fbpx

Pose ในแง่มุมที่มากกว่าการสร้าง “ภาพปรากฏ” ของผู้หญิงข้ามเพศบนจอแก้ว

“รู้ใช่หรือไม่ว่ามันหมายถึงอะไร การที่เราสามารถอยู่บนโลกที่มีแต่ผู้หญิงและผู้ชาย โลกของคนผิวขาว ที่ทุกคนพยายามแสวงหาความฝันของอเมริกันชน แต่พวกเราไม่เคยเข้าถึงความฝันนั้นเลย ไม่ใช่เพราะเราทำมันไม่ได้นะ เชื่อฉันเถอะ ฉันหมายความว่า…ทำไมเธอจะไม่พยายามทำตามฝันนั้นล่ะ? แค่เธอขยับตัวเต้นให้คนทั้งโลกได้เห็น? โลกอาจจะยอมรับคนแบบเราก็ได้?” 

Blanca พูดเพื่อให้กำลังใจกับ Damon ชายหนุ่มแอฟริกันอเมริกันอายุ 17 ปี ที่หนีออกจากบ้านที่พ่อแม่ไม่ยอมรับเขาที่เป็นเกย์ และได้เดินทางมานิวยอร์ก จนมาพบกับ Blanca ซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่เปิดบ้านของเธอในฐานะผู้ปกครองของเขา บทพูดนี้เป็นบทพูดก่อนที่ Damon จะเปิดตัวในงานบอลรูม (Ballroom) งานแรกของเขา ฉากนี้เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง Pose สะท้อนให้ผู้ชมเห็นถึงสังคมอเมริกาในปลายยุค 80 ยุคที่กำลังมีการระบาดของเชื้อเอชไอวี การเลือกปฎิบัติเชิงโครงสร้างต่อคนผิวสี และการกีดกันต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ   

Pose เป็นซีรีส์ที่สร้างประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นซีรีส์ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง FX ที่ได้รวบรวมนักแสดงที่เป็นคนข้ามเพศจำนวนมากที่สุดมาแสดงในบทต่างๆ อีกทั้งยังมีบรรดานักเขียน และทีมผู้ผลิต หรือ “โปรดิวเซอร์” ที่เป็นคนข้ามเพศอีก อาทิ Janet Mock และ Our Lady J ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักในชุมชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศของประเทศสหรัฐอเมริกา   

นอกจาก Pose จะสร้างปรากฎการณ์ที่ทำให้คนข้ามเพศได้เป็นที่มองเห็น และยอมรับในวงการภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา Pose ยังมีข่าวดีให้แฟนคลับ และชุมชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้ตื่นเต้นอีกครั้งเมื่อ Mj Rodriguez สร้างประวัติศาตร์เป็นนักแสดงผู้หญิงข้ามเพศ (Trans Woman) คนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมี่ อวอร์ด (Emmy Awards) ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์แนวดราม่า (Drama) สำหรับบทบาท Blanca Rodriguez-Evangelista  

และพวกเราได้ยินกันอย่างชัดเจนว่า Mj Rodriguez อาจจะได้เป็น “ผู้หญิงข้ามเพศ” คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ตั้งแต่มีการจัด Emmy Awards มา ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 73 และจะมีขึ้นในวันที่ 20 กันยายนของปีนี้  

หลังจากที่ Billy Porter ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในปี 2019 ในบทของ Pray Tell ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ Blanca และผู้ประกาศ (Emcee) ในงานบอลรูมที่มีประโยคฮิตติดหูอย่างเช่น “The category is …” ทุกครั้งที่มีการประกาศประเภทของชุด หรือธีมในการแต่งตัว ก่อนที่จะเริ่มการประกวด และให้กรรมการได้ทำการตัดสินคะแนนว่าทีมจากบ้านไหนจะได้ถ้วยรางวัลกลับไปมากที่สุด  

Billy Porter คือนักแสดงผิวสีที่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ และเขายังได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นปีที่ 3 พร้อมกับภาพยนตร์เรื่อง Pose ยังได้รับการเสนอชื่อเพื่อชิงรางวัลภาพยนตร์ดราม่ายอดเยี่ยมของปีนี้อีกด้วย 

Pose ไม่ได้ประสบความสำเร็จในแง่ของการสร้างภาพปรากฏ และสร้างความเข้าใจให้กับคนข้ามเพศแต่เพียงอย่างเดียว แต่ Pose ทำการบ้านมาเป็นอย่างดีในการนำเสนอวัฒนธรรม “Voguing culture” หรือ     “วัฒนธรรมการเต้นโว้ก” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมกลุ่มย่อยที่เกิดโดยกลุ่มเกย์ และหญิงข้ามเพศผิวสีในนิวยอร์กในปลายยุค 80 และการเต้นโว้กมักจะถูกนำเสนอในงานบอลรูม ที่ถูกจัดขึ้นนอกแบบลับๆ หรือ “underground” ในสถานที่ที่ไม่ใช่บาร์ หรือที่เที่ยวของนักเที่ยวกระแสหลัก โดยมีคำกล่าวที่ว่า “บอลรูมคือจุดกำเนิดของโว้ก” ก่อนที่ Madonna จะทำให้วัฒนธรรมการเต้นโว้กเป็นที่โด่งดังในเพลงของเธอที่ใช้ชื่อว่า “Vogue” จากอัลบั้ม “I’m Breathless” ในปี 1990  

มีคำกล่าวที่ว่า “การเต้นโว้ก คือ การต่อต้านต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศผิวสี” ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างนี้จากการนำเสนอของภาพยนตร์เรื่อง Pose ว่าการจัดงานบอลรูมของกลุ่มเกย์ และผู้หญิงข้ามเพศผิวสีนั้นอาจจะเป็นกิจกรรมทางสังคมที่เปิดพื้นที่ให้กับพวกเขาได้ปลดเปลื้องจากความทุกข์ที่เกิดจากสังคมที่เลือกปฎิบัติ และตีตราต่อคนผิวสี และคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเป็นพื้นที่ที่ช่วยเยียวยาจากประสบการณ์ของการถูกกระทำความรุนแรง และทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้รับพลังใจจากคนในชุมชนเดียวกัน นอกจากซีรีส์เรื่อง “Pose แล้ว “Paris Is Burning” ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีในปี 1990 และ “Kiki” ในปี 2016 เป็นภาพยนตร์ที่คนสนใจวัฒนธรรมการโว้กควรไปหาดูกัน  

Pray Tell ใน Pose พูดเกี่ยวกับครอบครัวที่น่าสนใจว่า “บ้านเป็นมากกว่าที่พักอาศัย มันคือการสร้างครอบครัว และทุกครอบครัวต้องการแม่ ผู้ซึ่งมอบการยอมรับคน (ในครอบครัว) แบบไม่มีเงื่อนไข ใส่ใจดูแล ไม่ลังเลต่อความรักที่มอบให้ และสร้างแรงบันดาลใจ” ซึ่งเป็นคำพูดที่รื้อถอนภาพครอบครัวแบบเดิมๆ ที่มักจะทอดทิ้งคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเบียดขับคนเหล่านี้ออกจากบ้าน อย่างไรก็ตาม Pose ได้สร้างภาพของครอบครัวทางเลือกให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นบ้านที่สนับสนุนกันและกันทางด้านจิตใจ และสถานะเศรษฐกิจ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นการรวมกลุ่มของคนที่มีความหลากหลายทางเพศผิวสี อาศัยใน “บ้าน” เดียวกัน และมีหัวหน้าครอบครัวที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศที่ถูกเรียกว่า “แม่” ของบ้านหลังนั้น  

แม้ว่า Pose จะไม่ได้ฉายภาพสภาพสังคม และความรุนแรงที่มีต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของเรื่องราวในซีรีส์เรื่องนี้ แต่ Pose เล่าเรื่องราวน่าสนใจซึ่งเป็นปรากฎการณ์สำคัญเกี่ยวกับการระบาดของโรคเอดส์ โดย Pose เปิดตัวฉากแรกในยุค 1987 ซึ่งเป็นยุคที่งานบอลรูมเป็นกิจกรรมทางสังคมของกลุ่มเกย์ และหญิงข้ามเพศผิวสีในนิวยอร์ก โดยที่ซีรีส์เรื่องนี้ในซีซั่นสองเสนอภาพของสังคมอเมริกันในยุค 1990 ซึ่งเป็นยุคที่วัฒนธรรมโว้กถูกนำไปสู่สังคมกระแสหลักโดยเพลงของมาดอนน่า และการระบาดที่เพิ่มมากขึ้นของโรคเอดส์ และเปิดตัวภาคสุดท้าย (ซีซั่นสาม) ในปี 1994 ซึ่งเป็นช่วงปีที่เอดส์เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนอเมริกันที่อายุ 25 ถึง 44 ปี     

เกย์ และผู้หญิงข้ามเพศเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบจากการตีตรา และภาพเหมารวมที่คนในสังคมอเมริกันในช่วงปลายยุค 80 เรื่อยมาจนถึงต้นยุค 90 เชื่อว่า “เอดส์” คือ “โรคของเกย์” หรือ “เกย์” เป็น “ตัวแพร่เชื้อโรค” ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะใช้คำว่า “เกย์” หรือ “คนรักร่วมเพศ” ที่รวมถึงคนข้ามเพศไปด้วย ตัวละครหลักของ Pose ทั้ง Blanca และ Pray Tell ก็เป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความตั้งใจของทีมผู้สร้างภาพยนตร์ที่พยายามสื่อปรากฏการณ์นี้ผ่านตัวละครทั้งสอง เพื่อฉายภาพในด้านบวกของคนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ซึ่งก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดจากการเป็นคนผิวสี และคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ความต้องการความรัก และมอบความรัก และการเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ และเยียวยาของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในยุคที่ยังเต็มไปด้วยอคติ และองค์ความรู้ที่จำกัดเกี่ยวกับโรคเอดส์และเอชไอวี

Pose ฉายภาพตัวแทนจากชุมชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศทั้งในระดับบุคคล และระดับสังคมในวัฒนธรรมอเมริกันสมัยนั้น ซึ่งคนที่มีความหลากหลายทางเพศผิวสีต้องรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการจัดตั้งองค์กรชุมชนที่ทำงานด้านเอดส์กับคนรักเพศเดียวกัน และผู้หญิงข้ามเพศ โดยที่องค์กรหนึ่งที่ถูกอ้างถึงใน Pose คือ “ACT UP” ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกก่อตั้งขึ้นจริงในปี 1987 และมีการนำเสนอสถานที่ในประวัติศาสตร์ เช่น โรงพยาบาลที่รับดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน  ซึ่งมีอยู่จริง และตั้งอยู่ในย่านกรีนวิชวิวเลซ หรือ “Greenwich Village” ในเขตแมนฮัตตัน (Manhattan) นิวยอร์กอย่างเช่น “Saint Vincent’s” หรือ สถานที่ที่คนในชุมชนเรียกว่า “The Piers” ที่ตั้งอยู่ในย่านเดียวกัน ริมแม่น้ำฮัดสัน (Hudson River) ที่เป็นแหล่งที่คนทำงานบริการทางเพศยืนหาลูกค้า และแหล่งหาคู่นอนของคนรักเพศเดียวกัน ผู้หญิงข้ามเพศ และคนที่สนใจพวกเขา      

กลับมามองที่ภาพยนตร์ไทยที่มีการใช้นักแสดงเป็นผู้หญิงข้ามเพศ หรือถ่ายถอดเรื่องราวของคนข้ามเพศ ที่ฉายภาพ และเรื่องราวของพวกเขาอย่างจำกัด ขาดแง่มุมของความจริงที่มนุษย์คนหนึ่งต้องเผชิญ หรือการเป็นเพียงตัวประกอบที่สร้างสีสรรในภาพยนตร์จอแก้วและจอเงิน ถ้าคิดในอีกแง่มุมหนึ่งคือ การรับรู้ของผู้ชมต่อคนข้ามเพศนั้นเลือกที่จะรับชมภาพยนตร์เพียงบางเรื่อง และไม่เปิดรับภาพ หรือเรื่องราวที่ต่างออกไปของคนข้ามเพศในวงการภาพยนตร์ไทย

เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ในขณะที่คนข้ามเพศในต่างประเทศได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถทำหน้าที่ของนักแสดงอย่างสุดความสามารถ และมีภาพยนตร์ซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมทั่วโลก เช่น Orange is the New Black (2013-2019) ซึ่งมีนักแสดงหญิงข้ามเพศอย่าง Laverne Cox ในบทของ Sophia Burset และ Transparent (2014-2019) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของหญิงข้ามเพศได้อย่างครบรส แม้ว่าจะนำแสดงโดยผู้ชายตรงเพศอย่าง Jeffrey Tambor ในบทของ Maura Pfefferman 

จึงทำให้เกิดคำถามกับผู้ผลิตภาพยนตร์ไทย และผู้ชมที่ว่า “เมื่อไหร่ผู้ผลิต และผู้ชมภาพยนตร์ไทยจะตระหนักถึงช่องว่างที่เกิดขึ้นนี้?” ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาภาพปรากฎของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในวงการภาพยนตร์ไทย ที่ไม่ย้ำอยู่กับ “ความตลก” หรือเป็นแค่ “ตัวประกอบ” แต่นำเสนอถึงแง่มุมชีวิตที่หลากหลายอย่างสร้างสรรค์

สุดท้าย Blanca ใน Pose ได้พูดว่า “Our greatest asset is our authenticity” หรือในภาษาไทยคือ “ความเป็นตัวของตัวเองของพวกเรา (ผู้หญิงข้ามเพศ) คือสมบัติอันมีค่าที่สุด” ดังนั้นเมื่อใดภาพยนตร์หยิบใช้สมบัติล้ำค่านี้จากผู้หญิงข้ามเพศ คนชมก็จะได้เรียนรู้ความหลากหลาย และความเป็นมนุษย์ที่ไปไกลกว่าการปรากฎตัวของคนข้ามเพศในภาพยนตร์นั้นไปด้วย 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า