เคยสงสัยไหมครับว่า ถ้าข้าราชการเกียร์ว่าง ไม่ทำงาน รวมถึงทำงานผิดพลาด ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและสังคม ประชาชนอย่างเราๆ เจ้าของเงินภาษีที่เอาไปบำเรอกลุ่มอภิสิทธิ์ชน มีสิทธิทำอะไรได้บ้างกับกลุ่มคนเหล่านี้ The Modernist มีคำตอบ เตรียมลั่นมือดังกร๊อบๆ ล้างมือรอ เตรียมไปฟ้องคนเหล่านี้ให้เข็ดหลาบ จะได้นึกถึงประชาชนอย่างเราๆ นายของเขาที่แท้จริงกันสักที

เครื่องมือที่ประชาชนมีไว้เพื่อจัดการกับข้าราชการที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เรียกว่า “กฎหมายอาญามาตรา 157” ที่มีเนื้อหาว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

หลายคนอาจสงสัยคำว่าว่า “เจ้าพนักงาน” นั้นคือใคร ฉะนั้นจึงต้องไปดู มาตรา 1 (16) “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่า เป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็น ประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่

นั่นหมายความว่า นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ องค์กรอิสระ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฯ ย่อมเป็นเจ้าพนักงาน “ขอย้ำนะครับ กกต. เราก็ฟ้องได้”
เพราะฉะนั้น ในกรณีที่เจ้าพนักงานกระทำความผิด หรืออย่างในสถานการณ์การเลือกตั้ง การทำให้ประชาชนสับสนในการเลือกตั้ง ไม่เขียนรหัสเขตเลือกตั้ง พิมพ์บัตรเลือกตั้งผิดพลาด ผิดเบอร์ ผิดชื่อ ทำบัตรเขย่ง นับคะแนนเกิน ย่อมหมายความว่าประชาชนอย่างเราๆ ถูกละเมิดสิทธิ ได้รับความเสียหายต่อสิทธิเลือกตั้งของเรา เราก็มีสิทธิที่จะฟ้องได้ หรือหาก กกต. หลับหูหลับตา มองไม่เห็นการทุจริตของพรรคผู้มีอำนาจ นั่นหมายความว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ประชาชนอย่างเราๆ ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องคนกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน

The Modernist ขอยกตัวอย่างต่างประเทศว่าเขามีวิธีกำราบข้าราชการฉ้อฉลอย่างไร เผื่อจะเป็นแนวทางในอนาคตให้ประเทศไทยได้ดูเป็นแบบอย่าง
เริ่มที่ ฟินแลนด์ มุ่งเน้นการกำจัดปัจจัยที่เอื้ออำนวยการให้เกิดการทุจริต โดยจัดวางโครงสร้างทางการเมืองแบบกระจายอำนาจ เน้นให้มีการตรวจสอบคานอำนาจระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น และทำให้ขั้นตอนการตัดสินใจของนักการเมืองโปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกระยะ รวมทั้งให้อำนาจประชาชนในการฟ้องร้องการประพฤติมิชอบของนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐต่อศาลปกครองโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี

เกาหลีใต้ มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาหนึ่งชุดชื่อว่าคณะกรรมการอิสระต่อต้านการทุจริตแห่งชาติเกาหลีใต้ (Korea Independent CommissionAgainst Corruption) หรือ KICAC ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับชาติ มีสถานะเทียบเท่ากระทรวง มีหน้าที่หลักในการจัดวางนโยบาย การประเมินผลด้านนโยบายต่อต้านการทุจริต การให้ความคุ้มครองปกป้องแก่ผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงติดตามและตรวจสอบกิจกรรมของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงภายในประเทศ

ประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เน้นแนวทางการตรวจสอบโดยภาคประชาชน เป็นหลัก ด้วยการปฏิรูปความคิดและจิตใจของเจ้าหน้าที่รัฐและพลเมืองให้ต่อต้านการทุจริตโดยใช้แนวทางการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทําความผิดในคดีทุจริตอย่างจริงจังและไม่ไว้หน้า ที่สำคัญ ได้สร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนโดยการเสนอแนวทางให้ประชาชนที่พบเบาะแสการทุจริตให้แจ้งไปยัง KICAC ซึ่งหากข้อมูลที่แจ้งนั้นเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการสูญเสียอันอาจจะเกิดขึ้นต่อรัฐ หรือเป็นประโยชน์สาธารณะ ผู้แจ้งจะได้รับรางวัลจากรัฐ โดยข้อมูลของประชาชนที่แจ้งนั้นจะมีระบบป้องกัน และรักษาความลับของผู้แจ้งให้เป็นความลับขั้นสูงสุดของทางราชการ
และประเทศไทยเองกฎหมาย 157 ก็เป็นเครื่องมือของประชาชนตัวเล็กๆ อีกช่องทางหนึ่งที่ประชาชาจากหลายภาคส่วนให้ความสำคัญกับกฎหมายมาตรานี้มากขึ้น เช่น ในวันที่ 2 พฤษภาคม “กลุ่มเครือข่ายเยาวชนไม่นะกัญชาและยาเสพติด” (YNAC) ยื่นหนังสือถึง นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องข้อมูลและคำชี้แจงกรณีการปลดกัญชาเสรีด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการฟ้อง ม.157
ไหนๆ รัฐก็ ใช้กฎหมายเล่นงานประชาชนบ่อยครั้ง แล้วทำไมประชาชนจะใช้กฎหมายจัดการคนที่เราเสียภาษีจ่ายเงินเดือนให้ไม่ได้

“ชาติเท่ากับประชาชน อย่ายอมให้คนที่มีอำนาจ ใช้กฎหมายข่มเหงประชาชนที่คือชาติอีกต่อไป”