fbpx

โอ๊ค กีรติ: นักแสดงที่เดินบนเส้นทางความฝันและความรักในการแสดง

โอ๊ค-กีรติ ศิวะเกื้อ ชื่อนี้อาจไม่ค่อยคุ้นหูใครหลายคนสักเท่าไหร่ แต่หากพูดถึงนักแสดงชายที่รับบทต่างๆ มามายมาย ไม่ว่าจะเป็นบทชายหนุ่มขี้แพ้ในมิวสิกวิดีโอแพ้คำว่ารักของ Calories Blah Blah ที่ทำคนอินทั่วบ้านทั่วเมืองจนต้องมีภาคต่อ (ที่ทีมงานทำขึ้นมา) หรือบท LGBTQ+ ที่คอยเติมเต็มเรื่องราวและสีสันให้กับละครหลายต่อหลายเรื่อง เช่น แรงเงา มินต์กับมิว หรือแม้แต่บทบาทที่ทั้งโหดและน่าหมั่นไส้ในซีรีส์จาก Netflix อย่าง Bangkok Breaking มหานครเมือง(ห)ลวง จนเกิดเสียงชื่นชมบนโลกทวิตเตอร์มากมายถึงการเล่นได้อย่าง ‘สมบทบาท’ ของเขา 

คุณอาจพอรู้จักชายคนนี้ขึ้นมาบ้างแล้ว

ฉันนัดกับชายคนนี้ซึ่งเขาดูตื่นเต้นมากๆ เมื่อเราได้พบกันเขาชี้ไปยังโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่อยู่ด้านหลังฉันนั่นคือเรื่อง Underground ภาพยนตร์ในปี 1995 ที่ได้รับรางวัล Palme d’Or จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีเดียวกัน 

เขาบอกกับฉันว่า ผู้หญิงที่อยู่ในโปสเตอร์นั้นคือ ครูสอนการแสดงของเขาเอง 

เขามองไปที่รูปนั้นก่อนจะเล่าความสนใจของเขาที่มีต่อภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องต่างๆ ให้ฉันฟัง

“พี่นิยามตัวเองอย่างไรคะ” ฉันเปิดด้วยคำถามแรก

“ผมไม่ค่อยคิดว่าจะนิยามตัวเองยังไง” เขายิ้มก่อนจะพูดต่อ

“งานของผมมันต้องดูไปนานๆ แล้วมันจะชัดเจนเอง จะบอกว่า โอ๊ค กีรติ เป็นนักแสดงหน้าเอ๋อๆ ที่เล่น โฆษณาเยอะๆ ก็ในช่วงเวลาหนึ่ง ถ้าต่อมาจะเป็นตัวประกอบ ที่ชอบเล่นเป็นกะเทยในละครช่อง 3 ก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่ง ต่อไปอาจเป็น พี่คนนั้นที่ชอบเล่นบทร้ายๆ จิตๆ คือ มันก็ระยะยาว มันถึงจะเห็นว่า อัตลักษณ์และงานของเราคืออะไร ผมไม่รู้ว่าจะนิยามอะไรตอนนี้ ปล่อยให้คนดู ให้โลกนิยาม แล้วแต่เขาจะนิยามเลย”

ละครเวที: จุดเริ่มต้นบนเส้นทางของความฝัน

โอ๊คไม่ได้จบจากสายการแสดงโดยตรง ก่อนจะเล่าว่าจุดเริ่มต้นของความฝันในการแสดงมาจากละครเวทีที่ได้เล่นตอนไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ

“คือตอนแรกไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกา แล้วโฮสต์แฟมมิลี่เขาพาผมไปออดิชั่นละครเวทีของโรงเรียน คือลูกเขาไปเล่น เราก็เลยต้องไปออดิชั่นด้วย เผื่อว่าเวลารับกลับบ้านมันจะได้ง่าย”

ความรักในการเป็นนักเล่าเรื่องเหมือนจะอยู่ในตัวพี่โอ๊คมาตั้งนานแล้ว 

“โรงเรียนประถมต่างจังหวัดเรา มันไม่มีละครเวที หรืออะไรแบบนี้ ผมว่าความรักในการเป็นนักเล่าเรื่อง อาจเป็นการที่ ชอบอ่านหนังสือ วาดภาพ ร้องเพลง หรือเล่านิทานให้คนอื่นฟัง ความเป็นนักเล่าเรื่องตรงนั้น ผมว่ามันมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันรอโอกาส วันหนึ่งเราถึงได้รู้ว่า อ่อ ได้เป็นนักแสดงเนี่ย สนุกสุดเลยในพวกนี้ ก็เลยทำมาเรื่อยๆ”

คู่สนทนาตรงหน้าดูตื่นเต้นเมื่อพูดถึงการแสดง ฉันจึงถามถึงความรู้สึกครั้งแรกที่ได้เวิร์กชอปละครเวที

“โห ชอบมากเลยอ่ะ มันมีความสุขมาก อยากจะไปซ้อมทุกวัน ตอนเรียนก็รอเวลาไปซ้อม วันไหนที่บ้านไปส่งเราไม่ได้เราก็เสียใจ เราก็จะโทรไปหาครูว่า เราอยากไปมากเลยนะ แต่ว่าที่บ้านไปส่งเราไม่ได้ คือทุกวันที่ได้ไปโรงละครเนี่ย มันหัวใจพองโตเนาะ มีความสุขมาก มันเหมือนคนที่วันหนึ่งมันได้เจอตัวตน มันได้รู้ว่า เราชอบอะไร

“วันที่เล่นเสร็จผมจำได้ว่า พอเดินลงจากเวทีมา มีคุณป้าเป็นฝรั่งสองคนเขาเดินมาคุยกับเรา บอกว่าเขาเป็นตัวท็อปในวงการนะ เขาบังเอิญมาดู เขาชอบเรามากเลย ถึงเราจะเป็นตัวเล็กๆ ที่ร้องเพลง เดินไปเดินมาอยู่ข้างหลัง แต่เขาเห็นว่า เราอินในคาแรคเตอร์ตลอดเลย ซึ่งเราเซอร์ไพรส์เขามากเลยที่เขามาดูละครเด็กมัธยมแล้วเขาเจอเรา ก็เป็นอะไรที่ผมจำ เด็กไทยคนหนึ่งบนเวทีที่มีแต่คนขาวอ่ะ เราก็ทำหน้าที่ของเรา มันมีคนเห็นคุณค่าของเราบ้าง ผมรู้สึกแฮปปี้มาก”

และนั่นก็ทำให้พี่โอ๊ครู้สึกว่าการแสดงนี่แหละ คือตัวตนของเขา สิ่งที่เขาได้เรียนรู้แน่ๆ คือการเรียนรู้มิติของความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ีดขึ้น และเร้าความอยกให้เขาอยากทำงานสายการแสดงที่ยึดถือเป็นอาชีพอย่างจริงจัง

และนี่เป็นจุดเริ่มต้นในความรักการแสดงของเขา

เส้นทางของความฝันที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

“จริงๆ ที่บ้านไม่ซัพพอร์ตเลย” 

ที่จริงหลังจากกลับมาจากแลกเปลี่ยน พี่โอ๊คอยากเรียนในสายนิเทศศาสตร์ สายการแสดง แต่ที่บ้านไม่มีใครเห็นด้วย แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็พยายามมจะสื่อสารกับที่บ้านว่า การเติบโตในเส้นทางสายวงการบันเทิงมันมีความเป็นไปได้ แต่เมื่อลองมองย้อนไป 20 กว่าปีก่อน ภาพจำของนักแสดงในโทรทัศน์ดูจะมีแต่บทสวยหล่อ หรือบทตลกซะส่วนใหญ่ 

“คือพื้นที่สำหรับเราในตอนนั้นมันไม่มี เราก็เข้าใจว่า ทำไมพ่อแม่ ทำไมที่บ้านถึงไม่สนับสนุนตรงนี้ เขาก็บอกว่ามันไม่ใช่ทางของเรา เขาไม่เคยเห็นมันเป็นไปได้ในคนอื่น”

เพราะว่าที่บ้านไม่สนับสนุนให้เรียนสายการแสดง และประกอบกับค่านิยมในสมัยนั้นทำให้โอ๊คต้องไปเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่เพราะว่าไม่ชอบก็เรียนไม่จบ เลยหันเหไปสายบริหารแทน แต่ก็ไม่มีอะไรมาขัดขวางความรักในศาสตร์การแสดงของเขาได้ ทำให้เขาหาเวลาว่างไปเรียนและหาประสบการณ์เพิ่มเติม

แต่อย่างที่ว่า เส้นทางของเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

“ตอนเริ่มเข้าวงการก็ลำบาก สมัยก่อนต้องโทรศัพท์ไปถามตามโมเดลลิ่งต่างๆ ว่ามีงานอะไรบ้าง แล้วเราก็ต้องไปอัดรูป แล้วก็ส่งไปตามโมเดลลิ่งเพื่อขอให้เขาส่งงานให้เรา เราโทรไปประมาณ 50 เจ้า แต่ว่านะ ทั้ง 50 เจ้านั้น ไม่มีเจ้าไหนติดต่อมาเลย ไม่มีเลย” เขาหัวเราะเบาๆ ก่อนจะพูดต่อ

“แล้วสมัยก่อนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็จะมีแบบคอลัมน์เล็กๆ ที่จะประกาศหาตัวประกอบ เราก็จะต้องคอยเปิดดู แล้วก็ไปสมัครตามนั้น แต่ก็ไปเก้อตลอดเลย เพราะเขาก็ให้เรานั่งรอ แล้วก็สุดท้ายก็ออกมาบอกเราว่า ไม่มี กลับบ้าน (ยิ้ม) ไปหลายที แต่ว่าไม่เคย ไม่เคยมีฟีดแบ็คอะไรจากตรงนั้นเลย”

โอ๊คมีช่วงเวลาที่ท้อถอยอยู่ตลอด ซึ่งเป็นธรรมดาเพราะกว่าจะได้งานแต่ละงานก็มีช่วงที่ลำบาก เงินไม่พอใช้ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังก้าวไปต่อได้เสมอ

“ผมเป็นคนชัดเจนในเป้าหมายว่าผมอยากทำอะไร ผมก็เคยทำอย่างอื่นนะ แต่มันก็ไม่สนุกเท่า พอทำไปสักพัก เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ สุดท้ายมันก็จะกลับมาหางานที่เรารักอยู่ดี มันเกิดจากความรักก่อน ทำให้เราอดทน รอโอกาส หาโอกาส” 

ท้ายที่สุดแล้วเขาก็มีโอกาสได้ฉายแสง โอ๊คได้เล่นโฆษณาแสตมป์ของร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งเป็นครั้งแรก ซึ่งความรู้สกึของคนที่เห็นตัวเองในทีวีเป็นครั้งแรก มันคงเป็นความรู้สึกที่ดีมากแน่ๆ 

“โอ้โห ดีใจมาก ดีใจที่สุด สมัยก่อนหนังโฆษณาไม่มียูทูป มันก็จะมีเว็บๆ หนึ่ง ที่จะมีโฆษณาของเฮาส์ต่างๆ มารวมไว้ เราเปิดอันนั้นให้ทุกคนดู เปิดดูเอง เปิดดูซ้ำๆ ไม่รู้กี่รอบ มันมีความสุขมาก (หัวเราะ) ดีใจมากเลย ที่บ้านก็ตื่นเต้น ถึงเขาจะไม่ได้สนับสนุน แต่เขาเห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตอนนั้นได้ค่าตัวสี่หมื่นบาท โห โคตรดีใจเลยมันเยอะนะสำหรับสิบกว่าปีที่แล้วเนี่ย แล้วทำให้เราเห็นว่า เออ มันก็มีความเป็นไปได้นะ”

อาชีพนักแสดง: เส้นทางหลักที่หล่อเลี้ยงตัวตน

“ระหว่างที่เรียน วันเสาร์อาทิตย์เราก็ไปเป็นตัวประกอบตามกองโฆษณา ตามกองละคร แล้วก็ไปเรียนแอคติ้งเพิ่ม แต่ตอนนั้นโรงเรียนสอนแอคติ้งในเมืองไทยก็มีอยู่ไม่กี่ที่นะครับ จากนั้นก็ไปหาเรียนที่สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งประเทศไทย คือสมัยนั้นโรงเรียนน้อยด้วย เราก็จะต้องไปเรียนตามกลุ่มละคร ก็จะมีอาจารย์ที่สอนตามมหาวิทลัยต่างๆ ที่เขากำกับละครโรงเรียนของเขาเอง มีที่นั่ง 20-30 ที่ เราก็ไปขอเป็นพนักงานขายตั๋วบ้าง ไปขอทำความสะอาดบ้าง ให้เราได้ไปอยู่ ให้เราได้ไปคลุกคลีกับสังคมตรงนั้น”

โอ๊คไปสมัครและเวิร์กช็อปอยู่เรื่อยๆ จนวันหนึ่งมีโอกาสได้เล่นละครเวทีตามมหาวิทยาลัย หรือที่กลุ่มคนทำละครอิสระเล็กๆ จัดบ้าง ซึ่งนั่นทำให้เขาได้เรียนรู้ทักษะทางการแสดงมากขึ้น 

“ผมมีความสุขมากนะ” โอ๊คพูดถึงความรู้สึกตอนเล่นละครเวที

“ละครเวทีนี่มันเงินน้อยมากเลยนะ ซ้อมโปรดักชัน 3 เดือน บางเรื่องได้สองพัน เรื่องที่เยอะสุดเลยตั้งแต่เล่นมา เมื่อสมัยสิบกว่าปีที่แล้วนะครับก็ได้อยู่เจ็ดพัน แต่ว่าซ้อม 3 เดือน คือค่ารถไปก็ไม่คุ้มแล้วอ่ะ อย่าพูดเรื่องค่าข้าวเลย คือค่ารถไปก็ไม่ได้แล้ว เรากินข้าวกันแบบประหยัดมาก ที่กองฯ มันเป็นข้าวแกงตักราดกับกับข้าวอย่างเดียว วันหนึ่งที่เราได้ซื้อกับข้าวหลายๆ อย่างมากินด้วยกันเนี่ย แล้วผู้กำกับเขาพูดว่าเราไม่ได้กินข้าวที่มีกับข้าวแบบนี้นานแล้ว มันเป็นอะไรที่ดีมากเลยนะ เรารู้สึกว่า โห เขาทำ เพราะแบบรักจริงๆ ต้องยอมใจ” 

เมื่อถึงช่วงที่วงการบินเทิงเฟื่องฟูถึงขีดสุด นักแสดงตัวเล็กๆ คนหนึ่งก็ได้รับโอกาสใหญ่ที่ได้พัดพาตัวเองไปสุ่วงการภาพยนตร์ ซึ่งโอ๊คก็ไม่พลาดโอกาสนั้นจนเริ่มเดินสายคัดตัวนักแสดงตามกองต่างๆ จนเขาก็ได้เล่นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตคือโบอา งูยักษ์

“ตอนนั้นผู้กำกับคือคุณอามานพ อุดมเดช ซึ่งเป็นผู้กำกับในฝันของเรา ผมได้ดูงานของเขาในคืนบาปพรหมพิราม วันหนึ่งพอเราได้มาอยู่ในโปรดักชันที่เขาเป็นโปรดิวเซอร์ใหญ่ก็รู้สึกเป็นเกียรติ รู้สึกดีใจมาก เหมือนฝันอ่ะ แต่ละวันหลับๆ ไปเนี่ย ตี 3 ตี 4 จะสะดุ้งตื่นว่า ฝันไปหรือเปล่า เหมือนฝันอ่ะ จริงๆ (หัวเราะ)”

และด้วยความที่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ทำให้พี่โอ๊คตื่นเต้นมากกับเรื่องนี้ 

“ไปวันแรกเราตื่นเต้นอ่ะ เทคแล้วเทคอีก เขาก็จะล้อผมว่าโอ๊ค 17 เทค แล้วสมัยก่อนเป็นกล้องฟิล์ม มันแพง เขาก็จะด่าเรา ถ่ายซีนเดียวตั้งแต่เช้า เที่ยงเรายังไม่ผ่านอ่ะ ทีมงานก็พูดว่า ข้าวบูดแล้ว เพราะว่าเขาไม่ได้กินข้าว เพราะเราช้า”

จากละครเวที ไปโฆษณา ไปภาพยนตร์ แล้วก็มาถึงละครโทรทัศน์เรื่องแรกนั่นคือแม่ผัวตะบันไฟ แม่ยายตะไลเพลิง ซึ่งโอ๊คได้เล่นละครเรื่องนี้เพราะว่าทีมงานเห็นแววของเขาจากภาพยนตร์สั้นที่เขาเคยเล่นให้กับช่อง 3 และจากละครเรื่องนั้นทำให้โอ๊คมีงานแสดงเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือบทบาทในละครเรื่องแรงเงา

ด้วยความที่เล่นมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา ละครเวที ละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ โอ๊คเล่าว่าในการแสดงอาจไม่แตกต่างอะไรนัก เพราะหัวใจของมันเหมือนกันคือ ให้เราจริงใจกับมันแล้วก็เล่นไปตามบท แต่ที่แตกต่างคงจะเป็นเรื่องเทคนิค เพราะละครเวทีก็ต้องเล่นกับคนดูที่นั่งดูเราอยู่ แต่ละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ก็ต้องทำงานกับกล้อง แสงและภาพ ก่อนจะเล่าเสริมถึงวิธีการเข้าถึงบทบาทหรือตัวละครสักตัว

“วิธีการเข้าถึงตัวละครเนี่ย จริงๆ มันแล้วแต่บทเลยนะ ว่าตัวละครต้องทำอะไร หรือบทบอกให้ทำอะไร แล้วเทคนิคที่เราใช้กับตัวละครนั้นควรจะเป็นเทคนิคไหน แต่สำหรับผม ผมจะต้องหาให้เจอทั้งด้านมืด ด้านสว่างของเราเองก่อน แล้วก็ทำความรู้จักกับตัวละครของเราในทุกมิติของเขา แล้วก็เชื่อมจากความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ที่เราก็เจ็บปวด เราก็ต่อสู้ ดูว่าตัวละครต่อสู้เพื่ออะไร เขาอาจต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม เพื่อเพศสภาพ เพื่อฐานะ หรืออะไรก็แล้วแต่ เราต้องหาจุดเชื่อมตรงนี้ ซึ่งคนเป็นคนทุกคนเนี่ย มันมี แล้วเราใช้ความเป็นคนตรงนี้ เข้าถึงคาแรกเตอร์”

ครูสอนการแสดง: จากเส้นทางของผู้รับที่กลายเป็นผู้ให้

อีกหนึ่งอาชีพนอกจากนักแสดงแล้ว โอ๊ค กีรติ ยังเป็นครูสอนการแสดงด้วย โดยโรงเรียนสอนการแสดงนี้ เขาเปิดร่วมกับครูสอนการแสดงท่านอื่นๆ ที่จบด้านนี้มาโดยตรง เขายอมรับเลยว่าเขาไม่ได้รักการสอนขนาดนั้น เขารักในการแสดงเองมากกว่า

“แต่ที่เราสอนเนี่ย เราคิดว่าโอกาสตรงนี้มันแชร์ได้” 

สำหรับโอ๊คแล้ว การเป็นครูสอนการแสดงช่วยให้เขาเห็นตัวเองผ่านคนอื่น เห็นตัวเองในอดีตและนำประสบการณ์ที่ผ่าน มาแชร์ให้กับคนอื่นๆ อีกทั้งยังช่วยให้เห็นตัวเองในปัจจุบัน

“แอคติ้งนี่มันเป็นศาสตร์เรื่องคนอ่ะเนอะ ยิ่งเราสอนให้เด็กกล้าที่จะเปลือยความเป็นเขาในงาน มันก็จะสะท้อนอะไรออกมาเยอะ ในส่วนนี้ มันก็ได้เรียนรู้ตัวเองจากคนอื่นด้วย

“วันที่เรามีคอนเนคชั่นพอ เราอยากจะทำโรงเรียนที่มันบาลานซ์ระหว่างเทคนิคที่สอนกันในมหาลัยหรือโรงเรียน ที่ไปกองแล้วเขาบอกว่ามันใช้จริงไม่ได้ เล่นใหญ่เกินไป เล่นแข็ง เราอยากจะผสมผสานเทคนิคที่มันควรจะเป็น กับประสบการณ์จากการทำงานในวงการ ของทั้งตัวเราเองแล้วก็คนในวงการบันเทิงไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ หรือแคสติ้งหรือใครๆ คอร์สของโรงเรียนมันก็จะมีทั้ง การได้เรียนแอคติ้งจากครูที่สอนเป็นเชิงวิชาการ ครูจากมหาลัย แล้วก็เรียนจากคนทำงานในวงการบันเทิงด้วย เพื่อให้สิ่งที่เรียนสามารถไปใช้ได้จริง” 

ความรักและความฝัน: เส้นทางที่มาไกลกว่าจุดเริ่มต้น

“การเป็นนักแสดงที่ดีคืออะไร” ฉันถาม

“ยาก” คู่สนทนาตรงหน้าตอบคำถามแทบจะทันที ก่อนเราจะหัวเราะออกมาพร้อมกัน

“ผมว่าถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ การรักงานอย่างจริงใจซะก่อน ผมว่านักแสดงที่ดีต้องรักอาชีพนี้อย่างจริงใจ เป็นคุณสมบัติสำคัญ แล้วก็พัฒนาตัวเองเพื่องานอยู่เสมอ ถ้าเราเคารพงานแล้วเราทุ่มเท เราให้คุณค่ากับมันนะ ผมว่างานก็จะตอบคุณค่าให้กับคนที่ทำ ผมว่าเราต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน” 

ความรักในการแสดงของพี่โอ๊ค ทำให้เขาได้แสดงภาพยนตร์และละครหลายต่อหลายเรื่อง จนทำให้เขามาถึงทุกวันนี้ ฉันอยากรู้ว่าเขาคิดอย่างไรกับคำว่า ‘นักแสดงสมทบ’

“ผมรู้สึกขอบคุณ ผมรู้สึกภูมิใจกับคำนี้มาก ผมว่าจะนักแสดงนำหรือนักแสดงสมทบ เราก็เป็น Storyteller เหมือนกัน ผมมองว่ามันเป็นการ Collaborate เพื่อช่วยกันเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเราก็ทำหน้าที่ของเรา” 

“อย่างน้อยเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่เติมเต็มเรื่องราวตรงนั้นใช่ไหม” ฉันถามต่อ

“ใช่ๆ ผมว่ามันมีมิติในเรื่อง การเข้ามาทำหน้าที่ของบทสมทบด้วยนะ นักแสดงสมทบก็เป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่อง ไม่ว่าเขาจะเข้ามาทำหน้าที่อะไรในเรื่อง มาเป็นจุดเปลี่ยนหรือว่ามาเป็นจุดที่ทำให้ตัวละครได้เรียนรู้ หรือว่าเข้ามาเป็นอุปสรรคของเรื่องก็แล้วแต่ มันมีส่วนทำให้เรื่องสมบูรณ์ ผมว่าเราทำหน้าที่ของเราให้ดี มันมีคุณค่าในตัวของมันเองอยู่แล้ว” 

สิ่งหนึ่งที่ฉันเซอร์ไพรส์มากในการนั่งคุยกับโอ๊คในวันนี้คือ เขายินดีที่จะเล่าถึงความฝันในใจของเขาที่ไม่เคยพูดให้ใครฟังเลย นั่นคือ การได้รับรางวัลนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ 

“ผมไม่ได้อยากได้ออสการ์ในฐานะนักแสดงนำ ฝันของผมคือออสการ์นักแสดงสมทบ อันนี้คือผมรู้สึกภูมิใจที่สุดล่ะ ผมรู้สึกว่าเป็นคำที่ ให้พื้นที่ในการทำงานกับผม คือเราเข้าใจว่าคนก็อยากดูคนหล่อๆ สวยๆ เป็นธรรมดา โอกาสที่เขาจะได้บทนำมันก็มากกว่า ดังนั้นคำว่านักแสดงสมบทเนี่ย ผมภูมิใจแล้วอ่ะ ผมรู้ว่ามันคือพื้นที่แห่งความเป็นจริงที่เรามีอยู่ แล้วก็รู้สึกว่าได้แค่นี้ก็ดีใจมากๆ แล้ว”

บทบาทที่ท้าทาย: บนเส้นทางแห่งความแตกต่างหลากหลาย

“จากเรื่องมหานครเมืองลวง ที่คุณได้รับบทที่ค่อนข้างเด่น ซึ่งคุณได้รับคำวิจารณ์ทั้งบวกและลบ สิ่งเหล่านั้นทำให้คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง” ฉันถามถึงผลงานล่าสุดของเขา

“ผมว่ามันก็เป็นอะไรที่ทำให้ผู้ชมได้พูดถึงเราดี เราก็ได้เห็นไอเดียที่มันแตกต่างของคนหลายๆ กลุ่ม ดีใจที่มันเกิดการสนทนาเรื่องนี้ขึ้นในโลกโซเชียล เราได้เห็นความคิดใหม่ๆ ของคนดูในเมืองไทย ที่ว่านักแสดงก็สามารถรับบทใหม่ๆ ได้ รับบทที่แตกต่างได้”

“แล้วที่เขาบอกว่าติดภาพจำจากบท LGBTQ+ ล่ะ” ฉันถามต่อ

“คือความคิด ความรู้สึกของคนมันห้ามกันไม่ได้ ก็เข้าใจว่าเป็นความคิดของเขาในงานของเรา ก็ยอมรับนะ อย่าง LGBTQ+ ผมเล่นแบบ 7-8 เรื่องอ่ะ ถ้าเขาติดก็เป็นสิทธิ์ เป็นเรื่องของเขา มันก็เป็นงาน เป็นอาชีพของเรา แล้วเราก็ทำอะไรได้อีกตั้งหลายอย่าง แต่ก็เข้าใจเขา เพราะเขาอาจดูบทอื่นมาเยอะ แล้วอาจมีติดบ้างไรงี้ ก็เป็นเรื่องของเขา” โอ๊คตอบคำถามของฉัน

“จากที่แสดงบท LGBTQ มาค่อนข้างเยอะ มองยังไงกับความหลากหลายทางเพศในเมืองไทย” ฉันถามต่อ

“ผมว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเมตตานะ และเราก็เฉลิมฉลองความแตกต่างทางเพศในระดับหนึ่ง เราให้เกียรติเขาในระดับหนึ่ง แต่ว่าเราต้องถามคนที่เป็น LGBTQ+  เองด้วย ว่าเขาต้องการอะไร แล้วเขาอยากได้อะไร ผมไปเจอแอคติ้งโค้ชคนหนึ่งบอกว่า ถ้าจะเล่นอันนี้ต้องดูแรดกว่านี้สิ ต้องทำมือแบบนี้ ต้องวางท่าอะไรแบบนี้ มันก็ไม่จำเป็นเพราะมันก็คือความ Stereotype ที่มันเกิดขึ้น แล้วทำให้เข้าใจว่ากะเทยทุกคนจะต้องตลก กะเทยทุกคนจะต้องอยากแปลงเพศ จะต้องชอบคนล่ำ มันเป็นสิ่งที่เราไปตีตราเขาเร็วไป ต้องให้พื้นที่เขาในการบอกสิ่งที่เขาต้องการแล้วก็เล่าเรื่องของตัวเอง แล้วความจริงจะออกมา

“ผมว่าเราต้องฟังเขามากขึ้น แล้วมองด้วยนะว่าจะซัพพอร์ตเขายังไง หรือว่าจะแบบ จะช่วยพัฒนาไปในทิศทางไหน มันใช่ทิศทางที่เขาต้องการหรือเปล่า” โอ๊คเสริม

“การที่สังคม วงการบันเทิงเปิดกว้างขึ้น รู้สึกว่าเป็นโอกาสให้คนเห็นพลังในการแสดงของเรามากขึ้นใช่มั้ย” ฉันชวนโอ๊คคุยต่อถึงเรื่องความหลากหลายของนักแสดงในยุคนี้

“ใช่ครับ สมัยก่อนเนี่ยคนที่จะอยู่ในทีวีได้ก็เป็นลุคแบบหนึ่ง ต่อมาก็เป็นยุคภาพยนตร์ ยุคทีวีดิจิทัล จนมาถึงยุคนี้ ยุคแฟลตฟอร์ม เราเห็นนักแสดงนำยุคใหม่ๆ เราเห็นบทบาทใหม่ๆ ในเมืองไทยมากขึ้น แล้วความที่มันมีทุนต่างประเทศเข้ามาด้วยเนี่ย มันทำให้ความหลากหลายมันเพิ่มมากขึ้น แต่พูดจริงๆ ว่ายังไม่พอ มันสามารถไปได้ไกลมากกว่านี้อีก เรายังเห็นแพทเทิร์นเดิมๆ อยู่ในสื่อหลัก สมมติจะให้เรื่องนี้ มีคนแก่เป็นตัวนำได้ไหม หรือว่าเรื่องนี้มีเด็กเป็นตัวนำ เหมือนที่เมืองนอกเรามี Stranger Things ในไทยยังเห็นน้อยมาก ผมคิดว่าตรงนี้ยังมีพื้นที่ให้เราพัฒนาอีกเยอะ แต่ก็ดีใจที่มันดีขึ้นกว่าแต่ก่อน”

ก่อนที่การสนทนาครั้งนี้จะจบลง ฉันถามคำถามสุดท้าย ให้เขาฝากถึงคนที่ติดตามผลงานของเขา

“เราอยากขอบคุณเขา ขอบคุณจากใจเลยนะ ทั้งคนที่ดูแล้วไม่คอมเมนต์อะไร หรือดูแล้วมาบอกอะไรเรา ในทวิตเตอร์หรือในไอจี อยากบอกเขาว่าเราอ่าน เราตามขอบคุณไม่ไหว มันเป็นแรงใจสำคัญอ่ะ แล้วอยากจะบอกว่า ถ้าสมมติเขาเจอผมอ่ะ บางทีผมจะเป็นคนหน้าเครียดๆ เนอะ เพราะเราทำหลายอย่างพร้อมกัน อยากบอกเขาว่า เข้ามาทักได้ จริงๆ แล้วอ่ะเรารู้สึกดีที่มีคนมาคุยกับเรา มาบอกว่าเขาดูเรื่องไหน เขาคิดยังไงกับตัวละคร เขาอาจไม่ชอบก็ได้ แต่ว่ามาบอกเราได้ มาคุยกันได้” โอ๊คส่งท้าย

ขอขอบคุณ
Doc Club & Pub
Verasalon

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า