- กระทรวงศึกษาธิการได้ออกนโยบายในการผลักดันให้มีการเรียนรู้ถึงสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ในการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา โดยให้ดำเนินการในรูปแบบของกิจกรรมการศึกษา การนำวิทยากรเข้ามาอบรมกลุ่มเป้าหมาย และอื่น ๆ
- คำถามที่เกิดขึ้นก็คือทำไมถึงต้องมีการผลักดันในรูปแบบนี้ เป้าหมายของการทำเช่นนี้คืออะไรกันแน่ และนักเรียนในกลุ่มเป้าหมายนี้จะได้ผลประโยชน์อะไรหรือไม่
- ในความเห็นของผู้เขียน การกระทำเช่นนี้จะนำไปสู่การชำระล้างประวัติศาสตร์ไทยในรูปแบบของชาตินิยม ซึ่งมีผลเสียมากกว่าผลดีต่อนักเรียนที่เติบโตขึ้นมา
จากที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการได้ออกมาเปิดเผยว่า ทางกระทรวงจะมีการผลักดันนโยบายการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ในเรื่องของการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทยให้กับนักเรียนในกลุ่มเป้าหมาย (ก็คือกลุ่มนักเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษา) โดยที่เน้นในการทำกิจกรรมและการบรรยายจากวิทยากร โดยที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ส่งหนังสือวนไปยังเหล่าเลขาธิการในสังกัดกระทรวง และศึกษาธิการของทุกจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อนึ่งการมาของนโยบายนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกเป็นอย่างมาก เพราะเรื่องหนึ่งเลยก็คือการศึกษาในลักษณะนี้มักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับประเทศอื่น ๆ เสียเท่าไหร่ ก่อนที่เราจะไปลึกกว่านี้ เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าประวัติศาสตร์หมายความว่าอย่างไรกันแน่ และมันมีประวัติศาสตร์ไว้เพื่ออะไรกัน

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ระบุถึงคำจำกัดความของประวัติศาสตร์ไว้ดังนี้
[ปฺระหฺวัดติสาด, ปฺระหฺวัดสาด] น. วิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเรื่องราวของประเทศชาติเป็นต้นตามที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
แน่นอนว่าประวัติศาสตร์นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องราวของประเทศชาติก็ได้ เราสามารถพูดถึงประวัติศาสตร์ได้ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความเป็นมาของสหประชาชาติ เรื่องของการเรียกร้องสิทธิพลเรือนในสหรัฐ หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ในช่วงของสงครามเย็น ประวัติศาสตร์ไม่ได้จำกัดความว่าต้องเป็นประเทศชาติเสียอย่างเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่รัฐบาลในชุดนี้เป็นรัฐบาลที่มีค่านิยมมาจากประเทศชาติเป็นหลัก แน่นอนว่ามันอาจจะเป็นเรื่องดีสำหรับบางคน อย่างเช่น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยทำให้มีการระลึกถึงความเป็นไปเป็นมาของประเทศไทย ซึ่งสามารถพูดได้ว่าประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมาจะช่วยสอนให้เราเป็นคนไทยที่ดีได้
แต่ปัญหาของมันก็คือว่าการศึกษาไทยไม่ได้เอื้อให้นักเรียนคิดวิเคราะห์และแยกแยะเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะธรรมชาติของระบบการศึกษา ที่มีแต่จะให้จดจำเพื่อนำ “ความรู้” เหล่านั้นไปสอบ และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการที่เรามีความรู้ที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าจริงหรือไม่ และเป็นความรู้ที่มีกลุ่มคนหลายคนเชื่อว่าเป็นความจริงไป และไม่สามารถมองถึงสิ่งอื่นที่จะเปลื่ยนสิ่งที่เขารู้ได้
มันหมายความว่าอย่างไรกันแน่ ?