การแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ซึ่งถึงแม้บรรยากาศการเชียร์กีฬาในปีนี้ทั้งที่ขอบสนามหรือหน้าจอจะเงียบเหงาไปบ้าง เพราะการระบาดของโรคร้ายยังไม่จางไป แต่เสน่ห์ของกีฬาโอลิมปิกที่เรายังเห็นได้อย่างชัดแจ้งคือ ความพยายามของผู้แข่งขัน น้ำใจนักกีฬา และการต่อสู้เพื่อนำเกียรติยศอย่างเหรียญทองมาฝากเพื่อนพ้องในประเทศ
และเราเชื่ออีกเหมือนกันว่าการติดตามโอลิมปิกในปีนี้จะสนุกขึ้นมากทั้งบนหน้าจอทีวี เพราะ AIS Play ได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดกีฬาครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนี้ เราจึงได้ดูการถ่ายทอดสดทั้งการแข่งขันแมทช์สำคัญ รวมถึงกีฬาทางเลือกที่มีผู้ชมรอดูการแข่งขันจำนวนมากแบบจุใจถึง 16 ช่อง!

ที่สำคัญการชมกีฬาจะขาดอรรถรสไปมากโขถ้าไม่มีผู้บรรยายที่คอยบอกกล่าว ให้รายละเอียดเพื่อเพิ่มรสชาติในการชมกีฬา วันนี้ Modernist จึงนัดหมายหนึ่งในทีมพากย์ฯ อย่างเจ๋ง-ทรงศักดิ์ วรรณวิจิตร มาพูดคุยถึงเบื้องหลังงานพากย์ในครั้งนี้ รวมถึงการเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้บรรยายของมหกรรมกีฬาครั้งสำคัญ
และความพิเศษของอาชีพที่อยู่หลังไมค์ซึ่งเราเชื่อว่าคุณไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน
กีฬาเป็นแรงบันดาลใจให้คุณเลือกสายอาชีพที่ประกอบอยู่อย่างไรบ้าง
มันก็เป็นจังหวะที่เราเริ่มต้นจากการที่เรารักกีฬา อยากเป็นนักกีฬา อยากจะดูฟุตบอลตั้งแต่เราสมัยเด็กล่ะฮะ เด็กต่างจังหวัดชอบเตะบอลตามท้องทุ่งท้องนา ดูโอโซระ สึบาสะ (Captain Tsubasa) อิตโต้ (นักเตะเลือดกังฟู) พวกการ์ตูนดังๆ แล้วก็เข้าไปซื้อในตัวเมืองก็เริ่มต้นสนใจกีฬา ก็ตอนนั้นดูถ่ายทอดสดฟุตบอลไทย กีฬาฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ฟุตบอลโลก ก็ทำให้เราซึมซับมาตลอดเวลาที่เราดูฟุตบอล แล้วจุดเริ่มของการชอบนักกีฬาคือผมเป็นคนที่ชอบดูกีฬา ดูการ์ตูน ผมก็จะเอากระดาษมาวาดการ์ตูน ผมชอบวาดรูปการ์ตูนมาก แล้วก็วาดรูปโอโซระ สึบาสะ วาดรูปการ์ตูนของมิซากิ (Misaki Taro – Captain Tsubasa) วากาบายาชิ (Captain Tsubasa) แล้วหน้าหนังสือของเพื่อนทุกคนที่มีอยู่ในชั้นประถม จะโดนบรรเลงโดยลายมือของผมทุกคน เพราะผมจะแอบไปวาดก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักพากย์หรือว่านักพากย์กีฬา

เสน่ห์ของกีฬาอยู่ที่ตรงไหน
กีฬามันเหมือนกับสื่อบันเทิงอย่างหนึ่งนะ ที่สำคัญคือเรื่องของความสนุกสนานน่ะครับ แม้ว่าฟุตบอลจะมี 90 นาที แต่มันมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นมีความตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเราชอบเรื่องของกีฬา ก็ไม่รู้ว่าถ้าเราไม่ได้ทำงานกีฬา แล้วจะไปทำอะไรเหมือนกัน ด้วยความที่เราก็ไม่ได้มีวินัยอะไรมากมาย เราชอบทางนี้ที่ฉีกไปเป็นอิสระ เพราะกีฬามีความเป็นอิสระซึ่งเกี่ยวกับการทำงานของเราด้วย แต่มันก็มีวินัยด้วยนะในการทำงาน การเตรียมศึกษาข้อมูลก่อนที่จะเข้าไปพากย์ มันซึมซับมาเรื่อยๆ ก็เป็นนักข่าวมาก่อน แต่จริงๆ ใจเราขอแค่ได้เป็นนักข่าวกีฬาก็พอแล้ว ไม่ได้หวังสูงที่จะมาเป็นนักพากย์กีฬาหรือต้องออกจอ ออกทีวี ออกวิทยุ คือขอแค่ได้ไปทำข่าวในสนาม ขออยู่ในบรรยากาศได้ซึมซับความรู้สึกของการเป็นกีฬาก็พอแล้วครับ
การเป็นนักข่าวกีฬา กับนักพากย์กีฬา มีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
แตกต่างๆ นักข่าวเนี่ย คือเราต้องไปเจาะข่าวไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว ต้องเดินทางไปนั่นไปนี่แล้วต้องแข่งกับเวลาด้วย โดยเฉพาะมหกรรมกีฬาต่างๆ เช่นโอลิมปิก ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ แต่ซีเกมส์จะเหนื่อยหน่อยเพราะว่าเหรียญทองเขาชิงเยอะ ไปสนามนี้ ไปสนามนั้นมันก็สนุกอีกแบบนะแต่ก็เหนื่อย อันนั้นพอเราส่งข่าวมันก็จบ แต่ว่าการเป็นผู้บรรยายมันมีการเตรียมข้อมูลมาให้อยู่แล้ว เราแค่ต้องเตรียมตัว เหมือนผู้ประกาศนะครับที่เขาเตรียมอะไรมาให้หมดแล้ว เราแค่รับหน้าที่เป็นตัวแทนในการสื่อสารกับผู้ชมเท่านั้น มันต่างกันเยอะอยู่นะในเรื่องของรายละเอียด แต่จุดร่วมที่เหมือนกันก็คือการพยายามที่จะนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจให้กับคุณผู้ชมครับ
การเป็นนักพากย์ควรมีองค์ความรู้หรือความชำนาญในแง่มุมไหนบ้าง
ต้องพูดตามตรงนะครับว่านักพากย์กีฬาส่วนใหญ่ที่เข้ามาเขาต้องพากย์ฟุตบอลอยู่แล้ว ยิ่งเราเราตามตลอด ฟุตบอลต่างประเทศเราจะตามเยอะหน่อย ฟุตบอลไทยก็รู้บ้าง แต่ไม่ได้เจาะลึกหรือเก่งเหมือนคนอื่นเขา แต่ถ้าเป็นกีฬาประเภทอื่นอย่างวอลเลย์บอลเนี่ยพากย์ได้เพราะตามอยู่แล้ว วอลเลย์บอลหญิงไทย เซอร์เบีย จีน เราตาม แต่ถ้าเป็นกีฬาโอลิมปิกมันมีความหลากหลาย ถ้าเป็นกีฬาหลักที่ต้องใช้ทักษะ ความชำนาญ ใช้เทคนิคท่าต่างๆ ถ้าเราไปบรรยายแล้วไม่เตรียมข้อมูลมา มันเหมือนเราไม่ให้เกียรติคนดูนะครับ คือนักพากย์ทุกคนเนี่ยมีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากให้มีอรรถรสหรือความสนุกมากขึ้น มีความเข้าใจ บอกกติกาให้กับผู้ชมได้เนี่ยต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น ยิมนาสติกบางครั้งเราก็พากย์ได้ แต่ก็ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาบอกว่าท่านี้เป็นอย่างไร คิดคะแนนแบบไหน ทำไมถึงโดนตัดคะแนน ก็ต้องยกให้เขาในส่วนนั้นไป ในส่วนของเราก็จะคอยเสริมเขาไป คนนี้เป็นใครอายุเท่าไหร่ เป็นแชมป์หรือมีความเป็นมายังไง มันมีความหลายหลายแหละ ในความรู้สึกพี่มันบรรยายได้นะแต่ถ้าเป็นกีฬาที่มีเทคนิคเฉพาะเจาะจงเนี่ยต้องให้บรรดากูรูมาช่วยเติมให้มันแน่นขึ้นครับ


แล้วถ้าเป็นหน้างานที่ต้องพากย์กีฬาจริงๆ ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ถ้าเป็นสมัยก่อนต้องมีข้อมูลเป็นปึกเลยนะ ไม่ได้มีกูเกิ้ล โน้ตบุ๊ค ไอแพด หรือมือถือพร้อมเน็ตที่เสิร์ชได้ปุ๊บ รูดปั๊บรายชื่อมาสถิติมา สมัยนั้นกับสมัยนี้ต่างกันมากเวลาทำข่าว สมัยก่อนเขาจะจดบันทึกไว้เลย เวลาบรรยายหนาแบบนี้เลยครับผู้บรรยายสมัยก่อนเล่าให้ฟัง แต่ถ้าเป็นในยุคปัจจุบันมันง่าย เช่นถ้าเป็นกีฬาฟุตบอล เราพอจะรู้ตัวนักกีฬา รู้ข้อมูล รู้รายละเอียดทีมอยู่แล้ว อาจจะมีการทบทวนดูชื่อ ดูว่าใครติดโทษแบนไม่ได้ลงบ้าง สถิติที่ผ่านมาเป็นยังไง แต่ถ้าเป็นกีฬาที่มันยากต้องหากติกาเยอะเลยฮะ ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะหากติกาเตรียมข้อมูลนานหน่อย แต่ว่าพอเตรียมไปมันหาช่องลงไม่ได้ มันไม่ได้พูดแต่เราเตรียมไว้ก่อน ก็มีการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ หลังๆ เวลาจะพากย์ฟุตบอลก็จะเตรียมตัวบ้างทบทวนสถิติที่ผ่านมา เพราะเรามีอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว เราสามารถจะเสิร์ชข้อมูลเวลานั้นได้ แต่ไม่ใช่ว่าไปทำหน้างานนะ ต้องเตรียมไว้ก่อนเลย
สิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานหน้างานของนักพากย์คืออะไร
คือเรื่องของชื่อนะ ชื่อสำคัญมาก แล้วก็เรื่องของรายละเอียดคำพูดในคำบรรยาย อย่างเช่นบรรยายฟุตบอล เซนส์ของคนดูจะรู้เลยนะว่าคนนี้บรรยายมานานแค่ไหน เช่นคำพูดแบบ “เปิดโค้งมา” บางครั้งคนที่เพิ่งเริ่มมาบรรยายหรือคนที่ไม่เคยบรรยายจะทำให้คนดูรู้สึกทันทีว่า “เอ๊ะ นี่ไม่ใช่ศัพท์ของคนในวงการนั้นๆ” อย่างเช่นวอลเลย์บอลมันจะมีลู่ไหลหลัง หรือเจ้าแม่ไหลหลัง คือเขาจะมีคำศัพท์ของเขาเช่น ขุด ก็คือการกระดกบอลขึ้นมา มันจะมีความรู้สึกของศัพท์ที่ต่างกัน ซึ่งอันนี้เราต้องเตรียมข้อมูลมา ชื่อเนี่ยสำคัญมากบางครั้งถ้าเราพูดชื่อผิดไปหนึ่งคนแล้วเป็นชื่อที่ดังเนี่ย คนทั้งประเทศเขารู้นะ หลายคนเขาก็เก่งกว่าเรา เราก็ต้องรู้อันนี้น่าจะต้องออกเสียงแบบนี้นะ ตัวนี้ตัวดังนะ ถ้าเราออกเสียงผิดไปคนทั้งประเทศจะว่าเราได้
รวมถึงเรื่องของข้อมูลเรื่องของชื่อเนี่ยพี่ว่าสำคัญ เรื่องของสถิติ การเข้ารอบต่อไปจะเป็นยังไงบ้าง การเตรียมข้อมูลในลำดับถัดไปหรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่มันจะเกิดขึ้นในเวลานั้น อย่างเช่น สมมติเราบรรยายฟุตบอลอยู่แล้วภาพตัดไปที่คนใหญ่คนโตของวงการฟุตบอล แล้วเราค้างเพราะเราไม่ได้เตรียมข้อมูลมา คนนั้นอาจจะเป็นเจ้าชายเป็นผู้บริหารของสมาคม เป็นอดีตนักเตะ ถ้าเรารู้ทันทีโดยไม่ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเนี่ย ผมว่าอันนี้เป็นอะไรที่เพอร์เฟค ตัวเราดีด้วยคนดูก็ดีด้วย ผู้ชมก็จะคิดว่า “ผู้บรรยายคนนี้มีความรู้ ความสามารถนะ”

แล้วนักพากย์สำคัญกับการชมกีฬาอย่างไร
มันเหมือนเวลาเราทานอาหารไม่ได้ใส่เครื่องปรุง ไม่มีน้ำปลา พริก ไม่ได้ใส่รสชาติที่เราชอบมันก็คงแปลกและจืดชืด ก็คือมันดูได้แหละนะ สมมติว่าเราดูบรรยากาศแล้วไม่มีเสียงคนพากย์ มันรู้สึกแปลกมั้ย มีแต่เสียงบรรยายเสียงภาษาอังกฤษที่บางครั้งเราก็ฟังได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วมีเรื่องของศัพท์เข้ามา แต่ถ้าเรื่องของความถูกปาก ก็จะเหมือนอาหารไทยที่เพิ่มเครื่องปรุง เหมือนกินกะเพราไก่แล้วไม่ได้ใส่พริกน้ำปลา มันก็จะรู้สึกแปลกๆ นะ มันไม่อร่อย ถ้าเราชมแล้วมีการบรรยายไทย สนุก เข้มข้น มันน่าติดตามนะ เหมือนความสนุกสนานอย่างหนึ่งในเวลา 1-2 ชั่วโมงหลังจากนี้ไป ผมว่าสำคัญนะในเรื่องของการเป็นผู้บรรยายสำหรับเวลานี้ ผมเชื่อแบบนั้น
เมื่อคุณได้ขึ้นมาพากย์กีฬาที่ออกอากาศสดบน AIS Play การพากย์ครั้งนี้มีความแตกต่างจากการพากย์กีฬาบนโทรทัศน์มากน้อยเพียงใด
งานมันหนักขึ้นนะ มันต้องหาข้อมูลหาหลายอย่าง สมมติมีอัพเดทมาว่ามีกีฬาชนิดนี้กำลังจะต้องบรรยายกัน ก็มีการเตรียมข้อมูลเตรียมนักพากย์เยอะเหมือนกันนะ คือถ้าเป็นฟรีทีวีก็จะมีพากย์บ้างประปราย แต่ AIS Play เขาถ่ายทอดสดทุกกีฬาไงครับ มันต้องเตรียมข้อมูลเยอะ เตรียมนักพากย์ไว้เยอะมาก แล้วสิ่งสำคัญคือต้องตื่นตัวอยู่เสมอ เพราะว่าในบางครั้งหากมีจังหวะสำคัญของอาจจะไม่ใช่ของคนไทย อาจจะเป็นนักกีฬาระดับโลกที่แพ้ห รือนักกีฬาหน้าใหม่จากฟิลิปปินส์ที่ได้ยกน้ำหนักเหรียญทอง บางครั้งหน้างานเราต้องรู้เลยว่าอันนี้สำคัญมากนะ มันต้องปัจจุบันทันด่วน คือมันต้อง 5G น่ะ (หัวเราะ) ต้องเร็วหน่อย
อย่างเช่นมีข่าวใหม่มาว่านักยกน้ำหนักจากฟิลิปปินส์ได้เหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศเขา เขาไม่เคยได้เหรียญทองเลย เราก็ต้องพยายามบอกทีมงานบอกทีมพากย์ว่า มันมีภาพมั้ยจะได้ตัดมาให้เราบรรยายได้ คือเหมือนทำงานนาทีต่อนาทีนะฮะ ก็อาจจะดูฉุกละหุกนิดหนึ่ง แต่ผมว่าสนุกนะ เหมือนเราแข่งกับตัวเองด้วยเหมือนกีฬาวิ่ง ได้วิ่งกับตัวเองด้วย ได้แข่งกับตัวเองด้วย

ในทรรศนะของนักพากย์กีฬา คุณคิดว่าทำไมคนไทยต้องดูกีฬาโอลิมปิก
โอ้โห เป็นมหกรรมกีฬาที่ผ่านอุปสรรคนานัปการกว่าจะจัดการแข่งขันได้ ถ้าไม่นับสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1940 จริงๆ ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพนะครับ และนี่เป็นครั้งแรกนะครับที่โอลิมปิกเกมส์ที่ญี่ปุ่นเลื่อนการแข่งขัน ซึ่งเหตุผลสำคัญก็คือ ผมว่านอกเหนือจากระยะเวลาที่จะมี 4 ปีครั้ง ในตอนนี้คือ 5 ปีครั้ง เหตุผลสำคัญคือ นอกจากจะเป็นมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติแล้ว สิ่งหนึ่งก็คือเราต้องการดูเพื่อที่จะให้ญี่ปุ่นเป็นตัวแทนของประชาคมโลกเพื่อสื่อสารว่า แม้ว่าเราจะเจอกับสถานการณ์ของโควิด-19 ก็ตาม แต่เราพยายามที่จะสู้กับมัน เราพยายามที่จะยืนหยัด เราจะฝ่าฟันไปด้วยกัน เหมือนกับเป็นการสื่อว่าเราจะไม่ยอมแพ้นะ สักวันเราจะเอาชนะโรคนี้ได้ สักวันเราจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ เหมือนกับนักกีฬาที่หลบอยู่ในซอกหลืบอยู่ในช่วงที่โควิดระบาด แต่ในระหว่างที่เราหลบอยู่ นักกีฬาเขาฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อรอวันที่จะประกาศให้ชาวโลกได้รู้ว่า ต่อให้ต้องเจอกับสภาวะโควิด-19 แต่พวกเราก็ยังเดินหน้าและสู้เพื่อใช้ชีวิตตามปกติ
ถ้าใครได้ชมพิธีเปิดน่ะครับ เขาจะสื่อสารเลยว่า แม้จะเจอสถานการณ์โควิด แต่ว่านักกีฬายังมีการวิ่ง มีการฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา นี่คือจุดสำคัญที่เป็นตัวประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์หนักแค่ไหน ถ้าหากว่าเรามีกำลังใจที่ดี เรามองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ข้างหน้า เราก็อย่ายอมแพ้นะแม้ว่ามันจะอีกนานแค่ไหนก็ตามกว่าโรคนี้จะหมดไป ผมว่านี่คือการสื่อให้ทุกคนได้รู้ว่าเรา Never Give Up

อยากให้เล่าความรู้สึก ณ โมเมนต์ที่น้องเทนนิส (พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ) ได้เหรียญทอง
วันนั้นผมอยู่ห้องพากย์ที่ AIS Play เพราะผมพากย์ตั้งแต่ช่วงแรก เพราะว่าถ้าเทนนิสเข้าถึงรอบชิงฯ เขาก็จะแข่งประมาณทุ่มครึ่ง แต่ผมเข้าพากย์ตั้งแต่ 8 โมงตั้งแต่น้องเทนนิสเริ่มแข่ง เช้าเขาก็รันไปเรื่อยตั้งแต่รอบแรก รอบสอง รอบสามก็ว่ากันไป ผมอยู่กับน้องเล็ก (ชนาธิป ซ้อนขำ-นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยเหรียญทองแดงรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม ในโอลิมปิก 2012 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร) นี่ขนาดเราเป็นนักพากย์นะ พยายามที่จะเป็นกลางแล้วแต่มันก็ไม่ไหวนะ ก็เชียร์นะครับ ลุ้นไปกับคนไทย
ในช่วงที่น้องเทนนิสชิงเหรียญทองพอดี ผมสลับกับทีมพากย์อีกชุดหนึ่ง แล้วผมก็ดูอยู่บนจอทีวี เชื่อรึเปล่าว่าตอนที่เราพลิกกลับมาชนะ ตอนแรก 9 ต่อ 10 เราตามหลังอยู่ แล้วมาได้ในช่วงระยะเวลาสิบวินาที เราแซงเป็น 11 ต่อ 10 เหลือเวลาห้าวินาทีนะ ผมเนี่ยกระโดดเสียงดังเลย กระโดดแบบดีใจกันมาก แล้วน้องเล็กที่บรรยายด้วยเสียงหลงเลย ได้เหรียญทอง ตอนนั้นน้องตะโกนแบบหลุดไปแล้ว ไม่สามารถที่จะคุมสติของตัวเองได้แล้ว เล็กก็บอกว่า “โหพี่ จังหวะนี้ไม่ไหวแล้วพี่ มันครั้งหนึ่งในชีวิตเรานะ” โมเมนต์นั้นผมว่าเป็นช็อตที่เกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย ผมไม่รู้ว่ากี่ริกเตอร์นะเพราะว่ากระโดดกันทั้งประเทศแน่นอนจังหวะนั้น ผมคิดอย่างนั้นนะ (หัวเราะ)

AIS Play จะเข้ามาตอบโจทย์ผู้ชมกีฬาออนไลน์ยังไงบ้าง
ผมว่าตอบโจทย์ได้เยอะเลยนะ อย่างที่ได้เล่าให้ฟังว่าบางครั้งคุณอาจอยากจะดูช็อตของน้องเทนนิสที่กำลังดีใจ กำลังลุ้นเหรียญทอง แต่เราไม่สามารถที่จะดูโมเมนต์นั้นได้ เราดูที่ไหนก็ได้นะครับ ขับรถอยู่ก็สามารถที่จะเปิดจอดูได้เลย แต่อาจจะให้คนอื่นขับเนอะ เดี๋ยวตำรวจจับ (หัวเราะ) ดูบนทีวีก็ได้ ดูที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ เราไม่ต้องห่วงว่าจะพลาดโมเมนต์สำคัญแบบนี้รึเปล่า คิดว่าสำคัญนะ แล้วก็เรื่องของกีฬาที่เราคาดไม่ได้ว่าจะได้ดูรึเปล่า AIS Play เขามีให้ดูนะ สเก็ตบอร์ดมีให้ดูนะครับ หรือแม้กระทั่งกีฬาใหม่ ปีนหน้าผา บางครั้งหลายๆ คนที่เป็นคนชอบนักกีฬาปีนหน้าผา พวกเอ็กซ์ตรีมไม่ต้องห่วง มีให้ดูแน่นอนกันแน่นอน ผมว่ามันสามารถที่จะตอบโจทย์ได้ทุกกลุ่ม ทุกวัย แล้วก็ทุกชนิดกีฬาด้วยครับ
เพราะปีนี้ AIS Play จัดเต็มในการถ่ายทอดสดโอลิมปิก 2020 มาก สำหรับในสายตาของนักพากย์แล้ว การมี AIS Play จะยกระดับอุตสาหกรรมกีฬายังไงบ้าง
เรื่องของความเร็วอินเทอร์เน็ตกับการทำให้ได้ดูกีฬามันเป็นสิ่งที่ขนานกัน แล้วอินเทอร์เน็ตกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ผมว่าหลังจากนี้ไปการชมกีฬามันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในทิศทางที่เราสามารถจะดูที่ไหนก็ได้ เราจะไม่พลาดแม้กระทั่งวินาทีเดียว โมเมนต์เดียวนะครับ เราอาจจะพลาดในช่วงที่เราทำงาน แต่เราสามารถที่จะมาดูย้อนหลังได้ นี่คือวิวัฒนาการของเทคโนโลยีนะ แล้วก็มันทำให้เราไม่ต้องกังวลว่าเราจะได้ดูแมทช์นี้รึเปล่า จะพลาดแมทช์นี้มั้ย กีฬาไหนที่เราจะพลาดบ้าง ไม่ต้องห่วงนะครับ AIS Play มี 16 ช่องที่จะให้ดู สลับสับเปลี่ยน หมุนเวียนกัน บรรยายไทยบ้าง บรรยายภาษาอังกฤษบ้าง ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลนะครับ คุณจะได้ดูกีฬาที่คุณชอบอย่างแน่นอน
Modernist The Five
5 โมเมนต์ที่น่าจดจำในโอลิมปิก 2020
จากเจ๋ง-ทรงศักดิ์ วรรณวิจิตร
1
Pictogram ซ่าท้ากึ๋น


จำ Pictogram ได้มั้ย นักแสดงที่ออกมาวิ่งๆ 3 คน เราดูแล้วก็ เออ ทำได้ไง คิดได้ไง เขาทำสัญลักษณ์ของกีฬาชนิดนั้นๆ ในไม่กี่วินาที แล้วทำให้เรารู้ว่าญี่ปุ่นเนี่ยยังล้ำเทคโนโลยีอยู่นะ
2
นักกีฬาผู้ลี้ภัยก็คือนักกีฬาที่ทรงคุณค่า

โมเมนต์ที่นักกีฬาผู้ลี้ภัย ที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลและ IOC เขาให้มาร่วมงานด้วย ทำให้เราเห็นว่าถึงแม้เขาจะไม่ได้อยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดของเขา เขาก็พยายามที่จะต่อสู้มันสื่อให้เห็นถึงการต่อสู้นะ ทุกคนพยายามให้โลกได้รับรู้ว่าฉันมีตัวตนนะ เขาพยายามที่จะต่อสู้และเป็นนักกีฬาที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ว่าอย่ายอมแพ้ถึงแม้คุณจะไม่ได้อยู่ในจุดที่คุณอยากอยู่ก็ตาม
3
ธงไทยโบกสะบัดในดินแดนอาทิตย์อุทัย


ไม่รู้ว่าเป็นความรู้สึกรึเปล่า แต่เวลาเห็นธงไตรรงค์ของเราสะบัดอยู่ในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์ มันเป็นความรู้สึกที่เหมือนเขาเป็นตัวแทนของเรา เป็นความรู้สึกอยากร้องไห้ ขนลุกเหมือนกันนะ ปลาบปลื้มมากนะกับการได้เห็นคนไทยไปอยู่ตรงนั้น
4
การจุดคบเพลิงน้อยแต่มาก เรียบแต่โก้


นักกีฬาวิ่งคบเพลิงไม้สุดท้ายคือนาโอมิ โอซากะ (นักกีฬาเทนนิสชาวญี่ปุ่น แชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่น 2 สมัยซ้อน) ที่จุดไฟในกระถางคบเพลิง ทุกคนลุ้นกันนะว่าในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ วิธีการจุดไฟบนกระถางคบเพลิงจะเป็นอย่างไร ปรากฎว่าเรียบง่ายสไตล์ญี่ปุ่น แต่แฝงไปด้วยความอลังการงานสร้าง เขาใช้โดรนหลายชิ้นมากที่ทำเป็นรูปแผนที่โลกวงกลม แล้วจังหวะที่นาโอมิเดินเข้าไปบนกระถางคบเพลิงแล้วก็จุดไฟง่ายๆ ด้านหลังเป็นภูเขาไฟฟูจิ ก็เรียบแต่หรู แกรนด์ ความรู้สึกคือแกรนด์เลยฮะด้านหลังมีไฟ ทำให้เรารู้ว่าญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่นอะเนอะ ทำอะไรแบบเรียบง่ายไม่ต้องทำอะไรแบบอลังการงานสร้างที่มันจะเผาผลาญงบประมาณของประชาชน
5
เหรียญทองแรกของไทยในโอลิมปิก 2020


ส่วนช็อตที่ห้าเป็นช็อตของน้องเทนนิสนะ ที่พลิกกลับมาชนะ 11 ต่อ 10 ในช่วงเวลาไม่กี่วินาทีแล้วได้เหรียญทองแรก ช็อตที่เจ้าตัวดีใจปั๊บแล้ววิ่งมากระโดดใส่โค้ชชเว (ชเว ย็อง-ซ็อก โค้ชนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย) โหเป็นภาพที่เราเหมือนเจอลูกหลาน พ่อแม่หลังจากไม่ได้เจอกันนานเลย วิ่งมาโผกอด เป็นโมเมนต์ที่บีบหัวใจมากจังหวะนั้น
สัมภาษณ์วันที่ 27 กรกฎาคม 2564