วาทกรรมที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดโต่งมักนำมาพูดถึงการกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองและนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทยใน พ.ศ. 2475 (ค.ศ.1932) ของคณะราษฎร คือสำนวนที่ว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ก่อนระดับมหาวิทยาลัยที่ถูกครอบงำจากภาครัฐ มักนิยามปฏิบัติการครั้งนั้นว่าเร็วเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือพระมหากษัตริย์เตรียมปูทางเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้แล้ว แต่คณะราษฎรกลับเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน รวมไปถึงการรับรู้ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรที่น้อยมากในหนังสือเรียนของรัฐราชการ แต่เมื่อศึกษาบริบทของโลก ณ ขณะนั้นแล้ว กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่วิถีประชาธิปไตยกำลังพัดโหมอย่างแรง จึงทำให้การ “ชิงสุกก่อนห่าม” ของคณะราษฎรอาจไม่ใช่แบบที่ผู้มีอำนาจกำลังจูงจมูกให้เรารู้สึกนึกคิดตาม เพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรอยู่ในจังหวะที่ถูกต้อง และไม่ได้เลวร้ายขัดต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ใน พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932) ขณะที่สยามกำลังก้าวพ้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย บรรดาประเทศอื่นๆ กำลังมีพัฒนาการทางการเมืองเป็นไปในทางใดบ้าง ซึ่งหากได้คำตอบ คำว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” อาจเป็นเพียงวาทกรรมของปลอมที่คนเสียผลประโยชน์ พยายามทำให้เราเชื่อตามเท่านั้นเอง

สหรัฐอเมริกา
ประเทศเกิดใหม่และมีประวัติศาสตร์เคียงคู่มากับกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงที่ประเทศสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ตรงกับสมัยประธานาธิบดี เฮอร์เบิร์ต คลาร์ก ฮูเกอร์ จากพรรครีพับลิกัน เขาดำรงตำแหน่งก่อนภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก และสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะแพ้การเลือกตั้งให้กับ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ แห่งพรรคเดโมแครต รัฐบุรุษคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา
จีน
จากอดีตประเทศพี่ใหญ่ อู่อารยธรรมแห่งเอเชียที่ทุกประเทศต้องจิ้มก้อง ภายใต้ระบอบจักรพรรดิราชวงศ์แมนจู ที่กำลังถดถอยลงไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ ขับไล่ราชวงศ์และจักรพรรดิแมนจู ทำให้เกิดยุคสุญญากาศทางการเมือง เกิดยุคขุนศึกที่ผู้นำทหารตามท้องถิ่นต่างๆ แย่งชิงความเป็นใหญ่ ในที่สุดก็ถูกรวมเป็นหนึ่งอีกครั้ง นำไปสู่การตั้งรัฐบาลแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐจีน ที่นำโดย เจียง ไคเช็ก แห่งพรรคก๊กมินตั๋งตั้งแต่ ค.ศ. 1928 – 1948 ก่อนที่เขาจะพ่ายแพ้ให้กับกองทัพปลดปล่อยประชาชนของ เหมา เจ๋อตง ในที่สุด
รัสเซีย
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบซาร์แห่งรัสเซีย นำไปสู่การสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต อำนาจในมือวลาดิมีร์ เลนิน ถูกส่งต่อให้ โจเซฟ สตาลิน ซึ่งปกครองสหภาพโซเวียตตั้งแต่ ค.ศ. 1924 – 1953 นำสหภาพโซเวียตผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศทั่วโลกแบ่งเป็น 2 ค่ายใหญ่ ได้แก่ ค่ายเสรีประชาธิปไตย และค่ายคอมมิวนิสต์
เยอรมนี
ภายหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ภายใต้ระบอบกษัตริย์ (ไกเซอร์) ที่นำโดยจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 เยอรมนีก้าวสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และจอมพล เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ก ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ตั้งแต่ ค.ศ. 1925 – 1934 ก่อนที่จะถึงแก่อสัญกรรม
จากพัฒนาการในประเทศต่างๆ ทำให้เราเห็นว่าสถานการณ์ทั่วโลก ณ ขณะนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์ (จักรพรรดิ,ซาร์ และไกเซอร์) สู่ระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันกระแสประชาธิปไตยก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายประเทศได้รับเอกราช หรือเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมเดิม อ้าแขนรับระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบการปกครองอื่นๆ ที่ไม่ใช่ระบอบกษัตริย์ เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ทำให้เห็นว่าด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วไป คำว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” เป็นวาทกรรมที่ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์โลก ณ ขณะนั้น เพราะหากเราชิงสุกก่อนห่าม บางประเทศที่เปลี่ยนแปลงการปกครองก่อนเรา จะไม่ชิงสุกก่อนห่ามยิ่งกว่าเราหรือ
ขณะเดียวกันปัจจุบันเหลือประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐเพียง 40 กว่าประเทศ จาก 190 ประเทศทั่วโลก และมีเพียงไม่กี่ประเทศที่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น บรูไน ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีประเทศไหนที่การปกครองถูกโค่นล้มจากภายนอก เพราะส่วนใหญ่ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงเกิดจากระบอบเก่าที่เสื่อมสลายลงเท่านั้นเอง
ที่มา : silpa-mag / tci-thaijo / adaymagazine / parliament / proextron