fbpx

“Reporter Journey” กับการเติบโตท่ามกลางสมรภูมิสื่อออนไลน์

เมื่อพูดถึงสื่อออนไลน์ในยุคปัจจุบันนี้แล้ว เราหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสมรภูมินี้ค่อนข้างดุเดือดเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้ และการขยายฐานการแข่งขันที่จากเดิมเพียงแค่ในประเทศไทย แต่ปัจจุบันนี้กลับแข่งขันพร้อมกันทั่วโลกไปแล้ว

ท่ามกลางสมรภูมิน่านน้ำสีแดงนั้น เราจะแตกต่างจากคู่แข่งหรือเพื่อนๆ รอบข้างได้อย่างไร? นั่นคงเป็นสิ่งที่สื่อออนไลน์พยายามหาคำตอบไปด้วยกันและหาพื้นที่ของตนเองให้เจอให้ได้นั่นเอง เฉกเช่นเดียวกับ The Modernist ในวันนี้ที่เราจะพามาพูดคุยกับ “วัชราทิตย์ เกษศรี” ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง Reporter Journey แฟนเพจและเว็บไซต์ที่นำเสนอเรื่องราวเชิงความรู้จากข่าว และหามุมมองที่น่าสนใจจนทำให้ใครหลายคนชื่นชอบนั่นเอง

เราเดินทางมาสัมภาษณ์เพียง 1 วันก่อนการเปิดบริษัทอย่างเป็นทางการ ณ ชั้น 27 ของอาคารใจกลางเมือง เขาใส่สูทมาเพื่อการสัมภาษณ์ในครั้งนี้โดยเฉพาะ และพร้อมที่จะคุยทุกมุมมองที่นอกเหนือไปจากที่เขาเปิดใจบนเวที theMITRxTAG 2021 ที่ส่องสื่อ มีเดีย แลป จัดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2564 ณ TCDC Bangkok นั่นเอง


มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

1
จากนักข่าวตัวเล็กๆ สู่คนทำคอนเทนต์


ก่อนหน้าที่จะทำ Reporter Journey ทำอะไรมาก่อน

โห ถ้าจะเริ่มตั้งแต่เรียนจบเลยก็คือ อาชีพแรกก็คือ เป็นนักข่าวนี่แหละ เป็นมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงประมาณปี 2560 รวมๆ คือ 5 ปี แล้วหลังจากนั้นก็มีทำอาชีพอื่น ๆ บ้าง ซึ่งเอาเข้าจริงไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นนักข่าว คือผมเป็นคนที่ไม่ได้มาทางสายนั้น มาทางสาย Production ก็คือเรียนสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม เราจบปวช. มา แล้วมาต่อสายนิเทศศาสตร์ ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลย ไม่รู้เลยว่านิเทศศาสตร์คืออะไรด้วยซ้ำ และก็ไม่มี Role Model เลยตอนนั้นว่าใครจะเป็น Model ในการที่เราจะทำอาชีพในอนาคต รู้แค่ว่าก็เรียนให้จบเท่านั้น ได้ใบปริญญามาตามที่พ่อแม่เขาตั้งความหวัง แล้วตอนจะทำงานเราก็มีบริษัทในใจของเด็กสมัยนั้น อย่างเช่น อยากไปอยู่ RS ไปอยู่ Grammy ไปอยู่ Workpoint เหมือนน่าจะเป็นความฝันของคนทำงานนิเทศศาสตร์ทั่วๆ ไป 

แต่ว่ามันมีจุดเปลี่ยน ก็คือด้วยความที่เราเป็นเด็กกึ่งกิจกรรม แล้วที่ม.ศรีปทุม จะมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นศูนย์มีเดีย คือมันเป็นเหมือนกับสถานที่ที่เอาไว้ให้เด็กนิเทศศาสตร์  ได้ไปเรียน ได้ไปฝึกวิชาการทำงานในสายนิเทศศาสตร์ทั้งหมด ยกเว้นสายข่าว ส่วนใหญ่ก็จะไปทาง Production หมดเลย เข้าสตูดิโอ ถ่ายภาพ หรือว่าดำเนินการออกอากาศทีวีแบบภายในมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสได้เข้าไป ซึ่งตำแหน่งที่ผมเข้าไปตอนนั้น สมัครเข้าไปในฐานะเป็นกราฟิกตัดต่อ (หัวเราะ) ก็ยังไม่ได้เจอสายทางข่าวอีก ก็ไปลองทำ แล้วมันมีช่วงประจวบเหมาะ ก็คือว่าในสถานีโทรทัศน์ของมหาวิทยาลัย เขาก็จะมีรายการข่าวของเขา ก็เป็นข่าวภายในรั้วมหาลัย มันมีอยู่ช่วงนึงคือคนที่เป็นตำแหน่งผู้ประกาศ ณ เวลานั้นติดสอบ ก็ต้องหาคนมาอ่านแทน จับพลัดจับผลูก็มาตกลงที่ผม พี่ที่เขาเป็นอาจารย์ด้วยก็ลองเสนอมา ก็ลองไปฝึกอ่าน ลองอ่านบทข่าว ลองอ่านทำความเข้าใจข่าว ฝึกอักขระ ฝึกการพูด ฝึกการอยู่หน้ากล้อง ซึ่งเราไม่ใช่เด็กเป็นคนที่ชอบพรีเซนต์อยู่แล้ว 

แต่มันก็ทำให้เราค้นพบว่าเราทำได้นี่หว่า หลังจากนั้นเราก็เลยเข้าไปสู่ชั้นปีถัดมา ก็คือช่วงปี 2 มันมีวิชาเขียนข่าว ก็เลยรู้ว่าข่าวมันต้องมีรูปแบบการเขียนแบบนี้ เหมือนก่อนเขาจะพูดอะไรง่ายๆ คือ 5W1H ซึ่งเราก็ได้รู้ว่ามันมีวิธีแบบนี้ การเขียนแบบนี้ วิธีการทำข่าวแบบนี้ๆ ก็ได้ลองทำทุกอย่างมา จนกระทั่งมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ MCOT แต่ก็ไม่ได้ฝึกข่าวอีก ไปฝึกฝ่ายโปรโมท คือจะเป็นฝ่ายสำหรับการแจ้งรายการ คือจะเป็นกราฟิกของมัน ก็ไปอยู่ฝ่ายนั้น แต่ว่าฝ่ายนั้นเนี่ย เขาจะมีในส่วนที่รับผิดชอบ ก็คือรายการข่าวโมเดิร์นไนน์บริการ เป็นข่าว PR ที่จะมีพวกบริษัทต่างๆ เข้ามาใช้ตรงนั้นในการ PR ก็เลยมีโอกาสได้ไปลองทำ

แล้วก็มีรายการนึงที่เขาชื่อว่ารายการภาษาไทยพาสนุก ซึ่งทางช่อง 9 เขาก็จะเอาเด็กฝึกงานมาให้ลองไปทำ ไปเป็นนักแสดงในนั้น ก็ได้มีการฝึกตัวเองอยู่ต่อหน้ากล้อง มากขึ้น อยู่ต่อคนเยอะๆ กล้าพูด กล้าที่จะทำอะไรมากขึ้น มันก็เลยทำให้เราคิดว่าพอเราได้เข้ามาอยู่ในองค์กรแบบนี้ แทนที่จะไปอยู่ในองค์กรเอกชนที่เป็นบริษัทที่เขาแบบอยากจะไปฝึกงานกัน แต่เรามาอยู่ในองค์กรที่เรียกว่าสำนักข่าวไทย มันทำให้เราเห็นกระบวนการการทำงานของเขาทั้งนั้น คือเราจะเห็นห้องกองบรรณาธิการ แล้วเราเดินผ่านแบบนี้อยู่ทุกวัน จะเห็นพี่ๆ ผู้ประกาศข่าวก็มีโอกาสได้ไปขอความรู้ ไปพูดคุยกับเขาหลายคน ซึ่งพี่ๆ เขาน่ารักมาก เขาให้ความรู้ แม้ว่าจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันก็เลยกลายเป็นจุดหล่อหลอม ซึมซับมาเรื่อยๆ 

จนวันนึงที่เรารู้สึกว่าต้องเลือกอาชีพของเราแล้วแหละ วันที่รู้ว่าจบแต่ยังไม่ได้รับปริญญา ก็มีอยู่สำนักข่าวนึง คือ TNEWS (หัวเราะ) เขาเปิดรับสมัครหาผู้สื่อข่าว ซึ่งก็เป็นคนที่โชคดี คือสมัครงานแล้วได้งานเลย ก็เลยมีโอกาสเข้าไปที่นั่น แล้วหัวหน้าคนแรกที่ทำงานด้วยคือ จิตดี ศรีดี (หัวเราะ) สอนหลายๆ อย่าง ก็ทำให้เราได้มีโอกาสทั้งในห้องส่งและภาคสนาม ซึ่งก็เป็นแบบช่วงเล็กๆ เรายังไม่ได้แบบแข็งแรงถึงขนาดว่าไปอ่านข่าวหลักได้ มันก็เลยทำให้เราได้ฝึกอะไรหลายๆ อย่าง ฝึกการเขียนข่าว ฝึกการรายงานสด ฝึกการสัมภาษณ์ รวบรวมประเด็น ฝึกการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จู่ๆ คือมีระเบิด เราจะรับมือยังไง พูดง่ายๆ เราไป แล้วเราก็ได้ทำทุกอย่าง เพราะว่าด้วยการที่มันเป็นทีวีช่องดาวเทียม คือทุกคนต้องทำงานได้แบบ Multitasking 

หลังจากนั้นก็อยู่ได้ประมาณสักปีนึง ก็ได้รับโอกาสจากทาง NationTV ที่เขากำลังจะขึ้นรายการของช่องใหม่ ก็คือตอนนั้นเป็นช่องกรุงเทพธุรกิจทีวี ก็มาทำข่าวเศรษฐกิจแล้วก็อ่านข่าวด้วย แต่เนื้องานของการลงพื้นที่ภาคสนาม จะเยอะกว่า เพราะว่าเขารับมาในตำแหน่งที่เรียกว่าเป็นผู้สื่อข่าว บวกผู้ประกาศข่าว ไม่ได้เป็นผู้สื่อข่าวล้วน หรือผู้ประกาศข่าวล้วน คือวิธีการฝึกคนของ Nation ก็คือฝึกให้ทำได้ทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ฝึกอ่านข่าวเก่ง ทำข่าวเก่ง คุณต้องรู้จักวิธีการ Produce ด้วย คุณต้องรู้ว่าวิธีการเลือกประเด็น วิธีการตัดต่อ คือมันมีหลายๆ อย่างที่ได้ฝึก เพราะฉะนั้นมันเลยกลายเป็นว่าเราไปอยู่ที่นั่น แทนที่เราจะได้ทักษะเรื่องของการแค่เป็นผู้สื่อข่าวหรือผู้ประกาศข่าวอย่างเดียว มันทำทุกอย่างเลย ถือกล้องเองก็ถือ ขับรถเองก็ขับ มันก็เลยทำให้เรามีภูมิคุ้มกันในการทำงานค่อนข้างสูง (หัวเราะ) เลยทำงานได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น 

หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้เข้ามาอ่านในสตูดิโอมากขึ้น อ่านช่วงข่าวต่างประเทศ ขึ้นมาเป็นข่าวหลักเสาร์-อาทิตย์ แล้วก็สลับอ่านข่าวหลักบ้าง เช้าบ้าง กลางวันบ้าง เที่ยงบ้าง เย็นบ้าง แล้วแต่เขาจะจัดสรร จนกระทั่งมาอยู่หลักจริงๆ ก็คือข่าวเช้า World News ก็คือข่าวต่างประเทศ 1 ชั่วโมง ตั้งแต่ที่เขาขึ้นช่อง NOW 26 ขึ้นมา ก็อยู่ยาวจนกระทั่งรู้สึกอิ่ม ก็เลยออกไปทำพวกเจาะประเด็นแทน จนกระทั่งก็ออกมาจากที่นั่น 

ย้อนกลับไปตอนทำข่าว ข่าวไหนที่เรารู้สึกว่าท้าทายที่สุด

จริงๆ มันมีหลายเหตุการณ์ที่ท้าทายนะ แต่ว่าอันที่รู้สึกว่าเราจะต้องพึ่งพาตัวเองมากที่สุด ก็คือน่าจะเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาล ที่มันท้าทายเพราะว่าเราไปที่นั่น เราไปกับทางเจ้าหน้าที่ไทย แต่คุณอย่าลืมว่าพอเราไปอยู่ที่หน้างานปุ๊บ คุณต้องมีประเด็นกลับมาให้ได้ แล้วมันต้องเป็นประเด็นที่เด็ด เพราะว่ามันมีงบประมาณที่จะต้องใช้ค่อนข้างสูง ไหนจะอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือในเวลานั้น เราก็เป็นช่องเล็กๆ เราก็ไปตามมีตามเกิดเหมือนกัน ที่มันท้าทายก็คือ ไปหน้างาน เราจะเอาประเด็นอะไร กับเรื่องการติดต่อสื่อสาร เพราะอย่าลืมว่าแผ่นดินไหว มันทำให้ระบบโทรคมนาคมทุกอย่างมันล่มเลยแหละ แล้วก็คือมันยังเกิด after shock อยู่เรื่อย แล้วคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เราลงพื้นที่มันมีความวุ่นวาย เราเจอคนเสียชีวิต เราเจอคนเจ็บ คนเสียใจ คนร้องไห้ มันหลากอารมณ์มาก ซึ่งตรงนี้มันกลายเป็นภาวะที่เราจะต้องพยายามควบคุมตัวเองเพื่อให้เราสามารถทำงานได้ 

เราจำได้เลยว่า 3 วันแรกอะ ทำงาน 24 ชั่วโมง ไม่ได้นอนเลย เพราะเวลามันไม่เท่ากัน สมมติว่ารายการผมจะต้องเข้าเช้า เพราะว่าเช้านี่ก็คือเราจะต้องมีสกู๊ป แล้วคือสัญญาณการส่งกับสกู๊ปแค่สั้นๆ 3-5 นาที แค่แบบไฟล์แบบแค่นั้น กว่าจะ Transfer กว่าจะส่งไป ใช้เวลาอยู่ค่อนคืน แล้วข่าวจะเข้าตอน 6 โมงเช้า เพิ่งจะส่งไฟล์เสร็จตอนตี 5:50 น. มันแข่งกับทุกสิ่งทุกอย่าง คือมันกดดันมาก แล้วมีเวลางีบอยู่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ตื่นเช้า 7-8 โมงก็ต้องไปทำข่าว มันก็เลยกลายเป็นประสบการณ์ชีวิตที่โคตรมีค่าเลย แล้วไม่รู้ว่าถ้าเราไม่ได้ทำอาชีพนี้ เราจะมีโอกาสได้ไปในพื้นที่ที่อันตรายและคนทั่วไปก็ไม่ได้เข้า แต่เราเป็นสื่อมวลชน เรามีสิทธิ์ในการที่จะเข้าไป และมีเจ้าหน้าที่ดูแลคุ้มกันหรือเปล่า

อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกว่าอิ่มตัวจนถึงขั้นลาออกในตอนนั้น

ถามว่าอิ่มตัวมั้ย มันก็ไม่เชิงหรอก แต่ (คิด) ก็อย่างที่หลายคนในวงการน่าจะรู้ ก็คือการมาของทีวีดิจิทัล มันมาพร้อมทั้งโอกาส โอกาสในที่นี้ก็คือคนที่เคยทำงานในสายสื่อที่มาจากเคเบิ้ล มาจากสื่อเล็กสื่อน้อย คุณมีสิทธิ์ขึ้นมาเท่าเทียมกับการทำงานในช่องที่เป็นทีวีในแพลตฟอร์มทีวีดิจิทัลเท่ากัน “มนุษย์ทองคำ” เคยได้ยินคำนี้ไหม คนสื่อกลายเป็นคนที่แบบถูกซื้อตัว ปรับเพิ่มเงินเดือน เรียกว่าเฟ้อมาก จากสมมตินะ แบบเป็นนักข่าวอยู่เคเบิ้ลทีวี เคยมีเงินเดือน 12,000 บาท กระโดดมาอยู่ช่องทีวีดิจิทัล คุณอาจจะมีรายได้เดือนละ 30,000 บาทก็ได้ เพราะว่าก็แย่งซื้อตัวกันสุดฤทธิ์ 

แต่การมาของมันอะ มันมาในช่วงที่สั้นมาก หลังจากนั้นก็ฝุ่นตลบ ก็คือพูดง่ายๆ รายได้ไม่เข้าเป้า ขาดทุน ต้องทยอยมีประเด็นเรื่องการเอาพนักงานออก และหลายคนน่าจะพอรู้ว่าวงการสื่อช่วงนั้นคือคน Lay off เป็นหลักร้อย บริษัทที่เคยเลี้ยงพนักงานเป็น 400-500 คน เป็น 1,000 คน ที่เขาอยู่มาได้เรื่อยๆ แบบไม่ได้มีอะไรมาก สุดท้ายคุณต้องเอาคนเก่าออก เพราะว่ามันมีเรื่องปัญหาค่าใช้จ่ายมันสูงขึ้น และประจวบเหมาะกับออนไลน์ก็มาพอดี มีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นมาในช่วงที่อินเทอร์เน็ตมันกำลังเร็ว 3G ตอนนั้นคือเริ่มเร็วแล้วนะ มันก็เลยกลายเป็นการ Disrupt โดยสื่อใหม่มา Disrupt สื่อเก่า 

สิ่งที่ตัดสินใจ ณ เวลานั้น จะเรียกว่าเป็นการอิ่มตัวอย่างที่พูดมั้ย ก็ไม่เชิง แต่มันมี Condition การออก คือมันมีการให้ (คิดนาน) early retire พนักงาน ก็คือพูดง่ายคือสมัครใจออก ก็เลยโอเค ดีกว่าออกเปล่าๆ อย่างน้อยก็ได้เงินก้อนนึง ซึ่งตอนนั้น  Offer ของการให้เงินออก มันเยอะคือ 9 เดือน กับคนที่อายุแค่ 5 ปี ก็ได้เงินก้อนใหญ่ก้อนนึงเลย ซึ่งก็รู้สึกเสียดายมั้ย เสียดาย แต่เราก็ไม่รู้ว่าถ้าวันนั้นไม่ออก วันนี้จะออกก็อาจจะออกมาแค่ตัวเปล่าๆ เพราะว่าหลังจากที่ Lot early เราออกมา Lot หลังๆ มา คือกลายเป็นการบีบออกอย่างเดียวเลย ให้ลาออกโดยที่ไม่ได้ชดเชยเยอะขนาดนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องของการอิ่มตัว แต่น่าจะเป็นเรื่องของการที่เราจำเป็นที่จะต้องออก และประจวบเหมาะกับว่า เราอยากจะค้นหาว่าตัวเราทำอะไรได้มากกว่าแค่ทำข่าวและอ่านข่าวหรือเปล่าด้วย 

ชีวิตมันก็เลยพลิกใหม่อีกด้านนึง คือการทำงานเป็นคนเบื้องหลัง แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นข่าวนะ ก็คือได้โอกาสที่ช่อง GMM25 เขาต้องการฟอร์มทีมข่าวของตัวเองขึ้นมา ก็เลยมีโอกาสได้มาทำงานในตำแหน่ง Creative Producer ข่าว แต่ควบบก. ด้วย เพราะว่าต้องดูประเด็นข่าวด้วย ตอนนั้นอยู่กับพี่อั๋น-ภูวนาท คุนผลิน ก็เป็นผอ.ฝ่ายข่าว แล้วก็ พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ก็เป็นผู้บริหารช่อง ก็ได้โอกาสทำตรงนั้นมา หลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยในช่วงที่พี่อั๋นอ่านข่าวอยู่ คือเป็นช่วงที่ผมอยู่มี พี่เก๋ (กมลพร วรกุล) พี่เคนโด้ (เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร) ที่เราแบบปลุกปั้น GMM News ขึ้นมา ก็เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะว่า (คิดนาน) กองข่าวทั้งหมดอะ มีทำงานอยู่ 10 คน กับรายการสด 3 เวลา และเวลาละ 1 ชั่วโมงถึง 2 ชั่วโมง รายการของพี่เก๋ พี่เคนโด้ นี่หนักสุด เพราะว่าเป็นข่าวเย็น 

แล้วทุกรายการจะต้องมาชี้วัดเลยว่า เป็นรายการธงที่จะต้องเอาไปสู้เรตติ้งกับรายการข่าวช่องอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน ก็ปลุกปั้นกันมา ล้มลุกคลุกคลาน ร้องห่มร้องไห้ (หัวเราะ) แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี จนกระทั่งก็มีข่าวว่าสลายตัวกันนั่นแหละ ก็คือพี่ฉอดก็ออก (หัวเราะ) พี่อั๋นก็ออก เราก็เลยออกเหมือนกัน เปลี่ยนไปทำหลายๆ อย่าง เคยทำงานในราชการ ก็ยังอยู่ในสายสื่อเหมือนเดิม กลับมาอ่านข่าวอีกครั้งที่ช่อง NEW18 แล้วก็มาที่ JKN-CNBC จนกระทั่งรู้สึกว่าแบบน่าจะไปได้สุดแค่นี้แล้วแหละ สำหรับเรานะ เพราะอย่าลืมว่าเราไม่ได้เป็นคนที่เก่ง หรือเป็นคนที่มี Power หรือมีชื่อเสียงในวงการขนาดนั้น รู้สึกว่าการที่เราอยู่ ก็อาจจะอยู่ได้ แต่ก็อยู่ได้ถึงแค่นี้ แต่เราไม่รู้เลยว่าชีวิตนี้เราจะเติบโตไปในทิศทางไหน เราจะอยู่เพื่อที่จะเป็นบก. ต่อด้วยเป็นตำแหน่งบริหารข่าว แล้วก็แค่นี้เหรอ เพราะสิ่งที่เราเห็นก็คือว่า สมมติเราเป็นนักข่าว เราหันไปดูพี่ที่เขาอยู่ก่อนหน้าเรามา 10 ปี ก็นั่งอยู่ข้างๆ เรา หัวหงอกเชียว เครียดเชียว เราจะเป็นแบบนั้นหรอในอนาคต คุ้มดีคุ้มร้าย วีนบ้างเหวี่ยงบ้าง คือมันจะเป็นชีวิตของเราที่จะต้องเป็นแบบนั้นใช่มั้ย เพราะอย่าลืมว่า ถ้าคุณอยากจะรู้ว่าอนาคตคุณจะเป็นแบบไหนในสายอาชีพนั้น  ให้มองรุ่นพี่ที่ทำงานมาก่อนหน้าคุณ 10-20 ปี นั่นแหละ คุณจะเป็นแบบเขา 

เราก็เลยไม่เอาดีกว่า ก็เลยออกมาหาตัวเอง ออกมาทำอะไรหลายๆ อย่าง ได้ลอง ได้พัก ได้ใช้ชีวิต จนกระทั่งมันมีกระแสของสื่อออนไลน์ มันน่าจะพีกมากๆ ในช่วงที่ THE STANDARD มาพอดี มันก็เลยกลายเป็นว่า เราน่าจะลองมาทำออนไลน์ดูมั้ย นั่นแหละ มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เริ่มสตาร์ทกับการที่ทำสื่อออนไลน์ของตัวเองขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้นั่นแหละ 

ย้อนกลับไปตอนเป็นนักข่าวนิดนึง จะเห็นว่าคุณอยู่ใน 2 หมวดข่าวหลักๆ คือเศรษฐกิจ กับต่างประเทศ ส่วนตัวชอบอันไหนมากกว่ากัน 

แรกๆ เลย เกลียดข่าวเศรษฐกิจมาก เพราะมันยาก (เสียงสูง) เพราะว่าคือใครจะไปเข้าใจ เราจบนิเทศศาสตร์ทั่วๆ ไป ใครเรียนนิเทศฯ ก็น่าจะเข้าใจเนาะ นิเทศฯ ไม่ได้สอนเรื่องการเงิน ไม่ได้สอนเรื่องการคำนวณ GDP ไม่ได้สอนเรื่องหุ้น ไม่ได้สอนเรื่องตลาดทุน คือถ้าจะเรียนอันนั้นก็ต้องไปเรียนเศรษฐศาสตร์ คือมันเท่ากับว่าเราดันไปอยู่สายข่าวที่ค่อนข้างยาก พอเรายาก แล้วเรารู้สึกว่าทำไมจะต้องโดนเคี่ยวเข็ญหนัก และเราก็ไม่ได้เป็นเด็กที่เก่งเรื่องคณิตศาสตร์เลย เพราะฉะนั้น คือจะเป็นสิ่งที่หนีมาตลอด ก็คือการหนีตัวเลข หนีคณิตศาสตร์ (หัวเราะ) 

ส่วนข่าวต่างประเทศเอง เราค่อนข้างชอบ เพราะว่าเป็นคนชอบดูสารคดีตั้งแต่เด็ก ชอบถึงชอบมาก เมื่อก่อนมันมี UBC มันก็จะมีสารคดีที่จะต้องมีติดจานอะ ถึงจะได้ดู ด้วยความที่เราชอบอะไรที่เกี่ยวกับหมวดของสังคมศาสตร์ค่อนข้างเยอะ ชอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสได้เดินทางนั่งเครื่องบินออกไปนอกประเทศไทยหรือเปล่า นั่นเลยทำให้เราชอบดูสารคดีอะ พวก Next Step สำรวจโลก หรือสารคดีที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ  มันก็เลยมองว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่เราอินกับมัน ประกอบกับความโชคดีของตัวเองที่เป็นคนได้ภาษา มันก็เลยทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบโลกต่างๆ ถามว่าถ้าชอบอันไหน ก็คือต้องเคลียร์ให้ต่างประเทศแน่ๆ แต่ในมุมของต่างประเทศเอง มันมีค่อนข้างหลากหลาย เราไม่ได้ชอบสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ มันมีเรื่องของการเมือง มันมีเรื่องของสังคม มันมีเรื่องของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มันมีเรื่องของการค้า แต่สุดท้ายคือเศรษฐกิจจากต่างประเทศมันก็เข้ามาเกี่ยวข้องกันอยู่ดี เพราะเราอยู่ในสำนักข่าวที่ทำเรื่องข่าวเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นหมวดที่เราจะเกี่ยวข้องคือหนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการเมืองต่างๆ ที่มันเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของโลก สุดท้ายคือต่อให้ไม่ชอบ เราก็ต้องเรียนรู้และก็ต้องทำ จนกลายเป็นทุกวันนี้ชอบขึ้นมาเสียอย่างนั้น  เพราะเราเข้าใจมันแล้ว


2
เข้าใจตัวเองก่อนที่จะเข้าใจคนอื่น


รู้สึกไหมว่าการที่มีชื่อมหาวิทยาลัยแขวนอยู่ มันเป็นจุดเด่นหรือสุดด้อยของเรา

ไม่เลย ไม่เคยเอาตัวนี้มาวัดค่าตัวเองและวัดค่าคนอื่นด้วยนะ ถึงแม้ว่าจะถูกแขวนด้วยชื่อของสถาบันใดสถาบันหนึ่งก็ไม่ติดนะ เพราะว่าอาจจะเป็นความโชคดีของเด็กศรีปทุม ถึงแม้ว่าเราจะเป็นมหาวิทยาลัยหัวแถวที่อยู่ระดับท้ายของหัวแถว มันจะเกาะกลุ่มกันระหว่าง ม.กรุงเทพฯ – ม.รังสิต – ม.หอการค้า – ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และ ม.ศรีปทุม มันก็จะเกาะกลุ่มกันอย่างนี้แหละ แต่ถามส่วนตัวผม ผมไม่ได้รู้สึกว่าการที่ตัวเองจบศรีปทุมจะมีผลอะไรกับชีวิตขนาดนั้น เพราะตั้งแต่วันแรกที่ไปสมัครงานก็ไม่เคยรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยเป็นโอกาสหรือปัญหา เพราะสุดท้ายเขาพิจารณาเราจากประสบการณ์การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย 

อาจจะเป็นคนโชคดีอย่างหนึ่ง ก็คือตอนอยู่มหาลัย แล้วเราไปสมัครงานอยู่สายนี้ เราดันฝึกแบบนี้มาแล้วกับศูนย์มีเดีย เลยมีพอร์ตซึ่งการทำพอร์ตไม่ใช่แค่ว่าฉันมีเกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ แต่มันมีพอร์ตประวัติว่าผมเคยทำตัดต่อนะ ผมเคยเป็นผู้ประกาศข่าวนะ เคยทำผู้สื่อข่าวนะ มันก็เลยเป็นใบเบิกทาง อันนี้ที่ถามกับพี่เจี๊ยบ จิตดี ถามว่าทำไมเจ้ถึงรับผม เขาบอกว่า “ถ้าริชาร์ตจบจุฬาฯ แต่ริชาร์ตไม่มีอะไรที่แบบเคยทำมาเลยอะ พี่ก็ไม่รับ” แต่พอดีว่าเรามีพื้นมาอยู่แล้ว จับมาฝึกอีกนิดๆ หน่อยๆ ก็ใช้งานได้ มันก็เลยกลายเป็นว่าสุดท้ายแล้ว เวลาคนเขาพิจารณา หลายๆ ที่เขามองว่าคุณทำอะไรเป็นบ้าง แล้วคุณทำงานได้หรือเปล่า หรือแค่มาแล้วต้องมาฝึกใหม่ ซึ่งมันก็เสียเวลา เพราะฉะนั้นก็เลยมองว่าไม่มีผลและรู้สึกดีด้วยซ้ำที่ตัวเองจบที่นี่ เพราะว่าที่นี่ทำให้เราได้ฝึกทุกอย่าง ฝึกแบบฝึกจริงจังมาก ไม่ปล่อยเกรดด้วย มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องสู้ เราต้องขวนขวาย เราต้องไขว่คว้า เราต้องจริงจังนะ แล้วก็ตัวเองด้วยที่เป็นคนที่หิ้วกระเป๋าเสื้อผ้าใบนึงขึ้นรถไฟจากต่างจังหวัดมาเพื่อที่จะมาเรียน แล้วถ้าเรียนไม่จบหรือแบบไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต มันกลับไปแล้วมันอายไง มันก็เลยกลายเป็น Passion ที่ผลักดันตนเองให้ได้ 

อะไรสำคัญที่สุด ที่จะทำให้เราทำงานอยู่ในสายอาชีพหนึ่งๆ ได้นานๆ

ผมมองว่าเป็นเรื่องของความสามารถ ทุกวันนี้คุณมีทุกอย่างพร้อมเลย มี Connection มีดีกรีสถาบันที่ดี แต่คุณทำงานไม่ได้ เราจะจ้างคุณทำไม แล้วมันไม่ใช่แค่ความสามารถทักษะเดียวแล้วทุกวันนี้ อย่างที่เคยบอกไปว่า Multitasking ทุกวันนี้มันสำคัญ แต่เป็นสิ่งที่หลายคนเกลียด เพราะทุกคนมองว่า ฉันทำได้มากกว่าหนึ่ง เดี๋ยวเขาก็ใช้ฉันทำนู่น ทำนั่น ทำนี่ แล้วทำไมฉันจะต้องทำงานเกินเงินเดือน  มันไม่ผิดนะที่เขาจะคิดแบบนั้น แต่ถ้าในมุมกลับกัน ผมอาจจะเป็นคนที่  Multitasking มาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่แล้ว มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเรากล้าที่จะลอง เรากล้าที่จะทำ เรากล้าที่จะพัฒนาตัวเองตลอด 

เพราะคุณอย่าลืมว่าในวันที่คุณกำลังทำงานอยู่ คนที่เขาอยู่ในตำแหน่งเดียวกันเขาก็ทำ แล้วเราไม่รู้ว่าเรากำลังแข่งกับใครด้วย ผมไม่เชื่อเลยว่าคุณแค่แข่งกับตัวเอง  เวลาเขาประเมิน เขาประเมินทุกคน เขาประเมินคนนี้สูงกว่า ทำไมคนนี้ต่ำกว่า แล้วเวลาที่เขาจะ Promote ทำไมเขา Promote คนนี้ ทำไมไม่ Promote เรา เพราะเขาทำงานเก่งกว่าหรือเปล่า สุดท้ายคือถ้าคุณไม่เพิ่มทักษะตัวเองในทุกๆ ด้านนะ สู้เขาไม่ได้ แล้วในเมื่อวันนึงที่มีรุ่นน้อง แล้ววันนึงลูกน้องก็แซงเราไป เขาก็ต้องที่พิจารณาแล้วว่าทำไมคนนี้ยังอยู่ที่เดิม ถ้าองค์กรที่เขาน่ารัก เข้าใจดี เขาก็อาจจะเลี้ยงเราไว้ แต่ถ้าองค์กรไหนที่เขามองถึงผลประกอบการ KPI และความสามารถ คุณอาจจะเป็นคนนึงที่จู่ๆ โดนเรียกเข้าห้องเย็นเข้าไปคุย และคุณอาจจะเป็นคนที่ตกงานคนนึงเลยก็ได้


3
ในวันที่ Reporter Journey เริ่มเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ


หลังจากคุณลาออกมาจากสายงานข่าวแล้ว อะไรที่ทำให้เรามาทำการสรุปข่าว Reporter Journey จริงๆ จังๆ มากขึ้น

มันเป็นวิกฤตในชีวิตช่วงนึงเลยเหมือนกัน ถ้าย้อนกลับไปตอนนั้น น่าจะเป็นช่วงตอนเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมปี 2019 ตอนนั้นทำงานอยู่ที่บริษัท Panorama ก็คือบริษัทลูกของช่อง 9 คือชีวิตตัวเองค่อนข้างตลกมากเลย ไปอยู่ที่ไหนบริษัทนั่นก็ปิดตัว (หัวเราะ) ก็เข้าไปอยู่ใน Panorama ได้ประมาณ 1 เดือน จู่ๆ ก็มีคนบัญชามาว่า จะคืนช่อง MCOT Family ช่อง 14 เพราะว่ารายการของ Panorama ออนแอร์ช่อง 14 ทั้งหมด อ้าว เดี๋ยว เพิ่งจะมาทำงาน เอายังไงดี ไม่รู้ว่าอะไรดลใจว่าจู่ๆ ก็อยากจะหยิบเพจกลับขึ้นมาทำ ซึ่งจริงๆ เพจ Reporter Journey เดิมทีมันคือเพจที่ตัวเองเอาไว้เก็บผลงานสมัยก่อน มาโพสต์ว่าวันนี้เราอ่านข่าวนี้นะ แค่นั้นเอง ไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย แล้วช่วงนึงมาทำ ตามติดชีวิตข่าว คืออยากเป็น Blogger ท่องเที่ยว อยากท่องเที่ยวในมุมสายข่าว แต่เราก็ไม่ได้เก่งเหมือน Blogger ท่องเที่ยวแบบจริงจัง เพราะว่าไม่มีเงินเที่ยวขนาดนั้น(หัวเราะ) เลยล้มเลิกไป สุดท้ายก็คือนั่งทำงานอยู่

แล้วก็มันมีข่าวว่าช่อง 14 จะคืนช่อง ประกอบกับว่าวันนั้นมันน่าจะมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่เขาเถียงกันในอินเทอร์เน็ต น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยจะล้มแบบเวเนซุเอลา เรื่องภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเราเลยเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาโพสต์ลงในเพจตัวเอง ไม่ได้คาดหวังอะไรเลย แต่หลังจากที่เขียนเสร็จปุ๊บ โพสต์ผ่านไป 24 ชั่วโมง เฮ้ย มีคนสนใจ มีคนอ่าน จากเพจร้างๆ มันเกิดอะไรขึ้น ทีนี้เราก็ลองเขียนเรื่องอื่นๆ ลงไป เขียนเรื่องซิมบับเว ฯลฯ จู่ๆ ก็มีคนตามเข้ามา มียอดติดตามเพิ่มมากขึ้น เราก็เลยคิด ว่ามันอาจจะเป็นช่องทางให้เราทำอะไรได้ แต่ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องธุรกิจนะ คิดถึงแค่ว่าเป็นพื้นที่ที่เราสามารถระบายความคิดเห็นของตัวเองในฐานะคนข่าวในมุมนึงได้ สร้างขึ้นมาเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลที่เราอยากจะบอกกับสังคมได้ จนกระทั่งทำเพจมาแป๊บนึง จำเป็นต้องออกจาก Panorama เพราะว่าช่องปิด แล้วบริษัทก็จะปิดด้วย แล้วเหมือนชีวิตมันมีอะไรตลกๆ เล่นกลกับเราเสมอ

เรากลับมาอยู่วงการเศรษฐกิจอีกครั้ง ก็คือการไปอยู่ที่ JKN-CNBC ไปเป็นผู้ประกาศข่าว พอมันอยู่ใกล้กับแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ มันเลยทำให้เราอินกับมัน เพราะว่าเรารู้สึกว่า เฮ้ย สิ่งนี้ที่เราเคยไม่สนใจมันในตอนนั้น กลายเป็นเรากลับมาสนใจมันอีกครั้ง เพราะอาจจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจใกล้ตัวด้วย มันมี Source รอบตัวเยอะ เราอยากจะลองทำอะไรขึ้นมาสักอย่างนึง ตอนนั้นก็ทำงานกับ JKN-CNBC แล้วก็ทำ Reporter Journey ควบคู่กันไปด้วย มีข้อมูลอะไรก็ไปลงกับตรงนั้น พอทำได้พักนึง มันก็มียอดติดตามที่โตเป็นหลักหมื่น จากเพจที่มีคนตามอยู่ประมาณ 3,000 มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น มีคนเข้ามาพูดคุย มีคนมาแชร์อะไรของเรา มีบทความที่กลายเป็นไวรัล มีสื่อหลักอื่นๆ เอาชิ้นงานเราไปเผยแพร่ต่อ มันเลยกลายเป็นกระแสเพิ่มขึ้นมา ในเมื่อสื่อออนไลน์อื่นๆ เขาเริ่มเติบโตมาจากแบบนี้ แล้วเขาสามารถทำอะไรกับมันได้ อย่างเช่น มีรายได้กับมัน มีโฆษณา ลองกับมันสักตั้งนึงมั้ย

ประกอบกับโควิด-19 ช่วงแรกมาพอดีด้วย ตอนนั้นแค่รู้ว่ามีการติดเชื้อ แต่คนยังไม่ได้สนใจอะไรขนาดนั้นในไทย แล้วตอนนั้นเหมือนทำงานให้กับหน่วยราชการที่นึงอยู่ เราก็รู้ข้อมูล รู้สถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นในวงการราชการ วงการการเมือง ก็พอจะทราบแล้วว่ามันจะต้องมีความรุนแรงเกิดขึ้น วันที่เขาประกาศล็อกดาวน์รอบแรกทุกคนช็อก แต่ไอที่ช็อกกว่าก็คือ พวกบริษัทต่างๆ ที่เขาจะต้องใช้งบการตลาด เดิมทีเขาจะต้องมีการจัดอีเว้นท์ คนช็อกกันไป 2-3 เดือนอะ จู่ๆ Reporter Journey มีลูกค้าเข้า เพราะเรามารู้ทีหลังว่างบมันมาแล้ว แต่เขาจะต้องไปทำอะไรสักอย่าง สุดท้ายคืองบเทมาที่ออนไลน์ คนที่ทำเพจออนไลน์ที่มีคนติดตามระดับหมื่นเกือบถึงแสน มันถูกเอเจนซี่จับตามอง โดยเฉพาะเพจที่มีกระแส เพจที่คนสนใจ Reporter Journey ก็คือหนึ่งในนั้น ลูกค้าเริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม มาเรื่อยๆ เลย 2 ตัวบ้าง  3 ตัวบ้าง ประกอบกับผู้ติดตามมันก็โตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรามีรายได้เข้ามาเรื่อยๆ จนเป็นที่รู้จักของแบรนด์เอเจนซี่ แล้วก็เป็นที่รู้จักของหน่วยงานต่างๆ ว่าตอนนี้มันมี Reporter Journey เกิดขึ้นอีกหนึ่งสื่อที่เป็นที่จับตามองแล้วก็น่าสนใจในการที่เราจะทำธุรกิจ มันก็เลยต่อยอดมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้

วิธีการหาเรื่องมาเล่าใน Reporter Journey มันต้องผ่านกระบวนการยังไงบ้าง 

ง่ายสุดเลย คืออยากเขียนอะไร เขียน ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนนะ ในช่วงที่ทำก่อนที่จะมาเป็นรูปแบบบริษัท ทุกวันนี้ก็ยังทำแบบนี้อยู่ โอเค เรื่องอยู่ในความสนใจของผู้คน แต่เรื่องนั้นจะต้องไม่ใช่เรื่องที่ชวนกันมาด่าทอ ต้องไม่ใช่เรื่องที่เป็นประเด็นการเมือง ที่มาสร้างความขัดแย้งในสังคม แต่เป็นอะไรที่พอเราเขียนลงไปแล้ว คนอ่านจะต้องได้อะไรมากกว่าแค่รู้ รู้แล้วต้องมีรายเอียดกับมันว่าคุณรู้ คุณเข้าใจ คุณได้ความรู้กับมัน คุณมองมันได้ลึกมากขึ้น คุณอ่านบทความนี้แล้ว คุณไม่ต้องไปอ่านที่อื่นอีกเลย อ่านจบที่ Reporter Journey มีทุกอย่างให้ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง เนื้อหาข้างใน จนกระทั่งสรุป และคุณไปคิดต่อเอาเองแล้วกัน ว่าคุณจะต่อยอดกับมันยังไง พูดง่ายๆ การเลือกประเด็น เลือกจากรสนิยมส่วนตัวก่อน

หนีไม่พ้นเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของต่างประเทศ เพราะเรามองว่าคนไทยกับเรื่องต่างประเทศและเรื่องเศรษฐกิจอะ เป็นเรื่องที่มีความเข้าใจที่น้อยมาก คนไทยรู้เรื่องต่างประเทศน้อยมาก คนไทยเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจน้อยมาก ในที่นี้ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจรากหญ้า แต่เป็นเศรษฐกิจ อย่างเช่น เรื่องของบริษัทจดทะเบียน เรื่องของสื่อที่ชอบทำแบบ จัดอันดับประเทศไทยติดอยู่ในอันดับที่บ๊วยที่สุดของอาเซียน คือคุณรู้รึเปล่าว่ากระบวนการการจัดอันดับนี้มันมายังไง สอง คือการพาดหัวข่าวของสื่อในแต่ละที่ เขาใช้วิธีการคือตีหัวเข้าบ้าน เอายอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดคลิกเข้าว่าไว้ก่อน เพราะมันได้เอนเกจเม้นท์ แต่ของเราไม่ ของเราคือพาดหัวต้องตรงกับสิ่งที่จะสื่อ แล้วก็ให้มันชัดเจนว่าเรามาให้ข้อมูล เราไม่ได้มาตีหัวคุณเข้าบ้าน เราไม่ใช่ Clickbait อะไรที่เราให้ไป มันต้องมี Fact มีข้อมูลที่อ้างอิง และคลิกไปอ่านต่อได้ มีแหล่งอ้างอิงยืนยัน แล้วอย่างน้อย คือต้องเป็นสำนักข่าวที่ทั่วโลกยอมรับ ที่จะมาเป็นแหล่งอ้างอิงของเรา AP, Reuters, Bloomberg, BBC, CNBC, SCMP หรือสื่อต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่ไปเอามาจากสำนักข่าวหมาน้อยอะไรก็ไม่รู้ การให้แหล่งอ้างอิง ต้องเป็นแหล่งอ้างอิงที่เปิดเผยได้ ไม่ใช่คุณบอกว่าได้เครดิตมาจาก AP, BBC แต่คือคุณไม่มีลิงค์ให้ไปอ่านต่อ ต้องใส่ลิงค์เข้าไปด้วย คือให้รู้ไปเลยว่าเราเอามาจากตรงนี้นะ เราไม่ได้เขียนขึ้นมาเอง เชื่อ-ไม่เชื่อ ผิด-ถูกยังไง ไปเถียงกับต้นทางเอา


4
นิยามคนติดตาม Reporter Journey คือคนบ้าอ่าน


มันยังมีคนชอบอ่านอะไรยาวๆ อยู่หรอ?

มี

สไตล์ Reporter Journey ทำไมถึงเชื่อในการทำคอนเทนต์ยาว

เพราะทุกวันนี้เราอ่านอะไรกันสั้นจนเกินไป แล้วตีความกันไปเอง คิดว่าตัวเองรู้ สุดท้ายคือรู้อะไรไม่จริงเลยสักอย่าง ปัญหามันเลยเกิดขึ้น อันนี้เราไม่ได้โจมตีใครนะ โดยเฉพาะ Twitter คือทุกคนเชื่อข้อความไม่เกิน 250 กว่าตัวอักษรไปแล้ว แต่คุณไม่รู้เลยว่ารายละเอียดอื่นๆ มันคืออะไร จะเรียกว่าเป็นปัญหาของคนไทยเลยก็ได้ เรามักเชื่ออะไรไปแล้วที่มันเตะตา อ่านจบๆ ง่ายๆ สั้นๆ แล้วก็เชื่อว่ามันเป็นแบบนี้ทั้งหมดในจักรวาลของมัน มันทำให้คนเรากลายเป็นคนที่ไม่อยากจะขวนขวายหาต่อละ ให้มันจบแค่นี้พอ ฉันเข้าใจ ฉันเชื่อแบบนี้ ฉันฝังหัวไปและ สุดท้ายมันเลยกลายเป็นปัญหาไง ว่าเราไม่สามารถหาข้อเท็จจริงอะไรได้เลยในทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับโลกออนไลน์ เราโจมตีกันในพื้นที่สื่อออนไลน์อะ จริงมั่ง ไม่จริงมั่ง ใช้อารมณ์มั่ง เขาเล่าว่ามั่ง ตรงนั้นบอกอย่างนี้มั่ง แต่ไม่เคยมีใครรายละเอียดกับมันแบบแจกแจงให้มันลึก พี่มองเห็นปัญหานี้แหละ ว่าถ้ามันเป็นแบบนี้ต่อไป คนไทยจะมีความใฝ่รู้ลดลงมากเลยนะ จะกลายเป็นคนที่ตัดสินใจเชื่ออะไรเพียงแค่ผิวๆ เผินๆ แล้วก็เชื่อไปแล้ว วันหนึ่งที่คุณรู้สึกว่ามันตัดสินใจพลาดไป มันแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วนะ

เรามีความผิดพลาดกับระบบสังคมแบบนี้มายาวนานมาก กับการที่สื่อหลัก สื่อรอง หรือสื่อส่วนบุคคล พยายามให้คนรู้สึกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของเขา วิธีการเชื่อมข้อมูลของเขา ให้เชื่อใส่ฝังหัวโดยที่ไม่ต้องบอกให้เขาไปค้นคว้าต่อ เผื่อคุณจะได้มุมอื่น แต่ที่ผ่านมาคือ คุณต้องเชื่อสิ มันเป็นแบบนี้ นี่คือวิธีการปลุกปั้นสังคมของบ้านเรา บ้านเราเป็นสังคมที่ไม่ได้สอนให้จับปลา ไม่ได้สอนให้ปลูกข้าว เป็นสังคมที่ยัดใส่ปากแล้วเคี้ยว แล้วมึงต้องกลืน ทุกวันนี้เป็นแบบนี้จริงๆ มันเลยกลายเป็นปัญหาว่า คนไทยมีกระบวนการทางความคิดที่ค่อนข้างไม่เป็นระบบและลดลงอย่างน่าตกใจ เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยเผชิญกับตัวเอง กับคนรอบข้าง มันเลยทำให้เราต้องทำอะไรสักอย่างนึงแหละ ถึงแม้ว่ามันจะมีคนอ่าน คนติดตามเราน้อยกว่า 0.00001 เปอร์เซ็นต์ของประชากรบนโลก หรือประชากรในประเทศ แต่กลุ่มคนกลุ่มนี้ ที่เขาได้รับข้อมูลที่เต็มที่แบบไม่กั๊ก ไม่หวง คุณอ่านไหว คุณอ่าน เราเขียนให้ ถ้าคุณอยากจะรู้เรื่องนั้นแบบลึกๆ จริงๆ รอบด้านทุกมุม สแล้วผมเชื่อว่ามันเริ่มมีโมเดลกับการทำคอนเทนต์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเยอะ ขออนุญาตพูดถึง ลงทุนแมน เพราะว่าเขาคือหนึ่งในแรงบันดาลใจของเราในการที่เราทำ Reporter Journey เพราะ ลงทุนแมน เป็นหนึ่งในสื่อที่ให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ที่มีแหล่งอ้างอิงได้ในทุกๆ ลิงค์ ค่อนข้างดี และเป็นข้อมูลด้านความรู้จัดๆ เหมือนกัน ซึ่งมันมีน้อยมากในบ้านเรา เพราะต้องเข้าใจว่าอะไรที่มันเป็นเรื่องดีๆ มันมักจะไม่ค่อยมีคนแบบสนใจ นอกจากเป็นเรื่องดราม่า แต่ลงทุนแมนทำได้ นั่นหมายความว่าตลาดมี คนอ่านมี คนชอบมี

เพียงแต่ว่าคนที่พยายามจะเสี่ยงตรงนี้ มันจะมีความหลากหลายน้อยหน่อย?

น้อยหน่อย แต่คุณอย่าลืมว่าคนที่เป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ โคตรมีพลัง และเป็นคนกลุ่มที่โคตรมีความรู้ เพราะว่าเราไม่ได้กวาดไปทั่ว เราเลือกกลุ่มคนที่เขามีความรู้ ที่เขาพร้อมที่จะรับข้อมูลอะไรพวกนี้ได้ หมายความว่านี่แหละคือคนที่มีคุณภาพประมาณนึงเลยนะ ที่มาเสพเนื้อหา หรือว่าติดตามเรา เพราะฉะนั้น เวลาเราใส่ข้อมูลอะไรลงไปอะ (หัวเราะ) มันก็จะกลายเป็นเราต้องระวังแทน ระวังความผิดพลาด ระวังในเรื่องของการได้มาซึ่งข้อมูล ระวังในเรื่องการตีความ มันทำให้เราต้องละเอียดมากขึ้น รับผิดชอบต่อทั้งตัวเอง และคนติดตามด้วย เพราะฉะนั้น คอนเทนต์ที่ปล่อยไปจากเราเองมันจะชุ่ยไม่ได้ มันต้องละเอียด เพราะว่ามีคนที่เก่งกว่าเราอยู่ แล้วเขาพร้อมที่จะมาพูดคุย แลกเปลี่ยนกับเรา

ฐานลูกค้าหรือฐานผู้ติดตาม ของ Reporter Journey นิยามว่าเป็นคนแบบไหน

เป็นคนที่บ้าการอ่าน (หัวเราะ) เพราะว่าเนื้อหามันยาวมาก ขนาดคนเขียนเองยังขี้เกียจเอาง่ายๆ บทความของ Reporter Journey ใช้ขนาด 16 บน Microsoft Word ความยาว 3 หน้า A4 ขึ้นไป และยาวที่สุด เคยเขียนถึง 7 หน้า A4 ลงโพสใน Facebook นะ แต่ความน่าทึ่งของมันก็คือคนพวกนี้เขาอ่านจบด้วย อ่านละเอียดถึงขนาดตรวจคำผิดให้ แคปมาเลย เรารู้เลยว่า โอโห คนกลุ่มนี้คือคนบ้าอ่าน เราใช้คำนิยามว่าคนบ้าอ่านจริงๆ เพราะว่าเขาอ่านจริงอ่านจังมาก อ่านแล้วยังมีการแสดงความคิดเห็นต่อ บางทีแสดงความคิดเห็นยาวมาก (เสียงสูง) นั่นหมายความว่า เป็นกลุ่มคนที่เขามีความรู้และสนใจอย่างจริงจัง สนใจมากถึงมาก บางทีเข้าไปคุย เอ้า เป็นคนรุ่นใหม่แบบเฟี้ยวๆ ห้าวๆ แต่ว่าชอบเรื่องอะไรพวกนี้ก็มี มันมีความหลากหลายมาก สำหรับคนอ่าน Reporter Journey นิยามชัดๆ เลยอาจจะยาก แต่ถ้านิยามว่าเป็นคนที่บ้าการอ่าน และบ้าการเสพข้อมูล อันนี้ตรงที่สุด เพราะว่าคนเขียนก็บ้าเขียน บ้าเสพข้อมูลเหมือนกัน หัวหงอกหมดแล้วตอนเนี่ย (หัวเราะ) 


5
Reporter Journey ผู้เชื่อมั่นใน Value Content


ไม่เคยเปลี่ยนทิศทางเพจเลยใช่มั้ย เช่น ลองปรับให้ยาวน้อยกว่า 3 หน้า

ไม่เคย

แล้วการที่มีลูกค้าเจ้าแรกมาซื้อ เรื่องนี้บอกอะไร

บอกเลยว่า Value Content มันทำงานจริงๆ เพราะว่าลูกค้าที่มาซื้อเจ้าแรก ตกใจเลยนะ เป็นบริษัทมหาชนใหญ่บริษัทหนึ่งในประเทศเรา เราจะบอกคุณลูกค้า ว่าคุณลูกค้าไม่ต้องห่วงนะ ว่าผมจะคิดตามจำนวนตัวอักษรเกินโควต้าผมไม่ติด อัดได้เต็มที่ เพราะเราเองก็ชอบให้รายละเอียดเหมือนกัน ไม่ได้หวง มันเลยทำให้เขารู้สึกแฟร์ เราง่ายๆ กับลูกค้าจริงๆ แล้วลูกค้าเขาก็รู้สึกว่าพอมันลงไปในเพจ เอนเกจเม้นท์มันได้ เพราะว่า หนึ่ง คือลูกค้ากลุ่มเนี้ย เขามาซื้อ เราขายภาพลักษณ์แบรนด์ เราขายเรื่องของวิสัยทัศน์ผู้บริหาร เราขายพวกกิจกรรมของเขาที่เขาจะทำ อย่างเช่น เขามีกิจกรรมเพื่อสังคม แต่เราจะไม่เขียนในเชิงข่าว PR หรือ CSR แต่เราจะเขียนโดยการเขียนขึ้นมาใหม่ ยังคงเนื้อหาของเขาเอาไว้ แต่มีเนื้อหาอื่นๆ เข้ามาเสริม ว่าทำไมบริษัทนี้ถึงมีกิจกรรมแบบนี้ แล้วมันส่งผลยังไงกับสังคม ทำให้ตัวองค์กรเขาค่อนข้างจะแฮปปี้กับเรา

หลังจากนั้นมา เรารู้เลยว่าการทำ Value Content มันเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ ข่าว PR มันก็ได้ แต่ว่าสุดท้าย จะมีคนที่ชอบให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง มาพูดถึงคุณงามความดีของตัวเอง ว่าฉันทำดีอย่างนั้น ฉันทำดีอย่างนี้ ไม่ เราพูดในมุมประชาชนหรือคนทั่วๆ ไป เขาได้ประโยชน์อะไรกับการทำกิจกรรมของหน่วยงานในองค์กรนี้ หรือได้ทราบข้อมูลของบริษัท เราปรับทุกอย่างให้กลายเป็นเรื่องการให้ความรู้หมดเลย พอมันเป็นแบบนี้ หนึ่ง เราได้ยอดเอนเกจเม้นต์ เราได้ยอด Reach เราสามารถเอายอดพวกนี้ไปคุยกับลูกค้าได้ ว่านี่คือผลของการทำ Creative Content ล้วนๆ มันคือ Advertorial มันไม่ใช่ PR News คุณจะซื้อเราต่อมั้ย หลังจากนั้นมันก็มีแบรนด์อื่นๆ เข้ามาอีกเยอะแยะมากมาย ตอนนี้น่าจะมีลูกค้าตลอดตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท ที่เป็นลูกค้าเรา ทั้งเล็กและใหญ่ 

ยังเชื่ออยู่มั้ยว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด

ไม่เชื่อ เพราะว่าจริงๆ แล้วคนไทยอ่านอะไรเยอะนะวันนึง ถ้าบอกว่าปีละ 8 บรรทัด ไถ Facebook อ่านโพสต์ของเพื่อนอะ เกินโควต้าแล้วนะ 8 บรรทัดมันไม่ได้เป็นสาระสำคัญเลย แต่สำหรับผม ผมมองว่าสิ่งที่คุณอ่านมันคืออะไรมากกว่า ถ้าอ่านแล้วมันเป็น Toxic มันเป็นอะไรที่มันไม่ได้พัฒนาเรา ต่อให้อ่านร้อยพันบรรทัดก็เท่านั้น ชีวิตคุณก็จะอยู่เหมือนเดิม แต่ถ้าหากว่าคุณอ่านอะไรที่มันสามารถเปลี่ยนชีวิตคุณได้เพียงแค่ 2 บรรทัด แล้วคุณกลายเป็นคนอีกคนนึงที่ประสบความสำเร็จมากกว่าที่คุณเคยเป็นมาทั้งชีวิต มันอยู่ที่ผลลัพธ์ว่าคุณอ่านแล้วคุณได้อะไรมากกว่า ทำไมบางคนเก่งมาก แต่เขาไม่ประสบความสำเร็จอะไรในชีวิตเลย กับคนๆ นึง ที่เขาอาจจะไม่ได้เก่งอะไรมาก แต่ทำไมชีวิตเขาดูมีความก้าวหน้า มีพัฒนาการ มันทำให้เขารู้สึกว่านี่แหละคือกุญแจที่ไขล็อคในจิตใจบางอย่างเขา แล้วเขาก็เปลี่ยนชีวิตของเขาไปโดยปริยาย 8 บรรทัดยังไงคนไทยก็อ่านเกิน แต่จะมีคนไทยอีกกี่จำนวนที่เลือกอ่านอะไรที่มันดี แล้วมันทำให้ชีวิตเขาพัฒนาขึ้นมากกว่า ที่เป็นประเด็นสำคัญ 


6
ข่าวที่ดี  คือข่าวที่ให้ Fact (ข้อเท็จจริง)


มองวงการข่าวในยุคนี้เป็นยังไงบ้าง

มันเป็นยุคของการแข่งขันกันจนลืม ลืมว่าสิ่งที่คุณกำลังนำเสนอมันให้อะไรกับสังคม เราเห็นสื่อ โดยเฉพาะทีวีช่องใหญ่ ทำข่าวที่ทำให้คนงมงาย และคุณอัดมัน โอ้โห จนเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ คำถามคือ คุณได้เรตติ้ง คุณได้โฆษณา คุณได้ Eyeballs แล้วคนดูได้อะไร หรือข่าวตบ-ตีกัน ซึ่งคำถามคือ ทำไมเราจะต้องรู้ ว่าคนนี้แย่งผัวคนนี้ คนนี่แย่งเมียคนนี้ คนนี้ตบตีแย่งผัวแม่ยาย คนนี้ตบตีแย่งพ่อตา เพื่ออะไรอะ คุณบอกว่าเป็นการสะท้อนสังคม นี่เราสะท้อนกันมาตั้งแต่มีสถานีโทรทัศน์ 40-50 ปี คุณยังสะท้อนไม่พออีกหรอ แล้วสะท้อนทุกวันนี้มันทำให้ประเทศนี้มันดีขึ้นยังไง เราถามกลับไป ว่ามันดีขึ้นยังไงหรอ ทุกวันนี้เรายังเห็นคนตบกัน เรายังเห็นคนแย่งผัวแย่งเมียกัน เรายังเห็นประเด็นอะไรก็ไม่รู้ที่มันไม่ให้สาระอะไรกับสังคม แล้วทำไมเรายังทำ ก็มันได้เรตติ้งไง มันได้โฆษณาไง มันได้คนดูไง แค่นั้น มันแข่งขันกันด้วยคำว่าเรตติ้ง กำไร และรายได้ แต่ไม่ได้คำนึงเลยว่าสังคมมันจะได้อะไร

เราเชื่ออย่างหนึ่งก็คือว่า สังคมที่ดี มันสะท้อนออกมาผ่านสื่อต่างๆ ทำไมประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลี เขาถึงมีการพัฒนาในด้านอื่นๆ พอเราไปมองย้อนในสื่อของเขา เราดูข่าวของทางประเทศเหล่านี้ มันผิดกับบ้านเราเลยนะ ข่าวอาชญากรรม ข่าวความรุนแรงมีมั้ย มี แต่เราไม่เคยเจอลักษณะที่ โอโห ดึงมาขยี้กันเป็นชั่วโมงกับหนึ่งข่าว ไม่มี รู้แค่ว่าเกิดเหตุอะไร แล้วก็ผ่านไป หรือแม้กระทั่งสื่อออนไลน์ ทุกวันนี้มีบางสำนักข่าวพาดหัวข่าวเพื่อที่จะล่อให้คนคลิกเข้าไปอ่าน พาดหัวข่าวแบบงงๆ ได้ยอดละ ได้ Reach ละ ได้ยอดคลิกละ แข่งกันจนลืมไปแล้วว่า คุณมีหน้าที่ทำให้สังคมมันดีขึ้นนะ ไม่ใช่มีหน้าที่ในการเอาสังคม ที่มันไม่ได้ดีอยู่แล้วมาปู้ยี่ปู้ยำ เพื่อให้เห็นว่าสังคมนี้มันไม่ดีแบบนี้แหละ เป็นบทเรียนไว้นะ What? อะไรคือบทเรียน แล้วบทเรียนมันต้องทำซ้ำๆ แบบนี้หรอ นี่คือสิ่งที่เรามองเห็น 

กับอีกอย่างหนึ่ง ทุกวันเนี้ย แยกไม่ออกแล้วว่าอะไรเป็น Gossip อะไรเป็นข่าว Gossip ในที่นี้คือ เขาเล่าว่า เขาเม้าท์ว่า แต่เอามาใส่อยู่ในสำนักข่าวที่เป็นข่าวหลัก เฮ้ย การแสดงความคดเห็นมันมีได้ แต่คุณต้องมีข้อเท็จจริงด้วยสิ ซึ่งเราไม่รู้หรอกนะ ว่ากระบวนการการทำงานของยุคสมัยนี้มันเป็นยังไง เพราะเราโตมาในยุคที่อาจจะมีปูชนียบุคคลด้านการข่าว ที่เขาสอนให้เราให้ความสำคัญคอนเทนต์ที่เป็นข่าวคุณภาพ เราไม่ได้บอกว่าเราเก่ง เราไม่บอกว่าองค์กรเราดี แต่เราอยู่กับคนแบบนี้ที่เขาสอนเรามา มันเลยทำให้เราเป็นคนแบบนี้ไง ที่ทำ Reporter Journey แล้วมันสะท้อนตัวตนของเราออกมา แต่ทุกๆ วันนี้ มันแข่งกันแค่ยอดอย่างเดียว แล้วสักวันนึง ผมเชื่อว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ต่อไป ผลกระทบมันจะเริ่มส่งผลให้คนในสังคมซึมซับแต่อะไรแบบนี้ แล้วคุณอย่าถามหาเลยว่า ทำไมประเทศเราไม่ไปไหนสักที ก็เพราะว่าสื่อเราสะท้อนแต่อะไรแบบนี้ไง 

การที่อยากให้คนอ่านอะไรดีๆ มันต้องมาจากคนทำคอนเทนต์ก่อนใช่มั้ย

ใช่ ถ้าคุณไม่ทำแล้วคุณจะรู้ได้ยังไงว่าใครอ่าน มีคนอ่านมั้ย หรือไม่มีคนอ่านก็ได้ แต่อย่างน้อยคือคุณไม่ทำตัวเป็น Toxic ของสังคม คุณไม่ทำตัวเป็นปัญหาที่ทำให้สังคมมันเป็นปัญหาต่อ มันอาจจะเป็นแค่หนึ่งหน่วยเล็กๆ กับประชากร 60-70 ล้านคนก็จริง แต่เราจะต้องไม่เป็นหนึ่งปัญหาใน 70 ล้านคนนั้น เพื่อเพิ่มปัญหาของสังคมเข้าไปอีก โดยเฉพาะเราเป็นสื่อ ถ้าสมัยก่อนเรียกว่า เรามีปากกาเป็นอาวุธ เราสามารถเขียนให้ใครดีก็ได้ ใครเลวก็ได้ 

อันนี้เรามีคีย์บอร์ดเป็นอาวุธ?

ถูก คุณจะพิมพ์ให้ใครดีก็ได้ คุณจะพิมพ์ให้ใครเลวก็ได้ คุณจะพิมพ์ให้ใครมีเกียรติ คุณจะพิมพ์ให้ใครไร้เกียรติก็ได้ เพราะฉะนั้น เรามีอำนาจอยู่ที่ปลายนิ้วเหมือนกัน แม้มันจะเปลี่ยนแค่ปากกามาเป็นคีย์บอร์ดก็ตาม แต่สุดท้าย ถ้าอย่างที่คุณถามมา ว่าเราจะต้องเขียนก่อนใช่มั้ย ใช่ เพราะ Reporter Journey ก็ทำแบบนั้น แล้วผมเชื่อว่ามันมีแหละ คนที่เขาจะเห็นด้วยกับเราในสิ่งที่เราทำ เราไม่สามารถเปลี่ยนทั้งประเทศได้ มันไม่สามารถเปลี่ยนให้คนมาชอบข่าวแบบนี้ ชอบบทความแบบนี้ แต่มันจะมีกลุ่มคนอยู่กลุ่มนึง

อย่าง Reporter Journey จะมีกลุ่มคนอยู่ประมาณ 130,000 คน ที่เขาโอเคกับสิ่งที่เราทำ แล้วเขาพร้อมเรียนรู้กับข้อมูลที่เราให้ และเขาจะเป็นคนที่ไม่โดนสื่อหลอก ไม่ถูกใส่อะไรเข้ามาในสมอง แล้วก็เชื่อไปหมดทุกอย่าง เพราะเขาจะมีวิจารณญาณในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มากกว่าคนทั่วไป ไม่ได้บอกว่า Reporter Journey ที่เดียว แต่หมายถึงเพจที่เขาคิดคอนเทนต์ พัฒนา คอนเทนต์ดีๆ แล้วมีคนติดตามที่เป็นคนต้องการข้อมูลและความรู้จริงๆ เขาก็จะเป็นคนอีกระดับหนึ่ง ที่เขาเสพข้อมูลที่ไม่ใช่ Toxic

ข่าวที่ดี มีลักษณะอย่างไร

ข่าวที่ดี ต้องเป็นข่าวที่มี Fact (ข้อเท็จจริง) ต้องเป็นข้อมูล หนึ่ง น่าเชื่อถือ สอง พูดตรงๆ ต่อให้มันจะต้องเบนไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่มันจำเป็นต้องพูดตรงๆ ก็ต้องพูดตรงๆ หรือถ้าจะพูด พูดให้มันครบสองฝั่ง อย่าพูดแค่ฝั่งเดียว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเมือง เราจะชอบถูกตีตราใช่มั้ย พอเราลงเสนอฝั่งนั้น อีกฝั่งนึงก็จะมาถล่มว่าเราเป็นฝั่งนี้ พอลงฝั่งนี้ อีกฝั่งนึงก็จะมาถล่มว่าเราจะเป็นฝั่งนั้น ซึ่งตัดปัญหาไปเลย ลงให้มันทั้งสองฝั่งในเนื้อหาเดียวกัน ให้ความสมดุลเท่าเทียมกัน เพราะเราจะได้รู้ว่า เราเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝั่งได้พูดแล้ว

อีกเรื่องนึงที่น่าจะบอกได้ว่าเป็นข่าวที่ดี ก็คือการตัดความคิดเห็นของตัวเองออกไปให้ได้มากที่สุด เพราะคุณทำข่าวที่มีการแสดงความคิดเห็น คุณค่อยไปเขียนในบทวิจารณ์ แต่ถ้าคุณบอกว่านี่คือข่าว คุณนำเสนอข้อเท็จจริง และข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาให้ได้มากที่สุด แล้วต้องไม่ใช่สิ่งที่ทำให้สังคมมันเกิดปัญหา หรือทำให้สังคมมันเลวร้ายลงไปมากกว่านี้ บางอย่างการพูดความจริง มันอาจจะกระทบกระเทือนกับสังคมได้ แต่เราก็ต้องพูด แต่ถ้ามันพูดไม่จริง แล้วมันดันกระทบกับสังคม มันก็เป็นปัญหา แล้วคุณจะเรียกว่าตัวเองเป็นข่าวที่ดีได้ยังไง คือไม่ควรเรียกตนเองว่าเป็นสื่อมวลชนด้วยซ้ำ มันยากนะ กับคำถามที่ว่าข่าวที่ดีควรเป็นยังไง ก็คงจะตอบได้ประมาณว่าข่าวทีดี คือข่าวที่ไม่สร้างปัญหาให้ใครอะ

การเมือง คนชอบบอกว่าต้องเป็นกลาง

เป็นกลางไม่มีจริง พูดเลย แม้กระทั่งในประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตยแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ประชาธิปไตยจัดๆ อย่างอเมริกา อังกฤษ สื่อเขาก็ไม่ได้กลางนะ สื่อเขาเลือกข้าง เลือกข้างอย่างชัดเจนและเปิดเผย มันไม่ใช่เรื่องผิดด้วยซ้ำที่สื่อจะเลือกข้าง แต่การที่คุณเลือกข้างแล้วอะ วิธีการนำเสนอของคุณมันต้องไม่ใช่วิธีการที่จะต้องไปตัดสินใคร หรือไปกล่าวหาใคร โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้าม คุณนำเสนอในสิ่งที่คุณสนับสนุนกับฝั่งที่คุณสนับสนุน ส่วนการจะโจมตี มันเป็นสีสันที่มันจะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าคุณตั้งตัวว่าเป็นสำนักข่าว คุณต้องให้ข้อมูล แม้ว่าคุณจะเชียร์ก็ตามเถอะ แต่ถ้าสมมติว่าอีกฝั่งทำดี คุณต้องนำเสนอเขานะ ในมุมที่มันถูกต้องและเป็นจริง ไม่ใช่ไปดิสเครดิต ไปแซะ ถ้าดี คุณก็บอกว่าดี ถ้าเลว คุณก็บอกว่าเลว แค่นั้นเอง มันง่าย แค่ตรงไปตรงมา สำนักข่าวระดับโลกไม่ได้กลาง แต่เวลาที่เขานำเสนอ คือเขานำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง บางทีเขาอาจจะโจมตีอีกฝั่งก็ได้ แต่วิธีการโจมตีมันเหนือ Class กว่าสำนักข่าวบ้านเรา กว่าออนไลน์บ้านเรามาก การใช้ข้อมูล การลงไปสัมภาษณ์ การไปพูดคุย หรือการไปให้รายละเอียด มันลึกกว่าเรา มันมี Class ในการให้ข้อมูลที่ดี ที่ครบกว่า หรือแม้กระทั่ง เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าสำนักข่าวต้องเป็นกลาง ไม่จำเป็น แต่คุณต้องมีความรับผิดชอบในข้อมูล ไม่ว่าคุณจะนำเสนอฝั่งไหนก็ตาม นำออกมาให้มันเท่าๆ กัน

หรือแม้กระทั่ง อย่าโจมตีโดยที่คุณแค่เลือกฝั่ง แล้วไม่ชอบ เป็นฐานเสียงให้ฝั่งนั้น แล้วคุณจะต้องฆ่าฟัน เพราะ Reporter Journey ก็ไม่กลาง คือเรารู้สึกจะกระดากใจมากเลย เวลาคนอ่านขอบคุณ เขาชมว่าเราเป็นกลาง เรารู้สึกกระดากใจมากเลย เฮ้ย กูไม่กลาง เราเป็นคนๆ นึง ที่มีความคิด ความอ่านที่สามารถเลือกข้างได้ วันนี้ฝั่งนี้บอกดี เราก็โอเค เราก็เห็นดีเห็นงาม อีกวันนึงฝั่งนู้นบอกดี มันก็โอเค เราเป็นมนุษย์อะ มนุษย์มันมีหลายมิติ เราไม่ได้เป็นกระดาษที่มีแค่หน้ากับหลัง เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เป็นรูปแบบของวัตถุสามมิติ ที่มันหมุนได้รอบอะ คนเรามันมีมิติที่หลากหลาย เพราะฉะนั้น คืออย่าหาความขาวหรือดำ อย่าหาความซ้ายหรือขวา เพราะมันไม่มีจริง ทุกคนมันเป็นอะไรที่มันเทาๆ หมด แต่ทุกอย่างที่รับผิดชอบออกไปต่อสังคมอะ มันต้องเป็นสิ่งที่เราไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมาโดยเด็ดขาด แล้วถ้ามันเกิดแล้ว คุณต้องรับผิดชอบมันให้ได้ เพราะมันเกิดขึ้นจากคุณ นิสัยสื่อมีข้อเสียอย่างหนึ่ง ก็คือรับชอบ แต่ไม่รับผิด ต้องโดนด่าก่อนถึงจะออกมาขอโทษ เพราะชอบตั้งตัวเองว่าเป็นบรรทัดฐานในฐานันดรใดๆ ของสังคม ฉันมีหน้าที่สะท้อนสังคม แต่ขอโทษ ก่อนจะสะท้อนสังคม คุณเป็นกระจกที่ใสพอหรือยังที่จะสะท้อนคนอื่น ถ้ากระจกคุณยังไม่ดีพอ ยังไม่ใสพอ คุณอย่าเพิ่งไปสะท้อนว่าสังคมมันจะเป็นแบบนั้น แบบนี้ เอากระจกหันมามองหน้าตัวเองในกระจกก่อน สะท้อนเงาตัวเองก่อน แล้วค่อยไปสะท้อนคนอื่น 


7
ในโลกการทำงานข่าว มีความสามารถเดียวอาจไม่เพียงพอ


คุณว่า Multitasking มันดียังไง

มันดีในที่นี้ คือเราจะเข้าใจว่าทำไมคนที่ทำงานในตำแหน่งนั้น เขาถึงคิดแบบนั้นและทำแบบนั้น ผมมองว่าทำให้ตัวเองรู้สึกว่าเราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น สมมติอย่างผมเป็นนักข่าว ข่าวจะออนอยู่แล้ว ทำไมตัดต่อไม่เสร็จ สกู๊ปจะต้องใช้ ทำไมยังไม่มา  คือมันมีอะไรหลายๆ อย่างมาก แต่พอเรารู้ว่ามันใช้เวลานะ มันต้องตัด มันต้อง Process มันต้องปรับเสียง มันต้องจูน กว่าจะ Export ออกมา แล้วกว่าจะ Transfer ส่งไปที่ Playlist กว่าจะเช็คแล้วเช็คอีก เราเลยทำให้เข้าใจว่าเขาต้องทำงานแบบนี้ มันมี Role แบบนี้ เราก็จะเข้าใจคนอื่น แล้วเราไม่รู้หรอกว่าผู้บริหารมองเรายังไงอยู่ วันนึงที่เราทำงานในตำแหน่งนี้ แต่พอดีว่าจู่ๆ เราทำตรงนี้ได้ แล้วเขาบอกว่าพนักงานคนนี้มันทำอันนี้ได้นะ แล้วมันเป็นสิ่งที่เรากำลังต้องการพอดี ลองปรับตำแหน่ง หรือลองเอาเขามาทำตรงนี้โดยตรงมั้ย เขาอาจจะชอบในสิ่งที่เขาอยากจะทำก็ได้ 

แล้ววันนึงสมมติผมเคยได้รับโอกาส ก็คือจู่ๆ เราก็ทำของเราไปในงานชิ้นนึง แล้วพอดีผู้ใหญ่เขามองเห็นว่าริชาร์ตทำอันนี้ได้และทำได้ดี จู่ๆ รายการใหม่ขึ้นมาให้หนึ่งรายการเลยก็มี เราได้โอกาสในการทำงานเพิ่มเติมในสิ่งที่เราถนัด แล้วก็คือได้เงินเพิ่มจากค่ารายการ มันก็เลยทำให้รู้สึกว่า นี่แหละ คนที่เขาแบบมีความสามารถในด้านต่างๆ สามารถต่อยอดได้จริงๆ 

คนบอกว่าทำไมไม่เก่งให้ลึกไปด้านนึงเลย จะได้แบบเป็น Expert ด้านนั้น โอเค ในบางอาชีพมันทำได้ แต่ในบางสายอาชีพ เราเรียกว่าคนที่เป็นเป็ดมันน่าจะไปได้ไกลกว่า เพราะในวันที่บริษัทต่างๆ องค์กรต่างๆ มันลด Cost พนักงานลง คนเราจะต้องทำงานมากกว่า 1-2 สกิลขึ้นไปแล้ว บางคนต้อง 3 ด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องของธุรกิจด้วย อะไรด้วย แล้วถ้าสมมติว่าคุณทำได้ มันไม่ได้มีเจ้านายที่ใจร้ายทุกคนหรอก ที่ทำสองได้แล้วเหรอ ทำสามสิ ทำสี่สิ ทำห้าสิ  มันไม่ได้มีขนาดนั้นทุกคน กลายเป็นว่าเขาจะมองว่าเราเป็นคนที่ทุ่มเท และให้ใจกับทางบริษัท แล้วคนนี้เหมาะที่จะเก็บเอาไว้ แล้วก็ให้ benefit เขา ให้รางวัลเขา หรือเลี้ยงเขาไปให้จนเขาตลอดรอดฝั่ง

คำๆ นึง ตัว T ในทัศนคติของคุณ มันคือสิ่งที่เด็กสมัยนี้ควรจะเป็นมั้ย 

ควร ควรมาก ตัว T เปรียบเสมือน หนึ่ง คุณมีแกนของคุณ เป็นแกนหลักที่คุณจะตั้งตรง และคุณจะมุ่งไปกับมันว่าคุณจะลึกในด้านนี้ แต่เมื่อลึกแล้ว ขาที่เหลือที่มันเป็นตัวแนวนอนในแต่ละช่อง คุณมีอะไรที่ห้อยติดตัวมาบ้างในแขนของมัน เพราะอย่าลืม เราไม่รู้ว่าวันนึงเราจะต้องหยิบทักษะด้านใดด้านนึงมาใช้ อาจจะเป็นทักษะที่เราลืมไปแล้ว แต่พอดีว่ามันห้อยอยู่ที่แขนเราพอดี อาจต้องหยิบมันมาใช้สักวันนึงก็ได้ โอเค ลึกในด้านที่คุณควรลึก ในด้านที่คุณเป็น Expert ที่พอถามปุ๊บ เฮ้ย รู้เลยว่าเราจะต้องตอบยังไง ต้องทำงานกับมันยังไง เราต้องหามันยังไง แต่ไอที่มันเป็นทักษะสำรองต่างๆ ตรงนี้มันต้องมี เพราะอย่าลืมว่าทุกวันนี้เราไม่รู้ว่าเราจะต้องเปลี่ยนอาชีพตอนไหน

ใครจะไปรู้ว่าคนทำงานสื่อเก่ามาทั้งชีวิตแต่ตั้งแต่เรียนจบมา จะต้องมาทำสื่อใหม่อย่างออนไลน์ ทุกวันนี้ก็ไม่ได้เก่ง แต่แค่รู้ว่าเราจะทำยังไงให้มันไปของมันได้ ทักษะออนไลน์ที่เคยใช้ง่ายที่สุด ก็คือเล่น Twitter เป็น โพสต์ข่าวลง Facebook ได้ ก็แค่นั้น แต่พอเราไปศึกษากับมันลึกๆ แล้วกลายเป็นว่ามันมีอะไรให้ได้มากกว่านั้น มันอาจจะอยู่ที่ความสนใจของเราด้วย พอเราเริ่มสนใจกับมัน เราเริ่มเรียนรู้กับมัน แล้วกลายเป็นว่าแทนที่พี่จะมีแขนตัว T ตั้งๆ ได้แขนเดียว ตอนนี้มันมีสองแขน มันประกอบออกมาเป็นตัว M แขนเดียวกับสามขา อันไหนมันมั่งคงกว่ากัน พูดง่ายๆ คือตอนนี้เรามีสามขาหลัก ขาของคนข่าว ซึ่งเป็น Core Value ของเราอยู่แล้ว ขาที่สอง คือขาของคนออนไลน์ ขาที่สาม คือขาของการเป็นผู้บริหาร มันก็เลยทำให้เรามีฐานที่มันมั่นคงมากขึ้น แล้วเราทำได้ในโหมดที่เราจะต้องเลือกทำ ณ เวลานั้น หยิบตรงไหนมาทำได้หมด 

นอกจาก Multitasking ทักษะสำคัญที่มองว่าสำคัญมากในการทำงานข่าว คิดว่ามีทักษะอะไร

ก็คือทักษะเรื่องของการใฝ่ในทุกอย่างอะ ใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา คือคุณต้องไม่หยุดพัฒนาในด้านใดด้านหนึ่งเลย เพราะว่านักข่าวทุกวันนี้ไม่ได้ทำงานเหมือนเมื่อก่อนแล้วนะ สมัยที่ตัวเองไปทำข่าว ยังไม่ต้องไป Live เลยอะ แบบทุกวันนี้นักข่าวต้องไป Live เวลาลงสนาม นั่นคือคุณจะต้องมีทักษะในเรื่องของการทำงานผ่านสื่อ ในเวลาสถานการณ์สด ณ เวลานั้น นั่นคือทักษะทักษะหนึ่งที่มันเปลี่ยนไปในยุค 5 ปีนี้อย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น คุณจะต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเองเลยในด้านใดด้านหนึ่ง มันต้องพัฒนาไปทุกด้าน

แต่สิ่งที่น่าจะเป็นพื้นฐานเลยที่นักข่าวทุกคนต้องมี ก็คือเรื่องของความรอบด้านในการหาข้อมูล ปัญหาที่เกิดขึ้นที่เจอกันบ่อยๆ เวลาที่เราเจอคนเขียนข่าวที่เพิ่งผ่านงานมาได้ไม่นาน มักจะเขียนจากสิ่งที่ตัวเองเข้าใจ แต่ไม่ได้เขียนมาจากสิ่งที่มันเป็นจริง เราเห็นสื่อหลายๆ สื่อ ทำข้อมูลผิดออกมา ต้องออกมาขอโทษประจำ ในช่วงหลังๆ มานี้ แม้กระทั่งสื่อใหญ่หลายๆ ช่อง นั่นหมายความว่าคนที่เขาทำงาน เขาไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่จะสื่อสาร แล้วเขาดันสื่อสารไปแล้ว ปัญหามันก็เลยเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดว่าคุณยังไม่เข้าใจ ก่อนที่คุณจะเผยแพร่อะไรออกไป คุณต้องเข้าใจก่อนว่ามันไม่ได้ไปในนาม Facebook ส่วนตัวนะ มันไปในนามองค์กร แล้วถ้ามันผิด เขาไม่ได้ด่าคุณ เขาด่าช่อง เขาด่าทั้งองค์กร เพราะฉะนั้น ต้องระมัดระวัง


8
อนาคต และการเติบโตของ Reporter Journey


การทำ Reporter Journey มันสอนอะไรให้กับเราบ้าง

หูว เยอะมากเลยอะ ถ้าไม่ได้ทำ Reporter Journey วันนี้ก็ยังคงเป็นนักข่าวคนนึง หรือคนทำงานออฟฟิศคนนึง ที่ก็แค่ทำงานรับเงินเดือน เดือนชนเดือน แต่สิ่งที่ Reporter Journey ให้เรา มันให้คุณค่าบางอย่าง คือไม่รู้ที่อื่นเป็นหรือเปล่านะ เพจอื่นที่ไม่ใช่ Personal Brand เพจที่เขาเป็นบริษัทแบบเรา คนติดตามของ Reporter Journey รู้จักริชาร์ต รู้จักว่าเราเคยเป็นใครมาก่อน เราทำอะไร รู้จักตั้งแต่วันที่เราเริ่มทำแรกๆ จนกระทั่งเรามามีบริษัท ทุกคนเข้ามาแสดงความยินดี มีคนนึงเขามาแชร์กับเรา บอกว่า เขาตามเรามาตั้งแต่สมัยที่เราเริ่มทำใหม่ๆ เรามีความใกล้เคียงกับลูกชายเขา เขาก็เอาเราไปเล่าให้ลูกชายเขาฟัง เพราะลูกชายเขาอยากทำสื่อออนไลน์เหมือนกัน ให้ติดตามดูเพจของพี่คนนี้ดู สุดท้ายทุกวันนี้น้องเขาก็ทำในองค์กรด้านสื่อออนไลน์ที่นึงเหมือนกัน โดยที่มีเราเป็นแรงบันดาลใจ

หรือแม้กระทั่งหลาย ๆ คน เขาเห็นการล้มลุกคลุกคลานในชีวิตของเรามา แต่วันนึงเราเติบโตขึ้นมา เรากลายขึ้นมาเป็นหนึ่งในสื่อ ผมไม่ได้เรียกว่าเป็นสื่อที่คนให้การยอมรับ แต่เป็นสื่อที่เข้าไปอยู่ในความรู้สึกของคนได้ ถ้าคนมาบอกว่า แสดงความยินดีด้วยนะครับ ผมติดตามคุณตั้งแต่ต้น แล้ววันนี้คุณประสบความสำเร็จแล้วอะ ผมจะตามคุณต่อไปนะ ขอให้คงเอกลักษณ์ของ Reporter Journey ไว้ หลายๆ บริษัทก็แค่ลงบอกตัวเองว่าฉันจะเปิดบริษัทนะ แล้วก็แค่นั้น แต่นี่คือทุกคนเข้ามา ยินดีกับเราอะ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำ มันทำงานกับความรู้สึกคนด้วย มันไม่ใช่แค่เราให้ข่าว ให้ข้อมูลกับเขา แต่ว่าเราให้ความจริงใจกับเขาบางอย่าง ว่าเราไม่เคยกั๊กข้อมูล มันทำให้เขาพัฒนาความคิดของตัวเองต่อตัวเขาได้ นี่คือสิ่งที่ได้มากกว่า มันได้ความความภูมิใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ในชีวิตเขา ที่ทำให้เขามีการพัฒนาความคิดที่ดีขึ้น

มองอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าของ Reporter Journey เป็นอย่างไร

เรายังไม่รู้เลยนะ ว่าหนึ่งปีนี้หรือสองปีนี้ มันจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เพราะมันเปลี่ยนแปลงไวเหลือเกินในทุกๆ วันนี้ มันอาจจะเปลี่ยนแปลงทุกๆ 3 เดือน 6 เดือนก็ได้ แต่ถ้ามองในลักษณะ Long Term เราก็ยังคงเป็นสื่อที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ละเอียด ลึก กว้าง เหมือนเดิม แต่ที่อาจจะเพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ เราจะต้องพยายามเอาตัวเองไปให้ถึงในจุดที่ว่า ทุกคนพูดถึง Reporter Journey จะต้อง อ๋อ เหมือนที่ทุกคนพูดถึง THE STANDARD เหมือนที่ทุกคนพูดถึง ลงทุนแมน เหมือนที่ทุกคนพูดถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ เพราะเราคงไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองไปเป็นสื่อออนแอร์ได้ เราโตมาจากออนไลน์ แล้วเราทำออนไลน์มา เป็นที่ๆ นึง ที่อยากจะให้ทุกคนเชื่อมั่นในข้อมูล ว่าข้อมูลที่มาจากเรามันถูกต้อง มันมีอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ และคุณอ่านกับเรา คุณติดตามเรา คุณรับข้อมูลเรา ไม่ต้องไปอ่านที่อื่นแล้ว จบที่เราจริงๆ ให้มันจบที่ Reporter Journey ครับ

อนาคตมันอาจจะมีการพัฒนาไปจนถึงขั้นมีหนึ่งในเวทีของการจัดเสวนาหรือ Forum หลักของประเทศนี้ เหมือนก่อนที่จะมีโควิด-19 อะ มันก็จะมี Business Forum หรือ Economic Forum ของแต่ละที่ อย่างเช่น ของ กรุงเทพธุรกิจ เขาก็จะมีของเขา เป็นที่น่าเชื่อถือ อย่างของ ประชาชาติ ที่เขาไปถึงขั้นนั้นแล้ว เราก็อยากไปถึงตรงจุดนั้นเหมือนกัน แล้วก็ในโลกยุคอนาคต มันเป็นโลกของ Metaverse มันเป็นโลกของเทคโนโลยีเสมือน เราอาจจะมีสำนักข่าวเสมือนใน Metaverse ขึ้นมาก็ได้ เพราะว่า ต้องขอบคุณทาง Tomorrow Group หรือ Stock2morrow ที่เป็นบริษัทแม่ของ Reporter Journey ที่เขาเอง ก็จะไปในทางนั้นเหมือนกัน ซึ่งเรามีบริษัทลูกที่เขาทำเรื่อง Metaverse ที่กำลังจะขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางนั้น Reporter Journey มันก็อาจจะเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ ที่จะไปสู่ทิศทางนั้นเช่นเดียวกัน ซึ่งมันไปได้อีกไกล วันนี้ที่พูด ผ่านไปอีกครึ่งปี อาจจะเปลี่ยนคำพูดก็ได้ มันอาจจะมีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาอีก แต่ถ้าจะให้สรุป ก็คงอยากจะเป็นสำนักข่าว หรืออาจจะเป็นสื่อออนไลน์สำนักนึง ที่ได้รับความน่าเชื่อถือของสังคมมากที่สุด เทียบเท่ากับสื่อที่เขาอยู่มานาน

จากวันนั้นถึงวันนี้ ตัวเองเติบโตยังไงบ้าง

โอโห มาก มากถึงมากที่สุด มันเป็นช่วงเวลา 2 ปีนะ สำหรับ Reporter Journey ที่เหมือนเป็นการย่อประสบการณ์การทำในอาชีพสื่อสารมวลชนทั้งหมด 5 ปี มาแบบขมวดอยู่ตรงนี้ เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เราทำงานในฐานะพนักงาน เรามีเจ้านาย เรามีบก. เรามีหัวหน้าฝ่ายข่าวในการให้งาน ในการสั่งว่าเราต้องทำอะไร แต่เราทำ Reporter Journey เราต้องบังคับตัวเอง เราสั่งตัวเอง เราคิดเอง เราทำเองทุกอย่าง นั่นหมายความว่า เราต้องเป็นในทุกๆ ตำแหน่ง ที่เขาเป็นในกองข่าว เป็นบก. เอง เป็นโปรดิวซ์เอง เป็นกราฟฟิกเอง (หัวเราะ) เป็นคอนเทนต์เอง เป็นเองทุกอย่างเลย จนเป็นเจ้าของบริษัทเอง (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น มันทำให้เราโตในภาระหน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบ ตอนนี้มันไม่ได้รับผิดชอบแค่เราอย่างเดียว มันคือการที่เราเติบโตอย่างมากในวิชาชีพ แล้วมันจะต้องเติบโตไปมากกว่านี้ในฐานะนักธุรกิจอีก

เพราะว่าตอนนี้โลกของผมมันเปลี่ยน จากคนที่อยู่ในโลกของคอนเทนต์ โลกของคนทำข่าว ทุกวันนี้มันอยู่ในโลกของธุรกิจ มันคืออีกโลกนึงที่เราจะต้องไปเรียนรู้กับมัน ซึ่งเราก็ต้องโตไปกับมันอีก และมันเป็นโลกที่เราไม่เคยทำมาก่อน แต่จริงๆ แล้ว อะไรที่มันไม่เคยทำ มันเป็นปกติของทุกคน เพราะอนาคต เราก็ต้องพัฒนาเพื่อที่จะอยู่รอดกับมันให้ได้ เช่นเดียวกับ Reporter Journey ที่จะต้องพามันอยู่รอดในรูปแบบของการเป็นบริษัท ในฐานะที่เราเป็นนักธุรกิจ ในฐานะที่เราเป็นผู้บริหารให้ได้เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่จะต้องทำอีกเยอะเลย มันแค่เริ่มต้นเท่านั้น หลังจากนี้ มันคือของจริงในการต่อสู้กับสังเวียนโลกธุรกิจ สื่อ ที่มันโหดร้าย สื่อเกิดขึ้นเยอะแยะ เม็ดเงินโฆษณามันเท่าเดิม เราจะทำยังไง เค้กก้อนนี้ที่เราจะเข้าไปแบ่งกับมันให้ได้ ให้มันมากที่สุดเท่าที่กำลังของพวกเราจะทำได้ และไม่ใช่แค่กำลังจะทำได้ ในขณะที่เราต้องเลี้ยงทั้งคนในองค์กร เลี้ยงทั้งบริษัท แล้วก็สร้างเครดิตความน่าเชื่อถือให้กับหลายๆ ที่ที่จะเป็นพันธมิตรเรา

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า