ป้ายยาหนังสือการเมือง ครบจบจาก “งานหนังสือ 2566”

งานสัปดาห์หนังสือ 2566 เดือนตุลาคม (Book Expo Thailand 2023) หรือ มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 28 ได้เริ่มขึ้นแล้ว ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รอให้เหล่าแฟนคลับคนรักหนังสือเข้าไปซื้อไปหาขุมทรัพย์แห่งความรู้ ทีมงาน The Modernist เองก็ไม่พลาด ไปสำรวจงานนี้ และหยิบเอาหนังสือการเมืองชั้นดีมาป้ายยาทุกคน

จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ มหาจักรวรรดิพันปีแห่งใจกลางยุโรป

เริ่มต้นด้วยหนังสือ “จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ มหาจักรวรรดิพันปีแห่งใจกลางยุโรป: Holy Roman Empire” ของสำนักพิมพ์ยิปซี เขียนโดย ภัทรพล สมเหมาะ เล่าย้อนไปในยุคจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์หลังยุคจักรวรรดิโรมันเดิมล่มสลาย ซึ่งถึงจะชื่อเหมือนกันแต่มีความแตกต่างกัน เพราะจักรวรรดิโรมันที่เราติดภาพจูเลียสซีซาร์ หรือเสาหินโรมัน นั้นเป็นจักรวรรดิของชาวละตินในพื้นที่อิตาลี ขณะที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้นให้ภาพของชาวเยอรมนีในพื้นที่ยุโรปตอนกลาง แถมมีบุคคลสำคัญอย่างจักรพรรดิชาร์เลอมาญ เป็นการเริ่มต้นจักรวรรดิใหม่ที่สืบทอดต่อเนื่องจากจักรวรรดิโรมันเดิม เหมือนที่บทนำหนังสือได้กล่าวไว้ว่า “อินทรีแห่งโรมล่มไป อินทรีตัวใหม่ได้เกิดขึ้นภายใต้การนำของเผ่าเยอรมัน”

หนังสือเล่มนี้จะพาไปท่องตั้งแต่จุดกำเนิดในช่วงยุคกลางจนถึงวันล่มสลายในสมัยนโปเลียน เรียกได้ว่าเป็นผลงานเรื่องจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์น้อยชิ้นที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยให้ผู้อ่านชาวไทยได้เข้าถึงเนื้อหาทางประวัติศาสตร์และการเมืองของยุโรปได้ง่ายขึ้น

และที่สำคัญการร้อยเรียงเนื้อหาและเล่าออกมาผ่านตัวอักษรเป็นแบบฉบับสำนักพิมพ์ยิปซี ที่เน้นเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ยุโรปโดยไม่ใช่งานเขียนวิชาการเกินไป ให้ผู้อ่านได้เดินตามประวัติศาสตร์ผ่านตัวอักษร ทำให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย สามารถติดตามเรื่องราวได้ตลอดเวลา

ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติยุโรป 1789 – 1848

“ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติยุโรป 1789 – 1848” ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เขียนโดย เอริค ฮ็อบส์บอร์ม นักประวัติศาสตร์สังคมนิยมผู้โด่งดัง แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ แน่นอนว่าฟ้าเดียวกันจับผลงานเล่มนี้มาแปลย่อมการันตีในแง่เนื้อหาทางประวัติศาสตร์การเมืองที่ต่างออกไปจากประวัติศาสตร์แนวชาตินิยม

ผลงานชิ้นนี้เรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง คือการเล่าประวัติศาสตร์ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ การปฏิวัติของฝรั่งเศส ที่ส่งผลการเป็นมรดกปฏิวัติไปทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นในยุโรปเอง จนถึงทวีปอเมริกา มีผลกระทบในแง่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทางเศรษฐกิจ เกิดกระบวนการชาตินิยม ตลอดจนวิทยาการความก้าวหน้า

หนังสือเล่มนี้จะเล่าเรื่องราวการปฏิวัติรวมถึงผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างกว้างๆ ไม่ได้เล่าแบบเจาะลึกมากนัก รวมถึงมีข้อมูลเชิงตัวเลขและเน้นให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในบริบททางสังคมระดับฐานรากหรือประชาชน มากกว่าจะเขียนถึงชนชั้นนำ และยังมุ่งเล่าให้เห็นภาพผ่านเศรษฐกิจตามสไตล์นักประวัติศาสตร์สังคมนิยม ทำให้ผู้อ่านต้องศึกษาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคแบบพื้นฐานมาเสียก่อน จึงจะทำให้สามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ร้อยเรียงเรื่องราวตาม พ.ศ. หรือตามลำดับเหตุการณ์ ทำให้ผู้อ่านต้องมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์อยู่ในหัวพอสมควร ที่สำคัญต้องร้อยเรียงเรื่องราวอย่างเข้าใจมาเบื้องต้นก่อนที่จะหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

ถึงจะดูอ่านยากสักนิด แต่เมื่อได้อ่านแล้วต้องติดใจและยากจะวางลงอย่างแน่นอน เพราะมีเรื่องราวที่ประวัติศาสตร์ในห้องเรียน รวมถึงตำราในไทยไม่ค่อยกล่าวถึง รวมถึงมีแง่มุมที่แตกต่างออกไปจากผลงานที่เขียนถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องเดียวกันอีกด้วย

ทหารกับประชาธิปไตยไทย : จาก 14 ตุลาฯ สู่ปัจจุบันและอนาคต

หนังสือเล่มถัดมาคือ “ทหารกับประชาธิปไตยไทย : จาก 14 ตุลาฯ สู่ปัจจุบันและอนาคต” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน เขียนโดย ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข การันตีในแง่เนื้อหาข้อมูลและคุณภาพอย่างแน่นอน แถมยังเหมาะกับสถานการณ์การเมืองไทยที่สังคมตั้งคำถามกับกองทัพอยู่ตลอดเวลา ทั้งในแง่กำลังพล งบประมาณ รวมถึงการแทรกแซงการเมืองของทหาร

หนังสือเล่มนี้พาไปย้อนบทบาทของทหารไทย และบริบทของยุคสมัยตั้งแต่ พ.ศ. 2500 จนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าในแต่ละยุค บทบาทของกองทัพไทยในแง่ของการต่อรองอำนาจกับรัฐบาลพลเรือน รวมถึงเป็นเปลือกหอยคอยดูแล จนถึงควบคุมรัฐบาลพลเรือนย่อมแตกต่างกันออกไป แต่ที่สำคัญคือแนวคิดเรื่องการยึดอำนาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทย

เหมือนที่บทนำของหนังสือได้กล่าวไว้ว่า หลัง 14 ตุลาฯ ชัยชนะของประชาชนเบียดขับทหารออกไปจากเวทีการเมืองได้เพียง 3 ปี การรัฐประหารก็กลับมาพร้อมกับทหาร และธำรงบทบาทในการเมืองไทยต่อเนื่องยาวนานถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าการเมืองภาคประชาชนนั้นแสนสั้นหากมองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและตั้งคำถามให้เราได้มองไปถึงอนาคตว่า เหตุใดชัยชนะของประชาชนจึงสั้นนัก? เหตุใดอำนาจทหารจึงอยู่ยาว? และจะเป็นแบบนี้อีกนานแค่ไหน เชิญเปิดอ่านได้ใน ทหารกับประชาธิปไตยไทย : จาก 14 ตุลาฯ สู่ปัจจุบันและอนาคต

เนื้อในระบอบถนอม

หนังสือเล่มถัดมาคือ เนื้อในระบอบถนอม จาก สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เขียนโดย รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เรียกได้ว่าเป็นหนังสือภาคต่อจากงานของ ศ.ดร.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ (การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) ขณะที่งานของ ศ.ดร.ทักษ์ อธิบายการเมืองไทยในยุคสฤษดิ์ งานชิ้นนี้ก็เล่าถึงยุคต่อมาที่ทหารหรือทายาททางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ อย่าง จอมพลถนอม ขึ้นมามีบทบาทสืบทอดผลประโยชน์ของทหารและชนชั้นนำของไทยไว้ให้คงอยู่

หนังสือเล่มนี้เล่าตั้งแต่เส้นทางการเติบโตในกองทัพของจอมพลถนอม การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่พยายามลบภาพลักษณ์ยุคจอมพลสฤษดิ์ออกไป เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับตนเอง  และยังอธิบายถึงบริบททางประวัติศาสตร์ในยุคสงครามเย็นที่ประเทศไทยต้องจับมือกับสหรัฐอเมริกาเพื่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำไทย รวมถึงตัวจอมพลถนอมเอง ลงท้ายด้วยการสิ้นสุดระบอบถนอมหรือระบอบเผด็จการทหารสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สะท้อนภาพของการสลับขั้วการจับมือ และฉันทามติใหม่ของชนชั้นนำไทยที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงแอบแฝงระบอบจำแลงเพื่อดำรงผลประโยชน์ของกลุ่มพวกเขาให้คงอยู่

หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสมมากๆ กับการรำลึกถึงเหตุการณ์เดือนตุลาฯ สะท้อนมองการเมืองไทยในยุคทหารครองอำนาจ และยังสามารถมองมาถึงปัจจุบันที่ยังมีกลิ่นอายของสิ่งเหล่านี้อยู่แต่เพียงแค่จำแลงแปลงกายหรือพยายามแอบแฝงให้แนบเนียนยิ่งขึ้น โดยอ้างว่ามีประชาธิปไตย แต่มีการเลือกตั้งเป็นเพียงละครนั่นเอง

เมื่อสงครามมาเยือน (The Day War Came)

“เมื่อสงครามมาเยือน” (The Day War Came) จากสำนักพิมพ์ SandClock Books เขียนโดย Nicola Davies วาดภาพโดย Rebecca Cobb เป็นหนังสือการ์ตูนภาพสำหรับเด็กที่สะท้อนสถานการณ์โลก ณ ขณะนี้ได้ดีที่เดียวคือสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นว่า “สงคราม” เป็นความรุนแรงขั้นร้ายแรง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษยชาติ ทำให้เด็กๆ ที่อ่านได้รับรู้และตระหนักถึง และมองต่อไปว่าไม่ควรทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก 

เนื้อเรื่องเล่าผ่านภาพจากมุมมองของเด็กหญิงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม และกลายเป็นผู้ลี้ภัยที่ผู้ใหญ่เจ้าของประเทศปฏิเสธการต้อนรับ โดยใช้ภาพวาดที่ดูอ่อนหวานในช่วงต้น ทว่าให้อารมณ์ลุ่มลึกและสั่นสะเทือน และใช้ภาพสีที่หดหู่ยามภาวะสงคราม

อย่างไรก็ตาม หนังสือที่เกี่ยวกับสงครามเล่มนี้กลับไม่ได้ให้ภาพแห่งความสิ้นหวัง เพราะท่ามกลางสงครามยังมีฟ้าหลังฝนที่สวยงามเสมอ สิ่งสวยงามเหล่านั้นคือเด็กๆ ที่สำคัญระหว่างเด็กๆ ด้วยกัน ไม่มีกำแพงแห่งการเมืองสงครามและความเกลียดชังคอยขวางกั้น พวกเขาพร้อมเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เห็นอกเห็นใจ และพร้อมจะเข้าใจเด็กด้วยกันเสมอ

หนังสือเล่มนี้ยังให้แง่คิดให้ตระหนักถึงว่าแม้ไม่เกิดสงคราม เด็กๆ ของเราบางคน บางวันอาจจะต้องพบเจอกับความรุนแรงไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง และความเอื้อเฟื้อ เห็นอกเห็นใจนี้เอง ที่จะช่วยกอบกู้หัวใจที่บอบช้ำของพวกเขาได้ เพราะว่าเด็กๆ ของเราทุกคนคือดอกไม้งาม โปรดจงช่วยกันทำให้ดอกไม้งาม ยังคงงดงามเสมอและตลอดไป

หนังสือดีส่งต่อความรู้ฟรีจาก สกสว.

สุดท้ายแอบพาไปป้ายยาความรู้ดีๆ จากหนังสือดีส่งต่อความรู้ฟรีจาก สกสว. อาทิ “งบประมาณทหารไทย 2525 – 2534 วิสัยทัศน์และความคิดถึงเชิงนโยบาย” เขียนโดย ชัยวัฒน์ สถอานันท์ ที่เล่าถึงงบประมาณของกองทัพไทย การบริหาร รวมถึงวิสัยทัศน์ของทหารในยุคดังกล่าว

ที่สำคัญทาง สกสว. ไม่ใช่มีหนังสือเล่มนี้มาแจกฟรีเพียงเล่มเดียว แต่ยังมีหนังสืออีกมากมายมาแจกจ่ายเติมความรู้ให้กับประชาชนคนไทยผู้มีใจรักหนังสือ

แหล่งอ้างอิง : prachatai / matichonbook / sameskybooks / sameskybooks

Content Creator