fbpx

ชีวิตสองด้านของ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล จากนักดนตรีสู่นักการเมือง

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พรรคฝ่ายค้านต่างใส่สุดกำลัง ทุ่มเทกันอย่างหนัก สส.อีกหนึ่งคนจากพรรคฝ่ายค้านที่อภิปรายได้อย่างโดดเด่นคือ เอิร์ธ-ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล จากพรรคก้าวไกล ที่ขึ้นอภิปรายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในกรณีซุกหุ้น ที่แม้ข้อมูลที่เขานำเสนอจะเต็มไปดูตัวเลขต่างๆ มากมาย แต่เขาก็เรียบเรียงและนำเสนอออกมาได้อย่างเข้าใจง่ายและหนักแน่น

ภายใต้ภาพของ สส.ที่มีลีลาการนำเสนออย่างโดดเด่น และนำเสนอเนื้อหาหนักๆ ก่อนที่เขาจะมาเป็นนักการเมือง เขาเคยเป็นนักดนตรีที่ออกเล่นอยู่ทุกค่ำคืนมาก่อน เป็นอดีตมือเบสของวง BASHER ที่มีเพลงฮิตอย่าง “เสียดายของ” เคยเล่นอยู่ในวงดนตรีเดียวกันในสมัยเรียนธรรมศาสตร์กับ คัทโตะ LIPTA และ เอ็ดดี้ (พี่เอ็ด7วิ) และยังเคยเป็นหัวหอกทำสตาร์ทอัพสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin Center Thailand อีกด้วย

จากชีวิตนักดนตรี ทำธุรกิจสตาร์ทอัพ มาสู่การเป็นนักการเมืองที่อภิปรายในสภาอย่างโดดเด่นได้อย่างไร และหลังจากนี้ชีวิตของเขาจะไปในทางไหนต่อ เราไปเดินทางไปคุยกับเขาหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจพึ่งจบลงไปไม่กี่วัน

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

รู้สึกยังไงกับผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้บ้าง

เอาจริงๆ ก็ผิดหวัง แต่ไม่ได้ผิดคาด เราอยู่มา 4 ปี ก็รู้อยู่แล้วว่าหลายๆ ครั้งผลโหวตมันก็ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา แต่อยู่ที่การพูดคุยของพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า 

เราเห็นกลยุทธ์อะไรใหม่ๆ จากฝ่ายรัฐบาลที่เขาไม่เคยทำมาก่อน แต่เปลี่ยนมาเดินเกมแบบใหม่ในการอภิปรายครั้งสุดท้ายบ้างไหม

จริงๆ มีเปลี่ยนทุกครั้งนะ เพราะว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 4 ครั้ง การลงมติมันต่างกันเยอะ ครั้งแรกไม่ต้องพูดถึงเลย มันก็เป็นไปตามฝ่ายรัฐบาล สิ่งที่เห็นชัดเลยคือบารมีของนายกกับพรรคร่วมมันหายไปเยอะ ครั้งแรกแทบไม่มีความวุ่นวายในฝั่งพรรคร่วมเลย แต่ในสองครั้งหลังเราเห็นความดิ้นรนของรัฐมนตรีบางคนที่พยายามจะเอาเสียงไว้วางใจมาอยู่ที่ตนให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม หรือแม้กระทั่งพรรคร่วมบางคนที่ไม่ได้ลงมติไปตามมติของพรรคตัวเอง แม้กระทั่งคนที่ไม่ไว้วางใจหัวหน้าพรรคตัวเองก็ยังมีให้เห็น สถานการณ์ตลอด 4 ปีนี้มันก็เปลี่ยนไปเยอะ ผมว่าด้วยความใกล้เลือกตั้งด้วย และแต่ละคนเริ่มชัดเจนในจุดยืนของตัวเองในพรรค

ถึงแม้ สส.จากฝ่ายค้าน มักจะให้สัมภาษณ์ไปทางเดียวกันว่าไม่ได้ผิดคาดกับผลการอภิปรายเท่าไรนัก แต่ลึกๆ แล้ว เราก็หวังจะชนะรึเปล่า

ก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราวัดเสียงแล้ว ผมก็เห็นแล้วว่าถ้าจะคว่ำรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งกลางสภาได้ เราจะต้องได้เสียงจาก สส.ฝั่งรัฐบาลอย่างน้อย 16 คนที่ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนนั้น แค่งดออกเสียงไม่พอนะ ต้องไม่ไว้วางใจเลย และฝ่ายค้านจะต้องผนึกกำลังกันครบถ้วน เรารู้อยู่แล้วว่ามันยากมาก ถามว่าหวังไหม มันก็หวังว่าว่าจะเห็นแหละ แต่ในความเป็นจริงคือมันต้องมีพรรคใดพรรคหนึ่งเกือบทั้งพรรคพร้อมใจกันกดไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนนั้น ซึ่งมันยาก 

ถ้าเอาตามอุดมคติ เราหวังว่า สส.ไม่ว่าจะจากฝั่งไหน จะลงมติตามเนื้อหาของการอภิปราย แต่เราก็พบว่ามันน้อยมาก มีนะ มีคนที่มาคุยกับผมโดยตรงเลยว่าเขาเห็นด้วยกับสิ่งที่เราอภิปราย และเขาจะโหวตตามนั้น แต่มันน้อยมากๆ เราควรจะได้เห็น สส.ทุกคนนั่งฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และถ้ามันโน้มน้าวเขาให้เชื่อได้จริงๆ ว่ารัฐมนตรีคนนี้ไม่สมควรดำรงตำแหน่ง เขาก็ควรจะลงมติตามนั้น แต่ผมว่ามันต้องใช้เวลาอีกยาวนานเหมือนกัน กว่าเราจะเดินทางไปถึงสภาที่เราอยากเห็น

สมมติว่าคนที่เป็น “งูเห่า” ของพรรคก้าวไกล ในวันนี้เขายังอยู่กับพรรค และยังคงยึดถืออุดมการณ์แบบเดียวกันกับพรรค คิดว่าผลของการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเปลี่ยนไปไหม

เป็นไปได้ มันก็มีการโหวตตามจิตวิทยาอีกแบบหนึ่ง คือถ้าเสียงมันใกล้กันจริงๆ มันจะมีความรู้สึกของคนที่อยู่ฝั่งรัฐบาล ที่เขาฟังการอภิปรายแล้วรู้สึกว่ารัฐมนตรีคนนี้ไม่สง่างามเลย และเสียงของเขามันอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เขาอาจเลือกที่จะกดก็ได้นะ แต่พอเสียงมันไม่ได้ปริ่มกัน เขาประเมินแล้วว่าเสียงของเขามันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ต้นทุนในการแหกมติพรรคมันก็สูง และถ้ามันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เขาก็อาจยังไม่ทำ

ทำไมเราถึงได้รับมอบหมายหน้าที่ให้อภิปรายกรณีซุกหุ้น เป็นมติของพรรครึเปล่า

คงไม่ถึงขนาดเป็นมติพรรคหรอก พรรคก็มาพูดคุย เรียกเราไปฟังว่าเรื่องราวคร่าวๆ มันประมาณไหน มีข้อมูลอะไรให้เราบ้าง และถ้าเราอยากพูดเรื่องนี้ เราอยากได้ข้อมูลอะไรเพิ่ม ซึ่งอันดับแรก พรรคบอกผมว่ามี สส. ประมาณ 2-3 คนที่ดูแลข้อมูลเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมดเขาเสนอชื่อเราเพราะคิดว่าเราเหมาะ ผมเองก็เรียนบริหารธุรกิจมา และก็เคยทำธุรกิจเองบ้าง มีความรู้เรื่องบัญชี กฎหมายภาษีอยู่ประมาณหนึ่ง และผมเองก็เป็นคนที่สนใจคณิตศาสตร์และเรื่องตัวเลข เขาเลยคิดว่าผมน่าจะเข้าใจเรื่องนี้ และเจาะรายละเอียดต่างๆ ได้เร็ว ก็เลยมอบหมายมา เราฟังครั้งแรก เราก็เข้าใจเลยแหละ ว่ามันมีความเป็นไปได้ มันเป็นแบบที่เขาพูดจริงๆ เราก็เลยลองเอาข้อมูลมาดู เจาะไปเจาะมา พบว่าเรื่องนี้มันไม่ปกติ เราก็เลยรับ

การอภิปรายแบบนำเสนอข้อมูลเชิงตัวเลขแบบนี้ มันมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร

ผมชอบอภิปรายแบบนี้นะ มันเป็น fact ที่คุณเถียงไม่ได้ คุณเป็นคนส่งตัวเลขนี้ให้หน่วยงานรัฐเอง ข้อดีคือหลักฐานมันจะหนักแน่นมาก ข้อด้อยคือมันเล่าเรื่องให้คนเข้าใจยาก เช่นไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจเรื่องบัญชีหรือการทำธุรกิจ มันก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกัน 

ตอนที่ผมเตรียมเรื่องนี้ ผมใช้เวลากับข้อมูลไม่เยอะ ข้อมูลและเอกสารทั้งหมดมันมากองอยู่ตรงหน้าแล้ว มีให้พร้อม มันเห็นหมดแล้วว่ามีอะไร ความยากของมันก็คือเราจะจัดเรียงมันอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าใจ ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับตรงนี้ ซึ่งผมเริ่มต้นเรื่องนี้จากแนวคิดที่ว่าดูหนังนักสืบ ผมเป็นคนชอบดูหนังแนวสืบสวนสอบสวน ชอบอ่านการ์ตูน อ่านโคนัน อ่านคินดะอิจิ ก็เลยทราบว่าวิธีการหาคนร้าย มันจะต้องเรียบเรียงเรื่องอย่างไร มันควรจะเริ่มต้นจากการตั้งคำถามขึ้นมา และคิดว่าแต่ละคำถามมันหาคำตอบได้จากอะไรบ้าง การคิดเรียบเรียงมากกว่าที่มันจะยาก 

รรคก้าวไกลจริงจังและเข้มงวดแค่ไหน ในกระบวนการเตรียมตัวก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ผมอภิปรายไม่ไว้วางใจมา 4 ครั้ง สูงสุดที่ผมต้องทำคือซ้อมเสมือนจริง ไปนั่งอยู่ในห้อง แล้วก็พูดเหมือนอยู่ในสภา 3 รอบ คนฟังก็จะเป็นกรรมการบริหารพรรค จะเป็นวงแคบๆ 5-6 คน ทุกครั้งที่อภิปรายจะต้องมีคนรับรู้เนื้อหาของแต่ละคนให้น้อยที่สุด ผมอภิปรายเนี่ย ก็รู้น้อยมากว่าคนอื่นจะพูดเรื่องอะไร อาจแค่รู้คร่าวๆ แต่ของบางคนอย่างของ โรม (รังสิมันต์ โรม) จะถูกปิดเป็นความลับ แม้กระทั่งผมก็ไม่รู้ เป็นแบบนี้ทุกครั้ง 

แล้วก็จะมีการอัปเดตกับทีมอยู่เรื่อยๆ ว่าเราได้เท่านี้แล้วนะ แล้วก็ไปซ้อมรอบแรก ซึ่งรอบแรกยังไม่เสมือนจริงหรอก ก็อาจเป็นการไปบอกว่าเราจะเรียบเรียงแบบนี้นะ จะเอาตรงไหนไปแปะตรงไหน แล้วเขาก็จะคอมเมนต์ว่า ตรงนี้มันเข้าใจยากไปนิดหนึ่ง ลองเอาตรงนี้ไปอยู่ตรงนั้นไหม เพิ่มตรงนี้ไหม แล้วอีก 2 วันก็กลับมาใหม่ รอบนี้ก็พูดเสมือนจริงเลย

Commentator (คอมเมนเตเตอร์) ของพรรคก้าวไกลโหดไหม

ผมว่าต้องใช้คำว่า In detail ดีกว่า คือละเอียดมากๆ พูดจบปุ๊ป เขาจะคอมเมนต์แบบนี้เลยนะ “ตรงที่คุณพูดคำนี้  มันเป็นแบบนี้ดีกว่าไหม หรือคุณพูดตรงนี้เสร็จ ใส่เรื่องนี้ไปตรงนี้ดีไหม” ละเอียดมาก 

ครั้งแรกที่ได้ขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รู้สึกยังไง

ตื่นเต้น ตอนนั้นยังเป็นพรรคอนาคตใหม่อยู่ แล้วก็วันที่ขึ้นอภิปรายพึ่งถูกยุบพรรค แต่ในตอนที่เตรียมข้อมูลก็ยังเป็นอนาคตใหม่อยู่ คนที่คุมเรื่องนี้โดยตรงก็คือคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ตื่นเต้นเพราะเราถูกมอบหมายโดยไม่รู้ตัว คุณธนาธรอยากให้พูดเรื่องนี้ คือเรื่องค้ามนุษย์ เรายอมรับตรงๆ เลยว่าเรามีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก แต่คุณธนาธรเขาก็เชิญองค์กรที่เขาทำเรื่องสิทธิมนุษยชนมาพูดคุยกับเรา มานั่งเล่าให้เราฟัง ให้ซึมซับ จริงๆ มันไม่ใช่แค่เอาเนื้อหาให้ดู แต่มันเป็นเรื่องความรู้สึกที่เขาไปเจอมา การที่ถูกกระทำทรมานมันเป็นอย่างไร เขาให้เราเห็นสภาพความโหดร้ายที่เขาไปเจอมา เราก็รู้สึกว่าเราอยากพูดเรื่องนี้เพื่อเพื่อนมนุษย์จริงๆ ไม่ว่าเขาจะสีผิวเชื้อชาติแบบไหนก็ตาม มันเป็นการปลุกเร้าอารมณ์มาก ที่เหลือมันก็เป็นข้อมูลที่เขาส่งมาให้ว่ามันเกิดเหตุการณ์ผิดปกติอะไรขึ้นบ้าง 

คิดว่าทำไมคุณธนาธรจึงมอบหมายเรื่องนี้ให้กับเรา

คุณธนาธรบอกผมว่ามี สส. 2-3 คนที่คุยกันและรับผิดชอบเรื่องนี้ แล้วในทีมก็บอกว่าผมเป็นคนที่จับประเด็น เข้าใจประเด็นได้เร็วในเวลาที่จำกัด เขาเลยมอบหมายเรื่องนี้ให้ผม

คืนก่อนขึ้นอภิปราย รู้สึกยังไง

เครียด นอนไม่หลับ พึ่งเป็น สส.ได้ไม่นาน ยังไม่ถึงปี ตอนนั้นมันก็มีหลายเรื่องหลายราว พรรคก็เพิ่งโดนยุบ มันก็มีความคับแค้น ความตื่นเต้น ความกังวลว่าเราจะทำได้ดีรึเปล่า เพราะว่าก็ถือว่าเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดแล้วในสภานี้ มันไม่มีอะไรที่ใหญ่กว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ค่อนข้างกังวลและตื่นเต้นมาก 

ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ค่อยดี วันนั้นมันก็มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้ต้องลงไปอภิปรายนอกสภาด้วย คือเราเตรียมเนื้อหาไว้ 40 นาที แต่พอขึ้นอภิปรายเวลาเราเหลือแค่ 20 นาที เวลาฝ่ายค้านทั้งหมดเหลือแค่ 20 นาที และในปีแรก ทีมฝั่งรัฐบาลเขาก็แข็งขันมาก ผมก็โดนประท้วงไป 3-4 รอบ พอหมดเวลาฝ่ายค้าน เขาก็ลุกขึ้นมาประท้วงกัน เราไม่เคยโดน ไปต่อไม่ถูก เราก็รู้ตัวนะว่าเราช็อต ชะงักไปเหมือนกัน สุดท้ายมันก็จบ เราก็ลงไปอภิปรายนอกสภาต่อ

ได้มีโอกาสย้อนกลับไปดูตัวเองครั้งแรกที่ขึ้นอภิปรายบ้างไหม

ดูครับๆ แต่ไม่บ่อยนะ เคยย้อนกลับไปดูตัวเองรอบสองรอบ ดูให้รู้ตัวว่าวันนั้นเราทำไม่ดีตรงไหนบ้าง

หากให้วิเคราะห์การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของตัวเอง คิดว่าอะไรคือข้อด้อยและข้อดีของเรา

ครั้งแรกเรายังไม่ค่อยเข้าใจว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจมันคือการกล่าวหา ประเด็นหลักของการอภิปรายไม่ไว้วางใจมันคือการกล่าวหาว่ารัฐมนตรีทำผิดอะไร ทำผิดตรงไหน ไม่มีคำว่าเราไม่รู้ว่าเขาทำรึเปล่า เรากล่าวหาเขาว่าเขาทำ เพราะจากหลักฐานที่เราได้มา เรามองไม่เห็นอย่างอื่นแล้ว คุณทำไม่ทำ มันเป็นหน้าที่ของคุณว่าคุณจะลุกมาชี้แจง แต่ ณ วันนั้นเรายังไม่หนักแน่น เรายังรู้สึกว่า หรือมันจะเป็นแบบนั้น หรือมันจะเป็นแบบนี้ แต่มันไม่ใช่ และจังหวะจะโคนในการพูด และวิธีการเรียบเรียงเรื่องที่ยังทำได้ไม่ดี ด้วยความที่เรายังไม่เข้าใจมาก เราไปลงลึกด้านการถูกกระทำของมนุษย์ด้วยกัน ไปลงลึกตรงนั้นมากเกินไป พอการอภิปรายออกมามันเหมือนว่าเรากำลังเล่าเรื่องของคนที่ถูกกระทำทรมานมากกว่าจะไปกล่าวหารัฐมนตรีเป็นหลัก มันก็จะดูโศกเศร้ามากกว่าโกรธแค้น อันนี้คือข้อด้อยเลย

ส่วนข้อดีคือ ผมก็สามารถทำข้อมูลที่พึ่งรู้มาในเวลาเพียงสัปดาห์สองสัปดาห์ได้ออกมาโอเคประมาณหนึ่ง

ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว 4 ครั้ง การอภิปรายของเราในวันนี้ เทียบกับครั้งแรกของเรา แตกต่างกันมากแค่ไหน

ต่างมากๆ เราย้อนกลับไปดูการอภิปรายครั้งแรกของเรา ซึ่งไม่ใช่อภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย แต่เป็นการอภิปรายนโยบาย เราอภิปรายเรื่องนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล เนื้อหาเราคิดว่าเราเตรียมมาค่อนข้างดี แต่เรายังพูดเหมือนคนมายืนพูดๆ ไป มันยังไม่มีการเน้นคำ เน้นเรื่อง ย้ำว่าจุดนี้มันสำคัญ เรายังไม่ตรงนั้น ทุกอย่างมันดูเป็นเส้นตรง เนิบๆ ไปหมด 

ทุกวันนี้ ผมไม่ได้พูดเก่งขึ้น ไม่ได้เรียบเรื่องเก่งขึ้น ผมแค่เป็นตัวเองมากขึ้น ณ วันนั้นเราคงกังวล ยังไม่เคยชินกับการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรารู้สึกว่ามันมีเส้นบางอย่างเป็นขนบ อะไรสักอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าเรายังไม่สามารถเป็นตัวเองได้ แต่ทุกวันนี้เราปลดล็อกแล้ว ผมไม่ได้พูดอะไรหยาบคาย ไม่ได้พูดอะไรที่ไม่เป็นความจริง ผมก็พยายามพูดสื่อสารถึงประชาชนทุกคน ผมว่าความรู้สึกของเราที่อยากจะสื่อสารในตอนนั้นมันสำคัญ ผมมองการอภิปรายทุกครั้งคือการ Perform บนเวที มันไม่ใช่แค่การปาฐกถา ไม่ใช่แค่คำพูด มันคือการแสดงอารมณ์ มันคือการ Perform บางอย่างให้คนดูรู้สึกถึงเนื้อหาและอารมณ์ของคนพูด 

นักการเมืองหลายคนเคยให้สัมภาษณ์ถึงบรรยากาศในสภาว่า แม้ต่อหน้าจะอภิปรายกล่าวหากันดุเดือดแค่ไหน แต่ข้างหลังก็คุยกันฉันมิตร สำหรับพรรคก้าวไกลก็เป็นเช่นนี้ด้วยไหม

เป็นครับ แต่มันจะแล้วแต่เรื่อง แล้วแต่คนด้วย แต่ส่วนใหญ่ผมก็คุยกับ สส.ฝั่งรัฐบาลปกตินะ เขาก็คุยกับผมปกติ หรือแม้ผมอภิปรายรัฐมนตรีศักดิ์สยามไป ผมก็ยังคุยกับ สส.พรรคภูมิใจไทยปกติ แต่กับท่านรัฐมนตรีเองผมไม่เคยคุย ไม่ได้คุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่หลายครั้งที่เราโจมตี ประท้วงกันเอง เจอกันข้างนอก เราก็คุยกันธรรมดา บางครั้งมีการอธิบายกันด้วยซ้ำว่าทำไมถึงประท้วงแบบนั้น ทำไมถึงพูดแบบนี้ เราก็เข้าอกเข้าใจกัน มันก็เป็นบทบาทในตอนนั้น

แล้วกับ สส.งูเห่า เวลาเจอกันเรายังคุยกันได้ไหม หรือเสียความรู้สึกไปแล้ว

ถ้าความรู้สึก ผมเสียความรู้สึกกับทุกคนที่เป็นงูเห่า เพราะเขาทรยศต่อคะแนนเสียงของประชาชน แต่ก็มีบางคนเท่านั้นที่ผมไม่คุยด้วยเลย บางคนก็ยังพูดคุยกันอยู่ บางคนก็จะมีเนื้อหาสาระบางอย่างที่เขาก็ยังติดตามในสภาหรือในกรรมมาธิการ ซึ่งเราสนใจและเราก็อยากขับเคลื่อน เขาก็มีความรู้เรื่องนี้ เราก็คิดว่ามันเป็นประโยชน์มากกว่า มันก็พูดคุยกันได้

จากชีวิตคนทำธุรกิจและนักดนตรี ทำไมถึงตัดสินใจเปลี่ยนมาสู่เส้นทางนักการเมือง

ตั้งแต่เด็ก ผมไม่ใช่เด็กที่สนใจการเมือง ติดตามบ้าง ดูบ้าง รู้บ้าง ว่าใครเป็นนายก เลือกตั้งเมื่อไร ตั้งแต่อายุ 18 เราไม่เคยนอนหลับทับสิทธิ์ ไปเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ก็อาจไม่ได้ตื่นตัวทางการเมืองอะไรมากมาย แต่สิ่งที่ผมเป็นมาตลอดคือผมเป็นคนรักอิสระมากๆ เรียบจบปุ๊ป ไม่ทำงานออฟฟิศ สอบเสร็จ ไปออดิชั่นเล่นดนตรีเลย ไม่เคยคิดจะสมัครงาน แล้วก็โชคดีด้วยที่สามารถเลี้ยงชีพตัวเองมาได้เรื่อยๆ อาจล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่เราก็ไม่ยอม มาเรื่อยๆ แม้กระทั่งทำธุรกิจ ก็เป็นคนที่ยังรักอิสระอยู่ ไม่ค่อยเข้าออฟฟิศ เข้าบ้างถ้าจำเป็น แต่ไม่เคยกำหนดตายตัวว่าต้องเข้า 8 โมง ออก 5 โมง เราคิดว่าถ้าเราไปอยู่ที่อื่นแล้วเป็นประโยชน์มากกว่าเราก็ไป 

จนกระทั่งการรัฐประหาร 2557 ตอนนั้นเราก็เล่นดนตรีและทำสตาร์ทอัพอยู่ด้วย และผมก็เป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านชัดเจน อาจไม่ได้เดินลงถนนแบบโรมนะ แต่ทุกคนรับรู้ เพื่อนๆ รู้ว่าเราลงด่าประยุทธ์ในเฟซบุ๊กทุกวัน และผมก็โดนกระแสตีกลับนะ เพื่อนๆ เข้ามาเถียง มันจำเป็น มันต้องอย่างนู่นอย่างนี้ ด้วยความเป็นคนรักอิสระ ผมเชื่อในเรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียม การรัฐประหารและเผด็จการทหารมันตอบเรื่องพวกนี้ไม่ได้เลยแม้แต่ข้อเดียว มันกดเสรีภาพเรา และมันไม่เห็นว่ามนุษย์เท่ากัน การที่คนกลุ่มหนึ่งจะออกมาบอกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่สมควรจะมาบริหารประเทศ ผมว่ามันเป็นความเลวร้ายที่สุดแล้วของประเทศนี้ มันคือการมองว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่น มองว่าคนอื่นต่ำกว่าตัวเองและไม่มีสิทธิ์จะเลือกว่าประเทศนี้จะไปในทิศทางไหน ผมก็เลยต่อต้านรัฐประหารอย่างจริงจัง ชัดเจนในตัวเองว่าเราไม่เอาสิ่งนี้ 

จนเวลามันผ่านมา 4-5 ปี ก็แล้ว ด้วยความที่เราทำธุรกิจด้วยและต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองด้วย เราก็รู้สึกมาตลอดเวลามันไม่ได้ทำให้ประเทศนี้ดีขึ้นเลย มันมีแต่จะแย่ลง เราทำธุรกิจ เราจะรู้ว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เราจะตกเป็นเบี้ยล่างของกลุ่มทุนผูกขาดที่มีอำนาจและสายสัมพันธ์กับเผด็จการอยู่ตลอดเวลา เราจะทำอะไรก็โดนห้าม ไม่มีเงินถุงเงินถังไปสู้กับเขา กฎระเบียบทุกอย่างที่ออกมาก็เอื้อกลุ่มทุนใหญ่ๆ ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มทหารทั้งสิ้น

จนพรรคอนาคตใหม่กำเนิดขึ้นมา เราก็สนใจ เราก็ฟังเขา ฟังไปฟังมา แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ธนาธรนี่ใคร (หัวเราะ) ยิ่งฟัง เรายิ่งรู้สึกว่า เฮ้ย มันมีคนคนหนึ่งที่คิดเหมือนเรามากขนาดนี้ ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรมา เราคิดแบบนี้ เขาคิดเหมือนที่เราคิดทุกอย่าง ตอนนั้นเรายังไม่คิดจะสมัคร สส.นะ ในชีวิตเราไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอะไรเลย พอพรรคอนาคตใหม่เริ่มเปิดรับสมาชิก ถ้าเราอยากเห็นการเมือง อยากเห็นประเทศเป็นไปในแบบที่เราคิด เราก็ควรสนับสนุนคนที่เขาคิดเหมือนเรา เราเลยตัดสินใจไปสมัครสมาชิกพรรค สักพักหนึ่งพรรคก็เริ่มเปิดรับสมัคร ผู้ลงสมัคร สส. พอเราเข้าไปเราก็ได้เจอคนอื่นบ้างแล้ว เขาก็ถามว่าสมัครไหม เราก็สมัครแบบที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเป็น สส. แต่เราก็รู้สึกว่ามันเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่เรารู้สึกว่าเราอยากเปลี่ยนประเทศนี้ เราก็ลุกขึ้นมาทำมันดิ มันจะสำเร็จ ไม่สำเร็จ ไม่รู้หรอก เราอยากลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เราก็เลยสมัคร 

แล้ววันหนึ่ง จำได้เลย เราไปเล่นดนตรีในงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง อยู่บนเวทีเลย แล้วก็มีโทรศัพท์โทรเข้ามา พอพักเบรกเราก็โทรกลับไป ก็เป็นเจ้าหน้าที่จากพรรคอนาคตใหม่บอกว่าคุณปกรณ์วุฒิได้รับเลือกเป็นผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 37 พูดตรงๆ ว่าตื่นเต้นมาก ไม่ได้ตื่นเต้นว่าจะได้เป็น สส. นะ ตื่นเต้นว่า เฮ้ย 37 เลยหรอ (หัวเราะ) เราเป็นใครก็ไม่รู้ ไม่ได้รู้จักใคร ไม่ได้รู้จักธนาธรเป็นการส่วนตัว เขาให้เราอยู่ลำดับที่ 37 จาก 150 ของพรรคเลยหรอ ก็หันไปคุยกับเพื่อนในวง แต่ในวันนั้นทุกคนก็คงคิดเหมือนกันว่าที่ 37 มันคงไม่ได้อยู่แล้ว แต่ในที่สุดวันเลือกตั้ง เราก็ไปที่พรรคด้วย ไปร่วมกันให้กำลังใจ แล้วสูตรมันพิศดาร แต่โอเค เราคิดเป็นอยู่แล้ว พอนับไปนับมา เฮ้ย ถึงว่ะ (หัวเราะ) ไม่ได้คาดคิดมาก่อน อยู่ดีๆ เราก็เห็นว่าพรรคนี้ได้คะแนนอันดับ 3 แน่ๆ มันมาแบบ 2-3 ล้านแล้ว มันถึงแน่นอน

ความรู้สึกแรกหลังจากที่รู้ว่าเราได้เป็น สส.คืออะไร

งง หันไปหาคนรอบข้าง เฮ้ย อะไรเนี่ย มันงง มันไม่ได้ดีใจด้วยนะ ชีวิตเราพรุ่งนี้มันจะเป็นยังไง

พอหายงงแล้ว ความรู้สึกอะไรที่มันเข้ามาในหัวเรา

เริ่มตื่นเต้นและกังวล คำถามแรกที่คิดคือ เป็น สส. มันต้องทำตัวยังไง เรารู้ว่า สส.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ออกกฎหมาย และก็ตรวจสอบรัฐบาล พูดตรงๆ ตอนนั้นเรารู้แค่นี้เลย ถามว่าน่าจะพอทำได้ไหม ก็น่าจะพอทำได้ แต่มันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้นอีกเยอะ เราก็เริ่มกังวลว่ามันต้องยังไง และเราจะต้องทำอะไรต่อไป

พอเข้ามาสู่ชีวิตนักการเมือง มีอะไรที่ทำให้เรารู้สึก Culture shock บ้างไหม

หลังจากเลือกตั้งเสร็จแล้ว ก็จะมีการไปอบรมของพรรคอนาคตใหม่เอง ตอนนั้นยังไม่ค่อยเท่าไร เราเจอคนแบบเราๆ พรรคอนาคตใหม่ก็เป็นสังคมแบบคนธรรมดา คนทั่วๆ ไป ก็ยังสนุกสนานอยู่ แต่พอเข้ามาในสภา ตอนนั้นยังอยู่ตรง TOT วันแรกเราก็ช็อกเลยนะ เห็นการประท้วง ด่ากัน เดือด ตกใจ อะไรว่ะเนี่ย ทำไมเรื่องแค่นี้เขาต้องส่งเสียงกันขนาดนี้ด้วย อันนี้ช็อกจริง เราไม่เข้าใจเลย ประธานสภาสำคัญขนาดไหน เราไม่รู้เรื่องพวกนี้

นอกจากภูมิหลังของการเป็นคนทำธุรกิจแล้ว การที่เราเป็นนักดนตรีมาก่อน ทำให้เราเป็น สส.ที่แตกต่างจากคนอื่นอย่างไร

จริงๆ เหมือนกับที่ผมพูดไปก่อนหน้านี้ ว่าผมมองการอภิปรายว่าเป็นการ Perform เหมือนเล่นดนตรี เวลาเราขึ้นไปบนเวทีมันไม่ใช่การเล่นให้ถูกโน้ตนะ มันไม่ใช่การเล่นให้คนฟัง แต่เป็นการเล่นให้คนดู ดนตรีเนี่ย คุณอยู่ที่บ้านคุณฟังไปเลย มันเพราะ แต่พอขึ้นไปบนเวที คนไม่ได้ใช่แค่หู แต่ใช้ตา ทุกอย่าง การเคลื่อนไหว การดีดเบาดีดแรง การขยับทุกอย่างมันสำคัญหมด ในช่วงหลังๆ ผมก็จะมองการอภิปรายของตัวเอง เหมือนการแสดงในคอนเสิร์ต

การอภิปรายของเราที่เน้นการนำเสนอข้อมูลตัวเลข ที่แม้คนฟังอาจรู้สึกว่าเราพูดดี แต่ก็อาจไม่เข้าใจหรือซึมซับข้อมูลไม่ครบถ้วน ในแง่หนึ่งก็ดูคล้ายกับบทบาทของการเป็นมือเบสเหมือนกัน ที่ดูเป็นตำแหน่งที่สำคัญ แต่คนอาจฟังไม่ออกว่าว่าไลน์เบสอยู่ตรงไหน หรือเล่นดีอย่างไร 

อย่างการเล่นเบส เราจะเข้าใจว่าเราไม่ใช่คนที่เด่นบนเวที แต่เราเป็นคนที่โอบอุ้มคนทั้งวง เรากับมือกลองจะเป็นคนที่โอบอุ้มวงให้ทุกอย่างราบรื่นผ่านไปได้ ถามว่าอยากจะโดดเด่นไหม ก็เฉยๆ เช่นกันกับการเป็น สส.ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องโดดเด่น ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องเป็นดาวสภา เรื่องบางอย่างที่พูดไปแล้วอาจทำให้เด่นดังได้ แต่ถ้ามันไม่ใช่เรื่องที่ผมอยากพูด ผมก็รู้สึกว่าพูดไปก็เท่านั้น เหมือนกับขึ้นเวทีไปและเราไปเล่นเพลงแจ๊ซ ซึ่งเราไม่ถนัดเลย มันไม่มีทางเพราะ เราก็อยากเล่นเพลงป็อป เพลงร็อค หรืออย่างน้อยๆ ก็เพลงที่เราชอบ การเล่นออกมา คนมันรู้สึกได้ว่าเรารู้สึกกับมันจริงๆ 

ส่วนเรื่องตัวเลข ผมเป็นคนที่ใช้คำว่าหลงใหลในคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ผมเป็นที่หนึ่งคณิตศาสตร์ในโรงเรียน อาจไม่ได้เก่งมากถึงขนาดเป็นคณิตศาสตร์โอลิมปิก เราก็ชอบในแบบของเรา เคยเป็นติวเตอร์คณิตศาสตร์ด้วย พอมีเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับตัวเลข ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องแปรญัตติสูตรคำนวน สส. ผมก็แปรญัตติ เพราะผมรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำกันมาตั้งแต่เราเด็กๆ มันไม่เมคเซนส์ คุณทำอะไรกัน แม้กระทั่งปี 2562 การปัดเศษอะไรเนี่ย มันก็ไม่เมคเซนส์ทางคณิตศาสตร์เลย คุณมีคนที่คุณบอกว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในสภาตั้งกี่คน มันไม่มีใครคิดเรื่องนี้ได้บ้างหรอ เราก็เลยพยายามนำเสนอในแบบของเรา ซึ่งพอเป็นเรื่องแบบนี้เราแทบไม่ต้องใช้ความพยายามเลย 

ถ้าการขึ้นไปอภิปรายของเรา เปรียบเสมือนการขึ้นไปเล่นเบส มันจะเป็นการเล่นเบสสไตล์ไหน

แล้วแต่เรื่อง ถ้าล่าสุด (กรณีการซุกหุ้นของรัฐมนตรีศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ก็น่าจะเป็นสไตล์ร็อคนะ เราพยายามทำให้มันหนักแน่น วิธีการเล่าเรื่องของเรามันค่อยๆ เพิ่มน้ำหนักไปเรื่อยๆ เปิดมาเบาๆ แบบกลองยังไม่มี ไล่เรียงมาเรื่อยๆ พอเข้าท่อนฮุค เราก็ไปอย่างหนักแน่น ตอนนั้นผมคิดแบบนี้ว่าต้องเล่าเรื่องให้คนเข้าใจและเชื่อ

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด ถ้าให้เปรียบเทียบเพื่อน สส.ที่ขึ้นอภิปรายเป็นตำแหน่งในวงดนตรี โดยมีเราเป็นมือเบสอยู่แล้ว แต่ละคนจะรับตำแหน่งอะไร

มือกลองสำหรับผมคือ คุณทิม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) คุณทิมเป็นคนที่โอบอุ้มคนทั้งพรรค ให้สามารถผ่านพ้นเรื่องทุกอย่างไปได้ กลองเนี่ยสำคัญที่สุด เป็นพื้นฐานของวง

มือกีต้าร์ ถ้ารอบนี้นะ ผมให้คุณเบญจา (แสงจันทร์) ผมว่ากีต้าร์เนี่ย ถ้าอยู่ในวงดนตรี ผมจะชอบคนที่เล่นกีต้าร์ไพเราะ มันสามารถทำให้คนดูรู้สึกไปกับดนตรีนั้นได้ โดยส่วนตัวผมเพลิดเพลินไปกับคนที่เล่นกีต้าร์เพราะมากกว่าคนที่ร้องเพราะนะ การเล่นกีต้าร์ให้เพราะมันยากนะ โอเค การร้องให้เพราะมันก็ยากแหละ แต่เราก็รู้สึกว่ามันหาได้เยอะ แต่คนที่เล่นกีต้าร์ให้เพราะได้มันหายากกว่า และผมคิดว่าคุณเบญจา เขาเรียกอารมณ์ความรู้สึกของผมได้จริงๆ ตอนที่ผมนั่งฟังเขา

นักร้องนำก็คือ โรม (หัวเราะ) นักร้องนำต้องมีคาแรคเตอร์เข้มแข็ง ยืนอยู่ข้างหน้าได้ เป็น Frontman และโรมก็หนักแน่น เข้มแข็ง เวลาเล่นคอนเสิร์ต คนเป็นนักร้องจะถูกสายตาจับจ้องอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเขาพะวักพะวนไม่ได้ มันไม่เหมือนนักดนตรีนะ ผมเป็นมือเบสไม่มั่นใจ ผมสามารถเดินเข้าไปหามือกลองได้ ไปมองหน้ากันแปปหนึ่ง ขอเรียกความมั่นใจหน่อย เราอยู่ตรงไหนแล้ว แต่นักร้องต้องเข้มแข็งและสื่อสารกับคนดูตลอดเวลา จังหวะพะวักพะวนมีไม่ได้เลย และโรมเป็นคนที่แน่วแน่แบบนั้นจริงๆ 

ในฐานะอดีตมือเบสวง BASHER ที่มีเพลงฮิตอย่าง “เสียดายของ” มันมีอะไรในชีวิตที่เรารู้สึกเสียดายบ้างไหม ที่พอเข้ามาสู่เส้นทางทางการเมืองแล้ว เราก็ไม่ได้ทำหรือสูญเสียมันไป

มันก็เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตจุดหนึ่ง เป็นจุดเปลี่ยนที่ค่อนข้างใหญ่ ต้องบอกว่าวันก่อนที่เราจะเป็น สส. ต้นปี 2562 ผมยังไปเล่นดนตรีอยู่เกือบทุกคืน ชีวิตมันก็เปลี่ยนไปเลย มันก็ค่อนข้างจางหายไป ตอนเป็น สส.แรกๆ ผมยังไปเล่นดนตรีอยู่นะ แต่พอมีโควิดแล้วมันก็ตามสภาพ ถามว่าเสียดายไหม ผมว่ามันเป็นความเลื่อนไหลของชีวิตมากกว่า เราผูกพันกับดนตรี ทุกวันนี้เราก็ยังไม่เลิกเล่นดนตรี ว่างๆ อยู่ที่บ้านเราก็ยังเล่นอยู่ ก่อนหน้านี้ช่วงที่ร้านปิดหมด ทุกคนหยุดว่างหมด ผมก็ไลฟ์กับเพื่อนในวง เราคิดถึงการเล่นดนตรี เราก็เล่นมัน มันก็ไม่ถึงกับเสียดาย เพราะบทบาทเราเปลี่ยนไป 

บอกตามตรงว่างานดนตรีเป็นงานที่ผมรักที่สุด ผมรักอาชีพนักดนตรีที่สุด แต่อาชีพนักการเมือง การมาทำงานการเมือง ผมรู้สึกว่ามันเป็นงานที่เติมเต็มจิตวิญญาณของเรามากที่สุด ว่าเรากำลังทำสิ่งที่มันสำคัญ ไม่ใช่แค่กับเรา แต่กับประเทศชาติ เรากำลังเปลี่ยนแปลงให้ประเทศนี้ไปในทิศทางที่ประชาชนที่เขาเลือกเราเขาอยากเห็น ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเราเองเท่านั้น

ในอีกไม่นานวาระการดำรงตำแหน่งของเราก็จะหมดลงแล้ว มันมีอะไรที่เรารู้สึกว่าในตลอด 4 ปี เสียดายที่ไม่ได้ทำ หรือทำไม่ทันบ้างไหม

อาจไม่ได้เจาะจงว่าเป็นเรื่องไหน แต่เรารู้สึกว่าเราใช้เวลาเรียนรู้กับเรื่องอำนาจหน้าที่ สส.นานไปนิดหนึ่ง โอเค ทุกคนเป็นหมด สภาชุดนี้ สส.ใหม่เยอะมาก ไม่ใช่แค่อนาคตใหม่หรือก้าวไกล แม้กระทั่งฝั่งรัฐบาลเองก็มี สส.ใหม่เยอะมาก ฉะนั้นเนี่ยกว่าเราจะรู้ว่า สส.จะทำอะไรได้บ้าง ถ้าเราคิดเรื่องนี้ เราควรจะทำอะไรเพื่อให้มันทัน เช่น หากเราอยากจะเปลี่ยนวงการสตาร์ทอัพ เรื่องคริปโทฯ ถ้าเราคิดเร็วรู้เร็ว เราสามารถลองร่างกฎหมายเสนอสภาได้ ซึ่งกว่าจะรู้ตัว มันก็ไม่ทันแล้ว

ถ้าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เราไม่ได้รับเลือกให้เป็น สส.อีกครั้ง เราจะไปทำอะไรหรืออยู่ในจุดไหน

เคยคิดเหมือนกัน และเคยถามตัวเองว่าเราจะกลับไปเล่นดนตรี กลับไปทำธุรกิจอย่างอื่นไหม ผมมีประสบการณ์ตอนเริ่มเล่นดนตรีใหม่ๆ ผมอยากจะเปิดห้องซ้อมดนตรี ผมก็ไปคุยกับพี่คนหนึ่งที่เขาเป็นเจ้าของห้องซ้อมที่เราซ้อมตั้งแต่เด็กๆ ไปขอคำปรึกษา เขาก็พูดขึ้นมาว่า นักดนตรีเนี่ยมันต้องคำสาป เป็นแล้วมันเลิกไม่ได้ ผมเริ่มจะรู้สึกว่านักการเมืองอาจเป็นอีกอาชีพที่ต้องคำสาป พอเรารู้แล้วว่าการมาอยู่ตรงนี้มันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้กับประเทศได้ ให้กับคนอื่นและสังคมได้ มันก็ไม่แน่ว่ามันอาจต้องคำสาปทำให้เราเลิกไม่ได้เหมือนกัน ก็ยังคิดอยู่ครับว่า ถ้าถึงเวลานั้นและเราไม่ได้ เราจะยังยืนหยัดที่จะทำงานการเมืองต่อไปรึเปล่า

หากให้สรุปบทเรียนสำคัญของชีวิตออกมา 1 ข้อที่ “เสียดายน่าจะรู้เร็วกว่านี้” 

ผมใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นโดยที่ไม่ได้ดูแลสุขภาพตัวเอง และไม่ได้ไขว่คว้าหาความรู้ใส่ตัวให้มากที่สุด ในช่วงเวลาช่วงมหาวิทยาลัยจนถึงช่วงอายุ 30 ไปใช้เวลากับการเล่นดนตรี และมีความสุขไปวันๆ มากกว่าจะดูแลสุขภาพร่างกาย มากกว่าจะพยายามไขว่คว้าหาประสบการณ์ชีวิตอย่างอื่นบ้าง โอเค เรามีความสุขกับการเล่นดนตรี แต่เราลืมนึกไปว่าชีวิตมันมีอีกหลายอย่างที่เราควรจะเรียนรู้เพื่อจะใช้ชีวิตในอนาคตได้เร็วกว่านี้ ผมคิดว่าในเวลานั้นผมยังทำน้อยไป และมันก็ส่งผลถึงปัจจุบันด้วย ทั้งเรื่องสุขภาพ และหลายๆ อย่างที่เราต้องมาเริ่มเรียนรู้ตอนที่อายุเยอะมากขึ้น

มันนามธรรมมากเลยนะ แต่ผมเสียดายน่าจะรู้เร็วกว่านี้ว่าเวลาชีวิตมันผ่านไปเร็วมากจริงๆ 

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า