fbpx

จากเสามือถือสู่จอทีวีของ โปรดปราน หมื่นสุกแสง และการเติบโตของไทยรัฐทีวี ช่อง 32

เมื่อเราพูดถึงไทยรัฐทีวีแล้ว เราก็จะนึกถึงการนำเสนอข่าวที่เน้นฐานผู้ชมหลากหลายวัย และครองใจผู้ชมได้อย่างรวดเร็วเพียง 8 ปีหลังจากเปิดสถานีมา ด้วยเนื้อหารายการที่หลากหลายและทำให้เป็นขวัญใจของผู้ชม โดยเฉพาะรายการแม่เหล็กอย่าง “ข่าวใส่ไข่” และ “ไทยรัฐนิวส์โชว์” ซึ่งหลายครั้งก็สร้างปรากฎการณ์ให้สังคมพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง หลายครั้งก็สร้างการพูดถึงการนำเสนอข่าวสารบ้าง และหลายครั้งสถานีโทรทัศน์ช่องนี้ก็สร้างการจดจำผ่านคนข่าวที่เจาะลึก ภายใต้แนวคิด “ยกทัพความสด ข่าวครบรส สดทั้งวัน” และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ไทยรัฐทีวีต้องปรับตัวตลอดเวลา เพื่อทำให้ข่าวของไทยรัฐทีวีนั้นเข้าถึงผู้ชมได้หลากหลายกลุ่มผู้ชมมากที่สุด

วันนี้ผมและทีมงาน The Modernist นัดเจอกับโปรดปราน หมื่นสุกแสง เธอเคยทำงานอยู่ที่ DTAC ก่อนที่จะย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารสายงานกลยุทธ์และการตลาด ที่ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 และควบตำแหน่งรักษาการที่ไทยรัฐออนไลน์ไปด้วยกัน เพื่อที่จะมาคุยเกี่ยวกับทิศทางและความเป็นไปในอนาคตของไทยรัฐทีวี ทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ของ Metaverse และการพัฒนาผังรายการให้ตรงโจทย์กับผู้ชมในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย เธอกล่าวกับเราก่อนเริ่มการสัมภาษณ์ว่าไทยรัฐน่าจะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย และเธออยากเป็นหนึ่งในพลังที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ ฉะนั้นงานของเธอจึงยากกว่าการออกไปขายซิม กลับกันเธอเข้าใจคนทำงานข่าวมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

เลขที่ 1
ก้าวแรกที่ไทยรัฐทีวี

“ตอนสัมภาษณ์สมัครงานครั้งแรก เขาก็ถามว่าทำไมอยากทำไทยรัฐ คือเราคิดว่าหลักๆ เลยคือการที่เราโตมากับการเสพไทยรัฐตั้งแต่เด็ก อ่านหนังสือเมื่อก่อนก็หยิบหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาอ่าน เราเลยรู้สึกว่าประเทศไทยถ้าเราต้องการขับเคลื่อนไปข้างหน้า การใช้ความคิด การให้คนรู้สึก หรือได้ความรู้ ได้ข้อมูล หรือต้องการให้เกิดความคิดที่ก้าวหน้าช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทย เราเชื่อว่าสื่อที่ใหญ่ที่สุดอย่างไทยรัฐคือคนๆ นั้นที่จะเปลี่ยนประเทศได้”

“เราเองเคยมีความกังวลว่าไทยรัฐเป็นบริษัทครอบครัว แล้วเรามาจาก DTAC ซึ่งเป็นบริษัทนานาชาติที่ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะฉะนั้นวิธีการมันทำงานต่างกับบริษัทแบบครอบครัว เรามีความกังวลว่าเราสามารถตัดสินใจแบบนี้ได้ไหม เสนอไอเดียแบบนี้ได้ไหม การตัดสินใจสุดท้ายมันอยู่ที่อะไร ก็เตรียมตัวเตรียมใจระดับนึง แล้วพอรู้ว่าไทยรัฐเป็นองค์กรที่อยู่มานาน เรื่องการเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ การให้เกียรติซึ่งกันและกันสำคัญมาก เด็กรุ่นใหม่ๆ บางคนเขาจะรู้สึกว่าการคุยงานไม่มีเรื่องอาวุโส เรื่องลำดับขั้น งานก็คืองาน ซึ่งความเป็นไทยรัฐมันอาจจะยังต้องมีความเคารพซึ่งกันและกันอยู่ ซึ่งเราก็ไม่ได้ปรับตัวยากอะไร ตอนแรกเรากลัวว่าบริษัทแบบครอบครัวการตัดสินใจเป็นตามอารมณ์หรือเปล่า ซึ่งพอเราเจอจริงๆ เขาไม่ได้ใช้อารมณ์ขนาดนั้น เขามีเหตุผลในการตัดสินใจ พอได้มาทำแล้วมันเป็นงานสื่อที่เนื้อหามันคือข่าวเป็นตัวหลัก ความต่างอันแรกคือ DTAC ชั่วโมงการทำงานเป็นแบบออฟฟิศ นอกเวลางานอย่างมากก็แค่ติดตามข่าวคู่แข่ง ที่ไทยรัฐชั่วโมงการทำงานแบบออฟฟิศก็จริง แต่เราทำงานข่าว ทุกอย่างเกิดขึ้น 24 ชั่วโมง เลยยากและท้าทาย”

จังหวะที่ 2
เป็นนักตามข่าวมือสมัครเล่น แต่เป็นนักการตลาดมืออาชีพ

“การทำงานที่ไทยรัฐทีวีมันทำให้เราตื่นตัวอยู่ตลอด เรานับถือคนที่เป็นนักข่าวมากๆ เพราะคุณไม่มีวันหยุดในชีวิต ถึงคุณจะกลับบ้านนอน แต่สุดท้ายเกิดเหตุฉุกเฉินก็ต้องวิ่งออกจากบ้านไปทำงาน รู้สึกว่ามันท้าทาย แล้วเขาต้องรักมันมากจริงๆ ถึงเสียสละตัวเองได้ ซึ่งถ้าเป็นเราเองเราก็ตามคู่แข่งด้วย แล้วก็ดูไทยรัฐทีวีไปด้วย ก็จะเปิดทีวีทั้งวันไป พื้นฐานเราเป็นคนชอบเสพอะไรบันเทิง แต่พอเราทำงานแบบนี้ก็ต้องเสพข่าวช่องอื่น อย่างเราดูรายการของไทยรัฐในช่วง Prime Time เราก็เปลี่ยนช่องไปดูช่องอื่นด้วยว่าเขานำเสนออะไร คือทำตัวเป็นผู้ชมด้วย เพราะว่าเราไม่ใช่คนข่าวโดยตรง เราเสพข่าวด้วยความรู้สึกเป็นผู้ชมว่าอันนี้ของเราดี อันนี้ของเขานำเสนอได้ถึงใจกว่า เราก็เก็บข้อมูลพวกนี้เป็นข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการพัฒนาเรื่อย ๆ”

“สำหรับส่วนของไทยรัฐทีวี เราเคยคิดจะหนีออกจากรายการข่าว แต่หนีไม่ได้จริงๆ Branding ของเราคือข่าว แล้วมันเป็นมรดกที่มีค่ามากๆ เราจะต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นต่อไปในสถานะเป็นสถาบันข่าวที่เป็นอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนานเลยทำให้เราแอบมีแต้มต่อในเรื่องพวกนี้ แต่เพราะคนมีภาพจำค่อนข้างมากว่ามันคือข่าว พอเราหนีไปวาไรตี้หรือหนีไปทำอะไรที่มันตลกคนก็จะไม่ค่อยอินพอมันเป็นไทยรัฐทีวีทำ คือก่อนหน้านั้นเราพบว่าฐานคนดูช่องเราอายุ 40 ขึ้นไป ซึ่งจริงๆ เป็นฐานที่ดีเป็นกลุ่มที่ชอบข่าว สัดส่วนผู้หญิงไม่ฉีกกับผู้ชายมากนัก อย่างช่วงไหนข่าวบันเทิงหนักก็จะเป็นผู้หญิงนำ ช่วงไหนข่าวการเมืองหนักก็จะเป็นผู้ชายนำ วิ่งขึ้นๆ ลงๆ เราพบว่าความจริงแล้วมีคนดูผู้หญิงอยู่นะ เราก็เลยหาว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้หญิงต้องการ เรากลัวว่าทั้งช่องจะเครียดเกินไปถ้ามันเป็นข่าว มันมาจากการที่เราต้องการขยายฐานคนดูไปหาผู้หญิงมากขึ้น ในแง่ธุรกิจคือขยายฐานคนดูให้แมสขึ้น ซึ่งกลุ่มคนดูเราเป็นกลุ่มที่มีรายได้กลาง-สูงเยอะกว่าช่องอื่น ๆ แล้วฐานหนักแน่นที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก”

“แล้วเราขยายฐานผู้หญิงก็พบว่ามันขยายได้จริง นอกจากรายการข่าวหนักๆ แล้วเราก็มีข่าวเบาๆ ในช่วงกลางวันด้วย ซึ่งผู้หญิง แม่บ้านก็จะชอบ ทำให้เราได้ฐานตรงนี้ด้วย เรตติ้งก็เริ่มฉีกเพราะฐานผู้หญิงเยอะขึ้น ส่วนวาไรตี้ประสบความสำเร็จไหม ถ้าในแง่เรตติ้งคือไม่ แต่ภาพรวมช่วยปรับโทนของช่องให้ดูสบายมากขึ้น เลยกลับมาดูที่ข่าวว่ารายการข่าวที่ทำได้ดีมันมีช่วงเวลาไหนบ้างในตอนนั้น เลยทำให้เราขยาย Prime Time เรารู้ว่ารายการเราเรตติ้งดี ทำไมเราไม่ขยายเวลาจากสองทุ่มเป็นหนึ่งทุ่ม มันก็ทำให้เก็บฐานคนได้จริงๆ เพราะกิจวัตรคนเราหนึ่งทุ่มก็ถึงบ้านแล้วเพราะฉะนั้นสองทุ่มก็อาจจะเริ่มดึกเกินไป”

สตูดิโอหมายเลข 3
ไทยรัฐนิวส์โชว์ รายการเรือธงที่ต้องปรับตัวตลอดเวลา

“เดิมทีเรามีพระนางสองคนคือพี่มิลค์ (เขมสรณ์ หนูขาว) กับพี่อุ๋ย (ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์) จริงๆ เราขอให้ทั้งสองท่านนี้อุทิศตนอยู่กับเราตอนนี้ 7 วัน คือเราต้องให้คนดูเห็นเขาต่อเนื่อง คนมาดูช่องเราเขามาดูข่าว ในช่วง Prime Time เขาเปิดมาต้องเจอสิ่งนี้ เจอคนหน้าเดิมที่คุ้นเคย เขาก็จะมีฐานแฟนของเขาที่เหนียวแน่น มาถึงจุดหนึ่งเราอยากจะเปลี่ยนให้มีสีสันในรายการ มองอีกมุมเป็นเรื่องอายุของรายการด้วยว่าถ้าเราทำเหมือนเดิมไปเรื่อย ๆ มันจะนิ่ง เรตติ้งไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยิ่งถ้าคู่แข่งเราขยับตัวเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมามันส่งผลมาที่เรา เราก็เลยต้องชิงรีบเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ก็เลยเอามิ้นท์ (อรชพร ชลาดล) กับพี่เบิร์ด (ณัชฐพงศ์ มูฮำหมัด) เข้าไปที่เอาสองคนนี้เข้าไป เพราะสองคนนี้เวลาเขาคุยกันมันเข้ากันได้ด้วย”

“แล้วมิ้นท์เป็นตัวแทนผู้หญิงรุ่นใหม่ ฐานของเขาเป็นกรุงเทพฯเยอะซึ่งเป็นฐานของช่อง เคยจัดข่าวใส่ไข่กับชูวิทย์ตีแสกหน้ามาด้วยก็จะมีฐานแฟนที่รู้จักเขาด้วย ส่วนพี่เบิร์ดเราเคยวางให้เขาอ่านข่าวเช้าแล้วเราลองสลับให้มาอ่านข่าวตอนเย็นแล้วเข้านิวส์โชว์ในบางวันเลยมีฐานของเขา เรารู้ว่ารายการนิวส์โชว์เรามีเป้าหมายแบบไหนเราก็ดึงคนมาขยายฐานของเป้าหมายนั้นๆ รวมไปถึงเราคิดว่านักข่าวคนไหนเรารู้ว่ามีศักยภาพก็อยากให้เขามีพื้นที่บนหน้าจอเรามากขึ้น รวมไปถึงส่งเขาไปอยู่ออนไลน์ที่อื่นด้วยเพื่อนำเสนอแง่มุมอื่นๆ ของผู้ประกาศด้วยที่ไม่ใช่แค่นั่งนิ่งๆ อ่านข่าว หลายคนก็มีเสน่ห์ในแต่ละคนแตกต่างกันไป เลยอยากสร้างฐานแฟนบนออนไลน์และโซเชียลมีเดีย บางคนก็ให้ลองเล่น TikTok ดู เหมือนเมื่อก่อนเราตามบ้าน AF แล้วเราเห็นว่าเขามีเสน่ห์ก็ตามไปดูเขา เราก็หวังว่าฐานแฟนเหล่านี้จะตามเข้ามาดูในทีวี”

คอมพิวเตอร์หมายเลข 4
เมื่อโลกทีวีและโลกออนไลน์ไม่เหมือนกัน

“จริงๆ กองข่าวเรามี กองบรรณาธิการทีวี กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และ กองบรรณาธิการข่าวแยกกัน เราจะต้องพยายามหาอะไรที่เจอกันแล้วมันใช่สิ่งที่สำคัญในการหาเนื้อหาที่ดึงดูด คือเราต้องมีเซ้นส์ที่รู้ว่าคนดูคนอ่านเขาชอบอะไร ต้องหาข่าวที่มีองค์ประกอบครบที่จะเป็นกลุ่มคนดูทีวีและออนไลน์ และขยายให้มันใหญ่ พยายามเชื่อมกันโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างครอบคลุมทั้ง TikTok, YouTube, Facebook และ Instagram บางทีเราก็มีการไลฟ์เชื่อมกันด้วยอย่างทีมทีวีไปไลฟ์ กองออนไลน์ก็ไลฟ์อีกมุมนึงเพื่อให้เห็นหลายมุมมองแล้วต้องมีการสื่อสารกันให้รู้”

“อย่างล่าสุดคือ “กินข้าวเย็นกับผู้ว่า” ของไทยรัฐออนไลน์ ปกติเวลาเป็นข่าวการเมืองคนจะคิดว่ามันหนักไปหรือเปล่า จะมีแต่คนแก่หรือเปล่าที่สนใจ พอเป็นการเมืองที่เป็นกรุงเทพฯ แล้วเราไม่ได้มีการเลือกตั้ง 8-9 ปีแล้ว คนมันโหยหา โจทย์หลักของเราคือ Gen Y มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเยอะ แล้วก็ Gen Millennials, Gen Z ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก แล้วเขาต้องการคือการมีส่วนร่วมกับเรื่องราวต่างๆ กับผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เราเลยต้องนำทีวีกับออนไลน์มาผสมกัน เช่น มันมีการทำโพลออนไลน์ก็นำสิ่งนี้มาหมุนต่อในทีวี Gen Millennials จะไม่ชอบความอนุรักษ์นิยมจ๋า เราก็ต้องเชิญผู้สมัครมาคุยกัน กับทีมการตลาดเลยคิดกันว่าโปรเจคใหญ่ของสิ่งนี้คือผู้ว่ามหานครไหม แล้วเราจะทำยังไงกับมันบ้างในเรื่องนี้ ในทีวีจะมีการนำเสนอข่าวตลอดเวลาว่าเขาทำอะไรที่ไหนยังไง หาเสียง ก็จะอยู่ในทีวีในทุกช่วงข่าว”

“และที่เราทำอยู่คนยังชอบการพูดคุยสัมภาษณ์ผู้สมัครผู้ว่าฯ ถึงนโยบายเชิงวิสัยทัศน์ อย่างในทีวีจะชื่อ “ผู้ว่ามหานคร Street Talk” ปีนี้การเลือกตั้งมันเข้มข้นมากจริงๆ แล้วทุกสื่อโหมไปที่การเอาเวลาของผู้สมัคร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือเราเอาตัวเองไปอยู่กับเขา คอนเซปต์รายการจะไม่ใช่การนั่งคุยแบบเป็นทางการในสตูดิโอ แต่เป็นการพาคนดูออกไปดูพร้อมกับเขาหาเสียงแล้วพูดคุยไปด้วยระหว่างนั้นถึงวิสัยทัศน์ นโยบาย ณ หน้างาน เช่น สมมติเขาไปคลอง ไปจตุจักร เขาจะจัดการแก้ปัญหากับพื้นที่ตรงนี้ยังไง คนในพื้นที่มันจะมีส่วนร่วมกับสิ่งนี้ และคนดูจะพบกับรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวของผู้สมัคร มีการโยนคำถามหากันได้”

“ถ้าจับกลุ่มไปที่มนุษย์ออนไลน์จะเป็น “กินข้าวเย็นกับผู้ว่า” ซึ่งนี่ก็เป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนเหมือนกันซึ่งจะอยู่บนออนไลน์ จะเป็นการพูดคุยสบายๆ เจาะไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเขาจะชอบลักษณะแบบนี้ แล้วเราก็สร้างแคมเปญที่เชื่อมกันคือ “เรียนผู้ว่ามหานคร” ซึ่งอันนี้เรามองที่การมีส่วนร่วมเป็นเรื่องใหญ่ เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่เขาจะสนใจค่อนข้างมากและเป็นการสื่อสารสองทางระหว่างผู้สมัครผู้ว่าฯ กับคนกรุงเทพฯ แล้วคนที่เขาเป็นประชาชนนี่แหละเขารู้ว่าปัญหามันคืออะไร เพราะเขาใช้ชีวิตเขาเห็นมันทุกวัน อย่างเห็นเสาไฟระโยงระยางต้อง “เรียนผู้ว่ามหานคร” แล้วให้เข้ามาดูแลหน่อย ซึ่งแคมเปญนี้เราเชิญชวนให้คนมาเล่นกันบนออนไลน์ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่จะสื่อสารปัญหาไปถึงผู้ว่าฯ ได้ แล้วเราก็เอาอันนี้ไปหมุนต่อในทีวีสรุปว่ามันมีปัญหาอะไรบ้าง ถ้ามีคนทางบ้านส่งมาเป็นวิดีโอก็อาจจะนำวิดีโอของเขาไปเผยแพร่ด้วยก็เหมือนเป็นนักข่าวมดน้อยนักข่าวตาสัปปะรดที่ช่วยกันสอดส่องปัญหา”

“ถ้าถาม “ผู้ว่ามหานคร” เป็นแคมเปญที่ถ้าผู้ว่าฯ กทม. คนไหนได้เป็นนี่ทำแคมเปญนี้ต่อไปได้เลยนะ เพราะมันคือประชาชนที่อยู่ตรงนี้กำลังบอกปัญหากับคุณและอยากให้คุณแก้ปัญหานี้ที่ไหนยังไง ก็เอาไปใช้ต่อไม่่ได้คิดเงินอะไร กับอีกอันนึงคิดว่าการเมืองเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องที่ฉีกสำหรับไทยรัฐเองที่เพิ่งจะออกข่าวไปว่าเราทำ “ผู้ว่าฯ มหานครท้าดวล” Election Show จุดตั้งต้นมันมาจากเป้าหมายผู้ชมของคนกรุงเทพฯ ด้วยที่เรามองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งเขาจะไม่อยากรับรู้ข้อมูลที่ตึงเครียดอย่างเดียว แล้วทุกคนจะคาดหวังว่าไทยรัฐคือดีเบตจริงจังเรียงหน้ากันแปดคนแล้วสัมภาษณ์ซึ่งเราต้องการเปลี่ยนให้มันเกิดความสนุก ก็เลยเปลี่ยนวิธีคิดว่าทำไมจะต้องให้เขาดีเบตแบบเดิม ๆ ก็ให้ดีเบตกันในลักษณะของเกมโชว์ไหม เลยมาด้วยคอนเซปต์ Election Show เกมโชว์การเมือง อันนี้เราจะทำทั้งหมด 3 Ep. ก็จะมีผู้สมัครว่าฯ หมุนเวียนกันมา จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ทุกวันพฤหัสบดี 6 โมงเย็น ซึ่งก็เอาลงช่วง Prime Time แทนข่าวใส่ไข่เป็นเวลา 3 อาทิตย์”

จากเสาส่งต้นที่ 5
จากบริษัทโทรคมนาคม สู่บริษัทสื่อชั้นนำ

“การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งภายในและภายนอกทั้งหมดมันเปลี่ยนเร็วมาก ถ้าเราทำการตลาดแบบเดิมเมื่อ 10 ปีที่แล้วเอามาใช้กับปัจจุบันมันก็ไม่เวิร์คแล้ว การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เราต้องคิดสิ่งใหม่ คิดนอกกรอบ ทำความเชื่อมโยงให้มาก คิดว่าผู้ชมของเราเป็นใคร ถ้าเป็นสมัยก่อนเราขายซิมขายโทรศัพท์ก็เป็นคุณลูกค้าไป ตอนนี้ขายเนื้อหา ขายข่าวก็จะเรียกว่าเป็นผู้ชม สิ่งที่เราขายไม่ใช่ของจับต้องได้มันคือเนื้อหาบวกกับโลกมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา ถ้ามอง 10 ปีที่ผ่านมาสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก เราและทีมงานทุกคนต้องปรับตัวให้ทัน อย่างมียุคที่มี Clubhouse, Podcast ตัวเราทำอะไรกับมัน เราปรับตัวกับมันเร็วแค่ไหน”

“ความยากคือพอเราเป็นองค์กรที่อยู่มานานเราจะมีความสบายตัว เลยยากที่จะกระตุ้นให้ทีมตื่นตัวไปด้วยกัน อย่างวันนี้ Metaverse มันมา โดยส่วนตัวคิดว่าไทยรัฐมีแต้มต่อเพราะเรามีทรัพยากรคือคนทำกราฟฟิก 3D เยอะอยู่แล้ว ส่วนแพลตฟอร์มเราใช้อันไหนก็ใช้ของเขาไป เรามีทีมออนไลน์ที่มีแนวคิดแตกประเด็นมาเล่าซึ่งทีมออนไลน์เราเปลี่ยนแปลงเยอะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราปรับวิสัยทัศน์ว่าเราไม่ใช่ผู้บริการเนื้อหา เราอยากเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ทำสื่อเป็นหลัก ถ้าเห็นออนไลน์ของเราจะเห็นว่ามีการโฆษณาทุกรูปแบบทั้ง AR, VR ใช้สื่อใหม่ทั้งหมด”

“ถ้าถามว่าเราเอาแนวคิดจากที่ทำงานเดิมมาปรับใช้อย่างไรบ้าง ก็คงจะเป็นกรอบและความคิดที่มันเอามาใช้กันได้ เหมือนมีซอฟต์แวร์แต่ไปรันในอีกสภาพแวดล้อมหนึ่ง เราต้องมีความรู้จักและทำความเข้าใจกับอุตสาหกรรมใหม่ ข้อดีคือที่ DTAC เขาสอนให้เรารู้จักลูกค้า เริ่มจากลูกค้าก่อน ทำให้เรานำสิ่งนี้มาดูว่าคนที่เสพเราเขาต้องการอะไร อยากเห็นอะไร อยากให้เราทำอะไร แล้วเรานำสิ่งนั้นมาปรับใช้ อย่างเวลาเราไลฟ์เราจะเห็นคนคอมเมนต์ เราก็เอาอันนี้ป้อนกลับไปที่ทีมข่าวได้ทันทีเพื่อให้เขาปรับและนำเสนออีกเรื่องได้ทันที ก็ท้าทาย”

อาคาร 6 ไทยรัฐ
ในวันที่ไทยรัฐต้องปรับตัวให้ทันกับโลกาภิวัตน์

“อย่างแรกเลยคนมีรสนิยมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เลยทำให้สิ่งที่เขาชอบและรูปแบบในชีวิตของเขามันเปลี่ยนไป ยิ่ง ณ วันนี้เรามาเจอโควิด-19 เจอ Work from home บางธุรกิจดี บางธุรกิจก็แย่ กลายเป็นว่าเราต้องหาวิธีดิ้นรนเพื่อที่จะโดดเด่นขึ้นมาจากสิ่งนี้ให้ได้ ทำยังไงให้คนยังติดตามเราอยู่ การเชื่อมต่อกันในทุกออนไลน์แพลตฟอร์มแล้วไหลเนื้อหาระหว่างสื่อแต่ละอย่าง ทีวีไปออนไลน์หรือต่อเนื่องไปหนังสือพิมพ์ด้วย คิดว่ามันสามารถเป็นหลักเกณฑ์ให้เราได้เปลี่ยนกับคนอื่นและเอาชนะใจคนดูได้”

“สิ่งที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนคือทีวีเราก็ต้องออนไลน์ มีคำถามในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาว่าทีวีจะตายไหม คนไม่ดูทีวีแล้วหรือเปล่า จากผลสำรวจของ Nielsen ก็กลางๆ มันจะเห็นว่าคนไม่ได้หายไปแต่คนแค่รู้สึกว่าฉันไม่ได้ดูทีวี แต่สิ่งหนึ่งคือทีวียังไม่ตายไปจากประเทศไทยในเร็ววันนี้หรอก แต่คุณต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทัน จับให้ได้ว่าคนที่เสพเนื้อหาเขาอยากเสพอะไร รูปแบบไหน เมื่อไหร่ ถ้ามาผิดจังหวะตายไปก็มี ต้องไปออนไลน์ให้มากขึ้น แต่ก็ต้องมีกลยุทธ์ว่าอารมณ์หรือเสียงที่เราจะไปในแพลตฟอร์มแต่ละส่วนจะไปยังไง อย่างของทีวีที่ยากมันคือช่องทีวีที่ออกอากาศไป 24 ชั่วโมง เราเลือกไม่ได้ให้คนดูของเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็พยายามศึกษาว่าคนแบบไหนดูช่วงเวลาไหนก็พยายามบิดให้เวลารายการตรงกับกลุ่มคนที่อยู่หน้าจอ ณ เวลานั้น”

“แต่ออนไลน์สามารถปรับตัวแตกแบรนด์ลูกออกมาเพื่อจับเป้าหมายเฉพาะทางได้ เราเอาทีมใหม่เข้ามาแล้วแยกให้เขาทำงานอิสระให้ตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ อย่างออนไลน์ที่จับกลุ่มผู้หญิงคือ MIRROR และ PEEPZ ที่จับกลุ่มวัยรุ่นก็จะเน้นบันเทิงแฝงสาระที่ดูแล้วไม่เห็นความเป็นไทยรัฐ เน้นวิดีโอเพราะรู้ว่ากลุ่มนี้ไม่อ่าน ของใหม่คือ ไทยรัฐพลัส ที่เริ่มช่วงกลางปีที่แล้ว เน้นไปที่กลุ่มที่มีดิจิตอลไลฟ์สไตล์ ชอบอ่านอะไรที่มีการคิดวิเคราะห์แยกแยะให้อยู่ในนั้น มีการย่อยมาไม่ใช่เป็นแค่รายงานข่าวให้เห็นมุมมองใหม่ๆ ของเรื่องนั้น”

“แต่เหนือสิ่งอื่นใด ณ วันนี้เราไม่สามารถที่จะอยู่คนเดียวได้ ถึงจะเป็นไทยรัฐที่เป็นสถาบันข่าวยาวนาน แต่เราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้แล้ว เราต้องมีเพื่อนมีพันธมิตรทางธุรกิจที่เกื้อหนุนกันเพราะฉะนั้นเราจะต้องมีสิ่งที่ดูแตกต่าง มีสิ่งที่เติมซึ่งกันและกันได้เหมือนการหาแฟน เราจะมีฐานกลุ่มของเรา แล้วเรามองว่าฐานกลุ่มของ Modernist จะทำให้แบรนด์ของเราขยายไปได้มากขึ้นหรือสิ่งที่เรานำเสนอสามารถแพร่ไปได้ในกลุ่มผู้ชมของทาง Modernist ด้วย รวมถึงเราก็สามารถช่วยเหลือกันได้ การมีข้อมูลข่าวต่างๆ การเข้าถึงข้อมูล ก็สามารถที่จะร่วมมือกันได้ ก็มองว่า Modernist เป็นพันธมิตรที่น่ารัก”

หนังสือพิมพ์หน้าที่ 7
บทเรียนในวันนี้ และอนาคตของไทยรัฐทีวี

“เราคิดว่าเราควร Disrupt ตัวเองดีกว่าค่ะ เราควบคุมได้เมื่อเราเป็นผู้ลงมือไม่ว่าเราจะเลือกอะไร ซึ่งมันจะต่อเนื่องจากเราต้องรู้ก่อนว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น ตอบไม่ได้ชัดเจนหรอกเพราะเราไม่ใช่หมอดูที่จะฟันธงได้ แต่สิ่งที่เรารู้ว่าเราต้องเอาตรรกะเข้าไปใส่มัน เทคโนโลยี หรือเทรนด์อะไรที่มันเกิดขึ้น มันน่าจะพาไปสู่สิ่งไหน อะไรขึ้นอะไรลง อะไรคือสิ่งที่ควรคว้าไว้ อะไรคือสิ่งที่ต้องรอดู เลยทำให้มีเรื่องของการคิด วิเคราะห์ แยกแยะเข้ามา อย่างเราเลือกทางซ้ายจะเกิดอะไรขึ้นถ้ากรณีที่แย่สุดจะเกิดอะไร เลือกทางขวาจะเป็นยังไง แล้วถ้าไม่เป็นไปตามที่เราต้องการจะแก้ไขเรื่องนี้ยังไง เพราะฉะนั้นการนั่งอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้คนอื่นผลักเราไปทางซ้ายผลักเราไปทางขวา มันคือการรับมือหน้างาน ถ้าเรารู้ล่วงหน้าแล้ว Disrupt ตัวเองมันจะดีกว่า แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาตัวเองนะ”

“ถ้าถามว่าเราเรียนรู้อะไรจากไทยรัฐทีวีบ้าง อันแรกคือการรู้จักตัวเองและไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลงมัน รู้จักตัวเองคือรู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน เราพัฒนาตัวเองเติบโตไปกับมันยังไงในบทบาทที่แตกต่างกัน และในความหมายขององค์กรว่าต้องรู้จักตัวเองจริงๆ ไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด ถ้าจะทำในสิ่งที่ไม่ถนัดเราต้องฝึกฝนให้เก่งก่อน การที่เรารู้ตัวตนว่าถนัดข่าวแล้วทำยังไงให้ข่าวมันไปต่อได้ ข่าวทั้งวันเลยต้องรสชาติไม่เหมือนกัน รู้ตัวเองแต่ต้องปรับมันไม่ได้โต้งๆ ง่ายๆ อันที่สองคือเรื่องคุณค่า โลก ณ วันนี้คนเราให้คุณค่ากับสิ่งที่ไม่สวยงามเยอะมันเป็นพลังงานด้านลบ เรากลับไปถึงวันแรกที่เราสัมภาษณ์แล้วทำที่ไทยรัฐเรารู้สึกว่านี่คือนางงามนะ นี่เป็นเวทีที่ให้เราเป็นส่วนหนึ่งกลไกลเล็กๆ ในการเปลี่ยนแปลงประเทศได้ แต่ถ้าปรานใช้ตำแหน่งหน้าที่ตรงนี้ผิดมันก็ผิดมหันต์ ถ้ามองตื้นๆ ว่ามันเกิดประโยชน์ที่เรา คุณค่าทียิ่งใหญ่กว่านั้นมันไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดที่ตัวเราอย่างเดียว มันคือการที่เราทำอะไรคืนกลับไปให้ประเทศ ให้กับคนอื่นบ้าง อันนี้เป็นสิ่งที่อยากให้เด็กรุ่นใหม่คิดเรื่องนี้เยอะๆ”

“อันที่สามเป็นเรื่องของการพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เป็นทักษะที่สำคัญนะ เรามาจาก DTAC มันทำให้เรารู้เรื่องเทคโนโลยี Startup คืออะไร วงการเป็นยังไง มันทำให้เรามีแต้มต่อตรงนั้นแล้วเรารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง อยากให้ทุกคนพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เรื่องพวกนี้ค่ะมันไม่ได้ไกลตัว บางคนอาจจะสงสัยว่า NFT คืออะไร เราต้องรู้จักมันเพราะในชั่วพริบตาเพราะบางทีมันกลายเป็น S Curve ในอีกอาทิตย์อาจจะใหญ่โตขึ้นมาแล้วถ้าเราไม่รู้เราจะตกขบวนนี้ไปทันที แล้วตกอย่างทิ้งห่าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญมากที่จะใช้ชีวิตทุกวันนี้คือต้องเปิดหูเปิดตา อย่ายึดติดกับความสำเร็จเดิม ๆ เมื่อวานเราทำสิ่งนี้แล้วดีแต่วันนี้เราทำอาจจะไม่ได้ผลดีเท่าเมื่อวานก็ได้ ต้องปรับตัวให้เร็ว”

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า