หลังจากที่ “คริส โปตระนันทน์” ทิ้งระเบิดพร้อมตีจากพรรคก้าวไกล หนึ่งในคำพูดที่พูดถึง ก้าวไกล ในทำนองมีผู้บริหาร ที่ควบคุมพรรค รวมถึงกำหนดว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค ที่เรียกว่า “โปลิตบูโร”
เพื่อนๆ สงสัยไหมครับ ว่าคำนี้มีที่มาที่ไปยังไง วันนี้ The Modernist จะพาไปผจญภัย กับคำว่า “โปลิตบูโร”
คำนี้เริ่มต้นจาก “สหภาพโซเวียต” ตั้งแต่การจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบซาร์ของรัสเซีย เป็นระบอบคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต และที่สำคัญ “โปลิตบูโร” ได้กลายเป็นแกนหลักของพรรคในการกำหนดนโยบาย
“โปลิตบูโร” มักเป็นสถาบันสำคัญในการกำหนดนโยบายพรรค รวมถึงกำหนดทายาท ผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำของสหภาพโซเวียตต่อๆ มาด้วย และภายหลัง “โปลิตบูโร” ยังพยายามควบคุมอำนาจ บริหารภายในสหภาพโซเวียตอีกด้วย
มีสิ่งที่น่าจับตา ไม่ว่า ใครคนใดของสหภาพโซเวียต จะขึ้นดำรงตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” หรือ “นายกรัฐมนตรี” มักจะได้ดำรงตำแหน่งในคณะ “โปลิตบูโร” มาก่อน อาทิ กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย ก็เคยดำรงตำแหน่งในคณะนี้มาก่อน จะขึ้นไปดำรงตำแหน่งผู้นำแห่งสภาพโซเวียต
ข้ามมาที่จีน ประเทศคอมมิวนิสต์ในโลกยุคปัจจุบัน ก็มี “โปลิตบูโร” เช่นเดียวกัน ภาษาอย่างเป็นทางการถูกเรียกว่า “คณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง” ณ ปัจจุบัน มี 7 คน ถูกเรียกว่า “7 อรหันต์”
ในอดีตก่อนประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะขึ้นมามีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดี เจียง เจ๋อ หมิน ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา และตัวประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เอง ก็เคยดำรงตำแหน่งใน คณะนี้อีกด้วย
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ใครก็ตามที่เข้ามาดำรงตำแหน่งใน “โปลิตบูโร” ของจีน มักถูกจับตามองว่าจะเป็นทายาททางการเมือง ประธานาธิบดี รวมถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศจีนอีกด้วย
จะเห็นได้ในปัจจุบันอย่าง “หลี่ เฉียง” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของจีน ก็ดำรงตำแหน่งใน “โปลิตบูโร” อยู่ลำดับที่ 2 รองจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อีกด้วย ทำให้ถูกจับตา ว่าอาจเป็นทายาททางการเมืองของ สี จิ้นผิง อีกด้วย
แสดงให้เห็นว่าคำว่า “โปลิตบูโร”มักใช้กันในประเทศโลกคอมมิวนิสต์ อย่างที่ยกตัวอย่างอดีตเจ้าพ่อคอมมิวนิสต์อย่าง “สหภาพโซเวียต” และประเทศยักษ์ใหญ่ ที่ถึงแม้ปัจจุบันจะเป็น 1 ประเทศ 2 ระบบ อย่าง “จีน” ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังมีบทบาท และแกนกลางที่น่าจับตาทางการเมืองมาโดยตลอดก็คือ “โปลิตบูโร”
แต่เมื่อจับมาเชื่อมโยงกับการเมืองไทย ณ ขณะนี้ จะพบว่าคำว่า “โปลิตบูโร” ที่กำลังพูดถึง ถูกใช้ผิดช่วงเวลา
เพราะหากเลือกใช้ ณ ยุคสงครามเย็น โดยชี้หน้าว่าฝั่งนั้นมี “โปลิตบูโร” ฝั่งนี้ “เป็นคอมมิวนิสต์” อาจถูกจับยัดถังแดง หรืออาจถูกโจมตี และถูกจับกุมจากภาครัฐเอาได้
ณ ปัจจุบัน คำว่าคอมมิวนิสต์ หรือ คำอะไรก็แล้วแต่ที่ถูกนิยามว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น “โปลิตบูโร” ได้ถูกลดทอนความสำคัญที่จะถูกเพ่งเล็งไปแล้ว
เพราะว่า ประเทศไทยกำลังหันหลังให้ “ตะวันตก” และกำลังซูฮก “ตะวันออก” โดยเฉพาะพี่ใหญ่แห่งภูมิภาคอย่างจีน ไม่ว่าจะความสัมพันธ์ทางด้านการทหาร หรือการซื้ออาวุธจากจีน หรือ การแสดงออกของผู้นำไทย อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แสดงออก อย่างพินอบพิเทา ระหว่างการต้อนรับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำของจีน ที่มาประชุมเอเปค ณ ประเทศไทยที่ผ่านมา
และฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทย ที่กุมอำนาจอยู่ ณ ปัจจุบัน มีท่าทีรังเกียจประชาธิปไตยแบบตะวันตก ห่างเหินอเมริกา และมักแสดงออกที่จะนิยมจีนมากขึ้นเรื่อยๆ
คำพูดชี้หน้าว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” รวมถึง “โปลิตบูโร” ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ดูจะหมดพลัง และไร้ประโยชน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือเรื่องง่ายๆ ว่าถูก “ด้อยค่า” ไปแล้ว
ที่สำคัญหากมองกันดีๆ คนการเมืองจะรู้กันดีว่าแต่ละพรรคการเมืองของไทย มักมีคนในพรรค เจ้าของพรรค ที่ล้วนมีนัย คล้าย “โปลิตบูโร” ด้วยกันทั้งนั้น
เพื่อนๆ คิดว่ายังไงครับ ที่มาที่ไปของคำว่า “โปลิตบูโร” เป็นอย่างไร และคิดเห็นยังไง สามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเราได้หมด เพราะเราเชื่อว่า ทุกความคิดเห็นล้วนส่งผลต่ออนาคต และประเทศของเราได้