ประวัติศาสตร์สีรุ้งในอุตสาหกรรมดนตรีโลก

“พื้นที่ศิลปะคือพื้นที่แห่งเสรีภาพ” ของ ถนอม ชาภักดี นักวิชาการและนักวิจารณ์ศิลปะผู้ล่วงลับ เคยกล่าวไว้ และกลายเป็นหนึ่งในคำขวัญของเหล่าศิลปินนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ผลักดันพื้นที่ศิลปะให้ขยับขยายกว้างขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นของคนทำงานศิลปะ

แต่ไหนแต่ไรมา เราทราบกันดีว่า ศิลปะนอกจากจะทำหน้าที่จรรโลงจิตใจมนุษย์แล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้บอกเล่าเรื่องราวทั้งสุขและทุกข์ และเป็นพื้นที่แสดงออกทางความคิด โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่ถูกกดขี่ และดนตรีก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่กลุ่มคนชายขอบและผู้ที่เผชิญกับการกดขี่ใช้ถ่ายทอดเรื่องราวความทุกข์ยาก และปลดปล่อยตัวเองจากอำนาจที่พันธนาการพวกเขาไว้

สำหรับชุมชน LGBTQ+ ดนตรีเป็นเครื่องมือคู่ใจที่พวกเขาใช้สื่อสารอัตลักษณ์ของตัวเอง รวมถึงความรู้สึกนึกคิด ความกังวล และความโกรธเกรี้ยวที่มีต่อบรรทัดฐานของสังคม ผ่านเนื้อเพลงและท่วงทำนองมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางการสื่อสารขนาดใหญ่ ก็ยิ่งสร้างพื้นที่ให้กับ LGBTQ+ ในอุตสาหกรรมดนตรีมากขึ้น

ดนตรีและเส้นทางการต่อสู้ของชุมชน LGBTQ+ มาบรรจบกันตั้งแต่เมื่อไร และเติบโตเบ่งบานอย่างเต็มที่ในปัจจุบันได้อย่างไร มาย้อนดูไปพร้อมกันที่นี่เลย

ดนตรีบลูส์: ผู้ให้กำเนิดดนตรีเพื่อ LGBTQ+ ทั้งมวล

หากจะกล่าวถึงดนตรีของผู้ถูกกดขี่ “เพลงบลูส์” คือพื้นที่ส่งเสียงของคนกลุ่มนี้อย่างแท้จริง ด้วยรากเหง้าจากขนบดนตรีและวัฒนธรรมของทาสผิวดำทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้จะมีการประกาศเลิกทาสตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แต่คนอเมริกันผิวดำก็ยังคงต้องเผชิญกับการกดทับทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ การถูกกดทับดังกล่าว จุดประกายให้เกิดแนวคิดของเพลงบลูส์ในระยะแรก

สำหรับเพลงของ LGBTQ+ ถือกำเนิดในนิวออร์ลีนส์ ในปี 1890 จากนโยบายเกี่ยวกับกับการค้าประเวณีฉบับใหม่ที่บีบให้โรงแรมม่านรูดและนักดนตรีบลูส์ที่เป็นเกย์ต้องลุกขึ้นสู้ นำไปสู่การเปิดตัวศิลปิน LGBTQ+ รุ่นบุกเบิกอย่าง Ma Rainey ศิลปินไบเซ็กชวล ผู้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะมารดาแห่งบลูส์ ด้วยบุคลิกอันจัดจ้านและมีสีสัน เรนนีย์ออกแสดงในชุดราตรียาวสีทองและรัดเกล้าเพชร ถือขนนกกระจอกเทศไว้ในมือข้างหนึ่ง และปืนพกในมืออีกข้างหนึ่ง 

Ma Rainey

Ma Rainey เคยถูกตำรวจชิคาโกจับกุมตัวเมื่อปี 1928 ในข้อหาจัด “ปาร์ตี้อนาจาร” ของกลุ่มไบเซ็กชวลและเลสเบียน จากเหตุการณ์ดังกล่าว Ma Rainey ได้เปิดตัวเพลง “Prove It On Me Blues” ที่เปิดเปลือยตัวตนของ LGBTQ+ อย่างโจ่งแจ้ง ท้าทายทัศนคติของสังคมในยุคนั้น

นอกจาก Ma Rainey แล้ว ยังมีศิลปินเพลงบลูส์ที่เป็น LGBTQ+ ระดับ “ตัวแม่” หลายคน ทั้ง Bessie Smith จักรพรรดินีแห่งบลูส์ เจ้าของเพลง “Empress of the Blues” ที่เชื่อกันว่าเป็นคู่รักของ Ma Rainey, Sister Rosetta Tharpe อัจฉริยะทางดนตรี ผู้ทดลองผสมผสานเสียงกีตาร์ของ Gibson และ Fender ในผลงานเพลงของเธอ รวมทั้ง Lucille Bogan เจ้าของเพลง “B.D. Woman’s Blues” ซึ่งกล่าวถึงความปรารถนาของคนรักเพศเดียวกันได้อย่างชัดเจน

จนกระทั่งในทศวรรษ 1950s ที่ดนตรีร็อกแอนด์โรลเป็นดนตรีกระแสหลักของวัฒนธรรมตะวันตก ร็อกสตาร์ชายอย่างชัค เบอร์รี และเอลวิส เพรสลีย์ ได้รับการเชิดชูในหมู่คนขาวของสหรัฐฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาได้รับอิทธิพลมาจากเหล่าตัวแม่แห่งเพลงบลูส์ทั้งสิ้น

ดนตรีพังก์ – แกลมร็อก: เสียงตะโกนเกรี้ยวกราดของ LGBTQ+

โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงการกำเนิดอัตลักษณ์ของ LGBTQ+ ในดนตรี เรามักจะนึกถึงช่วงทศวรรษ 1970s และ 1980s ซึ่งเป็นยุคที่ดนตรีป็อปและร็อกกลายเป็นดนตรีกระแสหลัก แต่ที่จริงแล้ว “การปฏิวัติทางเพศ” ได้เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1960s ตามด้วยดนตรีพังก์ ที่มีลักษณะโดดเด่นจากการเป็นแนวเพลงที่แสดงถึงความภาคภูมิใจ การตั้งคำถาม และการปฏิเสธบรรทัดฐานของสังคม ซึ่งตรงกับจุดยืนของ LGBTQ+ เนื่องจากดนตรีแนวนี้ให้พื้นที่ที่ปลอดภัยในการสำรวจและแสดงออกเพศวิถีของพวกเขา

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงทศวรรษ 1970s และ 1980s จึงมีศิลปินอย่าง Jayne County ร็อกเกอร์ข้ามเพศรุ่นบุกเบิก ผู้เขียนเพลง “Man Enough To Be A Woman” หรือ Pete Shelley ศิลปินไบเซ็กชวลแห่งวงพังก์ Buzzcocks เจ้าของเพลง “Ever Fallen In Love (With Someone You Shouldn’t’ve)” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเพื่อนแอบรักเพื่อ

Jayne County

อย่างไรก็ตาม แนวดนตรีที่ดูจะส่งเสริมความปังของ LGBTQ+ ยิ่งกว่า คือ “แกลมร็อก” สไตล์หนึ่งของดนตรีร็อกที่มีจุดเด่นอยู่ที่แฟชั่นเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด ประดับประดาด้วยกลิตเตอร์ พร้อมเมคอัพสีเข้ม และบุคลิกลักษณะของศิลปินที่มีทั้งความเป็นผู้หญิงและเป็นผู้ชายอยู่ในตัวคนเดียว

ลักษณะที่ก้ำกึ่งระหว่างเพศชายและเพศหญิงของแกลม-ร็อก และเสียงแผ่วเบาอันมีศิลปะ ทำให้ชุมชน  LGBTQ+ สามารถแสดงตัวตนได้อย่างมั่นใจ และดนตรีแนวนี้ก็กลายเป็นสวรรค์ของศิลปิน LGBTQ+ อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ Queen ไปจนถึง Lou Reed เจ้าของเพลงฮิต “Walk on the Wild Side” ทำหน้าที่เป็นเพลงสดุดีความลื่นไหลทางเพศของแกลมร็อก, Blondie และ Judas Priest รวมทั้ง Elton John, The New York Dolls และ B-52s ก็ได้ล้มล้างบรรทัดฐานทางเพศ โดยการสวมชุดสีสันสดใส แต่งหน้า และสวมวิกขนาดใหญ่

Lou Reed

ส่วนแกลมร็อกเกอร์หญิงอย่าง Joan Jett, Suzi Quatro Siouxsie  และ The Banshees ก็ได้ปลดปล่อยตัวเองในชุดหนังสีเข้ม และการแสดงบนเวทีอันเกรี้ยวกราด

อิเล็กทรอนิก – ดิสโก: ศูนย์กลางแห่งชุมชน LGBTQ+

อย่างไรก็ตาม เหล่าศิลปินดังในวงการป็อปและแกลมร็อก เป็นเพลงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะชุมชน  LGBTQ+ ที่ใหญ่กว่าจะอยู่ในแวดวงดิสโก, อิเล็กทรอนิก และเพลงแดนซ์ เนื่องจากแนวเพลงเหล่านี้มักจะเปิดในคลับเควียร์ใต้ดินในเมืองใหญ่ๆ อย่างลอส แองเจลิส, ชิคาโก และนิวยอร์ก เปิดพื้นที่ให้เหล่าขาแดนซ์ออกมาเต้นตามเพลงชาติเควียร์ โดยศิลปินอย่าง Boy George, Sylvester และ Culture Club

ในนิวยอร์กซิตี้ ปาร์ตี้และงานเต้นรำใต้ดินที่จัดโดยกลุ่มเควียร์ผิวสี ได้ให้กำเนิดแฟชั่นการเต้น การโพสท่า และแดร็ก วัฒนธรรมแดนซ์คลับและงานเต้นรำสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เหล่าเควียร์ได้สำรวจตัวตนของตัวเอง และมีการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกผ่านเนื้อเพลง อย่าง “Got To Be Real” ของ Cheryl Lynn อธิบายความรู้สึกที่เธอรู้อยู่เสมอว่าตัวเองเป็นเลสเบียน หรือ “It’s A Sin” ของ Pet Shop Boys ก็เป็นเพลงที่ต่อต้านแนวคิดเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ที่ฝังรากลึกในสังค

ขบวนการดนตรี LGBTQ+

ในช่วงทศวรรษ 1980s – 1990s แกลมร็อก ดิสโก และเพลงแดนซ์ ได้เสริมพลังให้ชุมชน LGBTQ+ เข้มแข็งมากขึ้น นำไปสู่ขบวนการ LGBTQ+ รูปแบบใหม่ ได้แก่ Riot Grrrl, Queercore, ดนตรีแนวอินดัสเทรียล และ Sista Grrrl Riots

ขบวนการ Riot Grrrl เฟื่องฟูมากในช่วงทศวรรษ 1990s และต้นทศวรรษ 2000s โดยมีจุดยืนคือการทำให้ความโกรธเกรี้ยวของผู้หญิงเป็นเรื่องปกติ และเฉลิมฉลองเพศวิถีของพวกเธอ ศิลปินที่อยู่ในขบวนการนี้ ก็ได้แก่ Bikini Kill เจ้าของฉายา “สาวนักปฏิวัติ” และผู้แต่งเพลง “Rebel Girl” เพลงรักอันไร้เงื่อนไขที่สื่อสารถึงผู้หญิงที่อยู่กับความจริง โดยการตะโกนว่า “in her kiss, I taste the revolution.” (ในรอยจูบของเธอ ฉันสัมผัสได้ถึงการปฏิวัติ) และ L7 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกาศการถือกำเนิดของเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สาม และการปลดปล่อยเควียร์

ส่วนขบวนการ Queercore นั้นพัฒนามาจากพังก์ร็อก โดยมีจุดยืนแสดงออกถึงความไม่พอใจสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการไม่ยอมรับ LGBTQ+ ศิลปินที่อยู่ในขบวนการนี้ ได้แก่ Team Dresch ที่ทวงคืนภาษาเควียร์ด้วยเพลง “Fageterian and Dyke” และ Slater Kinney ที่สร้างความมั่นใจให้กับร็อกเกอร์เควียร์ จากที่ดนตรีร็อกเคยเป็นพื้นที่ของผู้ชายมาก่อน ส่วน Pansy Division และ Tribe 8 ก็วิพากษ์วิจารณ์การเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรง

ดนตรีแนวอินดัสเทรียลก็เป็นอีกขบวนการหนึ่งในยุคนี้ ที่บุกเบิกโดย Genesis P-Orridge และ Throbbing Gristle ซึ่งเป็นวงดนตรีที่นิยามตัวเองเป็นนอนไบนารี 

นอกเหนือจาก Riot Grrrl ได้มีการจัดตั้งขบวนการที่เรียกว่า Sista Grrrl Riots ซึ่งเป็นขบวนการของคนผิวดำ คนพื้นเมือง และคนผิวสี (Black, Indigenous, (and) People of Color – BIPOC) ที่ถูกกีดกันออกจากพื้นที่ของ Riot Grrrl ซึ่งเป็นคนผิวขาว โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงผิวดำและผู้หญิงผิวสีน้ำตาล ในการสร้างสรรค์ดนตรีและการปฏิวัติด้วยความจริงและประสบการณ์ของพวกเธอเอง และทำให้ผู้หญิงกลุ่ม BIPOC ถูกมองเห็นในการเคลื่อนไหวของพังก์ จนกระทั่งทุกวันนี้ ก็มีกลุ่ม Afropunk องค์กรที่เฉลิมฉลองวัฒนธรรมคนดำและความหลากหลาย ผ่านดนตรี ศิลปะ และชุมชนต่างๆ ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้จัดเทศกาลดนตรีประจำปี และพยายามผลักดันภารกิจนี้ต่อไป

ความเกรี้ยวกราดของ Riot Grrrl และ Queercore ก่อให้เกิดความมั่นใจในความเป็นเควียร์ของผู้คนมากมาย และส่งต่ออิทธิพลมายังศิลปินกระแสหลักคนอื่นๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 อย่าง Lady Gaga และ Lil Nas X ที่มีผลงานเพลงชาติ LGBTQ+ กระจายไปทั่วโลก รวมทั้ง Janelle Monae ให้คำมั่นไว้ในเพลงฮิตของเธออย่าง “Q.U.E.E.N.” ว่า “even if it makes others uncomfortable, / I will love who I am.” (ถ้ามันจะทำให้ใครลำบากใจ ฉันก็จะรักสิ่งที่ฉันเป็น)

Monae และศิลปินนอนไบนารีคนอื่นๆ อย่าง Demi Lovato, Mykki Blanco และ Gerard Way แห่ง My Chemical Romance ดึงตัวตนของเควียร์ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ให้ออกสู่แสงสว่าง ก้าวสำคัญของ Way เทียบได้กับเสรีภาพของแกลมร็อกในการล้มล้างกรอบเพศด้วยการแสดงดนตรี

นอกจากนี้ ศตวรรษที่ 21 ยังเป็นยุครุ่งเรืองของแนวเพลงย่อยของฮิปฮอป ที่เรียกว่า “โฮโม ฮอป” (homo hop) นับตั้งแต่การเกิดขึ้นในสังคมอนุรักษ์นิยมในทศวรรษ 1980s ดนตรีฮิปฮอปบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับระบบที่กดทับผู้คน และศิลปินอย่าง Frank Ocean, WILLOW และ Lil Nas X ก็สานต่อมรดกนี้ โดยการเชิดชูอัตลักษณ์และเสรีภาพในดนตรีของพวกเขา

Lil Nas X เคยทวีตเกี่ยวกับความเข้มแข็งและความอ่อนแอ ที่จำเป็นต้องมีในการสร้างดนตรีเควียร์อย่างมั่นใจ โดยกล่าวกับตัวเองเมื่อยังเด็กว่า “ฉันรู้ว่าเราเคยสัญญากันว่าจะไม่เปิดเผยตัว ฉันรู้ว่าเราเคยสัญญากันว่าจะไม่เป็นเกย์ “แบบนั้น” ฉันรู้ว่าเราเคยสัญญากันว่าจะตายไปพร้อมกับความลับนี้ แต่นี่อาจจะเป็นประตูที่เปิดกว้างให้เควียร์คนอื่นๆ ได้มีตัวตนก็เป็นได้”

ศิลปิน LGBTQ+ เพื่อชุมชน LGBTQ+

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศิลปิน LGBTQ+ ได้มีบทบาทในอุตสาหกรรมดนตรีและใช้บทเพลงของพวกเขาในการส่งเสียงให้สังคมได้รับฟังถึงเรื่องราว ประสบการณ์ ความรัก และความเจ็บปวดที่ LGBTQ+ ต้องเผชิญตลอดชีวิตที่ผ่านมา และนี่คือ 5 ศิลปินไอคอนที่อุทิศทั้งชีวิตเพื่อชุมชน LGBTQ+ 

  • Freddy Mercury

ฟรอนต์แมนแห่งวง Queen ผู้เปิดเผยตัวเองว่าเป็นไบเซ็กชวลผ่านผลงานเพลงของตัวเอง ซึ่งแม้ว่าเขาจะมีความสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน แต่จากหนังสือชีวประวัติของเขา ชื่อว่า “Somebody to Love: The Life, Death, and Legacy of Freddie Mercury” แมรี ออสติน ถือเป็นรักเดียวในชีวิตของเมอร์คิวรี

รายงานหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า เพลง “I Want to Break Free” ของ Queen ได้รับแรงบันดาลใจจากเพศวิถีของ Mercury และความยากลำบากที่เขาต้องเผชิญ อย่างไรก็ตาม มิวสิกวิดีโอและงานภาพทั้งหลายกลับถูกแบนในโทรทัศน์ของสหรัฐฯ ส่งผลให้ Queen ประสบความสำเร็จในตลาดสหรัฐฯ ช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่ทีมงานก็ภูมิใจที่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ เพื่อแสดงตัวตนของชุมชน LGBTQ+

  • Janelle Monae

นักร้อง นักแต่งเพลง แร็ปเปอร์ นักแสดง และนักเขียน ชาวอเมริกัน ผู้นิยามตัวเองเป็นแพนเซ็กชวลและนอนไบนารี และเป็นที่รู้จักในนาม “Black Queer Woman” (หญิงเควียร์ผิวดำ) เธอเปิดเผยเพศวิถีของตัวเองและความสัมพันธ์กับผู้ชายและผู้หญิงอย่างชัดเจน

เพลงของ Monae มักจะกล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะผู้หญิง เควียร์ และคนที่เป็นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย โดยเธอเคยให้สัมภาษณ์กับ Rolling Stone ว่า “การเป็นผู้หญิงเควียร์ผิวดำในอเมริกา เป็นคนที่มีความสัมพันธ์ได้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ฉันแม่งโคตรอิสระ”

  • David Bowie

นักแต่งเพลงและนักแสดงชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษ 1970s เขานิยามตัวเองว่าเป็นเกย์และพูดถึงกลุ่มคนรักเพศเดียวกันอย่างเปิดเผยในยุคที่ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นเรื่องต้องห้าม

Bowie ใช้เพลงของตัวเองบอกคนทั้งโลกเกี่ยวกับเพศวิถีของเขา จากนั้น ดนตรีและชีวิตของแฟนเพลงทั่วโลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โบวีแบ่งร่างของเขาเป็นคาแรกเตอร์ต่างๆ และสไตล์ที่ไม่จำกัดด้วยกรอบเพศ โดยเริ่มจากตัวตนที่เป็นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายในชื่อ ซิกกี สตาร์ดัสต์ ในปี 1972 ทำให้บุคลิกที่เป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมดนตรี

  • Elton John

นักแต่งเพลง นักร้อง และนักเปียโน ชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1962 แม้ก่อนหน้านี้เขาจะเคยแต่งงานกับผู้หญิง แต่ในปี 1992 เขาเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ และเริ่มแต่งเพลงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เขาต้องเผชิญในการเป็นคนรักเพศเดียวกัน

ใน 1993  เอลตัน จอห์น เริ่มคบหากับเดวิด เฟอร์นิช ผู้สร้างภาพยนตร์ และแต่งงานกันในปี 2014 เมื่อการแต่งงานเพศเดียวกันถูกกฎหมายในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ เขายังใช้ชื่อเสียงของตัวเองในการระดมทุนเพื่อองค์กรการกุศลเกี่ยวกับโรคเอดส์ด้วย

  • SOPHIE

SOPHIE หรือ Sophie Xeon เป็นนักร้องหญิงข้ามเพศและโปรดิวเซอร์ชาวสก็อตที่มีเสียงอันไพเราะ เธอเปิดเผยเรื่องเพศวิถีและเพศสภาพของเธออย่างชัดเจน และในการเปิดตัวผลงาน เธอเปิดเผยตัวตนในรูปลักษณ์ของผู้หญิง โดยในซิงเกิลล่าสุด เธอเล่นกับความหลากหลายทางเพศของเธอผ่านเพลง

SOPHIE เคยให้สัมภาษณ์ใน Rolling Stone ว่า “ฉันมักจะร่วมงานกับเพื่อนที่เป็นเพศอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากเป็น หรือมีไอเดียเกี่ยวกับความลื่นไหลทางเพศ ฉันมองว่าคนที่ฉันร่วมงานด้วย ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และคนที่นิยามตัวเองเป็นเพศอะไรก็ตามที่ตัวเองพอใจ เป็นคนที่แข็งแกร่งมาก”

ที่มา : songtrust / stagemusiccenter / cipa / schoolofrock