fbpx

Ole Gunnar Solskjaer: ภารกิจสร้างแมนฯ ยูไนเต็ดขึ้นใหม่จากซากปรักหักพัง

ภายใต้สีหน้าเปื้อนรอยยิ้มที่คุ้นตา สลับกับสีหน้าแน่นิ่ง ไม่บ่อยนักที่แสดงอารมณ์เดือดดาล ไม่ว่าจะตอนให้สัมภาษณ์ก่อนแข่ง หรือแม้แต่ตอนที่อยู่ข้างสนามในขณะที่ลูกทีมกำลังทำผลงานไม่ดีนัก คือใบหน้าที่สร้างคำถามในใจบรรดาแฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทั่วโลกว่า กุนซือคนนี้ คือคนที่ใช่สำหรับสโมสรนี้จริง ๆ หรือ? 

ถ้าหากว่าไม่มีเกราะกำบังว่าเขาเป็นตำนานของสโมสรในฐานะนักเตะผู้ที่ยิงประตูประวัติศาสตร์ให้สโมสรคว้า ‘ทริปเปิ้ลแชมป์’ ในค่ำคืนปาฏิหาริย์ที่บาร์เซโลน่าในปี 1999 ได้

เขาจะดีพอกับตำแหน่งกุนซือของสโมสรแห่งนี้หรือไม่? 

นักเตะไร้ชื่อที่ไกด์ทัวร์สนามยื่นปากกาให้เซ็นสัญญา

โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ไม่ใช่นักเตะที่สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องการในตอนแรก ทุกอย่างเกิดขึ้นคล้ายโชคชะตานำพา มันไม่ใช่ว่าโซลชาโชว์ผลงานกับสโมสรมีชื่อในยุโรปที่ไหน ไม่มีการแก่งแย่งจากสโมสรชื่อดังในยุโรปเพื่อแย่งลายเซ็นของเขาไปรวมทีม เอาเข้าจริงในตอนนั้นโซลชาไม่ได้มีชื่อเสียงในวงการลูกหนังยุโรปเท่าไหร่นัก นอกจากในประเทศนอร์เวย์ บ้านเกิดของตนเองเท่านั้น

เส้นทางที่ดูเหมือนไม่มีทางบรรจบกันได้ของนักเตะโนเนมคนหนึ่ง กับสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด มันเริ่มในช่วงซัมเมอร์ปี 1996 ในเวลานั้น อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กุนซือทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ต้องการหาดาวยิงคนใหม่มาประสานงานกับ เอริค คันโตน่า และ แอนดี้ โคล เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการป้องกันแชมป์พรีเมียร์ลีก โดยเป้าหมายของเฟอร์กูสัน คือดาวยิงทีมชาติอังกฤษเจ้าของฉายา ‘ฮ็อตช็อต’ อย่าง อลัน เชียเรอร์ ที่ตอนนั้นอยู่กับสโมสรแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส 

การเจรจากับเชียเรอร์เป็นไปด้วยดี และแมนฯ ยูไนเต็ด กำลังจะปิดดีลสุดยิ่งใหญ่นี้ได้ แต่แล้วอลัน เชียเรอร์ ดันเปลี่ยนใจกระทันหัน และย้ายไปทีมรักเก่าที่บ้านเกิดอย่างสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ดแทนในช่วงโค้งสุดท้าย เหตุการณ์นั้นทำให้แมนฯ ยูไนเต็ดต้องหาดาวยิงคนอื่นมาทดแทน ไม่ต้องมีชื่อเสียงระดับเชียเรอร์ก็ได้ แค่เป็นตัวเลือกสำรองที่มีฝีเท้าที่เข้าตาก็พอ

จนกระทั่งทีมแมวมองของสโมสรไปเจอนักเตะหนุ่มจาก โมลด์ สโมสรในลีกนอร์เวย์ ที่ชื่อโอเล่ กุนนาร์ โซลชา จริง ๆ ตอนนั้นทีมยักษ์ใหญ่ในยุโรปอย่างบาเยิร์น มิวนิก, ลิเวอร์พูล ก็แอบดูฟอร์มโซลชาอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไร้แอ็คชั่นใด ๆ ในการดึงตัวไปร่วมทีม เพราะแม้ว่าความสามารถการเป็นกองหน้าของโซลชาจะน่าสนใจ แต่ก็คิดว่านักเตะคนนี้ไม่น่าจะแข็งแกร่งพอกับการเล่นในลีกระดับท็อปของยุโรปได้ไหว 

จนกระทั่งวันที่ 2 มิถุนายน 1996 แมทช์การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่าง นอร์เวย์ กับ อาเซอร์ไบจาน ก็ทำให้ทีมแมวมองของแมนฯ ยูไนเต็ดมั่นใจ เพราะแมทช์นั้นนอร์เวย์ชนะขาดลอย 5-0 โซลชาเหมาคนเดียว 2 ประตูและโชว์ฟอร์มโดดเด่นที่สุดในเกม ทีมแมวมองจึงตัดสินใจได้ทันทีว่านี่คือกองหน้าฝีเท้าไม่ธรรมดา สามารถเอามาพัฒนาต่อได้อีกสบาย ๆ หลังจากนั้นแมนฯ ยูไนเต็ดจึงเริ่มเดินเครื่องเพื่อดึงโซลชามาร่วมทีม โดยตกลงค่าตัวกันได้ที่ราคา 1.5 ล้านปอนด์ 

หากเป็นนักเตะที่มีชื่อเสียง การมาถึงสโมสรในวันแรก จะต้องเป็นวันที่ทั้งบุคลากรระดับสูงในสโมสรและสื่อจะต้องจับตามอง สโมสรจะคอยบริการเอาอกเอาใจอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความประทับใจ ตั้งแต่ไปรับที่สนามบิน มีรถรับส่งอย่างดี เมื่อถึงสนามของสโมสรก็จะมีเจ้าหน้าที่พาเดินชมสนามเยี่ยงแขก VIP ห้อมล้อมด้วยบรรดาสื่อยักษ์ใหญ่พากันถ่ายรูปเพื่อทำข่าวดัง 

แต่ทั้งหมดนี้ไม่เกิดขึ้นกับนักเตะโนเนมจากลีกนอร์เวย์อย่างโซลชา ในวันที่เขามาถึงเมืองแมนเชสเตอร์ ไม่มีใครไปรับที่สนามบิน ไม่มีรถคันใดไปส่งที่สนาม โซลชาต้องนั่งแท็กซี่จากสนามบินไปที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด (สนามแข่งของสโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด) ด้วยตนเอง แถมพอไปถึงก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนรู้จักเขา ไกด์ที่กำลังพานักท่องเที่ยวเดินทัวร์สนามก็คิดว่าโซลชาเป็นเพียงนักท่องเที่ยวคนหนึ่ง และพาเขาไปร่วมกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วย โซลชาก็ได้แต่เดินตามน้ำไป

จนสุดท้าย ไกด์คนนั้นก็ถามโซลชาว่า ‘คุณมาทำอะไรที่นี่’ โซลชาตอบไปว่า ‘ผมจะมาเซ็นสัญญากับแมนฯ ยูไนเต็ดน่ะสิ’ ไกด์คนนั้นหัวเราะลั่น พร้อมกับยื่นปากกาธรรมดา ๆ อันหนึ่งให้ และบอกให้เอาปากกานี้ไปเซ็นสัญญา ซึ่งโซลชาก็เอาปากกาด้ามนั้นเซ็นสัญญาฉบับแรกของเขากับแมนฯ ยูไนเต็ดจริง ๆ เสียด้วย

Manchester United’s Norwegian manager Ole Gunnar Solskjaer gestures at the end of the UEFA Champions League Group F football match between Young Boys and Manchester United at Wankdorf stadium in Bern, on September 14, 2021. (Photo by Fabrice COFFRINI / AFP)

ตำนานซูเปอร์ซับ (อย่างไม่เต็มใจ) 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแฟนบอลปีศาจแดงส่วนใหญ่ จะจดจำโซลชาในฐานะนักเตะซูเปอร์ซับในตำนานของสโมสร ที่มักจะถูกส่งลงมาเพื่อเปลี่ยนเกมในสถานการณ์ที่กำลังลำบาก และโซลชาก็มักจะทำประตูโกงความตายได้อยู่ร่ำไปในช่วงเวลาท้าย ๆ ของเกมการแข่งขัน ทั้งที่เอาเข้าจริงมีสถิติระบุไว้ชัดเจนว่าจำนวนนัดทั้งหมดที่โซลชาลงเล่นนั้น เขาถูกส่งเป็นตัวจริงมากกว่าตัวสำรอง เพียงแต่นัดสำคัญ ๆ ที่เจอทีมใหญ่หรือนัดชิงแชมป์ โซลชามักจะถูกลดบทบาทให้เป็นตัวสำรองเปลี่ยนเกมมากกว่า และด้วยภาพจำว่าเขามักทำประตูช่วยทีมโกงความตายได้เสมอในบทบาทตัวสำรองที่ถูกส่งลงมาในช่วงท้ายเกมสำคัญ ทำให้แฟนบอลจดจำโซลชาไปแบบนั้น และคงไม่มีแมทช์ใดที่จะเป็นตัวอย่างบทบาทในฐานะซูเปอร์ซับตลอดกาลของสโมสรได้เท่ากับนัดชิงชนะเลิศในรายการยูฟ่า แชมป์เปี้ยนลีกในปี 1999 ในการเกมแข่งขันระหว่างแมนฯ ยูไนเต็ด กับ บาเยิร์น มิวนิก ได้อีกแล้ว 

ในฤดูกาลนั้นแมนฯ ยูไนเต็ด กำลังเดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ในฐานะสโมสรแรกจากประเทศอังกฤษที่กำลังจะคว้าทริปเปิ้ลแชมป์ได้สำเร็จเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ คำว่า ‘ทริปเปิ้ลแชมป์’ จะต้องประกอบด้วย แชมป์ลีกสูงสุดในประเทศ (แชมป์พรีเมียร์ลีก) แชมป์บอลถ้วยใหญ่ในประเทศ (แชมป์เอฟ เอ คัพ) และแชมป์ยุโรปถ้วยใหญ่ (แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก) สามแชมป์นี้เท่านั้น โดยสองแชมป์แรกอย่างพรีเมียร์ลีกและเอฟเอ คัพ แมนฯ ยูไนเต็ดได้มาแล้ว เหลือแค่แชมป์ยุโรปเท่านั้นที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ใหม่ได้เกิดขึ้น 

แต่เกมวันนั้นไม่มีอะไรเป็นใจให้ทีมแมนฯ ยูไนเต็ดเลยแม้แต่น้อย ทีมเสียประตูจากลูกฟรีคิกของ มาริโอ บาสเลอร์ ตั้งแต่นาทีที่ 6 และจวนเจียนจะเสียประตูเพิ่มอีกหลายครั้งหลายครา โชคยังดีที่มีทั้งเสาและคานประตูช่วยไม่ให้เสียประตูเพิ่ม เรียกได้ว่าบาเยิร์น มิวนิก คุมเกมนั้นได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนแมนฯ ยูไนเต็ดไม่เห็นทางที่จะชนะได้เลย เวลาล่วงเลยไปจนกระทั่งนาทีที่ 81 โซลชาได้ถูกเปลี่ยนลงสนามแทนแอนดี้ โคล 

ขณะที่เกมใกล้จะจบลงทุกนาที แม้ยูไนเต็ดจะทำได้ดีขึ้นและมีจังหวะยิงประตูได้บ้าง แต่ก็ไม่ดีพอให้เป็นประตูตีเสมอได้ จนกระทั่งเข้าช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ในนาทีที่ 90+1 เดวิด แบ็คแฮม ได้เปิดลูกเตะมุมเข้ามาลุ้นในกรอบเขตโทษ บอลเลยไปถึง ดไวท์ ยอร์ก ที่โหม่งบอลชงกลับเข้าเขตโทษ แต่โดนนักเตะบาเยิร์นเตะออกมา บอลดันไปถึง ไรอัน กิ๊กส์ ที่ยืนประจำการอยู่หน้ากรอบเขตโทษ เขาใช้วิธียิงเร็วทันที บอลพุ่งไปถึง เท็ดดี้ เชอริงแฮม ที่ยืนอยู่หน้าประตู เขาตวัดเท้ายิงตามน้ำเข้าประตูไปเลย! 

จากที่เกมกำลังจะจบและแมนฯ ยูไนเต็ดจะแพ้อยู่แล้ว จังหวะตีเสมอนี้เองปลุกให้ผีแดงฟื้นจากหลุม โมเมนตัมของเกมเปลี่ยนไปแล้ว ขวัญกำลังใจในตอนนี้เหวี่ยงกลับไปที่แมนฯ ยูไนเต็ดทั้งหมด ตรงข้ามกับนักเตะบาเยิร์น มิวนิก ที่กำลังเสียขวัญ และนาทีที่ 90+3 โซลชาที่กำลังครองบอลอยู่ริมเส้นก็เตะบอลอัดกองหลังบาเยิร์น มิวนิกออกเส้นหลัง ทำให้ทีมได้ลุ้นประตูจากลูกเตะมุมอีกรอบ 

เดวิด แบ็คแฮมประจำการเปิดลูกเตะมุมเหมือนเดิม เขาเปิดบอลโค้งเข้ากรอบเขตโทษมาถึงเท็ดดี้ เชอริงแฮมที่กระโดดโหม่งสะบัดบอลมาทางเสาสองโดยมีโซลชายืนอยู่ตรงนั้นพอดี ภายในเสี้ยววินาทีนั้นเอง โซลชาใช้สัญชาตญาณดีดบอลด้วยเท้าขวา บอลพุ่งเข้าประตูไปทันทีชนิดที่ช็อกคนทั้งโลก แมนฯ ยูไนเต็ดพลิกนำ 2-1 เสียงจากสนามคัมป์ นู ที่จุแฟนบอลกว่า 9 หมื่นคนดังสนั่น เช่นเดียวกับเสียงตะโกนอย่างบ้าคลั่งจากแฟนผีแดงทั่วโลกที่ดูอยู่ ประตูชัยนั้นส่งผลให้เกิดค่ำคืนโกงความตายปาฏิหาริย์ที่แมนฯ ยูไนเต็ดสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้จารึกไว้ในโลกฟุตบอล

Manchester United’s Norwegian manager Ole Gunnar Solskjaer gestures at the end of the UEFA Champions League Group F football match between Young Boys and Manchester United at Wankdorf stadium in Bern, on September 14, 2021. (Photo by Fabrice COFFRINI / AFP)

นำมาซึ่งคำถามในภายหลังว่าอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน พูดอะไรกับโซลชาก่อนลงสนามหรือ? เขาถึงทำประตูประวัติศาสตร์นี้ได้ คำตอบคือเฟอร์กูสันไม่พูดอะไรกับโซลชาเลย ตรงข้ามกับตอนที่เชอริงแฮมกำลังถูกเปลี่ยนลงสนาม เฟอร์กูสันกลับติวเข้มเชอริงแฮมนานหลายนาที ซึ่งนั่นแหละที่ทำให้โซลชาหงุดหงิดมากที่ดูเหมือนว่าเฟอร์กูสันจะฝากความหวังไว้ที่เชอริงแฮมอย่างเดียวโดยไม่สนใจเขาเลย ทั้งที่เขายิงประตูได้ตลอดในช่วงที่ผ่านมา แต่เขาเลือกจะนำความโกรธไประบายกับการยิงประตูในสนามแทน เพื่อพิสูจน์ให้เจ้านายได้รู้ว่าคิดผิดที่ไม่ส่งเขาลงสนามตั้งแต่แรก 

ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้แฟนบอลจดจำโซลชาในฐานะซูเปอร์ซับในตำนานของทีม แม้ว่าเขาจะไม่ชอบเท่าไหร่ก็ตาม แต่ไป ๆ มา ๆ โซลชาก็ลงสนามให้ทีมไป 366 นัด ยิงไป 126 ประตูทุกรายการที่ลงเล่น อยู่กับทีมยาว 11 ปีจนแขวนสตั๊ด โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดของนักเตะผู้นี้คือโซลชาเป็นผู้ที่มีความอดทนสูงมาก เขาไม่เคยบ่น ไม่เคยงอแงว่าทำไมถึงไม่ได้ลงตัวจริงทั้งที่เขาดีพอ ถึงเวลาที่สโมสรยื่นสัญญาฉบับใหม่มา เขาก็เซ็นทันทีแบบไม่อิดออด และยังก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ด้วยความเป็นมืออาชีพต่อไป เพื่อเจ้านาย เพื่อสโมสรแห่งนี้ 

เพราะไม่ว่าแฟนบอลจะจดจำเขาแบบไหน จะตัวจริงหรือตัวสำรองเปลี่ยนเกม สิ่งที่โซลชาทำไว้ ทุกอย่างที่ทุ่มเทให้กับสโมสร และประตูชัยที่สร้างประวัติศาสตร์ของเขา ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์สโมสรและเข้าไปอยู่ในใจแฟนบอลเรียบร้อยแล้ว

กลับสู่สโมสรกับภารกิจสร้างใหม่จากซากปรักหักพัง

ในฤดูกาล 2018 – 2019 แมนฯ ยูไนเต็ดภายใต้การคุมทีมของ โชเซ่ มูรินโญ่ กำลังตกต่ำเข้าขั้นวิกฤติ ไม่ใช่แค่ผลงานในสนามนั้นย่ำแย่จนหมดลุ้นแชมป์ลีกตั้งแต่ครึ่งฤดูกาล แต่ปัญหาภายในสโมสรนั้นหนักกว่า เพราะมันเต็มไปด้วยบรรยากาศที่มืดหม่นและอึมครึมอย่างมาก จากปัญหาการทะเลาะกันระหว่างมูรินโญ่และบอร์ดบริหารในเรื่องการเสริมทัพของทีม ซ้ำยังมีปัญหากับนักเตะตัวหลักในทีมอย่าง พอล ป็อกบา จนเหมือนว่ามูรินโญ่นั้นสูญเสียอำนาจการควบคุมในห้องแต่งตัวไปแล้ว เมื่อไม่เห็นทางที่รอยร้าวทั้งหมดจะสามารถกลับมาผสานกันได้อีก บอร์ดบริหารจึงตัดสินใจปลดมูริญโญ่ออกจากตำแหน่ง หลังเกมที่พ่ายคู่อริตลอดกาลอย่างลิเวอร์พูลทันที 

แม้มูรินโญ่จะไปแล้ว แต่เศษซากปรักหักพังที่บอร์ดบริหารและมูรินโญ่ทิ้งเอาไว้ยังคงอยู่ ทั้งความสามัคคีของทีมที่หายไป ความรู้สึกสนุกและตื่นเต้นในเกมฟุตบอลของนักเตะนั้นลดลงจากปัญหาที่ผ่านมา การแก้ปัญหาภายในจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง เพราะหากปัญหาภายในไม่ถูกแก้ นักเตะไม่กลับมาสามัคคีกัน รอยร้าวไม่ถูกผสาน ไม่มีทางที่ผลงานในสนามจะดีได้เลย จึงเป็นโจทย์สำคัญของบอร์ดบริหารในการหาตัวกุนซือคนใหม่ที่ต้องทำหน้าที่ผสานปัญหาทุกอย่าง เข้าใจแก่นแท้ของความเป็นยูไนเต็ด เพื่อให้สโมสรกลับมาเป็นแมนฯ ยูไนเต็ดในแบบที่ควรจะเป็นเหมือนเดิมเสียก่อน ซึ่งคำตอบของบอร์ดบริหารในตอนนั้นคือโอเล่ กุนนาร์ โซลชา 

Manchester United’s Norwegian manager Ole Gunnar Solskjaer gestures at the end of the UEFA Champions League Group F football match between Young Boys and Manchester United at Wankdorf stadium in Bern, on September 14, 2021. (Photo by Fabrice COFFRINI / AFP)

หลังจากแขวนสตั๊ด โซลชาก็ตัดสินใจมุ่งหน้าเริ่มอาชีพโค้ชต่อทันที โดยได้รับการสนับสนุนเต็มที่จาก เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่เล็งเห็นความสามารถของโซลชาว่าสามารถเป็นโค้ชที่ดีได้ในอนาคต เพราะขณะที่เป็นนักเตะสำรองข้างสนาม โซลชามักจะใช้เวลาข้างสนามคอยอ่านเกมและคอยแก้เกมในหัวเสมอ เป็นหนึ่งเหตุผลที่เมื่อเขาได้ลงสนามก็มักจะทำประตูได้บ่อยครั้ง ซึ่งเฟอร์กูสันรับรู้ความสามารถนี้เป็นอย่างดี เขาจึงแต่งตั้งให้โซลชาคุมทีมแมนฯ ยูไนเต็ดชุดสำรองต่อทันที 

เวลาผ่านไปจนกระทั่งปี 2011 หลังจากสั่งสมประสบการณ์คุมทีมชุดสำรองแล้ว ก็ถึงเวลาก้าวขึ้นคุมทีมเต็มตัว โดยโซลชาก็ได้ออกไปรับงานคุมทีมโมลด์ สโมสรที่เขาเคยแจ้งเกิดในลีกนอร์เวย์ การคุมทีมโมลด์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โซลชาพาทีมโมลด์คว้าแชมป์ลีกนอร์เวย์ 2 ฤดูกาลติดต่อกันตั้งแต่ปีแรกที่คุมทีม จนในปี 2014 โซลชาก็ได้โอกาสในการหวนกลับสู่ลีกสูงสุดของอังกฤษอีกครั้งกับการรับเผือกร้อนคุมทีม คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ โดยเป้าหมายเพื่อหนีตกชั้นให้ได้ แต่แล้วโซลชาก็ทำไม่สำเร็จ ทีมต้องตกชั้นไปเล่นลีกแชมเปี้ยนชิพ และถูกปลดออกในเดือนกันยายนสังเวยผลงานที่ไม่ดีเท่าที่ควร หลังจากนั้นก็กลับไปคุมทีมโมลด์อีกครั้ง จนกระทั่งแมนฯ ยูไนเต็ดติดต่อให้มาคุมทีมแบบขัตตาทัพชั่วคราว

ผลงานของโซลชาในฐานะกุนซือชั่วคราวเริ่มต้นอย่างยอดเยี่ยม ทีมเก็บชัยชนะได้ตั้งแต่นัดแรก และชนะรวดถึง 8 นัดติดต่อกัน ว่ากันตามตรงแท็คติกวิธีการเล่นจากการทำทีมของโซลชาในตอนนั้นค่อนข้างเรียบง่าย แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือขวัญและกำลังใจนักเตะที่เปลี่ยนไป ความทุ่มเทและความรู้สึกกระตือรือร้นในการอยากลงไปเล่นฟุตบอลทำให้ทีมเก็บผลการแข่งกันได้ดีขึ้น โดยผลงานชิ้นโบว์แดงคือแมทช์การแข่งขันในรายการยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบ 16 ทีมสุดท้าย นัดที่สอง ที่แมนฯ ยูไนเต็ดบุกไปชนะทีมปารีส แชงต์ แชร์กแมง ทีมยักษ์ใหญ่ในลีกฝรั่งเศสซึ่งเป็นทีมตัวเต็งในรายการนี้ ด้วยสกอร์ 3-1 ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายด้วยกฏประตูทีมเยือน (Away Goal) ไปอย่างสุดพลิกล็อก! 

เมื่อสามารถทำผลงานได้ดีเกินคาดขนาดนี้ โซลชาจึงได้รับการแต่งตั้งให้คุมทีมระยะยาว ท่ามกลางคำครหาจากแฟนบอลว่าผลงานดี ๆ ที่ผ่านมาเป็นแค่ช่วงโปรโมชั่นรึเปล่า และโซลชาดีพอที่จะคุมทีมใหญ่อย่างแมนฯ ยูไนเต็ดในระยะยาวจริงหรือ? 

หากจุดเริ่มต้นเป็นความฝันที่สวยงาม ฤดูกาลต่อมาก็เหมือนกับการกลับสู่โลกความจริง ปัญหาต่าง ๆ ที่ซุกอยู่ใต้พรมค่อย ๆ เผยออกมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเรื่องปัญหานักเตะที่ไม่ดีพอ หรือไม่เหมาะกับแนวทางของสโมสร และการบริหารงานของบอร์ดบริหารที่ไม่มีความเข้าใจเรื่องฟุตบอล ส่งผลให้ทีมไม่มีนักเตะที่ดีพอต่อการเก็บชัยชนะได้สม่ำเสมอ รวมถึงโซลชาเองก็อยู่ในภาวะที่ลองผิดลองถูกกับการทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะโค้ช

ในการแข่งขันบางนัดโซลชาก็เผยความผิดพลาดออกมา ไม่ว่าจะเรื่องการวางแผนที่ผิด การแก้เกมที่ช้าในขณะที่ทีมต้องการประตู กระแสโจมตีจากแฟนบอลเริ่มโหมเข้ามาเมื่อไม่ได้ผลการแข่งขันที่ต้องการ แน่นอนว่าผลงานในสนามคือหน้าฉากที่ผู้คนเห็นและวิจารณ์ได้ง่าย แต่เรื่องราวภายในสโมสรที่โซลชาแก้ควบคู่กันไปต่างหากที่สำคัญไม่แพ้กัน และส่วนนี้คนมักไม่ค่อยมองเห็น

เริ่มตั้งแต่การโล๊ะนักเตะที่ใช้ไม่ได้แล้ว (Dead Wood) อย่าง คริส สมอลลิ่ง, มารูยาน เฟลไลนี่, มาร์กอส โรโฮ, แอชลีย์ ยัง และ แอนโตนิโอ วาเลนเซีย ออกจากทีม รวมถึงการเคลียร์นักเตะที่แม้จะมีฝีเท้าดีแต่ไม่เข้ากับแผนการทำทีมออก เช่น โรเมลู ลูกากู และ อเล็กซิส ซานเชส นี่เป็นแอ็คชั่นแรกของความเด็ดขาดที่ชัดเจน มันคือความชัดเจนในการเริ่มแก้ปัญหาภายในที่แฟนบอลไม่เคยได้เห็นในยุคของ หลุยส์ ฟาน กัล และมูรินโญ่มาก่อน รวมถึงการปฏิรูปการทำงานร่วมกับบอร์ดบริหารใหม่ ด้วยรูปแบบ ‘รื้อและเริ่มกันใหม่ทั้งหมด’ 

นับตั้งแต่เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อำลาทีมไปในปี 2012 สโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด ต้องประสบปัญหาเรื่องการบริหารทีมฟุตบอลที่ผิดพลาดมาอย่างต่อเนื่อง เพราะตอนที่เฟอร์กูสันยังอยู่ เขารวบอำนาจการจัดการเบ็ดเสร็จไว้ที่ตัวเองคนเดียว จะต่อสัญญานักเตะคนไหน ซื้อใคร ขายใคร วางแผนการทำทีมแบบไหน เฟอร์กูสันสามารถตัดสินใจเองได้แทบทั้งหมด ด้วยเกียรติและบารมีของเฟอร์กูสัน ทำให้บอร์ดบริหารไม่กล้าเข้ามาแทรกแซงการทำงาน 

แต่ทันทีที่เฟอร์กูสันอำลาไป อำนาจของบอร์ดบริหารที่นำโดย เอ็ด วูดเวิร์ด ก็มีมากขึ้น นำมาซึ่งผลงานการบริหารผิดพลาดที่มุ่งเน้นเรื่องผลประโยชน์ด้านธุรกิจมากกว่าเรื่องฟุตบอล การซื้อตัวที่ล่าช้าและไม่เข้าเป้า รวมถึงการวางแผนทำทีมในระยะยาวไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งเห็นได้ชัดจากการแต่งตั้งโค้ชมาคุมทีม ที่แต่ละคนมีสไตล์การทำทีมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไล่ตั้งแต่ เดวิด มอยส์, หลุยส์ ฟาน กัล และโชเซ่ มูรินโญ่ 

ระบบการทำงานแบ่งคนละส่วน และความไม่มีความเข้าใจในเรื่องฟุตบอลของบอร์ดบริหารทำให้เกิดเหตุการณ์ที่โค้ชทะเลาะกับบอร์ดบริหารให้เห็นกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่โซลชาเขามาเปลี่ยนเรื่องนี้ เขาทำตัวเสมือนเป็นกาวใจในการพยายามจะที่แก้ปัญหาโดยเจรจากับบอร์ดบริหารให้เข้าใจถึงแนวทางการทำงานที่ควรจะเป็น หากต้องการให้สโมสรนี้กลับมาเป็นแมนฯ ยูไนเต็ดในยุคที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ ก็ต้องเริ่มเปลี่ยนแนวทางการทำงานกันตั้งแต่ตอนนี้

เรื่องแรกคือการซื้อนักเตะใหม่ ไม่เอาแล้วกับการเสียเงินซื้อนักเตะดาวดังเพื่อเหตุผลทางการตลาดแต่ไม่มีความเหมาะสมกับยูไนเต็ดเลยอย่าง ราดาเมล ฟัลเกา หรือ อังเคล ดิ มาเรีย ไม่มีแล้วกับการซื้อนักเตะที่ไม่มีแบบแผนหรือเลยจุดพีคของตัวเองมาแล้ว จนแทบไม่ได้ใช้งานอย่าง บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ หรือ มอร์แกน ชไนเดอลิน 

สโมสรต้องเลือกนักเตะที่มีฝีเท้าและทัศนคติที่เข้ากับสโมสรจริง ๆ เข้ามา ไม่จำเป็นต้องสนใจว่าจะเป็นนักเตะดาวดังหรือไม่ก็ได้ และทุกคนต้องผ่านการเห็นชอบจากโซลชาก่อน เราจึงได้เห็นนักเตะใหม่อย่าง บรูโน่ เฟอร์นานเดส, แฮร์รี แมคไกวร์ หรือ เอดินสัน คาวานี่ ที่มีความเป็นมืออาชีพสูงและมีทัศนคติใจสู้ ทุ่มเทให้ทีมเต็มร้อย และที่สำคัญ ต้องเป็นผู้นำให้กับทีมได้ เหมือนกับในอดีตที่ทีมเคยมีนักเตะตำนานอย่างเอริค คันโตน่า หรือ รอย คีน ที่มีทักษะและบุคลิกของความเป็นผู้นำบนสนามที่สูงมาก คอยกระตุ้นและสั่งการเพื่อนร่วมทีมตลอดเวลา ซึ่งตัวอย่างนี้ทั้งแมคไกวร์และเฟอร์นานเดสแสดงให้เราได้เห็นกันตลอดแทบทุกนัด ไม่ว่าจะเป็นการตะโกนสั่งการ อารมณ์ร่วมและการแสดงออกบนสนามที่ปลุกเร้าเพื่อนร่วมทีมตลอดเวลา 

เรื่องที่สองคือเปลี่ยนให้ระบบบริหารงานเป็นระบบที่ทันยุคทันสมัยมากขึ้น ด้วยการแต่งตั้งตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอลอย่าง จอห์น เมอร์ทอช และผู้อำนวยการเทคนิคอย่าง ดาร์เรน เฟลตเชอร์ เข้ามาทำงาน เพราะเมื่อมี 2 ตำแหน่งนี้ จะทำให้เกิดการวางแผนระยะยาวเรื่องการแนวทางการทำทีมฟุตบอลที่ชัดเจนขึ้น การเลือกนักเตะรวมถึงการเจรจาซื้อขายนักเตะเป็นระบบและมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น รวมถึงเป็นตัวกลางประสานการทำงานระหว่างทีมงานโค้ชและบอร์ดบริหารให้ราบรื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสโมสรแห่งนี้ แต่ก็ได้เกิดขึ้นแล้วในยุคของโซลชา

อย่างสุดท้ายคือการกลับมาพัฒนาระบบเยาวชนของสโมสร แฟนแมนฯ ยูไนเต็ดคงยังจำได้ดีว่าระบบเยาวชนของทีมนั้นสำคัญเพียงใด และเป็นหนึ่งในแนวทางของสโมสรมาตลอดตั้งแต่ยุคอดีต นักเตะระดับตำนานอย่าง เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน, จอร์จ เบสต์ หรือเหล่านักเตะกลุ่ม Class of 92 เช่น ไรอัน กิ๊กส์, พอล สโคลส์ และเดวิด แบ็คแฮม ต่างก็เคยเป็นนักเตะเยาวชนของสโมสรก่อนก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักและพาทีมสู่ความยิ่งใหญ่ทั้งนั้น โซลชาจึงเริ่มหันกลับมาพัฒนาระบบเยาวชนใหม่อย่างจริงจัง จนทีมได้กลุ่มนักเตะดาวรุ่งที่น่าจับตามองหลายคนเช่น เมสัน กรีนวูด ที่ดูมีอนาคตสุด ๆ จากฟอร์มที่ดีต่อเนื่องและฝีเท้าการยิงประตูที่คมกริบทั้งที่อายุเพียง 19 ปี รวมถึง สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ กองกลางดาวรุ่งจากแดนวิสกี้ที่ถูกดันขึ้นชุดใหญ่มาก่อนหน้านี้ในยุคของมูริญโญ่อีกด้วย

Manchester United’s Norwegian manager Ole Gunnar Solskjaer gestures at the end of the UEFA Champions League Group F football match between Young Boys and Manchester United at Wankdorf stadium in Bern, on September 14, 2021. (Photo by Fabrice COFFRINI / AFP)

ทั้งหมดคือเรื่องราวภายในสโมสรที่โซลชากำลังสร้างใหม่ จากที่ก่อนที่เขาเข้ามามันพังทลายเหลือแต่ซาก ไม่เหลือความเป็นยูไนเต็ดแบบที่เขาคุ้นเคยเลยแม้แต่น้อย โซลชาแค่พยายามสร้างให้ทุกอย่างกลับมาเป็นแบบเดิมอย่างที่ควรจะเป็น ให้สโมสรมีระบบที่ดี มั่นคง และเต็มไปด้วยเอกลักษณ์แบบเดิม โดยอาศัยจากประสบการณ์จากตอนเป็นนักเตะที่ได้เคยสัมผัส และจิตวิญญาณของแมนฯ ยูไนเต็ดที่มีอยู่เต็มตัวเป็นตัวขับเคลื่อน 

คำถามสำคัญตามมาว่าโค้ชคนที่ผ่านมาไม่มีความสามารถในการทำแบบนี้หรือ ทั้งที่แต่ละคนต่างก็เคยประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์ยุโรปและผ่านการพิสูจน์ฝีมือในฐานะโค้ชระดับท็อปของโลกมาหมดแล้ว? หากว่ากันตามตรงในเรื่องมันสมองเรื่องแท็คติกฟุตบอล โซลชายังห่างชั้นโค้ชก่อนหน้านี้  แต่คำตอบอาจเป็นเพราะโซลชามีบางอย่างที่โค้ชเหล่านั้นไม่มี มันคือความเข้าใจแนวทางและจิตวิญญาณสโมสรอย่างถ่องแท้ และการสร้างความเชื่อใจกับทุกฝ่าย ที่ซื้อใจทั้งบอร์ดบริหารและเหล่านักเตะได้สำเร็จ มันคือบุคลิกของผู้นำที่มีทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Human Skills) ที่ประสานการทำงานทุกภาคส่วนด้วยบรรยากาศที่ดี ทำให้ลูกน้องเชื่อใจและมีความสามัคคีกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่โค้ช 3 คนที่ผ่านมา ไม่เคยทำได้มาก่อน

แม้จะมีผลการแข่งขันที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่โซลชาก็ไม่เคยให้สัมภาษณ์ด่านักเตะออกสื่อ เขาควบคุมเรื่องนี้ให้อยู่แค่ในห้องแต่งตัวเท่านั้น และเมื่อทีมอยู่ในช่วงที่เก็บชัยชนะไม่ได้ติด ๆ กัน จนมีกระแสต่อต้านและข่าวว่าโซลชาอาจโดนปลด อยู่ดี ๆ นักเตะก็มักจะทำผลงานได้ดีจนทีมผ่านพ้นสถานการณ์นั้นได้อยู่ร่ำไป หลายคนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘ลูปนรกของโซลชา’ ที่จวนเจียนจะโดนปลดก็จะรอดทุกทีเพราะผลงานกลับมาดี แล้วก็กลับไปเล่นแย่อีก

ฟังดูตลกร้าย แต่หากอ่านเหตุการณ์นี้ดี ๆ ก็จะเห็นว่าโซลชาประสบความสำเร็จมากเรื่องการสร้างความสามัคคีที่เป็นหนึ่งเดียว มันพิสูจน์ว่าเหล่านักเตะรักเขาแค่ไหน ในการพร้อมลงไปสู้เพื่อให้เขาอยู่ในตำแหน่งต่อไป และการที่เราไม่เห็นเขาออกแอ็คชั่นอะไรที่ข้างสนาม ไม่โวยวาย ไม่ออกมากระตุ้นลูกทีม มันก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ทำ เพราะใครจะไปรู้ว่าในห้องแต่งตัวช่วงพักครึ่งหรือหลังเกมจบนั้นเกิดอะไรขึ้น? 

การที่ฤดูกาลที่แล้วแมนฯ ยูไนเต็ดเป็นทีมโดนนำไปก่อนแต่มีสถิติพลิกกลับมาชนะคู่แข่งมากที่สุดต่อหนึ่งฤดูกาลในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก มันเป็นเพราะอะไร? อาจเป็นเพราะความสามัคคี ทัศนคติที่ไม่ยอมแพ้ ความทุ่มเท และจิตวิญญาณว่าตนเองคือผู้ชนะ (Winning Mentality) แบบที่โซลชาและแมนฯ ยูไนเต็ดเป็น แนวคิดเหล่านี้อาจได้เข้าไปฝังอยู่ในหัวบรรดานักเตะทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว

The Right Man?

โซลชาดีพอที่จะคุมทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ในการไปต่อกรเพื่อแย่งแชมป์กับโค้ชระดับโลกอย่าง เจอร์เก้น คล็อปป์ (ลิเวอร์พูล), โธมัส ทูเคิล (เชลซี) และ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า (แมนฯ ซิตี้) หรือไม่? 

คำตอบนี้อาจต้องใช้เวลาในการตัดสิน เพราะการแข่งขันที่ผ่านมาในฤดูกาลนี้เราต่างได้เห็นทั้งเกมที่ดีและเกมที่แย่จากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของโซลชาอยู่ ตัวอย่างสำคัญคือเกมที่แพ้ทีมจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์อย่าง ยัง บอยส์ ในรายการยูฟ่า แชมเปี้ยนลีกส์รอบแบ่งกลุ่มนัดแรก แบบที่ควรต้องชนะเท่านั้นไม่ว่ามองในมุมไหน ประกอบกับการแก้เกมของโซลชาที่ทั้งค้านสายตาและเต็มไปด้วยความงุนงง ก็ทำให้แฟนบอลทั่วโลกต่างไม่พอใจเป็นอย่างมาก 

แต่คงไม่ต้องรอนาน เพราะฤดูกาลนี้คงเป็นฤดูกาลที่สมควรแก่เวลาในการตัดสินเขาได้แล้วว่าเขาดีพอกับแมนฯ ยูไนเต็ดหรือไม่ เพราะทีมได้เสริมทัพนักเตะเกรดเอมาเพิ่มถึง 3 คน ไม่ว่าจะเป็น ราฟาเอล วาราน, เจดอน ซานโช่ รวมถึงการกลับบ้านของตำนานเบอร์ 7 ที่แฟนผีต่างตื่นเต้นสุด ๆ อย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่มาถึงก็ทำประตูได้ติดต่อกันสามนัดติดเข้าไปแล้ว! 

นี่คือทีมที่ถือเป็นหมากตาบังคับว่าต้องลุ้นแชมป์สถานเดียว ในเมื่อการแก้ไขปัญหาภายในสโมสรเริ่มเข้าที่แล้ว เขาสร้างทีมใหม่ได้ลงตัวแล้ว มีนักเตะระดับโลกอยู่ในทีมแล้ว หลังจากนี้คือการทดสอบฝีมือด้านฟุตบอลของโซลชาจริง ๆ หลังจากที่ลองผิดลองถูกและมีโอกาสเรียนรู้ความผิดพลาดของตัวเองมาแล้วสองปี ในปีนี้เขาไม่สามารถมีข้อแก้ตัวได้อีกแล้ว

หากโซลชาไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่แฟนบอลคาดหวังไว้ เขาต้องยอมรับความจริงและเดินจากไป มันเป็นธรรมดาของวิถีฟุตบอล ที่ต้องเปิดโอกาสให้คนที่เก่งกว่าเข้ามาทำหน้าที่แทนหากคุณไม่ดีพอ แต่โค้ชคนใหม่จะเข้ามาทำทีมต่อ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร เขาจะได้สโมสรฟุตบอลที่มีระบบภายในที่ดี มีผู้อำนวยการฟุตบอลและทีมงานที่วางแผนระยะยาวและช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น มีบอร์ดบริหารที่เข้าใจระบบการบริหารสโมสรฟุตบอลที่ยั่งยืน ที่สำคัญที่สุด คือการมีกลุ่มนักเตะที่เป็นหนึ่งเดียว ทุ่มเท และมีจิตวิญญาณนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้ในแบบแมนฯ ยูไนเต็ด อยู่เต็มเปี่ยม 

เพื่อไว้รอคอยคนที่ใช่คนนั้น พาทีมปีศาจแดงกลับสู่ความยิ่งใหญ่ได้ในสักวันหนึ่ง

อ้างอิง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า