fbpx

“การฟังและเคารพความคิดคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญ” บทเรียนจากชีวิตผู้กำกับของผอูน จันทรศิริ

หลังจากการสัมภาษณ์ออกสื่อตลอดทั้งวัน คู่สนทนาตรงหน้าหายเหนื่อยและยิ้มได้แทบจะทันที เมื่อเรามอบนิตยสาร BKL ฉบับ 4 บอเกย์ที่ทำขึ้นพิเศษให้เธอเป็นของที่ระลึก

เธอจะดีใจขนาดนั้นก็คงไม่แปลก เพราะเธอคือสมร เก่งงาน บรรณาธิการนิตยสาร BKL

แต่ชีวิตจริง เธอคือปุ๊ย-ผอูน จันทรศิริ ซึ่งนอกจากที่เราจะคุ้นเคยเธอในฐานะ “พี่หมอน” ของน้องๆ ในออฟฟิศเป็นต่อ เธอคือผู้กำกับฝีมือดีที่วาดฝีไม้ลายมือผ่านภาพยนตร์หรือละครหลายต่อหลายเรื่อง ที่ได้ทั้งเงิน ทั้งกล่อง ทั้งกระแส ทั้งเรตติ้ง และต่างเป็นที่จดจำในแต่ละช่วงเวลา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแฟชั่นสุดแซ่บของดีนี่และเพียงดาวในมารยาริษยา พีเรียดหนักๆ สุดเข้มข้นอย่างมาลัยสามชาย ภาพยนตร์รักน้ำตารินที่ใครดูก็ต้องร้องไห้อย่าง The Letter, จดหมายรัก แม้แต่ทัดดาวบุษยา ที่ใครก็พูดเจ้าฮะๆ กันทั้งเมือง

หรือถ้าในยุคช่องวัน 31 ก็มีทั้งขอโทษที่รักเธอ, ภาตุฆาต, รักแลกภพ และล่าสุดกับรักสุดท้ายยัยจอมเหวี่ยง ที่กำลังจะออกฉายเร็วๆ นี้

ช่องวัน 31 จัดสรรให้เราได้คุยกับผู้กำกับมากฝีมือเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งตลอดชั่วโมงของการสนทนา แทบทุกประสบการณ์ของพี่ปุ๊ยเป็นบทเรียนชั้นดีให้กับพวกเราในฐานะคนสื่อหน้าใหม่ และสามารถนำไปประยุกต์ในชีวิตของผู้อ่านทุกคนได้เช่นกัน

ไปฟังเรื่องราวของเธอกัน, ก่อนพี่หมอนจะเอาแฟ้มฟาดกบาลใส่ (ฮา)

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

จากสาวอักษรสู่คนโทรทัศน์

การทำงานในสายบันเทิงเป็นความฝันไหม จริงๆ ไม่ได้ฝัน เพราะพี่เรียนสายวิชาการมา พี่เรียนวรรณคดีอังกฤษ แต่ไม่เคยคิดว่าจะอยู่ในวงการบันเทิง คิดแต่ว่าต้องเป็นฝ่ายวิชาการแน่ๆ เลย แต่ก็ได้เรียนวิชาการละคร ได้เรียนดราม่า และยุคพี่ไม่ค่อยไม่ค่อยมีคนมาทำงานวงการบันเทิงเท่าไหร่ ตอนนั้นทำวงการบันเทิงมันไม่ได้บูมนะ แต่พอเรียนจบกลายเป็นว่าเราเผลอได้เข้ามาในวงการ แล้วแล้วสิ่งที่พี่เรียนมามันไม่ใช่วิชานิเทศฯ มันเป็นวิชาการละคร การแสดง แบบสายการแสดงเพียวๆ เลย เราถึงต้องมาหาความรู้ด้านอื่นๆ ที่จะสื่อออกมาบนโทรทัศน์ให้ได้ เพราะฉะนั้นถามว่าอยากไปอยู่ในวงการนี้ไหม ไม่ได้อยากนะ ไม่ได้อยาก แต่ว่ารักมัน ชอบ ชอบการแสดง 

แล้วเราก็รู้ว่าเราไม่ได้เป็นคนสวยแบบจะได้เป็นนางเอก แต่ชอบการแสดง เพราะฉะนั้นมันต้องทำยังไงวะ เออ ช่วงแรกก็เล่นละครเวที ก็สนุก มีความสุข แต่การเล่นละครเวทีมันไม่ได้มั่นคงจนเป็นอาชีพได้ แล้วพอดีก็ครูบาอาจารย์ของเอกนั่นแหละชวนมาทำโทรทัศน์ ก็เลยมาเขียนบทแล้วก็มาเล่นละครโทรทัศน์ เพราะการเล่นละครมันไม่ได้ต้องศึกษาเพิ่ม มันใช้พื้นฐานความรู้ของเราในการ ในการแสดงละครเวทีและละครโทรทัศน์ มันอยู่บนพื้นฐานเดียวกันหมด แค่เปิด Volume ให้มันต่างกัน เล่นอินเนอร์มันเหมือนเดิม แต่ว่าเอาออกมาให้ขนาดพอดี ในขณะที่พอมาเล่นอยู่ในวงการโทรทัศน์ เขียนบทเราก็ต้องเริ่มเปลี่ยนจากการเรียนที่เราเรียนเขียนบทละครเวทีให้มาเป็นละครโทรทัศน์ อันนี้เราก็เริ่มศึกษาและทำยังไง เราจะเล่าเรื่องผ่านกล้องทีวี 3 กล้องให้ได้ โอ๊ย ในยุคแรกๆของการเขียนบท มันก็จะเขียนบทฉากยาว ๆ เพราะเราชินละครเวทีะ ไม่ค่อยสนใจว่ากล้องจะทำหน้าที่อะไรของมัน 

แล้วก็เรียนเรียนรู้เรียนผิดเรียนถูกมาเรื่อยๆ เลยค่ะ แล้วก็เพราะคนชวนมากำกับละคร พี่ก็บอกว่าขอเวลาให้เราตอบคำถามทุกคนในกองได้ก่อน เพราะสมัยนั้นเรารู้สึกว่าแบบผู้กำกับคือคนที่ต้องรู้ทุกอย่างในกอง แต่พอหลัง ๆ ได้เรียนรู้ว่าไม่ต้องทุกอย่างก็ได้ ถามคนอื่นบ้างก็ได้ ตอนนั้นมันรู้สึกว่า ถ้าเราพร้อมแปลว่าเราต้องรู้ทุกอย่าง แล้วพอรู้สึกว่าพร้อมแล้วถึงจะมากำกับ

มารยาริษยา ละครที่ทำให้ “ชาวเรา”​ อยากเป็นตัวร้ายกันทั้งเมือง

เรื่องนี้ทำไม่ยากแต่เหนื่อยมาก มันไม่มีเวลา แต่ตอนนั้นอายุมันยังไม่เยอะ มันยังทำสนุกอะค่ะ เราก็เขียนเนื้อเรื่องไป ออกอากาศไปด้วย เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นความลับได้ เพราะไม่มีใครรู้แม้กระทั่งตัวเอง (หัวเราะ) ว่ามันจะไปทางไหนต่อ แต่มันเป็นสิ่งที่สอนเราว่า ตัวละครมันมีชีวิตที่มันพาเราไป คือเรากำหนดไว้ค่อนข้างคร่าวๆ ซึ่งยุคนี้ทำไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ ยุคนี้มันต้องมีอะไรที่ทุกคนต้องรู้เท่ากันหมด หมายถึงว่า กำหนดอะไรไว้แล้วมันจะส่งผลกับการถ่ายทำ แต่ตอนนั้นมันยังมีค่ามาก จากการที่ถ่ายอาทิตย์นี้ก็จะรู้ว่าอารมณ์นักแสดง ไม่ต้องไปถึงตรงนี้ แล้วค่อยไปเขียนต่อยอด ซึ่งเป็นการทำงานที่น่ากลัวมาก ถ้าผิดก็พังเลย อันนั้นมันซุก แต่ก็สนุกมาก

แล้วก็เป็นตัวของตัวเองอย่างมาก เพราะว่าพี่เอาคนรอบข้างมาเป็นตัวละคร คือผู้หญิงส่วนใหญ่จะแทนตัวเองว่าเป็นเพียงดาว ก็เป็นนางเอกที่เป็นพี่นก (สินจัย เปล่งพานิช) เล่น คือผู้หญิงที่เคยถูกแย่งแฟนจะแทนตัวเองว่าเป็นเพียงดาว มีคนจำนวนมากที่ชอบเพียงดาว ในขณะที่กะเทยทั้งประเทศจะเป็นดีนี่ (หัวเราะ) แล้วมันก็เป็นมิติใหม่ของตัวร้ายที่แอ๊บ แล้วคือพี่เรียนโรงเรียนหญิงล้วนมาตั้งแต่เด็กตั้งแต่เกิดเลย อยู่มหาลัยผู้ชายน้อยมาก เพราะฉะนั้นสังคมพี่มีแต่ผู้หญิง แล้วพี่พยายามจะบอกทุกคนว่า ผู้หญิงที่เรียบร้อยคือผู้หญิงที่ร้ายที่สุด มันก็เลยถูกใจคนมาก เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าอะไรที่มีเรื่องอะไรที่เป็น Signature ของพี่ พี่ว่ามารยาริษยา (2541) เพราะว่ามันมันโคตรผู้หญิง แล้วเป็นผู้หญิงที่ซับซ้อน

ผู้กำกับไม่ใช่งานของผู้หญิง?

ตอนเข้ากองครั้งแรก จำได้ได้ค่ะ เป็นความรู้สึกเคอะเขิน แล้วก็ไม่มีความมั่นใจในการสั่ง แต่ว่ามันมีทีมที่ดีมาก ที่คอยซัพพอร์ต พี่ว่ามันแทบทุกคนที่เคยกำกับต้องคิดว่าวันแรกๆ มันรู้สึกว่าใช่ป่ะวะ เสียงดังไปป่ะวะ เป็นความเกรงใจ แต่ว่าสิ่งที่พี่พูดเสมอคือ เราอะ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ มากำกับละครหรือไปกำกับหนังเนี่ย เรารู้ว่าเราไม่ได้เรียนสื่อสารมวลชน เราไม่ได้เรียนวิธีใช้กล้องวิธีเล่าเรื่องด้วยภาพหรืออะไรมานะคะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปทำเป็นรู้เยอะในสิ่งที่เราไม่รู้ เราควรจะรู้มากๆ ในสิ่งที่คนอื่นสู้เราไม่ได้ คือต้องออกตัวว่าสมัยก่อนที่พี่พี่มากำกับใหม่ ๆ ผู้กำกับผู้หญิงแทบจะไม่มี พี่ก็เลยต้องทำจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งให้ได้ เพราะงานในกองถ่าย งานเบื้องหลังเป็นหน้าที่ของผู้ชาย เพราะว่ามันเป็นงานที่หนักมาก ผู้หญิงก็ไม่ได้อยากทำ ตอนพี่มากำกับใหม่ๆ สิ่งที่พี่ต้องให้สัมภาษณ์ทุกครั้งที่มีการสัมภาษณ์คือ “รู้สึกยังไงที่มาทำงานของผู้ชาย?” ซึ่งพี่ก็บอกว่ามันไม่ใช่งานของผู้ชาย มันเป็นงานที่ทำได้ทุกเพศ เพียงแต่ว่าผู้หญิงเขาไม่อยากทำ เพราะว่าเหนื่อย 

แต่ ณ ตอนนั้นน่ะ พี่ต้องการจะบอก พี่ต้องการจะสร้างจุดแข็งให้กับตัวเองว่า เมื่อเราเป็นผู้หญิงเราต้องรู้เรื่องผู้หญิงมากกว่าที่จะให้ผู้ชายมารับเรื่องผู้หญิงอะไรอย่างนั้น หมายถึงว่า เราเรียนรู้ตัวเองว่าจุดแข็งของเราคือการดูแลการแสดง เพราะฉะนั้นเราเอาตรงนี้เป็นจุดเด่นให้ได้ แล้วคนอื่นจะไม่ด่าเรา ณ ตอนนั้นอย่างที่พี่บอกว่ายิ่งกำกับเรื่องแรก (ม่ายค่ะ-2537) งานกำกับไม่ใช่ที่ทางของผู้หญิง เขาเป็นผู้ชายเต็มไปหมดเลย และเรารู้ว่าถ้าเราพลาดเนี่ยมันจะมีการลองของ แต่ถ้าเราบอกเขาเลยว่าเราไม่รู้ ช่วยหน่อย ช่วยหนูหน่อยนะคะ พี่ไม่เก่งทางนี้นะคะ แต่เราพอจะรู้ไม่ใช่ว่าเป็นศูนย์เลยก็ไม่ได้ แต่ตรงที่เราทำได้ เราทำให้เขาว้าว แล้วทุกคนจะช่วยเราเอง ทุกคนจะรู้สึกว่า เออ มันก็ไม่ได้โง่เง่าเต่าตุ่นมาจากไหน นี่คือวิธีทำงานเสมอเสมอของพี่คือ ขยัน จุดเด่นของตัวเอง เพื่อให้เพื่อให้จุดด้อยมันจะมันจะจางลงนะคะ

“วิธีหลอกใช้” ของผู้กำกับหญิงที่ไม่เคยโดนลองของ

โชคดีมากที่ไม่เคย โชคดีจริง ๆ ไม่รู้ว่าทำบุญมาด้วยอะไร มันเหมือนบางที่เราไม่รู้ เราก็บอกเขาว่าไม่รู้ เช่น สิ่งที่พี่คอมเมนต์ไม่เป็นเลยคือแสง ในช่วงแรกๆ ได้แต่บอกว่าสวยหรือไม่สวย แต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไงจะให้ได้ตามที่เราต้องการ มันก็มีวิธีเดียว คือไปพูดกับฝ่ายภาพว่า “มันมืดไปไหมอะ” หรือว่า “มันสว่างไปไหมอะ” แล้วถ้าเกิดเขาเห็นด้วยกับเรา “แล้วทำไงอะ” เขาจะไปพูดกันเอง ตอนนั้นอายุน้อยด้วยเนอะ พี่ก็จะเรียกวิธีนี้ว่า “วิธีหลอกใช้” มันก็คือไม่รู้ว่าจะไปบอกเขายังไง 

แล้วยิ่งตอนไปทำหนัง (The Letter-2547) นะ โชคดีมากที่ยุคนั้นเค้าจะไม่ใช้นักแสดงอาชีพ เค้าจะรู้สึกว่าเท่ เค้าได้ใช้คนที่หน้าไม่ซ้ำกัน แล้วเค้าก็บอกว่า การตัดต่อช่วยได้ แต่พี่บอกว่าถ้าคุณเอาคนที่เก่งที่สุดในทุกแผนกมาทำแล้ว ทำไมแผนกการแสดง คุณไม่ให้คนที่เก่งที่สุดมาเล่น มันจะช่วยได้เยอะเลยนะ จริงๆ เขาก็เริ่มแบบ หึ้ย ตอนนั้นเค้าอยากฉีกไง เขารู้สึกว่า ถ้ามันเท่ มันต้องไม่เอาดารา มันเบื่ออะไรเนี้ย และพี่อุ๋ย (นนทรี นิมิบุตร) ยังพูดเลยว่า เออปุ๊ย มึงพูดถูกเก่ง ถ้าทุกแผนกเก่ง แผนกแสดงก็ต้องเก่ง มันจะช่วยได้อีกเยอะมากเลยนะ แล้วตอนที่พี่ไปทำหนัง พี่และแอน (ทองประสม) และหนุ่ม (อรรถพร ทีมากร) จากวงการทีวี เราพยายามจับมือว่า เขาจะต้องว้าวกับพวกเรา โดยที่ไม่ต้องพูดกันเลยนะ มันเหมือนกันที่แบบรู้กันอะไรอ่ะค่ะ แล้วหนังของพี่จริงๆ เป็นหนังฟอร์มเล็กไม่ได้มีอะไรเลย แต่ที่ทุกคนยังพูดถึงกันอยู่ทุกวันเนี้ย มันได้ด้วยการแสดงเท่านั้นเลย 

แล้วตัวหนังมันเป็นหนังที่บังคับ (คนดู) ร้องไห้อะ มันทำขึ้นมาเพื่อจะแบบส่ง Message มันเป็นเรื่องเศร้า ยังไงก็ร้อง คือบางคนก็อาจจะรู้สึกว่า เรื่องห่าอะไรวะ เอามาแล้วก็ร้องไห้เลยอ่ะ เพราะมันเป็นจุดประสงค์รวมทั้งจุดประสงค์ของคนที่ซื้อลิขสิทธิ์เรื่องนี้มาด้วย เพราะเขาว่าเขากำลังจะตายแล้วเขาต้องการส่ง Message อันเนี้ยของเรื่องนี้แทนตัวเขาไปให้คนที่อยู่ข้างหลัง

The 5 Elements คือลูกชายของผอูน

ใน 5 ปีหลัง พี่รับหน้าที่ปั้นนักแสดง คือจริงๆ แล้วมันเป็นการเลือกของตัวเอง แล้วพี่คิดว่ามันสนุก สำหรับพี่มันเหนื่อยยากแสนสาหัส มันอยากฆ่า ทำไมกูไม่ได้ ต่อ ธนภพ มาเล่น (หัวเราะ) 

คือแก๊ง 5 พระเอกเนี่ย (The 5 Elements) เป็นลูกพี่หมดเลย เคยทำงานกับพี่หมดเลย มีไบร์ท (นรภัทร วิไลพันธุ์) ทำน้อยที่สุดคือ ณ ตอนนั้นพี่ไบร์ทเค้าแบบ มันเล่นไม่ได้เลยอะ จนแบบพี่เค้ากำลังปรับพื้นฐานอยู่ แล้วพี่กลัวไบร์ทเสียความมั่นใจ ไม่ว่าทำอาชีพอะไร ความมั่นใจเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งเป็นนักแสดงอะ พอไม่มั่นใจอะ มันจะหมอง มันจะไม่ Shining อะ แสงมันหรี่ลง ถ้าหรี่ลง เราก็กลัวว่าไบร์ทเนี่ยไม่มั่นใจ คิดว่าตัวเองทำไม่ได้ กว่าจะบิ้วด์ขึ้นมาอีกเนี่ย ยากมาก เพราะฉะนั้นไบร์ทเล่นสายรักสายสวาท (2561) กับพี่มา แล้วก็มีทั้งตรี (ภรภัทร ศรีขจรเดชา) ตงตง (กฤษกร กนกธร) ไบร์ทมาอีกคน มา มาให้หมด แต่ก็สนุกกับมันมาก แล้วก็ความเราทั้งดุทั้งตลกอะ มันก็จะช่วยได้ “ไบร์ทถ้าไบร์ทเล่นช้ากว่านี้นะ เราจะได้มาอีกตอนนึงนะ” (หัวเราะ) ถ้ามึงพูดช้ากว่าเนี่ย แบ่งเบรคได้อีกเบรคนึงเลยนะ แล้วมันเป็นเงินนะไบร์ท พอเป็นขำ มันก็ขำไปด้วย คืออย่างที่บอกมันเป็นจิตวิทยา คือกับบางคนถ้ามันขำแล้วไม่เชื่อหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องเป็นแบบดุๆ ไปเลย กลัวมันต่อย ไบร์ทมันเป็นเด็ก กลัวมันต่อย (หัวเราะ) กับตรีก็ต้องพูดอย่างนึง ตงตงก็ต้องพูดอย่างนึง 

ผู้กำกับไม่ได้อยากใจร้ายกับนักแสดงหรอก

การที่เราให้นักแสดงฝึก พยายามตลอดเวลา มันเหมือนเราใจร้าย แต่บางทีเนี่ยการที่สมัยก่อน ใครเป็นพระเอกก็คือพระเอก แต่เด็กพวกนี้ (นักแสดงช่องวัน 31) ออกสตาร์ท วิ่งพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีใครเป็นสตาร์ มึงกำลังเป็นนักแสดง 

ในขั้นแรกเลยเราต้องให้เค้าเป็นนักแสดงให้ได้ก่อน แล้วก็เป็นไปตามเนื้องาน เฮ้ย มึงเล่นแล้วแบบมึงริบหรี่ มึงลงมาก่อนๆ ยกตัวอย่างไบร์ท สิ่งที่ดีคือ ไบร์ทสู้มาก บางคนอาจไม่สู้อย่างที่พี่บอก บางคนก็แบบถอดใจเลย แต่ไบร์ทคืออารมณ์แบบว่า ต้องได้ มีครั้งหนึ่งเคยไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน กำลังเลี้ยงปิดกล้องสนุกสนาน ฝ่ายแคสติ้งโทรไปบอกว่าไบร์ทต้องแบบมา พรุ่งนี้มีแคส พรุ่งนี้มีออดิชั่น แล้วเรายังบอกเลยว่า “ไม่ไปได้ปะวะ เรื่องนั้นไม่เห็นเหมาะกับไบร์ทเลย” ไบรท์อะให้รถมารอรับตั้งแต่ตี 5 แต่ปาร์ตี้อยู่นะ นอนตี 3 ตื่นตี 4 คือทำทุกอย่าง มาจากหัวหิน มาถึงตึก​ (แกรมมี่) แล้วก็เล่น ได้หรือไม่ได้แต่มันต้องทำไว้ก่อน เราก็เลยรู้สึกว่า เฮ้ย เด็กคนนี้มันโอเค ใจมันได้ คือคนที่ใจสู้และต้องการเอาชนะมันมีผล 

แล้วสิ่งที่พี่ดีใจมากกับเด็กแก๊งนี้ (The 5 Elements) ที่เราเจอ ๆ กันอยู่ ไม่ว่าคุณจะสตาร์ทจากการอยากเป็นดารา จะสตาร์ทจากการที่แม่อยากให้เล่น สตาร์ทจากการที่กูอยากได้เงิน แต่พอเริ่มเล่นหรือทำงานไปซักพักเนี่ย ทุกคนรักการแสดงหมด อันนี้คือสิ่งที่เราชื่นชมมาก แม้กระทั่งหมอเน๋ง (ศรัณย์ นราประเสริฐกุล) ที่เราพูดว่า เน๋งเป็นเด็กที่มีทางเลือก เพราะมีวิชาชีพ เค้าเป็นสัตวแพทย์มาแล้ว แล้วก็มีคนปรามาสว่า มันมาเพื่อจะเสริมโปรไฟล์ เนื่องจากคุณมีงานที่ดีอยู่แล้ว แต่ในที่สุด เน๋งเป็นคนที่เหมือนไม่ได้เข้าใจการแสดง เพราะเค้าเป็นเด็กวิทยาศาสตร์ เพราะในที่สุดมันช็อคกับสิ่งที่การแสดงสอนเน๋ง เน๋งไม่เคยคิดว่าจะมีอารมณ์นี้อยู่ในชีวิต มันเลยตื่นเต้นมาก มันเปิดโลกมาก แล้วมันก็บอกว่า “เน๋งว่าการแสดงมันสนุกจังเลย” แค่มันพูดแค่นี้เราก็ฟินแล้ว อีแม่ก็ฟิน (หัวเราะ) เพราะแค่พูดอย่างงี้เรารู้เลยว่า โลกของมันเปลี่ยน อะไรอย่างงี้ค่ะ 

สูตรสำเร็จในการทำละครให้ปังคือ ไม่มีสูตร

สมัยนี้มันไม่มีสูตรตายตัวเลยว่าส่งไปแล้วจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ไม่มีเลยจริง ๆ ถ้าหนูมาสัมภาษณ์พี่เมื่อ 10 หรือ 20 ปีที่แล้ว พี่จะบอกว่า “เราอยากดูอะไร อยากให้คนดูอะไรเราจะส่งสิ่งนั้นไป” คำตอบนี้ใช้ไม่ได้สำหรับตอนนี้ เพราะว่ารสนิยมคนไทยใน 20 ปีน่ะมันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เราไม่รู้เลยว่า ณ วันนี้เค้าชอบอะไร อะไรผิดอะไรถูก เราไม่ได้ตัดสินว่าอันไหนถูกอันไหนผิด อันไหนดีกว่ากัน แค่จะพูดว่า ณ ยุค 20 ปีที่แล้ว เราจะทำเรื่องที่แบบ คนเราต้องกตัญญู คนเราต้องอย่างนั้น คนเราต้องอย่างนี้ สำหรับตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย มันไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว 

เพราะฉะนั้นการที่จะพูดว่าถ้าเราอยากดูอะไรเราเราส่งสิ่งนั้นไปแล้วมันจะถูก พี่คิดว่ามันต้องดูกระแสสังคมด้วยว่าตอนนี้เขาเปลี่ยนไปประมาณไหนแล้วนะคะ ตอนนี้สิ่งที่คนชอบดูที่สุดคืออะไรที่มันตอบโจทย์ ที่มันกระแทกใจของคนปัจจุบัน สำหรับคนรุ่นพี่ที่ทำละครอยู่ อาจจะรู้สึกว่าเรื่องนี้แม่งหนักเกินสมองคนอย่างกู กูยังชอบความโรแมนซ์ ทำยังไงเราถึงจะบาลานซ์ให้ได้ในการทำงานอันยาวนานของพี่ พี่อายุเยอะแล้วเนาะ เราเคยคิดว่ามันอยู่มือเราแล้ว แต่ ณ ตอนนี้ไม่ใช่ มันต้องมาศึกษาใหม่ กลายเป็นแบบว่าคนเราต้องเรียนรู้ใหม่ทุกวัน ถ้าตอบคำถามคือ สำหรับพี่ไม่มีสูตรเลย ณ ตอนนี้พี่ยังต้องเรียนรู้อยู่มาก แล้วต้องมาเรียนรู้อย่างแรงว่า ทำยังไงคนดูถึงจะชอบ  

ถ้าทำดีที่สุดแล้ว ก็ต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้น

เรื่องผลลัพธ์ของละครน่ะ พี่เคยพูดไว้ว่า ถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว มันก็น่าจะจบแค่นั้น แต่ตอนนี้กลัว ชั่วโมงมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ก็กลับไปที่เดิม ถ้าระหว่างทางเนี่ยเราโคตรทำเต็มที่ เราต้องตอบให้ได้ว่า เราทำทำเต็มที่แล้วหรือยัง ถ้ามันทำจนสุดฝีมือแล้วอ่ะ แต่ว่ามึงได้แค่นั้นก็ต้องรับสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงๆ บางทีกลับไปบ้านก็เครียดว่า ทำไมฉากนี้มันน่าจะได้ดีกว่านี้ แต่ด้วยมันมีปัจจัยอื่นเยอะมากเลย เช่น เวลามันไม่ได้ ผู้กำกับมักจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในเวลานั้น ไม่ใช่ดีไม่ใช่ดีที่สุดเลยนะ สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ สมมติว่าเราทำ 3 เทค เทคแรก A เล่นดี เทคสอง B เล่นดี เทคสามเล่นดีมากแต่ว่าแม่งภาพไม่ดีเลย กล้องเจิร์ค จะเอาอันไหนวะ แล้วนักแสดงไม่ไหวแล้ว แล้วเราต้อง ต้องไปข้างหน้า แล้วมีเวลาเป็นตัวบีบ เราต้องเลือกว่า เราจะเอาใครไว้ เพราะฉะนั้นต้องเป็นคนที่เลือก เมื่อเรากลับไปบ้าน เราอาจจะคิดว่าทำไมฉันไม่ขอเทคที่สี่วะ อาจจะดีขึ้นก็ได้ แต่ถ้าสมมติว่าในเมื่อในมันไม่ได้ อย่าไปเสียใจ เริ่มใหม่พรุ่งนี้

ความเซ็กซี่ของการแสดง

คนที่แสดงเก่งเหลือเกิน มันจะดึงสายตาของคนเอาไว้ เฉกเช่นเดียวกับคนที่ร้องเพลงเพราะอะ ตอนอยู่ข้างล่างมันยังเป็นไก่กา กูยังใช้ให้มันหยิบของอยู่เลย แต่พอมันขึ้นเวทีแล้วมันแบบ ห๊า ทำไมันแบบมีเสน่ห์เหลือเกิน มันเป็นเรื่องเดียวกันเลย คือคนที่เล่นเก่งๆ อะ อยู่ข้างนอกก็เป็นตัวจ่อยๆ เหมือนหิ่งห้อยที่ไม่มีแสง แล้วพอขึ้นไปมัน Shining มันเปล่งประกาย เค้าจะดูสวยงาม หล่อเหลา ด้วยฝีมือการแสดงของตัวเอง แล้วพี่คิดว่าสิ่งนี้มันอยู่กับทุกวิชาชีพ คนที่ชำนาญเชี่ยวชาญในอาชีพของตัวเองอะ เซ็กซี่ทุกคน มีเสน่ห์ทุกคน

“เป็นต่อ” คือครอบครัวและพื้นที่ใช้ชีวิต

เป็นต่อคือการเล่นที่เหมือนไม่ได้เล่น เพราะทุกคนกำลังใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ทุกความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องเป็นต่อ ทุกคนเล่นเก่งกันหมดค่ะ เก่งมากด้วย แล้วเราได้เรียนรู้จากทุกๆ คน เยอะมากด้วย แล้วทุกคนเบลนด์ตัวเองให้เข้ากับคาแรคเตอร์ จนความสัมพันธ์ระหว่างกันมันเป็นความสัมพันธ์จริงๆ มันเหมือนในครอบครัว แล้วทุกครั้งที่มีอะไรเกิดขึ้นในเรื่อง ทุกคนจะรู้สึกจริงหมด เช่น ตัวเล่นอารมณ์มันจะมีชาคริต (แย้มนาม) แหม่ม (วิชุดา พินดั้ม) กิ๊ก (มยุริญ ผ่องผุดพันธ์) พิมพ์ (พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร) นอกนั้นคือสายตลกหมดเลย แต่วันนึงทุกคนน้ำตาเผาะ ๆ กันเพราะว่า มันเป็นความสัมพันธ์จริง หรือตอนขั้นเทพ (ยุกต์ ส่งไพศาล) ตายนี่คือร้องไห้กันจนแบบ ร้องจริงๆ ชาคริตถึงขั้นแบบ “ให้คริตพอก่อนไหม เดี๋ยวคัทอีกฉากนึงเราก็ต้องร้อง” ก็ร้องไปเรื่อยๆ แล้วทุกคนก็คอยห้าม 

คือแหม่มเนี่ยเป็นคนที่กวนตีนมาก (หัวเราะ) มันก็จะบอกว่า “พี่ปุ๊ย เราสองคนอะ คาแรคเตอร์เราอะ ความสัมพันธ์เราอยู่ห่าง (พี่หมอนกับเจ๊มิ้น) เราไม่ต้องไปร้องกับเค้าก็ได้เนอะพี่เนอะ” เราก็ “เออ จริงด้วยว่ะ เราต้องเป็นผู้ใหญ่” ก็ปล่อยเค้าร้องไป เราอะต้องเป็นคนที่คอยปลอบ แล้วแหม่มอะ มันเป็นตัวกวนตีน ตัวร้าย มันไม่จำเป็นต้องร้องนิ พอ 5-4-3 อินี่ร้องก่อนเลย (หัวเราะ) แล้วหน้าพี่ตอนแรก “ห๊ะ มึงเล่นงี้กับกูหรอ” แล้วหน้าพี่อะ ถ้ากล้องตัดมาคือแบบ “หื้อ ทำไมอย่างงี้ มึงหักหลังกูเลยเหรอ” เราก็อุตส่าห์ฮึบว่า ไม่ร้องแล้ว แต่พอปึ๊บนึง ภายใน 1 นาที บรรยากาศมันไม่ได้ มันแบบ ยิ่งพอเปิดมาต้องเห็นหน้าสน มันเบลนด์อินหมดเลย ทุกอย่างมันจะเป็นธรรมชาติ  

เป็นต่อเนี่ยเลยเป็นกองที่เป็นความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่ง พวกเราเลยใช้คำว่าครอบครัวเป็นต่อ เพราะว่ามันคือครอบครัวกันมากๆ เราอยู่กันมาตั้งแต่ แต่ละคนเป็นโสด แล้วก็มีแฟนเข้ามาในกอง มีแฟนเข้ามาก็เลิก-เลิก-เลิก จนกระทั่งแต่งงานแต่งการกันไป บางคู่ก็ 2 ครั้ง แล้วก็มีลูก ลูกมันก็คือหลานเรา คือแบบ เฮ้ย นี่เราแก่กันมาก แล้วหลังๆ แก๊งผู้หญิงบางคนเริ่มถึงขั้นจำบทไม่ได้ แล้วพี่ก็บอกว่า “เราจะไปกันต่อหรอ เลิกเหอะไหม” ทุกครั้งเวลามีคนลืมบท ก็จะ “เลิกเหอะไหม ไม่ไหวก็เลิก อย่าให้ไปตายกันกลางกอง” แล้วสมัยก่อนตอนเล่นกันใหม่ ๆ ก็จะคุยกันแบบ “เฮ้ย เย็นนี้เที่ยวไหน” “เฮ้ย กินเหล้า” ตอนนี้คือ ทำบุญแล้วก็ไปร้อยไหมหน่อยไหม คลินิกนี้ดี (หัวเราะ) เรามากันถึงขั้นนี้แล้วอะ ยังจะไปต่อกันอีกหรอ แต่ถ้าเลิกก็จะจ๋อยนะ คิดถึงกัน

รักสุดท้ายยัยจอมเหวี่ยง กับผู้กำกับที่ไม่เคยทำละครรอมคอม

การทำงานเรื่องนี้ยากมากสำหรับพี่ คือมันเป็นรอมคอม (Romantic Comedy) ในยุคที่ละครทุกเรื่องจะต้องเป็นดราม่าเข้มข้น สะท้อนสังคม ชีวิต ความไม่เท่าเทียมหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่นี่คือรอมคอม เพราะฉะนั้นทำยังไงถึงจะแบบน่าดู อันนี้เป็นโจทย์ที่ยากเย็นมาก แต่วเราคิดว่า ณ ตอนที่เลือกมาทำอะ มันถ่ายนาน แล้วพอโควิด ณ ตอนที่เราเลือกมาทำ เรารู้สึกว่า ถ้าไม่ได้ทำช่วงนี้ โอ้โห มันยาวเลย มันเป็นช่วงที่คนทุกข์ยาก แล้วต้องการอะไรที่คลายเครียดแต่ไม่ไร้สาระ อันนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมากเลยว่ามันจะได้อย่างที่เราคิดไว้รึเปล่า 

อีกอย่างที่บอกว่ามันยากมันเป็นเรื่องที่ที่มีการทำงานภายใต้ข้อจำกัดของมาตรการโควิด ไม่เคยทำอะไรยากขนาดนี้มาก่อนเลย ฉากนึงถ่ายนานมาก มันเหมือนคนเล่นกีฬา กำลังออกกำลังกายดีๆ ออกมา เริ่มย้ายที่ใหม่มันก็ดรอปลงแล้ว แล้วยิ่งเป็นเด็กใหม่ อย่างเน๋งต้องบิ้วใหม่ตลอดเวลา ช่วงนั้นเข้มจริงๆ นะ อันนี้ถึงบอกว่ายาก ยากในด้านเทคนิคมากเลยค่ะ

ก็จริง ๆ คาแรคเตอร์ของเน๋งกับบี (น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์) ก็ค่อนข้างตรงกันทั้งคู่นะคะ เพียงแต่ว่าในช่วงแรกเราต้องยอมเราเลยว่าพี่เน๋งเค้าก็จะใหม่กับการเป็นพระเอกนำ เค้าก็จะเกร็ง เค้าก็จะแบบไม่เข้าใจ โดนดุอีกแล้ว ยิ่งพอเราดุ เค้าก็ยิ่งเกร็ง มันก็จะเป็นแบบจนพี่ได้สติว่า อย่าไปอะไรมันมากเลย มันจะได้ Shining ได้โดยที่เราไม่ได้ไปคุมเค้าไว้ตลอดเวลา เค้าก็จะแบบดีวันดีคืนอะ คือพอเข้าห้องตัดอะ มือตัดต่อยังพูดเลยว่า “พี่ ทำไมอยู่ ๆ มันก็เล่นดีอะ” คือแบบเหมือนมันโตขึ้นมา ช่วงแรกอาจจะเห็นเค้าเครียดนิดนึง ให้โอกาสเค้าซักนิดนึง แต่เน๋งเป็นเด็กน่ารัก พี่บีก็เอ็นดู ทีนี้มันอยู่ที่เรารอให้เสน่ห์ของเค้า Shining ออกมา ให้คนดูเห็น แล้วก็หวังว่าคนดูจะรู้สึกค่ะ

ถ้าให้สรุปชีวิตการทำงานเป็นผู้กำกับและเบื้องหลังตลอดสายอาชีพนี้ เป็นบทเรียนได้ 1 ข้อ การเป็นผู้กำกับสอนให้รู้ว่า

การฟังคนอื่น และเคารพความคิดของคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับพี่นะ มีแค่นี้เลย คือเดิมทีเนี่ยผู้กำกับในอดีตเค้าจะใช้คำว่าผู้กำกับคือแม่ทัพ แม่ทัพที่แบบนำทัพไปรบเกรียงไกรแค่ไหน ดีชั่วแค่ไหนก็อยู่ที่แม่ทัพ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปพบว่า เราเป็นเผด็จการไม่ได้แล้ว โลกมันเปลี่ยนไป มันส่งผลต่องาน แล้วเราก็ได้เรียนรู้เองว่า การที่เรายิ่งเปิดหูรับฟังคนอื่นเนี่ย เรายิ่งได้เรียนรู้ แต่อย่าโซซัดโซเซไปตามคำพูดทั้งหมด เราต้องมีความแข็งแกร่งของเราอยู่ และเอาทุกอย่างมาไตร่ตรอง และให้มันเป็นความคิดที่ตกผลึกในตัวเราแล้วถึงจะเผยแพร่ออกไป 

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า