fbpx

“ประจำเดือนผมกลับมา” สะท้อนบริการสุขภาพสำหรับชายข้ามเพศในยุคโควิด-19

เพื่อนผู้หญิงข้ามเพศของฉันคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าจังหวัดที่เธอทำงานอยู่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีแดง ทำให้ร้านค้า โรงละคร สถานบริการ ผับ บาร์ ถูกปิดตัวลง คนข้ามเพศที่ต้องอาศัยงานจากสถานที่บันเทิงเหล่านี้ต้องตกงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน คนข้ามเพศบางส่วนต้องตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะกิจการหลายแห่งประกาศขาย หรือเซ้งต่อให้นายทุนคนอื่น คนที่ไม่มีที่จะกลับไปได้ ต้องพยายามปรับตัวหารายได้ให้อยู่รอด บางคนขายอาหารตามสั่ง แต่ก็อยู่อย่างลำบาก เพราะคนในพื้นที่ไม่มีกำลังซื้อ เนื่องจากการขาดรายได้หลักอย่างต่อเนื่องจากธุรกิจการท่องเที่ยวที่ล้มแล้วล้มอีก และไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในพื้นที่มาเป็นเวลานาน  

ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนในแวดวงสาธารณสุขของประเทศทำงานอย่างหนักในด้านการป้องกันโรค ฉีดวัคซีน ตรวจหาเชื้อเชิงรุกในชุมชน ดูแลและรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนราวกับว่าคนในวงการสาธารณสุขจะไม่มีเวลาทำงานอื่นแม้แต่น้อย เพราะสถานการณ์การระบาดที่กระจายตัวอย่างรวดเร็ว และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีจำนวนมากขึ้นแทบทุกวัน ทำให้คนที่มีโรคประจำตัว และคนที่ต้องพบแพทย์เป็นประจำเพื่อติดตาม ดูแล และรักษาสุขภาพต้องพบกับปัญหาการเลื่อนนัด หรือการถูกยกเลิกนัดในการรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะกระบวนการทางการแพทย์ที่ยังถูกมองว่าไม่ได้สำคัญมากนัก และสามารถเลื่อนการดูแลรักษาออกไปก่อน 

การรับฮอร์โมนเพศ หรือ “Gender-Affirming Hormone Therapy” คือกระบวนการหนึ่งที่สำคัญต่อสุขภาวะของคนข้ามเพศ มีคำกล่าวที่เปรียบเปรยว่า “Hormone therapy is lifesaving” หมายถึงการรับฮอร์โมนเป็นกระบวนที่ช่วยต่อชีวิตของคนข้ามเพศ เพราะฮอร์โมนมีความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีระของคนข้ามเพศ ทำให้ร่างกายเข้าใกล้กับสำนึกของความเป็นเพศของคนข้ามเพศคนนั้น ข้อคำนึงประการหนึ่งคือการรับฮอร์โมนไม่ง่ายเหมือนไปซื้อยากินจากร้านขายยาตามความเข้าใจของคนทั่วไป เพราะคนข้ามเพศที่ตัดสินใจรับฮอร์โมนอาจจะต้องใช้ฮอร์โมนนั้นไปตลอด และต้องเข้ารับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในระบบต่อมไร้ท่อ หรือ “Endrocrinologist” เพราะการใช้ฮอร์โมนเป็นเวลานานจะมาพร้อมกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับร่างกายของผู้ใช้   

บริการสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศ หรือ “Gender-Affirming Healthcare” มีความจำเป็นอย่างมากกับคนข้ามเพศที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงสรีระให้ตรงกับเพศที่คนข้ามเพศคนนั้นรับรู้ ในต่างประเทศจะมีคำกล่าวที่ว่า สุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศเป็น “Medically Necessary” หรือ “ความจำเป็นทางการแพทย์” ดังนั้นแพทย์ไม่สามารถปฏิเสธการดูแลรักษาคนข้ามเพศได้ โดยเฉพาะการจัดบริการด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศ เช่น การขอรับฮอร์โมน การผ่าตัดศัลยกรรมต่างๆ รวมถึงการกำจัดขนบนร่างกาย และการเข้าเรียนเทคนิคการปรับเสียงให้ตรงกับเพศสภาพ เป็นต้น    

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และมาตราการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 จากคำสั่งของภาครัฐ ส่งผลกระทบกับผู้คนจำนวนมากที่ต้องเข้ารับบริการติดตามดูแลสุขภาพจากแพทย์ประจำตัวของตนเอง ซึ่งคนข้ามเพศเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบนั้นไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะคนข้ามเพศที่ต้องไปรับบริการตรวจวัดระดับฮอร์โมนจากคลินิกสุขภาพเพศที่ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และมีจำนวนวันที่จำกัดในการให้บริการกับคนข้ามเพศ   

การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่เป็นเพียงสาเหตุเดียวที่ทำให้คนข้ามเพศจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจากคลินิกสุขภาพเพศ แม้ว่าในสถานการณ์ไร้โรคระบาด ยังมีอุปสรรคมากมายที่ทำให้คนข้ามเพศไม่สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการข้ามเพศได้ โดยที่สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศยังไม่ครอบคลุมในเชิงพื้นที่บริการ และราคาในการรับบริการที่คนข้ามเพศจำนวนมากไม่สามารถจ่ายได้   

ชายข้ามเพศคนหนึ่งที่ต้องหยุดรับฮอร์โมน เพราะต้องย้ายกลับไปอยู่ต่างจังหวัด และไม่สามารถเดินทางไปรับบริการที่คลินิกสุขภาพเพศในกรุงเทพฯได้ ทำให้ประจำเดือนของเขากลับมา เล่าให้ฟังว่า “การที่ประจำเดือนกลับมามันทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า ทุกครั้งก่อนเทคฮอร์โมน ตอนที่เมนส์จะมาอัตราซึมเศร้าจะสูง แต่ตอนที่ห่างจากรอบเดือนมากที่สุด จะรู้สึกมีพลัง และตื่นเต้น เมนส์ทำให้เราอารมณ์ดิ่งเศร้า คิดเยอะ ร่างกายไม่อยากทำอะไร ส่งผลต่อจิตใจ พอเมนส์กลับมาก็อาจจะมีเซ็งๆนิดหน่อย พอฉีดเทสโทสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศชาย) จะรู้สึกว่ามีพลังกลับคืนมา มีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น และรู้สึกดี แต่การมีประจำเดือนกลับมาแปลว่าเรามีฮอร์โมนเพศหญิงเยอะขึ้น มันทำให้เราอารมณ์แปรปรวน เหมือนเราจะสัมผัสคลื่นพลังงานความเกลียดชัง และความเศร้าที่ลอยอยู่ในบรรยากาศง่ายขึ้น ทำให้เราหดหู่มากขึ้น” 

เมื่อบริการสุขภาพของคนข้ามเพศส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงซึ่งเป็นเขตพื้นที่สีแดงเข้ม ทำให้การบริการต้องเปลี่ยนรูปแบบ จากเดิมที่จะมีการนัดหมายผู้รับบริการให้เข้ามาที่คลินิก แต่สถานบริการสุขภาพบางแห่งได้ปรับรูปแบบของการพบแพทย์โดยใช้สื่อออนไลน์ หรือวิดีโอคอลเข้ามาแทนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้รับบริการที่ไม่สามารถเดินทางมารับบริการได้ด้วยตนเอง แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทเพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพ แต่คนข้ามเพศจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงฮอร์โมนที่ต้องการได้จากร้านขายยาที่อยู่ใกล้บ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด และคนข้ามเพศจำนวนหนึ่งไม่สามารถหาสถานบริการสุขภาพที่รับฉีดฮอร์โมน และบางครั้งยังถูกปฏิเสธจากผู้ให้บริการสุขภาพ หรือแม้จะหาสถานบริการสุขภาพที่รับฉีดฮอร์โมนให้ แต่คนข้ามเพศก็มักจะเจอคำถามที่ไม่เหมาะสมจากผู้ให้บริการสุขภาพ เช่น “ฉีดฮอร์โมนไปทำไม” และคำถามในเชิงตัดสินบนฐานของอคติ เช่น “ทำไมถึงอยากเป็นผู้ชาย (ในกรณีชายข้ามเพศ)” เป็นต้น    

คำถามที่คนตรงเพศมักถามคนข้ามเพศว่า “ทำไมต้องฉีดฮอร์โมน” หรือบอกกับคนข้ามเพศว่า “หยุดฮอร์โมนไปก่อนแล้วค่อยกลับไปรับฮอร์โมนภายหลังสถานการณ์การระบาดลดลง” เป็นคำพูดที่แสดงฐานคิดเรื่องความเป็นเพศที่จำกัดแค่เพศทางสรีระเพียงเท่านั้น และไม่ละเอียดอ่อนต่อคนที่มีวิถีทางเพศที่แตกต่าง ในเมื่อการรับฮอร์โมนของคนข้ามเพศเป็น “ความต้องการทางสุขภาพที่สำคัญกับสุขภาพโดยรวม” ของคนคนหนึ่ง การไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพดังกล่าว หรือขาดความต่อเนื่องในการรับบริการ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพกับคนข้ามเพศคนนั้น  

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เราเห็นช่องว่างของงานบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการข้ามเพศในประเทศไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้น หากเราเรียนรู้จากอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับคนข้ามเพศที่พยายามเข้าถึงบริการสุขภาพที่สำคัญกับพวกเขา เราจะรู้ว่าการพัฒนาบริการสุขภาพให้ผนวกรวมสุขภาพของคนข้ามเพศเป็นส่วนหนึ่งในงานบริการสุขภาพในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นเรื่องที่สำคัญ หรืออย่างน้อยที่สุดคือการสร้างระบบในการตรวจ ติดตาม และดูแลรักษาผ่านทางออนไลน์ จัดส่งฮอร์โมนพร้อมกับจดหมายของแพทย์ที่ช่วยอธิบายความจำเป็นในการรับฮอร์โมนของคนข้ามเพศ เพื่อให้คนข้ามเพศสามารถนำไปใช้อธิบายกับผู้ให้บริการสุขภาพใกล้บ้าน หรือแม้กระทั่งการใช้ระบบ “Virtual Medicine” หรือ “Telehealth” เพื่อสอนให้คนข้ามเพศฉีดฮอร์โมนด้วยตนเอง เป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการรับบริการฉีดฮอร์โมนที่มีราคาสูง และเป็นค่าใช้จ่ายที่คนข้ามเพศต้องจ่ายทุกอาทิตย์หรือทุกเดือน        

แน่นอนว่ากระบวนการที่กล่าวมาข้างต้นจะต้องใช้เวลาในการพัฒนา แต่มันสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงเพราะมีตัวอย่างให้เห็นในต่างประเทศ ถ้าสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศเป็นเรื่องสำคัญ และเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ดีของคนข้ามเพศ ระบบสาธารณสุข และหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรให้ความสำคัญกับสุขภาพของคนข้ามเพศในฐานะพลเมืองของประเทศ

คนข้ามเพศทุกคนต้องเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นมิตร มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีราคายุติธรรม เพราะสุดท้าย ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด การมีสุขภาพที่ดีย่อมเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า