fbpx

ก่อนสมัครออดิชั่น รู้มั้ยว่าเจ้าแม่กวนอิม อวโลกิเตศวร คันนง คือคนๆ เดียวกัน

ประเด็นที่ถูกพูดถึงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคือประเด็นว่าด้วยพระโพธิสัตว์กวนอิม หรือที่เราๆ ท่านๆ นิยมเรียกท่านว่า “เจ้าแม่กวนอิม” ว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงกันแน่ เพราะเราคุ้นเคยกับภาพของเจ้าแม่กวนอิมที่เป็นผู้หญิงกันมานานนม พอมีคนมาบอกว่า จริงๆ แล้วเจ้าแม่กวนอิมเป็นผู้ชายก็เลยเกิดการถกเถียงกันยกใหญ่เลย

วันนี้ก็เลยจะขอเอาเรื่องนี้มาแถลงไขให้ได้ฟังกันครับ

ก่อนอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Avalokitesvara) เจ้าแม่กวนอิม (Guanyin) ต่างก็เป็นคนเดียวกันทั้งหมดครับ ซึ่งจริงๆท่านยังมีอีกหลายชื่อในหลายวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นในญี่ปุ่นที่เรียกท่านคันนง (Kannon) หรือไม่เกาหลีที่เรียกท่านว่า กวานอึม (Gwan-eum) หรือใกล้ๆในเวียดนามก็เรียกท่านว่า กว่านเอิม (Quan m) ซึ่งทั้งหมดต่างก็เป็นคำที่ใช้เรียกพระโพธิสัตว์แห่งความกรุณาด้วยกันทั้งสิ้น และไม่ว่าจะเรียกด้วยชื่อไหนก็ล้วนแล้วแต่มีความหมายเดียวกันทั้งสิ้น นั่นก็คือ “ผู้เป็นใหญ่ที่มองลงมา”

และด้วยคุณสมบัติความเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตาของพระองค์นี่แหละ ที่ทำให้เพศของพระองค์เกิดความแตกต่างขึ้นมาเพราะความกรุณาในแต่ละวัฒนธรรมมีการตีความที่แตกต่างกันออกไป อย่างในอินเดีย ในญี่ปุ่น หรือในเกาหลี ความกรุณานั้นแทนที่ด้วยเพศชาย ดังนั้น พระโพธิสัตว์องค์นี้ในวัฒนธรรมเหล่านี้จึงเป็นผู้ชาย ในขณะที่คุณสมบัติความกรุณานี้ในจีนแทนที่ด้วยเพศหญิง ดังนั้น เจ้าแม่กวนอิมจึงเป็นเพศหญิง ยิ่งผนวกกับตำนานขององค์หญิงเมี่ยวซ่าน ทำให้ภาพจำของท่านเป็นเพศหญิงไปด้วย

แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า ในศิลปะจีนในระยะแรกๆที่มีการสร้างพระโพธิสัตว์องค์นี้ยังคงแสดงด้วยพระโพธิสัตว์เพศชายอยู่แบบเดียวกันต้นฉบับของท่านในอินเดีย ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเริ่มมีเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับคล้ายผู้หญิงเพิ่มเติมเข้ามา และถูกแสดงด้วยรูปลักษณ์ของผู้หญิงในสมัยหลังลงมา นั่นแสดงว่า ตำนานของเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านน่าจะเกิดขึ้นในสมัยหลังลงมาแล้วพอสมควรเลยทีเดียว

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะจีน มูลนิธิเทียนฟ้า

และนอกจากประเด็นเรื่องของเพศของพระโพธิสัตว์องค์นี้แล้ว จริงๆพระองค์ถือเป็นพระโพธิสัตว์ที่คุ้นเคยกันในบ้านเราพอสมควร เพราะปรากฏในสื่อ ในหนังอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างหนังหรือซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไซอิ๋ว เราจะเห็นการปรากฏตัวของพระโพธิสัตว์องค์นี้อยู่จนแทบจะเป็นปกติแล้ว แต่นอกจากนี้แล้ว จริงๆยังมีเกร็ดของพระโพธิสัตว์องค์นี้อีกหลายเรื่องที่น่าสนุกไม่แพ้กัน

เรื่องแรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรกับทะไลลามะ ซึ่งทั้งสองสิ่งมีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง เพราะตามความชื่อของทิเบต องค์ทะไลลามะจะเป็นร่างอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และเมื่อองค์ทะไลลามะสิ้นพระชนม์ไป พระองค์ก็จะลงมาเกิดใหม่ในฐานะขององค์ทะไลลามะองค์ถัดไป นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพระราชวังของทะไลลามะจึงมีชื่อว่า โปตาลา เพราะภูเขาอันเป็นที่สถิตย์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั้นมีชื่อ ภูเขาโปตาละกะ นั่นเอง

องค์ทะไลลามะองค์ที่ 14 : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/101294.html

เรื่องที่สอง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรกับกล้อง อาจจะดูไม่ค่อยสอดคล้องกันเท่าไหร่แต่ก็เป็นเรื่องจริงเพราะในปี ค.ศ. 1933 (ตรงกับ พ.ศ. 2476) บริษัท Kwanon ได้ก่อตั้งขึ้น และได้ออกแบบโลโก้แรกของบริษัทเป็นรูปของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือ คันนงในเวอร์ชั่นพันกรพร้อมรัศมีเปลวไฟ โดยมีจุดประสงค์เพื่อความเป็นสิริมงคลและความประสบความสำเร็จ แต่โลโก้ถูกใช้ในปีถัดมา ก่อนที่ในเวลาไม่ถึงปีนับจากนั้นจะมีการตัดรูปของพระโพธิสัตว์คันนงออก เหลือเพียงคำว่า Kwanon ก่อนจะเปลี่ยนเป็น Canon และใช้มาจนปัจจุบันครับ

https://en.wikipedia.org/wiki/File:1934kwanon.png

ดังนั้นก็อย่าไปถกอย่าไปเถียงให้เหนื่อยเลยครับว่าพระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เพราะไม่ว่าพระองค์จะเป็นชายหรือหญิงก็ไม่เป็นการลดทอนคุณสมบัติความเป็นโพธิสัตว์แห่งความกรุณาของพระองค์ลงเลยแม้แต่น้อย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า