fbpx

ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่อายุ 100 ปี ที่เป็นตัวแทนของ “บางขุนเทียน” อย่างแท้จริง

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

In Partnership with TEDxBangKhunThian

ภูมิใจการ์เด้น สวนลิ้นจี่ที่มีอายุถึง 100 ปี ถึงแม้จะตั้งอยู่ในเขตจอมทองแต่กลิ่นอายความเป็นบางขุนเทียนยังตลบอบอวลอยู่ในสวนแห่งนี้ ซึ่งล้วนเกิดจากความดั้งเดิมของคนบางขุนเทียนที่อยากพัฒนาพื้นที่ดีๆ ให้คงอยู่และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ในเชิงการเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับทุกคน

เอ๋-พรทิพย์ เทียนทรัพย์ หนึ่งใน Speakers ของ TEDxBangKhunThian และลูกชาย ป๋อ-อันดามัน โชติศรีลือชา ให้เกียรติมาพูดคุยกับพวกเราเกี่ยวกับไอเดียการทำสวนตั้งแต่ในอดีตและในปัจจุบัน และการต่อสู้เพื่อรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมและเอกลักษณ์ของบางขุนเทียนเอาไว้ผ่านเลนส์ประวัติศาสตร์ การค้า สถาปัตยกรรม และการเข้ามาของสังคมเมือง

อะไรทำให้เลือกที่จะมาทำสวนที่นี่

เอ๋: เพราะเราเป็นคนที่นี่และรักความเป็นสวน ความเป็นตัวเรา ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แค่ทำสวนหลังบ้าน รักษาไว้ให้ดีที่สุดเพื่อลูกหลานของเราเท่านั้นเอง เราเกิดที่ตำบลบางมด อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี บ้านเราอยู่กันมาหลายช่วงอายุคน แล้วโฉนดที่ดินนี้เป็นกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ออกโฉนดที่ดินปีพ.ศ. 2448 สมัย ร.5 พอยิ่งทำสวนเรามีความรู้มากขึ้น สามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ได้มากขึ้น และก็ศึกษาข้อมูลมากขึ้น 

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นในฐานะที่อยู่มาตั้งแต่เกิด

เอ๋: มากเลย อย่างแรกคือเราเคยใช้คลอง อาบน้ำคลอง น้ำก็ใส พายเรือไปสวนเพราะบรรพบุรุษเราก็ทำสวน คุณพ่อรับราชการด้วยแต่คุณแม่ยังทำสวนอยู่ มันก็มีบริบทของชาวสวนเต็มรูปแบบแหละ แต่แล้ววันหนึ่งเราเข้าสังคมเมือง ไปเรียนหนังสือ ไปทำงานนอกบ้าน สังคมเปลี่ยน จากที่เคยเห็นการคมนาคมทางคลองก็เปลี่ยนเป็นทางรถ จากที่เคยมีความรู้สึกง่ายๆ กับการเดินทาง กลับกลายเป็นว่ารถเข้าไม่ถึง กลายเป็นว่าสังคมเดิมหายไปเพราะเคลื่อนย้ายไปในที่ที่รถเข้าถึง บ้านช่องของคนที่ดั้งเดิมมีรากฐานและอาศัยอยู่ริมคลองก็ไปอยู่ข้างนอกกัน แล้วสังคมใหม่ซึ่งเป็นสังคมจากต่างจังหวัดก็มาหาที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนรวมกัน กลายเป็นมีว่าชุมชนใหม่เกิดขึ้น พอพื้นที่เปลี่ยนไปตัวเราเองก็เปลี่ยนเหมือนกัน พอเริ่มโตก็มีอาชีพการงาน ใช้ชีวิตแบบชาวเมือง ลูกเราต้องไปเรียนหนังสือข้างนอก เราก็เสียดายเพราะเรายังมีสิ่งที่ดีๆ อยู่ เลยมาทำสวน รักษาดูแลสิ่งที่เรามีหรือวิถีที่เราเคยมีแบบเรียบง่าย ไม่ใช่การสร้างอะไรใหญ่โต ค่อยๆ เก็บของเราไว้

อะไรที่ทำให้ตัดสินใจซื้อพื้นที่ตรงนี้

เอ๋: เพราะบ้านเราอยู่ตรงนี้ ชุมชนก็ค่อยๆ เกิดขึ้นแต่นับวันมันก็เปลี่ยนไปในแง่ลบ วิถีชาวสวนมันหายไป เราก็อยากจะทำให้ที่ที่เราอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ใช่ว่าคนข้างนอกจะมองชาวสวนว่ามอมแมม ทำไมความเป็นอยู่ดูกิ๊กก๊อกจัง แล้วก็มีแรงบันดาลใจจากลูกนี่แหละ ลูกเราเรียนที่สาทร เพื่อนฝูงเขาก็มีรถ แต่บ้านเรารถเข้าไม่ถึง ซึ่งเมื่อก่อนเรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากเลยนะ แต่ว่าสังคมชักพาให้คิดว่าความเป็นชุมชนเมืองคือสิ่งที่ดี แต่ความเป็นสวน การมีพื้นที่สีเขียว การมีรกรากกลับกลายเป็นบ้านนอก มีชาวสวนหลายคนต้องขายผลผลิตทางการเกษตร แต่เราไม่ใช่แบบนั้นเพราะเรามีอาชีพการงานของเรา เราไม่ต้องผูกว่าจะต้องมีผลผลิตอะไรไปขาย อย่างลิ้นจี่ เรายังพอมีพื้นที่ปลูก เมื่ออากาศหนาวเราก็จะมีลิ้นจี่ขายแต่ก็ไม่ใช่อาชีพหลัก เราแค่มีสวนหลังบ้านเราก็เก็บสวนหลังบ้านของเราเอาไว้

แต่ที่ชัดเจนคือตอนที่เริ่มซื้อที่ดินแปลงนี้เมื่อปี 2553 เราเดินผ่านบ้านเราก็คิดว่า เฮ้ย เมื่อก่อนเราเป็นชาวสวน เดินในสวน แต่อยู่ๆ มันก็กลายเป็นแบบนี้ หนึ่งเลยคือเรื่องความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของเรา ความปลอดภัยไม่มีเลย คุณภาพชีวิตก็ไม่มี แล้วก็เกิดความรู้สึกขับข้องใจไม่อยากให้เป็นแบบนั้นในสายตาคนอื่น มันก็เลยเป็นแรงขับให้เราทำให้ดีกว่า  อีกเรื่องคือการวางแผนชีวิตของเรา แต่ก่อนเขาจะวางแผนกันว่าจะขายที่แถวบ้านเพราะมันแพง แล้วไปซื้อที่ที่อื่น แถวนครชัยศรีบ้าง อัมพวาบ้าง แต่เราคิดว่าไม่เอาดีกว่า เราอยากจะอยู่ของเราตรงนี้ แล้วก็วางแผนเกษียณว่าอีก 20 ปีข้างหน้าเนี่ยเราจะอยากอยู่ในนิเวศน์ที่เราต้องการ มีพื้นที่สีเขียว อยู่ในกรุงเทพฯ ใกล้หมอ แล้วบังเอิญว่าในปี 2549 มีกระแสเศรษฐกิจพอเพียง ไร่นาสวนผสม และพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 เยอะแยะไปหมด เราไปได้ยินคำที่ท่านพูดแล้วโดนใจเรามาคือ “ทำในสิ่งที่ใกล้ตัว แล้วจะประสบความสำเร็จง่าย”  นั่นคือแรงบันดาลใจอีกแรงหนึ่ง แล้วสองคือเขาบอกว่าสังคมเราจะเป็นสังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ

มันมีหลายๆ ปัจจัย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะมีอะไรมาบังคับให้เราทำ สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาของเรานี่แหละ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่อยากเป็นภาระให้กับลูกเรา และมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ถ้าเราทำอะไรให้ดีแล้วเนี่ยเดี๋ยวเพื่อนฝูงก็มาอยู่แบบนี้เหมือนกัน เราก็เลยทำตรงนี้

ตอนเริ่มทำมีแพลนในหัวไหมว่าจะทำอะไรบ้าง

เอ๋: แพลนในหัวไม่มี แต่ Vision ต้องมี เพราะตั้งแต่เราเริ่มเรียนหนังสือก็มีคำว่า ปฏิกิริยาเรือนกระจก เรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรพวกนี้มันมีมานานแล้วเราไม่สนใจกันเอง ถ้าไม่มีความสนใจเรื่องบ้านเมือง เรื่องสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้หรอก มันต้องมองไปไกลๆ เหมือนกับที่พี่วางแผนเรื่องเกษียณตอนอายุ 40 กว่า อันนี้ก็เหมือนกัน เรื่อง demand, supply ตึกราบ้านช่องเยอะขึ้น และพี่เรียนบัญชีมา การเลือกทำเลมันก็ต้องสอดคล้องกัน เปรียบกับเรื่องศาสนา มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ สุขทุกข์ สรรเสริญนินทา มันขึ้นลงตามปกติ เราถือว่าเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว แล้วมันก็เป็นสิ่งที่เราชอบ ชอบทำอาหาร ชอบไปวัด ชอบกระโดดเล่นน้ำในคลอง ชอบปลูกต้นไม้ ทุกอย่างคือสิ่งที่เราชอบแต่เราก็ไม่ได้ทำแบบไม่มีจุดหมาย

ระหว่างทำโครงการ คุณแม่โดนลูกเบรกบ้างไหม

คุณเอ๋: มากเลยค่ะ เพราะว่าซื้อที่ดินเดียว 1 ตารางวาไม่ใช่ถูกๆ ตอนนี้มี 10 แปลง คุณจะเห็นว่ารถเข้าไม่ถึง เป็นแปลงตาบอด ถ้ามองไปตรงข้ามกันคือ Superhighway แล้วประวัติศาสตร์มันเชื่อมเข้ามา ทุกคนอาจจะมองว่าเป็นพื้นที่ตาบอด แต่พื้นที่ตาบอดในประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่ของนามสกุลพระราชทานทั้งนั้น คนที่ไม่ค่อยมีฐานะเท่านั้นถึงจะไปที่ดอนเพราะสมัยก่อนเขาคมนาคมทางน้ำ ลูกที่ไม่รักมักอยู่ที่ดอน ลูกรักอยู่ริมคลอง แต่พอสังคมเมืองมามันก็เปลี่ยนไป ที่ดอนกลายเป็นพื้นที่แพง ริมคลองกลายเป็นพื้นที่ตาบอด

แล้วเมื่อก่อนเขาไม่ได้มีที่ดินกันน้อยๆ บ้านเราก็มี 20 ไร่ตามแนวคลอง คลองมีความสำคัญ 2 อย่าง เรื่องคมนาคมและการชลประทาน เขาวางรากฐานที่ดินไว้ตั้งแต่โบราณ ถ้าใครมองว่าเป็นพื้นที่ตาบอดก็มองไปแต่คนที่มาอยู่ตรงนี้เป็นบ้านที่มีฐานะ เขาไม่ขายกันง่ายๆ หรอกค่ะ เพราะฉะนั้นกว่าจะได้ที่ดินแปลงหนึ่งเนี่ยมันไม่ใช่ถูกๆ แล้วเวลาซื้อที่เนี่ย ที่ดินแปลงหนึ่งไม่ต่ำกว่าล้าน สิ่งที่สำคัญไม่ใช่แค่เงินซื้อที่ มันมีค่าแรงกับแรงงานที่จะมาทำด้วย พอสังคมเมืองเข้ามา มีอุตสาหกรรม อาชีพต่างๆ ก็แปรเปลี่ยน คนสมัยก่อนจ้างคนใกล้ตัวมาทำ เขาก็เลิกทำสวนแล้วไปเข้าโรงงานอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นแรงงานในพื้นนี้มันไม่มี แรงงานที่มาจากต่างจังหวัดก็อยากจะเข้ากรุงเพื่อหลีดหนีภาคเกษตรกรรม เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าจะหาคนมาทำงานตรงนี้ได้ง่ายๆ  แล้วการทำเกษตรกรรมมันต้องเป็นคนมีความรู้ มีทักษะ มีใจรัก ถ้าเราได้แรงงานที่ขาดทักษะ ความรู้ ไม่มีใจรัก เราก็ต้องสอนและใช้เวลาอยู่กับเขา ซึ่งทั้งยากและแพงมาก

มีวิธีบริหารเงินอย่างไร

เอ๋: บังเอิญว่ามีรายได้ทางอื่นด้วย และลูกก็บอกว่าต้องบ้าด้วยถึงจะมาลงทุน เพราะในอดีตไม่มีใครมองเห็นว่าเราทำอะไร ซื้อที่มาทำไม

ป๋อ: เราจะทำอะไรก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ ในเรื่องของความเป็นไปได้ก็คือเรื่องของปัจจัยและกำลังทรัพย์ด้วย อย่างที่แม่บอกว่าบ้า ลองคิดดูแม่ทำสวนมาหลายปีแล้ว ค่าคนสวนเดือนละแสน แต่แม่ทำสวนมา 10-20 ปีโดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย เสียเงินปี 1.2 ล้านบาท แล้วคิดว่ามันจะมั่นในระยะยาวได้ไหม อันนี้คือความบ้าครับ ลงไปโดยหวังเพียงแค่ว่ามันยังคงอยู่ไว้ ก็เลยเป็นโจทย์ที่ว่า ในเมื่อคุณแม่มีความรักในพื้นที่ตรงนี้ มีวิสัยทัศน์อยากจะเก็บพื้นที่ตรงนี้ไว้และส่งต่อให้กับสังคมได้ ให้วิถีชีวิตมันคงอยู่ไว้ ให้วิถีชีวิตมันสามารถกินได้ 

ถ้าชีวิตมันไม่สามารถกินได้ สุดท้ายบริบทของสังคมจะบังคับให้เราปรับเปลี่ยนตัวเพื่อให้เราสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ลองนึกถึงเรื่องของเรือ สมมติว่าคนมาสัญจรทางเรือกันหมด ก็จะมีอาชีพขับเรือ คมนาคมทางน้ำ เรือขายสินค้าในน้ำ แต่วันหนึ่งการขนส่งเปลี่ยนไป จากที่ใช้ทางคลองก็หันไปใช้ทางรถกันทั้งหมด แล้วสมมติว่าคนที่หากินอยู่ในคลองเขาไม่ได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเลย สุดท้ายเขาก็อยู่ไม่ได้เพราะว่าการจราจรของเรือมันน้อยลง คนที่เรียกเรือมาค้าขายก็ลดลง แม้แต่พระบิณฑบาตก็ยังอยู่ไม่ได้เลยเพราะไม่รู้ว่าจะมีใครใส่บาตรอยู่ไหม สมัยก่อนคนเฒ่าคนแก่เขามีแรงออกมาใส่บาตรตอนเช้า แต่สังคมอย่างรุ่นเรายังมีใครอยากตื่นตั้งแต่ 6 โมงเพื่อมาทำกับข้าวให้พระใส่บาตรบ้าง อยู่ริมน้ำอีก ไปทำงานไม่ทันอีก ตอนนี้ทุกคนหันหลังให้น้ำกันหมดแล้วครับ คือเราพยายามจะให้เห็นว่าวิถีชีวิตสามารถหากินได้ มันต้องดำรงอยู่ได้ ก็เลยเป็นที่มาครับ

ที่ผ่านมาพยายามสานต่อให้น้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไหม

เอ๋: พี่ทำรวมๆ นะ ชีวิตเราไม่ใช่แค่น้ำ ไม่ใช่แค่เรื่องคลอง มีวิถีชีวิตด้วย อาหารการกินด้วย วิถีคนสวนแบบดั้งเดิม มันเป็นส่วนผสมรวมกัน ทุกอย่างมีความสำคัญต่อกันหมด

ป๋อ: ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด เช่นคนมักจะถามว่าทำไมตลาดน้ำมันหายไป เราต้องมองตรงข้ามว่า เฮ้ย Eco System ของตลาดน้ำมันคืออะไรบ้าง หนึ่งคือตลาดน้ำ สองคือคลอง สามคือสวน สี่คือชุมชนแถวๆ นี้ ห้าก็คือเรือ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เห็นไหมว่าตัว Chain มันถูกเปลี่ยนออกไปเลยส่งผลเป็นโดมิโน อย่างสวนเดิมทีก็เป็นแหล่งเพาะปลูก คนไทยสมัยก่อนก็หากินกับสวน คือปลูกไว้กิน เหลือก็แบ่งขายที่ตลาดน้ำ แต่อยู่มาวันหนึ่งการทำสวนเป็นสิ่งที่ไม่เอื้ออำนวยแล้ว ด้วยปัจจัยทางทรัพยากร ธรรมชาติ สังคม ค่าแรง ดินฟ้าอากาศ ล้วนไม่เอื้ออำนวยให้รักษาวิถีชีวิตตรงนี้ไว้ คนก็ขายสวน พอขายสวนทิ้งไปของก็ไม่รู้จะไปเอาจากไหนไปขาย คนที่อยู่ริมน้ำก็น้อยลง ตลาดน้ำก็ถูกลดทอนความสำคัญลงและก็หายไป มันเป็น Chain ที่จะหายไปพร้อมๆ กัน  

มีปัญหาที่เจอในการพัฒนาสวนบ้างไหม

คุณเอ๋: ปัญหาเฉพาะตัวเพราะว่าเราทำคนเดียว บางทีการชำที่เราทำมันไม่สัมพันธ์กับใคร ฉะนั้นมันเป็นปัญหาส่วนตัว ตัวอย่างเช่น เรื่องความปลอดภัย บางทีเราอยู่ในสถานที่ที่มีปัญหานิดนึง แล้วก็เรื่องการเข้าออก ต้นทุนทำเรือ แต่ถ้ามาทางรถจะลำบากมากเลย และแรงงานเราหายากมากที่สุด ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือพื้นฐานความรู้ด้านการเกษตร เราก็ศึกษาเพิ่มเติม สมัยก่อนเป็นลูกชาวสวนก็จริงแต่เราเรียนหนังสือ ทำงาน ก็ไม่ได้มีทักษะการทำสวนสักเท่าไหร่ แต่เราเคยเห็น เพราะฉะนั้นด้วยความที่เรารักเราชอบก็เลยเสาะแสวงหา (ความรู้)  

ภูมิใจไหมที่ภูมิใจการ์เด้นเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่ทำให้คนรู้จักบางขุนเทียนมากขึ้น

คุณเอ๋: ภูมิใจมากค่ะ เพราะพี่อยากส่งผ่านว่าบางขุนเทียนมีอะไรมากกว่า ภูมิใจการ์เด้น อย่างที่ทำคือทำว่าบางขุนเทียนว่ามีความสำคัญอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และฝั่งซ้ายของบางขุนเทียนจะเป็นดาวคะนอง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ยังไม่มีสนามบินดอนเมือง เวลาไปต่างประเทศเขาก็จะมาขึ้นเรือกลไฟที่ปากคลองดาวคะนอง มันห่างกันนิดเดียว ตรงนี้เป็นท่าเรือ คนขายสินค้าถนนเจริญกรุงตัดจากพระนคร เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมองจากช่วงเวลาต้นรัตนโกสินทร์หรือมาถึงรัชกาลที่ 6 เราก็ยังมีความสำคัญอยู่

และอีกอย่างเกี่ยวกับทางรถไฟ ทำไมต้องไปท่าจีนล่ะ ก็เพราะอาหารทะเลอยู่ที่นั่น แต่ก่อนแถวนี้ก็ไม่ได้มีทีท่าจับปลาเหมือนสมุทรปราการก็ตัดท่าเรือไปซึ่งมันก็คือการเชื่อมการเดินทางทางบก เพราะฉะนั้นบางขุนเทียนถึงมีความสำคัญมาก แล้วทางเรือกลไฟสายแรกผ่านตั้งแต่ตากสินไปสมุทรสาครก็คือการเห็นความสำคัญของคลองด่าน สมัยก่อนเป็นคลองด่าน สมัยถัดมาเป็นทางกลไฟ พอมีท่าเรือก็มีถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

เขตบางขุนเทียนมีขึ้นตอนปี 2534 แล้วก็แบ่งมาเป็นจอมทองกับบางขุนเทียน บางขุนเทียนติดทะเล เมื่อเรือเดินทางมาถึงบางขุนเทียนก็อยู่ตรงคลองบางหว้า แถววัดราชโอรสฯ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้บางขุนเทียนเราเปลี่ยนไปก็คือถนนพระราม 2 ที่เข้ามาทำให้ความสำคัญของคลองมันกับท่าเรือหายไป สมัยก่อนที่พี่บอกว่ามีอาหารทะเลเอย เกลือเอย ก็ต้องมาตามคลองดาวคะนอง แล้วริมคลองก็จะมีแต่เกลือทั้งนั้น หลักฐานที่สำคัญคือเพลงหนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ มาเจ๊อะกันที่ดาวคะนอง แม้ความสำคัญของการเดินทางด้วยคลองจะลดลงแต่เรายังได้ฟังว่า “มาเจอกันที่ดาวคะนอง” อย่างน้อยก็มีตรงนี้ให้เรารำลึกไว้

พูดถึงอนาคตของภูมิใจการ์เด้น เรายังอยากทำอะไรเพิ่มเติมไหมต่อจากนี้

ป๋อ: อย่างเราก็เหมือนเป็นผู้ริเริ่ม เป็นตัวจุดประกายเล็กๆ ซึ่งเริ่มทำให้เห็นว่ายังมีคนที่สนใจที่จะอนุรักษ์เหมือนกัน ทีนี้เราอยากสานต่อเรื่องการอนุรักษ์อัตลักษณ์ท้องถิ่น เรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมซึ่งเรามีมาอย่างยาวนานไม่ให้มันสูญหาย แล้วทีนี้พอพูดถึงผู้ร่วมอนุรักษ์ของเราเนี่ย มันไม่ได้มีคำจำกัดความว่าจะต้องอยู่เฉพาะบางขุนเทียน แต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ท้องถิ่นไม่เหมือนกัน บางพื้นที่มีเอกลักษณ์คล้ายๆ กับเรา เราไม่อยากให้มันสูญหายไป

อยากเป็นแรงบันดาลใจให้เขาช่วยอนุรักษ์เหมือนกัน แล้วตรงนี้มันเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างปัจจุบันก็เริ่มมีเรื่องของการท่องเที่ยวในคลอง สัญจรไปมาหาสู่กันริมคลอง เรื่องของการค้าขายริมคลอง แล้วก็การนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบของชุมชน ซึ่งมันก็เป็นอีกนัยหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์วิถีของเขาได้ เช่น ทุกวันเสาร์-อาทิตย์จะมีสินค้าจากชุมชนเข้ามาขายที่นี่เหมือนกัน ซึ่งเราไม่ได้บังคับให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ แต่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เขาสามารถดำรงวิถีแบบดั้งเดิมต่อไปได้ครับ 

แล้วที่เขาเอาของมาขายที่สวนเรา อย่างที่ผมได้พูดไปเรื่อง Value Chain เรื่อง Eco System มันได้หมดเลยครับ ได้ตั้งแต่คนปลูกสวนอยู่ข้างในที่รถไม่สามารถเข้าถึงบ้านได้ ก็เอามะพร้าวไปส่งต่อบ้านนู้นบ้านนี้ ก็นำไปทำขนมต่อ พอทำขนมเสร็จมายังไง มาเรือ เรือก็เรือ ในชุมชน แล้วก็มาขายที่ร้านตรงนี้ อย่างนี้แหละครับมันได้เรื่องของ Value Chain เป็นทอดๆ

คุณแม่มีอะไรอยากจะบอกลูกๆ หรือรุ่นแม่ด้วยกัน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสังคมผู้สูงอายุที่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง

คุณเอ๋: เอาของที่เรามีมาพัฒนา แล้วก็เป็นตัวของตัวเอง อย่างเรื่องการแต่งตัว วิถีชีวิตอะไรต่างๆ อย่าไปดูถูกตัวเราเอง อย่าไปหลงเชื่อกระแสสังคม คิดก่อน วิเคราะห์ก่อน บางทีไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ลงทุนที่ตัวเองเราเองเนี่ยแหละ อยู่ที่ว่า Mindset ของเราจะไปทางไหนแค่นั้นเลย

ภูมิใจไหมที่เป็นคนบางขุนเทียน

คุณเอ๋: เป็นคำถามที่ยากถึงยากที่สุดเพราะบางขุนเทียนไม่ใช่แค่ตรงนี้น่ะ ตั้งแต่เรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รวมให้เลย แผ่นดินบางขุนเทียนมีความสำคัญมากๆ เลย เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ไม่อย่างนั้นจะมีวัดประจำรัชกาลอยู่บางขุนเทียนเหรอ วัดประจำรัชกาลที่ 1 วัดโพธิ์ รัชกาลที่ 2 วัดอรุณฯ รัชกาล 3 วัดราชโอรสฯ อย่างรัชกาลที่ 3 ท่านทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ปราดเปรื่องทุกด้าน เพราะฉะนั้นบางขุนเทียนไม่ธรรมดา 

ทำย้อนกลับไปที่การคมนาคมทางคลองจากวัดราชโอรสฯไปพระราชวังเดิม ท่านมาทางคลองบางหลวง คลองด่างแล้วถึงเลย แล้วทำไมวัดถึงเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนหมดเลย การค้าขายของไทยจีนไม่ใช่แค่ว่าไปนำเข้าของเขามาแล้วมาทำแบบจีน คนจีนอพยพมาเมืองไทยเยอะแยะ จะทำอย่างไรให้เขาหันมานับถือศาสนาพุทธหรือว่าทำอย่างไรบ้านเมืองถึงสงบ แล้วก็สอดแทรกเรื่องการเมืองการปกครอง หรือทำไมต้องเป็นวัดที่ก่ออิฐก่อปูน เพราะองค์ท่านก็บอกว่ามันมั่นคงกว่าการใช้ไม้ผุพัง มันมีสถาปัตยกรรมแทรกไปหมด แล้วคลองทำไมต้องมาทำที่วัดราชโอรสล่ะ สมัยก่อนยังมีการรบทัพจับศึกกันอยู่ พระองค์ยกทัพไปสกัดที่เจดีย์สามองค์ ใครจะเชื่อว่าคลองด่านของเราเป็นการเดินทัพ 

แล้วสุนทรภู่ได้ประพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของคลองด่านเยอะแยะ การเดินทางนิราศเมืองเพชรก็สามารถอ่านประวัติศาสตร์ได้จากนิราศเมืองเพชรเลยว่าความสำคัญของตรงนี้มันเป็นอย่างไร แล้วทำไมคลองด่าน คลองบางขุนเทียน คลองสุนัขหอนต้องมีการขุดขยาย สมัยรัชกาลที่ 3 ให้ไปดูเรื่องตะวันตกเถอะ อะไรที่เป็นความรู้ก็ไปเอาของเขามา แต่อย่าไปเลื่อมใสเขาไปเสียทุกอย่าง พระองค์ท่านแทรกเรื่องนี้ไว้ด้วย เพราะฉะนั้นหลายๆ อย่างมันมีความเกี่ยวข้องกัน แล้วบางขุนเทียนเราไม่สำคัญได้อย่างไร 

วัดราชโอรสฯ ก่อสร้างถึง 14 ปี นำแรงงาน เครื่องใช้ไม้สอยจากเมืองจีนมาทางคลองบางขุนเทียน พืชพรรณอาหารก็มาด้วย ลิ้นจี่ไง ลิ้นจี่บ้านเรามีมากกว่า 100 ปีแล้ว เราได้มรดกที่ทรงคุณค่าของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี นี่ค่ะ ลิ้นจี่เนี่ย ของขึ้นทะเบียน GI ที่เขตจอมทองนะ แต่พี่มีลิ้นจี่มากที่สุด ณ ตอนนั้น พี่มีร้อยต้น ก็คิดว่ายังเป็นเบอร์ 1 อยู่ ของพี่ขึ้นทะเบียน GI สินค้าสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รัฐบาลคัดเลือกให้พี่เป็นรุขมรดกทรงคุณค่าของแผ่นดินด้วยเพราะว่ามีที่มาที่ไปเรื่องของประวัติศาสตร์ลิ้นจี่พันธุ์นี้ต้องปลูกที่นี้

อย่างที่พี่บอกไปว่ามันมีความต่อเนื่องกัน ตอนขอขึ้นทะเบียน GI พี่ใช้ว่า “ลิ้นจี่บางขุนเทียน” นะ วันที่รับคำขอเรื่องขึ้นทะเบียน GI ทางรัฐบาลก็มากัน กระทรวงวัฒนธรรมคัดเลือกเราเป็นมรดกแผ่นดิน ซึ่งอันนี้ไม่ใช่พื้นดินของพี่ แต่ว่าเป็นพื้นที่ของวัดราชโอรสฯ ชุมชนในที่นี้ทั้งหมดเป็นของพระองค์เจ้า

คุณลูกมีอะไรจะบอกคุณแม่ไหม

คุณป๋อ: คุณแม่เก่งมากครับ ต้องชมสักหน่อย

คุณเอ๋: จริงๆ ได้เขา (ลากเสียง “โหย”)  เสียศูนย์นะเวลาหาเงินมาโปะที่สวนไม่ได้ มากเลย แต่ใจแข็งไม่กล้าที่จะบอกเขาคือถ้าไม่มีทรัพย์อื่นมาช่วย เอาแค่ทำมาหากินรายวัน มาทำสวนทำไร่ได้ และก็โชคดีที่ดาบก็แกร่งมือไกว แล้วเขาก็ช่วยได้ดีเสียด้วย 

รู้สึกอย่างไรที่ได้มาเป็น Speaker ของ TEDxBangKhunThian

คุณเอ๋: ตื่นเต้นมาก

คุณป๋อ: ยังรู้สึกทึ่งอยู่เหมือนกันครับ อย่างที่บอกว่าแม่เฝ้าทำตรงนี้มาโดยตลอด แต่ทำโดยไม่หวังว่าจะเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ ทุกวันนี้เวลาคนที่เขามาเหมือนเป็นเครื่องตอกย้ำว่าวิสัยทัศน์ที่คุณแม่มองมาเป็นสิบๆ ปีมันเริ่มกลับมาตอบโจทย์และเป็นรูปธรรมมากขึ้น และการที่ได้พวกคุณเข้ามามันยิ่งเป็นเหมือนกระบอกเสียงสะท้อนวิสัยทัศน์ของคุณแม่ที่อยากจะส่งต่อให้กับคนหลายๆ กลุ่มโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้ได้เห็นถึงสิ่งต่างๆ ที่บรรพบุรุษได้ส่งทอดให้เรา และเราสามารถที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับรากของเรามากขึ้นและดีขึ้นครับ

คุณเอ๋: จริงๆ เขา (คุณป๋อ) เป็นแรงบันดาลใจอย่างใหญ่หลวงเลย อยากจะให้ตัวเขาอยู่ในสังคมได้อย่างสง่างาม เรามีสิ่งดี และเราสามารถเอาสิ่งดีไปเป็นภูมิคุ้มกันตัวเราได้ ให้มั่นใจ เขาจะได้มีความมั่นใจในตัวเอง เราชอบสอนลูกเรื่องกลอนเล็กๆ น้อยๆ

กบเกิด ในสระใต้            บัวบาน
ฤาห่อน รู้รสมาลย์          หนึ่งน้อย
ภุมรา อยู่ไกลสถาน        นับโยชน์..ก็ดี
บินโบก มาค้อยค้อย       เกลือกเคล้าเสาวคนธ์

-โลกนิติคำโคลง

คือบางขุนเทียนเราเนี่ยเหมือนสระบัวสระใหญ่ มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา แต่เราไม่อยากเป็นกบซึ่งมองไม่เห็นว่าข้างบนคือดอกบัวสวยงาม เราอย่ารอให้คนอื่นที่เขาอยู่ไกลมาเห็นคุณค่า เราอย่าอยู่ในตมเลย อยากจะมีวันนี้ให้ลูกเราเห็น อันนี้ท่องให้ฟังตลอด และไม่ใช่แค่เรื่องนี้ด้วยนะแต่มันจะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหลายๆ อย่างว่าเราต้องมีราก เราอย่าดูถูกรากของเราเอง เราสำคัญยังไงเราต้องเอาออกมา


 TEDxBangKhunThain 2022 เวทีทอล์กระดับโลกที่จะพาคุณเข้าสู่กระบวนการ Re-cover, Re-invent และ Re-Think กระบวนการที่จะทำให้ ตัวคุณเอง คนรอบข้าง และสังคม ได้เกิดใหม่ด้วยไอเดียที่ควรค่าแก่การเผยแพร่จาก Speakers ทั้ง 13 ท่าน ในวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน 2022 นี้ On-site ณ บางขุนเทียน กรุงเทพฯ สามารถซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ ที่ https://www.tedxbangkhunthian.com/…/tedxbangkhunthian…/

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า