fbpx

ส.ว.มีไว้ทำไม เปิดที่มาที่ไปของผู้ทรงเกียรติ (หรือเปล่า) ในสภา

สถานการณ์หลังเลือกตั้งมีทั้งความหวังและความร้อนแรง หนึ่งความหวังพรรคก้าวไกลชนะได้เป็นพรรคอันดับ 1 มีเสียง ส.ส.152 เสียง อยู่ในมือ มีความชอบธรรมจัดตั้งรัฐบาล หนึ่งความร้อนแรงของ ส.ว. ที่แสดงทีท่าไม่ตอบรับรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนโดยมีแกนคือพรรคก้าวไกล สังคมตั้งข้อสงสัยว่าการกระทำของ ส.ว. นั้นทรงเกียรติหรือไม่ เพราะเป็นการไม่เคารพเสียงของประชาชนเกือบ 15 ล้านเสียง แถมยังกล่าววาจาไม่น่าฟัง ทำให้ผู้ทรงเกียรติกลายเป็นผู้ไร้เกียรติในระบอบประชาธิปไตย นำไปสู่คำถามที่ว่า ส.ว.มีไว้ทำไม เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือไม้ประดับของผู้มีอำนาจกันแน่ 

กำเนิด ส.ว. : ครูพี่เลี้ยงระบอบประชาธิปไตย ในนาม “พฤฒสภา” 

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย พร้อมประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว สภาขณะนั้นอยู่ในลักษณะสภาเดี่ยว คือมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ภายหลังประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ในวันที่ 10 พฤษภาคม ไทยจึงมีระบบ 2 สภาเป็นครั้งแรก ตามการกำหนดรูปแบบในรัฐธรรมนูญ หนึ่งในมรดกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ พฤฒสภา ประกอบด้วยสมาชิก 80 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดย ‘องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา’ มี พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ หนึ่งในคณะราษฎรสายพลเรือน เป็นประธานพฤฒสภา โดยหน้าที่ของพฤฒสภาตามที่นาย ปรีดี พนมยงค์ กล่าวไว้มีอยู่ว่า

“เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่า ยังมีราษฎรอีกเป็นจํานวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ ที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืนปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลําพังเอง ในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่แก่ราษฎร เพราะผู้ที่จะสมัครไปเป็นผู้แทนราษฎร อาจเป็นผู้ที่มีกําลังในทางทรัพย์ คณะราษฎรปฏิญาณไว้ว่า ถ้าราษฎรได้มีการศึกษาเพียงพอแล้ว ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ราษฎรได้ปกครองตนเอง โดยไม่จําเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2 ฉะนั้น จึงวางเงื่อนไขไว้ ขอให้เข้าใจว่าสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคองการงานให้ดําเนินไปสมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์อันแท้จริง

นั่นหมายความว่า พฤฒสภาเป็นเสมือนพี่เลี้ยงหน่ออ่อนของประชาธิปไตยในไทย เป็นเครื่องป้องกันพวกหาผลประโยชน์ที่มาจากการเลือกตั้งโดยใช้ทรัพย์สิน และที่สำคัญเมื่อมีประชาธิปไตยและประชาชนรู้ถึงอำนาจที่แท้จริง รวมทั้งเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย พฤฒสภาก็จะค่อยๆ หายไป ที่กล่าวว่าเป็นครูพี่เลี้ยงในเรื่องประชาธิปไตยแสดงว่าบุคคลที่ขึ้นชื่อว่าพฤฒสภาย่อมมีคุณสมบัติที่เหมาะสมด้วย เพราะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี วิทยฐานะไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยดำรงตำแหน่งทางราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่อายุของพฤฒสภาก็แสนสั้น เพราะภายหลังรัฐประหาร 2490 ครูพี่เลี้ยงของประชาธิปไตยในไทยก็ถูกยกเลิกไปด้วย 

จากพฤฒสภาสู่ ส.ว. มรดกบาปของคณะรัฐประหาร

ภายหลังการรัฐประหาร 2490 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม คณะรัฐประหารได้แต่งตั้ง ส.ว. เพื่อควบคุมอำนาจ ผ่านงบประมาณและเป็นฐานเสียงให้ตนเอง อาจจะเรียกได้ว่ากลายเป็นมรดกบาปและกลายเป็นอาวุธของคณะรัฐประหารที่สำคัญทุกครั้ง เพราะหากไม่มี ส.ว. เขาเหล่านั้นอาจคุมนักการเมืองรวมถึงคุมรัฐสภาไม่ได้อีก  

เริ่มที่สมัยจอมพลผิน ชุณหะวัน และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำรัฐประหาร 2490 แต่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะได้ร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ทำการรัฐประหาร และแต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมแต่งตั้ง ส.ว. ชุดแรก โดยที่ส่วนใหญ่เป็นคนของคณะรัฐประหาร 

ต่อมาได้มีการเลือกตั้งในปี 2491  ภายหลังรัฐประหาร นายควง อภัยวงศ์ และพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาล แต่ในที่สุดคณะรัฐประหารได้กดดันให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกและให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน และแน่นอนว่า ส.ว. ที่แต่งตั้งขึ้นมาย่อมเป็นคนของคณะรัฐประหารอีกเช่นเคยจนถึงปี 2492 

ในปี 2494 เพื่อกระชับอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มากยิ่งขึ้น จึงมีการควบรวม ส.ส. และ ส.ว. ให้อยู่ในสภาเดียวกัน ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติได้อย่างเบ็ดเสร็จ 

ในปี 2500 จอมพล ป. พิบูลสงคราม หมายมั่นปั้นมือจะชนะการเลือกตั้ง หลังจากไม่ได้เลือกตั้งมานาน จึงเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นกลับพบความผิดปกติมากมาย ขณะเดียวกันก็เกิดการแข่งขันระหว่างกลุ่มอำนาจราชครูที่นำโดย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และบ้านสี่เสาเทเวศน์ นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำไปสู่การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พล.ต.อ.เผ่า จึงต้องออกนอกประเทศในที่สุด หลังจากนั้น คณะรัฐประหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ได้แต่งตั้งจอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้มีการแต่งตั้ง ส.ว. ซึ่งเป็นคนของคณะรัฐประหารมีจำนวน 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. 

หลังจากนั้นประเทศไทยตกอยู่ใต้อำนาจของคณะรัฐประหารที่สืบทอดอำนาจโดยผู้นำกองทัพ ตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ถึงจอมพลถนอม แน่นอนว่าคณะรัฐประหารย่อมต้องการควบคุมรัฐสภาในปี 2514 จึงมีการแต่งตั้ง ส.ว. จำนวน 100 คน จนถึงเหตุการณ์ขับไล่จอมพลถนอม และดูเหมือนว่าอำนาจของทหารจะสิ้นสุดลง จนกระทั่งในปี 2517 

แต่ด้วยความกลัวคอมมิวนิสต์ของฝ่ายขวาในประเทศไทย นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 การสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย และการแตกแยกภายในกองทัพ จึงนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งในปี 2519 คณะรัฐประหารนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์ และได้แต่งตั้ง ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกควบคุมและถูกปกป้องโดยกองทัพคณะรัฐประหาร จึงได้ฉายาว่ารัฐบาลหอย แน่นอนว่าเมื่อมีการยึดอำนาจโดยกองทัพ หนึ่งในกลไกควบคุมอำนาจ จึงมีการแต่งตั้ง ส.ว. จำนวน 3 ใน 4 ของจำนวน  ส.ส. จนถึงปี 2521 

ประเทศไทยหลังผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา รัฐบาลเสมือนอยู่ภายใต้อำนาจทหาร โดยมีการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์กับนักการเมืองที่มาจากพลเรือนบ้าง แต่ผู้นำรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนที่มากบารมีจากองทัพ ภาพที่เห็นชัดที่สุดคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ บรรยากาศการเมืองไทย ณ ขณะนั้นจึงเป็นบรรยากาศประชาธิปไตยครึ่งใบ คือมีความเผด็จการครึ่งใบในระบอบประชาธิปไตย และมี ส.ว. 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. มาจากการแต่งตั้งเพื่อควบคุมอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติให้เดินไปภายใต้ผู้นำที่มาจากทหาร 

ดูเหมือนการรัฐประหารจะห่างหายไปนาน จนกระทั่งในปี 2534 ได้เกิดรัฐประหารรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และภายหลังได้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และสิ่งที่ทำจนชินชาของคณะรัฐประหารคือการแต่งตั้ง ส.ว. ที่ในครั้งนี้มีการแต่งตั้งถึง 270 คน 

กำเนิด ส.ว.เลือกตั้งโดยประชาชน ครั้งแรก ครั้งเดียวในเมืองไทย

หลังเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 ประเทศไทยเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภา รัฐบาลส่วนใหญ่มาจากพลเรือน นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ระบุให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยจึงมี ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 270 คน 

อย่างไรก็ตาม ส.ว. จากการเลือกตั้งกลับมีอายุแสนสั้นเพราะเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีก เนื่องจากไม่มีใครคิดว่าทหารที่กลับเข้ากรมกองไปหลายปีจะกลับมาทำการรัฐประหารอีกครั้ง และทำให้ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นมรดกของรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกยกเลิกไปด้วย 

ทหารเล่นการเมือง ส.ว. เครื่องมือรักษาอำนาจ 

ภายหลังการรัฐประหารรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจึงถูกยกเลิก  เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ 2550 ที่กำหนดให้มี ส.ว. 150 คน จากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และมาจากการสรรหาจากบุคคลหลายสาขาอาชีพที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา การเมืองไทยหลังจากรัฐประหาร 2549 คุกรุ่นเป็นต้นมา ตลบอบอวลไปด้วยความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมือง เสื้อเหลือง-เสื้อแดง ตั้งแต่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนถึงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็ได้รับชัยชนะ สามารถจัดตั้งรัฐบาล และส่งยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แต่กระนั้นเหมือนกับว่าความขัดแย้งยังไม่จบสิ้น เกิดกลุ่มกปปส. นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประท้วงไม่ยอมรับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ฝ่ายรัฐบาล ณ ขณะนั้นเป็นผู้เสนอ นำไปสู่การขัดขวางการเลือกตั้ง และมีการรณรงค์ให้ทหารทำการรัฐประหารซึ่งเป็นความวิปริตที่สุดในการเมืองไทย นำไปสู่การรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และแน่นอนว่าย่อมมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิก ส.ว. ในรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ 2550 นำไปสู่การครองอำนาจของ คสช. ในปี 2557 ที่ครองอำนาจและสืบทอดอำนาจอย่างยาวนาน 

กับดัก คสช.หลอกลงมติมีเลือกตั้งแต่วาง ส.ว.ไว้ขัดขวางประชาธิปไตย 

ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ถึงแม้จะมีการรัฐประหารและมีการแต่งตั้ง ส.ว. ให้ควบคุมอำนาจของนิติบัญญัติ แต่กระนั้นอำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ไม่มีสิทธิที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่บทเรียนตั้งแต่อดีตทำให้ คสช. วางกับดักทางการเมืองด้วยการปกครองเอง ผู้นำคณะรัฐประหารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง ที่สำคัญที่สุดคือการวางกลไกสืบทอดอำนาจ บีบให้ประชาลงประชามติในปี 2559 โดยมีกฎหมายพ่วงให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี การวางกับดักครั้งนี้ได้สร้างกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่มีอำนาจกดหัวประชาชน อำนาจต่อรองทางการเมืองที่พิสดารถึงขนาดมีอภิสิทธิ์เหนือกว่า ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง  

บทบาทของ ส.ว. ชุดนี้ แสดงอิทธิฤทธิ์ เมื่อการเลือกตั้ง 2562 นำไปสู่การลงมติของ ส.ว. นำ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้นำคณะรัฐประหารและองคาพยพ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี โดยมีนักการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาลคอยแบ่งปันผลประโยชน์ นำประเทศชาติสู่ความพินาศ สังคมเสื่อมโทรม และกดขี่ประชาชน ใช้กฎหมายข่มเหงประชาชนที่เห็นต่าง ยุบพรรคการเมือง เกิดงูเห่า นำไปสู่ระบบการเมืองที่เลวร้ายที่สุดในสังคมไทย ภายใต้รัฐบาลทหารจำแลง แต่ด้วยวาระรัฐบาลที่ต้องมีวาระ 4 ปี นำไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรครองรับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการสืบทอดอำนาจอีกครั้งผ่านการเลือกตั้ง แต่กระนั้นเมื่อผลเลือกตั้งออกมา เป็นการตบหน้ารัฐบาลจำแลง เพราะพรรคก้าวไกล ที่เคยถูกยุบในครั้งอดีตที่ชื่อพรรคอนาคตใหม่ ได้รับมติมหาชน 14 ล้านกว่าเสียง กลายเป็นพรรคที่รับการเลือกตั้งมากที่สุดในประเทศไทย และมีแนวโน้มจัดตั้งรัฐบาลได้เกิน 300 เสียง ซึ่งมีเสียงมากกว่าครึ่งในรัฐสภา 

มองอนาคตการเมืองผ่าน ส.ว. ไม้ประดับ

การเลือกตั้งครั้งนี้ถึงแม้จะเป็นมติมหาชน ผ่านการเลือกตั้งที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด พาฝ่ายเสรีประชาธิปไตย 26 ล้าน เสียงรวมตัวจัดตั้งรัฐบาล ส่งสัญญาณถึง ส.ว. แต่งตั้งว่าฝ่ายเสรีประชาธิปไตยพร้อมจัดตั้งรัฐบาล แต่พฤติกรรม ส.ว. ที่มาจากกับดักของเผด็จการได้สร้างความโกรธแค้นให้ประชาชน บ้างข่มขู่ว่าจะไม่เลือกนากยกรัฐมนตรีอย่าง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่มาจากเสียงข้างมาก บ้างข่มขู่ว่าจะมีการรัฐประหาร นี่คือพฤติกรรมที่เลวร้ายและขาดวุฒิภาวะของ ส.ว. ไทยที่ควรจดบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมือง พฤติกรรมของพวกเขาขัดต่อระบอบประชาธิปไตย ขัดต่อกฎระเบียบและไม่มีความชอบธรรมในสังคม กระแสลมแห่งเสรีประชาธิปไตยกำลังโหมกระหน่ำ กระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงมาอย่างไม่หยุดยั้ง แต่พฤติกรรมของ ส.ว.บางจำพวกกลับสวนกระแส และทำตัวขวางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง  จนสังคมตั้งคำถามว่ามี ส.ว.ไว้ทำไม ถึงขนาดควรยกเลิกการมี ส.ว. ถ้าพฤติกรรมของพวกเขาเป็นเช่นนี้ 

The Modernist จึงขอเป็นอีกหนึ่งเสียงส่งไปถึง ส.ว. และผู้มีอำนาจ จงปล่อยวางอำนาจ อย่าขัดขวางมติของมหาชนที่พวกเขาเหล่านั้นได้มีฉันทามติให้ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะความสง่างามของพวกท่านอยู่ที่ความสง่างามในการยอมรับอำนาจประชาชน ไม่ใช่สง่างามในสภาวะก้มหัวให้ผู้มีอำนาจ ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ เหมือนสุนัขมีปลอกคอ และเสมือนไม้ประดับของผู้มีอำนาจ 

ที่มา : parliamentmuseum / senate / prachatai / silpa-mag

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า