fbpx

ความ (ไม่) หลากหลายทางเพศ ในการอภิวัฒน์สยาม 2475 กับชานันท์ ยอดหงษ์

เดือนมิถุนายน 2565 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายประการ

ประการแรก นี่คือ Pride Month เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศที่เรา LGBTQ+ ต่างออกมาเฉลิมฉลองและแสดงความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง ประการที่สอง ร่างฯ พรบ.สมรสเท่าเทียมผ่านวาระแรกในสภาไป ซึ่งถือเป็นหมุดหมายอันดีต่อความเท่าเทียมทางเพศ และประการสุดท้าย ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2565 นี้ คือครบรอบ 90 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ การอภิวัฒน์ 2475 ที่คณะราษฎรเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย 

แน่นอนว่าในเดือนที่ผู้คนตื่นตัวเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นขนาดนี้ เราอดคิดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วในการอภิวัฒน์ 2475 เมื่อ 90 ปีก่อนนั้น ความหลากหลายทางเพศในสังคมสมัยนั้นเป็นอย่างไร และคณะราษฎรที่เปรียบเสมือนตัวเอกของเหตุการณ์นี้ได้ทำอะไรที่ส่งผลต่อกลุ่มคนความหลากหลายทางเพศบ้าง

และคงไม่มีใครจะสามารถจะให้คำตอบเราในเรื่องนี้ได้ดีเท่ากับ ปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ที่นำเสนองานประวัติศาสตร์สะเทือนฟ้าสะเทือนดิน เช่น “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6 และ หลังบ้านคณะราษฎร ซึ่งเป็นงานทางประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวของเพศวิถีอยู่ในนั้น 

ปัจจุบันเขาเป็นผู้ดูแลนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศพรรคเพื่อไทย และยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พรบ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นร่างของพรรคฝ่ายค้าน และ ร่าง พรบ.คู่ชีวิต ของทางฝ่ายรัฐบาลอีกด้วย 

เรามาเจอกับเขาที่สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย วันนี้เขาแต่งตัวด้วยสีสันสดใส

แต่เราไม่มั่นใจนักว่าเรื่องราวที่เขาเล่าจะสดใสเหมือนกับเสื้อผ้าของเขาหรือเปล่า

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

1
เพศวิถีในสยาม 2475

ในช่วงก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง องค์ความรู้เกี่ยวกับ LGBTQ+ มีมากน้อยแค่ไหน

น้อยนะ คือตอนนั้นหลังจากมีการอภิวัฒน์ 2475 มันจะเป็นลักษณะที่ทุกประเทศที่เริ่มเป็นรัฐประชาชาติ ยิ่งประเทศที่เกิดใหม่หลังการปฏิวัติเปลี่ยนจากระบอบเก่ามาสู่ระบอบใหม่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ  หรืออดีตประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมแล้วก็ปลดปล่อยตัวเองออกมา ก็จะมีความพยายามในการปฏิวัติวัฒนธรรมที่จะทำให้ประชาชนทุกคน ต้องผลิตลูกเพื่อการเจริญพันธุ์ ประชากรที่เกิดมาจะเป็นแรงผลักดันประเทศให้เป็นมหาอำนาจ มันจะมีการแบ่งความเป็นชาย ความเป็นหญิงอย่างเข้มข้นมาก ผู้หญิงจะต้องเป็นแม่บ้าน เป็นเมียเพื่อผลิตลูก ผู้ชายก็เป็นทหาร เป็นคนทำงานนอกบ้าน มีอำนาจในการที่จะมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะ มันจะจึงแบ่งออกเป็น Binary of position อย่างเข้มข้นมากๆ คนที่เป็นหมัน คนที่ไม่อยากมีลูก คนที่ไม่อยากแต่งงาน คนที่รักเพศเดียวกัน ก็จะถูกผลักออกไปให้ไปอยู่ท้ายแถวของสังคมในตอนนั้น เผลอๆ บางประเทศอาจมีความพยายามอย่างเข้มข้นที่จะไม่ให้คนคนนั้นรักเพศเดียวกันด้วย เช่นในจีน เพราะงั้นมันก็เป็นเรื่องปกติในสยามตอนนั้น 

หรือในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เขาก็จะเข้มข้นมากๆ เรื่องความเป็นชายความเป็นหญิงที่แบ่งกัน และความพยายามที่จะให้มีการผลิตลูกออกมา จึงทำให้คนรักเพศเดียวกันกลายเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นในตอนนั้น 

ในสมัยนั้นมีคำที่ใช้เรียกคนรักร่วมเพศกันแบบไหนบ้าง

ตอนนั้นเขาจะใช้คำว่า “ลักเพศ” ในวรรณกรรมสมัยก่อน เช่น จันดารา ก็จะใช้คำว่าลักเพศ หรือกะเทยไปเลย แล้วก็จะมีคำว่า “ถั่วดำ” ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์คุณถั่วดำ (การุญ ผาสุก) เปิดห้องให้ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กัน 

เลยเป็นที่มาของประโยค “อัดถั่วดำ”

ใช่ อย่างคำว่า “เกย์” เนี่ย มันก็พึ่งมาเริ่มในช่วงทศวรรษ 2500 มีนักข่าวชาวอเมริกันไปซื้อเด็กผู้ชายมา แล้วก็โดนฆ่า แล้วเขาเป็นนักข่าวใหญ่ที่ดังมาก ก็เลยกลายเป็นกระแส คนฆ่าก็เป็นเกย์ แล้วเกย์คืออะไร ก็มาอธิบายว่า เกย์คือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ไม่ก็เป็นเรื่องของการขายบริการทางเพศ ช่วงที่คำว่าเกย์เริ่มถูกใช้ใหม่ๆ มันก็มีความหมายคลาดเคลื่อนกับที่เราใช้ในปัจจุบัน มันดูเป็นอาชีพ ดูเป็นพฤติกรรมในเรือนจำมากกว่า 

แต่ก่อนหน้านี้อย่างในเรื่องจันดารา (2544, 2555-2556) เขาจะใช้คำว่าเป็นลักเพศ เป็นกะเทย มันก็จะเป็นแบบนั้นไป เป็นการมองว่ามันเป็นเรื่องแปลก ผิดปกติ

คำว่า “กะเทย” ก็จะใช้สำหรับคนที่ออกสาวไปเลยใช่ไหม

มันหาผัวยากอะนะ (หัวเราะ) คือจะหาผัวได้มันต้องดูเป็นผู้หญิงให้มีความน่าดึงดูด ก็แต่งหญิงกันไป ไปเช่าห้องกันกับเพื่อนๆ แต่งหน้ากัน แล้วค่อยออกไปข้างนอก

แสดงว่าระบบความคิดของคนในสมัยนั้นเขาไม่สามารถจินตนาการถึงคนที่มีความเป็นผู้ชาย ไม่ได้ออกสาว แต่แค่ชอบผู้ชายด้วยกันได้เหรอ

มันยังเป็นระบบความคิดแบบสองเพศอยู่ (gender binary) ถ้าคุณไปแอ๋วผู้ชาย แล้วผู้ชายกลัวคุณ เขาอาจต่อยคุณก็ได้ แต่ถ้าคุณมีความเป็นผู้หญิงมันเหมือนคุณมีโล่ป้องกันอยู่ ทำร้ายผู้หญิงไม่ได้ แต่มันก็เริ่มคลี่คลายพอเริ่มมีเกย์บาร์มากขึ้น คนก็จะไปสังสรรค์กัน และไปจีบกันในนั้น ก็ไม่ต้องมาแต่งหญิงแล้ว ซึ่งเกย์บาร์ก็เป็นอิทธิพลจากอเมริกา ก็จะเริ่มจากสีลม เจริญกรุง เริ่มจากเส้นตรงนั้นเป็นต้นมาที่มีฝรั่งเยอะ

Homophobia (อาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน) ในสมัยนั้นรุนแรงแค่ไหน และรัฐทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้

มันอยู่ในรูปแบบของเรื่องเวรกรรมมากกว่า มีโดนจับบ้างอะไรบ้าง เช่น ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กะเทยที่แต่งหน้าจะโดนจับ ส่วนใหญ่ในพื้นที่สาธารณะอย่างสวนลุมพินี ที่มีสุมทุมพุ่มไม้ ก็จะมีคนไปพลอดรักกัน ทั้งชาย-หญิง และชาย-ชาย มีการจัดงานเต้นรำ กะเทยบางคนแต่งหญิงไป แล้วก็โดนจับ แม้กระทั่งถนนราชดำเนิน ที่ตอนดึกๆ วันศุกร์เสาร์ ในช่วงสงครามเย็นหลังเป็นต้นมา มันจะมีเพลงเปิด แล้วตรงนั้นจะมีม้านั่ง ตรงฟุตพาตจะมีส่วนหย่อมยาวไปตั้งแต่สนามหลวงจนถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ยาวมาก หลายกิโลเหมือนกันนะ กะเทยก็จะยืนเรียงกันไปหมดเลย มันก็มีการจับ เขาก็จะมองว่ากะเทยกับจิ๊กโก๋ทำทัศนียภาพของประเทศเสื่อมเสีย 

หรืออย่างบางคนที่ไปดูละครหรือดูหนังที่ศาลาเฉลิมไทย แค่แต่งหน้าไป ออกมาก็โดนจับแล้ว เพราะโดนหาว่าค้าประเวณี เพราะตอนนั้นมันก็มีกฎหมายห้ามค้าประเวณีแล้ว ก็เลยทำให้ สน.สำราญราษฎร์ กับ สน.ลุมพินี กะเทยเดินเข้าเดินออกเพราะโดนจับบ่อยมาก (หัวเราะ) กะเทยก็แบบว่า โอเค ฉันโดนจับ เพราะฉันแต่งสวยใช่ไหม มันก็เป็นเรื่องขำๆ กันของกะเทยตอนนั้น และมันก็มีการแบ่งโซนกัน เช่น กะเทยเด็กจะไปอยู่โซนสะพานมัฆวานรังสรรค์ ก็จะไปกินพวกนายร้อย ส่วนถ้ากะเทยแก่หน่อย ก็จะไปอยู่ตรงสนามหลวงเพราะไฟมันจะมืดๆ กว่า ยืนเรียงกันเป็นตับเลย ใครข้ามแดนมาก็จะโดนแซะบ้างไรบ้าง คนที่ไปฉี่แถวนั้นก็จะโดนกะเทยแซวบ้าง บางคนโกรธก็ถีบกะเทยตกน้ำก็มี

คนในสมัยนั้นรับรู้เรื่องราว “นายใน” มากแค่ไหน

ถ้าเป็นคนนอกวังก็คงไม่รู้ ก็คงแค่สงสัยว่าทำไมกษัตริย์ถึงยังไม่แต่งงาน ส่วนชนชั้นนำก็คงพูดกันบ้างว่าไม่แต่งงานเพราะอะไร ก็เป็นที่ติฉินนินทาในหมู่ชนชั้นนำ

ในช่วงก่อนที่คณะราษฎรจะเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกสนธิสัญญาเบาว์ริง หนังสือพิมพ์มีเสรีมากถึงขั้นสามารถวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาได้ สื่อเคยวิพากษ์ถึงเรื่องรสนิยมทางเพศของรัชกาลที่ 6 ไหม

ไม่ถึงขั้นนั้น แต่เขาจะโจมตีเรื่องผัวเดียวหลายเมียมากกว่า เพราะถือว่าเป็นเรื่องการกดขี่สตรี เป็นความไม่เท่าเทียมทางเพศ เขามองว่าชนชั้นสูงกดขี่ประชาชน กดขี่ผู้หญิง และก็จะพูดเรื่องการที่สยามไม่ศิวิไลซ์ ยังล้าหลังก็เพราะพวกเจ้านี่แหละ ถ้าประชาชนมีส่วนร่วม มีรัฐธรรมนูญ มันก็จะศิวิไลซ์มากขึ้น

2
ความก้าวหน้าทางเพศของคณะราษฎร

ความก้าวหน้าของคณะราษฎรในเรื่องความหลากหลายทางเพศ

ในสมัยของการอภิวัฒน์ กฎหมาย Sodomy Law (กฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน) ได้ถูกยกเลิกไป ซึ่งกฎหมายนี้มีแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นพระราชกำหนดลักษณะข่มขืนร่วมประเวณี ร.ศ.118 (พ.ศ.2442) กำหนดเลยว่าการร่วมเพศทางเวจมรรค (ทวารหนัก) การร่วมเพศกับสัตว์เดรัจฉาน จะต้องจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500 บาท พอต่อมาผ่านมา 9 ปี ก็มีกฎหมายลักษณะอาชญา ร.ศ.127 ในมาตรา 242 เขาใช้คำว่า “ชำเราผิดธรรมดามนุษย์” ต้องจำคุก 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี ปรับ 50 บาทขึ้นไปจนถึง  500 บาท ซึ่งมันเยอะมากในช่วงเวลานั้น เพราะว่าตอนนั้นสยามเป็นประเทศกึ่งอาณานิคม เขาก็ไปเอากฎหมายจากอินเดียมา และอินเดียก็ไปรับจากอังกฤษมาอีกที เพราะเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เขาก็เลยแปลกฎหมายออกมาเป็นมาตรา 242 อันนี้ เพราะงั้นกฎหมาย Sodomy Law มันก็เป็นกฎหมายอังกฤษ ประเทศที่เป็นอาณานิคมก็ใช้กฎหมายตัวนี้เหมือนกัน มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ก็ใช้

ต่อมาในปี 2499 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะถือว่านี่เป็นรัฐบาลคณะราษฎรหรือไม่ เพราะเขาก็เป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่การรัฐประหารของเขาในปี 2490 ก็เป็นการตัดความสัมพันธ์กับคณะราษฎรเหมือนกัน จริงๆ เขาก็พยายามรื้อฟื้นอุดมการณ์ของคณะราษฎรด้วย แต่ฐานอำนาจของจอมพล ป.ในเวลานั้น ไม่ใช่คณะราษฎรเหมือนแต่ก่อน แต่เป็นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เป็นคลื่นลูกใหม่ในเวลานั้น 

จอมพล ป. ก็ยกเลิก Sodomy Law ในปี 2499 จากการที่ในการประชุมสภา จอมพล ป. บอกว่านี่เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่หากเกิดจากการสมัครใจของทั้งสองฝ่ายก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ตราบที่คุณไม่ได้ข่มขู่ หรือไปกระทำเด็ก ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะผิดกฎหมาย ก็เลยมีการยกเลิกไป ก็ถือว่าเป็นความก้าวหน้ามากๆ ของรัฐบาลคณะราษฎร 

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเห็นด้วยในเพศวิถีนี้ แม้กระทั่งปรีดี พนมยงค์เองก็ใช้คำว่า ลัทธิลักเพศนิยม ซึ่งแปลมากจากคำว่า Homosexuality รวมไปถึง Lesbianism ปรีดีก็แปลทำนองว่า ลัทธิเลสเบียนนิยม แต่เราก็เข้าใจได้ว่าปรีดีเขียนในทศวรรษ 2500 มาแล้ว หลังจากช่วงที่คณะราษฎรไม่มีอำนาจแล้ว ปรีดีเขียนไว้ว่า “เป็นการใช้เสรีภาพที่มากเกินไป อาจทำให้ประชากรลดน้อยลง และอาจนำไปสู่การทำลายประชาธิปไตย” 

เพราะว่าประชาธิปไตยมันก็ต้องพึ่งประชาชนจำนวนมาก เพราะงั้นที่การประชาชนลดลง หรือไม่เพิ่มขึ้น อาจบั่นทอนประชาธิปไตยได้ นี่เป็นข้อกังวลเฉยๆ แต่ไม่ได้ออกมาเป็นกฎหมายหรือโจมตีด่าทอ ปรีดีกังวลคล้ายๆ กับที่กังวลเรื่องฮิปปี้ ซึ่งก็คือการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต 

อย่างนั้นเราสามารถพูดได้ไหมว่ามุมมองต่อรักร่วมเพศของปรีดี อิงมาจากความกังวลว่าระบอบประชาธิปไตยจะสั่นคลอน ไม่ใช่มาจากมุมมองว่าประชากรเป็นผลผลิตของชาติ หรือจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ

ใช่ ปรีดีเขาเชื่อแบบนั้น และเขาก็ไม่ได้คิดว่ามันเลวร้ายถึงขั้นจะต้องลงโทษ เป็นแค่เพียงข้อกังวล ซึ่งมาจากงานเขียนของปรีดี ถ้าจำไม่ผิดน่าจะมาจากช่วงทศวรรษ 2510 ซึ่งในเวลานั้นก็มีฮิปปี้แล้วด้วย มันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ปรีดีต้องต่อสู้กับคึกฤทธิ์ ปราโมชด้วย เพราะรักเพศเดียวกัน มันเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในวัง และมันส่งผลต่อประชาชนข้างนอก เช่นเดียวกับจิตร ภูมิศักดิ์ ก็พูดเหมือนกันว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน มันเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลมาจากผู้หญิงที่อยู่ในวังจำนวนมาก

นอกจากการยกเลิก Sodomy Law (กฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน) คณะราษฎรได้ทำอะไรที่เป็นคุณต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันอีกบ้าง

เราคิดว่าการยกเลิก Sodomy Law ก็เป็นคุณมากๆ แล้ว ในขณะที่อเมริกา กว่าจะยกเลิกกฎหมายนี้ได้ก็ปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ.2513) ขณะที่คณะราษฎรยกเลิกตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ก็ถือว่ามันก้าวหน้ามากๆ มีคุณูปการมากเพียงพอแล้วในช่วงเวลานั้นที่ความคิดความอ่านไม่ได้เหมือนกับพวกเราในปัจจุบัน

แล้วมีสิ่งที่คณะราษฎรทำแล้วเป็นโทษต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันบ้างไหม

ก็อาจเป็นเรื่องการผลิตซ้ำเรื่องความเป็นลักเพศ ความผิดธรรมชาติ ก็จะมีหนังสือในช่วงทศวรรษ 2480 ช่วงที่เน้นการผลิตประชากรมากๆ พวกคู่มือสมรส คู่มือแม่สำหรับการเลี้ยงลูก และในเอกสารราชการข้อปฏิบัติระหว่างผัวเมียก็จะมีการกำหนดเลยว่าธรรมชาติของมนุษย์ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงต้องคู่กันเพื่อให้เกิดลูก ไอ้การนิยามความเป็นธรรมชาติของเพศวิถี ที่มันไปผูกโยงกับอนามัยเจริญพันธุ์หรือการผลิตลูกมันไปซับพอร์ทการทำให้รัฐเป็นมหาอำนาจทางอ้อม เราว่าตรงนี้มันอันตราย อย่างที่เราเจอในปัจจุบันว่าชายหญิงคือเรื่องธรรมชาติ รักเพศเดียวกันคือผิดธรรมชาติ

ในบรรดาผู้ก่อการอภิวัฒน์สยาม ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีใครที่เป็นคนรักเพศเดียวกันบ้างไหม

ตอนนั้นมันยังไม่มีสำนึกแบบนั้น แต่มันจะมี Homoerotic เป็นความสัมพันธ์ที่รักใคร่ แน่นแฟ้น จากการที่อยู่ร่วมกันเกิดขึ้นในหมู่ทหาร และคณะราษฎรกลุ่มใหญ่ก็คือทหารบก แล้วอยู่ร่วมกัน อยู่บ้านเดียวกัน ฝึกมาด้วยกัน เรียนรุ่นเดียวกันเลย มันก็จะมีความสัมพันธ์ของจอมพล ป. กับ หลวงอดุลเดชจรัสที่ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นจนน่าสงสัย มีบันทึกว่ากินด้วยกัน ใช้กระเป๋าตังค์ร่วมกัน อยู่บ้านห้องเดียวกัน พอจอมพล ป.แต่งงาน ซึ่งตอนนั้นหลวงอดุลฯ ยังไม่ได้แต่ง หลวงอดุลฯ ก็จะมีกินข้าวที่บ้านจอมพล ป.ด้วยบ่อยๆ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงครามก็จะทำกับข้าวให้ รักกันมาก เคยคุยกันว่าถ้าเรียนจบแล้วจะไปอยู่กองเดียวกัน แต่พอคะแนนต่างกัน ก็เลยต้องแยกจากกัน จอมพล ป.ก็ไปแต่งงานที่พิษณุโลก แต่กลับมาทำงานร่วมกับหลวงอดุลฯ ครั้งหนึ่ง พอช่วงก่อนจะทำการอภิวัฒน์ หลวงอดุลฯ ก็ลาออกจากราชการจากต่างจังหวัด มาอยู่บ้านจอมพล ป.เป็นเดือน คุณหญิงละเอียดก็แปลกใจแล้ว มันต้องมีอะไรแน่ๆ เลย ทำไมถึงมา ก็มาประชุมหารือกันเคร่งเครียด แล้วมันจะมีรูปภาพที่หลวงอดุลฯ วาดให้จอมพล ป.ในห้องนอนด้วย มันก็ดู (ซี๊ดปาก) อีโรติคจังเลย มันก็เป็นส่วนเล็กๆ น้อยๆ ในบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีอยู่

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรี หลวงอดุลเป็นอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งอธิบดีกรมตำรวจตอนนั้นยิ่งใหญ่มาก จอมพล ป.ก็เกรงใจมาก แล้วในบทสัมภาษณ์อันหนึ่ง เขาถามจอมพล ป.ว่าทำไมไม่จัดการหลวงอดุลฯ จอมพล ป.ก็บอกว่า “ถ้าคุณคิดว่าความสัมพันธ์ของผมกับหลวงอดุลฯ เป็นอย่างไร ก็ไม่ต่างอะไรกับรัชกาลที่ 6 กับเจ้าพระยารามราฆพ” เขาก็บอกใบ้เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งคนที่เขาเขียนข่าวก็บอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมจอมพล ป.อธิบายอะไรที่มันคลุมเครือแบบนี้ แต่เรื่องอะไรที่พูดถึงในอดีตในวังก็จะขอไม่พูดถึงแล้วกัน นักข่าวก็เก็บความสงสัยอันนั้นไว้

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ส่งผลต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันอย่างไร

ในช่วงเวลานั้น ทุกคนแฮปปี้และตื่นเต้นมากกับการได้มีเสรีภาพและมีส่วนร่วมในการปกครองทางการเมือง กลุ่มผู้หญิงเองก็แฮปปี้มากๆ ในปี 2476 ที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกเนี่ย จะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม คือเลือกผู้แทนตำบลแล้วให้ผู้แทนตำบลไปเลือก สส.ประจำจังหวัด ก็มีผู้หญิงไปลงสมัครทั้ง ผู้แทนตำบลและ สส. แต่ผู้หญิงได้รับการเลือกตั้งแค่ในระดับผู้แทนตำบล แต่ สส.ยังไม่ได้ ผู้หญิงมาได้รับการเลือกตั้งอีกทีช่วงทศวรรษ 2490 ในช่วงนั้นมันยังเป็นการแบ่งชายหญิงอย่างเข้มข้นมากๆ ถ้าคุณรักเพศเดียวกัน คุณเป็นผู้ชาย อยากได้ผู้ชาย ก็ต้องทำตัวให้เป็นผู้หญิง มันมีการแบ่งเรื่องการแต่งกาย เรื่องบทบาทอะไรแบบนี้ชัดเจนในช่วง จอมพล ป. แต่ถ้าเป็นในเรื่องเพศวิถีมันก็ยังคงแอบๆ กันอยู่ ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ยังไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก 

หากความคิดแบบสังคมนิยมของปรีดีไม่ถูกสกัดกั้น และสามารถมีอิทธิพลต่อสังคมในวงกว้างได้ คิดว่าจะส่งผลต่อความหลากหลายทางเพศอย่างไร

ในแนวคิดสังคมนิยมของปรีดี อย่างเช่นสมุดปกเหลือง (ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ.2475) ก็ค่อนข้างคุ้มครองเรื่องเพศ เพราะตอนนั้นผู้หญิงก็พึ่งที่จะสามารถทำงานนอกบ้านได้ และมีอาชีพอันใหม่เกิดขึ้นมา เช่นนางพยาบาล อาชีพงานฝีมือ ตัดเย็บ ทำผม ครูสอนหนังสือ เพราะงั้นสมุดปกเหลืองของปรีดีค่อนข้างกำหนดโดยชัดเจนว่าอะไรที่ควรจะสงวนให้ผู้หญิงทำ เพื่อคุ้มครองให้ผู้หญิงที่มีโอกาสในพื้นที่ทางเศรษฐกิจนอกบ้านน้อยได้มีพื้นที่ แต่เรื่องความหลากหลายทางเพศมันไม่เห็น มันไม่มีเรื่องเพศวิถีในนั้น มันยังเป็นเรื่องเพศสภาพที่เป็น Binary เท่านั้นเอง ปรีดีให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจมากกว่าจะมาดูแลเรื่องเพศซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว ปรีดีมองเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องปัจเจกนิยม แต่ก็อาจมองว่ามันปัจเจกนิยมมากเกินไป

แม้กฎหมาย Sodomy Law จะถูกยกเลิกในสมัยจอมพล ป. แต่ขณะเดียวกัน จอมพล ป.ก็ได้นำมาซึ่งความเป็นชาตินิยม สร้างกองทัพให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความเป็นชายที่มากดทับกลุ่มคนรักเพศเดียวกันและผู้หญิงอยู่ดีรึเปล่า

เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ในช่วงเวลาของการปฏิวัติ ทุกประเทศมันก็เป็นแบบนั้น ต้องทำให้ทหารเข้มข้นและแข็งแกร่ง แต่เขาก็ไม่ได้มองว่ามัน (การรักเพศเดียวกัน) จะเป็นเรื่องเลวร้ายถึงขั้นต้องเป็นอาชญากรรม แต่ถึงแบบนั้น จอมพล ป.เองก็มีการตั้งโรงเรียนนายร้อยหญิงขึ้นมาเพื่อคลี่คลายความเป็นชายว่างานทหารต้องถูกผูกขาดโดยผู้ชายเท่านั้น ในขณะเดียวกันมันก็มีโรงเรียนหญิงล้วนเกิดขึ้นมา โอเค มันอาจมีมาตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2408 และโรงเรียนหญิงล้วนมันไปเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงสามารถอ่านออกเขียนได้ มีการศึกษา มีวิชาความรู้ติดตัวเป็นแม่บ้านแม่เรือน หรือไม่ก็ไปทำงานนอกบ้าน มีอำนาจในการตัดสินใจ 

คณะราษฎรเองก็พยายามจะสร้างโรงเรียนหญิงล้วนขึ้นมา สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองโรงเรียนหญิงล้วนมันจะเป็นของเอกชน เช่น โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์  โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ก็จะถูกสอนโดยมิชชันนารี มันก็มีคุณูปการให้ผู้หญิงมีความคิดความอ่านมากขึ้น และร่วมปฏิวัติไปพร้อมกับผู้ชาย โรงเรียนสตรีจะมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งคือหญิงรักญิง มีความผูกพันกัน เป็นเดียร์ (Dear-ที่รัก) กัน ฉันเป็นเดียร์กับคนนั้น เดียร์กับคนนี้ การสร้างโรงเรียนหญิงล้วนมันก็จะขยายพื้นที่ให้ผู้หญิงได้สำรวจประสบการณ์ชีวิต มีความรัก เรียนรู้เพศวิถีของตัวเอง ก่อนที่จะไปแต่งงานมีครอบครัว

ตอนนั้นก็มีสิ่งพิมพ์ผู้หญิงที่ด่าทอเจ้า ด่าทอระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด่าทอปิตาธิปไตยเยอะมาก ซึ่งมันก็เป็นแรงกระเพื่อมให้ระบอบนั้นเสื่อมลงด้วย และผลักดันเรื่องผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ออกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครอบครัวให้เป็น Monogamy (ผัวเดียวเมียเดียว) รวมไปถึงแก้ไข พรบ.ข้าราชการพลเรือนให้ผู้หญิงเป็นข้าราชการเต็มตัวได้เท่ากับผู้ชาย เพราะก่อนหน้าผู้หญิงก็จะเป็นแค่ลูกจ้างอยู่ในหน่วยงานราชการเท่านั้น เงินเดือนได้น้อยกว่าผู้ชาย บำเน็จบำนาจไม่ได้ บรรดาศักดิ์ก็ไม่ได้ ไม่ได้อะไรเลย 

ผ่านมาแล้ว 90 ปี การอภิวัฒน์ 2475 ยังมีอะไรให้ศึกษาอีกไหม

เราว่ามันก็จะยังมีเรื่อยๆ ตามหลักฐานที่ค้นเจอมากขึ้น สุดท้ายแล้วการศึกษาประวัติศาสตร์มันจะเริ่มขยาย เริ่ม Democratize (ทำให้เป็นประชาธิปไตย) มากขึ้น เราจะเริ่มเจอนักวิชาการใหม่ๆ ที่วิเคราะห์อะไรที่มันเชื่อมโยงมากขึ้น อย่างแต่ก่อนถ้าพูดถึง 2475 ก็จะพูดถึงช่วงเวลาของการปฏิวัติ การต่อสู้ระหว่างทาง ความขัดแย้ง แต่ตอนนี้เริ่มมีเรื่องของสถาปัตยกรรม อย่างงานของอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ งานที่พูดถึงเรื่องสังคม เรื่องสิ่งของ ของอาจารย์ศรัญญู เทพสงเคราะห์ 

ในส่วนของเรื่องเพศ ก่อนหน้านี้อาจารย์ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ตั้งข้อสังเกตว่าทำไม 2475 ไม่มีผู้หญิงอยู่ในนั้น มันก็จุดประกายให้เราทำเรื่องหลังบ้านคณะราษฎรด้วย ด้วยความที่สมัยนั้นในสภามีผู้ชายเต็มไปหมดเลย ในเอกสารบันทึกมันจึงไม่มีผู้หญิง แล้วคณะราษฎรก็พวกกระฎุมพีที่เติบโตมากับการศึกษาสมัยใหม่ที่แบ่งหญิงกับชายชัดเจน ผู้หญิงก็ไปเป็นแม่บ้านแม่เรือน เลี้ยงหมูดูหมา เย็บปักถักร้อย ผู้ชายก็ไปทำงานนอกบ้าน เรื่องของผู้หญิงมันก็จะเป็นบันทึกส่วนตัวในบ้าน ที่บางครั้งก็ถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรที่จะต้องมาเขียน มันเลยทำให้หลักฐานมันน้อยด้วย 

พอมันมีกระแสประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ที่จะมาศึกษาอะไรเหล่านี้ เอกสารประวัติศาสตร์ที่เป็นกระแสรอง เช่น หนังสือพิมพ์ ภาพถ่าย ใบปิด โฆษณา นิตยสาร หนังสืองานศพ มันก็ทำให้ความรู้มันเริ่มขยายมากขึ้น แต่มันก็เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์เหมือนกันที่จะนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ยังไง เพราะบันทึกส่วนบุคคลมันเขียนจากบุคคลนั้นที่อาจมีการตกผลึกและไปแก้ซ้ำภายหลัง เช่น ตอนนั้นเขียนในช่วงเวลาที่อกหัก ช่วงแรกเราก็เจ็บมาก แต่พอมองกลับไปทีหลัง อาจมองเป็นเรื่องตลก ก็ต้องดูด้วยว่าคนที่เขียนในช่วงไหน 

3
ผ่านมาแล้ว 90 ปี กับการต่อสู้ของ LGBTQ+ ที่ยังไม่จบสิ้น

ทำไมชนชั้นนำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงต่อต้าน LGBTQ+ ทั้งๆ ที่ชนชั้นนำที่เป็น LGBTQ+ ก็มีเหมือนกัน

สังคมสยามย้อนกลับไปตั้งแต่ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้ความสำคัญกับสถานภาพทางสังคม และชาติกำเนิดมากกว่า เป็นลูกท่านหลานเธอ ความร่ำรวย และบารมี ส่วนเรื่องเพศสภาพจะเป็นเรื่องรองลงมา รองลงมาอีกก็เป็นเรื่องเพศวิถี มันก็เลยทำให้พวกเขามองข้ามเพศสภาพและเพศวิถีไป แล้วชนชั้นนำตอนนั้นเขาก็มีอิสระเรื่องเพศในระดับหนึ่ง ที่จะทำอะไรก็ได้ เพราะมีบารมีมาก แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว สำนึกแบบนี้ก็ยังคงอยู่ ทำให้เราจะตระหนักว่าคนนี้มีคุณค่าทางสังคมยังไง อาจมองเรื่องชาติกำเนิดและสถานผมทางสังคมมากกว่าเพศสภาพและเพศวิถี แต่ว่ามันก็เป็นสิ่งที่เอาไปตัดสินคนคนนั้นได้ด้วย และในสังคมไทยมันจะยอมรับเพศสภาพและเพศวิถีได้ในระดับหนึ่ง ว่าเป็นเรื่องกรรม มองเป็นความเวทนา สงสาร และกดไว้แค่ตรงนั้น คุณได้ตรงนี้ก็เพียงพอแล้ว คุณไม่ต้องเคลื่อนไหวเชิงโครงสร้าง สังคมขีดพื้นที่ของ LGBTQ ไว้เท่านี้ ก็มีพื้นที่สาธารณะให้แล้ว สื่อสารมวลชนก็มีแล้ว ในหนังละคร ก็เป็นตัวตลก เป็นบ้าเป็นบอในตอนจบไป ถ้า LGBTQ ไปแตะในระดับโครงสร้างปุ๊ป มันจะกลายเป็นภัยทางสังคมทันที เหมือนที่เขามองสมรสเท่าเทียม เหมือนที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าสิ่งเหล่านี้จะไปทำลายความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประเทศได้

สำหรับนักการเมืองและชนชั้นนำเขาก็ไปในพื้นที่นั้นโดยไม่ได้มีความคิดจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือเปลี่ยนแปลงปัญหาในระดับพื้นฐาน เขาไปในฐานะตัวแทนในระดับปัจเจก เขาจึงไม่คิดว่ามองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของพวกเรา จนกระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มันถึงมีเรื่องการเมืองเชิงอัตลักษณ์เข้ามา มี สส.ที่นิยามตัวเองเป็นตัวแทนของชุมชนนั้น ชุมชนนี่ มันก็เป็นสิ่งใหม่ๆ ในสังคมไทย

ในช่วง Pride Month ที่เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองของ LGBTQ+ แต่ทำไมกลับไม่นับรวม Cisgender (คนที่รักเพศตรงข้าม) เข้าไปด้วย

ในมุมหนึ่ง จริงๆ งานนี้มันดูเป็นวัฒนธรรมของชาวเกย์มากกว่า LGBTQ+ ด้วยซ้ำ เพราะงั้น Cisgender โดยเฉพาะผู้ชายก็จะไม่เข้าใจ ซึ่งจริงๆ ก็ถูกกดทับเหมือนกัน เช่น การเกณฑ์ทหารที่ผู้ชายต้องเข้มแข็ง มันก็เป็นปิตาธิปไตยที่กดทับผู้ชาย เพราะงั้นผู้ชายก็ต้องรวมกลุ่มกันเพื่อทลายโครงสร้างนี้ด้วย ไม่ใช่ว่า เรา (LGBTQ+) จัดได้ ทำไมผู้ชายจัดไม่ได้ ก็พวกคุณไม่จัดกันเอง จะมาผลักภาระให้เราทำไม แต่ถ้าในอนาคตมันมีการพูดเรื่องการยุติการเกณฑ์ทหารในงาน Pride มันก็อาจโอบรับคนเข้ามามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขามีชีวิตที่ดีอยู่แล้วในโครงสร้างเช่นนี้ เขาก็อาจมองไม่เห็นผู้ที่ถูกกดทับกดขี่ก็เป็นได้

เราจะทำยังไงให้กลุ่ม Cisgender มองเห็นถึงความสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม

พอความหมายของคำว่าสมรส การสร้างครอบครัว มันถูกผูกขาดอยู่กับชาย-หญิง ระบบสองเพศ 2 เพศสภาพ 1 เพศวิถี มันทำให้เขามีอภิสิทธิ์ทางสังคม แต่ถ้าเขาตระหนักได้ว่ามันเกิดไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น มันก็จะดีสำหรับทุกๆ คน จริงๆ ตอนนี้มันก็ดีขึ้นแล้ว กับความเข้าใจเรื่องสมรสเท่าเทียม ว่าทุกคนเท่าเทียมกันไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหนก็ตาม 

4
ชานันท์ ยอดหงษ์ ในวันที่อยู่กับพรรคเพื่อไทย แต่หัวใจยังคงเพื่อเทย

ทำไมถึงได้ตัดสินใจมาทำงานกับพรรคการเมือง

มันเหมือนกับเราเขียน เราสอนจนลูกศิษย์เรามีลูกมีเต้ากันแล้ว จนกูแก่แล้วเนี่ย ยังเปลี่ยนประเทศนี้ไม่ได้เลย เราก็เขียนมาเยอะ จัดม็อบก็จัด สอนก็ทำ โอเค มันก็มีคุณูปการแต่มันก็เริ่มไม่ทันใจแล้ว งั้นเราลองเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการเคลื่อนไหวมาเป็นการเมืองภาครัฐ เราคิดว่ามันน่าจะเร็วขึ้น มันอาจได้ผล และมันก็ท้าทายเราในหลายๆ เรื่อง

ความแตกต่างระหว่างงานการเมืองกับงานวิชาการ

การเขียนของเรามันอาจเสนอข้อโต้แย้ง แต่มันไม่สามารถเปลี่ยนเป็นนโยบายเพื่อนำไปทำได้ พอมาอยู่ตรงนี้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ก็ต้องเสนอทางแก้ไข คุณ Deconstruct (รื้อโครงสร้าง) มันแล้ว คุณก็ต้อง Reconstruct (สร้างโครงสร้างขึ้นใหม่) ด้วย มันก็จะเป็นงานอีกรูปแบบหนึ่งที่ใหม่ขึ้น ประวัติศาสตร์มันก็ดีตรงที่พอเรารู้สายธารของการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายเราก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้

ได้ทำงานวิชาการบ้างไหม แล้วในอนาคตมีแผนจะเขียนงานอะไรออกมารึเปล่า

ไม่มีเวลาเลย (หัวเราะ) แต่เราก็ยังคิดโลกวิชาการประวัติศาสตร์อยู่นะ ล่าสุดที่เขียนหลังบ้านคณะราษฎร ก็เป็นเรื่องผัวๆ เมียๆ แต่จริงๆ มันก็มีนโยบายของคณะราษฎรที่เกี่ยวกับเรื่องเพศเยอะมากๆ ซึ่งเรายังไม่ได้ทำเป็นหนังสือ ก็คิดว่าจะเอามารวบรวมและทำออกมา

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า