fbpx

ไปต่อหรือพอแค่นี้? เมื่อวันที่ Phuket Sandbox กลายเป็นปราสาททรายที่โดนทะเลซัดสาด

คำนิยามของ Sandbox และความสอดคล้องกับ Phuket Sandbox 

โครงการ Phuket Sandbox ไม่ใช่โครงการ ‘การก่อปราสาททราย’ในจังหวัดภูเก็ตแต่อย่างใด แต่คำนิยามถึงชื่อนี้เดิมที คำว่า Sandbox ถูกใช้ในเชิงเทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง สภาวะเเวดล้อมที่เอาไว้ทดสอบการทำงานของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในสภาวะเเวดล้อมเสมือนจริง Sandbox จะเอื้อให้เหล่า Developer ได้ใช้จินตนาการบวกกับความคิดสร้างสรรค์และไอเดียที่บรรเจิดได้อย่างเต็มที่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะไม่กระทบต่อการใช้งานจริง 

ส่วนโครงการ Phuket Sandbox เกี่ยวข้องกันอย่างไร? Phuket Sandbox คือการเปิดพื้นที่ใช้พื้นที่ทดสอบการท่องเที่ยวของภูเก็ต ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งเเต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบเป็นอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตที่ทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทยกลับต้องหยุดชะงัก 

ชาวโรงแรม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ รวมไปถึงหลายๆ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวล้มระเนระนาดกันเป็นแถบๆ จนมาตอนนี้ภูเก็ตกลับมาเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่เปิดเกาะต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความหวังให้ประชาชนทุกคนที่อาศัยและมีอาชีพในจังหวัดภูเก็ตที่จะกลับมามีรายได้ตามปกติอีกครั้ง 

Phuket Sandbox คืออะไร? เริ่มเมื่อไหร่ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง 

ย้อนกลับไปวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นวันแรกของการเริ่มโครงการ Phuket Sandbox ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเที่ยวหรือแม้กระทั่งคนไทยที่พำนักในต่างแดนกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้ง โดยเงื่อนไขคือ บุคคลที่ประสงค์จะเข้ามาต้องได้รับวัคซีนครบโดสอย่างน้อย 2 เข็ม ต้องมีใบอนุญาตเข้าในไทย (Certificate of Entry: COE) จะต้องมีหลักฐานการจองที่พักในโรงเเรมที่เข้าร่วมเป็น SHA+ อย่างน้อย 7-14 วัน และใบเสร็จยืนยันการชำระเงินค่าตรวจหาเชื้อโควิด 3 ครั้ง และเอกสารอื่นๆ ที่จำเป็นตามข้อกำหนด 

Sandbox ในช่วงแรก 

ในช่วงระยะเวลานับตั้งเเต่วันแรกของการเริ่มโครงการและเที่ยวบินแรกที่บินเข้าภูเก็ตเเม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้างแล้ว แต่ก็อาจจะยังไม่ได้มีมากพอตามเป้าหมายที่กำหนด แต่ก็ถือว่ายังพอสร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนที่ทำอาชีพให้บริการนักท่องเที่ยว อาทิ โรงเเรมและแท็กซี่ ได้พอมีรายได้จุนเจือชีวิตประจำวัน โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยที่พำนักในต่างประเทศ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล เยอรมัน และฝรั่งเศส เป็นต้น  

บางส่วนของนักท่องเที่ยวคือกลุ่มคนที่เป็นนักธุรกิจที่มีกิจการหรือการลงทุนในประเทศไทย และบางส่วนมีคู่สมรสอยู่ที่นี่ และหากนักท่องเที่ยวคนไหนอยู่ภูเก็ตจนครบ 14 วันแล้วสามารถเดินทางออกนอกจังหวัดภูเก็ตได้ โดยต้องมีใบอนุญาตที่ทางโรงแรมออกให้ (Release Form) 

แนวโน้ม Phuket Sandbox ในเดือนสิงหาคม 

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น แม้กระทั่งคนที่ได้รับวัคซีนแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังสามารถติดเชื้อได้อยู่ และยอดผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งในจังหวัดภูเก็ตเองก็ตาม (ส่วนใหญ่คือชาวไทย ไม่ใช่นักท่องเที่ยวที่มากับโครงการ Sandbox) ทำให้ทางจังหวัดหวั่นที่จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเหล่านี้กระทบกับตัวโครงการ Phuket Sandbox ท้ายที่สุดจึงมีการเพิ่มมาตรการล็อกดาวน์ตัวเกาะ กล่าวคือ ไม่มีเที่ยวขาออกและขาเข้า รวมไปถึงห้ามบุคคลและผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทเข้าจังหวัดภูเก็ต ทั้งทางบก (ด่านตรวจท่าฉัตรไชย) ทางน้ำ (ท่าเรือทุกท่าในจังหวัดภูเก็ต) โดยมาตรการป้องกันนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 3 – 16 สิงหาคม เป็นต้นไป 

เนื่องจากการล็อกดาวน์ ปิดเกาะอีกครั้งของจังหวัดภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวบางคนที่ไม่ได้เตรียมรับมือ หรือมีการวางแผนที่จะไปจังหวัดอื่นต่อในตอนแรกหลังจากพักอยู่ภูเก็ตครบ 14 วัน ต้องเปลี่ยนแผนและอยู่ในภูเก็ตต่อไป บางเสียงของนักท่องเที่ยวกล่าวว่าไม่ได้เตรียมพร้อมในการรับมือกับมาตรการป้องกันในการปิดเกาะครั้งนี้ทำให้การวางแผนที่คิดมาล่วงหน้าต้องเปลี่ยน หรือบางคนมีความจำเป็นต้องเดินทางโดยเครื่องบินไปจังหวัดอื่นต่อก็ต้องเปลี่ยนมานั่งรถโดยสารแทน 

การคาดการณ์และทิศทาง Phuket Sandbox ในอนาคต? 

หลายเสียงจากคนไทยในช่วงเเรกไม่เห็นด้วยกับโครงการ Phuket Sandbox เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไทยยังมียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ และถึงแม้ว่านักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาที่ประเทศไทยได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์ในไทยทำให้ยังไม่สามารถไปไหนได้มากนัก บางกลุ่มอาจคิดว่านี่เป็นการหลอกให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาโดยเสียเปล่า แต่บางส่วนกลับคิดว่าการเปิดเกาะเพื่อโครงการนี้เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูเก็ตกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง และสามารถทำรายได้ให้กับประเทศได้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้หากสถานการณ์และยอดผู้ติดเชื้อในไทยยังมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้นักท่องเที่ยวได้รับคำเตือนให้เลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาลดลงได้  

อนาคตของปราสาททรายที่โดนทะเลซัดสาด

ณ ตอนนี้ อนาคตของโครงการ Phuket Sandbox จะเป็นเช่นไร ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบันและยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทย และปัจจัยอื่นๆ โดยปัจจัยเหล่านั้นก็ยังเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย 

ท้ายนี้จากบทความที่กล่าวมา ในฐานะที่ผู้เขียนมีอาชีพเป็นพนักงาน Receptionist  ของโรงเเรมแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ SHA+ การเตรียมความพร้อมต้องมีมากในหลายด้าน อาทิ มาตรการความปลอดภัยและการเฝ้าระวังในช่วงโควิดต้องมีมากขึ้นเท่าตัว ความยากง่ายของการบริการลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวที่มาพักกับเราในช่วงโครงการ Phuket Sandbox คือ ความละเอียดของข้อมูลของนักท่องเที่ยวเเละการติดตามเอกสารสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงระหว่างที่นักท่องเที่ยวได้พักอยู่กับเรา เราต้องมีความเอาใจใส่ทั้งการบริการและการดูแลให้มากขึ้น ทุกอย่างที่สำคัญเราต้องมีการประสานงานระหว่างองค์กรเพื่อนักท่องเที่ยว ทั้งนี้เราเปรียบเสมือนคนที่จะดูแลและให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกและเพื่อทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการมีความสุข และประทับใจในการดูแลและการบริการในช่วงระยะเวลาที่ผู้คนเหล่านั้นมาพักอาศัยอยู่กับเรา ให้สมกับการเดินทางมาพักผ่อนและหาความสุขของพวกเขาในช่วงนี้ 

ส่วนความยากง่ายในการทำงานในช่วงที่จังหวัดภูเก็ตได้เปิดรับนักท่องเที่ยวแล้วนั้น คือการที่เราจะต้องมีข้อมูลและความพร้อมให้กับนักท่องเที่ยวและดูแลชาวต่างชาติให้ดีที่สุด ส่วนในอนาคตทิศทางของ Phuket Sandbox จะเป็นเช่นไร ทางเราก็พร้อมที่จะรับมือและยอมรับกับสถานการณ์เหล่านั้น รวมถึงผลที่ตามมาอย่างเเน่นอน 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า