นแค่ Information อย่างเดียว หรือเป็นบางอย่างที่มันติดต่อลูกค้าได้ Interactive ได้ หรือเป็นระบบสมาชิก ที่เขาเข้ามาแล้วเช็คประวัติการสั่งซื้อ หรือซื้อของ หรือทำเรื่องร้องเรียน พูดง่ายๆ คือเว็บมันมีหลายขนาดมาก แล้วมันก็ตอบโจทย์ในธุรกิจได้หลายๆ แบบ มันเลยกลายเป็นว่า อย่างน้อยเริ่มต้นธุรกิจควรจะมีเว็บพื้นฐานก่อน เพื่อให้ติด Google ก่อน คนเขาเข้ามา อย่างน้อยก็เจอแล้วว่า ตัวตนเราเป็นใคร เบอร์ติดต่อเราอยู่ที่ไหน มีตัวตนจริงหรือเปล่า อันนี้พี่ว่ามันเป็นกรอบความคิดยุคนี้ ที่ค้นหาปุ๊บ ถ้าไม่ขึ้นเลย จะเริ่มสงสัยว่าเป็นการหลอกลวงหรือเปล่า มันเลยกลายเป็นว่า องค์กรมันต้องมี

แต่ในแง่นี้ ถามว่าต้องใช้ WordPress มั้ย ก็อาจจะไม่จำเป็น ใช้อะไรก็ได้ เว็บสำเร็จรูปมีเต็มไปหมดเลย เพียงแต่สิ่งที่พี่รู้สึกว่า WordPress มันไปแก้ปัญหาคือ เว็บมันเปลี่ยนเทคโนโลยีของมันตลอดเวลา เมื่อก่อนเว็บสำเร็จรูปจะมีเจ้าที่เขาทำไว้แบบง่ายๆ พอสร้างเสร็จปั๊บ อ่าว อยู่ ๆ คนใช้มือถือกัน เทคโนโลยีพวกนั้น มันไม่รองรับ แต่ WordPress มันรองรับมาตลอด WordPress มันจะรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ มาตลอดแหละ เพราะฉะนั้นมันปรับตัวเร็วกว่าเขา หรืออยู่ ๆ วันนึง เราควรจะมีระบบแบบนี้ต่อกับ E-Commerce ได้เลย ลง Plugin เสร็จปุ๊บ จ่ายเงินได้เลย พอเป็นระบบสำเร็จรูปอันอื่น มันใช้เวลาพัฒนาเยอะ WordPress มันมีคนช่วยพัฒนาทั้งโลก ต่อเนื่องตลอดเวลา ทีมพัฒนาก็หลายพันคนอยู่แล้ว แต่ละคนก็ต่ออย่างละนิดอย่างละหน่อย

หรืออย่างของพี่ บางอย่างก็พัฒนาให้เขาฟรีก็จริง แต่บางอย่างเราก็ได้รายได้จากเขาด้วย เราขาย Plugin นิดเดียว แต่ว่าคนอื่นเอาไปใช้ประโยชน์ เขาก็จ่ายให้เราไม่กี่ร้อย อาจจะ 1,000-2,000 บาท แต่ว่าไปตอบโจทย์ธุรกิจเขา ในขณะที่ 1,000-2,000 บาท พี่ขายลูกค้าได้ 1,000 คน พี่ก็ได้ล้านนึง มันเป็นโมเดลที่เราสร้างแค่ของที่มันมีคุณค่าโดยที่เราสร้างแค่นิดเดียว แต่ว่าทำให้มันดี คนอื่นเขาได้ประโยชน์จากเราไปด้วย มันเลยทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ WordPress มันน่าส นใจ มันแก้ปัญหาให้คนอื่นได้เยอะ แล้วเราก็ได้รายได้ที่สูงกว่า พอมันเริ่มถึงจุดนึงปุ๊บ มันจะเริ่มสูงกว่าการที่ไปทำโปรเจกต์ในขนาดที่ไม่ใหญ่มากได้ ไม่ใช่โปรเจกต์ 10 ล้าน แต่เป็นโปรเจกต์ระดับหลักแสน กลายเป็นว่า ทำ WordPress มันอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้เยอะกว่า และรายได้ดีกว่าด้วย


4
เริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ที่เมืองปาย


พอทำบริษัทไปได้สักพัก ทำไมตัดสินใจที่จะอยู่ปายเต็มตัว

คือต้องยอมรับว่า ถ้าอยู่กรุงเทพฯ เรามีโอกาสได้รายได้สูงกว่านี้ และมีโปรเจกต์ใหญ่ๆ รอมากกว่านี้ มีข้อแลกเปลี่ยนที่ดี หลายๆ อย่างมันดี แต่ทีนี้ อาจจะเป็นช่วงนั้นเอง เป็นช่วงที่ทีมออกไปเติบโตของตัวเอง น้องในทีมก็ไปสร้างบริษัทเอง เราเองก็รู้สึกว่าอยู่กรุงเทพฯ แล้วเหมือนความเหนื่อยมันเยอะ อาจจะอิงกับหนังสือเล่มนึง เงินหรือชีวิต เขาจะให้เราปิดงบการเงินของเรา คือชีวิตเราที่ผ่านมา เราอาจจะเคยทำรายได้เยอะมาก แล้วเราก็มีรายจ่ายเยอะมาก พอเราปิดงบการเงินของเรา กลายเป็นว่าสิ่งที่เหลืออยู่มันไม่ได้เยอะอย่างที่คิด กลายเป็นว่ารายได้จำนวนมากของเรา มันพ่วงมากับรายจ่าย อาจจะเป็นค่าครองชีพ ภาษีสังคม ในตอนที่อยู่กรุงเทพฯ พอมันเทียบกับตรงนั้นปุ๊บ จริงๆ เราลดรายได้สักครึ่งนึง แต่รายจ่ายเราอาจจะลดไปมากกว่าครึ่งอีกนะ พอคำนวนไปคำนวนมา อยู่ต่างจังหวัดมันแก้ปัญหาได้ดีกว่า เราได้วิถีชีวิตที่สงบสุขกว่า เรามีกำไรที่เยอะกว่ากำไรที่เป็นตัวเงินด้วยซ้ำไปนะ ยังไม่รวมกำไรเรื่องสุขภาพ หรือเรื่องอากาศ เอาแค่ตัวเงิน

ถ้าเราคิดดีๆ ปุ๊บ อยู่กรุงเทพฯ เรื่องค่าใช้จ่ายบางอย่างมันเยอะ ถ้าเราปรับตรงนั้นได้ แปลว่าเราต้องหาลูกค้าที่เขาเชื่อเราจริงๆ ศัพท์สมัยนี้เขาเรียกว่า Personal Branding สมัยก่อนเราก็ไม่ได้คิดอะไรหรอก เราก็เผยแพร่ความรู้ของเรา แล้วเราก็มีคนที่เชื่อถือเรา เราก็ทำงานกับเขามาต่อเนื่อง เราเริ่มเห็นแล้วว่า เราจะมีรายได้ที่ต่อเนื่องได้อยู่ โดยที่ลูกค้าอาจจะเชื่อเรา โดยไม่ต้องไปเจอหน้า ไม่ต้องไปประชุมก็ได้ แต่ว่าเราส่งงานให้เขาได้ คุณภาพดี ราคาถูก พอเป็นอย่างนั้นปุ๊บ แปลว่าเราน่าจะเริ่มอยู่ต่างจังหวัดได้ ก็ค่อยๆ วางแผน ค่อยๆ ย้ายมาเรื่อย ๆ พี่รู้สึกว่าพอปิดงบดุลของชีวิตแล้ว อยู่ต่างจังหวัดเราได้กำไรเยอะกว่า ก็ย้ายสิ (หัวเราะ) ตอนแรกก็เลยเป็นฟรีแลนซ์ เผอิญจังหวะดี แล้วพอมันมีโปรเจกต์ SeedThemes ที่มี Funding เข้ามา มันเลยทำให้พี่รับคนเข้ามาตั้งทีม แล้วก็มาทำพวกนี้ได้จริงจัง มันก็เลยขยายต่อยอดมาถึงตอนนี้ได้

ครั้งไหนที่รู้สึกว่าเราทำแล้วใช้ศักยภาพได้เต็มที่

พี่ว่าลูกค้าที่ดี คือลูกค้าที่ทำให้เราได้สร้างประสบการณ์ที่ดีกับเขา ซึ่งบางอย่างไม่ใช่ว่าลูกค้าต้องเชื่อเราหมด ลูกค้าบางคนก็คือตามใจเราเลย ทำอะไรก็ได้ บางทีเราก็จะทำได้ถึงประมาณนึง เพราะว่าเราตีโจทย์ของเขาได้ประมาณนึง แต่ลูกค้าที่ดีกว่า คือลูกค้าที่นอกจากเชื่อเรา เขาก็จะมีจุดมุ่งบางอย่าง เช่น The Cloud พี่ก็มองว่าเป็นลูกค้าที่ดี เขาชัดเจนว่าเขาอยากจะทำอะไร รสนิยมแบบไหน Set Theme, Set Feeling, ดีไซน์ประมาณไหน เพราะมาคุยกับเรา หลายอย่างเขาเชื่อเราเลย เช่น ใส่แอนิเมชันแบบนี้ แล้วมันเลยได้ Product ที่ออกมาเป็นผลงานร่วมกันที่มันดี เราได้สร้างงานที่เราแฮปปี้กับมันด้วย ได้ตอบโจทย์ลูกค้าด้วย แล้วเขาเอาไปต่อยอดหลายๆ อย่างได้ด้วย ลูกค้าที่ดี พี่ว่ามันต้องทำงานร่วมกัน คือมองว่าเราเท่าเทียมกัน เขาให้เครดิตเราในเรื่องที่เขาเชี่ยวชาญ แล้วเราก็ให้เครดิตเขาในแง่ที่ว่าเป้าหมายที่เขากำลังทำอยู่ มันสนุก หรือว่ามันไปตอบโจทย์ หรือว่ามันมีคุณค่าอะไรสักอย่าง เราก็เลยอยากจะดึงศักยภาพมาช่วยตอบโจทย์เขา

คือถ้าบางคนเป็นงาน Corporate เฉยๆ บางอย่างมันก็ไม่ได้สนุก หรือสรุปว่าทำเสร็จ มันก็ไม่ได้ต่างจากเจ้าอื่น บางทีเราอาจจะไม่สนุกมาก แต่ว่าทำได้มั้ย ทำ เราก็มีงานแบบนี้เรื่อย ๆ แต่ว่างานบางอย่างที่มันท้าทาย หรือบางอย่างที่ถ้าทำแบบนี้เสร็จปุ๊บ มันไปช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่นได้เยอะ ถ้าเป็นแบบนี้ถึงจะสนุก หรือที่พี่ไปทำ Product ล่าสุด ทำเป็น Sale Page คือพอเราทำ Theme ที่เป็น E-Commerce มาสักพักนึง ในช่วงหลายปีก่อน เรารู้สึกมันไม่ตอบโจทย์คนไทย คือบางทีคนไทยก็อยากจะแชท อยากจะคุย แล้วเรารู้สึกว่ากว่าจะคุย มันไม่จบมันไม่สิ้นสักที เสร็จแล้วคำนวณราคาให้อีก คำนวนเสร็จ สรุปราคาให้ คำนวณให้ บวกค่าส่งของ ต่อรองกันไป ต่อรองกันมา

พอเทรนด์มันมาทาง Sale Page เราก็รู้สึกว่าพวกเว็บสำเร็จรูปที่ทำ Sale Page มันก็มี ทำก็ดี แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีของไทยนะ ของพี่ก็เลยทำเป็น Theme ที่รองรับ Sale Page ได้ด้วย กลายเป็นคนรู้สึกว่ามันแก้ปัญหาชีวิตเขา แล้วเราก็รู้สึกว่าทำทีเดียว ลูกค้า 1,000-2,000 คนของเรา เขามี Product ที่ดีเลย บางทีมันเป็นโจทย์ลูกค้าบางราย อยากให้มันคำนวณราคาแบบนี้ อยากได้มีค่าส่ง คนนึงก็อาจจะอยากให้มีเก็บเงินปลายทาง สุดท้ายคือ เราได้สร้าง Product ที่พอทำครั้งนึงปุ๊บ คน 1,000 คน ได้ใช้ด้วย แล้วลูกค้าเราที่มาให้ Requirement เขาก็ได้ใช้ เขาก็แฮปปี้ สิ่งนี้เรามองว่าเป็นลูกค้าที่ดี คือเชื่อเราด้วย แล้วก็ให้ Requirement บางอย่างที่มันเวิร์คด้วย

ซึ่งการทำ Product เราเจอโจทย์แบบนี้ได้ง่ายกว่าทำโปรเจกต์ คือทำโปรเจ็กต์มันมีความเชื่อถือกันเยอะ แล้วบางทีเงินมันเยอะ อย่างน้อยๆ ทำเว็บใหญ่ๆ ก็อาจจะหลักแสนแล้ว มันเลยทำให้กว่าเราจะได้ Develop ทั้งตัวงาน ตัวความสัมพันธ์ ตัวความเชื่อใจ มันใช้เวลา แต่ว่าอย่าง Plugin หรือ Theme ที่มันราคาไม่กี่พัน ใครๆ ก็ลองใช้ได้ เมื่อใช้เสร็จ เวิร์คไม่เวิร์ค เขาอาจจะแสดงความคิดเห็นมา แล้วเราก็กรองความคิดเห็นพวกนี้ มาเป็น Product ที่เรารู้สึกว่ามันต้องแบบนี้แหละ แล้วเราก็ออกเวอร์ชั่นใหม่ๆ พี่รู้สึกว่า Loop ของการพัฒนา Product มันสนุกกว่าโปรเจกต์ แต่ถามว่าตอนนี้มีงานทั้งคู่มั้ย ก็มีงานทั้งคู่เหมือนกัน เพราะว่างานโปรเจกต์ มันก็ยังมีโปรเจกต์ใหญ่ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่งาน Product เราก็เอาความรู้พวกนั้น จากโปรเจกต์ใหญ่ๆ มาลงไปใน Product บางทีเราไปทำให้ลูกค้ารายนึง เขากำลังจะทำ Shop ที่ต้อง Login ด้วยมือถือ, Shop ที่จะต้องมี Tracking บางอย่าง, ต้องจ่าย QR  Code บางอย่าง เป็นต้น เราก็เอาความรู้มาใช้ เราก็พยายามจะดึง Know-how สิ่งเหล่านี้กลับมาใช้ใน Product ของเรา คนอื่นเขาจะได้ใช้ประโยชน์ได้ด้วย

สิ่งสำคัญสำหรับการทำธุรกิจคืออะไร

(คิด) พี่รู้สึกว่า Mission ถ้าตอบในแง่ของชีวิตละกัน มันคือการแก้ปัญหาให้คนอื่น พี่รู้สึกว่าเรามีคุณค่าเพราะเราแก้ปัญหา แล้วในทางธุรกิจก็ชัดเจนมาก เมื่อเราแก้ปัญหาที่มันมีมูลค่าอยู่ ทำให้มีคนจ่ายเราเสมอ ซึ่งในคำของ Startup เขาจะใช้แนวคิดที่ว่า คุณต้องหาปัญหาที่มันยาก แล้วต้องแก้ปัญหาที่ยากให้คนจำนวนมากให้ได้ ถ้าเกิดเราแก้ปัญหาที่ยากให้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งเฉยๆ มันคือโปรเจกต์เจ๋งๆ ขนาดใหญ่สักโปรเจกต์นึง แต่มันจะไม่กระจายออกมาเป็น Startup เพราะฉะนั้น ปัญหาต้องยากด้วย แล้วแก้ครั้งนึง มันต้องส่งผลให้กับ User เยอะๆ ถ้า Startup ไปเคลียร์ตรงนี้ได้นะ พี่ว่ามันก็จะสร้างผลกระทบที่ดี สมมติถ้าเราสร้าง Theme ที่ดี Plugin ที่ดี ที่ทำให้ Shop จำนวนมากซื้อ-ขายได้ง่ายขึ้น มีช่องทางทำมาหากินเพิ่มเติม นั่นคือเราแก้ปัญหาที่มันยาก เพราะคนอื่นยังไม่ได้แก้ หรือสมมติว่าเราทำสิ่งที่ดีกว่า Shopee ได้ แต่ว่ามันคงไม่ง่ายหรอก เพราะ Shopee แก้ปัญหาที่มันยาก ให้กับคนจำนวนมากเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเกิดเราหาเส้นทาง-วิธีตรงนี้ได้ มันก็จะมีมูลค่าของมัน พี่เลยคิดว่า โจทย์ของธุรกิจคือการแก้ปัญหา ถ้าเราแก้ปัญหาได้นะ แล้วมีคนยอมจ่าย ธุรกิจมันจะโตไปเรื่อย ๆ

ส่วนใหญ่เวลาพี่มอง พี่มองว่ามันมีปัญหา หรือที่เรียกว่า Pain Point หรือเปล่า แล้ว Pain Point นี้ มันมีมูลค่าหรือเปล่า ใครยอมจ่าย บางอย่างลูกค้าอาจจะจ่ายเรา บางอย่างอาจจะไม่ใช่คนที่เป็นลูกค้า อาจจะเป็นหน่วยงาน อาจจะเป็นองค์กรเพื่อสังคม อาจจะเป็นรัฐบาล เป็นต้น ต้องตีโจทย์ให้ดีว่าใครเป็นคนจ่าย แล้วถ้าเราตีโจทย์ได้เสร็จแล้ว อยากทำ ถ้าอยากทำก็ลุยต่อ ของพี่มาลงในตลาด Theme ตลาด Plugin มันชัดเจน คือลูกค้าจ่ายตรงๆ เลย แล้วเขาเอาไปทำกำไรจากเราได้อีกสัก 10 เท่า พี่รู้สึกว่าเราโคตรมีคุณค่าเลย คือเราสร้างสิ่งที่มันเป็นประโยชน์กับเขา แล้วเราก็มีรายได้ของเราด้วย นี่แหละ แก้ปัญหาที่มันยากกับคนจำนวนมากๆ ให้ได้ เลยพยายามทำแบบนั้น


5
ในวันที่ Theme มีมูลค่ามากกว่าที่เห็น


มองมูลค่าของเว็บไซต์ Theme ทุกวันนี้เป็นอย่างอย่างไร

ตลาดเมืองนอกตอนที่พี่กำลังจะเริ่มทำ Theme ที่ขายดีที่สุดในช่วงนั้น พี่ก็ลองไปคิดๆ นะ สุดท้ายพี่ก็มองว่า มันคือปัญหาใหญ่แค่ไหน คนยอมซื้อเยอะแค่ไหน ตอนนั้นสมมติว่าตีคร่าวๆ ง่ายๆ ว่า Theme ราคาสัก 2,000 บาท เขาขายได้ประมาณหนึ่งล้าน Copy แล้วในตอนนำเสนอเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้ พี่ก็บอกเหมือนกันว่าก่อนหน้านี้เราทำโปรเจกต์เป็นล้านบาท เราทำให้กับคนได้เสี้ยวเดียว มูลค่าที่มันเกิดขึ้นจริงๆ มันไม่เยอะ แต่พอเราทำ Theme มูลค่า 2,000 บาท ในนั้นขายไป สมมติว่าหนึ่งแสน Copy ได้ 200 ล้านบาท คิดดูดิ เขาเอา Know-how ขนาดไหนมาใส่ใน Theme หนึ่งที่ราคา 200 ล้านบาทได้ เพราะฉะนั้น Know-how มันเลยพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ คนซื้อ 2,000 บาท ก็รู้สึกว่าไม่ยาก มี Know-how ที่มันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนของไทย ลูกค้าของ SeedThemes อยู่ประมาณหลักหลายพันนะ 5,000-6,000 คน ถ้าเฉลี่ยแล้ว ประมาณ 10 ล้าน เป็นตัวเลขที่เยอะมากเลยนะ แต่ว่ามันทำให้เราได้สร้างมูลค่าที่มันมีประโยชน์กับลูกค้า เพราะว่าเรารู้สึกว่าเขาซื้อเรา 2,000 บาท เขาควรจะเอาไปทำรายได้สัก 20,000 บาท ซึ่งอันนี้พี่เชื่อว่าหลายคนทำได้นะ มันเลยกลายเป็นเราขายของ 2,000 บาท แต่มีรายได้ที่เยอะพอสมควร ที่จะเลี้ยงทีมงานได้ด้วย ซึ่งอันนี้พี่แชร์เพราะอยากให้คนอื่นมาทำด้วยนะ

พี่รู้สึกว่าตลาด Open Source มันแปลกกว่าตลาดแบบอื่น คือคนอื่นทำก็ทำได้เลย (หัวเราะ) ยิ่งมีคู่แข่งหรือมีความหลากหลายเยอะๆ ตลาดก็ยิ่งโต เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำตรงนี้กัน ก็ไปโฟกัสเฉพาะ Proprietary Software (ซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์) คือซอฟต์แวร์ที่มันขายแล้วไม่เปิด Source Code ไม่แชร์ความรู้ มันก็น่าเสียดาย WordPress มันเป็นตลาดพิเศษ คือเปิดด้วย แชร์ด้วย Code ก็อนุญาตให้คนเอาไปดัดแปลง ตัดต่อ ทำได้หมด แต่ยังสามารถเติบโตไปได้เรื่อย  ๆ มูลค่ามันเลยกลายเป็นว่า Product ที่เป็น Open Source แบบนี้ มันมีมูลค่าทั้งตัวเงิน และมีมูลค่าทั้งคุณค่าที่ User ซื้อไป พี่ว่ามูลค่าเยอะอยู่ มันดีกับทั้งภาพรวมด้วย

มันมีความยาก-ง่ายเลยอย่างไร ในการทำ Theme ภาษาไทยโดยเฉพาะ

(หัวเราะ) มันก็แปลกดี คืออาจจะเรียกว่ามันมีช่องโหว่นึง คือเว็บไทยที่ใช้ Theme ภาษาอังกฤษ ถ้าเก่งภาษาอังกฤษก็เก่งไปเลย แต่ว่าถ้าใช้ภาษาไทยแล้วมันไม่ Matching กับระบบเขา ต้องบอกว่าเพราะพี่เห็นช่องโหว่นี่แหละ พี่เลยรู้สึกว่ามันควรที่จะมีคนแก้ปัญหา ซึ่งเมื่อก่อนเราแก้ปัญหาเป็นโปรเจกต์ใช่มั้ย เราเอา Know-how เรื่องภาษาไทย ซึ่งมันก็จะมีเรื่องสระ วรรณยุกต์ ระดับการแบ่งภาษา มันก็มี Know-how หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษา ซึ่งที่ผ่านมามันไม่ค่อยมีใครแก้แบบ Mass (มวลชน) จะไปแก้อย่างเช่น ทำให้เฉพาะธนาคาร ทำให้เฉพาะแอปใหญ่ๆ แต่ถ้าเราแก้แล้วมันกลายเป็น Mass ปุ๊บ คนก็ได้ใช้ประโยชน์เยอะ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่ามันมีช่องโหว่นี้ แต่ว่าคนที่เขา Theme ภาษาอังกฤษจนชินแล้ว ก็เข้าใจเขานะ คือบางอย่างมันต้องไปดัดแปลงเยอะกว่า กว่ามันจะได้ภาษาไทย เลยทำให้มันยังคาราคาซังกันอยู่ (หัวเราะ) มันไม่ค่อยตอบโจทย์กัน

ถามว่าอะไรคือกุญแจสำคัญเลย คือเพราะว่าตัวอักษรของแต่ละภาษาไม่เหมือนกัน พอตัวอักษรที่ไม่เหมือนกันปุ๊บ มันกินระยะห่างไม่เหมือนกัน มันเลยต้องไปคำนวณพวกงานดีไซน์ที่มันต่างกันและเวลาเราดีไซน์เป็นภาษาอังกฤษ มันจะมีความง่ายบางอย่างนะ ไม่ต้องมีระดับสระ-ระดับวรรณยุกต์ เพราะว่าฟอนต์มันวางปุ๊บก็สวยแล้ว พอใส่ภาษาไทยเข้าไปมันไม่สวย มันเลยต้องไปอิงกับฟอนต์ เป็นที่มาว่าก่อนหน้านี้ เวลาพี่ทำโปรเจกต์ให้ลูกค้าใหญ่ๆ หน่อย พี่ก็ต้องไปซื้อฟอนต์ที่มันสวย ซึ่งฟอนต์ที่มันสวย เริ่มต้น 10,000-30,000 บาทแล้ว

หรืออย่างตอนที่เราสร้าง SeedThemes ครั้งแรก มันก็ไม่มีฟอนต์ภาษาไทยสวยๆ เท่าไหร่ ตอนนั้นยังไม่มี Google Fonts ต้องไปจ้าง คัดสรร ดีมาก ทำ ตอนนั้นพี่จ้างอยู่ประมาณ 4-5 แสนบาท จ้างเขาช่วยสร้างฟอนต์ที่มันรองรับจอได้ดีๆ หน่อย อ่านบนจอแล้วมันสวย คือ Know-how ของภาษาไทยก่อนยุคนั้น คืออ่านบนสิ่งพิมพ์แล้วมันสวย ซึ่งมันเป็นคนละ Know-how กับการอ่านบนจอแล้วมันสวย เพราะบนจอพิกเซลมันน้อยกว่า การจะจัดส่วนโค้งมันต้องคิดอีกแบบนึง หลายๆ คนคิดว่าเว็บสวย เพราะว่ากราฟิกสวย จริงๆ เขาลืมไปว่าถ้าฟอนต์สวย เว็บมันจะสวยขึ้นอีกเยอะเลย มันเลยเป็นจุดแรกๆ ที่พี่รู้สึกว่า สร้าง Theme ก็ต้องมีฟอนต์ให้ด้วย ในช่วงที่ออก SeedThemes ครั้งแรกนะ

แต่พอมันมี Google Fonts ปุ๊บก็ช่วยแก้ปัญหาไปได้เยอะมาก มีฟอนต์สวยๆ ที่มันคุณภาพดี โดยที่เราไม่ต้องไปสร้างฟอนต์เพิ่มนะ พี่ก็เลยไม่ได้โฟกัสเรื่องฟอนต์เพิ่มแล้ว มีแค่ว่าถ้าเกิดคุณใช้ Google Fonts เอามาประกอบแล้วมันต้องมีเผื่อระยะอะไรนิดหน่อย แล้วมันจะรองรับภาษาไทยได้ดี


6
วันที่เติบใหญ่ของ SeedWebs


ที่ทำมาถึงทุกวันนี้ นานกี่ปีแล้ว

ถ้านับจากจดบริษัท พี่เพิ่งเปิดมา 4-5 ปี แต่ว่าก่อนจดบริษัทประมาณสักปีนึง ที่พยายามขายไอเดีย รวมๆ แล้ว ประมาณ 5-6 ปีเหมือนกันนะ ใช้เวลาพักใหญ่เหมือนกันกว่ามันจะเริ่มอยู่ได้ เรียกว่า Model ของ Plugin มันอยู่ได้ เลยทำให้ที่ผ่านมาเปิดระดมทุนอีกรอบ เพื่อจะเอาทีมมาลุยกับมันชัดเจน จริงจังหน่อย เราระดมทุนด้วยการขาย Lifetime License เหตุผลคือพี่ไม่ค่อยเชื่อใน Lifetime อยู่แล้ว คือฝรั่งจำนวนมากชอบขาย Lifetime แล้วปิดโปรเจกต์ทิ้ง (หัวเราะ) เราก็ซื้อของเขามาเยอะ แต่ก็มีบางคนที่ขาย Lifetime แล้ว มองว่าคนเหล่านี้เหมือนผู้ช่วยก่อตั้ง ได้สิทธิประโยชน์ยาวๆ ไป แล้วตัวเองก็ไปเก็บรายเดือน รายปี จากลูกค้ารายอื่นไป แต่ว่าเราจะได้เงินก้อนนึง

อย่าง Lifetime ที่ผ่านมาพี่ก็ขายได้ประมาณสัก 2 ล้านได้มั้ง คือทำให้เรามี Budget ที่จะเอาทีมมา Run แล้วเราก็สามารถที่จะลุยต่อได้ ทำให้ตอนนี้มีไอเดียแตกยอดอีกเยอะมากที่อยากจะทำ (หัวเราะ) กำลังไล่ทำอยู่ แล้วมันก็ Matching กับ WordPress 5.9 ที่มันกำลังเปลี่ยนวิธีการสร้างเว็บใหม่ มันจะทำให้การสร้างเว็บในยุคใหม่ๆ ง่ายขึ้นอีก พี่เลยมองว่ามันก็ดี แล้วเราก็รู้สึก Trust กับลูกค้าด้วย ลูกค้าก็ Trust เรา เราก็จะได้มีแรงในการทำอื่นๆ ต่อ แล้วเราก็จะได้โฟกัสมากขึ้น ไม่งั้นที่ผ่านมาในช่วง 3-4 ปีแรก ต้องเรียกว่าพี่เองจะต้องบาลานซ์ระหว่างโปรเจกต์ กับ Product ไปเรื่อย ๆ บางจังหวะมันไม่มี Budget มาลง Product เราก็ทำเฉพาะโปรเจกต์ไปก่อน แล้วรอว่างๆ แล้วค่อยมาทำ Product ซึ่งมันก็เป็นข้อเสีย ทำให้รู้สึกว่าเราต้องลุยแล้วต้องหาเงินสักก้อนแล้วมาลุย แล้วก็ตั้งทีมจริงจัง

แล้วบริหารชีวิตตนเองในการทำงานอย่างไรบ้าง

ตอบยากนะ อันดับแรก พี่รู้สึกว่าเราต้องรู้ก่อนว่าเราอยู่กับมันกี่ชั่วโมง ทำให้พี่ชอบจับเวลาตัวเอง ว่าเราอยู่กับโปรเจกต์นี้กี่ชั่วโมง เราอยู่กับงานนี้กี่ชั่วโมง รวมไปถึงทีมงานทั้งหมดเลย เรามีเงินเดือนประมาณหนึ่งให้ เพื่อทำให้เขามีเงินเดือนที่อยู่ในชีวิตได้ คือทุกคนจะได้รู้ว่าตัวเองกำลังทำงานอะไรอยู่ แล้วพอนับจริงๆ ทำงานหนักๆ ของการใช้คอมนะ ถ้าไม่นับเวลาอู้อยู่ประมาณวันละ 6-8 ชั่วโมงเท่านั้นแหละ คือถ้าอยู่หน้าคอมเกิน 8 ชั่วโมง แบบไม่อู้ ทำงานจริงๆ นะ พี่ว่าอยู่เกิน 8 ชั่วโมงไม่รอดหรอก เพราะฉะนั้นพี่ตั้งไว้เลยว่าทำงานได้สูงสุดแค่ 8 ชั่วโมง แล้วก็ทำงานที่มันควรจะทำคือประมาณสัก 6 ชั่วโมง เพราะว่ามันเป็นพลังงานชีวิตที่มันพอดีๆ กับการอยู่หน้าคอมแล้ว ที่เหลือคือไปพัก หรือไปเล่น หรืออาจจะไปอ่านหนังสือ

คือสุดท้าย มันไม่จำเป็นจะต้องมาจมกับตัวโปรเจกต์ขนาดนั้น เพราะว่าพลังงานที่ให้ มันไม่ค่อยคุ้มแล้ว ของพี่เองก็เหมือนกัน พี่ก็พยายามจะจำกัดให้มันอยู่ในช่วงนี้ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อโฟกัสงาน แล้วที่เหลือเราก็อาจจะออกกำลังกาย ไปเที่ยวเล่น (หัวเราะ) พักผ่อน แต่สุดท้าย ด้วยอาชีพอย่างเรา คำว่าพักผ่อน เราก็เหมือนเปิด iPad เพื่อมานั่งตามข่าวสารอยู่ดีนะ (หัวเราะ) คือสุดท้ายเราก็อ่านฟีดต่างๆ แต่ว่ามันคนละอารมณ์กับการที่เปิดคอมมาเพื่อทำงาน เพราะฉะนั้นพี่จะถือว่าตรงนั้นอาจจะเป็นการศึกษาหาความรู้ไป แต่มันทำให้เราแบ่งเวลาที่มันชัดเจนขึ้นได้หน่อย ไม่อย่างนั้น ทุกอย่างก็จะอยู่กับงานอย่างเดียว แล้วเป็นงานที่เป็นงานลูกค้าด้วย

บางทีพอเราทำงานลูกค้าอย่างเดียว เราจะลืมมีมุมมองอีกมุมมองนึงว่า เราจะเอา Know-how ตรงนี้ไปขายต่อยังไง (หัวเราะ) ไปทำซ้ำยังไง พอเราแบ่งเวลาปุ๊บ เราจะเริ่มมีมุมมองที่มันกว้างขึ้น เอ้อ โปรเจกต์นี้มันไม่เวิร์ค ถ้าอย่างนั้นอย่าทำต่อละกัน อาจทำแค่ Phase นี้ แล้วก็จบไป หรือเราจะได้คิดต่อว่า โปรเจกต์นี้เราหยิบเอาตรงนี้มาต่อยอดได้ เอามาทำเป็น Plugin ได้ เอามาทำเป็นอะไรขายต่อได้ การที่เราได้ถอดตัวเอง ถอยออกมาสักหนึ่ง Step มันทำให้เรามีเวลาพวกนี้เพิ่มขึ้น

เรียนรู้อะไรจากการเปิดบริษัท และการทำ SeedWebs

คือพี่รู้สึกว่า ยิ่งอายุมากๆ เรายิ่งมี Mission ที่เราชัดเจนอยู่แล้วว่าเราอยากจะไปทางไหน เราอยากจะมีวิถีชีวิตแบบไหน เมื่อก่อนจะเขียน Blog ประมาณว่าเราควรจะจินตนาการให้ออกนะ ว่าสัก 5 ปี เราเห็นภาพตัวเองประมาณไหนอยู่ คืออย่างพี่ พอเราภาพปุ๊บ การที่เราทำบริษัท มันก็ไปตอบโจทย์วิสัยทัศน์พวกนั้นแหละ ว่าเราทำงานที่มันเลี้ยงชีพได้ เลี้ยงทีมได้ แล้วตัวงานก็มีประโยชน์กับสังคม หรือว่ามีประโยชน์กับลูกค้าเรา มันค่อยๆ ตอบโจทย์ตรงนั้นไปเรื่อย ๆ (หัวเราะ) เลยรู้สึกว่า การเรียนรู้มันเหมือนกับวน Loop พวกนี้ไปเรื่อย ๆ นะ เรียนรู้ว่าทำยังไงให้ Product มันดีขึ้น ทำยังไงให้บริษัทดีขึ้น ทำยังไงให้ทีมเติบโตได้มากขึ้น โดยที่เรายังไม่หลุดจาก Mission ของเราอยู่ ยิ่งถ้าทำธุรกิจนะ พอเราเห็นบางอย่าง Project นี้ 5 ล้านบาท แต่ว่าเราต้องแลกกับ 1-4 ในช่วงแรกๆ เรารับก่อนเลย แต่ว่าเราต้องแลกกับ 1-4 พอรับแล้ว รู้สึกว่าโปรเจกต์นี้กลายเป็นไม่เวิร์ค พอมีอีกโอกาสนึงขึ้นมา เราก็รับอีก

พี่เลยมองว่าช่วงแรก ๆ ที่เราทำ ทุกคนก็คงจะเป็นประมาณนี้แหละ คือรับทุกโอกาสที่เป็นไปได้เข้ามา มีโอกาสไหนก็รับหมด จนพอเราเริ่มเรียนรู้มากขึ้น เราก็จะเริ่มรับน้อยลง รับเฉพาะงานที่เราถนัด รับเฉพาะงานที่เราทำกำไร รับเฉพาะงานที่เราไปสร้าง Impact กับลูกค้าหรือคนอื่นๆ แต่ว่าช่วงแรก ๆ พี่คิดว่ามันไม่ง่าย เวลาพูดก็พูดง่ายแหละ แต่ว่าในช่วงทำแรกๆ เราคงรับหมดกันทั้งนั้นแหละ จนเรารู้สึกว่า เราเหมาะหรือไม่เหมาะกับอะไร การที่ถามว่าเรียนรู้อะไร เราเรียนรู้ว่าตกลงแล้ว ทีมเราเหมาะกับอะไร พี่ว่าอันนี้มันทำให้อนาคตมันชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เรารู้แล้วว่าปลายทางอยากไปประมาณนี้ เราอยากมีบริษัทขนาดประมาณนี้ ซึ่งของพี่มีประมาณ 10 คน เราอยากมีมูลค่าบริษัทประมาณนี้ ของพี่ตั้งไว้ประมาณ 20-100 ล้านบาท ไม่เกินนี้ เพราะรู้สึกว่าใหญ่กว่านี้ไม่เวิร์ค พลังงานมันใช้เยอะกันไป ไม่คุ้ม เราอยู่ต่างจังหวัด ทีมมีรายได้เยอะประมาณนี้ แล้วระหว่างทางมันจะค่อย Matching ไปเรื่อย ๆ โปรเจกต์แบบนี้รับเพราะทีมมันเวิร์ค โปรเจกต์แบบนี้ ไม่รับ เพราะมันไม่เวิร์ค ค่อยๆ สร้างไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่ามันไปตรงกับ Mission ที่เราวางไว้

เป้าหมายในอนาคต ที่ SeedWebs จะต่อยอด พัฒนาไปด้านไหนบ้าง

การต่อยอดที่ว่า มันมาจากลูกค้า เพราะว่าพอเรามีวิสัยทัศน์แรก ที่อยากจะสร้างเว็บไซต์ให้ทุกคนโดยง่ายที่สุด พอเป็นแบบนั้นปุ๊บ เราก็อยู่กับ WordPress แล้ว WordPress โตไปทางไหน เราก็โตไปทางนั้น อันนี้คือ Mission นึง ทีนี้พอลูกค้าเริ่มมาใช้ อย่าง Sale Page เป็นตัวอย่างที่ดี พอ Sale Page มาใช้ปุ๊บ ลูกค้าก็จะมีความต้องการบางอย่างที่อาจจะไม่ตรงกับ WordPress เท่าไหร่ ที่ชัดๆ ของคนไทย คือไม่ชอบใช้อีเมล แล้ว WordPress ระบบมันต้องมีอีเมล ตรงนี้ก็จะเป็นจุดนึงที่ทำให้ทีมเริ่มหาแนวทางใหม่ที่สร้างระบบ Sale Page โดยไม่ต้องพึ่งอีเมล อาจจะไปขึ้นระบบอื่นแทนในการเป็นสมาชิก หรือไม่ต้องเป็นสมาชิกเลย แต่ว่าสุดท้ายลูกค้าสามารถใช้เบอร์มือถือ แล้วได้ OTP เข้ามาดูประวัติการสั่งซื้อได้ พูดง่ายๆ ในทางเทคนิคแล้ว มันมีช่องทางอีกจำนวนมาก ที่ทำให้เราสร้างการแก้ปัญหาของเว็บไซต์ให้ลูกค้าเราได้

แต่ถามว่าตอนนี้ทางออกที่เป็น Mainstream ของเราคือ WordPress ก่อนหน้านี้พี่ก็ไปลองหาทางออกอื่นๆ มา ก็ยังไม่เวิร์คนะ มี Solution ที่กำลังทำเองบางอย่างที่รู้สึกว่าเวิร์ค เพราะว่าการทำเองมันจะมีระบบสมาชิกที่จัดการได้ ระบบการจ่ายเงินที่มันอาจจะเหมาะกับคนไทย พวก QR Payment ง่ายๆ ระบบเติมแต้มง่ายๆ ซึ่งพี่รู้สึกว่าร้านค้าทุกร้านอยากจะมี อยากจะใช้ แต่ว่าพอเป็นของฝรั่งปุ๊บ มันยังไม่เข้าเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น Mission นึง เราทำให้ Solution มันเหมาะกับคนไทยมากที่สุด เพราะว่าคนไทยคือกลุ่มลูกค้าหลักเรา แต่เนื่องจากระหว่างทาง เรารู้ Know-how ของฝรั่งไว้ด้วย อย่าง WordPress 5.9 มี Know-how ใหม่ๆ เยอะมากเลย

มันเลยทำให้อีกขานึงของพี่ที่จะเริ่มปีนี้ คือการเอา Know-how พวกนี้ไปขายฝรั่ง ทำให้เดี๋ยวคงแตกออกมาสองแบบ แบบนึงคือ Solution ที่ขายคนไทยเลย กับอีกแบบนึงคือ Solution ที่อิงกับ WordPress แล้วขายฝรั่ง เพราะแค่คำว่า WordPress มันก็ใหญ่มากแล้ว ไม่ต้องคิด Solution อื่นให้เขาเลย เอาแค่ Solution ที่ใช้กับ WordPress แบบ Full Site Editing หรือแบบ 5.9 ขึ้นไปได้ดี ของฝรั่งเองก็ยังไม่เยอะ แล้วก็คงไปอิงทางนั้น เลยกลายเป็นว่าปีนี้มีโอกาสเพิ่มว่าเรามีช่องทางโฟกัสสองแบบ คนไทยก็จะสร้าง Solution ใหม่ ที่อาจจะไม่อิงกับ WordPress มากขึ้น ของฝรั่งก็อิงกับ WordPress มากขึ้น ชัดเจนว่าเป็น WordPress Solution เลย แต่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด


7
บทเรียนเพื่อคนรุ่นใหม่


อยากบอกอะไรกับ Startup รุ่นใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามาบ้าง

จริงๆ ต้องบอกว่ามันเยอะ แล้วมันก็เริ่มตายไปเยอะ (หัวเราะ) จนไม่แน่ใจว่ารุ่นใหม่ จะเริ่มสนใจหรือเปล่า เด็กรุ่นใหม่ในปีนี้ที่หมายถึง แต่ถ้าเกิดเป็นสองปีก่อน จะมีคนสนใจเยอะมาก คือก่อนหน้านี้ Startup มันกำลังเซ็กซี่มาก เพราะว่าพอเราพูดปุ๊บ มันมีการแก้ปัญหาใหม่ๆ มีโจทย์ใหม่ๆ แล้วผู้คนเอง ตอนนั้นก็ยังมีเงินจากหลากหลายแห่งที่อยากจะลอง อย่างเจ้าใหญ่ๆ ที่กลายเป็น Unicorn (ธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) พวกระบบ E-Commerce เขาก็อยากจะลอง พอลองปุ๊บ Startup เลยมีเงินมาใช้โดยที่ตัวเองยังไม่ต้องรีบทำกำไร มันก็มีเวลาทำระบบอะไรแปลกๆ ได้เยอะ อันนี้คือพื้นฐานของ Startup ก่อนละกัน คือคนทำมีอิสระในการคิดเยอะ แล้วก็ได้เงินมาพอสมควร

พอมาเป็นยุคนี้ คนให้ตังค์ไม่ค่อยเหลือแล้ว เพราะว่าเจ็บกันมาเยอะ ธุรกิจเจ๊งกันไปเยอะมาก เพราะฉะนั้น Startup จะเกิดในยุคนี้ มันแทบจะต้องอยู่รอดได้ด้วย Model ตัวเองก่อน อาจจะมีแค่เงินตั้งต้นให้ แต่ว่า Model ต้องชัดเจนแล้ว ก่อนหน้ายุคนี้ แม้ Model ยังไม่ชัดเจน เอาเงินมาเผาเฉยๆ ก็ยังได้ หรือสร้างแค่ User อย่างเดียวก็ยังได้ แต่ถ้ายุคนี้ Startup จะเกิดขึ้น ต้องกลับมาคิดแล้วว่า ตกลงธุรกิจของตัวเองจะสร้างกำไรอะไร จะอยู่ยังไง อาจจะขาดทุนสักปีหนึ่งก็ได้ แต่สุดท้ายคุณต้องได้กำไรนะ เพราะฉะนั้นมันจะเป็นโจทย์ที่ยากขึ้น แต่มันจะทำให้คนเหล่านี้อยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น บางทีพอไปพูดในงาน Startup ทุกคนก็ฝันเลย มีระบบแบบนี้ แบบนั้น ฯลฯ โดยไม่ได้คิดเลยว่าจะทำกำไรยังไง คิดแค่ว่าจะมี User เยอะๆ ซึ่งส่วนตัวแล้ว พี่จะไม่ค่อยสนับสนุนแบบนั้น พี่รู้สึกว่าธุรกิจมันต้องชัดเจนว่าใครเป็นคนจ่ายเงิน แล้วกลับมาเรื่องเดิม ๆ คือเราแก้ปัญหาอะไรอยู่ ปัญหานี้ใครเดือดร้อน แล้วปัญหานี้ใครจ่ายตังค์ ถ้าคนเดือดร้อนกับคนจ่ายตังค์เป็นคนคนเดียวกัน มันจะเป็นธุรกิจที่เข้าใจง่าย นั่นคือคนที่มาซื้อสินค้าบริการ แต่ถ้าเกิดคนเดือดร้อนกับคนจ่ายตังค์เป็นคนละคนกัน มันจะเข้าใจยากขึ้น เช่น อาจจะเป็นคนที่มาสมัครสมาชิกสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ แต่คนจ่ายตังค์อาจจะเป็นคนลงโฆษณา

เพราะฉะนั้นอารมณ์ของการรักษาความสัมพันธ์มันจะต่างกัน ถ้าเกิดคนมาซื้อของเรา เรารักษาเขาดีมันก็ง่าย แต่บางคน คนมาอ่านปุ๊บ เราไม่สนใจคนอ่าน เพราะเราไปสนใจคนที่จ่ายเงินค่าโฆษณา บางที่มันกลายเป็นสื่อที่มันเละเทะมาก (หัวเราะ) โฆษณาเต็มรุงรังไปหมด สุดท้ายไม่เหลือคนอ่าน พอไม่เหลือคนอ่านแล้ว ตัวเองก็ฆ่าตัวตาย ซึ่งตอนนี้สื่อจำนวนมากเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าจะมาเป็น Startup หรือจะมาเป็นสื่อออนไลน์ หรือจะใช้ออนไลน์แก้ปัญหาต่างๆ มันต้องชัดเจนว่าธุรกิจเรารับเงินจากใคร แล้วถ้าเกิดว่าเรารู้ว่าเรารับเงินจากใคร ใครเป็นลูกค้าเรา มันจะต่อยอดได้ แล้ว Model มันจะชัดเจน เพราะฉะนั้นทำ Startup ยุคนี้ยากกว่าเดิม (หัวเราะ) แต่มันจะอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น ต้องแก้ปัญหาให้มันชัดเจนขึ้น ปัญหาที่มีคนจ่ายเงินให้เราชัดเจน

นอกจาก Cash Flow สิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจคืออะไร

กลับมาเรื่องการแก้ปัญหานะ คือเราอาจจะตอบยาก เพราะว่าบางคนอาจจะไม่ได้มี Mission แบบนี้ ธุรกิจแต่ละคนมันมองไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดมี Mission เรื่องการหาเงินอย่างเดียว Cash Flow ทำให้ตัวเองอยู่ได้ แล้วกำไรคือปลายทาง อันนี้คือมาตรฐานของธุรกิจทั่วไป ธุรกิจสร้างขึ้นมาเพื่อทำกำไร แล้ว Cash Flow ทำให้เขาอยู่ได้ แต่ถ้าเกิดเรารู้สึกว่า เราอยากทำอะไรที่มันมากกว่านั้น มันจะต้องเป็น Mission ของธุรกิจเราว่าตกลงอยากทำอะไรกันแน่ เราอยากแก้ปัญหาอะไร สุดท้ายเราต้องเริ่มต้นที่การแก้ปัญหา คือแก้ปัญหาจริงหรือเปล่า ถ้าแก้ปัญหาได้ คนก็จะจ่ายเงิน แต่ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ไม่จ่าย ถ้าเกิดแก้ปัญหาชั่วคราว เช่น ซื้อมาขายไปแบบง่ายๆ เดี๋ยวคู่แข่งก็จะมาแก้ปัญหาแทนเรา หรืออาจจะแก้ปัญหาเก่งกว่าเรา ถ้าพี่มองนะ ถ้าพี่จะทำธุรกิจอะไรก็ตาม พี่จะรู้สึกว่าเราแก้ปัญหาตรงนั้นได้มั้ย ซึ่งเราอาจจะเป็นคนที่อยากแก้ปัญหา จากปัญหาที่เราเจอก็ได้นะ เช่น เราอยู่ตรงนี้ ตรงนี้ไม่มีของขาย ไม่มีบริการบางอย่างที่เราอยากได้ เราจะรู้สึกว่า ถ้าไม่มีใครทำ เราทำก็ได้ แล้วเราก็จะได้เป็นคนแก้ปัญหา แล้วเราก็จะได้มีรายได้เข้ามาสำหรับการแก้ปัญหาตรงนั้น พี่เลยไม่ได้มองที่ตัวกำไรก่อน แต่พี่มองว่าตกลงแล้วมันมีปัญหาอยู่จริงหรือเปล่า แล้วธุรกิจเราไปแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า อันนี้พี่ว่าคือความสำคัญ มันควรจะมีธุรกิจอย่างนี้เกิดขึ้นในโลก

บรรยากาศในการทำงาน SeedWebs เป็นอย่างไรบ้าง

พี่ว่ามันค่อนข้างลงตัวนะ หมายความว่าทีมก็ทำงานกันมาหลายปีแล้ว แล้วก็มีคนใหม่เข้ามา เริ่มคุ้นเคยกับวัฒนธรรมองค์กร อันนี้พี่ชอบเวลาไปอ่านหนังสือธุรกิจ เขาจะบอกว่าเราอย่ารีบขยายทีม โดยที่คนใหม่เข้ามาในสัดส่วนที่เยอะกว่าคนเก่า อย่างเช่น ถ้าเป็นของ MK เข้าชัดเจน เขาบอกว่าคนใหม่ต้องไม่เกิน 30% ของพนักงาน เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คนใหม่เข้ามาจากร้อยพ่อพันแม่ แล้วมาอยู่ใน องค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบนึง ถ้าเกิดคนใหม่มาเยอะปุ๊บ วัฒนธรรมองค์กรมันจะเละ มันจะไม่สามารถตั้งกฎกติกาได้ พี่โฟกัสให้ทีมมันเล็กตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกว่าจะรับคนเข้ามา ถ้ารับทีละคน สองคน มันจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรเท่าไหร่ มันจะเคลียร์กันง่าย บรรยากาศในการทำงานมันจะง่ายหน่อย แต่ถ้าเกิดเรารีบรับคนเข้ามา รีบโตเกินไป ซึ่งพี่เคยเจอภาวะนั้น มันจะยาก เพราะว่าแต่ละคนรีบเข้ามา แล้ว Mission หรือว่าการมองปัญหา การทำงานมันไม่เหมือนกัน รู้สึกว่าที่มันดี ส่วนหนึ่งคือเราค่อยๆ ขยาย ค่อยๆ โต เราโฟกัสว่าเราต้องเล็กๆ คือเราชัดเจนตั้งแต่แรกแล้ว

เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องไปรับดีลใหญ่โตมากๆ มูลค่าหลักร้อยล้าน แล้วต้องดึงหลายทีมมาผสมกัน แบบนี้ไม่มีเลย คือแค่เห็น Billing ก็รู้แล้วว่างานนี้เรารับได้ งานนี้รับไม่ได้ มันก็จะชัดเจน (หัวเราะ) บรรยากาศมันเลยค่อนข้างจะง่ายหน่อย เรามีโปรเจกต์จำนวนไม่เยอะมากในการทำแต่ละครั้ง อีกส่วนหนึ่ง คือบรรยากาศเราโฟกัสได้ง่ายขึ้น คือถ้าเกิดเป็นพี่ยุคก่อน พี่ชอบโอกาสทุกอย่าง เราอยากรับหมด มันก็จะเสียโฟกัสไปเยอะ ตอนนี้คืองานบางอย่าง งานนี้ก็ไม่เอา งานนี้ก็ไม่รับ (หัวเราะ) พอเรารู้ว่างานนี้รับปุ๊ป คิวเราควรจะเต็มถึงประมาณเดือนสิงหาคม หรือถ้าเรารับงานนี้ คิวเราควรจะเต็มถึงปลายปีนี้ มันทำให้เราสื่อสารกับลูกค้าคนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น เขาจะได้ไม่ได้คาดหวังว่า เขาควรจะต้องได้รับงานเมื่อไหร่ จะส่งงานเมื่อไหร่ อันนี้คือตัวที่เป็นโปรเจ็กต์

แต่ส่วนที่เป็น Product บรรยากาศมันง่ายขึ้น เพราะว่ามันเริ่มมีคนประจำ ก่อนหน้านี้บางคนก็สนับสนุน บางคนไม่สนับสนุน ตอนนี้ก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าพี่ช่วยสนับสนุนแบบนึง มีน้องคนนึงช่วยดูเรื่องเอกสารแบบนึง มันเริ่มลงตัว น้องคนนึงมีเวลาที่เขาจะไปแก้บัคเก่า Plugin เก่าๆ หรือว่าจะไปหา Know-how ใหม่ๆ อย่างตอนนี้พี่กำลังดีลกับ Sprite Thailand อาจจะทำเป็น Plugin หรืออาจะทำเป็น Solution ในการจ่ายเงิน มันชัดเจนว่าน้องในทีมจะได้ Know-how ใหม่ๆ แล้วลองทำดู พี่ว่าแบ่งงานกันค่อนข้างชัดเจน เพราะทีมมันเล็ก แล้วพอทีมเล็ก โปรเจกต์มันไม่เยอะ แบ่งคนกับแบ่งงานลงตัวหน่อย แล้วถ้าดูไลฟ์สไตล์ เราไม่ได้ทำงานลากแบบหามรุ่งหามค่ำเหมือนที่อื่นนะ ไม่ได้ทำงานดึกๆ พี่ว่าบางที (หัวเราะ) ห้าโมงนัดกันไปปั่นจักรยาน หรือว่าไปตีแบดมินตัน มันจะมีเวลาที่ลงขึ้น ไลฟ์สไตล์โดยรวม ค่อนข้างโอเค แล้วทีมมันเล็กๆ มันง่ายเวลาไปไหน, กินข้าว, เที่ยวด้วยกัน มันก็สะดวกดี เพราะทีมมันเล็ก แต่มันมาจากการที่เราดีไซน์ไว้แต่แรกว่าทีมมันต้องเล็ก

ภาพประกอบโดย จักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า