fbpx

บทเรียนเส้นทางสู่ศิลปินเดี่ยวที่สง่างามของแปม-อัญญ์ชิสา

ไกอา หน้ากากโพนี่ พราว หรือแปม

ไม่ว่าคุณจะรู้จักเธอคนนี้ในฐานะอะไร เราขอแนะนำเธอให้รู้จักอีกครั้งหนึ่ง

แปม-อัญญ์ชิสา สินตระการผล คือหญิงสาวที่เข้าวงการบันเทิงด้วยการเป็นหนึ่งในสมาชิกวงไกอา เกิร์ลกรุ๊ปที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการเพลงไทยเป็นอย่างมาก ก่อนจะกลายเป็นศิลปินเดี่ยวที่มีผลงานละครบนจอแก้วอยู่หลายต่อหลายเรื่อง และไปสู่การรู้จักกันใหม่ในนามหน้ากากโพนี่ แห่งรายการหน้ากากนักร้อง 

ล่าสุดเธอเป็นทั้งยูทูเบอร์และศิลปินเดี่ยวภายใต้สังกัด DUMB Recordings ในชายคาของ Warner Music Thailand ซึ่งมี Do you ever? เป็นซิงเกิ้ลล่าสุดที่ปล่อยออกมา

ในวันนี้ที่เธอยังยืนระยะในวงการได้อย่างยาวนาน และการตามฝันเดียวตลอดชีวิตนั่นคือการเป็นนักร้องที่สร้างความสุขผ่านเสียงเพลง ซึ่งเธอทำมันได้สำเร็จแล้ว

ระหว่างทางเธอเรียนรรู้อะไร และเธอค้นพบอะไรจากการเป็นศิลปิน

มาฟังเส้นทางและบทเรียนที่เธอได้รับจากการอยู่ในวงการบันเทิงกัน

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

คุณเคยฝันว่าจะได้ทำงานในวงการมั้ย หรือความฝันในวัยเด็กตอนนั้นคืออะไร

ฝันไว้ว่าอยากเป็นนักร้องนี่แหละค่ะ (หัวเราะ) ตั้งแต่เด็กจนโตมาก็คือเราเซ็ตตัวเองไว้เลยว่าเราจะต้องเป็นนักร้องให้ได้ เราจะได้เดบิวต์ในวงการเพลง มีเพลงเป็นของตัวเอง แล้วก็ สิ่งที่มันทำให้แปมอยากจะเข้ามาเป็นเกิร์ลกรุ๊ปเพราะว่าตอนเด็กๆ เราก็เสพวงเกิร์ลกรุ๊ปเยอะ พวกศิลปินเกาหลีเองด้วย หรือ Pussycat Dolls เองด้วย เรารู้สึกว่าอยากอยู่ในวงที่เป็นเกิร์ลกรุ๊ป แล้วเราก็ชอบเต้นด้วย นอกจากร้องแล้ว ก็เลยคิดมาตั้งแต่เด็กเลยว่าฉันจะต้องเป็นนักร้องให้ได้

เมื่อรู้ว่าจะได้เป็นศิลปินกลุ่มเกิร์ลกรุ๊ป รู้สึกยังไง

ดีใจค่ะ เพราะว่าก่อนหน้านั้นแปมไปประกวดต่างประเทศมา ก็คือรายการ Global Super Idol เป็นรายการที่เราประกวดที่เกาหลี แล้วก็เหมือนได้รางวัลอะไรกลับมา แต่ก็ไม่ได้เดบิวต์เป็นศิลปินที่โน่น แล้วพอกลับมาที่ไทยก็มีพี่ที่เวิร์กพอยท์โทรมาให้ไปออดิชั่น เป็นวงชื่อไกอา ซึ่งพอเราได้ปุ๊บ เทสต์แค่ครั้งเดียว ร้องเพลงๆ เดียวแล้วก็เต้นกับท่าที่เค้าให้มา ก็ดีใจ เพราะ อุ๊ย สมาชิกวงของเราตอนนั้นจะมีพี่จอย (จุฑามาศ วิชัย) กับจันจิ (จันจิรา จันทร์พิทักษ์ชัย) ซึ่งเราก็รู้ว่าสองคนนี้เค้าเก่งนะ อย่างพี่จอยก็ไปเดบิวต์ที่เกาหลีมา ซึ่งพอแปมได้ก็ดีใจมากแล้วก็ โอ้โห นี่เราจะเป็นส่วนหนึ่งของวงนี้เหรอเนี่ย 

เหมือนมันเกินฝันแล้ว

ใช่ค่ะ ก็เหมือนแบบ อุ๊ย ฝันเป็นจริงแล้ว 

วงดนตรีที่เป็นกลุ่ม การซ้อม เตรียมตัว มันโหดกว่าศิลปินเดี่ยว ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าตอนนั้นโหดขนาดไหน

แปมว่าที่มันโหดน่าจะเป็นเพราะว่าด้วยความที่ต้องเป็นทีมด้วยแหละ การที่จะต้องมาอยู่ด้วยกันหลายๆ คน แล้วด้วยความที่เป็นผู้หญิงเหมือนกันหมดด้วย นอกจากจะต้องเต้นให้พร้อมแล้ว ยังต้องมีความเป็นวง ความสามัคคีแล้ว ยังมีเรื่องที่จะต้องสื่อสารกันให้เคลียร์ หรือว่าแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน ก็จะมีเรื่องการฝึกซ้อมทั้งทางกายและทางใจด้วย สำหรับแปมนะ ในการเป็นวง เลยคิดว่าค่อนข้างจะโหดกว่า เพราะความเป็นทีมจะต้องใช้ความเข้าใจและก็การแบ่งปันค่อนข้างเยอะ แต่การที่เราเป็นศิลปินเดี่ยว เราตัดสินใจคนเดียว เราไม่ได้ต้องปรึกษาใคร ดังนั้นการเป็นทีมน่าจะโหดกว่าตรงนั้น น่าจะมีหลายๆ อย่างที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันค่ะ

ช่วงที่คุณเป็นเกิร์กรุ๊ป ด้อมแฟนคลับเป็นยังไงบ้าง แล้ววันนี้ยังมีแฟนคลับที่ติดตามอยู่มั้ย

ด้อมตอนนั้น (คิด) ก็จำได้ว่าคือเราอะ อาจจะเป็นวงที่แฟนคลับที่มาหาเราตามหน้างานจะไม่ได้เยอะมาก แต่เราจะเป็นอารมณ์แบบเด็กๆ ที่ดูผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วคอมเมนต์หรือติดตามมากกว่า เหมือนอยู่ต่างจังหวัดกันเยอะด้วย ก็เลยไม่ได้มีโอกาสได้เจอแฟนคลับตัวเป็นๆ ขนาดนั้นด้วย ก็เลยอาจจะได้เจอแฟนคลับตามงานไม่ได้เยอะมาก แต่ก็จะมาถือป้าย ให้กำลังใจ ขอถ่ายรูป ก็ถือว่าน่ารักนะ ตอนนั้น แปมว่าเค้าก็มีความเป็นหนึ่งเดียวกันดีค่ะ แต่ว่าตอนนี้ถ้าถามว่าแฟนคลับจากตอนนั้นยังอยู่มั้ย แปมรู้สึกว่าจริงๆ เหมือนเป็นคนละกลุ่มเลย เหมือนพอเราโตขึ้นแล้วแฟนคลับของเราที่เคยตามเราตอนนู้น ทุกวันนี้เค้าก็อาจจะให้กำลังใจ ซัพพอร์ตเรา แต่แฟนคลับที่ชอบเพลงของเราในปัจจุบันก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง กลุ่มใหม่ๆ ที่เข้ามา ก็จะเป็นด้อมใหม่แทน

เรียนรู้อะไรจากการเป็นเกิร์ลกรุ๊ปบ้าง

แค่ในพาร์ของแปม ตอนที่เป็นเกิร์ลกรุ๊ปแปมได้ฝึกทั้งเรื่องการร้อง การแสดง การทำงานหน้ากล้อง พูดกับกล้อง การเอ็นเทอร์เทนคนบนเวที การทำงานเป็นทีม คือหลายๆ อย่างเลยที่เราได้จากตอนนั้น เราก็ ที่สำคัญแปมคิดว่าเหมือนเป็นทาง เรียกว่า เป็นเหมือนสะพานที่ทำให้แปมมาถึงตรงนี้ได้อะค่ะ เพราะถ้าแปมไม่ได้เป็นไกอา ไม่ได้เป็นเกิร์ลกรุ๊ป แปมก็อาจจะไม่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้น ไม่ได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร เพราะว่าการที่เราเป็นเกิร์ลกรุ๊ป บางอย่างเราก็อาจจะไม่ได้ทำในสิ่งที่ โอเค เราอาจจะไม่ชอบอันนี้ แต่ว่ามันคือความต้องการของวงโดยรวม คือคอนเซปต์ของวงที่บริษัทตั้งขึ้นมาให้ ซึ่งเราก็จะได้เรียนรู้ตรงนั้นว่า อ๋อ จริงๆ เราไม่ได้ชอบทำแบบนี้ ไม่ได้ชอบเพลงแบบนี้ คือ นั่นแหละ แปมได้ประโยชน์จากการที่คิดว่า แปมได้เรียนรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไรมากขึ้นตอนที่เป็นเกิร์ลกรุ๊ปด้วย แล้วก็ได้ฝึกวิชาการเป็นนักร้อง การเป็นนักร้องบนเวที อันนี้สำคัญที่สุด

ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านมาเป็นศิลปิน มีงานแบบไหนในช่วงที่อยู่ในวงการเต็มตัว ไม่คิดว่าจะได้ทำบ้าง

ถ้าที่ไม่คิดว่าจะได้ทำคือเป็นนักแสดง ตอนที่อยู่กับวงอะค่ะ ผู้ใหญ่ก็จะมีส่งให้เราไปแคสติ้งเป็นนักแสดงเรื่องนู้น เรื่องนี้บ้าง ก็ครั้งแรกที่เราไปแคสติ้ง เรารู้สึกว่า “เฮ้ย ฉันทำไม่ได้แน่นอน” เล่นไม่ได้เลย (หัวเราะ) แบบ แอ๊คติ้งคืออะไร คือไม่รู้จักการแสดงเลยด้วยซ้ำ จนปรากฎว่ารอบนั้นแหละที่เราไปแคส แล้วเราได้บทนั้นด้วย มันก็เลยกลายเป็น โห ฉันก็พอทำตรงนี้ได้เหมือนกันเหรอ เป็นเหมือนการเปิดประสบการณ์ใหม่ของแปมที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อน แล้วก็ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ แล้วจริงๆ ก็จะมีงานพิธีกรบางรายการแล้วเปิดประสบการณ์ แต่เราอาจจะไม่ได้อินกับมันมากขนาดนั้น

สำหรับคนที่ไม่ได้โตมาจากสายการแสดง การแสดงยากยังไงบ้าง

โห ยากยังไงบ้าง (คิด) คือถ้าย้อนกลับไปเรื่องแรก คือเราไม่รู้จะทำตัวยังไงเวลาเดินเข้าซีนหรือเดินเข้ากองไป เพราะเวลาเดินเข้ากองไปก็จะเจอนักแสดงเก่งๆ หลายๆ คนเลยค่ะ แล้วเราก็ทำตัวไม่ถูกว่า เอ๊ะ ฉันเป็นนักแสดงใหม่นะ เค้าจะอยากเล่นกับฉันมั้ย มันจะต้องต่อสู้กับความคิดแบบนี้ด้วย แล้วก็ สิ่งที่ยากก็คือ เรื่องแรกของแปม แปมไม่เคยเรียนการแสดงมาก่อนเลย แปมจะไม่มีเทคนิคอะไรมากเท่าไหร่ ก็จะเป็นเหมือนผู้ช่วยผู้กำกับที่จะมาคอยเทรนให้หน้าเซ็ตว่า โอเค อันนี้มันจะคิดแบบนี้นะ เราอาจจะลองแบบ ตอนที่เรากำลังจะพูดคำนี้ เราอาจจะมองคำนี้ดู เค้าก็จะมีเทคนิคบางอย่างที่เหมือนพยายามจะช่วยให้เราแสดงออกมาได้ดีที่สุด ถามว่ายากตรงไหน มันคือการที่เราจะต้องเป็นตัวละครนี่แหละค่ะที่มันยาก เพราะว่าตอนนั้นเหมือนเราไม่รู้วิธีว่าการที่เราจะเข้าไปเป็นตัวละครอย่างแท้จริงมันมีวิธีการยังไงบ้าง

การจำบทยากมั้ย เพราะว่าตอนนั้นเราใหม่มากๆ เลย

โอเค เรื่องการจำบทเป็นเรื่องที่ง่ายมากสำหรับแปม เพราะว่าแปมเป็นคนที่จำอะไรได้ไวอยู่แล้วค่ะ เหมือน อย่างเวลาเด็กๆ เราเรียนหนังสือสอบ เราก็เหมือนเป็นคนที่ท่องจำเก่ง ร้องเพลงเราก็จะจำเนื้อไวมาก ดังนั้นพวกบท พวก Dialogue ไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่ว่าสิ่งที่มันยากคือการที่การพูดด้วยความรู้สึกหรือว่าเป็นคนๆ นั้นจริงๆ ที่มันจะต้อง Beyond ไปแค่การพูดบท คือเข้าใจประโยคนั้น เข้าใจตัวละครนั้นว่าทำยังไงให้คนเชื่อ แล้วก็เป็นธรรมชาติ

เมื่อเห็นตัวเองเล่นละครในทีวี ได้รับเสียงตอบรับยังไง หรือเขินมั้ย

จำได้ว่าไม่ชอบดูตัวเองเลย (หัวเราะ) ตั้งแต่เรื่องแรกก็ไม่ชอบดูตัวเองเล่นละครเลย เรารู้สึกแหละว่า เราจะมอนิเตอร์ตัวเองประมาณหนึ่งว่า ซีนเมื่อกี้มันโอเคๆ มันดูแบบ ธรรมชาติอยู่ แต่อีกซีนนึงจะรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมเล่นอย่างนี้ เราก็จะเก็บมันเอาไว้นิดนึง แต่ว่าคนรอบข้างเหรอ ตอนนั้นเค้าก็รู้ว่าเราใหม่ ไม่ได้มีความฝันว่าจะมาเป็นนักแสดงขนาดนั้น มันใหม่สำหรับเรา ไม่ได้ถนัด ก็จะเป็นฟีลแบบปลอบใจ (หัวเราะ) ว่า เล่นโอเคนะ แต่เพื่อนคนอื่นก็จะพูดตรงๆ ว่า เฮ้ย มันแบบ เล่นแข็งมากเลยแปม (หัวเราะ) 

ถึงจุดหนึ่งเรียนรู้อะไรจากการลองทำงานใหม่ๆ บ้าง

การแสดงเนี่ย หนึ่ง-ทำให้แปมโตขึ้นมากๆ เพราะว่าได้ออกไปเจอผู้คนที่หลากหลายขึ้น ในทุกๆ งานจะพาเราไปเจอคนใหม่ๆ สายงานใหม่ๆ ที่เขาถนัดในอาชีพนั้นๆ แปมว่าตอนที่ไปเล่นละคร ทำให้แปมเข้าสังคมเก่งขึ้นประมาณหนึ่งเลย เพราะว่ามันต้องเจอคนหลายรูปแบบทั้งนักแสดงรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก แล้วอย่างตอนนั้นเล่นกับพี่สายป่าน (อภิญญา สกุลเจริญสุข) แล้วก็พี่ป๊อก (ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์) พี่เท่ง (เถิดเทิง-พงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ) คือมันทำให้เรามีวิธีการคิดหรือเข้าสังคมที่เปลี่ยนไป แล้วก็โตขึ้นในแง่ของการรับผิดชอบหน้าที่การงานมากขึ้น เราจะต้องจำบทแบบนี้ เราไปหน้าเซ็ตเราต้องทำการบ้าน ทั้งก่อนและไปหน้าเซ็ตบ้าง เหมือนได้โตขึ้นจากการเล่นละครค่อนข้างเยอะ เพราะก่อนหน้านั้นเป็นคนขี้อายมาก แล้วก็ไม่กล้าแสดงออกเลยค่ะ แล้วก็แปมคิดว่ามันยิ่งโตขึ้นไปอีกตอนที่มีเรื่องอื่นๆ ตามมา ก็ได้ไปเรียนการแสดง มีโอกาสได้ไปเวิร์กช็อป ไปเข้าคลาสการแสดงจริงจัง ซึ่งในคลาสการแสดงเค้าจะไม่ได้สอนแค่การแสดงอย่างเดียว แต่เค้าจะพาเราไปรู้จักตัวเองแบบลึกซึ้งมากๆ เพราะเหมือนจริงๆ ศาสตร์การแสดงคือการที่เราต้องเข้าใจว่าตัวเองเป็นยังไง แล้วเรามีของอะไรอยู่ข้างในบ้าง การที่แปมไปเรียนการแสดงนั่นแหละที่ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย ฉันเพิ่งรู้ว่าฉันมีสิ่งนี้ หรือคิดแบบนี้ ฉันรู้สึกกับสิ่งนี้เยอะนะ ก็นั่นแหละ คือแปมคิดว่ากล้าแสดงออกขึ้น โตขึ้น แล้วก็เป็นตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้นค่ะ เมื่อได้ไปลองแสดง

พูดถึงคำว่าความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนบันเทิงยึดถือเป็นหลักเลย อยากให้คุณพูดถึงหน่อยว่าความรับผิดชอบมันสำคัญกับวิชาชีพยังไงบ้าง

มันสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เลยค่ะ ถ้าจะให้แปมแชร์ แปมคิดว่านอกเหนือจากเรื่องที่เราจะรับผิดชอบกับหน้าที่การงานที่เราได้รับ อย่างเช่น ไปแสดงเราต้องจำบท ทำการบ้าน หรือว่าเป็นนักร้องแล้วเราจะต้องฝึกซ้อมร้องเพลง หรือพัฒนาการเขียน การโปรดิวซ์ การขึ้นเวที การ Entertain คน คือทุกๆ อย่างมันมีเรื่องของความขยันและความรับผิดชอบของเราปนอยู่ด้วยแทบจะทุกอย่างเลยค่ะ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อเราก้าวเข้ามาทำงานไม่ว่าจะประเภทไหนก็ตาม ไม่ใช่แค่ดารา หรือนักร้อง นักแสดง การที่เรารับปากแล้วว่าจะทำสิ่งนี้ แม้แต่เรื่องการที่เราจะเดินออกจากบ้านไปด้วยการแต่งตัวแบบไหน มันก็คือความรับผิดชอบได้แล้ว ทุกอย่างมันมีความรับผิดชอบที่สอดแทรกอยู่ แล้วก็ต้อง Handle อยู่ตลอด แล้วยิ่งปัจจุบันนี้ แปมว่าเราต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานเพื่อจะทำงานให้ดีเพราะว่าเป็ฯงานที่เรารับมา รับผิดชอบต่อคนอื่น ส่วนรวม แต่ที่สำคัญคือรับผิดชอบต่อตัวเองด้วย เพราะว่าเราตั้งใจที่จะรับสิ่งนี้เข้ามาในชีวิตมัน แล้วก็ก้าวไปทำมันอย่างเต็มที่

เมื่อวันแรกที่ได้ทำงานเป็นศิลปินเดี่ยวเต็มตัว ความท้าทายของมันคืออะไร

ตอนแรกที่มาทำเลยคือการไม่รู้เลยว่าจะต้องเจออะไรบ้าง (หัวเราะ) มันเหมือนเป็นโลกของแปมมากๆ เลย เพราะก่อนหน้านั้นที่เป็นเกิร์ลกรุ๊ปรูปแบบมันจะต่างกันค่ะ เราจะได้เพลงมา เค้าจะเซ็ตคาแรคเตอร์ไว้ให้ว่าเป็นสาวหวานๆ หน่อย เพราะเหมือนแปมสมัยก่อนจะเป็นคนพูดน้อยๆ แล้วก็จะได้รับหน้าที่ๆ เป็นสาวหวาน สาวพูดไม่เยอะนะ คือเราจะอยู่ปลายทาง ว่าง่ายๆ แต่พอมาเป็นศิลปินเดี่ยวแล้ว ทุกอย่างมันคือทั้งทางค่ายเอง โปรดิวเซอร์เองที่ทำงานกับเรา เค้าก็ต้องการจะได้ไอเดียจากเราทุกอย่างเลย ทั้งเรื่องเพลง เรื่องลุค คาแรคเตอร์ หรือสิ่งที่เราจะพูดในเพลง เรื่องภาพในเอ็มวีว่าอยากเล่าอะไรบ้าง คือมีหลายๆ อย่างที่แปมต้องปรับตัวเยอะมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าที่เรามาทำงานแบบศิลปินเดี่ยว เราไม่เคยต้องทำแบบนั้นมาก่อน มันเป็นเหมือนการคิดร่วมกันมากกว่า แต่มันต้องมาจากตัวเรา ก็เลยเป็นความท้าทายในตอนแรก ที่เหมือนเราต้องหาตัวเองเหมือนกันว่าอยากจะได้อะไรกันแน่ มันก็จะมีหลายๆ อย่างที่เราทั้งชอบและไม่ชอบ ซึ่งเราทำมาประมาณ 5-6 เพลงก็จะค่อยๆ เจอตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เป็นอะไรที่สนุกดีค่ะ ได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่มากๆ เลย

ซิงเกิลล่าสุดอย่าง Do You Ever? ได้มีส่วนร่วมในการทำเพลงยังไงบ้าง

จริงๆ ทุกเพลงที่ผ่านมาตั้งแต่มาอยู่ DUMB Recordings ผู้บริหารหรือทีมเองเนี่ยก็จะให้อิสระกับเราเต็มที่ ซึ่งโปรดิวเซอร์ของแปมคือพี่แต๊บ (ธนพล มหธร-ผู้บริหาร DUMB Recordings) ดั้งนั้นเวลาจะเริ่มเพลงกันก็จะมีการแชร์ไอเดียกันก่อนอยู่แล้วว่า โอเค เฮ้ย มันจะเป็นแนวไหนดี แล้วเพลงนี้เราจะพูดเรื่องอะไรดี ส่วนใหญ่แล้วแปมจะเริ่มทำนองไปก่อน คือเป็นการเขียนทำนองบนคอร์ดหรือบีตที่แปมรู้สึกชอบ แล้วจากนั้นก็เอาเดโม่ไปคุยกับโปรดิวเซอร์อีกทีว่าเพลงเป็นประมาณนี้นะ อยากให้เป็นสไตล์ไหน ซึ่งอย่าง Do You Ever? แต่งเมโลดี้มาก่อนกับตัวบีตตัวหนึ่งที่แปมชอบ แล้วก็เอาไปเสนอพี่แต๊บว่า แปมอยากจะพูดเรื่องนี้นะ เรื่องความสัมพันธ์ที่ถึงแม้ว่าเลิกไปแล้ว แต่ก็อยากรู้ว่าเค้าคิดถึงเราบ้างมั้ย อยากให้เป็นฟีล R&B, Medium Slow หน่อยนะ แล้วเพลงนี้เราจะ Emotional หน่อยนะ แต่เราจะไม่เศร้ามากนะ ก็คือหลายๆ อย่างก็จะเป็นการพูดคุยกันประมาณนี้ค่ะ ค่อยๆ เล่าไปว่าเราอยากได้อะไร แล้วโปรดิวเซอร์ก็จะค่อยๆ ประกอบร่างเพลงขึ้นมา

เล่าถึงตอนถ่ายมิวสิกวิดีโอให้ฟังหน่อย

ตัวเอ็มวีเราคุยกันว่าเราอยากเล่าเรื่องความสัมพันธ์ แต่อาจจะไม่ได้เล่าเป็นซีนแบบ ฉันรักเธอ เธอรักฉัน เล่าเป็นฉากๆ ขนาดนั้น ก็จะมีการแทรกภาพที่เป็นแฟชั่นเข้าไปด้วย แล้วก็มีเรื่อง Love Story บางๆ ปนอยู่ ซึ่งวันที่ไปถ่าย โอเค ต้องบอกว่าเป็นเอ็มวีที่แปมเปลี่ยนชุดเยอะที่สุดตั้งแต่เคยถ่ายเอ็มวีมาเลยค่ะ เปลี่ยนไป 4 ชุด แต่ละชุดไม่มีลุคไหนที่เหมือนกันเลยค่ะ ต้องบอกว่าเป็นเอ็มวีที่เหนื่อยน้อยที่สุดเพราะไม่มีเต้น แต่ว่าจะเหนื่อยตรงการเปลี่ยนชุด และการแสดงผ่านสีหน้าแทน ก็จะได้ใช้ศาสตร์การแสดงเข้ามาปนเล็กๆ น้อยๆ 

ซึ่งพอดูจากเพลงที่ปล่อยๆ มาแล้ว จริงๆ เพลงแบบไหนเป็นทางของคุณ

แปมไม่ได้เจาะจงว่าอยากจะทำเพลงที่มีจังหวะหรือไม่มีจังหวะ แบบเร็ว หรือช้า แต่ด้วยธรรมชาติของแปมจะเป็นคนชอบเพลงที่มี Groove ที่ชัดเจน เพราะเราจะเป็นคนที่เต้นด้วย ชอบขยับตัวตั้งแต่เด็ก ทรงๆ แต่ละเพลงจะมีจังหวะที่สามารถขยับตามได้ แล้วจริงๆ กระบวนการทำเพลงแต่ละเพลงมันมาจากแค่เรารู้สึก ณ ตอนนั้นว่าเราอยากจะทำอะไร หรืออินกับอะไรอยู่ ซึ่งก่อนห้านี้ตั้งแต่เพลง Toxic มา เหมือนได้คุยกับโปรดิวเซอร์ว่าเราชอบเพลงประมาณนี้จังเลย ก็จะมีเสียงเบสเป็นพระเอกของเพลง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเพลงแบบนั้นมันเรียกว่าฟังก์ จนโปรดิวเซอร์บอกว่า เธอดูชอบฟังก์นะ พวก Pop-Funk, R&B, Electronics มันก็เลยเป็นที่มาว่าสองเพลงแรกเราทำให้สุดไปเลย แล้วเพลงต่อไปก็ทำ R&B เพราะรู้สึกว่าเราร้องเพลงช้าเราก็ร้องเพราะนะ รู้สึกมั่นใจที่ร้อง R&B เหมือนกัน คือทุกอย่างก็จะออกมาในรูปแบบที่เราอยากทำตอนนั้น แค่รู้สึกว่าเราอินเลย

การอยู่วงการบันเทิงมาหลายๆ ปี เรียนรู้อะไรจากการทำงานตลอดหลายปีบ้าง

เป็นคำถามที่ตอบได้หลายชั่วโมงมาก (หัวเราะ) (คิด)​ ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ การทำสิ่งที่เรารักมันคือโชคดีของเรามากๆ เลย แล้วก็เป็นโอกาสที่ไม่ได้หามาง่ายๆ แต่แปมคิดว่าแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านมามันอาจจะมีบางช่วงที่แปมยังมองข้ามไป เช่นว่าเราได้โอกาสนี้มาแล้วโอเคมากๆ แล้วก็คิดว่ามันจะง่ายเสมอไป แต่จริงๆ มันไม่ใช่ เพราะวงการนี้มันมีสิ่งที่เราจะได้มาแล้วก็ผ่านไปเยอะมากๆ แทบจะทุกๆ ปีเลย ดังนั้นการที่เราอยากจะทำงานตรงนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ต้องพัฒนาตัวเอง แล้วก็ต้องตามโลกให้ทันอยู่ตลอด เพราะไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ เลย บางทีที่ทำโอกาสตรงนั้นให้ดีที่สุด มันก็จะไปเป็นของคนอื่น หรือเราอาจจะไม่ได้ทำสิ่งๆ นั้นต่อไปค่ะ

ภาพ: Pam Anshisa Facebook Fanpage

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า