fbpx

โป่งแง้น หมู่บ้านกลางเขา ห่างจากเมืองเชียงใหม่ไม่ไกล แต่ทำไมเหมือนอยู่คนละโลก

สารภาพตามตรงเลยครับว่าผมไม่เคยรู้ว่าเชียงใหม่ ยังมีหมู่บ้านขนาดเล็กมีชาวบ้านอยู่ไม่ถึง 20 คนที่ตั้งอยู่กลางเขาด้วย เพราะปกติผมเข้าใจ (เอาเอง) ว่าบนดอยมีหมู่บ้าน แต่กลางป่ากลางเขาขนาดนี้ไม่น่าจะมีหมู่บ้านตั้งอยู่

แต่จริงๆ มันมีครับ

ที่นี่คือ ‘หมู่บ้านโป่งแง้น’ หมู่บ้านของชนเผ่าลาหู่ กลุ่มหนึ่งที่ถูกพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์มาได้สักพักใหญ่ๆ ที่คนไทยรู้จักในช่วง 1 – 2 ปีมานี้ แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เป็นสายเดินป่า จะรู้จักมานานเกือบ 20 ปี

โป่งแง้น มีอะไรที่น่าสนใจนอกจากชื่อที่อ่านแล้ว ผมมั่นใจว่าคุณผู้อ่าน (และบรรณาธิการที่กำลังตรวจต้นฉบับอยู่) เกาหัวแน่นอนว่าแปลว่าอะไร โป่งแง้นเนี่ย แล้วไปแล้วเหมือนติดเกาะ (จริงๆ แล้วติดป่าต่างหาก) ดียังไง เดี๋ยวผมเล่าให้อ่าน

โป่งแง้น อยู่ตรงไหนของเชียงใหม่ ทำไมคนไม่ค่อยรู้จัก

แต่โป่งแง้น เพิ่งมีคนไทยรู้จักได้ไม่นาน

หมู่บ้านโป่งแง้น อยู่ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแม่แตงห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไม่มาก เป็นอำเภอที่การท่องเที่ยวฮิตใช้ได้ ล่องแพคือไฮไลท์ มีปางช้างใหญ่ มีคาเฟ่เก๋ๆ อยู่ (มีร้านนึงจ่ายค่ากาแฟเป็นคริปโตได้ด้วย) มีโฮมสเตย์บนเขาในหมู่บ้านชื่อห้วยกุ๊บกั๊บ สรุปคือที่นี่อุดมสมบูรณ์ด้านการท่องเที่ยวสุดๆ

สาเหตุที่หมู่บ้านโป่งแง้น ไม่ได้เป็นที่รู้จักจากคนไทยส่วนใหญ่ เพราะสถานที่ตั้งของหมู่บ้านโป่งแง้น นี่แหละที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ค่อยรู้จัก

หมู่บ้านโป่งแง้น ตั้งอยู่กลางเขา ถนนไม่มี ไฟฟ้าไม่มา ประปาไม่ถึง อินเทอร์เน็ตหรือสัญญาณโทรศัพท์ไม่ต้องหวัง นี่คือหมู่บ้านที่ตัดขาดจากโลกภายนอกจริงๆ ทั้งที่ห่างจากเชียงใหม่ไป 80 กิโลเมตร (วัดแล้วจาก Google Maps) แต่เข้ามาแล้วคุณจะรู้สึกเหมือนหลุดมาอยู่อีกโลก

ชาวบ้านดั้งเดิมในพื้นที่ จากที่เราได้คุยกับไกด์คือ เป็นชาวเขาเผ่าลาหู่ ซึ่งในบริเวณแม่แตง จะมีชาวเขาเผ่าลาหู่ อยู่กันเป็นส่วนใหญ่ แล้วประมาณเกือบ 40 ปีที่แล้ว มีชาวบ้านกลุ่มแรกไม่น่าจะเกิน 3 ครอบครัว มาสำรวจเจอพื้นที่ราบริมแม่น้ำแม่แตง กลางป่ากลางเขาแห่งนี้ ก็เลยตั้งหมู่บ้านที่นี่ แล้วทำเกษตรเลี้ยงหมู ปลูกผัก เลี้ยงไก่

ก่อนจะมีครอบครัวย้ายเข้ามาตั้งรกรากที่นี่เพิ่มอีกเล็กน้อย แต่ไม่เกิน 15 หลังคาเรือน ก่อนที่หมู่บ้านจะถูกทิ้งร้างไปเรื่อยๆ เพราะคนในหมู่บ้านออกไปอยู่ที่อื่นแทน เนื่องจากการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะการทำงานมีความยาก จนในที่สุดหมู่บ้านโป่งแง้น จึงเหลือแค่ผู้สูงอายุ และเด็ก

ก่อนจะมีการทำโฮมสเตย์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว นั่นทำใหหมู่บ้านนี้ไม่เหงาเหมือนในอดีต เริ่มแรกถ้าผมจำไม่ผิด มีบ้านแค่ 1 – 2 หลังที่ทำโฮมสเตย์ ก่อนที่จะเพิ่มมาเป็น 5 หลังในเวลาต่อมา แล้วก็ถูกหยุดไว้เท่านี้ เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวเยอะไปจนทำให้วิถีชาวบ้านเสีย

เดิมมีนักท่องเที่ยวสายเดินป่า หรือนักท่องเที่ยงสายลุยชาวต่างชาติที่รู้จัก แต่เพราะโควิด นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้เข้ามา ก็เลยเริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวไทยมาเที่ยว ประกอบกับมียูทูบเบอร์ และเพจต่างๆ พูดถึงมากขึ้น โป่งแง้น จึงค่อยๆ กลายเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนครับ สายลุยอย่างผม ผมก็รู้จักโป่งแง้น เพราะรีวิวนี่แหละ ไม่ได้เป็นผู้บุกเบิกอะไรกับเขาเลยยยยยย

โป่งแง้น เดินทางด้วยวิธีไหนได้บ้าง

โป่งแง้น ไม่มีถนนตัดผ่านเลยสักเส้น มีแค่ทางวัวเดินเท่านั้นที่ทำให้เรามาถึงหมู่บ้านนี้ได้ ดังนั้นคำถามคือ ‘โป่งแง้น ถ้าจะมา มายังไง’การเดินทางมาโป่งแง้น มีให้เลือกอยู่ 3 ทางด้วยกัน อยู่ที่ว่าจะสะดวกแบบไหนดังนี้

  • เดินเท้าข้ามเขามาเรื่อยๆ ระยะทางราวๆ 5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง
  • นั่งแพเข้ามาจากบ้านป่าหลาม แม่น้ำแม่แตง จนมาถึงหมู่บ้าน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
  • เปิดวาร์ปมาโดยใช้ Space Stone 2 วินาทีถึง ซึ่งคนเดียวที่ทำได้ชื่อธานอส

นักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้ว่าจะเข้า – ออกหมู่บ้านด้วยวิธีไหน จะเลือกแบบเดินเข้า – เดินออกก็ได้ , เลือกแบบนั่งแพเข้า และนั่งแพออกก็ได้ โดยจุดทางเข้าและทางออกจะคนละที่กัน หรือจะเลือกแบบเดินเข้า แล้วนั่งแพออกมาก็ได้ แต่ละวิธีการเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่างกัน

แต่ถ้าเอาแบบครบรส ผมเลือกแบบเดินข้ามเขาไปที่หมู่บ้าน แล้วนั่งแพออกมา แพ็คเกจนี้จะอยู่ที่คนละ 1,200 – 1,400 บาท (ขึ้นอยู่กับจำนวนเพื่อนร่วมทริป) ซึ่งเราจะได้ทั้งไกด์นำทาง ที่พักแบบนอนรวม อาหารเย็น และอาหารเช้า รวมไปถึงแพ ที่มีไกด์ถ่อแพให้เราด้วย

ส่วนเส้นทางเดินเข้าเป็นยังไง สรุปให้เลยว่า ‘ไม่ยาก’ ทางไม่ได้ชันมาก และไม่อันตรายมากนัก เพราะเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินทางเป็นปกติ เพียงแต่ว่าจะเดินช้า หรือเร็วขึ้นอยู่กับขาเราล้วนๆ ถ้าฟิตมาก 1 ชั่วโมงนิดๆ ถึง ถ้าไม่ฟิตก็ 2 ชั่วโมงหน่อยๆ

ส่วนขากลับนี่ผมว่าไฮไลท์เลย ก็คือถ่อแพ นี่แหละ แพในที่นี้ก็คือแพไม้ไผ่ ชาวบ้านจะไปตัดไม้ไผ่มาสานเป็นแพ มี 2 ขนาดคือ ขนาดเล็กนั่งได้ 3 คนรวมไกด์ และขนาดใหญ่นั่งได้ 5 – 7 คนรวมไกด์

ความมันก็คือผมนั่งแบบไซส์เล็ก และแพไซส์เล็กเนี่ยกฎมีอยู่ว่า ต้องมีคนนึงมาช่วยไกด์ถ่อแพ ผมก็เลยได้ประสบการณ์ถ่อ ครั้งแรกในชีวิต ที่เจอทั้งน้ำปกติ และน้ำเชี่ยว หลบแก่งหินตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมง โคตรเอกซ์ครูซีฟ

ยังดีที่ผมไปช่วงหน้าหนาว น้ำในแม่น้ำแม่แตงไม่ลึกมาก บางช่วงเราก็กระโดดไปเล่นน้ำได้ แต่ถ้ามาช่วงหน้าฝน ไกด์บอกผมว่า น้ำลึกจนไม้ไผ่ที่เอาไว้ค้ำถ่อแพ ปักไปไม่ถึงก้นแม่น้ำ…

ฟังแล้วเสียวเลย เพราะมันอันตรายใช้ได้ จึงต้องใส่ชูชีพตลอด ยังโชคดีอยู่บ้างที่น้ำสูงก็จะไม่เจอแก่งหิน แต่ช่วงน้ำน้อย อย่างหน้าหนาว จะมีแก่งหินโผล่มาเยอะ นักท่องเที่ยวที่เป็นผู้ช่วยแพถ่อไม่ดี หลบหินไม่ทัน ชนแก่งหินแตก แวะซ่อมกลางทางก็มี

ส่วนผมโชคดี และน่าจะฝีมือด้วย (โม้จริงๆ) ถ่อแพมารอดไม่แตก ไม่จม
แต่มีชนหินนิดหน่อย พอให้ตื่นเต้น ไม่งั้นเดี๋ยวชีวิตราบรื่นไป

โป่งแง้น ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา แล้วเราอยู่ยังไง

ถ้าไม่นับไปกางเต้นท์ที่กลางป่าที่ผมเคยไปแล้วไม่มีทั้งน้ำประปา ไฟฟ้า และห้องน้ำ

การมาเยือนบ้านโป่งแง้น คือครั้งแรกในชีวิตผมเลย ที่อยู่ในจุดที่ไม่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นต่อชีวิตเราเลย เมื่อถนนมาไม่ถึง ก็เลยทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ไม่ตามมา น้ำประปาที่ใช้ เป็นประปาภูเขา ที่ต่อมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำกิน น้ำใช้ น้ำที่เราอาบกันอย่างเย็นยะเยือก ก็มาจากภูเขาตลอดทั้งปีนี่แหละ

เมื่อประปาไม่มี ดังนั้นไฟฟ้าก็ไม่มีเลย ที่นี่ก็เลยต้องใช้โซลาร์เซล ในการเก็บพลังงานเพื่อที่ตอนกลางคืนจะเอาไฟออกมาใช้ ชาวบ้านจะใช้ไฟฟ้าแค่ช่วงหัวค่ำ หลังจากนั้นไม่เกิน 3 – 4 ทุ่ม หรือไวกว่านั้นแสงสว่างจะถูกดับลง เหลือแค่เพียงความมืดมิด ชีวิตของชาวโป่งแง้น เป็นอย่างนี้มาตลอด

นักท่องเที่ยวที่มาเยือนโฮมสเตย์ก็จะใช้ชีวิตภายใต้กฎเดียวกันคือ มีไฟฟ้าให้ใช้ไม่เกิน 4 ทุ่ม จากนั้นเมื่อไฟดับลง แสงสว่างที่เหลืออยู่ก็คือกองไฟ ที่ก่อขึ้นมาให้ความอบอุ่น บรรยากาศรอบตัวเรามืดมิด ป่ายามค่ำคืนก็มืดมิด น่ากลัว ลึกลับ และน่าเกรงขาม จนคิดว่าเหมาะแก่การจัดรายการ The Ghost radio สัญจรมากๆ

เอ้า! ไม่ได้บิวท์ ผมพูดจริงๆ นะ บรรยากาศที่นี่น่าเล่าเรื่องผีมาก

ลองหลับตาเราจินตนาการตามผมนะ ข้างหน้าคุณคือแม่น้ำไหลผ่านตลอดทั้งคืน ฝั่งตรงข้ามคือต้นไม้ใหญ่ยืนต้นเต็มไปตลอดสองข้างทาง และมันมืดมากๆ จนเห็นแค่เงาใหญ่ๆ จากแนวป่า น่ากลัวไหมล่ะ? นาทีนั้นใครชวนเล่าเรื่องผี ผมคงจัดให้งามๆ

เสียดายที่ไม่มีใครถามว่า “มีเรื่องผีไหม?” ไม่งั้นนะ บันเทิง!

แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบความลึกลับ ความมืดของที่นี่จะทำให้คุณจะเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าที่ขึ้นถี่แทบทุกตารางนิ้ว ตั้งแต่ผมไปเที่ยวกลางป่า กลางเขามา ผมว่าโป่งแง้น คือจุดที่ผมมองเห็นดาวมากที่สุดติด 1 ใน 3 เพราะความมืดนี่แหละ ที่ทำให้เรายิ่งเห็นดาวชัดเจนมาก มากเสียจนผมคิดว่าภาพข้างหน้าที่เราเห็นนี่ จะมีโอกาสได้เห็นอีกทีจากที่ไหน ถ้าไม่ใช่โป่งแง้น

อันที่จริง ผมก็สงสัยว่าคนที่นี่เขาอยู่กันได้ยังไง ในพื้นที่ที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบนี้ นักท่องเที่ยวอย่างเราก็คงรู้สึกไม่ปกติเท่าไหร่ แต่คนในพื้นที่เขาคิดอย่างไร ผมไม่สามารถทราบได้จริงๆ

แต่ก็มีคำถามแหละครับว่าการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานจริงๆ มันควรจะเข้ามาถึงที่หมู่บ้านนี้ไหม? ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหมู่บ้านนี้ตกสำรวจหรือเปล่า สิ่งจำเป็นจึงไม่ได้มาถึงหมู่บ้านนี้

จนกระทั่งผมเห็นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง อบต. ของผู้สมัคร 2 พรรค ที่มาติดอยู่ในหมู่บ้านโป่งแง้น พร้อมสโลแกนเลิศหรูว่าจะเข้ามาช่วยพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างไร

หมู่บ้านนี้ไม่ได้ตกสำรวจนี่น่า…แต่ทำไมนะ

โป่งแง้น เสน่ห์อยู่ที่ตรงไหน ทำไมเราถึงต้องมา

แล้วความที่หมู่บ้านเล็กมาก จนสามารถเดินทั่วได้ภายในไม่เกิน 20 นาที จะไปสำรวจเดินป่าเองก็ไม่ได้เพราะไม่มีไกด์นำทาง เดินไปมั่วๆ หลงขึ้นมา จะเป็นภาระคนอื่นเปล่า ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือเดินร่อนคุยกับคนไปทั่วหมู่บ้าน และนักท่องเที่ยวที่เราพอจะเข้าไปคุยได้

อย่างตอนผมมาอยู่ที่โป่งแง้น กิจกรรมหลังจากที่โฮมสเตย์ดับไฟ มีอยู่ไม่กี่อย่างครับ

ถ้าไม่ผิงไฟนอนดูดาว นั่งคุยกันยาวๆ กับเพื่อนใหม่ที่บังเอิญมาเจอกันที่นี่ ก็อาจจะเข้านอน แต่หัวค่ำ ห่มผ้าหนาๆ หลับยาวไปเลย เพราะอากาศโคตรน่านอนหรือสุดท้ายนั่งเฉยๆ อยู่กับตัวเอง จนหลับไป

เมื่อไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ถ้าไม่ได้โหลดหนังมาดูเก็บไว้ สิ่งที่เราทำได้ก็เหลือแค่เท่านี้ ถ้าอยากจะหนีจากโลกภายนอก แบบไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารอะไรใดเลย ไม่อยากให้มีใครโทรมาตามตัวถามว่า งานที่สั่งไปส่งทันไหม มาที่โป่งแง้น จะไม่มีใครติดต่อคุณได้

นั่นอาจจะเป็นเสน่ห์ของโป่งแง้น ที่ผู้มาเยือนหลงไหลแบบไม่ต้องปิดโทรศัพท์
เพราะต่อให้เปิดมันก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี…

อีกหนึ่งสิ่งที่ผมชอบคือ เราได้อยู่ใกล้ธรรมชาติชนิดที่ว่าเรากับธรรมชาติสนิทกันมากแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ถ้าได้นั่งเฉยๆ จริงๆ อยู่ตรงชานบ้านพักแล้วเงี่ยหูฟัง เสียงโดยรอบที่เราได้ยินคือ เสียงน้ำไหลตลอดเวลาที่ฟังเพลินมากกว่าเสียงน้ำไหลที่เราเปิดในยูทูบฟังระหว่างทำงาน ฟังของจริงมันสุดยอดกว่าจริงๆ

นอกจากเสียงน้ำไหลก็จะมีเสียงนกร้อง เสียงสัตว์ป่า หรือกระทั่งเสียงของป่า ดังออกมาตลอดรอบตัวแบบเดาไม่ได้ แต่เสียงของธรรมชาติโคตรเพราะ เหมือนจะเขียนเอาหล่อ แต่ผมพิมพ์มาจากใจ (โดยใช้นิ้วพิมพ์นี่แหละ…)

บางคนอยู่ที่นี่อาทิตย์หนึ่ง หรือเดือนนึงแล้วค่อยกลับก็มี นานขนาดนี้เขาไม่ได้มาเที่ยว แต่มาลองใช้ชีวิตแบบตัดสิ่งรบกวนออกไปให้ได้มากที่สุดเพื่อสำรวจจิตใจตัวเองแหละมั้ง

สรุปนี่มันการท่องเที่ยว หรือการฝึกฝนตนเองผมก็ไม่รู้แหละ แต่ที่สัมผัสได้จากที่ผมมาลองใช้เวลาที่นี่โดยตัดสิ่งรบกวนออกไปก็พบว่า เฮ้ย! ก็ดีนะ เพราะเมื่อเราออกจากป่าไป เราก็จะได้รู้ว่าการไม่ได้รับรู้อะไรจากโลกภายนอก มันดีมากแค่ไหน

เพราะทันทีที่ผมออกมาจากหมู่บ้าน แล้วเปิดมือถือ โลกก็ต้อนรับผมด้วยข้อความว่า
“อังคารนี้มีนัดขายงานลูกค้า อย่าลืมส่งสไลด์มาให้เช็คก่อนด้วยล่ะ…”

ไม่แน่ใจว่าตอนที่ผมเขียนเล่าเรื่องโป่งแง้น คนจะรู้จักสถานที่แห่งนี้เพิ่มมากขึ้นไหม แต่หากมีโอกาส ก็อยากชวนให้นักเดินทางลองไปสัมผัสบรรยากาศโฮมสเตย์ ที่นี่สักครั้ง

ผมเชื่อว่าต่อให้เดินทางเข้าไปอย่างยากลำบาก แต่ถ้ากลับออกมาแล้ว คุณจะมีเรื่องเล่า และมีคอนเทนต์ให้ตัวเองเล่าต่อแน่ๆ

สุดท้ายนี่คำว่า ‘โป่งแง้น’ หมายถึงอะไร ผมไม่มีคำตอบให้นะครับ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า