เรามักได้ยินคำถามที่ว่าหน้าที่ของ ส.ส.เขต คือการทำอะไรบ้าง?
คำตอบง่ายๆ คือการดูแลพี่น้องประชาชน และจะเกิดคำถามต่ออีกครั้งว่า ดูแลในที่นี้หมายถึงอะไรได้บ้าง?
คำตอบส่วนใหญ่สำหรับบางคนอาจเป็นการที่ ส.ส. ออกเงินส่วนตัวเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณูปโภค ซ่อมถนน ซ่อมสะพาน จัดการปัญหาน้ำท่วม ไฟไหม้ รวมถึงความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาและร่วมทุกข์ร่วมสุข เช่น ไปร่วมงานบวช งานแต่งงาน งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่
ทว่าภาพที่เห็นก็ยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ตกลงแล้วภาพของ ส.ส.เขต ที่ประชาชนมองเห็นนั้นมองไปถึงงานที่ ส.ส.เขต ต้องทำจริงๆ หรือไม่ แท้จริงแล้วบทบาทและการรับผิดชอบในสิ่งที่ว่ามาก่อนหน้านี้ ใช่หน้าที่หลักของ ส.ส.เขต หรือเปล่า
‘พนิดา มงคลสวัสดิ์’ หรือ ‘ผึ้ง’ นักการเมืองหน้าใหม่จากพรรคก้าวไกล ก็มีความรู้สึกว่าภาพจำของ ส.ส.เขต ของคนส่วนใหญ่นั้นยังไม่ตรงกับสิ่งที่ ส.ส.เขต จะต้องทำจริงๆ เท่าไหร่นัก

ก่อนหน้านี้เราเคยได้พบกับพนิดาตั้งแต่ก่อนผลคะแนนเลือกตั้งปี 2566 จะออกมาว่าเธอเป็นผู้ชนะ ในครั้งนั้น The Modernist ได้พูดคุยกับเธอในฐานะผู้สมัคร ส.ส. ที่มุ่งมั่นจะล้มระบบ ‘บ้านใหญ่’ และ ‘การเมืองแบบเก่า’ ในพื้นที่ของตัวเอง
ช่วงเวลานั้นเรายังไม่ได้พูดคุยกับเธอมากนัก แต่ด้วยความรู้สึกบางอย่างที่เชื่อว่าอย่างไรก็ตามเธอจะต้องชนะ จึงได้ขอคำสัญญากึ่งเล่นกึ่งจริงว่าหากชนะเลือกตั้งจริงๆ เราจะพบกันอีกครั้งเพื่อพูดคุยอย่างจริงจัง
แล้วก็เป็นดังคาด พนิดากลายเป็นนักการเมืองเต็มตัว ทำให้ในวันนี้เราได้สร้างบทสนทนาหลากหลายร่วมกัน ที่ไม่ใช่แค่มุมมองที่เธอมีต่อหน้าที่หลักในบทบาทของการเป็นนักการเมือง ไม่ใช่แค่การตอบคำถามคาใจของคนส่วนใหญ่เรื่องหน้าที่ของ ส.ส.เขต แต่ยังรวมถึงประเด็นสังคมอื่นๆ ที่เธอมุ่งหวังอยากผลักดันหลังจากนี้
‘คน’
‘เมือง’
‘ความหลากหลายทางเพศ’
สามสิ่งนี้คือเรื่องราวที่เราสนใจอยากหาคำตอบร่วมกันกับพนิดา ท่ามกลางการพูดคุยที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวัง ว่านักการเมืองหน้าใหม่ผู้นี้จะสามารถเข้าไปสร้างการเมืองแบบใหม่ได้จริงในรัฐสภา
คน
เมื่อเอ่ยถึง ‘คน’ สิ่งที่ตามมาคือมิติหลากหลาย เพราะแต่ละคนย่อมคิดไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีความซับซ้อนมากมาย และเต็มไปด้วยแง่มุมต่างๆ และประเด็นเกี่ยวกับผู้คนก็ได้เผยให้เห็นความคิดและวิธีบริหารจัดการกับ ‘ความหลากหลาย’ ที่ว่านี้
บทสนทนาครั้งนี้เราได้จำแนกคนออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ แล้วไล่ถามไปยังทีละกลุ่ม โดยจะเริ่มจากกลุ่มแฟนคลับหรือแฟนด้อมของพนิดา ต่อด้วยกลุ่มของประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ที่กำลังเดือดร้อนและรอให้นักการเมืองเข้ามาแก้ไขปัญหา
ในแง่คนกลุ่มแรก พวกเขาจะคอยให้กำลังใจพนิดา ติดตามการทำงานและสนับสนุนด้วยวิธีการต่างๆ ที่หากเป็นคนทั่วไปแบบเราซึ่งไม่ใช่ศิลปิน ดารา คนมีชื่อเสียง นักกีฬาระดับประเทศ หรืออินฟลูเอนเซอร์ ก็คงจะไม่เคยพบเจอกับประสบการณ์แฟนด้อมที่มีคนให้ความสนใจและติดตามแบบนี้
พนิดาเห็นด้วยกับเรา เธอมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองเป็นเรื่องใหม่มากๆ และจำเป็นต้องค่อยๆ ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่นี้ต่อไป
“ตอนแรกช็อกนิดหนึ่ง เพราะไม่ได้เตรียมตัวมาเข้าใจสิ่งนี้เท่าไหร่ ผึ้งปรับตัวเยอะและเริ่มเรียนรู้กับวัฒนธรรมนี้มากขึ้น ผึ้งอยากสื่อสารให้ผู้คนได้ฟังว่ากำลังพูดอะไรอยู่ มากกว่าว่าเขาเห็นอะไรในตัวเรา จะพยายามใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารนโยบายที่เราตั้งใจอยากจะผลักดันให้ได้มากที่สุด
“แต่ผึ้งก็จะบอกกับทุกคนเสมอว่าอย่าไว้ใจผึ้งมากเกินไป อยากให้ทุกคนช่วยกันจับตาดูการทำงานของพรรคก้าวไกล จับตาการทำงานของผึ้งว่าพูดอะไรในสภาบ้าง เพราะทุกการพูด ทุกการยกมือของผึ้งคือคุณภาพชีวิตของทุกคน คือการเปลี่ยนแปลงในแง่กฎหมายที่จะเชื่อมโยงกับทุกคน
“ผึ้งไม่อยากให้เกิดความรู้สึกว่าพอชื่นชมแล้วปล่อยให้ทำงานตามสบาย เพราะคุณเลือกผึ้งมาเป็นตัวแทน เลือกมาเป็นปากเป็นเสียง เลยอยากให้ทุกคนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศต่อไปด้วยกัน และถ้าวันใดผึ้งอาจไม่ตรงร่องตรงรอย เราจะต้องดึงกันได้ ถ่วงดุลซึ่งกันและกันได้”

เมื่อเธอตอบชัดเจนในประเด็นของแฟนคลับ คนกลุ่มถัดมาที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือประชาชนในพื้นที่สมุทรปราการเขต 1 ที่ลงคะแนนเสียงเลือกพนิดาให้มาเป็น ส.ส. ดูแลปัญหาของพวกเขา บทบาทของเธอจึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนความหวังประชาชน ที่มองว่านักการเมืองที่เลือกมาจะต้องทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นไม่มากก็น้อย
พนิดาเห็นด้วยในแง่ความหวังของพี่น้องประชาชนที่มีต่อตัวเธอ และได้แบ่งปันเรื่องราวว่าตอนนี้ปัญหาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ก็ยังคงเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับคนในพื้นที่
ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนขึ้นอยู่กับเรื่องที่ใครๆ ก็พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ถนนพัง ไฟไม่สว่าง ขยะถูกทิ้งไว้เต็มถนนไม่มีคนเก็บ หรือสะพานข้ามคลองที่กำลังจะพังลงมาเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วหลายยุคหลายสมัย เราจะได้เห็นภาพ ส.ส.เขต จ่ายเงินเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งควรเป็นงบประมาณที่ถูกจัดสรรมาแก้ปัญหาต่างๆ โดยตรง ทว่าพอเงินที่ว่านั้นไม่มี นักการเมืองท้องถิ่นจึงต้องควักกระเป๋าจ่ายเองทุกครั้งไป พอบ่อยเข้าก็กลายเป็นความเคยชิน
เธอไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรมแบบนี้ นักการเมืองบางส่วนกำลังแก้ปัญหาแบบปลายเหตุ แล้วเมื่อทำบ่อยครั้งเข้า นักการเมืองรายนั้นจะสร้างระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่แบบที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้เข้าใจถึงงานที่แท้จริงของ ส.ส.เขต อีกด้วย
“เรากำลังมองการแก้ปัญหาเรื่องนี้แบบปะผุ ผุแล้วก็ปะไปเรื่อยๆ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ขึ้นมา เกิดการสร้างภาพจำของคนที่จะเป็น ส.ส. ว่าจะต้องรวย ต้องมีฐานะ ต้องมีเงิน เป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นท่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมและการเมืองไทย
“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มีหน้าที่ที่จะควักเงินในกระเป๋าตัวเองเพื่อไปแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน แต่สิ่งที่ควรทำคือเป็นปากเป็นเสียงให้เขา นักนิติบัญญัติควรสื่อสารปัญหาของพี่น้องประชาชน แล้วให้เจ้าภาพที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ปัญหานั้นเดินเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา ถ้ามันติดกรอบอำนาจ ติดกรอบงบประมาณ ติดกรอบกฎหมายใดๆ สิ่งที่เราควรทำคือไปแก้กฎหมายเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำงานได้ง่ายขึ้น
“ผึ้งต้องอธิบายกับทุกคนว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่งาน ส.ส.เขต โดยตรง ไม่ใช่งานระดับนิติบัญญัติแต่คืองานของท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธการทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เพราะประชาชนเลือกเราเข้ามาเป็นปากเป็นเสียงของเขา เราจึงต้องสื่อสารแทนเขาและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานทรัพยากรได้ หรือเจ้าภาพในการดูแลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ และผึ้งก็จะทำหน้าที่นี้ให้เต็มที่”
การลงพื้นที่ตลอดสองปีตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ทำให้พนิดาได้มองเห็นอะไรบางอย่าง เธอมองว่านอกเหนือจากปัญหาต่างๆ ที่พบในพื้นที่ของตัวเอง หนึ่งสิ่งที่อยากจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้มากที่สุดคือ ‘รัฐสวัสดิการ’ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนี่คือคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน แต่อีกส่วนหนึ่งคือรัฐสวัสดิการจะทำให้ผู้คนได้รับการดูแลจากรัฐอย่างเท่าเทียม

“ผึ้งให้คำมั่นสัญญากับพี่น้องประชาชนทั่วทั้งเขตว่าจะไปผลักดันเรื่องนี้ ผึ้งทนเห็นคนที่เจ็บปวดแล้วโดนทอดทิ้งต่อไปไม่ไหวแล้ว มีหลายคนที่รอคอยว่าเมื่อไหร่เขาจะมีเงินมาดูแลมากกว่านี้ วันที่เขาทุ่มเททำงานมาทั้งชีวิต เราได้เห็น แล้ววันที่เขาไม่สามารถทำงานได้ เราอยู่ไหน รัฐอยู่ตรงไหน ทำไมรัฐไม่เป็นส่วนหนึ่งในการซัปพอร์ตชีวิตเขา เมื่อเป็นแบบนี้เลยอยากให้สวัสดิการถ้วนหน้าทุกกลุ่มวัยสำเร็จให้ได้ และเรื่องนี้ก็จะเชื่อมโยงกับการปลดล็อกท้องถิ่นด้วย
“ทำไมทุกอย่าง ทุกความคิดสร้างสรรค์ ทุกความเจริญ ถึงกระจุกกันอยู่แค่บางพื้นที่ ถามว่าทำไมพวกเราถึงมารวมกันอยู่ที่นี่ บางคนไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่นี่ด้วยซ้ำ แต่ทุกคนก็ต้องเข้ามาแสวงหางาน แสวงหาเงินในพื้นที่เดียวกัน
“พื้นที่ของผึ้งเป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีพี่น้องแรงงานอยู่เยอะมาก หลายคนมาจากภูมิลำเนาอื่น คุณพ่อคุณแม่ผึ้งเองก็มาอยู่สมุทรปราการเพราะต่างจังหวัดทำนาแล้วไม่ได้เงินมากพอ ทำนาแล้วส่งลูกเรียนหนังสือไม่ได้ เขาก็ต้องแสวงหาความเจริญที่สมุทรปราการเพราะว่ามีโรงงานอุตสาหกรรม มีงานที่พร้อมจะทุ่มแรงกาย กลายเป็นเครื่องจักรผลิตเงินเพื่อส่งลูกเรียน เพื่อหวังว่าลูกจะยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองขึ้นไปได้ และผึ้งก็รู้สึกว่าหลายบ้านมีแพทเทิร์นคล้ายกัน
“พอได้เห็นแบบนี้บ่อยเข้า หลายครั้งเราตั้งคำถามว่าทำไมคนจากพื้นที่อื่นถึงต้องมากระจุกกันอยู่แค่ที่นี่ ทำไมที่อุดรธานีถึงไม่มีงานรองรับมากพอ ทำไมไม่มีงานที่เราอยากทำ ทำไมบางจังหวัดถึงต้องมีแค่บริษัทขายรถไถ บริษัทขายรถยนต์ บริษัทขายปุ๋ย ธนาคาร ไฟแนนซ์ ทำนา ทำไร่ ทำสวน มีงานให้ทำอยู่ไม่กี่อย่าง
“สิ่งที่พรรคก้าวไกลนำเสนอและพูดบ่อยเรื่องหนึ่งคือการกระจายอำนาจ แคมเปญปลดล็อกท้องถิ่น ปลดล็อกทั้งอำนาจและงบประมาณ ให้ท้องถิ่นมีอำนาจบริหารจัดการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนให้เต็มที่ แล้วถ้าวันหนึ่งปลดล็อกท้องถิ่นได้แล้ว ถ้าท้องถิ่นยังไม่ทำงานให้ประชาชนอีก ก็ไม่มีข้ออ้างอะไรให้พูดแล้วว่าทำไมถึงไม่แก้ปัญหา แล้ว ส.ส. ไม่จำเป็นจะต้องควักเลยด้วยซ้ำ เพราะมีงบประมาณของชาติอยู่ 3 ล้านล้านบาทต่อปี ที่ควรจัดสรรมาเพื่อสิ่งนี้ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคน”
เมือง
นอกจากปัญหาภาพใหญ่ที่พนิดามองว่าจำเป็นจะต้องกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่สามารถลืมตาอ้าปากได้ อีกเรื่องหนึ่งที่มีภาพใหญ่ขึ้นมาอีกคือการ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ กับการตั้งคำถามและการแสดงความกังวลในประเด็นเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ที่ทำให้การพูดคุยถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง
ฝั่งหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องดีที่ทุกจังหวัดจะได้เลือกผู้ว่าของตัวเองเหมือนกับกรุงเทพฯ และชลบุรี แต่ก็มีเสียงคัดค้านว่าการเลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด จะทำให้แต่ละจังหวัดมีความเป็นเอกเทศจนเกินไป ถึงขั้นนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน การตั้งรัฐอิสระ ไปจนถึงทฤษฎีสมคบคิดอื่นๆ เท่าที่คนคนหนึ่งจะนึกถึงหรือจินตนาการได้
พนิดานั่งฟังคำถามด้วยท่าทีนิ่งสงบ ก่อนตั้งคำถามกลับว่าแล้วคนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ หรือชลบุรี รู้จักผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่อื่นไหม หรือแม้กระทั่งผู้ว่าฯ ในจังหวัดของตัวเอง เราได้รู้จัก ได้เห็น จำชื่อหรือสิ่งที่เขาทำได้แล้วหรือยัง

“คุณรู้จักคุณชัชชาติใช่ไหม รู้จักเพราะเขาเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ หรือเปล่า คุณรู้จักผู้ว่าฯ สมุทรปราการไหม คุณรู้จักผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ อุดรธานี ภูเก็ตบ้างไหม คำตอบส่วนใหญ่คือไม่มีใครรู้เลยเพราะว่าเราไม่ได้เลือกเขามา เขาไม่ได้แข่งขันกันเพื่อเอาชนะใจเรา ไม่ได้นำเสนอนโยบายเพื่อบอกเราว่าทำไมเราถึงต้องเลือกเขา
“เขามาจากไหนเราไม่รู้ เขาจะไปเมื่อไหร่เราก็ไม่เคยรู้ แล้วเขายึดโยงกับพื้นที่เราอย่างไร ผึ้งก็ไม่รู้ นั่นแปลว่าการทำงานของเขาไม่ยึดโยงกับเรา การประเมินคุณภาพงานของเขา ก็ไม่ได้ยึดโยงกับเราเช่นกัน นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าประชาชนห่างไกลจากอำนาจ
“เวลาบอกว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคน แต่ในระดับท้องถิ่นมันไม่ได้สะท้อนสิ่งนั้นเลย
“เราอยู่ไกลกับอำนาจ ผู้ว่าฯ มีหน้าที่บริหารจัดการทั้งจังหวัด กลายเป็นว่าอำนาจสูงสุดของจังหวัดอยู่กับคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ผึ้งเลยคิดว่าถ้าเป็นคนที่มาจากการเลือกของพี่น้องประชาชน ก็เหมือนว่าเรารับผิดชอบร่วมกัน จะดีไม่ดีหรืออะไรก็ตาม แต่มันคือเสียงของเราทุกคนที่เลือกเขาเข้าไป ถ้าไม่ดีรออีก 4 ปี เราก็ให้เขาออกไปด้วยการเลือกคนอื่น ดีกว่าเป็นที่ให้หลายคนเข้ามาเกษียณอายุการทำงาน แล้วจากเราไปโดยที่มาเมื่อไหร่ไม่รู้ ไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้”
ส่วนข้อกังวลว่าหากปลดล็อกท้องถิ่นจะทำให้เกิดความเป็นเอกเทศ ไปจนถึงการมีเอกราชในตัวเอง พนิดาตั้งคำถามอีกครั้งว่าแล้วตอนนี้กรุงเทพฯ กลายเป็นรัฐปกครองตนเองแล้วหรือเปล่า…
คำตอบคือไม่ กรุงเทพฯ ก็ยังเป็นเมืองหลวงของไทยอยู่เหมือนเดิม
“กรุงเทพฯ ไม่ได้หายไปไหนหรือเปล่า กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เป็นรัฐปกครองตนเองใช่ไหม ยังอยู่ภายใต้กฎหมายหลักของประเทศซึ่งเรียกว่ารัฐธรรมนูญ ถ้าอยากจะจำกัดขอบเขตการพัฒนาประเทศด้วยข้อกังวลด้านนี้ ผึ้งว่าไม่มีน้ำหนักมากพอขนาดนั้น
“ทุกวันนี้จังหวัดอื่นมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เราเลือกมาด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่ติดแค่ว่าเขาไม่ได้มีอำนาจมากเท่ากับผู้ว่าฯ ไม่ได้มีอำนาจมากเท่ากับคนที่ถูกส่งมาจากมหาดไทย
“ลองนึกภาพโครงการเล็กๆ ระดับท้องถิ่นที่ใช้งบประมาณไม่กี่ล้านบาท เป็นโครงการที่นายก อบจ. อยากทำร่วมกับท้องถิ่น ก็ยังต้องขอลายเซ็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย แล้วจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ได้มีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ จะเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ถ้าโครงการแค่ไม่กี่ล้านบาทจะต้องใช้ลายเซ็นของหนึ่งคนเท่านั้น ทั้งที่เราควรมีอำนาจในการกำหนดอนาคตของเราเอง ให้ประชาชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย ข้อบังคับ และการใช้งบประมาณของพวกเราเอง
“ผึ้งได้ดูการใช้จ่ายและการเก็บภาษีของพื้นที่แต่ละจังหวัด ก็รู้สึกว่าเก็บได้น้อย แต่พอมองย้อนกลับไปยังคำถามว่าทำไมคนถึงไม่อยากจ่ายภาษี ส่วนหนึ่งเพราะเขารู้สึกว่าภาษีที่จ่ายไปไม่เกิดประโยชน์กับเขา มันหายไปไหนไม่รู้ มันไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อน ไปสร้างความเจริญที่กรุงเทพฯ ก่อน แล้วค่อยย้อนกลับมายังบ้านเราหรือเปล่า แล้วพอมาถึงบ้านเรา มันมากี่เปอร์เซ็นต์
“เรื่องเล็กๆ แบบนี้สร้างความรู้สึกบางอย่างได้ ทำให้ผู้จ่ายภาษีที่ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ไม่ได้รู้สึกถึงความอยากจ่ายภาษี แต่ถ้าเราสามารถทำให้คนทุกคนรู้สึกว่าจ่ายแล้วจะได้เห็นอะไร มิหนำซ้ำเราสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบมันได้ด้วย ประชาชนอยู่ใกล้งบประมาณมากขึ้นผ่านคนกลางที่เราเลือกเข้าไปด้วยตัวเอง อำนาจที่ขยับเข้ามาใกล้กันนี้จะทำให้เห็นภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเติบโตของคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างก้าวกระโดดแน่นอน

เราที่ได้ฟังมุมมองของพนิดาที่มีต่อคนและเมือง รู้สึกเข้าใจในมุมที่เธอสื่อออกมา เข้าใจว่าเธอคิดอะไรและกำลังต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบไหน
ทว่าประชาชนคนอื่นล่ะ? เขาจะเข้าใจสิ่งที่เธอต้องการนำเสนอมากน้อยแค่ไหน
แล้วอีกไม่นานจะมีคำถามน่ากังวลตามมาหรือไม่ คำถามเช่นว่าการพยายามสร้างความเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว บทบาทหน้าที่ของ ส.ส.เขต คืออะไร ที่คำตอบของเรื่องนี้ดันไปตีกับค่านิยมทางการเมืองแบบเดิม ปะทะกับความคุ้นเคยเดิม พอ ส.ส.เขต ของพรรคก้าวไกลไม่ได้ทำตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิม (ที่เราไม่ได้บอกว่าธรรมเนียมนี้คือสิ่งที่ถูกต้อง) แล้วในอนาคตอันใกล้ ประชาชนในพื้นที่ของพนิดาจะเกิดความรู้สึกว่า ส.ส. ที่ตัวเองเลือกมา ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ แล้วให้ความช่วยเหลือพวกเขาหรือเปล่า
เธอครุ่นคิดชั่วอึดใจ ก่อนตอบกลับว่าพรรคก้าวไกลจะยังคงทำงานเหมือนเดิม ยังอยู่กับประชาชนเหมือนเคย แค่นักการเมืองในแบบที่เธออยากจะเป็น นักการเมืองแบบที่เธอเชื่อว่าถูกต้อง มีวิธีการทำงานที่แตกต่างจากนักการเมืองแบบเก่าเท่านั้นเอง
“เรายังทำงานแน่นอน แต่เราจะไม่ทำแบบปะผุ เราจะไม่ควักเงินตัวเองเพื่อเอาไปซ่อมสะพาน เราจะไม่ควักเงินตัวเองเพื่อแก้ไขปัญหาขยะให้คนมาเก็บขยะให้ชาวบ้าน แต่เราจะสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เราจะอธิบายและปักธงทางความคิดถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น
“ผึ้งใช้เวลาพูดคุยกับพี่น้องประชาชนเยอะมาก จนบางครั้งหลายคนห่วงว่าถ้าเราใช้เวลานานขนาดนี้ไปเรื่อยๆ เราจะคุยได้ไม่ครบไม่ครอบคลุมทุกบ้าน แต่ผึ้งรู้สึกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนต้องการที่จะฟัง ผึ้งพร้อมที่จะพูดและอธิบาย บอกประชาชนว่าเราไม่สามารถทำบางเรื่องได้เพราะอะไร เราจะเป็นคนคอยประสานทรัพยากรต่างๆ ถามกับท้องถิ่นว่าปัญหาตรงนี้ติดกรอบอะไรอยู่ แล้วแก้ไปทีละปมไปจนถึงต้นตอของปัญหาจริงๆ ถ้ามีปัญหาที่โครงสร้าง ก็ต้องแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

“ตอนนี้แผนเราชัดเจน สิ่งแรกๆ ที่รัฐบาลก้าวไกลจะทำคือการทำประชามติสอบถามประชาชนว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะฉบับนี้มีปัญหา แล้วหนึ่งในคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เราจะนำเสนอขึ้นไปคือการปลดล็อกท้องถิ่น
“เราจะต้องทำงานทางความคิดอย่างหนักเพื่อแก้กฎหมายหลักของประเทศ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อปลดแอกพี่น้องประชาชนจากการเป็นผู้รับอุปถัมภ์ ทำให้เขารู้สึกถึงการเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในประเทศนี้อย่างแท้จริง
“อย่างการลงพื้นที่ของผึ้งไม่นานมานี้ มีสะพานข้ามคลองเส้นหนึ่งที่สร้างด้วยไม้ พอมันผุพัง มีงบประมาณมาให้แก้ไขก็เอาไปเทปูนทับลงไป พอเริ่มจะพังก็เทปูนซ้ำอีก ถึงจะเทปูนหนาอย่างไรแต่สุดท้ายฐานสร้างด้วยไม้ พอทำงานแบบปะผุไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็พังทลาย
“เราไปแก้ปัญหาที่ต้นตอดีกว่า แล้วก้าวไกลก็นำเสนอวิธีการที่ง่ายมาก ปลดล็อกท้องถิ่น อย่ากระจุกอำนาจไว้ที่ตัวเองคนเดียว อย่ากระจุกอำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ ที่เดียว ให้ทุกคนได้มีโอกาสในการตัดสินใจในเรื่องของตัวเอง ผึ้งก็เชื่อว่าถ้าเราใช้การอธิบายและสร้างความเข้าใจได้มากพอ ประชาชนจะเอาด้วยกับเรา”
ความหลากหลายทางเพศ
สังคมไทยพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอยู่เสมอ และจะพูดกันหนักขึ้นเมื่อถึงเดือนมิถุนายน
แต่เมื่อจบเดือนทีไร การเรียกร้องของผู้มีความหลากหลายทางเพศมักถูกผลักออก หรือทำให้กลายเป็นประเด็นรองๆ ในสังคมทุกที เห็นได้ชัดทั้งการพูดคุยกันในโซเชียลมีเดียที่บรรยากาศในช่วงเดือนไพรด์จะแตกต่างกับเวลาอื่นๆ หรือย้อนกลับไปยังการชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารเมื่อปีสองปีก่อน บางคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยมักต่อว่าให้ผู้ที่เรียกร้องประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศรอก่อน เพราะมีเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญกว่าในสังคมนี้
นอกจากนี้ในระดับการเมือง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและความคิดเห็นส่วนตนของตุลาการทั้ง 9 ราย ที่ถูกโพสต์ลงเว็บไซต์ทางการเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2021 เกี่ยวกับประเด็น ‘สมรสเท่าเทียม’ ยังคงติดอยู่ในใจผู้คนอีกมาก รวมถึงเราและพนิดา
‘ในเรื่องการสมรสตามจารีตประเพณี วิถีแห่งสังคมไทยตลอดจนแนวทางปฏิบัติและการตีความกฎหมายของประเทศไทยมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า การสมรสนั้นสามารถกระทำได้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น’
‘ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีตที่มีมาช้านาน วัตถุประสงค์ของการสมรสคือการที่ชายและหญิงอยู่กินกันฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ และมีการสืบทอดทรัพย์สิน มรดก ส่งต่อความผูกพันกันระหว่างพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ซึ่งการสมรสในระหว่างบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้’
– บางส่วนจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 การสมรสจะทำได้ระหว่างชายและหญิงที่อายุ 17 ปีบริบูรณ์ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ที่กำหนดว่าบุคคลย่อมเสมอกันและได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน

“จริงๆ ผึ้งเองก็เป็นหนึ่งคนที่อยู่ในคอมมูนิตี ผึ้งรู้สึกว่านี่ก็เป็นปัญหาของเรา แล้วเราอยากจะทำให้สำเร็จ ผึ้งติดตามเรื่องสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่สภาชุดที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นไม่ผ่าน และได้เห็นคำอธิบายจากศาลรัฐธรรมนูญ เราก็รู้สึกว่าไม่ใช่ แบบนี้มันไม่ได้
“ผึ้งเข้าใจว่าเรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนสำหรับทุกคน แต่สำหรับคนที่เป็นเจ้าของปัญหา เขารอการมาของสิ่งนี้อยู่ รอการที่จะจดทะเบียนสมรส รอการที่จะใช้ชีวิตคู่อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันกับหญิงชาย พื้นฐานของเรื่องนี้คือเราจะผลักดันสมรสเท่าเทียมให้สำเร็จให้ได้ คือการให้คุณค่าของคนที่เท่ากัน ไม่ว่าคุณจะเลือกรักใครก็ตาม”
เราจึงลองใจถามไปว่าหากในอนาคตอันใกล้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่านสภา แต่สมรสเท่าเทียมไม่ผ่าน พนิดาจะโอเคไหม เธอตอบทันทีว่า ‘ไม่’
“พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือการสร้างคำใหม่ขึ้นมาหนึ่งคำ สร้างเงื่อนไขให้ใกล้เคียงกับการสมรส แต่ไม่ใช่อันเดียวกัน ตรงนี้จะแตกต่างสมรสเท่าเทียมที่เราจะเปลี่ยนคำในบทกฎหมายเดิมที่ระบุถึงชายกับหญิงให้กลายเป็นบุคคล เพื่อให้สิทธิตรงนี้เท่าเทียมกันเท่านั้นเอง”
นอกจากนี้ พนิดายังตีตกประเด็นที่สังคมบางส่วนเคยพูดไว้ว่า หากสมรสเท่าเทียมผ่านเมื่อไหร่ คนจะแห่ไปจดทะเบียนสมรส บ้างก็จดเล่นๆ บ้างก็จดเพื่อเคลมสิทธิ์ที่จะได้หลังจดทะเบียน จึงเป็นเหตุผลสมควรที่สมรสเท่าเทียมไม่ควรถูกใช้เป็นกฎหมายในประเทศนี้
“ทุกวันนี้มีใครแห่ไปจดทะเบียนแค่เพราะอยากได้สิทธิเหรอ ผึ้งมองว่านี่คือการคิดไปเองหรือเปล่า เราไปคิดแทนเขาหรือเปล่า เราหาข้ออ้างที่ไม่อยากให้คนอื่นได้รับสิทธินั้นหรือเปล่า ไม่มีใครอยากจดทะเบียนเล่นๆ หรอก ถ้าอยากจดทะเบียนเล่นๆ ผู้หญิงกับผู้ชายก็ทำได้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่ LGBTQ+
“แต่เราทำไปเพื่ออะไร สิ่งนี้ทำให้เราด้อยค่าคนที่ต้องการจดทะเบียนจริงๆ หรือเปล่า เหมือนกับว่าพอเราไม่เห็นความต้องการของคนอื่น เลยพยายามจะเอาข้ออ้างต่างๆ มาบดบังสิ่งนั้น ผึ้งมองว่าไม่แฟร์”

เมื่อเธอตีตกประเด็นแรกที่คนต่อต้านสมรสเท่าเทียมมักหยิบยกมาอ้างถึงอย่างไม่ไยดี อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงบ่อยไม่แพ้กันคือเรื่องที่ว่า ‘การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน จะทำให้อัตราการเกิดลดลง จากที่ไทยมีอัตราการเกิดน้อยอยู่แล้ว ก็จะน้อยยิ่งกว่าเดิม’
และเป็นดังคาด รีแอกชันของพนิดาคือการไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างแบบสุดตัว
“คุณทำให้สังคมน่าอยู่สิ คุณทำให้ชีวิตง่ายกว่านี้สิ คุณทำให้การเลี้ยงลูกหนึ่งคนไม่ใช่ภาระสิ ทุกวันนี้เพื่อนผึ้งไม่กล้ามีลูกเพราะรู้สึกว่าแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว และไม่พร้อมที่จะให้ลูกเติบโตขึ้นมาสังคมที่มีลักษณะแบบนี้
“ถ้าสังคมน่าอยู่หรือรู้สึกว่าการมีชีวิตในประเทศนี้ง่ายขึ้น ผึ้งเชื่อว่าคนก็พร้อมจะมีลูกมากขึ้น อัตราการเกิดก็จะเพิ่มขึ้น ถ้าไม่เพิ่มขึ้นจริงๆ นโยบายจากภาครัฐก็จะสนับสนุนให้เขามีลูกให้ง่ายขึ้น อย่างก้าวไกลที่อยากผลักดันให้คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้สิทธิลาคลอด 180 วันแบบแบ่งกันได้ หรือคลอดลูกได้รับสวัสดิการ 3,000 บาท เด็กเล็ก 0-6 ขวบ มีเงินดูแลเดือนละ 1,200 บาท
“ผึ้งมองว่าการเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้นกว่าตอนนี้ รวมถึงนโยบายต่างๆ จากภาครัฐจะสนับสนุนให้เราสามารถมีประชากรเพิ่มขึ้นได้ แต่ตอนนี้เรากำลังหาแพะรับบาปหรือเปล่าว่า LGBTQ+ ทำให้เด็กเกิดน้อย ซึ่งมันไม่ใช่
“ผึ้งจะทำให้ดีที่สุด จะผลักดันไปให้ได้มากที่สุด เหมือนที่ ส.ส. ก้าวไกล เคยทำมาตั้งแต่ตอนเป็นฝ่ายค้านในสภาชุดที่แล้ว พวกเขาพยายามกันมากๆ เพื่อที่จะทำให้เรื่องนี้ผ่านให้ได้ ส.ส. ก้าวไกลไปขอมือทั้งสภาเพื่อให้ ส.ส. พรรคอื่นๆ ยกมือโหวตให้
“แต่ถ้าไม่ผ่านหรือไม่เป็นไปอย่างที่คิด ผึ้งเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจว่าเราพยายามเต็มที่ที่สุดแล้ว เราไม่ได้นั่งมองเฉยๆ แล้วให้ร่างกฎหมายไหลไปเรื่อยๆ ตามลำดับขั้นตอน แต่เรารณรงค์ทางความคิด ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในกลุ่มคนต่างๆ เช่นกลุ่มศาสนาหรือผู้คนที่มีความเชื่อต่างกัน เราจะปักธงทางความคิดทั้งในพื้นของตัวเองและในสภา”
“แต่ถึงอย่างนั้น สำหรับคนที่อย่างไรก็ไม่เห็นด้วยกับสมรสเท่าเทียม ผึ้งก็ต้องบอกว่า ถ้าคุณเห็นคู่รักที่ไม่ใช่เพศเดียวกันได้แต่งงานกัน การแต่งงานนั้นทำให้คุณเสียภาษีเพิ่มขึ้นไหม หรือถ้าคุณกีดกันการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน แล้วจะทำให้คุณจ่ายภาษีน้อยลงไหม ถ้าเรื่องนี้ไม่ได้กระทบกับคุณแม้แต่น้อย ก็ไม่เห็นจะต้องไปกีดกันเขาเลยหรือเปล่า”
เธอกล่าวทิ้งท้ายถึงโฮโมโฟเบียที่มักพูดจาร้ายๆ และผลักผู้คนที่หลากหลายให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคม