fbpx

ผ้าอนามัย ใส่แล้วไม่สาวขึ้น – ว่าด้วยผ้าอนามัยที่ไม่จำกัดแค่ผู้หญิง

แนวคิดที่ว่าผ้าอนามัยเป็นของใช้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น ไม่สะท้อนความเป็นจริง แถมยังเป็นอุปสรรคกีดกันผู้ใช้ที่มีเพศสภาพอื่นด้วย เพราะความเชื่อที่ผิดนี้กลายเป็นแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ ข้อความโฆษณา และกิจกรรมรณรงค์ทางการตลาดที่จำเพาะส่งตรงถึงผู้หญิง 

บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักผู้ใช้ผ้าอนามัยรายที่ไม่ใช่ผู้หญิงตามกำเนิด (Cis woman) และเรียนรู้ปัญหาการใช้งาน พร้อมกับความปรารถนาที่รอการตอบสนองของพวกเขา นอกจากนี้ยังเรียบเรียงแนวคิดการออกแบบผ้าอนามัยสำหรับคนทุกเพศ (Gender-inclusive tampon) ซึ่งแน่นอนว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกคนโดยเฉพาะนักออกแบบและนักการตลาด 

โดยลำดับแรกนี้ ขอพาคุณสำรวจผู้ใช้ผ้าอนามัยรายที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง ดังต่อไปนี้

  1. ชายข้ามเพศ (Transgender man) คือผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงและมีสำนึกความเป็นชาย แม้จะยังไม่ผ่านการแปลงเพศด้วยการปรับฮอร์โมนหรือศัลยกรรม พวกเขาก็สามารถนิยามตนเองว่าเป็นชายข้ามเพศ ชายข้ามเพศที่รับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจมีเลือดประจำเดือนลดลง มีรอบเดือนยาวนานขึ้น และหลายรายไม่มีประจำเดือนอีกเลย แต่ชายข้ามเพศรายที่มีประจำเดือนบางส่วนต้องเผชิญกับความทุกข์ใจในเพศสภาพ (gender dysphoria) เพราะเชื่อว่าการมีประจำเดือนลดทอนคุณค่าความเป็นชายในตัวพวกเขา

ทั้งนี้ แม้มีคำพูดทางตะวันตก (Clue, 2561) ว่า “Menstruation is a biological function; it’s not a WOMAN’s thing.” แต่ชายข้ามเพศหลายรายยังสะเทือนใจทุกครั้งที่เผชิญกับการซื้อผ้าอนามัยเนื่องจากเคยประสบปัญหาการเข้าถึงและการใช้งานที่สั่นคลอนอัตลักษณ์ทางเพศ

ปัญหาการใช้ผ้าอนามัยของชายข้ามเพศเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนเดินเข้าหาชั้นสินค้าแผนกสุภาพสตรีเลย ที่นั่นมักติดคำโฆษณาว่าผ้าอนามัยเป็นสินค้าที่คิดมาเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ จึงใส่กลิ่นหอมหวานและพิมพ์ลายลูกไม้ ซึ่งชายข้ามเพศแมน ๆ ไม่ถูกใจใช้สิ่งนี้

ในขั้นตอนการใช้งานนอกบ้าน ชายข้ามเพศหลายรายเปลี่ยนผ้าอนามัยในห้องน้ำชาย ซึ่งปกติแล้ว ทั้งชายข้ามเพศและหญิงข้ามเพศต่างใช้ชีวิตแบบเก้ ๆ กัง ๆ ไม่สบายตัวเพราะมักถูกจับจ้องตั้งคำถามว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายเวลาเข้าห้องน้ำสาธารณะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การฉีกผ้าอนามัยมีกาวยึดเกาะกับกางเกงที่ชอบลั่นดัง “แป๊ะ” หรือ “แควกกกก !!!” ยิ่งทำให้ชายข้ามเพศผวา ไม่สะดวกใจกลัวผู้ชายห้องข้างเคียงได้ยิน

ดังนั้น ชายข้ามเพศผู้ใช้ผ้าอนามัยจึงกดชักโครกเพื่อกลบเสียงเวลาฉีกกาว ขณะที่บางรายเลือกทนรอคนออกจากห้องน้ำจนหมดก่อนจึงเปลี่ยนผ้าอนามัย มิหนำซ้ำ ชายข้ามเพศจำนวนหนึ่งยังลำบากใจกับการสอดใส่กรวยอนามัยหรือผ้าอนามัยแบบสอดทั้งที่ใส่แล้วจะสบายตัวกว่าและทิ้งง่ายกว่าผ้าอนามัยแบบแผ่นด้วยซ้ำ

  1. อินเทอร์เซ็กส์ (Intersex) คือ ผู้ที่มีอวัยวะเพศ ระบบสืบพันธุ์ ฮอร์โมน หรือพันธุกรรมผสมผสานระหว่างหญิงชายและอาจแตกต่างออกไป ทั้งนี้ ภาษาไทยบัญญัติอินเทอร์เซ็กส์ว่า “เพศกำกวม” แต่ผู้เขียนขออนุญาตใช้คำว่าอินเทอร์เซ็กส์

อินเตอร์เซ็กส์นั้นมักได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีความผิดปกติของอวัยวะเพศ จึงไม่แปลกที่ผู้ปกครองจำนวนมากจะขอให้แพทย์เปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ตามเพศที่ตนเลือกโดยปราศจากความเห็นชอบของอินเทอร์เซ็กส์ตั้งแต่เป็นทารก ทั้งที่เด็กหลายรายไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดทันทีก็ตาม

อินเทอร์เซ็กส์ที่ผ่านการศัลยกรรมตอนเป็นทารกให้มีเพศสรีระภายนอกเป็นผู้หญิงหลายรายไม่ผลิตประจำเดือนเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ เนื่องจากไม่มีมดลูกและรังไข่ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าอินเตอร์เซ็กส์ทุกคนจะต้องใช้ผ้าอนามัย

ในทางกลับกัน ทารกอินเทอร์เซ็กส์ที่ผ่านการศัลยกรรมให้มีอวัยวะเพศชายบางส่วนกลับมีเสียงแหลมขึ้น มีเต้านม และเริ่มมีประจำเดือนเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ แต่ไม่สามารถใช้ผ้าอนามัยแบบสอดได้ จึงเผชิญปัญหาเดียวกับชายข้ามเพศที่ผ่านการปรับแต่งลึงค์ และผู้ที่มีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศที่ถูกกำเนิด ณ แรกเกิด (Gender Non-conforming) อื่น

จินตนาการดูสิว่า การมีผ้าอนามัยที่ออกแบบมาครอบคลุมอินเทอร์เซ็กส์ทุกรูปแบบจะเปลี่ยนแปลงและช่วยให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายขึ้นมากขนาดไหน

  1. นอนไบนารี (non-binary) หมายถึงผู้อยู่นอกระบบกรอบเพศแบบชายหญิง (Binary) พวกเขาสะท้อนเจตจำนงเสรีออกมาจริตและการแต่งกายที่ลื่นไหลปล่อยใจตามความสนุก ไม่สมาทานขั้วข้างชายหรือหญิง

จุดบริการผ้าอนามัยที่มีเฉพาะในห้องน้ำหญิงสร้างปัญหาให้กับนอนไบนารี โดยเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นในวันที่ประจำเดือนมาตรงกับวันที่แต่งตัวแมน เพราะลุคนี้มันยั้งเท้าพวกเขาไม่ให้กล้าเข้าไปหยอดเหรียญซื้อผ้าอนามัยเปลี่ยนในห้องน้ำหญิงเนื่องจากมีความกังวลว่าจะทำให้ผู้ใช้ห้องน้ำคนอื่นไม่สบายใจ สุดท้ายนอนไบนารีหลายคนจึงตัดสินใจเลื่อนการเปลี่ยนออกไปจนนานพอจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ

ถ้าคุณกำลังรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเล็ก ๆ ผ้าอนามัยก็จะกลายเป็นของใช้สำหรับผู้หญิงตลอดไป แต่โชคดีที่มีคนเห็นความสำคัญและลงมือทำลายข้อจำกัดของเครื่องสำอางชนิดนี้ (ผ้าอนามัยจัดเป็นเครื่องสำอาง ตาม พรบ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558) 

ถึงตอนนี้ ผู้อ่านได้ทราบแล้วว่า ผู้มีประจำเดือนไม่ได้มีแต่ผู้หญิงเท่านั้น ผ้าอนามัยจึงควรออกแบบมารองรับคนทุกเพศ และตัดคำว่า “สำหรับสตรี” ออก เหลือเพียง “ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกเพื่อซับระดู ประกอบด้วยวัสดุห่อหุ้มและเนื้อในที่นุ่ม สะอาด และซึมซับของเหลวได้ดี” ตามนิยามของผ้าอนามัยที่ระบุในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับผ้าอนามัยใช้ภายนอก (มอก.295-2547) ก็เพียงพอ 

นอกจากนี้ ผู้บริโภคในปัจจุบันยังประยุกต์ใช้ผ้าอนามัยเพื่อซับเลือดและสารคัดหลั่งที่ไหลจากการเจ็บป่วยหรือผ่าตัด รวมถึงนักเรียน รด. ที่นำผ้าอนามัยไปซับเหงื่อในรองเท้าคอมแบต

ดังนั้น สรุปได้ว่าคนทุกเพศทุกวัยสามารถใช้ผ้าอนามัยทั้งสิ้น หากคุณไม่เคยใช้และคิดไม่ออกว่าจะเอาไปทำอะไร นั่นก็เพราะตลาดได้ออกแบบและสื่อสารกับผู้บริโภคมาตลอดว่าผ้าอนามัยเป็นสินค้าจำเพาะสำหรับผู้หญิงไงล่ะ แต่โชคดีอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผู้ผลิตส่วนหนึ่งหันมาผลิตผ้าอนามัยเพื่อทุกคนแล้ว

บทความนี้จึงเรียบเรียงแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบผ้าอนามัยที่ทุกเพศสามารถใช้ได้ (Gender-inclusive) มาเล่าให้คุณได้ทราบกัน ดังนี้

  1. เพิ่มความเป็นกลางทางเพศ (general neutral) ใส่ใจตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เลย เช่น ลดการตกแต่งที่จงใจบ่งความเป็นหญิง ได้แก่ ลูกไม้ ผีเสื้อ และดอกไม้ ทั้งนี้ขอกราบเรียนว่าแมน ๆ หลายคนไม่สะดวกใจใช้เลย ถ้าคุณทำใจลดลวดลายน่ารักไม่ได้ ก็สร้างอีกสายการผลิตสำหรับผ้าอนามัยสไตล์มินิมอลเรียบ ๆ ในบรรจุภัณฑ์สะอาดตา สีพื้นขาวดำก็เป็นทางเลือกที่ดีเพราะเพศไหนก็สะดวกใจหยิบใช้
  1. งดใช้คำโฆษณา “สำหรับผู้หญิง” ในสื่อประชาสัมพันธ์ เพราะคำนี้สร้างความเขินอายและความหนักใจให้กับผู้ใช้งานเพศอื่นไม่ต่างกับการจอดรถผิดในโซนเลดี้ ทั้งยังกระตุ้นความทุกข์ใจในเพศสภาพของชายข้ามเพศและผู้ที่มีเพศไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดด้วย ทั้งนี้ ท่านสามารถเลือกใช้คำเก๋อย่าง “ผ้าอนามัยสำหรับทุกคน หรือทุกคนที่มีประจำเดือน” แทนได้
  1. ออกแบบเพื่อรองรับสรีระที่หลากหลาย เพราะผู้ใช้งานบางส่วนไม่สะดวกจะสอดใส่วัตถุอะไรเข้าในช่องคลอด จึงเกิดนวัตกรรมที่แก้ปัญหานี้ขึ้น ตัวอย่างเช่น กางเกงอนามัยที่ซึมซับประจำเดือนได้ ไม่เลอะกางเกงชั้นนอก และซักกลับมาใช้ซ้ำได้

(คุณ Jammi Dodger หนุ่มยูทูบเบอร์ข้ามเพศรีวิวกางเกงอนามัยว่า สะดวกกว่าแบบแผ่นมากไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยน แต่ราคากางเกงอนามัยค่อนข้างแพง และควรมีอย่างน้อย 3 ตัวเพื่อทดแทนการสวมผ้าอนามัย)

  1. ออกแบบให้เป็นมิตรกับการใช้งาน เช่น ลดปัญหาเสียงไม่พึงประสงค์ตอนฉีกผ้าอนามัย หรือเพิ่มความสะดวกในการเปลี่ยน การพกพา การจัดเก็บ และการทิ้งซึ่งเป็นที่มาของการติดป้ายห้ามทิ้งผ้าอนามัยลงในชักโครกในห้องน้ำชายซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการไม่มีถุงทิ้งผ้าอนามัยบริการสำหรับชายข้ามเพศและนอนไบนารีอย่างไงล่ะ

ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างแนวคิดการออกแบบเพื่อรองรับคนทุกเพศ จากนี้หวังว่าทุกคนโดยเฉพาะนักลงทุน นักออกแบบ และนักการตลาดจะเข้าใจความต้องการและต่อยอดสร้างผ้าอนามัยสำหรับทุกคนสำเร็จ 

เมื่อถึงเวลานั้น ยอดผู้บริโภคผ้าอนามัยจะไม่ถูกจำกัดด้วยเพดานจำนวนประชากรหญิง (ทุกสัญชาติที่มีหลักฐานการทะเบียนราษฎร) ในประเทศไทย 33,857,002 คน (อ้างอิงจากสำนักทะเบียนกลาง, 2561) หรือเพดานการส่งออกผ้าอนามัยต่อเดือนที่ล่าสุดทำมูลค่าเกิน 7.18 แสนล้านบาท (อ้างอิงจากสถิติการส่งออกผ้าอนามัยเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 รวบรวมโดยกรมศุลกากร, 2564) เท่านั้น แต่จะสามารถรวมคนทุกเพศเข้ามาในกลุ่มผู้บริโภคผ้าอนามัยพร้อมกับสร้างคุณค่าและมูลค่าได้มหาศาลกว่าที่เคย

ดังนั้น ต่อแต่นี้ไป ท่านจงรวมคนทุกเพศเข้าไปในทุกแคมเปญผ้าอนามัยเสมอ ให้ผ้าอนามัยจะเป็นเรื่องปกติของทุกคนโดยปราศจากกำแพงวลี “เฉพาะสตรี” มากีดกั้น

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า