fbpx

ONEE เตรียมพร้อมขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมระดมทุน

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 บนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรากฎสถานะการอนุมัติขายหุ้นของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปรากฏว่าได้อนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการอนุมัติเอกสารชี้ชวนคำเสนอขายหลักทรัพย์ และรวมถึงรอกำหนดราคาขายและวันจองซื้อหุ้นต่อไป

ทั้งนี้ บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดตัวเว็บไซต์ https://www.theoneenterprise.com เพื่อเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูลก่อนทำคำเสนอขายหุ้นในเร็วๆ นี้ และเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ซื้อหุ้นจะได้ทำความเข้าใจในหลักทรัพย์ก่อนซื้ออีกด้วย โดยบริษัทฯ มีประวัติความเป็นมากว่า 30 ปี มีรากฐานมาจากความเป็น คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ซึ่งเริ่มตั้งแต่บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด ที่ก่อตั้งในปี 2534 โดยคุณถกลเกียรติ วีรวรรณ โดยในขณะนั้นบริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด ดำเนินการเช่าเวลาจากสถานีวิทยุกองทัพบกช่อง 5 และเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ให้แก่สถานีโทรทัศน์ต่างๆ

ในปี 2556 บริษัทฯ (เดิมชื่อ บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี เทรดดิ้ง จำกัด) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 โดยบริษัทฯ ได้เข้าร่วมประมูลโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลและได้รับใบอนุญาติประกอบกิจการจาก กสทช. ช่อง ONE31 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่บริษัทฯ ได้เพิ่มขีดความสามารถจากการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เพียงอย่างเดียวเพื่อต่อยอดการเป็นผู้ให้บริการสื่อโทรทัศน์อย่างครบวงจรและตอบสนองพฤติกรรมการรับชมของผู้บริโภคในทุกช่องทาง

ในปี 2564 นี้ บริษัทฯมีแผนการระดมทุนและนำหุ้นของบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับโอกาสการเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจบริหารลิขสิทธิ์ ธุรกิจขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศ ธุรกิจผลิตรายการและบริหารจัดการช่องทางโทรทัศน์ ธุรกิจผลิตรายการวิทยุ ธุรกิจอีเวนต์ และ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น โดยมี “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” เป็นประธานกรรมการ และ “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” เป็นประธานกรรมการบริหาร

สำหรับสัดส่วนรายได้ในปี 2563 พบว่าร้อยละ 51.5 มาจากการบริหารเวลาและบริการโฆษณาทางโทรทัศน์, ร้อยละ 20.2 มาจากการบริหารลิขสิทธิ์, ร้อยละ 11.0 มาจากการรับจ้างผลิตและบริการ, ร้อยละ 8.2 มาจากรายได้ที่เกี่ยวเนื่อง, ร้อยละ 5.5 มาจากธุรกิจวิทยุ, ร้อยละ 1.2 มาจากธุรกิจรับจัดกิจกรรม และร้อยละ 2.4 มาจากรายได้อื่นๆ โดยมีผลประกอบการรวมอยู่ที่ 4,875.3 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 657.6 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้สนใจอาจต้องรอวันซื้อขายอย่างเป็นทางการและราคาที่ชัดเจน รวมไปถึงการอนุมัติหนังสือชี้ชวนอย่างเป็นทางการจากสำนักงาน ก.ล.ต. อีกครั้ง ซึ่ง Modernist จะรายงานให้ทราบอีกครั้ง

ย้อนเรื่องราวการขายหุ้น ONEE

10 มีนาคม 2564 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด ได้มีมติเห็นชอบในการเพิ่มหัวข้อเพื่อเข้าพิจารณาในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 โดยการแก้ไขครั้งนี้เป็นการเพิ่มเนื้อหาในการประชุม ได้แก่ การนำกลุ่มบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ออกจำหน่ายขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO และนำช่องวัน 31 (ตัวย่อ : ONEE) จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเสนอให้ประชาชนทั่วไปถือหุ้นร้อยละ 20 จากสัดส่วนการเพิ่มทุนทั้งหมดนั่นเอง

ที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอนำ ONEE เข้า IPO

โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มวาระนี้เข้าไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 โดยมอบหมายให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม (Group CEO) หรือประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ลุล่วง รวมถึงเป็นตัวแทนของ GRAMMY ในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ONEE อีกด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้พิจารณาอนุมัติแนวทางดำเนินธุรกิจ และการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกลุ่ม GRAMMY และกลุ่ม ONEE ในอนาคต โดยให้ ONEE เป็น Flagship ของกลุ่มในด้านคอนเทนต์ (สื่อโทรทัศน์ ผลิตรายการ ละคร ซีรีส์ และสื่อวิทยุ) โดยทาง GRAMMY จะไม่ขยายธุรกิจที่ทับกับกลุ่มของ ONEE และทาง GRAMMY จะให้ความร่วมมือในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ONEE ในการดำเนินการตามที่จําเป็นเพื่อให้ ONEE สามารถแสดงได้ว่ามีกลไกการจัดการเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. เช่น การกําหนดให้บริษัทย่อยเข้าทำข้อตกลงใดๆ กับ ONEE เพื่อลดหรือขจัดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น

ปรับโครงสร้าง GMM25 – สำคัญต่อ ONE อย่างไร?

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท ในกรณีการปรับโครงสร้างของกิจการร่วมการค้า โดยประกอบกับการที่บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด ผู้ถือหุ้นในช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ได้ถอนหุ้นทั้งหมดไปแล้ว จึงได้ปรับให้แกรมมี่ดำเนินการขายหุ้นในส่วนของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด ให้แก่กลุ่ม ONEE โดยแยกส่วนของผู้ถือใบอนุญาตช่องหมายเลข 25 บนทีวีดิจิตอลมาอยู่ภายใต้บริษัท จี เอ็ม เอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด (แกรมมี่ถือหุ้นทั้งหมด) ร่วมกับบริษัท คอนเทนต์ แอนด์ อาร์ตติสท์ เน็ตเวิร์ค จํากัด และบริษัท เอ-ไทม์ ทราเวิลเลอร์ จํากัด ซึ่งจะอยู่ภายใต้บริษัทนี้ทั้งหมด

ในส่วนของผู้ผลิตเนื้อหา คือ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง และบริษัทในเครือทั้งหมด ได้แก่ เอ-ไทม์ มีเดีย, จีเอ็มเอ็ม ทีวี, จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอ, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย และเช้นจ์ 2561 มาอยู่ภายใต้กลุ่ม ONEE ซึ่งจะถือหุ้นทั้งหมด นอกจากนี้ยังจำหน่ายสิทธิ์ทางการตลาดและการดำเนินการในทีวีดิจิตอลช่องหมายเลข 25 ให้แก่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด โดยจะแบ่งรายได้เป็นร้อยละ 70 ให้กับจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง (บริษัทที่ทำการตลาดให้) และ GMM25 จะได้ร้อยละ 30 ในฐานะผู้ถือใบอนุญาต โดยจะมีรายได้ไม่เกิน 70 ล้านบาทต่อปี และเมื่อรวมระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลืออีก 8 ปี 4 เดือน (นับจากวันที่ 1 มกราคม 2564) GMM25 จะมีรายได้ไม่เกิน 583,333,333 บาท และจะยังได้รับค่าตอบแทนการแต่งตั้งตัวแทนการตลาดอีก 67 ล้านบาท ซึ่งในปี 2563 ได้รับไปแล้ว

นอกจากนี้ทาง GRAMMY ยังจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินในลักษณะเงินกู้ยืมในอัตราส่วนร้อยละ 31.27 ตามสัดส่วนที่ถือหุ้นใน ONEE หรือไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงิน 2,200 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อหุ้น GMMCH (จีเอ็มเอ็ม ชนแนล โฮลดิ้ง) ในวงเงินไม่เกิน 1,100 ล้านบาท

เงื่อนไขหลังการทำธุรกรรมการซื้อ GMMCH คือทาง GMM25 ต้องชำระค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่ให้กับทาง กสทช. งวดต่อไปภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 และต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้กระทำการแทนและผู้ถือหุ้นให้ กสทช. ได้รับทราบ นอกจากนี้ยังต้องยินยอมเมื่อทาง ONEE ต้องการใช้ศิลปิน และสุดท้ายคือการโอนถ่ายพนักงานจากสังกัด GMM25 ไปยังหน่วยงานต่างๆ นั่นเอง

ซึ่งสิทธิ์ในการทำการตลาดของ GMM25 ที่ GMMCH (ซึ่งกลายเป็นบริษัทในเครือ ONEE แล้ว) มีหน้าที่ได้แก่ การจัดหาผู้เช่าเวลารายการในช่อง 25, จัดหาลูกค้าเพื่อร่วมผลิตรายการ, จำหน่ายเวลาโฆษณาทั้งหมดในช่อง 25 รวมไปถึงการได้มาซึ่งทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบไปด้วยโลโก้ช่อง ชื่อรายการ งานลิขสิทธิ์ของ GMM25 และการผลิตรายการตอนใหม่ โดย GMM25 จะไม่มีสิทธิ์ในการผลิตรายการเอง หรือหาลูกค้าเอง ซึ่งทับซ้อนต่อการดำเนินงานของตัวแทนการตลาดเด็ดขาด เว้นแต่ในด้านการบริหารให้มีนายสถานี แลการชำระะค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ที่ยังคงเป็นหน้าที่ของ GMM25 เหมือนเดิม

ONE จะเข้า IPO อย่างไรบ้าง?

บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด (มหาชน) จะดำเนินการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนร้อยละ 20 จากทั้งหมดของทุนที่ชำระแล้วภายหลังจากการทำการเพิ่มทุนเรียบร้อย มูลค่าที่ตราไว้อยู่ที่ 100 บาท สำหรับราคาเสนอขายยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากต้องสำรวจความต้องการในการซื้อหลักทรัพย์ก่อน และต้องรอการอนุมัติจาก ก.ล.ต. เพื่อกำหนดวันเปิดหนังสือชี้ชวนและเสนอขายอย่างเป็นทางการได้

ใช้ชื่อ ONEE – อยู่หมวดบริการ

เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ นั้นจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในหมวดบริการ / สื่อและสิ่งพิมพ์ โดยเสนอขายให้กับประชาชนเป็นครั้งแรกเป็นจำนวนไม่เกิน 496,252,500 หุ้น คิดเป็น 20.84% ของหุ้นทั้งหมดหลัง IPO ซึ่งประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ ไม่เกิน 476,250,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม (บริษัท ซีเนริโอ จำกัด) ไม่เกิน 20,002,500 หุ้น โดยเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ราคา PAR 2.00 บาท ส่วนราคา IPO ยังไม่เปิดเผย และใช้ชื่อย่อว่า “ONEE”

ONEE ประกอบธุรกิจคอนเทนต์เป็นหลัก ซึ่งมีขาต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจผลิตเนื้อหา (Content Provider) ประเภท ละคร ซีรีส์ รายการวาไรตี้ ที่เน้นออกอากาศทางโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลทีวีเป็นหลัก (ช่อง ONE31, ตัวแทนการตลาดช่อง GMM25) รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ทางออนไลน์, ธุรกิจเช่าสถานีวิทยุและผลิตรายการวิทยุเพื่อขายโฆษณา (รายการวิทยุ EFM GREENWAVE และ Chill Online) และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น บริหารจัดการศิลปิน จัดคอนเสิร์ต / อีเว้นท์ บริการให้เช่าสตูดิโอ

โดยบริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติตามงบการเงินรวมของบริษัทฯ หลังจากการหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจัดสรรทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามข้อบังคับของบริษัทฯ และตามกฎหมายแล้ว

ผลประกอบการและความสำเร็จของ ONEE

สำหรับผลประกอบการในปี 2563 ที่ผ่านมานั้น พบว่ามีรายได้จากการผลิตรายการ บริหารลิขสิทธิ์ และให้บริการช่องโทรทัศน์ คือ ช่องวัน 31 จำนวน 3,496.19 ล้านบาท (ร้อยละ 73.5), รายได้จากการผลิตรายการวิทยุ 269.22 ล้านบาท (ร้อยละ 5.7), รายได้จากการรับจ้างผลิตและบริการ 535.95 ล้านบาท (ร้อยละ 11.3), รายได้จากการจัดอีเวนต์ 56.28 ล้านบาท (ร้อยละ 1.2) และรายได้จากธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น รายได้จากการบริหารศิลปิน รายได้จากการขายสินค้า รายได้จากการเช่าสถานที่ และรายได้อื่นๆ จำนวน 399.93 ล้านบาท (ร้อยละ 8.4) รวมรายได้ทั้งหมด 4,757.57 ล้านบาท

ในส่วนของช่องวัน 31 เองถือเป็นผู้นำทางด้านละครเลยก็ว่าได้ เนื่องด้วยละครหลายเรื่องส่งกระแสมาได้ค่อนข้างดีมากๆ เช่น ละคร “วันทอง” ที่มีเรตติ้งดีอันดับ 1 ของประเทศไทยในปี 2564 (นับจากวันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2564), ละครช่วง 19.00 น. ที่ได้ผลตอบรับดีเป็นอันดับ 1 ได้แก่ นางฟ้าลำแคน, สูตรรักแซ่บอีหลี หรือซีรีส์ที่เป็นกระแสอย่าง “เด็กใหม่” ที่คว้ารางวัล Gold Awards London International Awards ปี 2018

ซึ่งถ้ายกรายได้ในก้อนแรก คือ รายได้จากการผลิตรายการ บริหารลิขสิทธิ์ และให้บริการช่องโทรทัศน์ คือ ช่องวัน 31 ในปี 2563 จะพบว่ามีรายได้ที่ถูกแบ่งออกมา ได้แก่ รายได้จากการบริการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ 2,430.82 ล้านบาท (ร้อยละ 69.5), รายได้จากการบริหารลิขสิทธิ์ 986.76 ล้านบาท (ร้อยละ 28.2), รายได้อื่นจากการให้บริการสถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 78.61 ล้านบาท (ร้อยละ 2.2) รวมในส่วนนี้คือ 3,496.19 ล้านบาท

ผู้ถือหุ้นใน ONEE

สำหรับผู้ถือหุ้นรายใหญ่หลังจากการเสนอขายเพิ่มทุนนั้น จะประกอบไปด้วย บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ร้อยละ 40 (952,500,000 หุ้น), บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ร้อยละ 25.02 (595,774,850 หุ้น), กลุ่มของคุณถกลเกียรติ วีรวรรณ ร้อยละ 13.49 (321,222,500 หุ้น), กลุ่มครอบครัวซอโสตถิกุล ร้อยละ 0.29 (7,000,000 หุ้น), คุณสุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว ร้อยละ 0.10 (2,500,000 หุ้น), ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง และประชาชนทั่วไปร้อยละ 20.84 (496,252,500 หุ้น)

เปิดรายได้ไตรมาส 1/2564 กำไรฟาดไป 192 ล้านบาท!

บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยรายได้ประจำงวด 1/2564 แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เพื่อประกอบการ IPO หุ้น ONEE ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยพบว่าช่องวัน 31 โกยรายได้ไปทั้งสิ้น 1,369 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 192 ล้านบาท

โดยรายได้ของช่องวัน 31 แบ่งเป็นรายได้จากการขายสินค้า จำนวน 41,367,000 บาท, รายได้จากบริการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ 758,476,000 บาท, รายได้รับจ้างผลิตและบริการ 74,102,000 บาท, รายได้จากการรับจัดคอนเสิร์ตและบริหารกิจกรรม 640,000 บาท, รายได้จากค่าเช่าเวลาออกอากาศ 22,747,000 บาท, รายได้ค่าบริหารศิลปิน 107,800,000 บาท, รายได้จากการผลิตรายการวิทยุ 41,641,000 บาท, รายได้ค่าบริการสตูดิโอ 6,018,000 บาท, รายได้บริหารงานและค่าที่ปรึกษา 15,000 บาท และรายได้ค่าลิขสิทธิ์ 289,676,000 บาท ทำให้รายได้จากการทำสัญญากับลูกค้าในงวดสามเดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 อยู่ที่ 1,342,482,000 บาท

เมื่อรวมกับรายได้อื่นๆ อีก 27,484,000 บาท จะทำให้รายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 1,369,966,000 บาท มากกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2563 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 800,217,000 บาท ในส่วนของค่าใช้จ่ายของช่องวันนั้นในไตรมาส 1/2564 มีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 1,088,341,000 บาท มากกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 637,829,000 บาท ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ 192,938,000 บาท มากกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 103,248,000 บาท

โครงการในอนาคตและสัญญา

สำหรับโครงการในอนาคต นอกจากการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการทุ่มพัฒนาคอนเทนต์แล้ว ยังมุ่งเน้นในการเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างบริการออนไลน์ในช่องทางของตนเองอีกด้วย โดยอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ รวมไปถึงการคิดค่ารับชมรายการในอนาคตอีกด้วย และยังพัฒนาสตูดิโออย่าง ACTS STUDIO ซึ่งยังมีเนื้อที่เหลืออีกจำนวนกว่า 30 ไร่ที่พัฒนาได้เลยทีเดียว

ในส่วนของสัญญาที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่ควรทราบก่อนการซื้อหุ้น ONEE ประกอบไปด้วยสัญญาจ้างผลิตรายการเพื่ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. (106.50 MHz) โดยสัญญาระบุเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 ธันวาคม 2564 เป็นการทำสัญญาระหว่าง GMM Media กับสำนักงาน กสทช., บันทึกข้อตกลงการจัดรายการระหว่าง A Time Media กับกองทัพบก โดยสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (94.0 MHz) มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 – 31 ธันวาคม 2565 นอกจากนี้ยังมีสัญญาอื่นๆ เช่น สัญญาการบริหารงานวิศวกรรมและงานธุรการของแกรมมี่, สัญญาในการให้บริการห้อง MCR และการควบคุมระบบออกอากาศระหว่างแซท เทรดดิ้ง และช่องวัน 31 (สัญญาฉบับละ 3 ปี), สัญญาในการให้สิทธิ์ฉายก่อน ระหว่าง GDH และช่องวัน 31, สัญญาในการถือครองผลงานของซิเนริโอกับช่องวัน 31, สัญญาการเช่าสำนักงานอาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลส และอาคารจีเอ็มเอ็ม สตูดิโอ, สัญญาตัวแทนการตลาดให้กับ GMM25 เป็นต้น

ใครได้ ใครเสียจากการนำ ONE เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

การนำ ONEE เข้า IPO จะส่งผลให้ผู้ถือหุ้นสามารถเลือกถือหุ้น ONEE หรือ GRAMMY ก็ได้ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าหุ้นของ GRAMMY ทางอ้อมจากการที่ราคาหุ้นของ ONEE สูงขึ้นตามตลาด และ ONEE จะได้ระดมเม็ดเงินเพื่อเพิ่มกำลังในการผลิตผลงาน ขยายธุรกิจ และสร้างกำไรต่อไปในอนาคตได้ นอกจากนี้จะยังสานต่อความเป็นพันธมิตรทางด้านสื่อและธุรกิจระหว่างกันได้มากขึ้นจากการใช้ทรัพยากรของแต่ละฝ่ายที่มีอยู่ และ ONEE จะนำเงินมาคืนในการค้ำประกันวงเงินกู้ยืมจากการซื้อหุ้น GMMCH กลับมายัง GRAMMY และส่งผลให้ปลดภาระการค้ำประกันได้ในที่สุดอีกด้วย

สำหรับรายละเอียดที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้มีเจตนาชี้ชวนให้ทำการซื้อขายหุ้นแต่อย่างใด และแน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนให้ละเอียด โดยท่านสามารถศึกษาข้อมูลได้ทาง https://www.theoneenterprise.com/

รวบรวมเนื้อหาจากส่องสื่อ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า